เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 15:00:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9258 views

การวินิจฉัยโรงงาน (Company Diagnosis) (ตอนที่ 1)

ความหมายของการวินิจฉัยโรงงานหมายถึง กิจกรรมที่ผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบุคคลที่สามเข้าไปทำการสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร จากสภาพปัจจุบันของการดำเนินงานที่มีผลกระทบจากภายใน เช่น การวิเคราะห์การปฏิบัติงาน การวิเคราะห์ธุรกิจ การวิเคราะห์การบริหารงาน การวิเคราะห์การผลิต โดยการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องและศึกษาจากภายนอกองค์กร

การวินิจฉัยโรงงาน (Company Diagnosis)
(ตอนที่ 1)


ไกรวิทย์ เศรษฐวนิช
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจมคอน จำกัด
GEMCON_CO@yahoo.com

 

ความหมายของการวินิจฉัยโรงงานหมายถึง กิจกรรมที่ผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบุคคลที่สามเข้าไปทำการสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร จากสภาพปัจจุบันของการดำเนินงานที่มีผลกระทบจากภายใน เช่น การวิเคราะห์การปฏิบัติงาน การวิเคราะห์ธุรกิจ การวิเคราะห์การบริหารงาน การวิเคราะห์การผลิต โดยการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องและศึกษาจากภายนอกองค์กร เช่น แนวโน้มของเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี อย่างละเอียด เป็นต้น ตลอดจนการวิเคราะห์จากแบบสอบถามที่รวบรวมได้ทั้งหมด เพื่อที่จะค้นหาจุดบกพร่องหรือปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในองค์กร

นอกจากนี้ยังต้องหาข้อจำกัดในการเติบโตของธุรกิจและมองถึงโอกาสที่จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการบริหารงานหรือวิธีการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่จะมีผลต่อความเติบโตและความมั่นคงขององค์กรต่อไปในอนาคต กล่าวโดยสรุปในการวินิจฉัยโรงงานนั้นมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. เพื่อให้ที่ปรึกษาและผู้ขอรับบริการเข้าใจสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมในปัจจุบันของธุรกิจตรงกัน

2. ที่ปรึกษาสามารถอธิบายแนวทางการแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพแก่องค์กร 

3. แนะนำการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับบริหาร        

4. ที่ปรึกษาสามารถตอบคำถามของผู้ขอรับบริการได้ ถึงแนวทางการนำเทคนิคต่าง ๆ มาปรับปรุงประสิทธิภาพภายในองค์กร

 ความจำเป็นของการวินิจฉัย

ในกรณีที่ผู้บริหารขององค์กรมีความตั้งใจจะพัฒนาองค์กรของตนเอง แต่ยังไม่ทราบว่าจะเริ่มปรับปรุงอย่างไรและเมื่อปรับปรุงไปแล้วจะได้อะไรบ้าง จากคำถามนั้นแสดงว่าผู้บริหารต้องการจะปรับปรุงและมีเป้าหมายอยู่ในใจแล้วว่าต้องการอะไร แต่ติดปัญหาอยู่ที่จะเริ่มต้นได้อย่างไร เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การเริ่มต้นปรับปรุงองค์กรที่ไม่ถูกต้อง ย่อมเสียเวลาและมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดประโยชน์อันใด หากได้นักวินิจฉัยที่ไม่มีความสามารถเพียงพอ

นอกจากนี้หากการวินิจฉัยที่ผิดพลาดย่อมมีผลต่อขวัญกำลังใจของพนักงานอีกด้วย ดังนั้นนักวินิจฉัยองค์กรที่มีความชำนาญและเข้าใจสถานการณ์ของธุรกิจดี ย่อมจะเสนอแนวทางการปรับปรุงและการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรมตรงกับความต้องการขององค์กร ผู้บริหารบางรายทราบว่าองค์กรมีปัญหาแต่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาคืออะไร โดยทั่วไปปัญหาในองค์กรมีมากมายหลายเรื่อง บางครั้งทำให้ผู้บริหารเกิดความสับสนในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น นักวินิจฉัยองค์กรสามารถชี้แนะประเด็นปัญหาและสามารถลำดับความสำคัญของปัญหาที่ควรแก้ไขก่อนหลังได้ตามลำดับ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนต่อไป

ในกระบวนการวินิจฉัยองค์กรนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาภายในองค์กรกับพฤติกรรมของบุคลากรเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ บางปัญหาเกิดจากการขาดความรู้ความสามารถของบุคลากรภายในองค์กรเอง ดังนั้นข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาจึงขึ้นอยู่กับ การเพิ่มเติมความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานของบุคลากรให้มากขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาองค์กรและบุคลากรภายในองค์กรให้มีความสามารถไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นนั่นเอง

 ลักษณะการวินิจฉัย

มีการแบ่งลักษณะการวินิจฉัยออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ดังนี้
1. การวิเคราะห์พฤติกรรมภายในองค์กร เช่น กลุ่มผู้บริหาร กลุ่มพนักงาน ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ระเบียบปฏิบัติ ทัศนคติและความเชื่อต่าง ๆ ขององค์กรที่แต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน เราสามารถศึกษาได้จากข้อมูลพื้นฐานที่เก็บมาเป็นแนวทางการวิเคราะห์พฤติกรรมของบุคลากรภายในองค์กร

2. การวิเคราะห์ระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เช่น การวางแผน การกำหนดนโยบาย การสื่อสาร การสั่งงานและการควบคุมงาน เป็นต้น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นระบบขับเคลื่อนที่จะผลักดันให้ไปสู่เป้าหมายขององค์กรตามที่ต้องการ หากโครงสร้างของการทำงานบกพร่อง ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน ในการวินิจฉัยองค์กรจึงเป็นการบอกถึงประเด็นปัญหาที่ควรต้องแก้ไขตามลำดับของความสำคัญมากน้อยในแต่ละประเด็น ไม่ว่าบุคลากรจะดีเพียงใด หากระบบงานไม่สามารถให้การสนับสนุนได้ย่อมทำให้องค์กรไม่บรรลุวัตถุประสงค์เช่นกัน

 

แนวทางการเก็บข้อมูลจากการวินิจฉัย
การวิเคราะห์ข้อมูลองค์กรเป็นการปฏิบัติงานที่ต้องอาศัยความละเอียด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องอย่างแท้จริงทั้งหมด ดังนั้นนักวินิจฉัยจะมีวิธีหาข้อมูลต่าง ๆ ได้หลายวิธีดังนี้
• การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวหรือเป็นทีมงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ จะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็แล้วแต่ ย่อมมีความสำคัญต่อการนำข้อมูลเพื่อไปวิเคราะห์ต่อไป

• การใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นอีกวิธีที่นิยมมาก โดยทั่วไปจะใช้เวลาค่อนข้างนาน มีรายละเอียดครบถ้วน และผลของการสอบถามสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้

• การวิเคราะห์ข้อมูล (Document Analysis) จากเอกสารการบันทึกผลการปฏิบัติงานของบริษัท ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์มากในการนำมาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

• การสังเกตการณ์โดยตรง (Direct Observation) โดยการเข้าร่วมการประชุมกับทีมบริหารของผู้ขอรับบริการ เพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและการเฝ้าสังเกตเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาในกระบวนการทำงาน ปัญหาทางเทคนิคในพื้นที่ผลิต ที่ปรึกษาจะได้ข้อมูลโดยตรงกับเหตุการณ์นั้น ๆ ที่ไม่ผ่านมาจากหลายคน ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้มากจากแหล่งที่มา 

• โดยอาศัยประสบการณ์ของที่ปรึกษา (Consultant Experience) ที่ผ่านการทำงานมานานพอที่จะเข้าใจปัญหาของผู้ขอรับบริการ และปัญหาภายในองค์กรเป็นอย่างดี โดยไม่มีอิทธิพลหรือแรงกดดันใด ๆ ที่จะทำให้ที่ปรึกษาสามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาได้อย่างอิสระ

 การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าวินิจฉัย
1. ศึกษาข้อมูลของบริษัทให้ละเอียดก่อนเข้าวินิจฉัย เช่น ความเป็นมาของบริษัท ประเภทของธุรกิจ ตลอดจนแนวโน้มของธุรกิจที่จะเข้าไปศึกษานั้น ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่นักวินิจฉัยควรจะต้องทราบเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้เข้าใจสถานการณ์ของธุรกิจเร็วขึ้น และสามารถที่จะต่อเรื่องราวของผู้ขอรับบริการได้อย่างไม่เสียเวลา

2. นัดสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงในองค์กร นับเป็นสิ่งที่นักวินิจฉัยสามารถได้ข้อมูลโดยตรงจากผู้ กำหนดนโยบายและเป้าหมายของบริษัท เพราะการถ่ายทอดความคิดหรือคำพูดจากผู้อื่นย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้ ดังนั้นการกำหนดวันนัดผู้บริหารระดับสูงในการสัมภาษณ์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สามารถทราบแนวความคิดและนโยบายการบริหารงาน เพื่อนักวินิจฉัยจะได้นำไปปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดขององค์กรได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน

3. ในการวินิจฉัยแต่ละครั้งของนักวินิจฉัยจะต้องเตรียมความพร้อมในระหว่างการปฏิบัติงานของตนให้ดี สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จำเป็นและไม่ควรมองข้ามไป เช่น แบบฟอร์ม สมุดบันทึก อุปกรณ์เครื่องเขียน เป็นต้น เพราะผู้ขอรับบริการบางรายอาจจะสังเกตการปฏิบัติงานและบุคลิกภาพของนักวินิจฉัย โดยที่นักวินิจฉัยไม่ทันได้รู้ตัวก็อาจเป็นได้ ดังนั้นหากไม่สามารถจัดระเบียบการทำงานของตนเองได้ ย่อมไม่เป็นที่น่าเชื่อถือแก่ผู้ขอรับบริการ ซึ่งจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่นำเสนออีกด้วย โดยผู้ขอรับบริการอาจจะคิดว่าแค่ตัวเองยังไม่สามารถจัดระเบียบได้ นับประสาอะไรจะไปจัดระเบียบให้ชาวบ้านได้ แค่นี้นักวินิจฉัยดังกล่าวก็หมดอาชีพได้เช่นกัน

4. ควรแบ่งหัวข้อในการสัมภาษณ์ผู้บริหารให้ชัดเจน ในที่นี้หมายถึงการซักถามกิจกรรมใด ๆ ของผู้ขอรับริการ ควรจัดเรียงลำดับหัวข้อต่าง ๆ ไว้เป็นเรื่อง ๆ อย่าตั้งคำถามสะเปะสะปะหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้ผู้ขอรับบริการเกิดความสับสน หากเข้าไปวินิจฉัยเป็นทีมก็ควรแบ่งหัวข้อในการสัมภาษณ์ของแต่ละคนให้ชัดเจน ว่าใครจะเจาะประเด็นใดในการซักถาม

5. ควรกำหนดเวลาและเนื้อหาในการสัมภาษณ์ให้เหมาะสม นั่นหมายถึงการตั้งคำถามต้องครอบคลุมกับเนื้อหาที่ต้องการอย่างเพียงพอที่สามารถจะนำมาวิเคราะห์ข้อมูลได้ โดยคำนึงถึงเป้าหมายของคำตอบที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัย

 

                                                             รูปแบบการวินิจฉัย

 


ตัวอย่างการสอบถามในการวินิจฉัยเบื้องต้น

• ด้านการบริหารทั่วไป
1. การกำหนดนโยบายการบริหารชัดเจนหรือไม่ ?
2. การทบทวนการปฏิบัติงานสอดคล้องกับทิศทางองค์กรหรือไม่ ?
3. มีการจัดทำแผนธุรกิจหรือไม่และกำหนดขึ้นมามีลักษณะอย่างไร ?
4. มีการวัดผลการดำเนินงานขององค์กรหรือไม่ในรูปแบบใด ?
5. ปัจจัยหลักในการประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจคืออะไร ?
6. มีการมอบอำนาจในการดำเนินการหรือไม่ ?
7. มีวิธีจัดการกับปัญหาระหว่างหน่วยงานภายในองค์กรอย่างไร ?

• ด้านการตลาด และคู่แข่ง
1. มีการกำหนดแผนการตลาดเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ? ใช้ปัจจัยอะไร ?
2. มูลค่าตลาดโดยรวมเป็นเท่าไร แนวโน้มตลาดภายในประเทศและส่งออกเป็นอย่างไร ?
3. จุดแข็งและจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์คืออะไร ?
4. หากบริษัทจะมีความมั่นคงในอุตสาหกรรมนี้ควรจะมีจุดแข็งอย่างไร ?
5. คู่แข่งของบริษัทท่านมีใครบ้าง ?
6. กลุ่มลูกค้าของบริษัทท่านเป็นลูกค้ากลุ่มใดบ้าง เก่า/ใหม่ ?
7. มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ Customer Complaint หรือไม่ ?


• ด้านการจัดซื้อการจัดเก็บ
1.  มีระบบการประเมินผู้รับเหมาหรือไม่ ?
2.  ปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาจัดซื้อวัตถุดิบคืออะไร ?
3.  มีการจัดการอย่างไรกับสินค้าที่เสื่อมคุณค่า ?
4.  บริษัทเคยพบปัญหาที่รุนแรงในการจัดซื้อบ้างหรือไม่ ?
5.  บริษัทมีกระบวนการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบอย่างไร ?
6.  มีการหมุนเวียนสินค้าคงคลังนานเท่าไร ?
7.  มีระบบการจัดเก็บสินค้าคงคลังในลักษณะเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือไม่ ?
8.  มีการจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับยอดสินค้าคงคลังทุกเดือนหรือไม่ ?


• ด้านการผลิต และเทคโนโลยี
1. บริษัทมีแผนการผลิตอย่างไร ? ใช้ข้อมูลอะไรในการวางแผน ?
2. มีการวัดผลการวางแผนผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ?
3. มีระบบการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าอย่างไร ?
4. มีกระบวนการกำจัดการสูญเสียอย่างไร ?
5. มีการเก็บข้อมูลการผลิต/คุณภาพประจำวันหรือไม่ ?
6. มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปัญหาในการประชุมทุกครั้งหรือไม่ ?
7. มีการสื่อสารเกี่ยวกับการผลิตอย่างชัดเจนหรือไม่ ?
8. กิจกรรมส่งเสริมเกี่ยวกับการผลิตเป็นอย่างไร ?
9. มีการจัดทำแผนการบำรุงรักษาเครื่องจักรหรือไม่ ?
10. มีการเก็บประวัติของเครื่องจักรหรือไม่ ?
11. มีระบบการจัดการควบคุมและจัดเก็บสต็อกอะไหล่หรือไม่ ?


• ด้านทรัพยากรบุคคล
1. มีการจัดโครงสร้างขององค์กรชัดเจนหรือไม่ ?
2. มีการจัดทำคำบรรยายลักษณะงาน (JD)หรือไม่ ?
3. ระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเป็นอย่างไร ?
4. มีระบบค่าตอบแทนในการกระตุ้นยอดการผลิตหรือไม่ ?
5. มีการจัดทำแผนฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานหรือไม่ ?
6. หากพนักงานมีปัญหาเกี่ยวกับงานมีระบบให้คำปรึกษาอย่างไร ?
7. การติดต่อสื่อสารภายในองค์กรทำอย่างไร ชัดเจนหรือไม่ ?


• ด้านบัญชีและการเงิน
1. มีการสรุปงบการเงินให้ผู้บริหารเป็นระยะทุก ๆ เดือนหรือไม่ ?
2. ผู้บริหารมีการจัดการกับข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร ?
3. โครงสร้างต้นทุนสินค้าเป็นอย่างไร ?
4. มีการจัดตั้งงบประมาณการดำเนินการล่วงหน้าหรือไม่ ?
5. มีนโยบายหาแหล่งเงินทุนอย่างไร นโยบายการลงทุนเป็นเช่นไร ?
6. อัตราการเจริญเติบโตของยอดขาย/กำไรขั้นต้น/ต้นทุนการผลิตเป็นอย่างไร ?

 

 กรณีตัวอย่างอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า 

• ข้อมูลเบื้องต้นโรงงาน
ปีที่เริ่มดำเนินกิจการ 2530 
เงินทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์หลัก เสื้อผ้าสำเร็จรูป
กระบวนการผลิต ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
วิธีทางการตลาด ผ่านตัวแทนจำหน่าย
วัตถุดิบ ผ้า ด้าย กระดุมต่าง ๆ
แหล่งวัตถุดิบ  ภายในประเทศ 95% และต่างประเทศ 5%
ยอดขายเทียบปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 213 %
จำนวนพนักงาน  95 คน


• ผลที่คาดหวัง
1. เพิ่มกำลังผลิตของแผนกเย็บเสื้อผ้าให้สูงสุด
2. ลดการสูญเสียจากการปฏิบัติงานของพนักงาน
3. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน


แนวทางการดำเนินงาน

• การปรับปรุงกระบวนการผลิต
1. จัดทำแผนผลิตและเพิ่มกำลังการผลิตในแผนกเย็บเสื้อผ้า ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท
2. จัดทำรายงานประจำวันเพื่อควบคุมการผลิตเทียบกับเป้าหมายการทำงานในแต่ละวัน โดยจัดทำตารางควบคุมการผลิตในพื้นที่ปฏิบัติงาน
3. วิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานจากการส่งมอบสินค้าที่สามารถวัดได้เช่น เวลา มูลค่าหรือต้นทุน


• การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
1. จัดการประชุมพนักงานเพื่อระดมสมองในการแก้ปัญหาระหว่างแผนก และสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร
2. นำความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานมาปรับปรุงแก้ไขในการวางแผนการผลิต
3. จัดตั้งคณะกรรมการกิจกรรม 5ส และคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอแนะของพนักงาน โดยเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าว

• ผลการดำเนินโครงการ

ตารางเปรียบเทียบข้อมูลก่อน-หลังการดำเนินงาน


จากผลการดำเนินงานก่อนมีแผนผลิต บริษัทจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการส่งสินค้าทาง Air Freight เป็นจำนวนเงิน 22,571.94 บาท แต่หลังมีแผนผลิตที่สามารถควบคุมการผลิตได้ ทำให้บริษัทสามารถส่งสินค้าได้ทันตามกำหนดและประหยัดค่าใช้จ่ายจากการส่งสินค้าทาง Air Freight เป็นจำนวนเงิน 1,082,857.19 บาท เมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันในเวลาผลิตต่างกัน


• การคำนวณ Labor Productivity ดังนี้
Labor Productivity ก่อนปรับปรุง
- 750 โหล/36 วัน/80 คน
- 20.8 โหล/วัน/80 คน
- 0.26 โหล/วัน/คน หรือ 3.15 ตัว/วัน/คน


Labor Productivity หลังปรับปรุง
- 1400 โหล/23 วัน/140 คน
- 60.8 โหล/วัน/140 คน
- 0.43 โหล/วัน/คน หรือ 5.16 ตัว/วัน/คน
Labor Productivity เพิ่มขึ้น 5–3 = 2 ตัว/วัน/คน หรือ 40%

 
มูลค่าเพิ่ม (Value Added) จาก Labor Productivity
- ราคาเฉลี่ย 31.5 เหรียญ/โหล หรือ 1,354.5 บาท/โหล (ค่าเงินบาท ณ. ขณะนั้น 43 บาทต่อ 1 เหรียญ)
- ราคาขายเฉลี่ย  = 112.87 บาท/Set
- Labor Productivity เพิ่มขึ้นเป็น 225.75 บาท/คน/วันหรือ 5,869.5 บาท/คน/เดือน
หลังการอบรมพนักงานฝ่ายผลิตแผนกเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทำให้พนักงานได้แสดงข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงงานของตน รวมทั้งหมด 110 เรื่องหรือเฉลี่ยราว 9.17 เรื่องต่อเดือน  


• สรุปและข้อเสนอแนะ 

 - ความร่วมมือและการเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานในการทำงาน ทำให้พนักงานสามารถปรับปรุงวิธีการทำงานและบันทึกข้อมูลการผลิตประจำวันได้อย่ามีประสิทธิภาพ

 - ในกรณีการปรับปรุงงานในโรงงานนั้น บริษัทจะต้องขยายผลไปทั่วทั้งโรงงานในอนาคต

 - ผู้บริหารระดับสูงควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการอบรมพนักงานให้มีความ สามารถในการนำเทคนิคต่างๆไปประยุกต์ใช้งานได้จริงเช่น การลดต้นทุน การควบคุมคุณภาพ นอกจากนี้ผู้บริหารจะต้องส่งเสริมและกระตุ้นพนักงานทุกระดับให้มีขวัญกำลังใจในการทำงานตลอดไป

 - ควรหาโอกาสทำการสำรวจขวัญกำลังใจ (Morale Survey) ของพนักงานเป็นระยะ ๆ นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงการบริหารงานในอนาคต

- ผู้บริหารระดับสูงควรกำหนดกลยุทธ์และนโยบายการบริหารงานของบริษัทให้ชัดเจน เพราะการแข่งขันของธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการเตรียมพร้อมต่อการปรับตัวให้ทันต่อการแข่งขันในระดับโลก

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด