เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 14:34:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9361 views

มาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยฉบับใหม่ OHSAS 18001:2007

ซึ่งในฉบับนี้ เราจะมาพูดถึงมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยฉบับใหม่ หรือ OHSAS 18001:2007 ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา

มาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยฉบับใหม่ OHSAS 18001:2007


ศิริพร วันฟั่น

     ขณะที่กำลังนั่งเขียนบทความอยู่นี้ กำลังอยู่ในช่วงต้นเดือนเมษายน ก่อนวันสงกรานต์ ซึ่งอากาศบ้านเราก็ดูจะแปลก ๆ เพราะแม้จะอยู่ในหน้าร้อน แต่ฟ้าก็ดูหลัว ๆ ไม่สดใส อากาศก็ร้อนอบอ้าว เห็นทางกรมอุตุ ฯ ท่านว่ามีความเสี่ยงสูงในการเกิดพายุฤดูร้อนได้ทั้งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฟังแล้วก็อดเป็นห่วงพี่น้องทั้งสองภาคไม่ได้ เพราะดูจะเดือดร้อนไม่เว้นวาย เพราะเรื่อง ‘น้ำ’ นี่แหละ ที่ไม่เคยมีพอดี มีแต่มากไป กับน้อยไป เฮ้อ ! ก็ตราบใดที่บ้านเรายังคงปล่อยให้มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า รุกล้ำแหล่งต้นน้ำกันอยู่แบบนี้ ปัญหาเดือดร้อนซ้ำซากไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนน้ำ หรือน้ำท่วมก็ยังคงมีอยู่ต่อไปไม่จบไม่สิ้น ก็ได้แต่หวังว่าวิกฤตการณ์ในครั้งนี้จะไม่รุนแรงจนส่งผลร้ายมากไปกว่าที่พบเจอกันในปีที่ผ่านมา


     เอาละ หลังจากบ่นไปหลายบรรทัด ก็หันมาเข้าเรื่องของเราเสียที ซึ่งในฉบับนี้ เราจะมาพูดถึงมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยฉบับใหม่ หรือ OHSAS 18001:2007 ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยมาตรฐานฉบับใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงในจุดสำคัญ ๆ หลายประการ จากฉบับปี 1999 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีการประยุกต์ใช้มาตรฐานนี้กันอย่างแพร่หลายและเพิ่มมากขึ้น ในหลากหลายวงการ ไม่เฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ได้เน้นถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพมากขึ้น จากฉบับเดิมที่เน้นไปในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นหลัก


     นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของมาตรฐาน ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือ ISO 14001:2004 และมาตรฐานการจัดการคุณภาพ หรือ ISO 9001:2000 มากขึ้น เพื่อเอื้อให้องค์กรต่าง ๆ ที่นำมาตรฐานไปประยุกต์ใช้ สามารถพัฒนาระบบการจัดการแบบบูรณาการ หรือ Integrated Management System ได้ง่ายขึ้น


     มาตรฐาน OHSAS 18001:2007 นี้ จะเข้ามาทดแทนข้อกำหนด OHSAS 18001:1999 ซึ่งการให้การรับรองในข้อกำหนดฉบับเก่าจะยุติลงภายใน 2 ปี นับจากวันที่มีการประกาศใช้มาตรฐานฉบับใหม่ หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ ทุกองค์กรที่ได้การรับรองระบบ OHSAS 18001:1999 จะต้องปรับระบบบริหารจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยของตนเอง ให้สอดคล้อง และเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานฉบับ 2007 ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552

 
     ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องมากันดูว่า เจ้ามาตรฐานฉบับใหม่นี้ แตกต่างจากฉบับเดิมอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะสามารถนำมาปรับปรุงระบบ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานฉบับใหม่ได้ทันกำหนดเวลาดังกล่าว


      ก่อนที่เราจะไปพูดกันถึงรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานฉบับใหม่ ขอพูดถึงที่ไปที่มาของมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสักเล็กน้อย ว่าทำไมจึงเป็น OHSAS ไม่ใช่ ISO เหมือนมาตรฐานการจัดการคุณภาพ (ISO 9001) หรือ มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะเจ้า OHSAS นี้ เป็นมาตรฐานสากลที่ไม่ได้ถูกร่างโดย ISO หรือ International Organization for Standardization

 แต่เป็นมาตรฐานที่เกิดจาก OHSAS Project Group ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างองค์กรมาตรฐาน และหน่วยงานที่ให้การรับรองต่าง ๆ เช่น National Standard Authority of Ireland, Standard of Australia, South Africa Bureau of Standards, British Standards Institution, BVQI, NQA, DNV, SFS, LRQA และ SGS เป็นต้น ซึ่งคำว่า OHSAS นั้น ย่อมาจาก Occupational Health And Safety Assessment Series

 

อนุกรมของ OHSAS 18000 นี้ ประกอบไปด้วย

     1. OHSAS 18001:2007 Occupational Health and Safety Management Systems: Requirements เป็นมาตรฐานข้อกำหนด (Conformance Standards) ซึ่งประกอบไปด้วยข้อกำหนดของมาตรฐาน มีวัตถุประสงค์เอาไว้ใช้ในการตรวจ เพื่อให้ใบรับรองมาตรฐาน และ/หรือใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานเอง

     2. OHSAS 18002:1999 Occupational Health and Safety Management System: General Guidelines on Principle, Systems and Supporting Techniques เป็นเอกสารที่ประกอบไปด้วยข้อมูลแนวทาง คำแนะนำในการจัดทำระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือเรียกกันว่า “เอกสารแนวทางแนะนำ” (Guidance Documents) ซึ่งไม่ใช่ข้อกำหนดของมาตรฐาน

      โดยในขณะนี้เอกสารที่มีการประกาศใช้แล้ว ก็คือ OHSAS 18001:2007 ซึ่งเป็นมาตรฐานของข้อกำหนด ส่วนเอกสารแนวทางแนะนำ หรือ OHSAS 18002:1999 นั้นกำลังอยู่ในกระบวนการทบทวน ปรับปรุงแก้ไข และคาดว่าจะมีการประกาศใช้ภายในปี 2008 นี้


ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของข้อกำหนด มี 15 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ให้ความสำคัญและเน้นการจัดการเรื่องสุขภาพมากขึ้น

2. ปรับรูปแบบจากข้อกำหนดหรือเอกสารอ้างอิง (Specification/Document) ในฉบับแรก ไปเป็นมาตรฐาน (Standard) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการนำระบบจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ไปประยุกต์ใช้ในฐานะมาตรฐานสากลอย่างแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น

3. แผนภาพ และรูปแบบ Plan-Do-Check-Act ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนในหมวดบทนำ

4. เอกสารอ้างอิงที่กล่าวถึงในหมวดที่ 2 มีการถูกจำกัดไว้เฉพาะเอกสารที่ได้การยอมรับระดับสากลเท่านั้น

5. มีการเพิ่มคำนิยามใหม่ และทบทวนแก้ไขคำนิยามเดิมที่มีอยู่

6. โครงสร้างของมาตรฐานทั้งหมดได้ปรับให้ตรงกับมาตรฐาน ISO 14001:2004 และเอื้อต่อการประยุกต์ใช้ร่วมกับมาตรฐาน ISO 9001:2000 มากขึ้น

7. เปลี่ยนการใช้ศัพท์จาก Tolerance risk เป็น Acceptable Risk ในความหมายเดิม แต่ให้ความหมายในเชิงบวก ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่น และการมีส่วนร่วมของพนักงานในการตัดสินใจมากขึ้น

8. ปรับคำนิยามของอุบัติเหตุ (Accident) ให้เป็นส่วนหนึ่งของอุบัติการณ์

9. คำจำกัดความของอันตราย (Hazard) ไม่รวมถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือต่อสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน (Damage to property or damage to the workplace environment) โดยการพิจารณาในปัจจุบันเห็นว่า ความเสียหาย (Damage) โดยทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยโดยตรง อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของมาตรฐานฉบับนี้ และการเสียหายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการทรัพย์สิน หรือ Asset Management อยู่แล้ว นอกจากนี้ความเสี่ยงจากความเสียหายเช่นนี้ ยังมีผลกระทบในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ควรถูกชี้บ่ง โดยกระบวนการประเมินความเสี่ยงขององค์กร และถูกควบคุมโดยการมาตรการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม

10. ข้อกำหนดย่อยที่ 4.3.3 และ 4.3.4 ได้รวมกันเป็นข้อกำหนดเดียวคือ 4.3.3 ภายใต้หัวข้อวัตถุประสงค์และแผนงาน (Objectives and Programs) เช่นเดียวกับมาตรฐาน ISO 14001:2004

11. เพิ่มข้อกำหนดใหม่ ให้มีการพิจารณาลำดับการควบคุมความเสี่ยง (ตามหลักวิชาการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยเริ่มจากการลด หาสิ่งทดแทน ใช้การควบคุมทางวิศวกรรม การเตือนอันตราย หรือการบริหารจัดการ ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเป็นวิธีสุดท้าย) ให้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนด้านการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

12. การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หรือ Management of Change ที่อาจมีผลกระทบต่ออาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้รับการระบุไว้เป็นมาตรฐานอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

13. มีข้อกำหนดใหม่เรื่องการประเมินความสอดคล้อง (Evaluation of Compliance) เช่นเดียวกับมาตรฐาน ISO 14001:2004

14. มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเรื่องการมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือ (Participation and Consultation)

15. เพิ่มข้อกำหนดเรื่องการสอบสวนอุบัติการณ์ (Investigation of Incidents) และมีการระบุถึง วัตถุประสงค์ที่จะไม่รวมเอาบทบัญญัติที่จำเป็นของสัญญา หรือข้อตกลงทางกฎหมายทั้งหมดไว้เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนด แต่ให้ผู้ใช้ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินการได้อย่างสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าจะได้รับสิทธิในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้

 

    เป็นอย่างไรบ้างกับการเปลี่ยนแปลง 15 ข้อ ของมาตรฐาน OHSAS 18001:2007 ที่กล่าวมา ไม่ยากเย็นแสนเข็ญเกินไปที่จะปรับระบบปัจจุบันให้สอดคล้อง แถมยังเอื้อต่อการพัฒนาระบบการจัดการองค์กร ให้เป็นแบบบูรณาการ หรือ Integrated Management System ที่แท้จริงอีกด้วย


สนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ดูได้ที่
http://www.lrqa.co.uk/news/industry/ohsas18001.aspx 
- http://www.bsi-global.com/en/Assessment-and-certification-services/management-systems/Standards-and-Schemes/BSOHSAS-18001/
http://www.masci.or.th/SiteCollectionImages/OHSAS18001-2007%20for%20Rayong%20and%20BKK/ภาพรวมการเปลี่ยนแปลง%20OHSAS%2018001.pdf

 


     เอกสารอ้างอิง
http://www.lrqa.co.uk/news/industry/ohsas18001.aspx 
-
http://www.bsi-global.com/en/Assessment-and-certification-services/management-systems/Standards-and-Schemes/BSOHSAS-18001/
http://www.masci.or.th/SiteCollectionImages/OHSAS18001-2007%20for%20Rayong%20and%20BKK/ภาพรวมการเปลี่ยนแปลง%20OHSAS%2018001.pdf

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด