เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 14:55:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 29201 views

การบริหารความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรมเชิงรุก

แนวคิดทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม บุคคลที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเปรียบเสมือนเครื่องจักร จะต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายตามเวลาที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงความเต็มใจ ความพร้อมของผู้ปฏิบัติงาน

การบริหารความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรมเชิงรุก


สนั่น เถาชารี 
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,
nutphysics@hotmail.com

 

     แนวคิดทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม บุคคลที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเปรียบเสมือนเครื่องจักร จะต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายตามเวลาที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงความเต็มใจ ความพร้อมของผู้ปฏิบัติงาน


     ในปัจจุบันฝ่ายบริหารเล็งเห็นว่าบุคคลในองค์กรเป็นปัจจัยการผลิต (Factor of Management) ชนิดหนึ่งที่มีค่าและมีชีวิตจิตใจ บุคคลจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมีความพร้อม มีความต้องการ มีความรู้สึกละอารมณ์ในการทำงาน ดังนั้นการที่องค์กรกำหนดให้พนักงานปฏิบัติงานจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น การจูงใจ (Motivation) การฝึกอบรม (Training) สภาพแวดล้อมในการทำงาน (Environment) ตลอดทั้งความปลอดภัยในการทำงาน (Safety)

ความหมายของอุบัติเหตุ (Definition of Accident)


     อุบัติเหตุเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายและทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม เรียกว่า อุบัติเหตุ แต่ถ้าหากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทำให้เกิดผลเสียหายเราเรียกว่า อุบัติภัย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน คำว่าเกิดอุบัติเหตุในบทความฉบับนี้ ถือว่า เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนและก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทรัพย์สินและเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ

     อุบัติเหตุเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายและทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม เรียกว่า อุบัติเหตุ แต่ถ้าหากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทำให้เกิดผลเสียหายเราเรียกว่า อุบัติภัย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน คำว่าเกิดอุบัติเหตุในบทความฉบับนี้ ถือว่า เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนและก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทรัพย์สินและเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ

 

สาเหตุและการป้องกันอุบัติเหตุ

      ปัญหาเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุในโรงงาน เป็นปัญหาใหญ่ของเจ้าของโรงงานเพราะเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งเป็นการทำลายทรัพย์สิน และอาจทำให้ร่างกายพิการหรือเสียชีวิตได้ นอกจากจะทำให้เกิดผลเสียหายดังกล่าว ยังเกิดผลกระทบกระบวนการผลิตที่ช้าลง หรือหยุดชะงัก ถึงแม้จะไม่เกิดการเสียชีวิตหรือร่างกายพิการก็ตาม และอุบัติเหตุก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยผู้ประกอบการ หรือพนักงานไม่ได้วางแผนเอาไว้ล่วงหน้า และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด


  งานวิจัยของ เฮนริช (H.W. Hernrich) ได้สรุปว่าสาเหตุของอุบัติเหตุมี 3 ประการด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1. สาเหตุจากคน (Human Causes) เป็นจำนวนสูงสุดของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ทำงานไม่ถูกต้อง ประมาท พลั้งเผลอ การมีนิสัยชอบเสี่ยง และการขาดความรู้ ทักษะในการทำงาน เป็นต้น

2. สาเหตุที่เกิดจากเครื่องจักร (Mechanical Failure) เป็นเปอร์เซ็นต์การเกิดอุบัติเหตุรอง อุบัติเหตุจากเครื่องจักร เช่น เครื่องจักรไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน เครื่องจักรชำรุดไม่พร้อมที่จะทำงาน เป็นต้น

3. สาเหตุที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือดวงชะตา (Acts of God) การเกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้ จะเกี่ยวข้องกับธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ฟ้าผ่า น้ำท่วม พายุ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการจัดการสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงงาน เช่น อุณหภูมิ แสงสว่าง ทางเดิน สี สัญลักษณ์ ที่ใช้ในโรงงานอาจไม่เหมาะสม

 

อุณหภูมิของอากาศที่เหมาะสมในสภาพชนิดของงานต่าง ๆ สามารถแสดงได้ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 อุณหภูมิของอากาศที่เหมาะสมในสภาพชนิดของงานต่าง ๆ

จากสาเหตุต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุพอสรุปได้ดังรูปที่ 1 ข้างล่างนี้

 

รูปที่ 1 สาเหตุของอุบัติเหตุ

ทฤษฎีการเกิดอุบัติเหตุ

  ทฤษฎีการเกิดอุบัติเหตุที่จะกล่าวในบทความนี้ เป็นการคาดการณ์การเกิดอุบัติเหตุซึ่งมีทฤษฎีด้วยกันหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) เป็นต้น


  ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) เฮนริช (H.W. Hernrich) เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีโดมิโนขึ้นมา เขากล่าวว่า การบาดเจ็บหรือการสูญเสียต่าง ๆ เป็นผลมาจากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสาเหตุของอุบัติเหตุ ก็มาจากการกระทำและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย โดยทฤษฎีนี้เปรียบเสมือนตัวโดมิโนที่เรียงกันอยู่ 5 ตัวใกล้เคียงกัน ถ้าตัวใดตัวหนึ่งล้มลง ย่อมมีผลทำให้โดมิโนตัวอื่น ที่อยู่ถัดไปล้มตามไปด้วยเหมือนลูกโซ่ ดังนี้

1. สภาพภูมิหลังของบุคคล (Social Environment of Background) หมายถึง สภาพการเลี้ยงดูจากครอบครัว รวมถึงการให้การศึกษา การสร้างเจตคติ ลักษณะนิสัย บุคลิกภาพที่ได้รับประสบเป็นเวลานาน

2. ความบกพร่องของร่างกาย (Defect of Person) หมายถึง ความบกพร่องทางร่างกาย ได้แก่ ประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม สายตา การเจ็บป่วย ความเมื่อยล้า เป็นต้น

3. การกระทำและสภาพที่ไม่ปลอดภัย (Acting & Status of Unsafety) หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดอันตรายรวมถึงสภาพของเครื่องจักร เครื่องมือที่นำมาใช้ในการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึง สภาพทั่ว ๆ ไปในการทำงาน เช่น พื้น แสง เสียง ฝุ่น อื่น ๆ เป็นต้น

4. อุบัติเหตุ (Accident)

5. การบาดเจ็บและความเสียหาย (Wounded and Damage)


   ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) พยายามจะอธิบายถึงการเกิดอุบัติภัย ทั่วไปที่เกิดจากบุคคล การกระทำของบุคคลมีภูมิหลังด้านครอบครัว และการศึกษาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ก็เกิดจากความบกพร่องของบุคคลเช่นเดียวกัน

  ทฤษฎีโดมิโน เมื่อโดมิโนตัวที่ 1 (Social Environment of Background) หรือ 2 (Defect of Person) หรือ 3 (Acting & Status of Unsafety) ตัวที่ 4 (Accident) หรือ 5 (Wounded and Damage) ก็จะล้มตาม การป้องกันอุบัติเหตุเราสามารถพิจารณาได้ 2 ประการคือ


1. การป้องกันอุบัติภัยระยะสั้น คือการขจัดตัวที่ 3 ออก คือการขจัดการกระทำที่ไม่ปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ทำให้ตัวที่ 4 คือ อุบัติภัยจะไม่เกิดขึ้น

2. การป้องกันอุบัติภัยระยะยาว คือ การสร้างจิตสำนึกการให้การศึกษา การสาธารณสุขมูลฐานซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงของสังคม จะทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและการกระทำที่ปลอดภัย เป็นการป้องกันอุบัติภัยที่ยั่งยืนกว่าในข้อ 1 มาก


 นอกจากนี้ คณะกรรมการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้เสนอการเสริมสร้างความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพไว้ตามหลัก 3E ดังแสดงในรูปที่ 2

 

รูปที่ 2 การเสริมสร้างความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ตามหลัก 3E

 

Engineering (วิศวกรรม) คือการใช้ความรู้ทางวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ในการคำนวณออกแบบเครื่องจักร เครื่องมือที่มีสภาพการใช้งานที่ปลอดภัยที่สุด การติดตั้งเครื่องจักร การวางผังโรงงาน ระบบไฟฟ้าแสงสว่างระบบเสียง อุณหภูมิ การระบายอากาศติดตั้งไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเกิดความปลอดภัย


Education (การให้ศึกษา) คือ การอบรมลูกจ้าง คนงาน หัวหน้างาน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในโรงงาน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุและการเสริมสร้างความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ให้รู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นและป้องกันได้อย่างไร และจะทำงานอย่างไรจึงจะปลอดภัยที่สุด


Enforcement (การออกกฎระเบียบข้อบังคับ) คือ การกำหนดวิธีการทำงานอย่างปลอดภัย และมาตรการควบคุมบังคับให้คนงานปฏิบัติตาม เป็นระเบียบปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และประกาศให้ทราบทั่วกัน หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ เพื่อให้เกิดความสำนึกและหลีกเลี่ยงการทำงานที่ไม่ถูกต้อง

 

การจัดองค์กรเพื่อความปลอดภัย (Safety Organization)


  เป็นการจัดสายงานด้านความปลอดภัยในองค์กร ซึ่งแต่ละโรงงานอาจจะมีลักษณะ สายงานองค์กรเพื่อความปลอดภัย ดังแสดงในรูปที่ 3

 

รูปที่ 3  ลักษณะสายงานขององค์กรเพื่อความปลอดภัย

 

1. คณะกรรมการเพื่อความปลอดภัย (Safety committee)

มีหน้าที่และความรับผิดชอบ (Duty and Responsibility) ต่อการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยในโรงงาน โดยคณะกรรมการต่าง ๆ มีหน้าที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัย ดังนี้
   1) จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อความปลอดภัยทุกเดือน หรืออาจจะมีการประชุมกรณีพิเศษ เมื่อมีความจำเป็น

   2) เลขนุการของคณะกรรมการชุดนี้ จดบันทึกและรายงานอุบัติเหตุ เก็บรวบรวมข่าวสารสถิติ และประเด็นควรทราบเกี่ยวกับอุบัติเหตุ จัดโปรแกรมการประชุม บันทึกรายงานประชุมทำเอกสารเผยแพร่ เป็นต้น

  3)  กำหนดนโยบายความปลอดภัย ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

  4)  กำหนดเป้าหมายและแผนงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายความปลอดภัย

  5)  ศึกษาสภาพการทำงาน และการปฏิบัติที่ไม่ปลอดภัย เพื่อกำหนดให้มีการปรับปรุงแก้ไข

  6)  ส่งเสริม สนับสนุน ให้มีกิจกรรมด้านความปลอดภัย

  7)  กำหนดแนวทางในการจูงใจพนักงาน ให้มีจิตสำนึกและทัศนคติที่ปลอดภัย

  8)  เสนอแนะให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมพนักงานทุกระดับ เกี่ยวกับความปลอดภัย

  9)  กำหนดความรับผิดชอบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมและประสานงานให้พนักงานทุกระดับดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้

  10)  สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพสิ่งแวดล้อม

  11)  ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ กำลังคน รวมทั้งการอนุมัติแผนงานด้านความปลอดภัยและสภาพสิ่งแวดล้อม

  12)  จัดทำคู่มือ ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพสิ่งแวดล้อม

  13)  กำหนดแผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยตลอดจนการฝึกปฏิบัติเป็นระยะๆ

  14)  ตรวจสอบ ติดตามผล ทบทวน และประเมินผลการดำเนินงาน ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมให้เป็นไปตามแผน และลงสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพเป็นระยะ ๆ

  15)  พิจารณา เสนอแนะฝ่ายบริหารในการจัดตั้งคณะอนุกรรมการความปลอดภัยหรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติงานในเรื่องที่มอบหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย


 2. หน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (Safety Officer)

  ผู้ตรวจสอบความปลอดภัย (Safety Inspection) หรือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย เป็นบุคคลที่ดูแลความ ปลอดภัยขณะที่มีการปฏิบัติงานตลอดเวลาที่มีการทำงาน โดยขึ้นตรงต่อผู้จัดการโรงงานหรือประธานคณะกรรมการเพื่อความปลอดภัย และมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้


 1)  กำหนดแนวทาง และปรับปรุงการดำเนินป้องกันอุบัติภัย ตามความจำเป็นและสถานการณ์ให้เหมาะสมอยู่เสมอ

 2)  ดำเนินการจัดส่งข้อมูลรายงานสถิติและสถานการณ์อุบัติเหตุของบริษัท ถึงผู้บริหารทุกระดับเป็นประจำทุกเดือน ทุกสัปดาห์ หรือทุกวัน

 3)  ให้คำปรึกษา คำแนะนำต่าง ๆ ด้านความปลอดภัยและอุบัติเหตุ แก่ฝ่ายบริหาร ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ หัวหน้าแผนกต่าง ๆ และบางหน่วยงาน เช่น งานด้านจัดซื้อจัดหา งานด้านบุคลากร งานวิศวกรรมความปลอดภัย

 4)  จัดระบบรวบรวมรายงานอุบัติเหตุ จัดทำรายงานที่จำเป็น สอบสวนอุบัติเหตุที่ร้ายแรงหรือเสียชีวิต มีส่วนร่วมในการพิจารณาสอบสวนอุบัติเหตุอุบัติภัยรวบรวมรายงานอุบัติภัยของผู้ควบคุมงาน ตรวจสอบแก้ไขปรับปรุงอุบัติภัยของผู้ควบคุมให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง

 5)  จัดหรือให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมป้องกันอุบัติเหตุให้กับพนักงานทุกคน

 6)  ประสานงานป้องกันอุบัติเหตุกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงการคัดเลือกและจัดพนักงานให้เหมาะสมกับหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ

 7)  ดำเนินงานให้มีการตรวจตราสถานที่ทำงาน เพื่อค้นหาสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย หรือวิธีการทำงานที่ไม่ปลอดภัย แล้วแก้ไขเสียก่อนที่จะเกิดอุบัติภัยขึ้น

 8)  ติดต่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นข่าวสารกับหน่วยงานอื่น ๆ อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงการป้องกันอุบัติภัยให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ

 9)  จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ พระราชบัญญัติ หรือประกาศทางราชการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยโดยเคร่งครัดตลอดเวลา

 10)  เริ่มโครงการหรือกิจกรรมที่กระตุ้นเตือนผู้ปฏิบัติงานให้สนใจ และมีส่วนร่วมในการป้องกันอุบัติภัยอยู่เสมอ

 11)  ดูแลสั่งการให้ส่วนที่รับผิดชอบ ดำเนินการป้องกันอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดผลอย่างจริงจัง

 12)  ควบคุมหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัย และการดับเพลิงตลอดจนฝึกซ้อมทีมดับเพลิงให้พร้อมอยู่เสมอ

 13)  วางมาตรฐานเกี่ยวกับอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงาน

 14)  พิจารณาและความเห็นชอบ หรืออนุมัติสำหรับการออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ ก่อนนำมาใช้งานว่าปลอดภัยเพียงพอหรือไม่

 15)  ให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยและป้องกันอุบัติภัย ในการวางแผนและวางรายละเอียดข้อกำหนดต่าง ๆ สำหรับอาคารที่จะสร้างใหม่หรือการซ่อมแซมอาคาร

 16)  ร่วมวางแผนปฏิบัติเมื่อมีเหตุฉุกเฉินขึ้นในโรงงาน


 3. หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้แทนระดับบังคับบัญชา (Supervisor)

  มีหน้าที่โดยตรงในการทำงานให้มีความปลอดภัยตลอดไป และให้ความช่วยเหลือและปรึกษาตลอดจนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แก่คนงานอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เฉพาะเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุอีก ดังนี้

  1)  รับผิดชอบในการดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย

  2)  ศึกษากฎระเบียบ ข้อบังคับในการทำงานอย่างปลอดภัยที่บริษัทกำหนดไว้เพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

  3)  อบรมพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะพนักงานที่เข้าปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ ให้ทราบถึงข้อปฏิบัติในการทำงานอย่างปลอดภัย

  4)  รับผิดชอบในการรักษาปรับปรุง หรือรายงานและติดตามผลเพื่อให้สถานที่ทำงานอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย

  5)  รับผิดชอบให้ผู้ที่ได้รับการปฐมพยาบาล หรือรับการช่วยเหลือได้รับการปฏิบัติอย่างให้ถูกต้อง ในทันทีที่ประสบอันตราย

  6)  สอบสวนและรายงานอุบัติเหตุ หรือการประสบอันตรายจากการทำงานของพนักงานทุกครั้งที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะป้องกันเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก

  7)  ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการความปลอดภัยในการทำงานและเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง

  8)  จัดให้มีการพบปะผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นกลุ่มหรือทีละคนเป็นประจำ เพื่อสนทนาในเรื่องความปลอดภัยเฉพาะเรื่อง

  9)  สนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอแนะให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับความปลอดภัย

  10)  จัดอุปกรณ์ และดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้อุปกรณ์ในการป้องกันอันตรายตลอดเวลาทำงาน

  11)  ตรวจตราดูแลสภาพการทำงานและวิธีการปฏิบัติงาน ให้ปลอดภัยเป็นประจำทุกวัน


 4. หน้าที่ความรับผิดชอบของคนงาน (Workers)

  เป็นหน้าที่โดยตรงที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง และกฎของโรงงานที่ตนเองทำอยู่ ต้องรายงานหรือแจ้งอุบัติเหตุและความบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแผนก หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุแก่หัวหน้างานทันที นอกจากนี้ หน้าที่ความรับผิดชอบของคนงานยังจะต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของโรงงานดังนี้
  1)  พนักงานทุกคนต้องทำงานด้วยความสำนึกในความปลอดภัยอยู่เสมอทั้งของตนเองและผู้อื่น

  2)  พนักงานทุกคนต้องรายงานสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และอุปกรณ์ป้องกันที่ชำรุดเสียหายต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

  3)  พนักงานทุกคนต้องเอาใจใส่และปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในการทำงานอย่างเคร่งครัด

  4)  พนักงานทุกคนให้ความร่วมมือกับบริษัท เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการทำงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน

  5)  เมื่อพนักงานมีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความปลอดภัยให้เสนอผู้บังคับบัญชา

  6)  พนักงานทุกคนต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันภัย ที่บริษัทจัดให้ แต่งกายให้รัดกุมเหมาะสมกับงานตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน

  7)  พนักงานทุกคนต้องไม่เสี่ยงกับงานที่ไม่เข้าใจ หรือไม่แน่ใจว่าทำอย่างไรถึงจะปลอดภัย

  8)  ต้องศึกษางานที่ปฏิบัติว่าอาจเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง

สภาพแวดล้อมภายในโรงงาน และนโยบายการบริหารความปลอดภัย


 1. สภาพแวดล้อมภายในโรงงาน
 การวางผังโรงงาน เป็นปัจจัยสำคัญต่อความปลอดภัยของคนงาน เพราะเป็นการสร้างสิ่งที่แวดล้อมที่เหมาะสมในการปฏิบัติ และสภาพแวดล้อมนั้นจะประกอบด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ ทางฟิสิกส์ เช่น อุณหภูมิ แสงสว่าง เสียง ฯลฯ ทางเคมี เช่น ควันพิษ ปฏิกิริยาทางเคมีในกระบวนการผลิต ฯลฯ ทางสุขาภิบาล เช่น ความสะอาด ฯลฯ และทางด้านจิตใจ เช่น ทำงานเร่ง เบื่อระอา ประมาท ขาดความพร้อมทางด้านร่างกายจิตใจ ฯลฯ


ปัจจัยเกี่ยวกับผังโรงงาน
จากสภาพแวดล้อมและการวางผังโรงงาน จะต้องนำมาเป็นหนึ่งในการพิจารณาในเรื่องความปลอดภัย ดังนี้


 1) การวางผังโรงงานเพื่อความปลอดภัย เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลใช้ในการผลิต โดยมีแนวทางในการออกแบบ ดังนี้
  1. จัดวางเครื่องจักรธรรมชาติทุกชนิดให้ใกล้แสงสว่างธรรมชาติให้มากที่สุด โดยควรวางตั้งใกล้ริมหน้าต่าง

  2. เครื่องจักรขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมากควรจัดวางใกล้ทางเข้าออก เพราะขนส่งชิ้นงานขนาดใหญ่ทำได้สะดวก

  3. ควรจัดเครื่องจักรกลที่ผลิตชิ้นงานขนาดใหญ่ไว้ ณ จุดที่ รอก หรือเครนทำงานไปได้ถึง

  4. จัดวางเครื่องจักรกลทุกเครื่องโดยให้
   - รถเข็นหรือรถขนาดเล็กเข้าไปถึง
   - มีช่องว่างหรือมีพื้นที่รอบ ๆ ตัวเครื่องจักรพอปฏิบัติงาน และซ่อมบำรุงได้

  5. ควรตั้งหินเจียระไนใกล้เครื่องกลึง เครื่องเจาะ เครื่องไส เพื่อสะดวกในการลับมีดแต่ให้ระมัดระวังประกายไฟจากการเจียระไนจะกระจายไปรบกวนที่อื่น ๆ

  6. ควรจัดชั้นวางเครื่องอุปกรณ์ และส่วนประกอบต่าง ๆ รวมทั้งชิ้นงานไว้ใกล้เครื่องจักรแต่ละเครื่อง

  7. เครื่องจักรกลทุกชนิดควรตั้งให้มั่นคง และยึดแน่นกับพื้นที่ ส่วนแท่นเลื่อยไฟฟ้าควรตั้งอยู่หน้าสโตร์เก็บเหล็กเส้น โดยมีที่ว่างพอสมควรและไม่น้อยกว่า 6 เมตร

  8. สวิตช์ควบคุมการทำงานของเครื่องจักร ควรอยู่ตำแหน่งที่ปลอดภัยและยากที่จะไปสัมผัส และสวิตช์ใหญ่ที่ควบคุมระบบไฟฟ้าทั้งหมด ควรตั้งในตำแหน่งที่ชัดเจน

  9. โต๊ะปฏิบัติงานตะไบ ควรจัดวางให้สามารถจับชิ้นงานยาว ๆ ด้วยปากกาโต๊ะ และต้องไม่ขัดขวางต่อการทำงานของคนอื่น


2) ข้อมูลสำหรับการวางผังและจัดสภาพแวดล้อมในโรงงาน
ในทางปฏิบัติงานจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบในเรื่อง ต่อไปนี้
  1. ในการออกแบบขนาดโต๊ะทำงานต่าง ๆ ควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของร่างกายคนเป็นสำคัญ ซึ่งหากการกำหนดขนาดของโต๊ะทำงานหรืออุปกรณ์ในการทำงานอื่น ๆ ไม่เหมาะสมแล้วการทำงานย่อมเมื่อยล้าได้ง่ายและอาจจะเกิดอุบัติเหตุตามมาได้

  2. ขนาดสำหรับทางเดินภายในโรงงานมีขนาดและลักษณะที่ดีดังต่อไปนี้
   - ทำให้ทางเดินทุกแนวเป็นเส้นตรง
   - ระดับทางเดินควรเท่ากันและเรียบ ในกรณีต่างระดับควรทำทางลาดเชื่อมต่อกัน
   - ทำให้ทางเดินอยู่ตรงกลาง
   - ทำให้ทางเดินมีความกว้างหลายขนาดตามปริมาณการใช้งานและแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต

  3. ทางผ่านของระบบสายพานลำเลียงวัสดุกับทางเดินในโรงงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงกันได้ยาก ควรออกแบบใช้งานได้พร้อม ๆ กันโดยยกสูงต่างระดับกัน สำหรับทางผ่านสายพานลำเลียง (Conveyor) กับทางเดินของคนนั้นควรทำให้ข้ามกันได้อย่างอิสระ

  4. ระบบแสงสว่าง ในโรงงานมีแสงสว่าง 2 แหล่ง คือ แสงสว่างจากดวงอาทิตย์และแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้า ในการออกแบบผังโรงงานควรอาศัยและใช้แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ให้มากที่สุดโดยเข้าทางหลังคาที่ออกแบบให้โปร่งแสง และหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้มาก ส่วนแสงสว่างจากไฟฟ้าก็มีด้วยกันหลายชนิด เช่น หลอดที่ให้แสงสว่างที่มีอายุการใช้งานประมาณ 1,000 ชั่วโมง อย่างหลอดเรืองแสงหรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent) ที่บรรจุไอปรอทไว้ภายใน เมื่อใช้งานจะเกิดรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultra Violet: UV) และตกกระทบสารฟอสเฟอร์ (Phosphors) ที่ฉาบไว้ภายในหลอดจะเปล่งแสงออกมาเป็นสีขาวนวล มีลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติมีอายุการใช้งานนานกว่าหลอดแสงสว่าง (Incandescent) ประหยัดไฟจึงมีผู้นำมาใช้กันมาก หลอดสปอร์ตไลท์ (Sportlight) เป็นหลอดไฟที่สว่างมากกว่า แต่กินไฟมากกว่า เพราะฉะนั้นการเลือกใช้หลอดไฟจึงเลือกใช้ให้เหมาะสม เช่น หลอดสปอร์ตไลท์ เหมาะกับติดในที่โล่งแจ้งทางเดิน สนาม โกดัง เป็นต้น

  5. การออกแบบเกี่ยวกับเสียง มีผลต่อการปฏิบัติงานอย่างยิ่ง และเสียงดังในโรงงานอันเนื่องมาจากสาเหตุใด ๆ ก็ตามจะส่งผลเสียต่อการผลิต 3 ประการ ดังนี้
   - ขัดขวางการสื่อสาร หรือสัญญาณเตือนต่าง ๆ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการประสานงาน และเป็นอันตรายได้

   - ลดขวัญกำลังใจ รวมทั้งประสาทสัมผัสของคนงานทำให้คนงานมึนตื้อและประสาทสัมผัสช้าจนเป็นอันตรายได้

   - ความดังของเสียงจะทำลายประสาทหูโดยตรง ทำให้คนงานหูพิการและสูญเสียประสาทหรือการรับฟังเสื่อมลง ดังนั้นถ้าความดังเกิน 90 เดซิเบล (dB) ตลอดเวลาควรรับแก้ไข มิฉะนั้นอาการผิดปกติของหูจะค่อย ๆ เกิดโดยเจ้าตัวไม่รู้เลย    

  ระดับความดังของเสียงต่อเนื่อง ซึ่งกำหนดเป็นมาตรฐานสากลที่สามารถรับฟังได้ ในระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละวัน โดยไม่ทำให้เกิดอันตราย ดังนี้
   - ระยะเวลา 8 ชั่วโมง ระดับความดังของเสียงไม่ควรเกิน 90 เดซิเบล   

    - ระยะเวลา 4 ชั่วโมง ระดับความดังของเสียงไม่ควรเกิน 95 เดซิเบล

   - ระยะเวลา 2 ชั่วโมง ระดับความดังของเสียงไม่ควรเกิน 100 เดซิเบล

   - ระยะเวลา 0.5 ชั่วโมง ระดับความดังของเสียงไม่ควรเกิน 110 เดซิเบล


นโยบายความปลอดภัย
 1)  แนวคิดการบริหารความปลอดภัย
        การบริหารความปลอดภัย หมายถึง กรรมวิธีเกี่ยวกับการวางแผน (Planning) การจัดองค์กร (Organizing) การจัดบุคลากร (Staffing) การเป็นผู้นำ (Leading) การควบคุม (Controlling) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของความปลอดภัยที่กำหนดขึ้น โดยความร่วมมือของพนักงานและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

        ปฏิบัติ หมายถึง การควบคุมสภาพแวดล้อมในการทำงาน การกำหนดให้มีหน่วยงานปฏิบัติและวิธีการดำเนินงาน เพื่อลด/ขจัด สภาพเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและโรคจากการทำงาน โดยระดมความรู้จากภายในและภายนอก พร้อมทั้งกำหนดหน้าที่รับผิดชอบให้ทุกหน่วยงาน ทุกระดับชั้น ภายในสถานประกอบการเข้าใจชัดแจ้งปฏิบัติได้


 2) การบริหารความปลอดภัยที่ดี มีลักษณะ
      1.  มีการปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย เป็นระบบอย่างต่อเนื่อง

      2.  เสริมสร้างความปลอดภัยให้เข้าสู่กระบวนการผลิต

      3.  มีวิธีการจูงใจพนักงาน ให้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมด้านความปลอดภัย

      4.  มีการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย ตามข้อกำหนดของกฎหมาย


 3) แนวคิดพื้นฐานของการบริหารความปลอดภัย ที่สำคัญมี 6 ประการ คือ
      1.  ผลการผลิตปลอดภัย (Safe Production) หมายถึง การคำนึงทั้งผลิตและความปลอดภัย (ผลผลิตที่ได้ปราศจากการบาดเจ็บ/ความสูญเสีย)

      2.  การป้องกันที่ต้นเหตุ (Prevention at Source) หมายถึง การป้องกันที่การกระทำ/สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย

      3.  ขอบเขตการดำเนินงาน (Unique and Specialised Activity Related to Safety) หมายถึง มุ่งที่จะแก้ไข/กำหนดกิจกรรมความปลอดภัยให้ครอบคลุม

      4.  การคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ของการเกิดอุบัติเหตุอันตราย (Possibility of Hazard Prediction)

      5.  การแก้ไขที่เหตุอื่น เมื่อพบว่าไม่สามารถแก้ไขที่ตัวบุคคลได้

      6.  แนวคิดเกี่ยวกับการแก้ไขสาเหตุจากอาการหรือสิ่งที่เกิดขึ้น


แนวคิดพื้นฐานของการบริหารความปลอดภัย ทั้ง 6 ประการดังกล่าวมาข้างต้น ควรประยุกต์ใช้ผสมผสานกันทั้ง 6 ประการ เพื่อให้ได้ทั้งผลผลิตและความปลอดภัยควบคู่กันไป


ความสำคัญของนโยบายความปลอดภัย ที่สำคัญคือ แสดงความจริงใจของนายจ้างที่เห็นความสำคัญ และมีภาระที่ต้องดูแลความปลอดภัยให้พนักงาน ทำให้เห็นภาพพจน์การปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย และทำให้พนักงานทุกคน ทุกระดับให้ความสำคัญและทราบภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นแรงจูงใจในความร่วมมือที่สำคัญยิ่งในการบริหารความปลอดภัย

 
   1) นโยบายความปลอดภัยต้องมีคุณลักษณะ 6 ประการ ดังต่อไปนี้
       1.  เป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งให้ทุกคนทราบและปรับปรุงให้ทันสมัยเสมอ

       2.  กำหนดภาระเรื่องความปลอดภัย ครอบคลุมทุกประเภทของงาน
 
       3.  กำหนดให้ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ และให้ความร่วมมือในกิจกรรม

       4.  กำหนดกิจกรรมหลักที่สำคัญไว้ เช่น การอบรม การตรวจสอบความปลอดภัย

       5.  กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย

       6.  กำหนดให้มีการติดตามประเมินผลให้เป็นไปตามนโยบาย


หลักการกำหนดนโยบายความปลอดภัยมี 7 ประการ ดังต่อไปนี้
      1)  ข้อกำหนดของกฎหมายและมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยที่ต้องจัดทำ มีขั้นตอน ดังแสดงในรูปที่ 4 

รูปที่ 4 ขั้นตอนการกำหนดวัตถุประสงค์และเนื้อหาของนโยบาย ตามข้อกำหนดของกฎหมายและมาตรฐานต่าง ๆ

 


2)  การสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติงานความปลอดภัยของพนักงานทุกระดับ (เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานความปลอดภัย) ซึ่งมีแนวทางในการสร้างความร่วมมือ ดังต่อไปนี้
           1. วิเคราะห์ทัศนคติและความร่วมมือของพนักงานทุกระดับ

           2. วิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย

           3. ศึกษาวิธีการที่ใช้ในการสื่อข้อความ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย

           4. ศึกษาวิธีการปรึกษาหารือที่จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายลูกจ้าง

3)  พิจารณากระบวนการผลิตและวิธีปฏิบัติ
           1. ทราบปัญหาความไม่ปลอดภัยของแต่ละงานในกระบวนการผลิต และเลือกใช้วิธีที่เหมาะสม

           2. รู้ถึงอุบัติเหตุอันตรายที่เกิดจากการทำงาน 

           3. ทราบถึงอันตรายจากการนำกระบวนการผลิตแบบใหม่มาใช้

           4. ทราบถึงวิธีการแก้ไขป้องกัน

4)  เลือกกลวิธีที่เหมาะสมในการเสริมสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน 

5)  การสร้างความสัมพันธ์/ความพอใจของลูกค้า ต่อความปลอดภัยของผลผลิต 

6)  กำหนดจุดยืนด้านความปลอดภัยในตลาดการค้า

7)  การกำหนดข้อตกลงด้านความปลอดภัยให้กับผู้รับเหมาต้องปฏิบัติ

 

การมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัย 

         การมอบอำนาจ หมายถึง การที่ผู้บังคับบัญชาโอนอำนาจส่วนหนึ่งให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ต้องรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้น ดังแสดงในรูปที่ 5

  รูปที่ 5 อำนาจหน้าที่รับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูง

 

      จากรูปที่ 5 จะเห็นว่าผู้บริหารระดับสูงมีอำนาจ วางแผนงาน จัดการ ประสานงาน ควบคุม ฯลฯ ซึ่งสามารถที่จะถ่ายทอดอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัย ให้แก่ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ฝ่ายความปลอดภัย(ช่วยเหลือด้านวิชาการ) เพื่อให้ใช้วางแผน จัดการ ประสานงาน ควบคุม อุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในโรงงาน โดยมีหลักการในการมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัย ดังต่อไปนี้


1.  กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ

2.  เลือกผู้ที่จะรับมอบหมายอำนาจ ซึ่งต้องเป็นผู้นำที่ดี/มีมนุษยสัมพันธ์ดี

3.  ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ ต้องมีอำนาจในการตัดสินใจ 

4.  อธิบายรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับนโยบาย มาตรการ หน้าที่รับผิดชอบ และการรายงานผลงานด้านความปลอดภัยให้ผู้รับมอบอำนาจรับทราบ

5.  ส่งเสริมให้มีการพบปะเป็นประจำ ระหว่างผู้มอบและผู้รับอำนาจ

6.  กำหนดความสำเร็จของความปลอดภัยไว้เป็นระยะ ๆ เพื่อจะได้มีการตรวจสอบงาน

7.  เมื่อเกิดความสำเร็จแล้วควรมอบอำนาจให้มากขึ้น เพื่อมอบอำนาจให้เด็ดขาดในเรื่องนั้น


 ซึ่งประโยชน์ของการมอบอำนาจหน้าที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัย ที่มีต่อผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา มีดังแสดงในตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ประโยชน์ของการมอบอำนาจ ต่อผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา

 


นโยบายด้านจิตวิทยาและการจูงใจเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

  การเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมหลายโอกาสที่เกิดจากสภาพจิตของผู้ปฏิบัติงานไม่ปกติ ไม่พร้อมที่จะปฏิบัติ ตลอดทั้งความไม่สมดุลระหว่างสภาพความพร้อมของร่างกาย กับแรงจูงใจที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง และโรงงานหลายโรงงาน ก็มักจะละเลยจึงเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

 
  เราทราบว่าพฤติกรรมของมนุษย์จะถูกกำหนดโดยแรงจูงใจ เช่น ระบบบริหารค่าตอบแทน ความสัมพันธ์ระบบการทำงาน สวัสดิการ เป็นต้น ดังนั้นผู้บริหารควรทราบว่าแรงจูงใจหรือความต้องการของผู้ปฏิบัติงานในโรงงานว่าเป็นอย่างไร ต้องการอะไร ผู้บริหารจึงจะตอบสนองความต้องการได้ถูกต้องเหมาะสม และทำให้การทำงานการผลิตของผู้ปฏิบัติ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนงานทำงานด้วยแรงจูงใจที่สมดุลกับความต้องการ และระวังป้องกันอุบัติเหตุ ตระหนักถึงคุณค่าของการป้องกันอุบัติเหตุ


  ซึ่งแนวทางของนักบริหารอุตสาหกรรม ในการจูงใจให้คนงานได้ตระหนักถึงเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย มีดังต่อไปนี้


1. ฝึกอบรมให้คนงานทุกคนทราบว่า ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุชนิดใดในการทำงานแต่ละอย่าง และต้องฝึกอบรมให้ทราบถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้องด้วย

2. ดูห้องเก็บอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุให้สะอาด และจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เรียบร้อยเพื่อให้คนงานในโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานใหม่มีความประทับใจที่หัวหน้าคนงานให้ความสำคัญกับการป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งจะทำให้พวกเขาเกิดทัศนคติที่ดีต่อการระมัดระวัง เรื่องความปลอดภัยในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น

3. หัวหน้าคนงานจะต้องทำหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุชนิดต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี และต้องทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุดเสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานได้ดี

4. จัดประกวดกิจกรรมรักษาความปลอดภัย วิธีนี้สามารถเสริมสร้างทัศนคติในการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง ซึ่งทางโรงงานจัดให้แต่ละแผนกในโรงงานมีการแข่งขันกันด้วยการรักษาความปลอดภัย โดยมีรางวัลให้เป็นเงินสด ของขวัญหรือโล่ประกาศเกียรติคุณ

5. ติดโปสเตอร์เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย เป็นการเตือนคนงานให้ระมัดระวังในการทำงาน โปสเตอร์หรือแผ่นภาพรวมทั้งตัวอักษรควรเด่นชัด สะดุดตา

6. รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของคนงานทุก ๆ คน เพื่อป้องกันความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคลและทรัพย์สินของโรงงาน

7. จัดให้มีกลุ่มเกี่ยวกับความปลอดภัย โดยให้แต่ละแผนกจัดแผนการประชุมเป็นระยะ ๆ เช่น 1-2 ครั้ง/เดือน ใช้ระยะเวลาให้เหมาะสมไม่นานเกินไปจนน่าเบื่อหน่าย

8. จัดนิทรรศการเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้คนงานสนใจและปลูกฝังนิสัยคนงานเกี่ยวกับงานการรักษาความปลอดภัยในโรงงาน หรือมีการร่วมมือกันระหว่างโรงานที่ใกล้เคียงกัน มีการประกวดคำขวัญเพื่อให้การจูงใจ


   อย่างไรก็ตาม งานการป้องกันอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย ที่ดำเนินการตามนโยบายของนักบริหารอุตสาหกรรมเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ความสำคัญจริง ๆ จะอยู่ที่พนักงานในสายการผลิตแต่ละแผนก (Section) มากกว่าถึงแม้ว่านโยบายของฝ่ายบริหารจะดีขนาดไหนก็ตาม หากพนักงานขาดหลักการปฏิบัติที่ดีความสูญเสียในชีวิตร่างกาย ตลอดทั้งทรัพย์สินก็ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น ผู้บริหารจึงควรมีการอบรมให้คนงานทุกคนได้ยึดหลักปฏิบัติในการปฏิบัติงานทุกครั้งอย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้


1. ต้องมีความละเอียดรอบคอบในการทำงานทุกครั้ง

2. ตรวจสอบความเรียบร้อยของชิ้นงานส่วนที่สำคัญ ๆ ของเครื่องจักรก่อนเดินเครื่องทุกครั้งชิ้นส่วนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ระบบสายพาน ระบบสายไฟ ระบบน้ำมันหล่อลื่นที่ไม่ถูกต้อง ฝาครอบ ระบบหมุนของเครื่องจักรซึ่งหลวมหรือชำรุด เช่น เฟื่องเกียร์ มอเตอร์ไฟฟ้า มูเลย์ เป็นต้น

3. ตรวจตรารอบบริเวณทำงานให้เรียบร้อย พื้นที่บริเวณติดตั้งเครื่องจักรต้องแข็งแรงเพราะเครื่องจักรที่สั่นคลอนจะทำให้ชิ้นงานเสียหายและเกิดอันตรายได้

4. ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงานต่าง ๆ ให้ถูกกับประเภทของงาน

5. ไม่หยอกล้อหรือเล่นกันในขณะทำงาน หรือวิ่งเล่นกันภายในโรงงาน เพราะจะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

6. ชุดปฏิบัติงานต้องรัดกุมไม่หลวมรุ่มร่าม

7. ไม่ไว้ผมยาวเกินไป หรือสวมสร้อยคอขณะปฏิบัติงาน เพราะอาจทำให้ เส้นผมหรือสร้อยคอ ถูกส่วนหมุนของเครื่องจักรดึงเข้าไปให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

8. ห้ามคนงาน ทำความสะอาด และหยอดน้ำมันหล่อลื่น ในขณะที่เครื่องจักรกำลังทำงาน

9. ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุ แต่ละชนิดให้ถูกต้องเหมาะสม ตามสภาพของงานแต่ละชนิด เช่น
- อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ เช่น หมวกกันนอตหรือสวมกะโหลก ควรสวมเมื่อเดินตรวจงานในบริเวณอาคารที่กำลังก่อสร้าง

  - อุปกรณ์ป้องกันตา เช่น แว่นตา หน้ากากชนิดต่าง ๆ ใช้ป้องกันอันตรายในขณะกลึงโลหะ เจียรโลหะ เชื่อมแก๊ส เชื่อมไฟฟ้า เป็นต้น

  - อุปกรณ์ป้องกันหู เช่น ดินน้ำมัน สำลี ใช้ป้องกันเสียงดังในขณะเครื่องจักรทำงาน

- อุปกรณ์ป้องกันมือ งานผลิตทุกชนิดที่ต้องใช้มือยกวัตถุหนักหรือจับวัตถุมีคมวัตถุร้อน วัตถุที่เป็นสารเคมี หรือสายไฟฟ้าแรงจูง เป็นต้น ผู้ปฏิบัติงานควรเลือกสวมถุงมือชนิดที่เหมาะสมตามลักษณะของงาน

- อุปกรณ์ป้องกันเท้า เช่น รองเท้าบูทยาง ใช้สวมเดินบนพื้นโรงงานที่แฉะป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วบนพื้นโรงงาน ป้องกันกรดสารเคมีต่าง ๆ ได้ด้วย


สรุป
  อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากคนทำงาน เกิดจากสิ่งแวดล้อม และเกิดจากเครื่องจักร เครื่องมือไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ผู้บริหารอุตสาหกรรม อาจจะป้องกันอุบัติเหตุโดยใช้ทฤษฎีโดมิโน หลัก 3E การจัดองค์กรเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเป็นการจัดสายงานด้านความปลอดภัยในองค์กร สมาชิกองค์กรเพื่อความปลอดภัยจะประกอบไปด้วย ประธานบริษัท ผู้จัดการโรงงาน เลขานุการ ผู้แทนระดับบังคับบัญชาแผนกต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด และผู้แทนลูกจ้างระดับปฏิบัติการ การจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงงาน การกำหนดนโยบายการบริหารความปลอดภัย

และนโยบายด้านจิตวิทยาและการจูงใจเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น ซึ่งผู้บริหารทุกคนจะต้องคำนึงถึงเป็นหลักสำคัญ เพื่อป้องกันในเชิงรุกและ/หรือลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในองค์กรให้น้อยที่สุด เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้วในขณะทำงาน จะทำให้เกิดผลเสียหายมาสู่พนักงาน องค์กร และสังคมโดยรวม  

 

เอกสารอ้างอิง
- พลชัย ลิมวิภูวัฒน์ และคณะ. คู่มือปฏิบัติ การลดต้นทุนในสถานประกอบการ. กรุงเทพ ฯ: บริษัท เอ.กรุ๊ป. แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ; 2530.  
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. การบริหารจัดการความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรม [ออนไลน์] 2550 [อ้างเมื่อ 9 ธันวาคม 2550]. จาก
www.sut.ac.th/e-texts/Medicine/ism/lesson2_3.html - 28k
- ยุทธ ไกยวรรณ์. การบริหารการผลิต ในงานอุตสาหกรรม. กรุงเทพ ฯ : บริษัท พิมพ์ดี จำกัด; 2547.  
- วิชัย แหวนเพชร. การวางแผนและควบคุมการผลิต. กรุงเทพ ฯ : หจก.ธรรกมลการพิมพ์ ; 2547. 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด