เนื้อหาวันที่ : 2015-11-24 16:06:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3946 views

นักวิจัยจาก สกว. คว้า 2 เหรียญทอง จากงานนวัตกรรมนานาชาติที่กรุงบรัสเซล เบลเยียม

รศ.ดร.ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง และ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์

 นักวิจัย สกว. สร้างชื่อหลังคว้าสองเหรียญทองจากงานนวัตกรรมนานาชาติที่กรุงบรัสเซล จากผลงานเม็ดบีดนาโนนำส่งเรตินอยด์ต้านริ้วรอย และเจลโลสจากแป้งเม็ดมะขามพัฒนาเป็นแผ่นฟิล์มชีวภาพปิดแผลและใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นักวิจัย สกว.สามารถสร้างผลงานคว้าสองเหรียญทองในงาน “Brussels Innova” ณ กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นงานประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นมาเป็นประจำทุกปี ในปีนี้เป็นปีที่ 64 โดยมีผลงานเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 300 ผลงานจาก 20 ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยส่งผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 24 ผลงาน เป็นงานวิจัยของ สกว. 2 ผลงาน ได้แก่ “การพัฒนาเม็ดบีดบรรจุอนุภาคนาโน-เรตินอยด์ที่ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง” ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.ศุภศร วนิชเวชารุ่งเรือง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบนำส่งเรตินอยด์ระดับนาโนพาติเคิล ซึ่งเป็นสารในกลุ่มวิตามินเอที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยลงสู่ผิวหนังได้อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และปริมาณสูงพอที่จะส่งผลได้ แต่ไม่สูงจนเกิดการระคายเคือง ทั้งนี้ได้มีการทดสอบกับหนูทดลองและในอาสาสมัคร จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ 12 สัปดาห์ สามารถลดริ้วรอยได้ดีกว่าวิตามินเอปกติอย่างเห็นได้ชัดเจน จากผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษ จาก the French Inventors Federation ประเทศฝรั่งเศส

ฟิล์มปิดบาดแผล

แผลผู้ป่วย

อีกหนึ่งผลงานคือ “เจลโลสจากแป้งเม็ดมะขาม” ของ รศ.ดร.วุฒิชัย นาครักษา คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งได้นำเนื้อในของเมล็ดมะขามมาผลิตเป็นแป้งเมล็ดมะขามเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเมล็ดมะขามมีโพลีแซ็กคาไรด์ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเจลเมื่อละลายอยู่ในน้ำ โดยเรียกสารตัวนี้ว่า เจลโลส แล้วนำเจลโลสมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แผ่นฟิล์มชีวภาพปิดบาดแผล ซึ่งผ่านการทดสอบเบื้องต้นกับผู้ป่วยเบาหวานและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แผลแห้งสนิทเร็วขึ้น ขณะนี้กำลังต่อยอดกับเอกชนในระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีฟิล์มเคลือบผิวผลไม้เพื่อการส่งออกซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองตลาดและใช้งาน รวมถึงเยลลี่มะขามซึ่งใช้เจลโลสเป็นสารที่ทำให้เกิดเจล เป็นต้น ผลงานวิจัยนี้ได้พัฒนาร่วมกับบริษัท ปิ่นเพชร จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเอสเอ็มอีมะขามหวานเพชรบูรณ์อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งเดิมทางบริษัทส่งเมล็ดมะขามไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อสกัดเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมสี ในราคาเพียงกิโลกรัมละ 2-3 บาท ขณะนี้มีเอกชนสนใจจะนำไปต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมเช่นกัน ผลงานนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษจาก HALLER PRO INVENTIO FOUNDATION ประเทศโปแลนด์ ในโอกาสนี้ รศ.ดร.วุฒิชัยยังได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ระดับอัศวิน หรือ Chevalier (หมายเลข 15011) จากประเทศเบลเยียม เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่นักวิจัยด้วย

รศ.ดร.วุฒิชัย นาครักษา

เครื่องอิสริยาภรณ์ระดับอัศวิน หรือ Chevalier

รศ.ดร.วุฒิชัย กล่าวว่า งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาแนวทางการแปรรูป การเก็บรักษาแป้งเมล็ดมะขาม และสมบัติของเจลโลสจากแป้งเมล็ดมะขามต่อพฤติกรรมการเกิดเจล เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการใช้เพกตินในผลิตภัณฑ์อาหาร เจลโลสที่ผลิตจากแป้งมะขามมีคุณสมบัติสามารถทนต่อความร้อน กรด และแรงเฉือนได้ดี ทำให้อุตสาหกรรมอาหารนิยมนำเจลโลสมาใช้เป็นสารให้ความข้นหนืด สารให้ความคงตัว สารทดแทนไขมัน และสตาร์ชดัดแปรในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น ไอศกรีม น้ำสลัด มายองเนส บะหมี่ สตูว์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว และมีการประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเครื่องสำอาง ปรับปรุงการแพร่เข้าสู่เนื้อเยื่อ จากผลคุณสมบัติและการนำไปประยุกต์ใช้ของเจลโลสดังกล่าว ทำให้เกิดงานวิจัยต่อยอดในโครงการในเฟสแรกมาศึกษาการนำเจลโลสจากแป้งมะขามไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุด

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด