เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 14:03:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4732 views

การออกแบบเพื่อความปลอดภัย (Safe Design) (ตอนจบ)

ในคราวนี้เราจะมาว่ากันต่อในหัวข้อถัดไปของหลักการออกแบบเพื่อความปลอดภัย นั่นก็คือ ความรู้ความสามารถในการออกแบบเพื่อความปลอดภัยนั่นเอง

การออกแบบเพื่อความปลอดภัย (Safe Design) (ตอนจบ)


ศิริพร วันฟั่น

 

      ในฉบับที่แล้ว เราได้พูดกันถึงเรื่องความหมาย ประโยชน์ ตลอดจนหลักการออกแบบเพื่อความปลอดภัย ใน 3 หัวข้อแรก ซึ่งได้แก่ ผู้ควบคุมการออกแบบ วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการความเสี่ยงกันไปแล้ว ในคราวนี้เราจะมาว่ากันต่อในหัวข้อถัดไปของหลักการออกแบบเพื่อความปลอดภัย นั่นก็คือ ความรู้ความสามารถในการออกแบบเพื่อความปลอดภัยนั่นเอง


     4. ความรู้และความสามารถในการออกแบบเพื่อความปลอดภัย (Knowledge and Capability for Safe Design) นอกจากความสามารถในการวางแผนงานออกแบบแล้ว ทักษะและความรู้ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักออกแบบ หรือบุคคลที่ควบคุมการออกแบบเช่นกัน โดยความรู้และความสามารถต่าง ๆ ที่นักออกแบบพึงมี ได้แก่

- ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมถึงกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ระเบียบ ตลอดจนข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

- ความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์

- ความรู้เกี่ยวกับการแจกแจงอันตราย การประเมินและวิธีในการควบคุมความเสี่ยง

- ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน และเทคนิคในการออกแบบ

- สามารถนำข้อมูลขนาดของร่างกาย ขีดความสามารถ และพฤติกรรมของผู้ใช้งานมาใช้ในการออกแบบได้

- สามารถนำข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ตลอดจนฐานความรู้จากสาขาวิชาอื่น ๆ มาผนวกกัน เพื่อหาวิธีใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาได้


 โดยทั่วไปแล้ว ในโครงการออกแบบใหญ่ ๆ ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมาก ๆ นั้น มักจะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เข้ามาอยู่ร่วมในทีมออกแบบ หรือเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบด้วย หรืออาจจะเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ มาทำหน้าที่ในการ ‘เติมเต็มช่องว่างแห่งความรู้’ ให้กับทีมออกแบบ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่า การออกแบบนั้น ๆ เป็นไปอย่างรัดกุม และครอบคลุมในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้แก่ นักเออร์โกโนมิก วิศวกร นักวัตถุเคมี นักสุขอนามัย เป็นต้น

     5. การส่งผ่านข้อมูลและข้อมูลย้อนกลับ (Information Transfer and Feedback) การส่งผ่านข้อมูลเป็นกระบวนการซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องหรือทำงานกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ควรที่จะได้รับหรือแจ้งเกี่ยวกับความเสี่ยงใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมาตรการควบคุมความเสี่ยง ตลอดจนความจำเป็นในการฝึกอบรมเฉพาะด้าน โดยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการควบคุมความเสี่ยง ควรที่จะถูกบันทึกและส่งผ่านจากขั้นตอนการออกแบบ ไปสู่ผู้ใช้งานทั้งหมดในลำดับต่อ ๆ ไปของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ และผู้ใช้งานทุกคนควรที่จะได้รับทราบถึงความเสี่ยงใด ๆ ที่หลงเหลืออยู่ อันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัย นอกจากนี้ ผู้ใช้งานทั้งหมดก็ควรมีการส่งข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่พบ ย้อนกลับไปยังนักออกแบบด้วย


    

       การออกแบบในอุดมคติ คือการออกแบบที่สามารถขจัดความจำเป็นในการให้ข้อมูล โดยผลิตภัณฑ์ ระบบ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการออกแบบไปนั้น ควรจะมีความปลอดภัยและง่ายต่อการใช้งาน โดยปราศจากข้อแนะนำใด ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่ง แต่นักออกแบบก็ต้องพยายามให้มากที่สุด โดยการนำแบบที่ได้ออกไปแล้วนั้น กลับมาทำการพิจารณาอีกครั้ง ว่าสามารถทำให้ดีกว่าเดิมได้หรือไม่

 ซึ่งนั่นก็เท่ากับเป็นการขจัดความจำเป็นในการให้ข้อมูลออกไปด้วยในทางหนึ่ง โดยนักออกแบบจะต้องระลึกไว้เสมอว่า การออกแบบวิธีการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์นั้น ก็มีส่วนช่วยควบคุมความเสี่ยงได้ ดังนั้นข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำ คำเตือน และฉลาก จึงจำเป็นต้องง่ายต่อการสังเกตเห็นและทำความเข้าใจ ซึ่งรูปแบบของข้อมูลที่ให้ก็จะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของผลิตภัณฑ์ แต่ยังคงมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ให้และผู้รับนั่นเอง

    
        รูปแบบที่แตกต่างกันของข้อมูลที่ให้นี้ จะรวมถึงเอกสารความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ หรือคู่มือการใช้งาน รวมถึงฉลาก ตลอดจนแฟ้มข้อมูลความปลอดภัยและอาชีวอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายนั้น ควรที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (MSDS) นี้ จะมีข้อกำหนดที่เฉพาะเจาะจงลงไป ซึ่งนายจ้างและผู้ที่ควบคุมการทำงานในสถานปฏิบัติงาน จำเป็นต้องทำการแปลความหมายของข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับจากนักออกแบบ ผู้ผลิต หรือผู้จัดหา/จัดส่ง และสื่อสารไปยังผู้ใช้งาน เพื่อให้เข้าใจถึงขั้นตอนกรรมวิธีต่าง ๆ ที่ได้ระบุมา รวมถึงการฝึกอบรมด้วย

 

5.1 การปรึกษาหารือ (Consultation) กระบวนการปรึกษาหารือภายในหรือนอกสถานที่ปฏิบัติงาน จะมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจในการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน แผนผังสถานที่ปฏิบัติงาน ระบบงาน ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ทั้งหมด

 

 

ตัวอย่างการออกแบบเพื่อความปลอดภัย

     1. การวางตำแหน่งเครื่องปรับอากาศเพื่อความปลอดภัยในการบำรุงรักษา (Positioning of Air–conditioners for Maintenance) 

     การติดตั้งระบบปรับอากาศชนิดแยกส่วน (Split System) และระบบอื่น ๆ มีความจำเป็นในเรื่องการเข้าถึงเพื่อบำรุงรักษา ซึ่งในบางครั้งพบว่าระบบปรับอากาศนั้นถูกติดตั้งบนหลังคา หรือติดกับผนังอาคารที่อยู่ชั้นสูง ๆ จึงมีความเสี่ยงที่ช่างซ่อมบำรุงอาจจะพลัดตกลงมาบาดเจ็บได้

 ทางเลือกหนึ่งของการออกแบบเพื่อความปลอดภัย ก็คือ การติดตั้งระบบปรับอากาศให้อยู่ในระดับใกล้กับพื้นดิน แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ต้องมีการป้องกันอันตรายจากการพลัดตกจากที่สูง โดยการใช้ราวกันตก (Guard Railing)

          การติดตั้งระบบปรับอากาศชนิดแยกส่วน (Split System) และระบบอื่น ๆ มีความจำเป็นในเรื่องการเข้าถึงเพื่อบำรุงรักษา ซึ่งในบางครั้งพบว่าระบบปรับอากาศนั้นถูกติดตั้งบนหลังคา หรือติดกับผนังอาคารที่อยู่ชั้นสูง ๆ จึงมีความเสี่ยงที่ช่างซ่อมบำรุงอาจจะพลัดตกลงมาบาดเจ็บได้ ทางเลือกหนึ่งของการออกแบบเพื่อความปลอดภัย ก็คือ การติดตั้งระบบปรับอากาศให้อยู่ในระดับใกล้กับพื้นดิน แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ต้องมีการป้องกันอันตรายจากการพลัดตกจากที่สูง โดยการใช้ราวกันตก (Guard Railing)

      ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องตำแหน่งที่จะติดตั้งระบบปรับอากาศ อาจเป็นสถาปนิก เจ้าของอาคาร หรือผู้ทำการติดตั้ง ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงประเด็นการซ่อมบำรุง เช่นเดียวกันกับประเด็นการติดตั้ง และมั่นใจว่าการเข้าบำรุงรักษานั้นจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัย

     การติดตั้งระบบปรับอากาศในระดับใกล้พื้นดินนั้น นอกจากจะช่วยลดการพลัดตกจากที่สูงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความสะดวกในการทำงานด้วยมือ (Manual Handling) และยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาได้อีกด้วย

     2. การเข้าบำรุงรักษาระบบแสงสว่างได้อย่างปลอดภัย (Access for Lighting Maintenance) 

     ในการเข้าบำรุงรักษาระบบแสงสว่าง (Lighting System) นั้น มักจะเกี่ยวข้องกับความยากในการเข้าถึงระบบ และโดยทั่วไปแล้วก็มักเป็นการทำงานบนที่สูง จึงส่งผลให้การบำรุงรักษานั้นมีอันตรายและเสียค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้นแนวทางหนึ่งของการออกแบบเพื่อความปลอดภัยก็คือ การติดตั้งระบบแสงสว่างบนรางสไลด์ (Sliding Tracks)

     ในการเข้าบำรุงรักษาระบบแสงสว่าง (Lighting System) นั้น มักจะเกี่ยวข้องกับความยากในการเข้าถึงระบบ และโดยทั่วไปแล้วก็มักเป็นการทำงานบนที่สูง จึงส่งผลให้การบำรุงรักษานั้นมีอันตรายและเสียค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้นแนวทางหนึ่งของการออกแบบเพื่อความปลอดภัยก็คือ การติดตั้งระบบแสงสว่างบนรางสไลด์ (Sliding Tracks)


      โดยผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกใช้วิธีติดตั้งแบบนี้ อาจจะเป็นสถาปนิก วิศวกร เจ้าของอาคาร หรือผู้รับเหมาระบบไฟฟ้า ส่วนช่างซ่อมบำรุงก็จำเป็นจะต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบนี้เช่นเดียวกัน เป็นต้นว่า สามารถเข้าไปซ่อมบำรุงได้โดยการเลื่อนราง และควรจะต้องรู้ด้วยว่าวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และถึงแม้ว่าเราจะสามารถเห็นสายไฟได้ชัดเจนดังภาพ แต่ก็ควรมีการติดป้ายบอกให้ชัดเจนว่าสายไฟแต่ละเส้นเป็นสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องใดด้วย


     ประโยชน์ของระบบรางสไลด์นี้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการพลัดตกจากที่สูงแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายสำหรับการทำงานของช่างซ่อมบำรุง เช่น การทำความสะอาดและการเปลี่ยนหลอดไฟหรือชิ้นส่วนต่าง ๆ โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการติดตั้งในระบบนี้ ได้แก่ ช่างซ่อมบำรุง พนักงานทำความสะอาด และช่างติดตั้งระบบไฟฟ้า


     3. การเดินรถไปข้างหน้าอย่างเดียว (Forward–only Vehicle Movement)

     เนื่องจากการถอยหลังของยานพาหนะในสถานที่ปฏิบัติงานถือว่าเป็นอันตรายต่อคนเดินเท้าเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นในขั้นตอนการออกแบบ ระบบการเดินรถไปข้างหน้าอย่างเดียว สามารถนำมาพิจารณาปรับใช้กับเส้นทางเดินรถภายในไซท์งานได้ ในรูปจะแสดงให้เห็นถึงเส้นทางการเดินรถ ซึ่งโดยปกติแล้วประตูม้วนที่ทางออกท้ายสุดของตัวอาคารจะถูกปิดไว้ เพื่อประโยชน์ในการปรับสภาพอุณหภูมิภายในให้รู้สึกเย็นสบาย และเมื่อประตูที่ว่านี้ถูกเปิดออก เพื่อให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ออกไป ก็จะต้องมีการแจ้งเตือนบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ด้านนอกและในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งการทำงานของประตูม้วนควรที่จะเชื่อมโยงกับสัญญาณไฟ และสัญญาณเสียงต่าง ๆ ด้วย


      

     ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเลือกใช้ระบบความปลอดภัยเช่นนี้ อาจเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือเจ้าของอาคาร ส่วนประโยชน์ของการเดินรถไปข้างหน้าอย่างเดียวก็คือ สามารถขจัดอันตรายจากการเคลื่อนที่ถอยหลัง และลดโอกาสที่จะชนกันคนเดินเท้ารวมถึงยานพาหนะอื่น ๆ อีกด้วย

     4. การป้องกันการพลัดตกจากแท่นนำรถขึ้น–ลง (Car–carrier Fall Protection)

 การพลัดตกจากแท่นนำรถขึ้น–ลงนั้น สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้โดยการติดตั้งราวกันตกเข้ากับรถเทรลเลอร์ ดังภาพ


 

 

     ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ อาจเป็นนักออกแบบของโรงงานและผู้ผลิต ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์จากหนทางแก้ไขปัญหาแบบนี้ ก็คือ ผู้ขับรถเทรลเลอร์ที่ขนส่งรถ และพนักงานที่ดำเนินการบำรุงรักษาบนรถเทรลเลอร์ ซึ่งข้อมูลสำหรับการบำรุงรักษาของระบบราวกันตก จะต้องถูกส่งผ่านจากผู้ผลิตไปพร้อมกันกับการสั่งซื้อ

      5.เครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรแบบอินเตอร์ล็อคสำหรับโรงงาน-ในระหว่างการหยุดเครื่อง (Machine Guarding Interlocks for Plant with Run–down Time)

  ในบางโรงงานจะประสบปัญหาในช่วงเวลาระหว่างการหยุดเครื่อง ซึ่งการใช้ระบบอินเตอร์ล็อคนี้ บางครั้งก็ไม่เหมาะนำมาใช้งาน โดยมีเหตุผล ดังนี้

- ทันทีที่อินเตอร์ล็อคแตกหักโดยประตูถูกเปิดออก พลังงานที่ตัวเครื่องจักรจะถูกตัดแต่เครื่องจักรจะยังคงรักษาการเคลื่อนไหวไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นจึงยังคงหลงเหลืออันตรายอยู่

- เครื่องจักรอาจถูกติดตั้งระบบเบรคเข้าไป เพื่อเอาชนะปัญหาข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ระบบเบรคจะช่วยทำให้เครื่องจักรหยุดลงในทันที แต่ก็อาจจะทำให้เครื่องหยุดในขณะเครื่องเดินอยู่ในสภาวะครึ่งรอบ (Mid–cycle) และอาจจะส่งผลให้เครื่องจักรเสียหายได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโดยใช่เหตุ และทำให้เครื่องจักรเดินช้า (Delay) เมื่อทำการเริ่มสตาร์ทเครื่องใหม่อีกครั้งหนึ่ง

โดยการออกแบบประตูอินเตอร์ล็อคเพื่อความปลอดภัยนั้น ระบบจะทำงานโดยประตูจะไม่เปิดในขณะที่เครื่องจักรยังมีพลังงานหล่อเลี้ยงอยู่  หรือในช่วงเครื่องจักรกำลังจะหยุด หรือเครื่องเดินเบา ซึ่งการจะเข้าหรือผ่านพื้นที่ป้องกัน มีความจำเป็นที่จะต้องทำการหยุดเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งครบรอบอย่างสมบูรณ์ ตัดพลังงานที่จ่ายให้กับเครื่องจักรและปล่อยให้เครื่องจักรหยุดการทำงานโดยสิ้นเชิง และในทันทีที่เครื่องจักรหยุดลง พื้นที่นั้นๆ จึงจะปลอดภัยสำหรับการผ่านเข้าไป และเครื่องจักรจะไม่เดินเครื่องจนกว่าประตูจะถูกปิดและล็อคอีกครั้ง

    โดยปฏิบัติการที่กำหนดไว้นี้ จะเป็นการป้องกันการเข้าถึงเครื่องจักร (Tamper–proof) และควรมีการติดเครื่องหมายที่ประตู เพื่อบ่งบอกว่าไม่ว่ากรณีใดก็ตาม การที่จะผ่านเข้าไปได้นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อเครื่องจักรได้หยุดลงในสภาวการณ์ควบคุมตามปกติเท่านั้น


    การแก้ปัญหานี้ ควรถูกดำเนินการโดยวิศวกร ส่วนผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการออกแบบเพื่อความปลอดภัยเช่นนี้ คือ พนักงานฝ่ายผลิต ช่างซ่อมบำรุง พนักงานทำความสะอาด ช่างไฟฟ้า และช่างตั้งเครื่อง

 6. การรักษาสมดุลของอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก (Load Balancing Equipment)

     เช่น สายยางที่ใช้เติมสารเหลว ซึ่งจะมีอันตรายจากการสะบัดตัวของสายยาง เนื่องสายยางมีน้ำหนักมาก จึงยากต่อการควบคุมทิศทาง ดังนั้นการใช้อุปกรณ์รักษาสมดุลจะเป็นการช่วยพยุงน้ำหนักของสายยางไว้ได้ 

        เป็นอย่างไรบ้าง หลังจากดูตัวอย่างกันไปแล้ว คงจะเห็นตรงกันว่า ‘การออกแบบเพื่อความปลอดภัย’ เป็นเรื่องใกล้ตัว และทำได้ง่ายกว่าที่คิด อย่างน้อย ๆ ก็ง่ายกว่าการหามาตรการต่าง ๆ มาโน้มน้าวให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยกันขึ้นมาเองตั้งเยอะ เอาแค่เบาะ ๆ ขอให้พ่อเจ้าประคุณทั้งหลายยินยอมใส่ PPE ให้ครบเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ก็ยังปวดเศียรเวียนเกล้าไปตาม ๆ กันแล้ว จริงไหม ?

 

เอกสารอ้างอิง  
-  Guidance on The Principles of Safe Design for Work, Australian Safety and Compensation council, Australian Government: Canberra , May 2006 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด