เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 10:46:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 12478 views

การบำรุงรักษาเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน (ตอนที่ 2)

เป็นการพัฒนาพนักงานปฏิบัติการ (Operators) ผู้ควบคุมเครื่องจักร ให้มีความสามารถที่จะดำเนินการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้อยู่ได้ด้วยตนเอง ในลักษณะงานบำรุงรักษาที่ง่าย ไม่ซับซ้อนมากนัก ซึ่งจะทำให้พนักงานปฏิบัติการรู้สึกถึงการมีส่วนร่วม

การบำรุงรักษาเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน (ตอนที่ 2)


ศิริพร  วันฟั่น

 

องค์ประกอบหลักที่ 2 การบำรุงรักษาด้วยตนเอง (JISHU HOZEN: Autonomous Maintenance)

     เป็นการพัฒนาพนักงานปฏิบัติการ (Operators) ผู้ควบคุมเครื่องจักร ให้มีความสามารถที่จะดำเนินการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้อยู่ได้ด้วยตนเอง ในลักษณะงานบำรุงรักษาที่ง่าย ไม่ซับซ้อนมากนัก ซึ่งจะทำให้พนักงานปฏิบัติการรู้สึกถึงการมีส่วนร่วม และสร้างความเป็นเจ้าของเครื่องจักรร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดภาระของพนักงานฝ่ายซ่อมบำรุงลงได้มาก ทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันเหตุขัดข้องของเครื่องจักรที่ต้นเหตุของปัญหาได้อีกด้วย โดยมีการฝึกอบรมพนักงานให้ได้รับทราบ และเข้าใจถึงขั้นตอนการปฏิบัติในการบำรุงรักษาด้วยตนเอง ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยในการฝึกอบรมนั้นจะรวมถึงการตรวจสอบสภาพและการทำความสะอาดเครื่องจักร ยกตัวอย่าง เช่น

-  การทำความสะอาดประจำวัน (Daily Cleanliness) ซึ่งเป็นการดูแลทำความสะอาดเครื่องจักร รวมถึงพื้นที่งานทั่วไป เช่น ทางเดิน อุปกรณ์ ชั้นวางของ เป็นต้น ให้ดูสดใสปราศจากสนิม ฝุ่น น้ำมัน

 
-  การทำความสะอาดแบบตรวจสอบ (Cleanliness Inspection) เป็นการทำความสะอาดร่วมกับการพิจารณาสังเกต เพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติในเครื่องจักร เช่น รอยแตก รอยรั่ว น็อตที่หลวม เสียงเครื่องเดินผิดปกติ เสียงลมรั่ว เสียงสายพานหลวม กลิ่นไหม้ การสั่นสะเทือน เป็นต้น

-  การทำความสะอาดแบบบำรุงรักษา (Cleanliness Maintenance) คือในระหว่างการทำความสะอาดแบบตรวจสอบ ถ้าพนักงานค้นพบสิ่งที่ผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าจากตัวเครื่องจักรหรือชิ้นงาน ก็สามารถที่จะปรับปรุงหรือปรับแต่งแก้ไขได้ตามที่ได้ฝึกอบรมมา แต่ถ้าไม่สามารถกระทำได้ด้วยตนเองก็ต้องติดต่อพนักงานฝ่ายซ่อมบำรุงมาดำเนินการแทน ทั้งนี้ต้องมีการสร้างมาตรฐานเดียวกันในการบำรุงรักษาด้วนตนเอง โดยมีการระบุชิ้นส่วนที่ต้องดูแลรักษาทำความสะอาด ตรวจสอบ และหล่อลื่น รวมถึงจดบันทึกและระบุปัญหาที่พบลงในใบตรวจสอบประจำเครื่อง

องค์ประกอบหลักที่ 3 การปรับปรุงเพื่อลดการสูญเสีย (KAIZEN) 

     “Kai” หมายถึง การเปลี่ยนแปลง (Change) และ “Zen” หมายถึง ดี (Good) ดังนั้น Kaizen จะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยพื้นฐานแล้ว Kaizen จะเป็นการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกับทุกคนในองค์กร

     เป้าหมายของ Kaizen การสูญเสียเป็นศูนย์ (Zero Losses) โดยพยายามลดการสะดุดของเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นการหยุดเป็นพัก ๆ การปรับแต่ง การขัดข้อง และการหยุดเป็นเวลานาน ๆ และมีเป้าหมายในการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต (Manufacturing Cost) ลง 30 %

    เครื่องมือที่ใช้สำหรับ Kaizen ได้แก่ PM Analysis, Why–Why Analysis, Summary of Losses, Kaizen Register, Kaizen Summary Sheet

 

องค์ประกอบหลักที่ 4 การบำรุงรักษาตามแผน (Planned Maintenance)

     เป็นการมุ่งหวังที่จะทำให้ปัญหาเหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักร อุปกรณ์และส่งผลให้สินค้าเสียหาย ไม่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้านั้นหมดไป การบำรุงรักษาตามแผนเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนวิธีการบำรุงรักษาแบบตั้งรับไปเป็นแบบเชิงรุก (Proactive) ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) การบำรุงรักษาเชิงแก้ไขปรับปรุง (Corrective Maintenance) และการป้องกันเพื่อบำรุงรักษา (Maintenance Prevention) และเสริมด้วยการใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายซ่อมบำรุงที่มีความเชี่ยวชาญช่วยฝึกอบรมพนักงานปฏิบัติการ ให้มีความรู้ ทักษะในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ เครื่องจักรที่ตนเองใช้อยู่ให้ดียิ่งขึ้น

เป้าหมายของการบำรุงรักษาตามแผน

- การบกพร่องและเหตุขัดข้องของเครื่องจักร อุปกรณ์ เป็นศูนย์
- พัฒนาความน่าเชื่อถือและความสามารถในการบำรุงรักษาเพิ่มขึ้น 50 %
- ลดต้นทุนการบำรุงรักษาลง 20 %
- มั่นใจว่ามีอะไหล่สำรองไว้ตลอดเวลาในยามที่จำเป็น


การบำรุงรักษาตามแผนมี 6 ขั้นตอน คือ

1. ประเมินสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของเครื่องจักร อุปกรณ์ และทำการจดบันทึก

2. ฟื้นฟูการเสื่อมสภาพและพัฒนาแก้ไนจุดอ่อนของเครื่องจักร อุปกรณ์

3. จัดสร้างระบบการบริหารจัดการฐานข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องจักร

4. เตรียมแผนงานข้อมูลกำหนดระยะเวลาซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงบุคลากรด้วย

5. จัดเตรียมระบบการบำรุงรักษาแบบคาดการณ์ (Predictive Maintenance System) โดยนำเทคนิคการวินิจฉัย (Diagnostic Techniques) สภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์มาใช้

6. ประเมินผลถึงประสิทธิภาพของการบำรุงรักษาตามแผน

 

องค์ประกอบหลักที่ 5 การบำรุงรักษาเชิงคุณภาพ (Quality Maintenance)

     เป็นการให้ความใส่ใจในศักยภาพของการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่าการใส่ใจคุณภาพของสินค้าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแนวความคิดจากการตั้งรับเป็นการดำเนินการในเชิงรุกมากขึ้น คือ จากการควบคุมคุณภาพมาเป็นการประกันคุณภาพ (Quality Control to Quality Assurance) ซึ่งกิจกรรมการบำรุงรักษาเชิงคุณภาพจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการประกันคุณภาพได้ โดยอาศัยการตรวจสอบสภาพของเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ทำให้คุณภาพสินค้าบกพร่อง บนพื้นฐานที่ว่าการบำรุงรักษาให้เครื่องจักรอยู่ในสภาพที่ดี ก็จะเป็นการรักษาคุณภาพที่ดีของสินค้าไปด้วยเช่นกัน

ซึ่งการตรวจสอบสภาพและวัดค่าตามอนุกรมเวลา (Time Series) นั้นเป็นการช่วยวัดคุณค่า (Values) ที่แท้จริงของเครื่องจักร และยังช่วยในการคาดการณ์ความบกพร่องที่จะเกิดขึ้น ทำให้สามารถเตรียมมาตรการรองรับได้ทันท่วงที

เป้าหมายของการบำรุงรักษาเชิงคุณภาพ
- การบรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน ที่จะทำให้การร้องเรียนจากลูกค้าเป็นศูนย์ (Customer Complaints at Zero)
- ลดของเสียในกระบวนการ (In–process) ลง 50 %
- ลดต้นทุนการทำให้มีคุณภาพลง 50 %

 

องค์ประกอบหลักที่ 6 การฝึกอบรม (Training)

     เป็นความมุ่งมั่นที่จะทำให้พนักงานมีทักษะที่หลากหลายพร้อมกับขวัญกำลังใจเต็มเปี่ยม และมีความกระตือรือร้นที่จะทำงาน รวมถึงปฏิบัติงานด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพและกระทำได้ด้วยตัวเอง การให้ความรู้แก่พนักงานปฏิบัติการเป็นการยกระดับทักษะ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงรับทราบว่า “รู้ว่าทำอย่างไร (Know–How)” แต่ควรที่จะเรียนรู้ด้วยว่า “รู้ ว่าทำไปทำไม (Know–Why)” ทั้งนี้เพื่อให้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและรู้ว่าทำไมต้องดำเนินการแก้ไขด้วยวิธีเช่นนั้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องฝึกอบรม โดยระดับของทักษะในการปฏิบัติงาน มีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ คือ
    

ระดับของทักษะ
1. ไม่ทราบ
2. ทราบทฤษฎีแต่ปฏิบัติไม่เป็น
3. ปฏิบัติได้แต่ไม่สามารถสอนหรือถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้
4. ปฏิบัติได้และสามารถสอนหรือถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ด้วย

     เป้าหมายของการฝึกอบรม

- พนักงานมีความรู้ ทักษะ และเทคนิคที่จำเป็นในการปฏิบัติงานที่ตนเองรับผิดชอบ
- เครื่องจักรที่มีความสำคัญจะไม่ขาดพนักงานปฏิบัติการที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ
- การมีส่วนร่วมของพนักงาน 100 %


     ขั้นตอนในการให้ความรู้และฝึกอบรม
1. กำหนดนโยบายและจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงตรวจสอบสถานะปัจจุบันของระดับความรู้ ทักษะ และการ
2. ฝึกอบรมของพนักงาน
3. จัดเตรียมเนื้อหา หัวข้อ และจัดตั้งระบบการฝึกอบรม รวมถึงกำหนดการ เพื่อยกระดับทักษะสำหรับพนักงาน
4. ปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายซ่อมบำรุง
5. เริ่มการฝึกอบรมตามแผนที่วางไว้
6. ประเมินผลถึงประสิทธิภาพของการฝึกอบรม
7. จดบันทึกผลที่ได้ และแก้ไขข้อบกพร่อง
8. ตรวจสอบติดตามผลอยู่เป็นระยะ
9. พัฒนาการฝึกอบรม

 

องค์ประกอบหลักที่ 7 การทำ TPM ในสำนักงาน (Office TPM)

     การทำสำนักงาน TPM ควรเริ่มหลังจากมีการดำเนินการใน 4 องค์ประกอบหลักแล้ว คือ การบำรุงรักษาด้วยตนเอง (JISHU HOZEN: Autonomous) การปรับปรุงเพื่อลดการสูญเสีย (KAIZEN) การบำรุงรักษาตามแผน (Planned Maintenance) และ การบำรุงรักษาเชิงคุณภาพ (Quality Maintenance) เพื่อเป็นการพัฒนาความสามารถในการผลิต ประสิทธิภาพ ในแง่มุมของรูปแบบการบริหาร (Administrative Functions) มีการจำแนกและกำจัดการสูญเสีย ทั้งนี้ก็รวมไปถึงกระบวนการวิเคราะห์ และขั้นตอนที่พุ่งเป้าในการเพิ่มความสามารถในการบริหารโดยอัตโนมัติของสำนักงาน

 

การเริ่มดำเนินการสำนักงาน TPM 

     หัวหน้างานอาวุโสหรือผู้จัดการจากฝ่ายที่สนับสนุน เช่น ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบริหารจัดการระบบข้อมูล ฝ่ายจัดซื้อ เป็นต้น ควรเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลุ่มกิจกรรมย่อย ร่วมกับตัวแทนจากฝ่ายผลิตและฝ่ายคุณภาพ โดยสมาชิกจะต้องแสดงถึงการช่วยสนับสนุนในส่วนที่ต้องให้ความร่วมมือ โดยฝ่ายประสานงาน TPM (TPM Co–ordinate Team) จะมีการประชุมกับคณะกรรมการกลุ่มกิจกรรมย่อยนี้ เพื่อ


1. ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเห็นความสำคัญของสำนักงาน TPM รวมถึงให้ความร่วมมือและสนับสนุนในทุกสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินการ

2. ช่วยอธิบายในการที่จะระบุ P, Q, C, D, S, M ความสามารถในการผลิตหรือสมรรถนะ (Productivity or Performance), คุณภาพ (Quality), ต้นทุน (Cost), การส่งมอบสินค้า (Delivery), ความมั่นคงปลอดภัย (Safety and Security), ขวัญกำลังใจและทักษะหลากหลายในการทำงาน (Morale and Multi–skill Associates) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแต่ละฝ่าย เพื่อที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงาน

3. ระบุขอบเขตสำหรับการพัฒนาในแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

4. เก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

5. ช่วยแก้ปัญหาในวงจรการทำงานของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ TPM

6. รวบรวมข้อมูลความก้าวหน้าของแต่ละกิจกรรมที่ได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการกิจกรรมย่อย ทั้งผลลัพธ์และปฏิบัติการที่กระทำไปพร้อม ๆ กับ Kaizens (การปรับปรุงเพื่อลดการสูญเสีย)

7. กระจายการดำเนินการกิจกรรมนี้ไปให้ทั่ววงจรการทำงานและคลอบคลุมพนักงานทุกคน

 

ประเด็น P, Q, C, D, S, M ในส่วนของสำนักงาน TPM

- P (Productivity) การสูญเสียผลผลิตเนื่องจากความต้องการในวัสดุ กำลังคน และเครื่องมือ

- Q (Quality) ความผิดพลาดของเช็ค บิล ใบกำกับการขาย ค่าจ้างพนักงาน การคืนของ การประกันสินค้าอันเนื่องจากความผิดพลาดของใบสั่งซื้อ การปฏิเสธสินค้า หรือการแก้ไขใบสั่งซื้อ

- C (Cost) ต้นทุนจากค่าวัสดุ หน่วยการผลิต การขนส่งสินค้า การสต็อกสินค้า การสื่อสาร อัตราค่าชำระการขนส่งสินค้า

- D (Delivery) การสูญเสียจากระบบลอจิสติกส์ (ความล่าช้าในการขนส่ง และการขนถ่ายสินค้า) เนื่องจากการสนับสนุนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ดีพอ หรือล่าช้าจากระบบการจ่ายเงินให้ Suppliers หรือการได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

- S (Safety and Security) ความมั่นคงปลอดภัยในการใช้วัสดุ การจัดเก็บ การขนส่ง และข้อมูล

- M (Morale and Multi–skill Associates) จำนวนกิจกรรม Kaizens ในพื้นที่สำนักงาน

 

การขยายสำนักงาน TPM ไปยังผู้จัดหา จัดส่ง (Suppliers) และตัวแทนจำหน่าย (Distributors) 

     เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต้องทำหลังจากที่ตัวโรงงานเองได้มีการดำเนินงานภายในได้ผลดีแล้ว ในส่วนของผู้จัดหา จัดส่งก็จะนำไปสู่การส่งมอบสินค้าและวัตถุดิบได้ทันเวลา พัฒนาคุณภาพของวัตถุดิบและลดต้นทุน ในส่วนของตัวแทนจำหน่ายก็นำไปสู่การระบุจำนวนความต้องการ (Demand) ในตัวสินค้าได้อย่างถูกต้อง พัฒนาตัวแทนจำหน่ายลำดับสอง และลดความเสียหายในระหว่างการจัดเก็บและการจัดการ ซึ่งในแต่ละส่วนนั้นทางโรงงานต้องมีการสอนพวกเขาเหล่านี้ด้วยประสบการณ์ การปฏิบัติ และลดช่องว่างในระบบซึ่งส่งผลกระทบทั้งสองฝ่าย ในส่วนของบริษัทขนาดใหญ่อาจต้องอาศัยการแบ่ง Suppliers ออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อทำการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

องค์ประกอบหลักที่ 8 การจัดการด้านความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Safety, Health and Environment Management) 

     เป้าหมาย อุบัติเหตุเป็นศูนย์ การเจ็บป่วยเนื่องจากงานเป็นศูนย์ การเกิดเพลิงไหม้เป็นศูนย์

     ในองค์ประกอบหลักสุดท้ายนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างสถานที่ปฏิบัติงานรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความปลอดภัย เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากกระบวนการทำงานของโรงงาน โดยอาศัยการปฏิบัติการเชิงรุก ซึ่งต้องมีการจัดตั้งทีมงานขึ้นมา โดยมีประธานกลุ่มเป็นผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัย และมีตัวแทนจากฝ่ายต่าง ๆ เป็นสมาชิกร่วมด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ปฏิบัติงานทุกคนให้ใส่ใจต่อความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ การฝึกอบรม การแข่งขันระหว่างกลุ่ม เป็นต้น

 

อุบัติเหตุในงานบำรุงรักษา

    อุบัติเหตุและการบาดเจ็บสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในระหว่างการดำเนินงานบำรุงรักษา ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ เช่น สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย การเร่งรีบทำงานให้ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ ข้อจำกัดเกี่ยวกับการทำงานในขณะทำการซ่อมบำรุง หรือการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น

ซึ่งพบว่าสาเหตุที่สำคัญนั้นมักเกิดจากตัวผู้ปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นความประมาท และวิธีการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการบำรุงรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือถูกหลักความปลอดภัย ดังที่เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ ในวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีช่างซ่อมบำรุง 2 คน เข้าไปตรวจสอบเครื่องทำความเย็นที่ห้องควบคุมความเย็นเครื่องปรับอากาศที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งทางช่างคนหนึ่งได้นำสายพานไปเพื่อเตรียมเปลี่ยน ขณะที่เดินเข้าไปในห้องควบคุมนั้นปรากฏว่าชายเสื้อถูกใบพัดของเครื่องโบลเวอร์ดูดเข้าไปทำให้ใบพัดได้ตัดแขนขาดและมีแผลเหวอะหวะที่ใบหน้าส่งผลให้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ แม้ว่าช่างอีกคนหนึ่งจะรีบไปปิดสวิตซ์ควบคุมไฟแล้วก็ตามแต่ก็ไม่ทันการ


   อุบัติเหตุและการบาดเจ็บในการบำรุงรักษาเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ


1. เกิดขึ้นระหว่างการซ่อมบำรุงรักษา มีสาเหตุสำคัญ คือ

เกิดจากผู้ปฏิบัติงาน เช่น ขาดการเตรียมการที่ดีพอหรือไม่สนใจที่จะทำงานด้วยความปลอดภัย หรือทำงานด้วยความเร่งรีบ ประมาทและอ่อนเพลียจากการทำงาน เป็นต้น


เกิดจากเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ทำงานอย่างกะทันหัน ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในระหว่างทำการซ่อมบำรุง เนื่องจากในปัจจุบันเครื่องจักรสมัยใหม่มีการใช้ระบบอัตโนมัติหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาควบคุมการทำงาน ทำให้สามารถเกิดข้อผิดพลาดจากการเดินเครื่องหรือทำงานอย่างกะทันหันขึ้นได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุได้หลายประการ เช่น

- จังหวะการหยุดของเครื่องจักรไม่อยู่ในตำแหน่งปกติ เกิดการผิดพลาดทำให้เครื่องจักรเดินเครื่องโดยอัตโนมัติ

- ช่วงรอยต่อที่เกี่ยวกับการบังคับการทำงาน ชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดการทำงานขึ้นอย่างกะทันหัน

- ในระบบที่มีการนำลมที่มีแรงดันสูงมาควบคุมการทำงานเกิดการบกพร่อง โดยปรากฏว่ามีความดันหลงเหลืออยู่ขณะทำการซ่อม ส่งผลให้เครื่องทำงานโดยอัตโนมัติ

- การปิด-เปิด หรือกดปุ่มคันบังคับโดยบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุง

- หน้าสัมผัสของปุ่มคันบังคับ เกิดการสัมผัสอย่างทันทีทันใดโดยไม่ทราบสาเหตุ

- เกิดความผิดพลาดจากตัวเครื่องจักรเอง

จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม ไฟฟ้าช็อต ของหล่นทับ อุบัติเหตุจากการขนย้ายชิ้นงาน อะไหล่ หรืออุปกรณ์ป้องกันอันตรายชำรุดทำให้ป้องกันอันตรายได้ไม่ดีพอ เป็นต้น

 2. เกิดจากการซ่อมบำรุงไม่ดีพอ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากมาตรฐานในการบำรุงรักษาต่ำ เช่น รอยเชื่อมต่อไม่แข็งแรงสมบูรณ์พอ หรืออะไหล่ที่นำมาเปลี่ยน มีขนาดหรือชนิดที่ไม่เหมาะสม เช่น ขนาดสายพาน ชนิดลูกปืน ขนาดและรูปร่างของฟันเฟือง เป็นต้น นอกจากนั้นในการซ่อมบำรุงอาจมีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานซึ่งทำให้จังหวะการบังคับหรือการหยุดของเครื่องจักรเปลี่ยนไป

 แนวทางการป้องกันอุบัติเหตุจากการบำรุงรักษา

- ใช้แนวคิดและหลักการป้องกันอุบัติเหตุโดยทั่วไปมาใช้ เช่น ใช้ระบบการบริหารความปลอดภัย วางแนวนโยบายการป้องกันอุบัติเหตุ หรือการสร้างทัศนคติที่ดีในการทำงาน

- นำมาตรการที่ดีมาใช้ในการควบคุมสภาพการปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนของเครื่องมือและวิธีปฏิบัติงาน

- กำจัดสาเหตุของอันตรายหรือสภาพที่ไม่ปลอดภัยในขณะทำการบำรุงรักษา เช่น การติดป้ายสัญญาณเตือนให้ทราบ Lockout/Tagout หรือเลือกระบบการซ่อมบำรุงที่ปลอดภัยที่สุดมาใช้ เป็นต้น

- จัดหามาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุมาใช้ โดยมีการวางนโยบายเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงมาใช้ควบคุมการบำรุงรักษาให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีความปลอดภัยด้วย เช่น มีการวิเคราะห์หาสาเหตุของอันตรายต่าง ๆ มีการตรวจสอบ บันทึกรายงาน การประเมินผล การมีข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นต้น โดยดัชนีชี้วัดด้านความปลอดภัย ได้แก่ อัตราการเกิดอุบัติเหตุ ความถี่ของอุบัติเหตุ ความสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม เงินทดแทนต่าง ๆ เป็นต้น

     ทุกวันนี้ การแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมนั้นมีตลอดเวลาและสูงมาก ส่วนการดำเนินการ TPM นั้นเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่ยืนอยู่ระหว่างความสำเร็จและความล้มเหลวของบางบริษัท แต่ TPM นั้นได้ถูกพิสูจน์มาพอสมควรแล้วว่าเป็นกิจกรรมการบำรุงรักษาที่มีประโยชน์ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการทำงานหลายภาคส่วนไม่เฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาคก่อสร้าง ขนส่ง ฯลฯ

ตัวผู้ปฏิบัติงานเองต้องได้รับความรู้และโน้มน้าวว่า TPM ไม่ใช่แค่กิจกรรมประจำเดือนเท่านั้น และฝ่ายบริหารต้องแสดงพันธะสัญญากับกิจกรรมนี้ และขยายกรอบเวลาที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงาน TPM ได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง และถ้าได้รับความความร่วมมือจากพนักงานทุกคนแล้ว ก็จะสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนกับการลงทุนก่อนและหลังการดำเนินการ TPM ได้

 

ตัวอย่างความสำเร็จ (ข้อมูลจาก Internet)

Nissan, Tochigi Plant  ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ มีพนักงานทั้งหมด 7,000 คน ได้ผลจากการดำเนินงาน TPM เป็นระยะเวลา 3 ปี ดังนี้ คือ
- จำนวนรถยนต์ที่ผ่าน QC ในครั้งแรกนั้น ไม่มีการแก้งานเพิ่มขึ้น 70 %

- จำนวนการขัดข้องของเครื่องจักรลดลง 80 %

- ประสิทธิภาพสูงสุดของเครื่องจักร/อุปกรณ์ (OEE) เพิ่มขึ้น 30 %

Comment จากบริษัท คือ “เราไม่สามารถบริหารจัดการโรงงานเราได้ ถ้าปราศจาก TPM”

Nippon Lever, Utsunomiya Plant ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสบู่ลักซ์ (Lux) และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้าน ผลที่ได้จากการดำเนินงาน TPM เป็นระยะเวลา 2 ปี มีดังนี้ คือ
- ลดต้นทุนในการปฏิบัติการ (Operating Costs) 2.8 ล้านปอนด์ โดยใช้ต้นทุนในการแนะนำ TPM เข้าสู่องค์กร เป็นจำนวนเงิน 9,000 ปอนด์

- ประสิทธิภาพในการผลิต Domestic Filling Line เพิ่มขึ้นจาก 76 % เป็น 95 %, High Speed Soap Line เพิ่มขึ้นจาก 54 % เป็น 85 %


Comment จากบริษัท คือ “สภาวะเครื่องจักรในอุดมคติ คือ ไม่มีการขัดข้อง ไม่บกพร่อง คุณอาจจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคุณได้มาเห็นที่ Nippon Lever Plant แล้วคุณจะทึ่งว่า … เป็นไปได้จริง ๆ ”

 

เอกสารอ้างอิง 
-An Introduction to Total Productive Maintenance (TPM), The Plant Maintenance Resource Center, by Venkatesh J., 15 Nov. 06                            
-การบำรุงรักษาเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน, วิทยา อยู่สุข, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด