เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 14:20:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7325 views

การป้องกันอันตรายที่มือ (ตอนจบ)

ในตอนจบนี้เราจะมาว่ากันต่อถึงถุงมืออีกสองประเภทที่เหลือ นั่นก็คือ ถุงมือต้านทานสารเคมีและของเหลว และถุงมือป้องกันไฟฟ้านั่นเอง

การป้องกันอันตรายที่มือ (ตอนจบ)


ศิริพร วันฟั่น

 

     ในตอนที่ 1 เราได้กล่าวถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของ มือ รวมถึงแนวทางการป้องกัน คุณลักษณะทั่วไปของถุงมือ ตลอดจนชนิดและคุณสมบัติในการป้องกันหรือต้านทานอันตรายของถุงมือประเภทที่ 1–7 อันได้แก่ ถุงมือประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถุงมือหนัง ถุงมือตาข่ายลวด ถุงมืออะลูมิไนซ์ ถุงมืออะรามิดไฟเบอร์ ถุงมือแอสเบสตอส และถุงมือผ้า กันไปแล้ว ในตอนจบนี้เราจะมาว่ากันต่อถึงถุงมืออีกสองประเภทที่เหลือ นั่นก็คือ ถุงมือต้านทานสารเคมีและของเหลว และถุงมือป้องกันไฟฟ้านั่นเอง

     8. ถุงมือต้านทานสารเคมีและของเหลว (Chemical and Liquid Resistant Gloves) ถุงมือต้านทานสารเคมีทำได้จากวัสดุหลายชนิด เช่น ยางธรรมชาติ (Natural Latex) หรือยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber: Butyl, Nitrile, Neoprene) หรือ Fluoroelastomer เช่น Viton หรือทำจากพลาสติกหลายประเภท เช่น Polyvinyl Chloride (PVC), Polyvinyl Alcohol (PVA) และ Polyethylene ซึ่งวัสดุที่กล่าวมานี้ผู้ผลิตมักนำมาผสมหรือใช้เคลือบเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานของถุงมือดียิ่งขึ้น นอกจากถุงมือยางจะใช้ป้องกันหรือต้านทานสารเคมีแล้วยังสามารถสวมใส่เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสกับเลือดหรือวัตถุที่มีโอกาสติดเชื้อ (Potentially Infectious Substances) ได้อีกด้วย

 ตัวอย่างคุณสมบัติของถุงมือต้านทานสารเคมี


ตารางแสดง Glove Chemical Resistance Selection Chat

 

 

 

The ratings are abbreviated as follow: VG: Very Good; G: Good; F: Fair; P: Poor (Not Recommended).Chemicals marked with an asterisk (*) are for limited service. 

ปัจจัยที่ควรพิจารณาในยามเลือกใช้ถุงมือต้านทานสารเคมี มีดังนี้

(a) ศึกษาให้เข้าใจในรายละเอียดข้อมูลของสารเคมีที่ใช้ โดยทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีนั้น ๆ ผ่านเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) หรือคำแนะนำ/คำเตือนบนฉลากภาชนะบรรจุสารเคมี ทั้งนี้เพื่อให้รับทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพิจารณาในการเลือกใช้ถุงมือได้อย่างเหมาะสม เช่น ชื่อสารเคมี ชนิด รูปแบบ (ของเหลว ก๊าซ  ผงแป้ง หรือไอ) ความเข้มข้น คุณสมบัติความเป็นพิษ (เช่น เฉพาะจุดที่ผิวหนังสัมผัส หรือดูดซึมผ่านผิวหนังและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบภายในร่างกาย) ลักษณะอันตราย (เช่น กัดไหม้ ระคายเคืองผิวหนัง) ฯลฯ โดยทั่วไปแล้วคำแนะนำถึงประเภทของถุงมือจะมีการระบุไว้อยู่ในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลใน MSDS หรือฉลากผลิตภัณฑ์

(b) ระยะเวลาและความถี่ในการสัมผัสสารเคมี บางงานสัมผัสสารเคมีเป็นช่วง ๆ ในขณะที่บางงานเป็นการสัมผัสที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็ต้องพิจารณาถุงมือที่มีคุณสมบัติต้านทานได้ตลอดระยะเวลาที่สัมผัส

(c) ลักษณะงาน เป็นการใช้งานสารเคมีบริสุทธิ์ หรือต้องผสมสารเคมี เพราะเมื่อสารเคมีผสมกันจะทำให้คุณสมบัติเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางกายภาพ (Physical Properties) และอัตราการซาบซึม (Permeation Rates) ของถุงมือ โดยมากแล้วข้อมูลแนะนำเกี่ยวกับผลทดสอบการซาบซึมจะมีเฉพาะสารเคมีบริสุทธิ์ ส่วนสารผสมนั้นก็อาศัยพิจารณาบนพื้นฐานของสารเคมีที่นำมาผสมกันว่าตัวใดมีระยะเวลาในการซึมผ่าน (Breakthrough Time) สั้นที่สุด เพราะเป็นไปได้ที่ตัวทำละลาย (Solvents) จะเป็นตัวนำสารตัวนี้ผ่านทะลุถุงมือก่อนตัวอื่น

(d) ความหนาและความยาวของถุงมือ พิจารณาจากความต้องการในงานและความจำเป็นในการได้รับการป้องกัน โดยทั่วไปแล้วถุงมือที่มีความหนาจะสามารถต้านทานสารเคมีได้ดีกว่าถุงมือที่บาง แต่ถุงมือที่บางจะมีความยืดหยุ่น คล่องแคล่วและรับรู้ความรู้สึกจากการสัมผัสได้ดีกว่า บางงานอาจมีความจำเป็นได้รับการป้องกันแค่การกระเด็นใส่  ในขณะที่บางงานต้องได้รับการป้องกันมือตลอดจนถึงแขนเพราะมีความจำเป็นต้องจุ่มมือลงไปในสารเคมีนั้น (ความหนาและความยาวของถุงมือจะมีการระบุไว้ในคู่มือแนะนำผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต)

(e) ข้อจำกัดการใช้งานของถุงมือ โดยถุงมือต้านทานสารเคมีแต่ละประเภทก็จะมีข้อดี ข้อด้อย รวมถึงข้อจำกัดในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป เช่น Polyvinyl Alcohol (PVA) Gloves เป็นถุงมือทำจากวัสดุสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติในการต้านทานการซาบซึมของก๊าซได้เป็นอย่างดี และรวมถึงยังต้านทานสารเคมีจำพวก Aromatic, Chlorinated Solvents and Ketones ได้อย่างดีเยี่ยม และยังช่วยป้องกันการถูกเกี่ยว การตัด การทิ่มแทง และการขัดถูได้ดี แต่ละลายน้ำได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้กับน้ำหรือสารละลายจำพวกน้ำ (Water Based Solutions) หรือการใช้ถุงมือยางธรรมชาติก็ต้องระวังอาการแพ้ยาง เหล่านี้เป็นต้น


(f) คุณสมบัติในการต้านทานสารเคมี ควรพิจารณาองค์ประกอบของคุณสมบัติในการต้านทานสารเคมีเพื่อเป็นเหตุผลประกอบการเลือกใช้

ตัวอย่าง: ตารางแสดงคุณสมบัติของถุงมือต่อสารเคมีที่สัมผัส (จากการทดสอบของผู้ผลิต)



 - อัตราการซาบซึม (Permeation Rate) เป็นอัตราที่สารเคมีซึมทะลุผ่านวัสดุที่ใช้ทำถุงมือ โดยมีกระบวนการเริ่มจากการดูดซับโมเลกุลของสารเคมีที่ผิวด้านนอกถุงมือ แล้วแพร่กระจายไปจนทั่ววัสดุที่ใช้ทำถุงมือ และสุดท้ายคลายการดูดซับโมเลกุลของสารเคมีอยู่ในพื้นผิวด้านในถุงมือ ซึ่งมีกระบวนการวัดที่ซับซ้อนในระดับไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตรต่อนาที และถูกจำกัดด้วยขีดจำกัดล่างในการตรวจจับ (LDL) ของอุปกรณ์ที่ใช้ จากตัวอย่าง คือ .001 แต่บางครั้งอาจแสดงด้วยอักษรย่อก็ได้ เช่น “E” หรือ “P“ สำหรับ Excellent หรือ Poor

- เวลาในการซึมผ่าน (Breakthrough Time) เป็นเวลาที่ผ่านไประหว่างเริ่มต้นสัมผัสสารเคมีบนพื้นผิวถุงมือและตรวจจับสารเคมีได้ที่ด้านในถุงมือ จากตารางจะแสดงด้วยเครื่องหมาย “>“ (มากกว่า) และจากตัวอย่างแสดงว่าการทดสอบได้ใช้เวลาผ่านไป 480 นาทีแล้วหยุดเวลา ในบางครั้งอาจแสดงด้วยอักษรย่อ “

ND“ เมื่อตรวจจับไม่พบ (Non Detected) โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อเวลาในการซึมผ่านของ-  - สารเคมี คือ ชนิด ปริมาณ ความเข้มข้นและอุณหภูมิของสารเคมี รวมถึงความหนาและวัสดุที่ใช้ทำถุงมือด้วย 
ขีดจำกัดล่างในการตรวจจับ (Low Detection Limit: LDL) วัดในปริมาณส่วนต่อล้านส่วน (Parts Per Million: PPM) ซึ่งเป็นระดับที่น้อยที่สุดที่ถูกตรวจจับด้วยอุปกรณ์วิเคราะห์การทดสอบ ณ เวลาในการซึมผ่าน

- การเสื่อมสภาพ (Degradation) เป็นการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางกายภาพ (Physical Properties) ของถุงมือ อันเนื่องมาจากการสัมผัสกับสารเคมี ซึ่งสามารถมองเห็นถึงการบวม อ่อนนุ่ม หดตัว ปริแตก แข็งกระด้าง หรือเปลี่ยนสีไป รวมถึงยังมีในส่วนที่มองไม่เห็นด้วย จากตัวอย่างอยู่ในระดับ “E“ (Excellent) หมายความว่า ถุงมือชนิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหรือไม่ปรากฏสัญญาณของการเสื่อมสภาพเมื่อได้สัมผัสกับสารเคมี Isopropanal แต่อัตราการเสื่อมสภาพอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมไม่ได้เป็นการรับประกันเวลาในการซึมผ่าน

 9. ถุงมือยางป้องกันไฟฟ้า (Rubber Insulating Gloves/High Voltage Gloves) เนื่องจากการทำงานกับไฟฟ้าเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาเลือกใช้ถุงมือยางและปลอกแขนป้องกันไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานและรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 ชั้นคุณภาพ (Class) ตามปริมาณแรงดันไฟฟ้า (Voltage) ที่จะใช้งาน ดังนี้

 ตาราง แสดงชั้นคุณภาพของถุงมือยางและปลอกแขนป้องกันไฟฟ้าตามการต้านต่อแรงดันไฟฟ้า



        โดยถุงมือยางที่ใช้ต้องมีคุณสมบัติหลักที่จะสามารถป้องกันกระแสไฟฟ้าได้ รวมถึงมีลักษณะทางกายภาพที่แข็งแรง ยืดหยุ่น และทนทานอีกด้วย และตามมาตรฐานของ OSHA ยังแบ่งถุงมือยางป้องกันไฟฟ้าออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 (Type I) - สามารถต้านทานโอโซนได้ (Ozone-resistant) ซึ่งโดยทั่วไปจะทำด้วยยางธรรมชาติ (Natural Rubber) และประเภทที่ 2 (Type II) - ไม่สามารถต้านทานโอโซนได้ มักจะทำจากยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber) เช่น Ethylene Propylene Diene Monomer (EPDM)


       ถุงมือยางป้องกันไฟฟ้านี้ ต้องถูกตรวจสอบหาจุดบกพร่องหรือเสื่อมสภาพ (เช่น รูรั่ว ฉีกขาด ปริแตก หรือมีร่องรอยจากการสัมผัสโอโซน) ในทุก ๆ ครั้งก่อนมีการใช้งาน และหลังจากเหตุการณ์ที่คาดว่าน่าจะเกิดความเสียหายต่อถุงมือที่ใช้งาน โดยใช้การสังเกตด้วยตาเปล่าและการเป่าลมทดสอบ (Air Testing) ร่วมด้วย ซึ่งการใช้ลมทดสอบนั้นก็เพื่อตรวจสอบว่ามีรูรั่วหรือไม่ สามารถที่จะใช้ลมธรรมชาติหรือใช้เครื่องอัดลมก็ได้ โดยในระหว่างการเป่าลมทดสอบนั้นถุงมือไม่ควรที่จะขยายขนาดเกิน 1.5 เท่าของขนาดปกติสำหรับถุงมือประเภทที่ 1 (Type I) และไม่เกิน 1.25 เท่าของขนาดปกติสำหรับถุงมือประเภทที่ 2 (Type II) และในการตรวจสอบถุงมือนั้นก็ควรตรวจทั้งด้านนอกและในถุงมือด้วย

     นอกจากนี้ถุงมือยางป้องกันไฟฟ้า ควรที่จะมีการตรวจสอบสำหรับความทนทานต่อแรงดันไฟฟ้าที่ระบุไว้ตามระดับชั้นของถุงมือที่ใช้เป็นระยะ ซึ่งตามมาตรฐานของ OSHA ระบุว่า โดยทั่วไปต้องมีการทดสอบก่อนที่จะมีการใช้งานในครั้งแรกและทุก ๆ 6 เดือนหลังจากนั้น ส่วนถุงมือยางป้องกันไฟฟ้าที่ทำจากยางธรรมชาติต้องทำการทดสอบก่อนใช้งานครั้งแรก และ 12 เดือนต่อมาหลังจากการใช้งานครั้งแรก และทุก ๆ 9 เดือนหลังจากนั้น และสำหรับถุงมือป้องกันไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานถ้าไม่มีการทดสอบภายใน 12 เดือนก่อนหน้านี้ก็ต้องมีการทดสอบซ้ำก่อนการใช้งานอีกครั้ง

      ถุงมือยางป้องกันไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้ควบคู่ไปกับถุงมือหนังเสมอ ถึงแม้ว่าจะลดความคล่องแคล่วในการใช้มือลงก็ตาม โดยนำถุงมือหนังมาสวมทับถุงมือยางป้องกันไฟฟ้า ซึ่งถุงมือหนังจะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ถุงมือยางถูกขีดข่วน หรือถูกบาดตัวจนเกิดรอยรั่ว เพราะถ้าถุงมือยางเกิดรอยรั่วจะไม่สามารถทนทานต่อแรงดันไฟฟ้าตามมาตรฐานและตามชั้นคุณภาพนั้นได้ แต่ลำพังถุงมือหนังเองนั้นไม่สามารถป้องกันไฟฟ้าได้ ส่วนขนาดของถุงมือหนังที่ใช้ก็ใช้ขนาดเดียวกับถุงมือยางที่ใช้


       ในการที่จะยืดอายุการใช้งานของถุงมือยางป้องกันไฟฟ้านั้น ควรมีการทำความสะอาดและเก็บรักษาอย่างถูกต้องตามที่ผู้ผลิตแนะนำไว้ โดยทั่วไปแล้ว การทำความสะอาดนั้นก็ชะล้างในน้ำอุ่นประมาณ (85 oF) พร้อมกับสารทำความสะอาดอย่างอ่อน ๆ และสามารถฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาว (Chlorine Bleach) ในปริมาณน้อย ๆ แล้วผึ่งลมหรือเป่าร้อนให้แห้งที่อุณหภูมิต่ำ (165oF)

และถุงมือโดยทั่วไปแล้วผู้ผลิตมักโรยด้วยผงแป้งเพื่อป้องกันความเหนอะหนะ ส่วนการเก็บรักษานั้นควรเก็บไว้ในถุงเก็บสำหรับถุงมือ (Glove Bag) (ถอดถุงมือหนังออกก่อน) โดยเหยียดนิ้วถุงมือยางให้ตรงไม่พับ และแขวนถุงไว้ เก็บไว้ในสถานที่แห้งและเย็น (ไม่เกิน 95oF) และเก็บให้ห่างจากท่อไอน้ำ เครื่องทำความร้อน หรือสัมผัสโดยตรงต่อแสงไฟหรือแหล่งกำเนิดโอโซน


การตรวจสอบถุงมือโดยการเป่าลม (Air Testing) สามารถใช้ลมธรรมชาติหรือเครื่องอัดลมในการตรวจสอบหาจุดรอยรั่วของถุงมือ

(a) การใช้ลมธรรมชาติในทดสอบ

 1. ถือโคนถุงมือ โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ข้างในถุงมือ แล้วดึงโคนถุงมือให้ตึง

 

2. เหวี่ยงหมุนถุงมือไปมา เพื่อเก็บอากาศไว้ในถุงมือ

 

3. บีบโคนถุงมือให้แน่น ให้ถุงมือพองออกแล้วอาศัยการฟังเพื่อหาจุดที่ลมรั่วออกหรือใช้ริ้วกระดาษอังช่วยก็ได้ 

 (b) การใช้เครื่องอัดลม (Inflator) ในการทดสอบ

 

1. สามารถใช้เครื่องอัดลม เพื่ออัดลมเข้าไปในถุงมือก็ได้ โดยเฉพาะกรณีที่มีถุงมือที่ต้องทดสอบเป็นจำนวนมาก

 

2. อัดลมแล้วม้วนโคนถุงมือพร้อมกับบีบให้แน่นเพื่อหาจุดรอยรั่ว

 

ข้อควรคำนึงเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ถุงมือ


- เลือกใช้ถุงมือให้ถูกประเภทกับงานที่ทำและความต้องการในงาน (เช่น ความยืดหยุ่น ความคล่องแคล่วของมือการรับรู้จากการสัมผัส) รวมถึงสามารถป้องกันอันตรายที่เกิดจากงานได้ (เช่น ป้องกันการตัด ขัดถู ทิ่มแทง วัตถุแหลมคม ความร้อน ความเย็น สารเคมี รังสี แรงดันไฟฟ้า การติดเชื้อ) 

- ศึกษาวิธีใช้งาน การเก็บรักษา การทำความสะอาดหรือชำระล้างสิ่งปนเปื้อน และการกำจัด รวมถึงข้อจำกัดหรือข้อพึงระวังต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในคำแนะนำของผู้ผลิต

- เลือกใช้ถุงมือให้มีขนาดที่พอดีกับมือผู้สวมใส่ ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป ถุงมือต้องยาวพอที่จะปกปิดผิวหนังส่วนที่พ้นเสื้อผ้าออกมาทั้งหมด ไม่มีที่ว่างระหว่างถุงมือและแขนเสื้อ

- ไม่ใช้ถุงมือผิดวัตถุประสงค์ หรือใช้เพื่อประโยชน์อื่นนอกเหนือจากที่ผู้ผลิตแนะนำไว้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้

- ก่อนใช้งานทุกครั้งต้องมีการตรวจสอบจุดบกพร่องหรือการเสื่อมสภาพแม้จะเป็นของใหม่ (โดยเฉพาะบริเวณปลายนิ้วและง่ามนิ้ว) เช่น รูรั่ว ปริแตก บวม หด สึกหรอ มีสีเปลี่ยนไป แข็งกระด้าง เป็นต้น และตรวจสอบเป็นระยะสำหรับคุณสมบัติพิเศษของถุงมือที่ใช้เฉพาะงาน เช่น ความทนทานต่อแรงดันไฟฟ้าของถุงมือยางป้องกันไฟฟ้า ทั้งนี้ห้ามใช้ถุงมือที่ชำรุดเสียหายเด็ดขาด

- ห้ามใช้ถุงมือทำงานกับส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ เพราะถุงมืออาจถูกเกี่ยวเข้าไปพันในเครื่องแล้วนำมาซึ่งการบาดเจ็บได้

- สำหรับบางสถานการณ์ที่ไม่สามารถที่จะทำนายล่วงหน้าถึงลักษณะอันตรายได้ ควรใช้ถุงมือเคลือบหลายชั้น (Multilaminate Gloves) ในการป้องกัน ซึ่งทำจากวัสดุที่ต่าง ๆ กันหลายชั้น

- ห้ามใส่ถุงมือที่มีส่วนประกอบของโลหะใกล้อุปกรณ์หรือส่วนที่มีกระแสไฟฟ้า รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ถุงมือที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีลักษณะเบาและบาง ใกล้กับเปลวไฟหรือแหล่งให้ความร้อน เพราะอาจติดไฟได้ และไม่ควรนำมาใช้ซ้ำ

- ผู้ปฏิบัติงานบางคน อาจมีอาการแพ้ถุงมือยางธรรมชาติได้ โดยเฉพาะผู้ที่รู้ตัวเองว่าไวต่ออาการแพ้ต่าง ๆ ให้พึงสงสัยไว้ก่อน เช่น ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ แพ้ยา หอบหืด หรือลมพิษ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ที่สวมถุงมือยางธรรมชาติก็ต้องระวังการจับต้องอุปกรณ์ที่ใช้ร่วม เช่น ลูกบิดประตู ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ไวต่ออาการแพ้คนอื่น ๆ เกิดอาการแพ้ขึ้นได้โดยไม่ได้ตั้งใจ

- ก่อนสวมถุงมือ ควรล้างมือให้สะอาดและแห้งเสียก่อน และในระหว่างการใช้งานก็ควรล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันเหงื่อและฝุ่น ซึ่งจะช่วยลดความเหนอะหนะและการระคายเคืองผิวหนัง

- ไม่ควรใช้ถุงมือหยิบจับวัตถุอื่น ๆ นอกเหนือจากงาน เช่น จับแก้วน้ำ โทรศัพท์ ฯลฯ เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงมือป้องกันสารเคมี

- ก่อนรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม สูบบุหรี่ หรือเข้าห้องน้ำ ต้องถอดถุงมือและล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

- โลชั่นและครีมทามือ สามารถใช้ร่วมกับถุงมือได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ใช้แทนถุงมือ

- ถุงมือที่มีการปนเปื้อนควรชำระล้างให้สะอาดโดยทั่วก่อนที่จะถอดออก (โดยเฉพาะถุงมือป้องกันสารเคมี) โดยปฏิบัติตามขั้นตอนคำแนะนำของผู้ผลิตที่มีการระบุไว้ และถอดออกอย่างระมัดระวังโดยเริ่มจากโคนถุงมือก่อนแล้วย้อนไปจนถึงนิ้วมือ ไม่ควรสัมผัสผิวภายนอกของถุงมือที่มีการปนเปื้อน และล้างมือให้สะอาดหลังถอดออกแล้ว

- ไม่ควรใช้สบู่ก้อนในการชำระล้างมือเพราะอาจปนเปื้อนจากการจับต้องก้อนสบู่ต่อกันได้ รวมถึงสบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าวเพราะยากต่อการขจัดสิ่งปนเปื้อนที่มือ ควรเลือกใช้น้ำยาทำความสะอาดแบบสังเคราะห์ (Synthetic Detergents) แบบใส่ขวดกด ที่มีค่า pH–balanced และสามารถทำความสะอาดได้ดีกว่าสบู่ที่ทำจากสัตว์ซึ่งเต็มไปด้วยอัลคาไลน์และกรดไขมัน และอาจใช้ครีมถนอมผิวทามือเพื่อให้ผิวชุ่มชื้นและลดอาการระคายเคือง (โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้ว)

- เมื่อใช้งานถุงมือเสร็จแล้ว ควรมีการทำความสะอาดอย่างถูกต้องตามคำแนะนำที่ผู้ผลิตระบุไว้ และเก็บรักษาไว้ในที่ที่เหมาะสมโดยทั่วไปแล้วจะเก็บรักษาถุงมือไว้ในที่แห้ง เย็นและมืด มีที่กำบังจากโอโซนและแสงอัลตราไวโอเลต ห่างจากท่อไอน้ำ แหล่งให้ความร้อนต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานและลดการเสื่อมสภาพของถุงมือได้ ส่วนการกำจัดถุงมือที่ใช้แล้ว (โดยเฉพาะถุงมือที่ใส่ป้องกันการติดเชื้อหรือสารเคมี) ก็ต้องทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัดเช่นกัน

- เปลี่ยนถุงมือใหม่ เมื่อชำรุดหรือหมดอายุใช้งาน โดยถุงมือทุกชนิดจะมีอายุการใช้งานของตัวเอง ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป จึงควรพิจารณาให้รอบคอบโดยเฉพาะถุงมือป้องกันสารเคมี เมื่อมีการใช้ซ้ำในครั้งต่อ ๆ ไปจะมีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันของถุงมือ อาจมีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนถุงมือป้องกันสารเคมีใหม่ก่อนที่ยอดระยะเวลาใช้รวมจะเกินกว่าเวลาในการซึมผ่าน (Breakthrough Time) ที่ระบุไว้ เนื่องจากการซาบซึม (Permeation) ของสารเคมีผ่านพื้นผิวด้านในของถุงมือจะยังคงดำเนินต่อไปแม้หลังจากที่มีการชำระล้างแล้ว และนอกจากนั้นการยืดตัวของถุงมือในระหว่างการใช้งานอาจหมายถึงการซึมผ่านจะมีโอกาสเกิดขึ้นเร็วกว่าภายใต้สภาวะการทดสอบของผู้ผลิต ร

วมถึงเวลาในการซึมผ่านจะสั้นลงเมื่อสารเคมีที่ต้องสัมผัสอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงหรือมีความเข้มข้นเกินกว่าปกติ และไม่ควรเชื่อหรือไว้ใจประสาทสัมผัสของตนเองในการตรวจจับการซึมผ่าน เพราะการสัมผัสผิวหนังอาจจะเกิดขึ้นแล้วใช้เวลานานพอสมควรก่อนที่เราจะรับรู้ถึงความเปียกชื้นที่ด้านในของถุงมือ

- อย่าเชื่อข้อมูลของผู้ผลิต โดยปราศจากการทดสอบภายใต้สภาพการใช้งานจริง เนื่องจากข้อมูลผู้ผลิต เป็นข้อมูลที่วัดจากสภาวะแวดล้อมในห้องทดลอง ซึ่งอาจมีความแตกต่างเป็นอย่างมากกับสภาพการใช้งานจริง และควรศึกษารายละเอียดของคำโฆษณาถึงคุณสมบัติของถุงมือให้ละเอียดที่อาจซ่อนกลเม็ดบางอย่างได้ เช่น คำว่า ต้านทานความร้อน (Heat Resistance) กับ ฉนวนกันความร้อน (Heat Insulating)  หรือคำว่า ต้านทานการตัด (Cut–resistant) กับ รับรองกันการตัดได้ (Cut–proof) ซึ่งจะให้ความหมายของคุณสมบัติที่ต่างกัน


- เมื่อมีการใช้ถุงมือชนิดใหม่ หรือเปลี่ยนไปใช้ของผู้ผลิตรายใหม่ จะต้องทำการทดสอบภายใต้สภาวะแวดล้อมในการใช้งานจริงทุกครั้ง เนื่องจากคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในการทำถุงมือของผู้ผลิตแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกันได้
  
   ควรมีการฝึกอบรมและปลูกจิตสำนึกผู้ปฏิบัติงาน ให้รับรู้แนวทางการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยและมีความตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นถ้าไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันมือ รวมถึงการที่ทุกคนจะได้ปฏิบัติตามแผนงานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งเหตุผลโดยมากที่ผู้ปฏิบัติงานหลีกเลี่ยงไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันก็มีหลายประการตั้งแต่รู้สึกอึดอัดไม่คล่องตัว และขาดความตระหนักถึงอันตราย ไปจนถึงรับทราบข้อมูลไม่เพียงพอว่าทำไมต้องใช้และต้องใช้อย่างไรจึงจะถูกต้อง นอกจากนี้ในสถานประกอบการบางแห่งก็ให้ความสำคัญของแผนงานความปลอดภัยอยู่ในลำดับท้าย ๆ หรือคิดว่าจะประหยัดเงินโดยเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันที่มีราคาถูก ๆ หรือคุณภาพต่ำ

 แต่ถ้าเราศึกษารายงานของ OSHA จะพบว่า เงินที่ลงทุนในด้านความปลอดภัยในจำนวน $1 จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ $4-$6 ผ่านการลดอุบัติเหตุ ค่าชดเชย และเวลาที่เสียไป ดังนั้นจึงถือว่ามีความคุ้มค่าที่จะลงทุนในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับองค์กร ซึ่งไม่เพียงจะช่วยป้องกันและรักษามือให้อยู่คู่กับเรา แต่ยังส่งผลดีอีกหลายด้านตามมาด้วย เช่น ขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน หรือประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นต้น


   แถมท้าย ความจริงบางประการที่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า มือเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นคู่ (เช่นเดียวกับดวงตา) ซึ่งถูกควบคุมการเคลื่อนไหวโดยสมองซีกที่ตรงกันข้ามกัน (สมองซีกซ้ายควบคุมมือด้านขวาและสมองซีกขวาควบคุมมือด้านซ้าย)

 

เอกสารอ้างอิง 
- Hand Protection, N.C.Department of Labor, Division of Occupational Safety and Health Jan. 2005.   
- Glove Selection Guidance, Imperial College Health Center, Jan. 2006.      
- อุปกรณ์ป้องกันมือและแขน, หลักความปลอดภัยในการทำงาน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด