เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 10:55:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4144 views

ข้อกำหนดมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005 (ตอนที่ 11)

ข้อกำหนดนี้ เป็นข้อกำหนดที่ว่าด้วยเรื่องวิชาการในการทดสอบ/สอบเทียบ ซึ่งได้จัดแบ่งกล่าวถึงเฉพาะเรื่อง ที่เกี่ยวกับการจัดการภายในส่วนทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ เป็นข้อ ๆ จัดว่าเป็นส่วนที่มีข้อกำหนดละเอียดที่สุด และโหดมากในแง่รายละเอียด และที่น่าสังเกตก็คือ ข้อกำหนดนี้ ใช้ความพยายามในการตีความน้อยกว่าข้อกำหนดด้านการจัดการมาก เพราะว่าระบุการปฏิบัติอย่างชัดเจนมาก ไม่ต้องตีความเลยนั่นเอง ก็เป็นข้อดีที่ไม่ต้องเสียเวลามาตีความข้อกำหนด ว่าควรกำหนดวิธีการปฏิบัติกันแค่ไหน ดังนั้น ด้วยตัวข้อกำหนด ได้อธิบายด้วยตัวมันเองแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าห้องปฏิบัติการทดสอบ/สอบเทียบ ต้องดำเนินการทั้งหมด ยังมีข้อกำหนดเฉพาะสำหรับห้องปฏิบัติการแต่ละชนิด เช่น ห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีการสุ่มตัวอย่าง และที่ไม่มีการสุ่มตัวอย่าง หรือห้องปฏิบัติการทดสอบที่ต้องมีการตีความและแสดงความเห็น และไม่แสดงความเห็น ห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่มีการพัฒนาวิธีการสอบเทียบ และที่ไม่มีการพัฒนาวิธีการสอบเทียบ ซึ่งหากห้องปฏิบัติการที่ขอการรับรอง ไม่มีกิจกรรม ก็สามารถละข้อกำหนดนั้นไปได้ ข้อกำหนดด้านเทคนิคนี้ ประกอบด้วย 1. การจัดการสรรหาบุคลากร ในส่วนปฏิบัติการ ให้เหมาะกับหน้าที่งาน รวมถึงการจัดการอบรม ให้สามารถปฏิบัติงานได้ และการควบคุมพนักงานที่ว่าจ้างเป็นสัญญา มาปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ

ข้อกำหนดมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005 (ตอนที่ 11)

บุรินทร์ ไตรชินธนโชติ
ที่ปรึกษาระบบคุณภาพและสอบเทียบ,
burinkub@yahoo.com

 

เกริ่นก่อนเข้าข้อกำหนดที่ 5

   ข้อกำหนดนี้ เป็นข้อกำหนดที่ว่าด้วยเรื่องวิชาการในการทดสอบ/สอบเทียบ ซึ่งได้จัดแบ่งกล่าวถึงเฉพาะเรื่อง ที่เกี่ยวกับการจัดการภายในส่วนทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ เป็นข้อ ๆ จัดว่าเป็นส่วนที่มีข้อกำหนดละเอียดที่สุด และโหดมากในแง่รายละเอียด และที่น่าสังเกตก็คือ ข้อกำหนดนี้ ใช้ความพยายามในการตีความน้อยกว่าข้อกำหนดด้านการจัดการมาก เพราะว่าระบุการปฏิบัติอย่างชัดเจนมาก ไม่ต้องตีความเลยนั่นเอง ก็เป็นข้อดีที่ไม่ต้องเสียเวลามาตีความข้อกำหนด ว่าควรกำหนดวิธีการปฏิบัติกันแค่ไหน

   ดังนั้น ด้วยตัวข้อกำหนด ได้อธิบายด้วยตัวมันเองแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าห้องปฏิบัติการทดสอบ/สอบเทียบ ต้องดำเนินการทั้งหมด ยังมีข้อกำหนดเฉพาะสำหรับห้องปฏิบัติการแต่ละชนิด เช่น ห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีการสุ่มตัวอย่าง และที่ไม่มีการสุ่มตัวอย่าง หรือห้องปฏิบัติการทดสอบที่ต้องมีการตีความและแสดงความเห็น และไม่แสดงความเห็น ห้องปฏิบัติการสอบเทียบที่มีการพัฒนาวิธีการสอบเทียบ และที่ไม่มีการพัฒนาวิธีการสอบเทียบ ซึ่งหากห้องปฏิบัติการที่ขอการรับรอง ไม่มีกิจกรรม ก็สามารถละข้อกำหนดนั้นไปได้ ข้อกำหนดด้านเทคนิคนี้ ประกอบด้วย

1. การจัดการสรรหาบุคลากร ในส่วนปฏิบัติการ ให้เหมาะกับหน้าที่งาน รวมถึงการจัดการอบรม ให้สามารถปฏิบัติงานได้ และการควบคุมพนักงานที่ว่าจ้างเป็นสัญญา มาปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ

2. การเลือกสถานที่ตั้ง และควบคุมสภาวะแวดล้อมสำหรับการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ รวมถึงการดูแลรักษาความสะอาด และวางแผนจัดการกรณีฉุกเฉิน

3. การเลือกใช้วิธีการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ ทั้งวิธีที่มีกำหนดเป็นมาตรฐาน วิธีที่ดัดแปลง พัฒนา และคิดใหม่เอง รวมถึงการพิสูจน์วิธีการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบที่ห้องปฏิบัติการดัดแปลง พัฒนา และคิดใหม่เอง

4. การควบคุมสอบเทียบ เครื่องมือสำหรับใช้ให้บริการทดสอบ และเครื่องมือมาตรฐาน สำหรับใช้ให้บริการสอบเทียบ รวมถึงการจัดการกับผลการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบที่ออกไปแล้ว กรณีที่พบว่าเครื่องมือที่ใช้ให้บริการทดสอบ หรือมาตรฐานที่ใช้ให้บริการสอบเทียบ ผิดพลาดเกินกว่าค่าที่ยอมให้ได้

5. การสอบกลับได้ของเครื่องมือที่ใช้ให้บริการทดสอบ หรือมาตรฐานที่ใช้ให้บริการสอบเทียบ ไปยังระบบหน่วย SI และการพยายาม หาความสัมพันธ์ กรณีที่ยังไม่มีมาตรฐานกำหนดที่เป็นที่ยอมรับ

6. การบริหารการสุ่มตัวอย่าง กรณีที่ห้องปฏิบัติการ มีการสุ่มตัวอย่าง เพื่อนำมาทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ รวมถึงการกำหนดแผนการสุ่มตัวอย่าง

7. การดูแลรักษาตัวอย่าง ตั้งแต่การรับ ตรวจความผิดปกติ การเก็บรักษาให้ตัวอย่างอยู่ในสภาพเดิม และป้องกันการสูญหาย

8. การควบคุมคุณภาพของกระบวนการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ

9. การรายงานผลการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ

ทั้งหมดนี้ เพื่อให้มีความสามารถดำเนินการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ ได้ตามวิธีที่กำหนด และให้ผลการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด และมีความไม่แน่นอนน้อยที่สุดนั่นเอง



 

5.1 ทั่วไป
บทสรุปของข้อกำหนด 5.1

วัตถุประสงค์ของข้อกำหนดที่ 5.1 นี้ เป็นเพียงการเกริ่นนำ ไปสู่ข้อกำหนดอื่น ซึ่งหลัง ๆ มาตรฐานระบบการจัดการต่าง ๆ มักเขียนบทนำเป็นส่วนหนึ่งในข้อกำหนดเสมอ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับข้อกำหนดมาตรฐานเกิดความสับสนได้ว่า ตกลงแล้วต้องให้ปฏิบัติ หรือเป็นเพียงการเกริ่นนำ

ข้อดี อย่างน้อยก็ทำให้สามารถเข้าใจการเชื่อมโยงข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ของข้อกำหนดในข้อถัด ๆ ไปว่า มีการเชื่อมโยงกันอย่างไร ดังนั้น ผู้อ่านไม่ต้องงง หลังจากอ่านข้อกำหนดแล้ว ยังนึกไม่ออกว่า ข้อกำหนดต้องการอะไร ก็แค่อ่านแล้วข้ามไปอ่านข้อกำหนดที่ต้องนำไปปฏิบัติต่อได้เลย

เนื้อหาข้อกำหนด 5.1

5.1.1 มีปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่ตัดสิน หมายความเป็นปัจจัยที่ทำให้ ความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของการทดสอบ และ/หรือการสอบเทียบ ที่ทำโดยห้องปฏิบัติการ มีมากหรือน้อย ปัจจัยเหล่านี้รวมถึงสิ่งที่เกิด การสนับสนุน จาก

- บุคคล (ดูข้อกำหนดที่ 5.2)
- สถานที่และสภาวะแวดล้อม (ดูข้อกำหนดที่ 5.3)
- วิธีการทดสอบและสอบเทียบ และการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี (ดูข้อกำหนดที่ 5.4)
- เครื่องมือ (ดูข้อกำหนดที่ 5.5)
- ความสอบกลับได้ของการวัด (ดูข้อกำหนดที่ 5.6)
- การชักตัวอย่าง (ดูข้อกำหนดที่ 5.7)
- การจัดการตัวอย่างทดสอบและสอบเทียบ (ดูข้อกำหนดที่ 5.8)

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความถูกต้องในการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ ที่กล่าวมาดังข้างต้น ข้อกำหนดทางด้านเทคนิคในข้อที่ 5 นี้ได้ระบุสิ่งที่ต้องปฏิบัติไว้ในแต่ละกรณี ซึ่งข้อกำหนดได้แยกเรื่องที่จะกล่าวไว้เป็นกลุ่มเรื่องในแต่ละข้อ ดูว่าเป็นข้อกำหนดใด ได้จากหมายเลขข้อกำหนดที่วงเล็บไว้ข้างท้ายแต่ละเรื่อง

5.1.2 ขอบเขตที่ปัจจัยต่าง ๆ จะมีผลต่อความไม่แน่นอนของการวัดทั้งหมด จะแตกต่างกันไประหว่างประเภทของการทดสอบด้วยกัน และระหว่างประเภทของการสอบเทียบด้วยกัน
ห้องปฏิบัติการ ต้อง พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ในการพัฒนาวิธี และขั้นตอนการดำเนินการทดสอบ และสอบเทียบในการฝึกอบรมและกำหนดคุณสมบัติบุคลากรและในการเลือกและสอบเทียบเครื่องมือที่ใช้ ในการให้บริการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ


5.2 บุคลากร
บทสรุปของข้อกำหนด 5.2

   บุคลากรห้องปฏิบัติการ แกนสำคัญของการบริการบุคลากรที่ดำเนินการสอบเทียบ จัดว่าเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ที่จะส่งผลให้ความถูกต้องของผลการทดสอบ/สอบเทียบมีความถูกต้อง โดยทั่วไปไม่ว่าห้องปฏิบัติการไหน ๆ ต่างก็ตระหนักดี พูดแบบให้ฟังง่าย ๆ คือ รู้ว่าสำคัญ และพยายามเลือกบุคลากรที่มีคุณสมบัติ แต่ไม่รู้ว่าต้องควบคุมอะไรบ้าง และครอบคลุมเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานใดบ้างในข้อกำหนดระบุครอบคลุมถึง ผู้ที่ควบคุมการทำงานของเครื่องมือเฉพาะ ตัวอย่างของผู้ที่ควบคุมการทำงานของเครื่องมือเฉพาะ กรณีของห้องปฏิบัติการที่ให้บริการทดสอบทางด้านชีววิทยา ก็คือเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องวิเคราะห์ กรณีของห้องปฏิบัติการที่ให้บริการสอบเทียบ

ก็คือ เจ้าหน้าที่สอบเทียบนั่นเอง นอกจากนั้น ยังรวมถึง เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการทดสอบ/สอบเทียบ เจ้าหน้าที่ที่ประมวลผล/ตีความผลการทดสอบ หรือเจ้าหน้าที่ประมวลผลการสอบเทียบ เจ้าหน้าที่ที่อนุมัติผลในใบบันทึกผลการทดสอบ หรือใบรับรองผลการสอบเทียบ

   ในข้อกำหนดนี้ยังได้กำหนดว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเฉพาะ ซึ่งความเห็นส่วนตัวผู้เขียนตีความว่า หมายถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเฉพาะทางที่เกี่ยวกับการทดสอบ/สอบเทียบเท่านั้น ซึ่งต้องมีคุณสมบัติด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติทางด้าน การศึกษา ฝึกอบรม ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับห้องปฏิบัติการจะกำหนด


ในข้อกำหนดยังกำหนดชัดเจน ถึงเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการอบรมด้วยว่า หากมอบหมายให้ปฏิบัติงานแล้ว ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยผู้ที่มีความรู้ อย่างเหมาะสม ที่จะให้การทำงานเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

   นอกจากนั้น กรณีที่ห้องปฏิบัติการมีการจ้างเหมา มีการใช้เจ้าหน้าที่ทางด้านเทคนิค เจ้าหน้าที่ประสานงานอื่น ๆ ของบริษัทที่จ้างเหมา ก็ต้องแน่ในว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้น มีความสามารถเหมาะสม ได้รับการควบคุม และสามารถทำงานตามที่ห้องปฏิบัติการกำหนดได้ ต้องยอมรับว่าข้อกำหนดนี้มีความครอบคลุมมาก

   การฝึกอบรมก็เป็นอีกเรื่องที่ระบุไว้ ให้ต้องวางแผนการอบรม และหัวข้อการอบรมก็ต้องเกี่ยวข้องกับงานที่ปฏิบัติ ทั้งปัจจุบัน และในอนาคตด้วย ต้องมีคำบรรยายลักษณะงาน ที่ระบุความรับผิดชอบในงาน ของเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่น และต่างจากมาตรฐานระบบคุณภาพอื่นๆ นั่นก็คือ ข้อกำหนดนี้ระบุว่า ต้องให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ และต้องทำเป็นบันทึก และเก็บรักษาไว้ด้วย นอกเหนือจากบันทึกการฝึกอบรม และคุณวุฒิแล้ว อันนี้ก็ดีเช่นกันครับ ถ้ามีการกำหนดอำนาจให้สามารถตัดสินใจดำเนินการใดได้ การปฏิบัติงาน และการแก้ปัญหาก็จะสามารถดำเนินไปได้ทันที แต่ว่าใช่เจ้าหน้าที่ทุกคนจะสามารถทำได้ดีทุกคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารห้องปฏิบัติการจะเป็นผู้พิจารณา

เนื้อหาข้อกำหนด 5.2
5.2.1 การบริหารห้องปฏิบัติการ ต้อง มั่นใจในความสามารถของบุคลากรที่ใช้เครื่องมือเฉพาะ หมายถึง เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบแก่ลูกค้า ที่ไม่ใช่เครื่องมือพื้น ๆ ทั่วไป ที่ดำเนินการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบที่ประเมินผล ที่ได้จากการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ ที่ดำเนินกับตัวอย่างของลูกค้า และที่ลงนามในรายงานผลทดสอบและใบรับรองการสอบเทียบ คือผู้ที่มีอำนาจลงนาม ตามข้อกำหนดที่ 5.10.2j ในกรณีที่ใช้บุคลากรที่อยู่ในระหว่างการฝึกสอนงาน เช่น

1. เจ้าหน้าที่ที่รับเข้ามาใหม่ ในตำแหน่งใด ๆ ที่เกี่ยวกับการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบอยู่ระหว่างทดลองงาน
2. เจ้าหน้าที่ที่รับเหมาช่วงงานจากห้องปฏิบัติการ
3. นักศึกษาฝึกงาน

ต้อง จัดให้มีการควบคุมตามความเหมาะสม จุดประสงค์ เพื่อให้แน่ใจว่า
1. สามารถดำเนินการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบตามวิธีการที่ห้องปฏิบัติการกำหนดได้
2. สามารถใช้เครื่องมือเฉพาะได้
3. ผลการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบที่ได้ มีความถูกต้องสูง
4. สามารถปฏิบัติตามระบบการทำงานของห้องปฏิบัติการได้

บุคลากรผู้ที่ปฏิบัติงานเฉพาะทาง ในหน้าที่ หรือตำแหน่งงานต่าง ๆ ของห้องปฏิบัติการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ ต้อง มีคุณสมบัติพื้นฐานทางด้านการศึกษา เช่น จบอย่างน้อยระดับใด หรือต้องจบสาขาวิชาไหน การฝึกอบรม ว่า ได้รับการอบรมเรื่องอะไรบ้างแล้ว ประสบการณ์  กรณีที่เป็นหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่มีความรับผิดชอบสูง หรือมีความสำคัญต่อการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ และ/หรือความชำนาญที่แสดงให้เห็น โดยประเมินจากการทดสอบ กรณีสำหรับบางหน้าที่งาน

หรือตำแหน่ง ที่ต้องการความรู้ ความชำนาญ หรือความสามารถปฏิบัติได้จริง เหมาะสม กับหน้าที่ หรือตำแหน่งงานแต่ละตำแหน่ง ตามที่ ห้องปฏิบัติการ กำหนด เอง โดยประเมินดูว่า เจ้าหน้าที่สามารถสรรหาได้ ในท้องถิ่นนั้น ๆ หรือในตลาดนั้น ๆ ระดับความสามารถเท่าใด จึงจะสามารถทำหน้าที่ของห้องปฏิบัติการในตำแหน่งงานที่กำหนดได้


จุดประสงค์ของข้อกำหนดนี้ ไม่ได้ถึงกับต้องการให้ ห้องปฏิบัติการระบุคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ชนิดที่รับเข้ามาแล้วสามารถทำงานได้ทันที โดยไม่ต้องอบรมอะไรให้ซึ่งถ้าหาได้ก็ดี นี่คือความต้องการของห้องปฏิบัติการ แต่ในความเป็นจริง ก็ไม่สามารถหาได้ง่ายนัก ดังนั้นจึงต้องทำการอบรมความรู้ในงานให้ ดังข้อกำหนดต่อไป


หมายเหตุ

1. ในบางสาขาวิชาการ (เช่น การทดสอบแบบไม่ทำลาย) ผู้ที่จะทำการทดสอบได้อาจต้องมีใบรับรองตัวบุคคลที่ให้ทำงานนี้ได้ (Personal Certification) ห้องปฏิบัติการมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับใบรับรองตามข้อกำหนดที่ต้องการ ข้อกำหนดสำหรับใบรับรองบุคคล อาจเป็นกฎระเบียบที่รวมอยู่ในมาตรฐาน สำหรับสาขาวิชาการเฉพาะทางหรือกำหนดขึ้นมาโดยลูกค้า

2. ผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการให้ความเห็นและการแปลผล ซึ่งรวมอยู่ในรายงานผลการทดสอบ ควรเพิ่มคุณสมบัติที่เหมาะสม การฝึกอบรม ประสบการณ์และความรู้อย่างพอเพียงในงานทดสอบนั้นและยังต้องมี

- ความรู้ที่เกี่ยวข้องในเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนตัวอย่าง วัสดุ ผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ที่ทดสอบหรือวิธีการที่ถูกใช้ หรือวัตถุประสงค์ในการใช้ และความรู้เกี่ยวกับการชำรุดหรือเสื่อมสภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ ระหว่างการใช้หรือในการใช้งาน

- ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดทั่วไป ที่มีกล่าวไว้ในกฎระเบียบและมาตรฐาน

- มีความเข้าใจความสำคัญ ของความเบี่ยงเบนต่าง ๆ ที่พบ เมื่อเทียบกับการใช้ชิ้นทดสอบ วัสดุ ผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ตามปกติที่เกี่ยวข้อง

5.2.2 ผู้บริหารห้องปฏิบัติการ ต้อง กำหนดเป้าหมาย ของบุคลากร ที่จะรับเข้ามาปฏิบัติในหน้าที่ต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ โดยคำนึงถึง ระดับ การศึกษา ที่จำเป็นของเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ การฝึกอบรม ที่ได้รับมาแล้ว เพื่อสามารถปฏิบัติงานได้ หรืออย่างน้อยก็เข้าใจ ในงานที่จะได้รับหน้าที่ต่อไป และความชำนาญของบุคลากรของห้องปฏิบัติการ ในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ซึ่งจะเน้นไปในการปฏิบัติงานด้านการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ เช่น ตำแหน่ง

- ผู้ทำหน้าที่ดำเนินการทดสอบ

- ผู้ทำหน้าที่ควบคุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ (Supervisor)

- ผู้ทำหน้าที่ดูแลด้านวิชาการในการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ และตัดสินใจจัดการกับการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนด

- ผู้ทำหน้าที่ทบทวนข้อตกลงกับผู้รับบริการ

- ผู้ทำหน้าที่ รับ เตรียมตัวอย่างในดารทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ และทำลายตัวอย่างในการทดสอบ

   ส่วนผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารห้องปฏิบัติการ แม้ข้อกำหนดจะไม่ได้เฉพาะเจาะจง อย่างเด่นชัดเท่าด้านวิชาการ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องดำเนินการตามข้อกำหนด 5.2.2 นี้ด้วย

เป้าหมายของบุคลากร อาจจะเขียนเป็นเอกสาร สำหรับแต่ละตำแหน่ง เพื่อความสะดวกในการอ้างอิง โดยมากมักจะรวมไว้กับเอกสารบรรยายลักษณะงาน (Job Description) และกำหนดไว้เป็นบรรทัดฐาน

สำหรับการสรรหาว่าจ้างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน มีอยู่บ้างบางห้องปฏิบัติการ ที่กำหนดเป็นครั้ง ๆ เมื่อต้องมีการสรรหาตำแหน่งใหม่ หรือสรรหาเข้ามาแทนตำแหน่งที่ลาออก ซึ่งอาจไม่ใช่บรรทัดฐานเดียวกันทุกครั้ง อาจเนื่องมาจาก 

  บางครั้งตลาดแรงงานในที่ที่ห้องปฏิบัติการตั้งอยู่ ไม่เอื้ออำนวย ให้มีผู้สมัครมากพอที่จะเลือกตามที่วางเอาไว้ครั้งแรกห้องปฏิบัติการ ต้อง มีนโยบาย (ดู อธิบายความหมายคำ) เกี่ยวกับการอบรมเจ้าหน้าที่ และขั้นตอนดำเนินงาน (ดู อธิบายความหมายคำ) ในการระบุความต้องการในการฝึกอบรม สำหรับเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่าง ๆ ของห้องปฏิบัติการ กล่าวได้ว่าครอบคลุมตั้งแต่ ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของห้องปฏิบัติการ จนถึงตำแหน่งต่ำที่สุด

 หากว่าเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมการทดสอบ และ/หรือสอบเทียบ ที่ให้บริการตามข้อกำหนด ไม่ได้กล่าวถึงหน้าที่ที่เกี่ยวกับการบริหารห้องปฏิบัติการอย่างเจาะจงว่า ต้องรวมอยู่ในข้อกำหนดด้วยหรือไม่ ผู้เขียนแนะนำว่า ควรรวมความรู้เกี่ยวกับการบริหาร และตรวจติดตามภายในด้วย

  การระบุความต้องการในการฝึกอบรม โดยมากมักจัดทำเป็นเอกสาร เพื่ออ้างอิงด้วยและจัดให้มีการฝึกอบรมต่อบุคลากรของห้องปฏิบัติการ โดยจัดทำเป็นโปรแกรมการฝึกอบรม ตามที่ความต้องการในการอบรมที่ได้กำหนดขึ้น ซึ่ง โปรแกรมการฝึกอบรม ต้อง สัมพันธ์กับงานในปัจจุบันและคาดว่าจะทำต่อไปของห้องปฏิบัติการ เช่น
1. มีการขยายงานบริการทดสอบ ไปยังชนิดอื่น ๆ
2. เปลี่ยนวิธีการทดสอบไปเป็นมาตรฐานอื่น ๆ
3. เปลี่ยนเครื่องทดสอบใหม่ ที่มีเทคโนโลยีดีขึ้น เป็นต้น

ต้อง ประเมินประสิทธิผลของการจัดอบรมที่ดำเนินอยู่ เพื่อดูว่าการจัดการอบรม สามารถจัดได้
1. ตามตารางการจัดการอบรมที่กำหนด หรือครบทุกเรื่องที่วางแผนไว้หรือไม่
2. การจัดการอบรม สามารถถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นแก่พนักงานที่รับการอบรมหรือไม่
3. พนักงานที่รับการอบรม สามารถเข้าใจ และนำความรู้นั้น ๆ ไปปฏิบัติงานได้หรือไม่

การประเมินเหล่านี้ จำเป็นต้องดำเนินการโดยผู้จัดการด้านวิชาการ และบันทึกผล และเก็บรักษาไว้ด้วย

5.2.3 ห้องปฏิบัติการ ต้อง ใช้บุคลากรที่จ้างโดยห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป หรือภายใต้สัญญาจ้างกับห้องปฏิบัติการ เช่น เจ้าหน้าที่ที่จ้าง โดยมีขอบเขตระยะเวลาการปฏิบัติงานกับห้องปฏิบัติการช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อหมดสัญญา ก็จะพ้นสภาพการทำงานกับห้องปฏิบัติการ

   ในกรณีที่ใช้บุคลากรแบบทำสัญญาจ้างงาน และจ้างบุคลากรเพิ่มเติมด้านเทคนิค และบุคลากรช่วยงานที่สำคัญ ห้องปฏิบัติการ ต้อง มั่นใจว่าบุคลากรดังกล่าว ได้รับการควบคุมงาน (Supervised) โดยเจ้าหน้าที่ของห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีระดับอาวุโส หรือสูงกว่า หรือมีความรู้และความสามารถมากกว่า และ แน่ใจว่าบุคลากรแบบทำสัญญาจ้างงาน และจ้างบุคลากรเพิ่มเติมด้านเทคนิค และบุคลากรช่วยงานที่สำคัญ ที่ว่าจ้าง มีความสามารถ ในงานที่ว่าจ้างนั้น ๆ และ ต้อง ปฏิบัติงานตามระบบคุณภาพ มาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005นี้ ของห้องปฏิบัติการที่วางไว้


5.2.4 ห้องปฏิบัติการ ต้องรักษาไว้ซึ่งคำบรรยายลักษณะงาน ที่ระบุความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แต่ละตำแหน่งในห้องปฏิบัติการ ตามข้อกำหนดที่ 4.1.5f ฉบับ ที่เป็นปัจจุบัน หมายถึงว่าเป็นเอกสารฉบับที่ล่าสุดซึ่งการควบคุมเอกสารบรรยายลักษณะงานนี้ ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดที่ 4.3 ด้วยและเอกสารบรรยายลักษณะงาน ที่ต้องจัดทำนี้ สำหรับบุคล ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่ง ผู้กำหนดหน้าที่ด้านการบริหาร ผู้กำหนดหน้าที่ ด้านวิชาการ
และบุคลากรช่วยงานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับงานการทดสอบ และ/หรือการสอบเทียบ

หมายเหตุ

คำบรรยายลักษณะงานสามารถระบุได้หลายวิธี โดยอย่างน้อยควรระบุสิ่งต่อไปนี้
- ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติการทดสอบ และ/หรือ สอบเทียบ
- ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการวางแผนการทดสอบ และ/หรือ สอบเทียบ และการประเมินผล
- ความรับผิดชอบในการรายงานความเห็นและการแปลผล
- ความรับผิดชอบต่อการดัดแปลงวิธีและการพัฒนาและพิสูจน์ความใช้ได้ของวิธีใหม่ ๆ
- ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ต้องการ
- คุณสมบัติและโปรแกรมการฝึกอบรม
- หน้าที่ด้านการบริหาร

5.2.5 ผู้บริหาร ต้อง มีการมอบหมายอำนาจ (Authorize) (ดู อธิบายความหมายคำ) แก่บุคลากรผู้ทำหน้าที่ชักตัวอย่างประเภทเฉพาะผู้ทำหน้าที่ทดสอบ และ/หรือสอบเทียบผู้ออกรายงานผลการทดสอบและใบรับรองผลการสอบเทียบผู้ให้ความเห็นและแปลผลและผู้ใช้งานเครื่องมือเฉพาะ ข้อกำหนดที่ 4.1.5f ระบุว่าต้องกำหนดอำนาจหน้าที่

  ส่วนข้อกำหนดที่ 5.2.5นี้ ระบุต่อว่า เมื่อกำหนดแล้ว ต้องมอบหมายอำนาจนั้น ห้องปฏิบัติการ ต้อง รักษาบันทึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการมอบหมายหน้าที่ กรณีนี้ คือ เอกสารบรรยายลักษณะงาน ส่วนบันทึกเกี่ยวกับ ความสามารถ หลังการจัดอบรม และ/หรือประเมินหลังอบรม การศึกษา เช่น ใบรับรองการศึกษา และคุณสมบัติตามวิชาชีพการฝึกอบรมความชำนาญและประสบการณ์ เช่น เอกสารรับรองการปฏิบัติงานจากห้องปฏิบัติการอื่น

   ก่อนหน้าที่มาปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการนี้ ของบุคลากรทางด้านวิชาการทั้งหมด รวมถึงบุคลากรตามสัญญาจ้าง ข้อมูลเหล่านี้ ต้อง มีไว้พร้อมใช้งาน และ ต้อง รวมถึงวัน เดือน ปี ที่มีการมอบอำนาจหน้าที่ เช่น การอนุมัติลงในเอกสารบรรยายลักษณะงาน และต้องระบุ วัน เดือน ปี ด้วย และ/หรือ ได้รับการยืนยันความสามารถ โดยที่เอกสารยืนยันความสามารถนั้น ต้องระบุวัน เดือนปี ที่ยืนยันความสามารถ ซึ่งอาจทำได้โดย

1. เอกสารรับรองความสามารถ ที่ออกโดยห้องปฏิบัติการที่เจ้าหน้าที่นั้นได้ปฏิบัติงานก่อนหน้า หรือ
2. ผู้บริหารห้องปฏิบัติการที่จะรับเจ้าหน้าที่คนนั้น ทำเอกสารรับรองความสามารถ และอนุมัติในหนังสือนั้น กรณีที่การประเมิน ออกมาเป็นที่ยอมรับ

 


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด