เนื้อหาวันที่ : 2015-10-21 17:31:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3300 views

มจธ. เปิด “สถานีชาร์ต” รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หนุนลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและลดมลพิษ

ปัจจุบันจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย เฉพาะรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียน ณ ปี พ.ศ.2557 มีมากกว่าร้อยละ 38 ของจำนวนรถที่มีการจดทะเบียนทั้งหมดของประเทศ แต่เมื่อเทียบกับการใช้รถจักรยายนต์ไฟฟ้าแล้วกลับยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ขณะที่ภาครัฐและหลายหน่วยงานหันมาให้ความสำคัญในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อการลดใช้พลังงานเชื้อเพลิงและลดมลพิษในภาคขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ได้มีพิธีเปิดสถานีประจุไฟฟ้า (Electric Motorcycle Charging Station)ภายใต้โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการผลิตและใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กขึ้น โดยได้รับเกียรติจากนายภัทรพงศ์ เทพา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวแสดงความยินดี และรศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นประธานเปิดสถานีประจุไฟฟ้า ณ บริเวณด้านหน้าสำนักงานอธิการบดี เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2558

ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือกัน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขนแก่น , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งขาติ (MTEC) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) นับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการศึกษาเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กแบบบูรณาการ เพื่อทำการศึกษา รวบรวมข้อมูลจากการทดสอบใช้จริงจากผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ในชีวิตประจำวัน และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อมูลที่ใช้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าต่อไป

“ทั้งนี้ทางโครงการได้มีการดำเนินการติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นใน 3 พื้นที่ แห่งแรกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ติดตั้งไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แห่งที่สองบริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานอธิการบดี มจธ. และกำลังจะเปิดอีกแห่งขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นแห่งที่สาม ขณะที่ทาง MTEC จะเข้ามาช่วยในการประเมินความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์ สาเหตุที่เลือกทดสอบกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพราะเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ถึง 20 ล้านคัน แต่มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไม่ถึงร้อยละ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วนแล้วไม่ถึง 10,000 คัน ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจึงไม่ได้รับความนิยม โดยเราจะนำรถที่มีขายอยู่ในตลาดให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ทดลองใช้จริง เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งาน ความต้องการและความพึงพอใจ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาและการเพิ่มประสิทธิภาพของยานยนต์ไฟฟ้า”

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ 1.เพื่อทดสอบและเก็บข้อมูลการใช้งานจริงของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และสำรวจทัศนคติของผู้ร่วมทดสอบ 2.เพื่อประเมินพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ของผู้ใช้จักรยานยนต์ในกลุ่มต่าง ๆ และผู้ขับขี่ยานยนต์ขนาดเล็กโดยเน้นรถรับจ้างสาธารณะ รวมทั้งสาเหตุที่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยโดยการใช้แบบสำรวจความคิดเห็นและให้มีการทดสอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 3.เพื่อรับฟังความคิดเห็น ความพึงพอใจและข้อจากัดของการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ใช้ที่ได้ทดลองขับขี่จักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย 4.เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กให้เหมาะสมต่อการใช้งานของผู้ใช้ในหลายกลุ่มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น 5. เพื่อประเมินผลกระทบในด้านเศรษฐศาสตร์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม หากมีการขยายตัวของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ในกรณีศึกษาต่างๆ 6. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพร้อมมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตและส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กให้แพร่หลายต่อไป

ด้าน ดร.ปิยธิดา ไตรนุรักษ์ นักวิจัยโครงการฯ มจธ. เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีการสำรวจความพึงพอใช้ของผู้ใช้ 2 กลุ่มหลักๆ คือ บุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และกลุ่มที่สองคือ กลุ่มผู้มีอาชีพขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง สำหรับข้อมูลที่เก็บประกอบไปด้วยการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้จักรยานยนต์ทั่วไปว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อจักรยายนต์ไฟฟ้า ซึ่งระหว่างการสำรวจได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้แสดงความคิดเห็นได้ทดลองขับจักรยานยนต์ไฟฟ้าระยะสั้นๆ ภายในมหาวิทยาลัย

ซึ่งผลจากการสำรวจพบว่ากลุ่มที่เป็นบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย 100 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์ประมาณ 6-10 กิโลเมตรต่อวัน คิดเป็นค่าเชื้อเพลิงประมาณ 100-200 บาท ต่อสัปดาห์ ซึ่งเมื่อทดลองขับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในระยะสั้นๆ พบว่า ยังไม่พึงพอใจในเรื่องระยะเวลาในการประจุไฟฟ้า เนื่องจากต้องใช้เวลานานถึง 6-8 ชั่วโมงต่อการชาร์ต 1 ครั้ง แม้จะมีอัตราการประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่า รถมอเตอร์ไซด์ทั่วไป คือ รถไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายเพียง 10 สตางค์ต่อ 1 กิโลเมตร ในขณะที่รถมอเตอร์ไซด์ทั่วไปมีค่าใช้จ่าย 90 สตางค์ต่อ 1 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังไม่พึงพอใจในเรื่องความเร็วถูกจำกัดสูงสุดเพียง 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตำแหน่งการนั่งของผู้ขับขี่ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก นอกจากนี้ยังมีความกังวลใจในเรื่องของราคารถที่สูงกว่ารถจักรยานยนต์โดยทั่วไปและค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ ทุกๆ 2-3 ปี

ทั้งนี้มีความใกล้เคียงกับผลการสำรวจของกลุ่มผู้มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง 50 ตัวอย่าง ซึ่งโดยเฉลี่ยมีระยะการขับขี่ประมาณ 150 กิโลเมตรต่อวัน และมีค่าเชื้อเพลิงอยู่ที่ประมาณ 100 บาทต่อคนต่อวัน โดยประมาณ ซึ่งกลุ่มนี้มีความกังวลในเรื่องของระยะเวลาการประจุไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่มากที่สุด เนื่องจากใช้เวลานาน ไม่สะดวกต่อการประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมีอัตราการเร่งที่จำกัด ไม่สะดวกต่อการทำเวลาในการรับ ส่งผู้โดยสาร ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องความเร็ว ซึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างระบุว่า หากต้องเปลี่ยนรถใหม่อาจจะตัดสินใจซื้อเพราะคำนึงถึงเรื่องการประหยัดค่าเชื้อเพลิงและสามารถลดมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ตาม

หากมีราคาที่เหมาะสมก็อาจจะตัดสินใจซื้อ ในขณะที่อีก  50 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวตัดสินใจว่าหากจะต้องเปลี่ยนรถใหม่จะไม่ซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอนเนื่องจากระยะเวลาการชาร์ตที่นานเกินไป และการต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุกๆ 2-3 ปีอาจทำให้เขาไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ดังนั้นในกลุ่มหลังนี้ยังระบุด้วยว่าหากภาครัฐสามารถเข้ามาส่งเสริมเรื่องราคา และพัฒนาเทคโนโลยีการชาร์ตให้มีความรวดเร็วก็อาจจะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้

ดร.ปิยธิดา ระบุว่า แม้ว่าจากการสอบถาม 150 ชุดตัวอย่างอาจจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสำรวจอยู่มาก แต่ทีมผู้วิจัยเล็งเห็นว่า การขับขี่รถจักรยายนต์ในระยะสั้นๆ อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการคิดตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าได้เพียงพอ จึงเห็นว่าควรจะต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มตัวอย่างได้มีโอกาสให้กลุ่มตัวอย่าง 30 คนที่สมัครใจนำรถไปขับขี่ให้นานขึ้น โดยครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้นำรถไปขับขี่จริง 3-5 วัน  มีข้อกำหนดว่าผู้ใช้จะต้องนำรถมาชาร์ตที่สถานีชาร์ตซึ่งติดตั้งไว้ทั้ง 3 แห่ง โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์บันทึกการใช้งานไว้กับตัวรถ เพื่อนำมาวิเคราะห์ในเชิงวิศวกรรม ประกอบไปด้วย ระบบโปรเซสเซอร์ ต่อพ่วงเข้ากับแบตเตอรี่ ติดตั้ง GPRS เพื่อติดตามเส้นทางการขับขี่ นอกจากนั้นยังมีชุดดาต้าสตอเรจ เพื่อใช้ยูเอสบีเสียบดึงข้อมูลเข้ามาเก็บไว้ อีกทั้งยังติดตั้งหน้าจอแสดงระยะทางซึ่งประเมินจากไฟที่ยังเหลือเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ขับขี่ได้ทราบว่ายังสามารถขับขี่ไปได้อีกกี่กิโลเมตรก่อนจะถึงเป้าหมาย

“สำหรับสถานีชาร์ตจะมีตัวแท่นประจุไฟฟ้า มีการติดตั้งอุปกรณ์กล่อง ระบบโปรเซสเซอร์เพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้จักรยานยนต์และข้อมูลการประจุไฟฟ้าแต่ละครั้งซึ่งแสดงหน้าจอเป็นกระแสไฟและแรงดันไฟฟ้า ณ ขณะชาร์ต โดยกลุ่มตัวอย่าง 30 รายจะต้องนำรถมาชาร์ตที่สถานีเท่านั้น และทุกครั้งจะต้องคีย์ข้อมูลรหัสผ่าน และทะเบียนรถเพื่อเก็บข้อมูลไว้ในระบบทุกครั้ง เพื่อให้สามารถติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้และปริมาณการชาร์ตไฟแต่ละครั้ง ซึ่งข้อมูลที่เก็บได้แต่ละครั้ง จะมีเรื่องกระแสไฟฟ้า ความต่างศักย์ของไฟฟ้า ค่าละติจูด ลองจิจูด เป็นต้น”

การสำรวจครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ ปริมาณการใช้พลังงาน รวมถึงทัศนคติที่มีต่อการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และข้อมูลประสิทธิภาพจริงของระบบชาร์ตและตัวรถเอง เพื่อนำไปวิเคราะห์ผลการประหยัดพลังงาน รวมถึงประสิทธิภาพเชิงเปรียบเทียบระหว่างรถมอเตอร์ไซด์ทั่วไปกับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มีความแตกต่างกันอย่างไร ข้อเด่นข้อด้อย  ก่อนจะนำข้อมูลไปเสนอต่อภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“โครงการฯนี้เรามีทีมทำงานตามเป้าหมาย 3 ส่วนหลักๆ คือ ทีมพัฒนาเทคโนโลยี โดยจะนำข้อมูลจากผู้ขับขี่จริงมาวิเคราะห์ทางวิศวกรรม มีทีมวิเคราะห์พฤติกรรมความพึงพอใจของผู้ขับขี่จริง และสามคือทีมที่จะดูเรื่องนโยบาย นำผลที่ได้ไปร่างข้อเสนอต่อภาครัฐในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันซึ่งที่ผ่านมาทีมที่สามได้มีการเข้าไปสัมภาษณ์พูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมสรรสามิตร กรมขนส่งทางบก รวมถึงสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมว่ามีทัศนคติหรือมุมมองอย่างไรในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ  อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานีประจุไฟฟ้าเฉพาะที่ มจธ. จะมีความต่างจากที่อื่น เนื่องจาก มจธ.เล็งเห็นว่าในอนาคตทางมหาวิทยาลัยจะมีการส่งเสริมการใช้จักรยานไฟฟ้า หรือ e-bike ขึ้นภายในมหาวิทยาลัย จึงมีการติดตั้งแท่นชาร์ตรวม 4 แท่นชาร์ต โดย 1 ใน 3 เป็นแท่นชาร์ตสำหรับจักรยานไฟฟ้าโดยเฉพาะ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด