เนื้อหาวันที่ : 2015-07-17 16:50:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4562 views

การจัดการขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศญี่ปุ่น

การจัดการขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศญี่ปุ่น

เมื่อโลกเคลื่อนตัวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21  เทคโนโลยีอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ผลิตภัณฑ์รวมถึงวัสดุหรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์มีความทันสมัยและมีความหลากหลายคุณสมบัติ หน้าที่การทำงาน  มีการเปลี่ยนรุ่นบ่อยครั้งตามพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  ประกอบกับอัตราการขยายตัวของประชากรและอัตราผู้สูงอายุที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันทั้งโลกมีประชากรมากกว่า 7,000 ล้านคน ทำให้เกิดการอุปโภคเครื่องใช้ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในระหว่างการใช้งาน หรือช่วงที่ผลิตภัณฑ์หมดอายุ ซึ่งยากต่อการดำเนินการจัดการและกำจัด

รูปที่ 1 ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

                   ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ตระหนักและเห็นความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง หลายๆมาตรการ กฏหมายหรือข้อตกลงต่างๆมีการริเริ่มและกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่นก่อน เช่น ข้อตกลงเกียวโตโปรโตคอล หรือแม้แต่กฏหมายการจัดการเศษเหลือทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศญี่ปุ่นได้มีการประกาศกฏหมาย HARL ( Home Appliance Recycling Law) ก่อนที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปประกาศ EU-WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipment) ก่อน 1 ปี

                    ระบบกฎหมายการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก โดยจะมีกฎหมายพื้นฐานเกี่ยวกับนโยบายสิ่งแวดล้อม มีแผนพื้นฐานเพื่อพัฒนาสังคมมุ่งไปสู่สังคมรีไซเคิ้ล และมีข้อบังคับของกฎหมายทั่วไปในการจัดการขยะ  กฎหมายการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพมารองรับ และเนื่องจากมีความหลากหลายชนิดและประเภทของขยะ จึงต้องมีมาตรการพิเศษซึ่งเป็นข้อบังคับแยกสินค้าเฉพาะอย่างมาควบคุมเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ วัสดุก่อสร้าง อาหาร หีบห่อและบรรจุภัณฑ์  เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีกฏหมายการส่งเสริมการจัดซื้อเชิงอนุรักษ์ ( Green Purchasing Law ) ซึ่งริเริ่มดำเนินการโดยภาครัฐมาส่งเสริมทำให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม  รวมถึงสังคมของประเทศญี่ปุ่นใช้หลักการ 3 R (Reduce Reuse Recycle) การลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิ้ล ที่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเห็นผลเป็นอย่างยิ่ง

รูปที่ 2 โครงสร้างทางกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น

                     ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศบังคับใช้กฏหมาย HARL( Home Appliance Recycling Law) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 โดยมีผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า 4 ประเภทคือ เครื่องชักผ้า เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ ภายใต้หลักการผู้ทิ้งเป็นผู้จ่ายเงินค่าทิ้ง (Poluter Pay Priciple)  และจ่ายเมื่อทิ้ง มีระบบใบกำกับสินค้า (Manifest tag)  สามารถตรวจสอบสถานะการรีไซเคิ้ลได้ตลอดเวลาทางอินเตอร์เน็ต ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายมีหน้าที่ในการเก็บรวบรวม และกำหนดจุดรวบรวมเพื่อส่งไปยังโรงงานรีไซเคิ้ลที่แบ่งเป็นกลุ่ม A กลุ่ม B และกลุ่ม AB ตามการลงทุนของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อนั้นๆ เช่น SHARP SANYO SONY MITSUBISHI HITACHI และ FUJITSU อยู่ในกลุ่ม B  TOSHIBA PANASONIC อยู่ในกลุ่ม A  เป็นต้น ปัจจุบันโรงงานรีไซเคิ้ลเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศญี่ปุ่นมีทั้งสิ้น 49 แห่งซึ่งเป็นจำนวนเดียวกันกับเมื่อ 13  ปีที่ผ่านมา  แสดงถึงการวางแผนในการทำงานที่ประสานและเป็นระบบเดียวกัน จุดรวบรวมและโรงงานรีไซเคิ้ลกระจายไปทั่วทั้งประเทศภายใต้หลักการการใช้เวลาในการขนส่งไม่เกิน  2 ชั่วโมงจากจุดรวบรวมไปยังโรงงานรีไซเคิ้ล

รูปที่ 3  เอกสารใบกำกับสินค้า Manifest Coupon/Tag 

 เกณฑ์ในการแยกว่าอะไรคือ รีไซเคิ้ล หรือขยะ ของประเทศญี่ปุ่นคือ สิ่งของเมื่อทิ้งแล้วต้องจ่ายเงินคือ ขยะ สิ่งของเวลาทิ้ง ทิ้งฟรีหรือทิ้งแล้วได้เงินคือ รีไซเคิ้ล 

                    อัตราการรีไซเคิ้ลเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้ง 4 ประเภทของกฏหมาย HARL สูงมากถึงร้อยละ 87 ในผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศและเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้าและตู้เย็นร้อยละ 82 และ 73 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดไว้ทั้ง HARL และ WEEE  อย่างไรก็ตามก็ยังสูงกว่าอัตราข้อกำหนด HARL ใหม่ที่ปรับเกณฑ์เครื่องปรับอากาศจากร้อยละ 60 เป็น 70 ตู้เย็นหรือตู้แช่อาหารปรับจากร้อยละ 50 เป็น 60  ขณะที่เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ปรับจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 65 ในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์แยกเป็น 2 ประเภทคือกลุ่มจอแบน ร้อยละ 50 และหลอดภาพ CRT ร้อยละ 55

                      ค่าธรรมเนียมในการรีไซเคิ้ลแต่ละประเภทไม่เท่ากันโดยเครื่องปรับอากาศ 2,624 เยน เครื่องซักผ้า 2,520 เยน ตู้เย็น ต่ำกว่า 170 ลิตร 3,780 เยน สูงกว่า 171 ลิตร 4,830 เยน ขณะที่เครื่องรับโทรทัศน์ต่ำกว่า 15 นิ้ว 1,785 เยนถ้าสูงกว่า 16 นิ้ว 2,835 เยน โดยกลไกที่สำคัญคือการรับคืนของผู้ขายสินค้าในการนำสินค้าไปส่งที่บ้านแล้วรับของเก่ากลับคืน ขณะที่การขนส่งเองผ่านทางไปรษณีย์ หรือจุดรวบรวมในท้องถิ่นเองจะมีอัตราส่วนที่น้อยกว่าเนื่องจากไม่สะดวกและมีต้นทุนในการส่ง  ส่วนค่าปรับในการลงโทษผู้ฝ่าฝืนกรณีพิสูจน์ได้ว่าลักลอบทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 500,000 เยน หรือประมาณเกือบ 150,000 บาท

                     ค่าใช้จ่ายในกระบวนการทั้งหมดจะอยู่ที่ โรงงานรีไซเคิ้ลประมาณร้อยละ 60 การรวบรวมและขนส่งประมาณร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือจะเป็นระบบการจัดการต่างๆของโรงงาน ศูนย์ควบคุมระบบคูปอง ขณะที่การส่งออกสินค้าเก่าหรือสินค้ามือสองได้มีการส่งไปยังประเทศกลุ่มละตินอเมริกา ประเทศไทย ประเทศฟิลิปปินส์ เช่น เครื่องซักผ้าที่นำมาปรับเป็นเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เครื่องถ่ายเอกสาร  คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ที่เป็นแบบ CRT  เป็นต้น


รูปที่ 4  การคัดแยกด้วยมือคน ( Disassembly )

                    กระบวนการรีไซเคิ้ลเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศญี่ปุ่นทั้ง 49 โรงงานจะมีเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกัน โดยจะเริ่มจากการคัดแยกด้วยมือคน( Disassembly ) กรณีตู้เย็นมีการนำสารฟรีออน หรือ CFCs แยกออกไปจัดการ การรีไซเคิ้ลเครื่องซักผ้ามีการนำเอาน้ำเกลือหรือซีเมนต์ออกมา จากนั้นนำไปบดให้ละเอียด( Crushing ) และกระบวนการแยกโลหะ พลาสติค ยูรีเทน Non-ferrous material  ซึ่งเทคโนโลยีการคัดแยกเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้วมาจัดระบบใหม่ โดยมีวิธีการหลักๆอยู่ 5 ขั้นตอน ดังนี้

1.             การคัดแยกโดยแรงแม่เหล็ก  ใช้หลักการ แรงแม่เหล็ก ในการคัดแยก

2.             การคัดแยกโดยกระแสไฟฟ้า  ใช้หลักการ กระแสไฟฟ้า ในการคัดแยก

3.             การคัดแยกโดยความต่างของน้ำหนัก  ใช้หลักการความต่างของน้ำหนัก ในการคัดแยก โดยการใช้ลมเป่าเสริมในกระบวนการ

4.             การคัดแยกโดยไฟฟ้าสถิตย์  ใช้หลักการ ปริมาณไฟฟ้าสถิตย์  ในการคัดแยก โดย T.A. Edison: US Patent No. 274586( 1882 )

5.             การคัดแยกโดยสี  ใช้หลักการ ความต่างของสี ในการคัดแยก

รูปที่ 5   การรวบรวมสารฟรีออน หรือ CFCs

รูปที่ 6  กระบวนการ Crushing  และวัสดุหลังการคัดแยก  

                เป้าหมายสุดท้ายของการรีไซเคิ้ลของญี่ปุ่นคือ การบำบัดกากสุดท้ายที่มีปริมาณน้อยที่สุดเพื่อไปปรับเสถียรและฝั่งกลบ หรือนำไปเผาในเตาเผา และ ระบบการจัดการแบบ CMR ( Self-circulating material recycling) คือการรีไซเคิ้ลวัสดุนำกลับมาใช้ในผลิตภัณฑ์เดิม อาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบ Reverse Logistic จากขยะไปเป็นวัตถุดิบต้นน้ำ เช่น มือจับตู้เย็น หรือถังปั่นแห้งของเครื่องซักผ้าล้วนเป็นวัสดุรีไซเคิ้ลทั้งสิ้น

       รูปที่ 7  วัสดุที่ได้จากการรีไซเคิ้ลจากเครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์ 

                  สรุปได้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีระบบการจัดการขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มาร่วม 13  ปี (ตั้งแต่ปี พ..2545 )  และกล่าวได้ว่าเป็นระบบการจัดการที่ดีแห่งหนึ่งของโลก มีการวางแผนที่เป็นระบบ มีการติดตามและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้เหมะสมกับสถานการณ์ เวลาพบปัญหาไม่เพียงเฉพาะสมาคม องค์การเอกชนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ในระดับประเทศร้านค้าย่อยต้องมีความร่วมมือ มีคำมั่นสัญญาในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุดตามปรัชญาไคเซ็น และที่สำคัญที่สุดคือความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน

                  กรณีประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการระยะที่ 1  เมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม 2550 และระยะที่ 2 เมื่อ 19  พฤษภาคม 2558 ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน  ซึ่งการบังคับใช้กฏหมายลูกซึ่งรวมถึงกลยุทธ์ในกระบวนการรวบรวม การจัดการ การจัดเก็บค่าธรรมเนียม ฯลฯ คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยมีความปลอดภัย มั่นคงและยั่งยืนปราศจากมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

เอกสารอ้างอิง

 

1.               เอกสารประกอบการฝึกอบรม The Program on Environmetal Management for the Thai Electrical and Electronic Industry with Special Focus on Recycling and a Green Supply Chain( THEE ) , AOTS KKC Japan , 2009

2.               Home Appliance Recycling Law and Recycling Technology, Mr.Kiyoshi UENO, UNU

3.               Hyper Cycle Systems corporation , 2015

4.               Toshiba Environmental Solution corperation, 2015

: สุรัส ตั้งไพฑูรย์     Surus@thaieei.com

 

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด