เนื้อหาวันที่ : 2013-05-07 09:44:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 17531 views

โครงการอนุรักษ์การได้ยิน (Hearing Conservation Program: HCP) (ตอนจบ)

สองตอนแรกของบทความได้กล่าวถึงองค์ประกอบหลักที่สำคัญของโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) ครบไปแล้วทั้ง 4 หัวข้อ

โครงการอนุรักษ์การได้ยิน
(Hearing Conservation Program: HCP) (ตอนจบ)


ศิริพร วันฟั่น
    
     สองตอนแรกของบทความได้กล่าวถึงองค์ประกอบหลักที่สำคัญของโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) ครบไปแล้วทั้ง 4 หัวข้อ ทั้งนโยบายการอนุรักษ์การได้ยิน การเฝ้าระวังเสียงดัง (Noise Monitoring) การเฝ้าระวังการได้ยิน (Hearing Monitoring) และหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึง มาตรการควบคุมเสียงดัง (Noise Control Measures) ด้วย ดังนั้นในตอนจบของบทความนี้ จะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ที่มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดระดับความดังของเสียงก่อนที่จะเข้าสู่หูผู้ใช้งาน และประเด็นทิ้งท้ายก็คือ การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้รับทราบ เข้าใจและตระหนักถึงอันตรายจากเสียงดัง

 

อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE)

    เมื่อการควบคุมทางวิศวกรรมและการควบคุมทางการบริหารจัดการไม่สามารถที่จะลดการสัมผัสเสียงให้ต่ำกว่า 80 เดซิเบลเอหรือลดลงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ก็มีเหตุผลอันควรอย่างเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากการได้ยิน (Hearing Protection Devices: HPD) หรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “อุปกรณ์ป้องกันเสียง (Hearing Protectors)”

อย่างไรก็ดี การใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่ถาวร และไม่ใช่สิ่งที่จะทดแทนการควบคุมทางวิศวกรรมและการควบคุมทางการบริหารจัดการได้ เนื่องจากอุปกรณ์ชนิดนี้ไม่สามารถลดหรือขจัดอันตรายจากเสียงที่แหล่งกำเนิด (Sound Sources) และทางผ่านของเสียง (Sound Paths) จึงมักถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว มาตรการเสริม หรือมาตรการลำดับสุดท้าย ที่ป้องกันอันตรายจากเสียงที่ตัวบุคคล (Personal Hearing Protection) หรือ “ตัวรับเสียง (Sound Receivers)” เฉพาะช่วงเวลาที่สวมใส่อุปกรณ์นี้เท่านั้น

    นอกจากนี้ เวลาใช้งานก็อาจมีความยุ่งยาก ต้องใช้ความระมัดระวังและทักษะในการสวมใส่ เพราะความมีประสิทธิผลจะขึ้นอยู่กับว่าสวมใส่อย่างกระชับและใช้ตลอดช่วงระยะเวลาที่สัมผัสเสียงดังทุกครั้งหรือไม่ แต่หากเกิดความบกพร่องในการใช้งานของอุปกรณ์ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม จะทำให้ผู้สวมใส่สัมผัสกับอันตรายจากเสียงนั้นโดยทันที แต่อย่างไรก็ตาม แม้วิธีนี้จะเป็นที่พึงปรารถนาน้อยที่สุดของการป้องกันหรือลดเสียงดัง แต่ในหลาย ๆ ครั้งก็มักเป็นเพียงวิธีเดียวที่เหลืออยู่ที่จะสามารถจำกัดการสัมผัสกับเสียงดังได้ในทางปฏิบัติ รวมถึงเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และดูเหมือนจะใช้งบประมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับการควบคุมทางวิศวกรรม


อุปกรณ์ป้องกันเสียงส่วนบุคคล (Personal Hearing Protection Devices) หรือ อุปกรณ์ป้องกันเสียง (Hearing Protectors) คือ อุปกรณ์ที่สวมใส่แล้วสามารถปิดกั้นหรือขัดขวางเสียง เพื่อลดปริมาณพลังงานเสียงหรือระดับเสียงันอันตรายจากเสียงส่วนบุคคล ที่จะถูกส่งผ่านไปยังหูชั้นใน มีจุดประสงค์ของการใช้งานที่มุ่งเน้นการป้องกันไปที่ตัวผู้ปฏิบัติงานจากการสัมผัสเสียงที่ดังเกินมาตรฐาน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การเลือกใช้ให้เหมาะสม มีความกระชับ และใช้งานได้อย่างถูกต้อง เพื่อความมีประสิทธิผลสูงสุดของอุปกรณ์ และส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับการป้องกันอันตรายจากเสียงได้อย่างเพียงพอและปลอดภัย


 ชนิดของอุปกรณ์ป้องกันเสียง (Types of Hearing Protectors) ที่นิยมใช้กันสามารถแบ่งเป็น 3 ชนิดหลัก ๆ คือ

1. ปลั๊กอุดหู (Earplugs) เป็นอุปกรณ์ป้องกันเสียงชนิดสอดเข้าไปในรูหู (Insert Earplugs) เพื่อปิดกั้นเสียง สามารถแบ่งย่อยได้อีก 3 แบบ ดังนี้

- ชนิดปั้นขึ้นรูป (Formable Earplugs) ส่วนใหญ่นิยมใช้กัน โดยมากทำจากโฟมที่สามารถยืดขยายตัวได้ เวลาใช้งานต้องใช้มือบีบโฟมให้มีขนาดเล็ก ๆ แหลม ๆ แล้วสอดเข้าไปในรูหู ถ้าต้องการใส่ให้ใส่ให้กระชับมากขึ้น ให้เอื้อมมือข้างหนึ่งข้ามศีรษะมาดึงใบหูขึ้น แล้วใช้อีกมือหนึ่งสอดปลั๊กอุดหูเข้าไปในรูหู ข้อดีของปลั๊กอุดหูชนิดนี้

ก็คือ ใส่แล้วกระชับกับรูหูของแต่ละบุคคล มีประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงได้ดีกว่าปลั๊กอุดหูชนิดอื่น ๆ ข้อเสียคือ ก่อนที่จะใช้งานต้องบีบก้อนโฟมให้มีขนาดและรูปร่างตามที่ต้องการ ซึ่งอาจทำให้สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ที่มือนั้นปนเปื้อนไปที่ก้อนโฟม ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในรูหูได้ โดยมากจึงเป็นประเภทใช้แล้วทิ้ง

 - ชนิดขึ้นรูปสำเร็จ (Pre-Molded Earplugs) ปลั๊กอุดหูชนิดนี้ จะเป็นแบบมาตรฐานที่ทำจากยางซิลิโคนหรือพลาสติกและมีก้านเสียบไว้ให้มือจับ จึงทำให้สามารถเข้าไปในรูหูของผู้ใช้ถึงแค่จุดหนึ่งเท่านั้น ถ้าหากรูหูของผู้ใช้มีลักษณะแตกต่างจากผู้ใช้คนอื่น ๆ มาก ก็จะทำให้รู้สึกว่าใส่ไม่พอเหมาะหรืออาจเกิดความรำคาญได้

 - ชนิดสั่งทำโดยเฉพาะ (Custom–Made Earplugs) เป็นปลั๊กอุดหูชนิดที่ทำขึ้นเพื่อใช้ให้เหมาะกับขนาดรูหูของแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องวัดขนาดรูหูของผู้ปฏิบัติงานเสียก่อน

     ปลั๊กอุดหูประเภทใช้แล้วทิ้ง (Disposable Earplugs) ส่วนใหญ่จะทำด้วยโพลียูรีเทนโฟม และพีวีซีโฟม โดยทั้งคู่มีค่าความสามารถในการลดเสียง (NRR) อยู่ระหว่าง 28–33 เดซิเบล แต่พีวีซีโฟมจะมีข้อดีกว่าตรงที่เมื่อสอดเข้าไปในรูหูแล้ว แรงดันในหูจะน้อยกว่าทำให้รู้สึกสบาย ติดไฟยาก ช่วยป้องกันสะเก็ดลูกไฟ และดูดซับน้ำได้ยากจึงช่วยป้องกันการลื่นหลุดออกจากรูหูอันเนื่องมาจากเหงื่อและความชื้น

     ส่วนปลั๊กอุดหูประเภทนำมาใช้ใหม่ได้ (Reusable Earplugs) ส่วนใหญ่ทำด้วยยาง ซิลิโคน และเธอร์โมพลาสติก มีค่า NRR อยู่ระหว่าง 24–26 เดซิเบล ข้อดีคือ ประหยัดและใช้ซ้ำได้ ข้อเสียคือ อาจจะเจ็บหูเพราะมีความนุ่มน้อยกว่าประเภทใช้แล้วทิ้ง แต่ถ้าทำจากซิลิโคนจะมีความนุ่มเพราะใกล้เคียงกับผิวหนังมนุษย์ มีอายุการใช้งานได้นาน แต่ราคาค่อนข้างสูง

 2. ที่ครอบหู (Earmuffs) ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ปิดครอบหูส่วนนอกหรือใบหูทั้งหมดเพื่อลดเสียง โดยประสิทธิภาพในการลดเสียงจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ ขนาด รูปทรง โครงสร้างอุปกรณ์และชนิดของสายคาด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของที่ครอบหูอีก เช่น นวมที่บุภายในด้วยของเหลวจะกันเสียงได้ดีกว่านวมพลาสติก หรือโฟม แต่มักประสบปัญหาคือรั่วไหลได้ง่าย

3. ปลั๊กอุดหูชนิดกึ่งสอดพร้อมสายคล้องคอ (Semi-insert Earplugs) หรือ Ear Canal Caps หรือ Semi–Aural Caps เป็นอุปกรณ์ลูกผสมระหว่างปลั๊กอุดหูกับที่ครอบหู คือมีปลั๊กอุดหูติดอยู่ที่ปลายทั้ง 2 ข้างของสายคล้องคอ ถูกออกแบบมาใช้ปิดภายนอกของรูหูเพื่อลดเสียง โดยใช้ก้านที่คล้องคอคอยดันให้ปิดช่องหู ส่วนมากจะทำด้วยพลาสติกหรือยางที่อ่อนนิ่ม ข้อดีคือ มีน้ำหนักเบา สะดวกสบายเวลาสวมใส่ เป็นการนำข้อดีของปลั๊กอุดหูและที่ครอบหูมารวมกัน ข้อเสียคือมีประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงน้อยกว่าปลั๊กอุดหูแบบสอดและที่ครอบหู


 โดยทั่วไปแล้ว ปลั๊กอุดหู (Earplugs) หากสอดพอดีกับรูหูจะสามารถลดเสียงที่จะเข้าสู่รูหูลงได้ราว ๆ 25–30 เดซิเบล และใช้ได้ผลกับเสียงที่ดังไม่เกิน 115–120 เดซิเบล ในขณะที่ ที่ครอบหู (Ear Muffs) สามารถลดระดับเสียงได้มากกว่าปลั๊กอุดหูอยู่ประมาณ 10–15 เดซิเบล และถ้าใช้ทั้งควบคู่กัน (Double Protection) จะลดเสียงลงได้มากกว่าเดิมประมาณ 3–5 เดซิเบล

    
      ตาราง แสดงคุณสมบัติและข้อดีข้อเสียของอุปกรณ์ป้องกันเสียงแต่ละประเภท 

     ความมีประสิทธิผล (Effectiveness) ของอุปกรณ์ป้องกันเสียงจะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยที่สัมพันธ์กับรูปแบบของพลังงานเสียงที่ถูกส่งผ่านหรืออยู่โดยรอบอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มีอยู่ 4 เส้นทางที่เสียงสามารถเข้าถึงหูชั้นในได้เมื่อสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง กล่าวคือ

(1) จุดปิดกั้นรั่ว (Seal Leaks) ปริมาณอากาศจำนวนน้อยที่รั่วเข้าบริเวณจุดห่างระหว่างอุปกรณ์ป้องกันเสียงและผิวหนังผู้ใช้งาน สามารถลดความมีประสิทธิผลลงได้เป็นอย่างมาก และมักเป็นปัญหาที่พบอยู่เป็นประจำ

(2) วัสดุรั่ว (Material Leaks) เป็นทางผ่านเสียงที่เล็ดลอดเข้าตรงจุดรั่วของวัสดุที่ใช้ประกอบเป็นอุปกรณ์ป้องกันเสียง ส่งผลให้อุปกรณ์นี้ยังคงลดหรือป้องกันการผ่านเข้ามาของพลังงานเสียงส่วนมากได้ แต่จะมีเสียงส่วนที่เหลือที่เล็ดลอดผ่านจุดรั่วนี้เข้าไปได้

(3) การสั่นสะเทือนของอุปกรณ์ป้องกันเสียง (Hearing Protectors Vibration) เป็นอีกทางหนึ่งที่เสียงจะถูกส่งผ่านเข้าถึงหูชั้นในได้ ซึ่งเป็นการตอบสนองของอุปกรณ์ป้องกันเสียงในยามสัมผัสกับพลังงานเสียงจากภายนอก

(4) การนำพาเสียงผ่านทางกระดูกและเนื้อเยื่อ (Conduction through Bone and Tissue) แม้ว่าช่องรูหู (Ear Canal) จะได้รับการปิดกั้นและลดเสียงได้ 100% จากอุปกรณ์ป้องกันเสียง แต่ก็ยังมีเสียงบางส่วนที่สามารถผ่านเข้าสู่หูชั้นในได้โดยการนำพาเสียงผ่านทางกระดูก ซึ่งไม่ว่าอุปกรณ์ป้องกันเสียงจะดีเพียงไรก็ไม่สามารถลดเสียงที่ถูกนำพาผ่านทางกระดูกได้เกินกว่า 50 เดซิเบล

     หมายเหตุ: เสียงที่เราได้ยินมีอยู่ 2 ช่องทาง คือ การนำพาของอากาศ (Air–conducted Noise) เป็นช่องทางที่เสียงเดินทางผ่านมาตามอากาศ ส่วนช่องทางที่สอง เป็นการนำพาเสียงผ่านทางกระดูก (Bone–conducted Noise) เป็นการเดินทางของเสียงที่เป็นผลจากการสั่นสะเทือนของฟันและกะโหลกศีรษะแล้วเกิดการขยายเสียงขึ้นทำให้เราได้ยิน ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ เวลาเราขบเคี้ยวขนมกรุบกรอบก็จะได้ยินเสียงที่ว่านี้ดังกว่าเสียงที่ผ่านทางรูหู

และพบว่าโดยมากแล้วหูชั้นนอกของคนเราสามารถสกัดกั้นเสียงที่นำพาของอากาศได้มากสุดอยู่ราว ๆ 40 เดซิเบล นอกเหนือจากนี้ก็ยังคงได้ยินเสียงที่ผ่านมาทางระบบโครงกระดูก (Skeletal System) ของเรา


การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียง (Selection of Hearing Protectors) มีหลายปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณา ดังนี้

     1. ระดับเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานสัมผัส (The Noise Exposure Level of the Employees) อุปกรณ์ป้องกันเสียงจะสามารถป้องกันในระดับที่เชื่อถือได้ประมาณ 15 เดซิเบลเอ ให้กับผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ (ประมาณ 84% ของแรงงานทั้งหมด) ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับระดับเสียงเกินกว่า 100 เดซิเบลเอในระหว่างสวมใส่อุปกรณ์ลดเสียง ก็ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงต่อภาวะการสูญเสียการได้ยินตลอดช่วงการทำงานอยู่ดี

 เนื่องจากการจะเริ่มต้นสวมใส่อุปกรณ์ลดเสียงก็เมื่อระดับเสียงสูงกว่า 85 เดซิเบล อย่างไรก็ตาม หนทางเลือกที่ควรจะเป็นก็คือ ถ้ามีการสัมผัสระดับเสียงที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 เดซิเบลเอ ควรเลือกใช้ปลั๊กอุดหูหรือที่ครอบหู แต่ถ้าสัมผัสระดับเสียงที่มากกว่า 100 เดซิเบลเอ ก็ควรเลือกใช้ปลั๊กอุดหูควบคู่กับที่ครอบหู

     
     2. ระดับเสียงที่ต้องการลด (The Degree of Attenuation Required) ในการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียง สิ่งสำคัญที่ควรรับรู้ก็คือ ระดับเสียงที่สัมผัส (Noise Exposure Level) และค่าความสามารถในการลดเสียง (Noise Reduction Rating: NRR) ของอุปกรณ์ป้องกันเสียง ซึ่งเป็นระดับที่คาดหวังของการลดเสียงเมื่อสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง โดยค่า NRR

 จะมีการแจ้งอยู่บนป้ายฉลากของอุปกรณ์ป้องกันเสียงซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดและผู้ผลิตแต่ละราย ซึ่งค่า NRR ที่ผู้ผลิตระบุไว้นั้นถูกวัดภายใต้สภาพแวดล้อมในห้องทดลอง จึงมักสูงกว่าค่าที่วัดได้ในสภาพการใช้งานจริง ดังนั้นในการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียง ก็ควรมีการปรับลดค่า NRR เสียก่อน 
    


 ตามคำแนะนำของ NIOSH ระบุไว้ว่า ค่า NRR ที่แจ้งอยู่บนป้ายฉลากของอุปกรณ์ป้องกันเสียง ควรมีการปรับลด ดังนี้ คือ

 หลังจากที่มีการปรับลดค่า NRR แล้ว ลำดับถัดไปก็ใช้สูตรคำนวณเพื่อหาค่าระดับเสียงที่คาดว่าผู้ปฏิบัติงานจะสัมผัสจริงเมื่อใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงชนิดนั้น ๆ แล้ว ซึ่งสูตรในการคำนวณมีดังนี้ คือ
- ถ้าระดับเสียงที่สัมผัสถูกวัดในช่วงความถี่ A (ความถี่ที่มนุษย์ได้ยิน) หน่วยเป็นเดซิเบลเอ (dBA) โดยใช้เครื่องตรวจวัดระดับเสียง (Sound Level Meter) หรือใช้ Noise Dosimeter สูตรคำนวณ คือ
ระดับเสียงที่สัมผัส (Exposed Noise Level: ENL) = [ระดับเสียงในที่ทำงาน (dBA) – (ค่า NRR ที่ปรับลดแล้ว – 7)]

- ถ้าระดับเสียงที่สัมผัสถูกวัดในช่วงความถี่ C (Octave Bands) หน่วยเป็นเดซิเบลซี (dBC) สูตรคำนวณ คือ
ระดับเสียงที่สัมผัส (Exposed Noise Level: ENL) = [ระดับเสียงในที่ทำงาน (dBC) – (ค่า NRR ที่ปรับลดแล้ว – 7)]

 

ตัวอย่าง การเลือกอุปกรณ์ป้องกันเสียง

- ตรวจวัดระดับเสียงของเครื่องจักรได้ 95 เดซิเบลเอ ต้องการลดระดับเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานสัมผัสให้ไม่เกิน 85 เดซิเบลเอ โดยมีอุปกรณ์ป้องกันเสียงที่หมายตาไว้ คือ ที่ครอบหู (Ear Muff) และปลั๊กอุดหูแบบโฟม (Foam Earplug) ซึ่งมีป้ายฉลากระบุค่า NRR ไว้ดังนี้


- วิธีการคำนวณเพื่อเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงที่สามารถลดระดับเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานสัมผัสให้ไม่เกิน 85 เดซิเบลเอ

 
     กรณีเป็นที่ครอบหู (Ear Muff): ระดับเสียงในที่ทำงาน = 95 เดซิเบลเอ ค่า NRR จากป้ายฉลาก = 29
ค่า NRR ที่ปรับลดแล้ว = 29 – (29 x 25)/100 = 21.75
ระดับเสียงที่สัมผัส (Exposed Noise Level: ENL) = [ระดับเสียงในที่ทำงาน (dBA) – (ค่า NRR ที่ปรับลดแล้ว – 7)]
         = 95 – (21.75 – 7) = 80.25 เดซิเบลเอ


     กรณีเป็นปลั๊กอุดหูแบบโฟม (Foam Earplug): ระดับเสียงในที่ทำงาน = 95 เดซิเบลเอ ค่า NRR จากป้ายฉลาก = 25
ค่า NRR ที่ปรับลดแล้ว = 25 – (25 x 50)/100 = 12.50
ระดับเสียงที่สัมผัส (Exposed Noise Level: ENL) = [ระดับเสียงในที่ทำงาน (dBA) – (ค่า NRR ที่ปรับลดแล้ว – 7)]
         = 95 – (12.50 – 7) = 89.50 เดซิเบลเอ


     จากผลการคำนวณ จะเห็นได้ว่า สมควรเลือกที่ครอบหู เพราะสามารถตอบโจทย์ที่สามารถลดระดับเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานสัมผัสให้ไม่เกิน 85 เดซิเบลเอได้

     การใช้อุปกรณ์ลดเสียงร่วมกันมากกว่า 1 ชนิด ถ้ามองเผิน ๆ ก็อาจคิดไปเองได้ว่า น่าจะลดปริมาณเสียงที่สัมผัสได้เท่ากับประสิทธิภาพในการลดเสียงทั้ง 2 ชนิดบวกกัน ตัวอย่างเช่น การสวมใส่ที่ครอบหูที่มีค่า NRR อยู่ที่ 28 เดซิเบล เมื่อควบรวมกับการสวมใส่กับปลั๊กอุดหูที่มีค่า NRR อยู่ที่ 24 เดซิเบล ก็น่าจะลดระดับเสียงลงได้ที่ 52 เดซิเบล แต่ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเสียงที่มีระดับความดังสูงจะมีปริมาณเสียงบางส่วนที่สามารถหลบเลี่ยงผ่านหูชั้นนอก ชั้นกลาง และเข้าไปกระตุ้นหูชั้นใน ดังนั้น การใช้อุปกรณ์ลดเสียงแบบดับเบิล (Dual Protection) เช่นนี้ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการลดเสียงได้อีกเพียงแค่ 5 -10 เดซิเบลเท่านั้น


     3. ความสะดวกกายและความกระชับต่อผู้ใช้งาน (Comfort & Fit to the User) ความกระชับของอุปกรณ์ป้องกันเสียงของผู้ใช้งานแต่ละคนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเวลาใช้งาน ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนจะได้รับการป้องกันอย่างเพียงพอถ้าสวมใส่อุปกรณ์อย่างกระชับ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปิดกั้นเสียง (Acoustic Seal) ไปพร้อม ๆ กับความรู้สึกสะดวกกายเมื่อใช้งานด้วย 


     4. ความเหมาะสมสำหรับการใช้งาน (Suitability for Use) การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงควรจะเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการทำงานและประเภทของงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น ที่ครอบหู (Ear Muffs) ควรที่จะถูกเลือกใช้มากกว่าปลั๊กอุดหู (Earplugs) ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่สกปรก เพราะถ้าใช้ปลั๊กอุดหูอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อในรูหูได้ ในทางกลับกัน ปลั๊กอุดหูจะมีความเหมาะสมในการใช้งานมากกว่าที่ครอบหูในพื้นที่งานที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง ในขณะที่งานที่ต้องการความคล่องตัวเพราะว่าจำเป็นต้องสวมใส่ตลอดวันและถอดออกเฉพาะตอนพักทานข้าว การใช้อุปกรณ์ลดเสียงแบบทำจากโฟมน่าจะมีความเหมาะสมมากที่สุด เป็นต้น


     5. ความจำเป็นในการได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยและเข้าใจในคำพูด (Need for Hearing Warning Signals and Speech Intelligibility) อุปกรณ์ป้องกันเสียงที่ถูกเลือกใช้งานควรที่จะสามารถลดระดับเสียงให้ต่ำกว่า 85 เดซิเบลที่บริเวณหู แต่อย่างไรก็ดี ผู้ปฏิบัติงานไม่ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงที่มีการลดระดับเสียงมากเกินความจำเป็น

เพราะอาจเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานหรือการได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัย การป้องกันที่มากเกินความจำเป็น (Over Protection) เช่นนี้ยังสามารถเป็นสาเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงหรือใช้แล้วถอดออกเป็นช่วง ๆ (เช่น ช่วงที่ต้องการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน) ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันเสียงที่สามารถลดระดับเสียงให้ต่ำกว่าระดับเสียงสัมผัสตามมาตรฐานกำหนดลงมาได้ 5–10 เดซิเบลเอ ก็ถือว่าเพียงพอและไม่มากเกินความจำเป็น


     6. ภาวะการเจ็บป่วย (Medical Conditions) ก่อนที่จะมีการแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันเสียงให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน พวกเขาควรได้รับคำปรึกษาถ้ามีอาการเจ็บป่วยใด ๆ เกี่ยวกับหู เช่น การระคายเคืองในช่องหู ซึ่งในกรณีนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปลั๊กอุดหู ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนอาจจะมีลักษณะเฉพาะทางกายภาพของหูที่แตกต่างกันกันไป (เช่น ความกว้าง–แคบ หรือลึกของช่องรูหู) ทำให้การใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงชนิดเดียวกันหรือขนาดเดียวกัน อาจจะส่งผลที่แตกต่างกันได้ ดังนั้นโครงการอนุรักษ์การได้ยินที่ประสบผลสำเร็จควรพิจารณาและสนองตอบต่อความต้องการของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน

โดยผู้ปฏิบัติงานควรได้รับโอกาสในการพิจารณาเลือกอุปกรณ์ป้องกันเสียงที่เหมาะสมกับตัวเองและมีความปลอดภัย เมื่อสวมใส่แล้วมีความกระชับและรู้สึกสะดวกกาย ถ้าผู้ปฏิบัติงานได้มีส่วนร่วมในการเลือกชนิดและขนาดของอุปกรณ์ป้องกันเสียง ก็จะเป็นการเพิ่มระดับของการยอบรับและเป็นแรงกระตุ้นให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงนั้นไปด้วยในตัว


 ถ้าเป็นไปได้ ก่อนสั่งซื้อควรมีโครงการนำร่องโดยการทดสอบ (Pre –test) เพื่อประเมินประสิทธิผลและการยอมรับของผู้ปฏิบัติงาน โดยขอตัวอย่างสินค้าจากผู้ผลิตแล้วให้ผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งได้ทำการทดสอบในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบความกระชับของอุปกรณ์ป้องกันเสียง (Fit Testing) ความรู้สึกถึงความสะดวกกาย ความเหมาะสมกับงาน ประสิทธิภาพในการป้องกันหรือการลดเสียง เป็นต้น แล้วนำผลการทดสอบมาวิเคราะห์ตามหลักสถิติ ก็จะได้ชนิดของอุปกรณ์ป้องกันเสียงที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะไม่ใช่แค่หนึ่งชนิด และมีความจำเป็นต้องซื้อหลายขนาดเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน

 การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงได้อย่างถูกต้องเหมาะสม (Proper Warning of Hearing Protectors) การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมจะเป็นการลดประสิทธิภาพของอุปกรณ์ และนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการสูญเสียการได้ยิน ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานควรได้รับการฝึกอบรม และเรียนรู้เทคนิคในการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงอย่างถูกวิธี รับรู้เหตุผลความจำเป็นที่ต้องสวมใส่อุปกรณ์ และข้อดี ข้อเสียหรือข้อจำกัดของอุปกรณ์ รวมถึงควรได้รับการกระตุ้น และส่งเสริมให้หมั่นตรวจสอบความกระชับของอุปกรณ์อยู่เป็นระยะตลอดช่วงเวลาที่สวมใส่ด้วย

 วิธีสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงแต่ละประเภท


1. ปลั๊กอุดหู (Earplugs)
-  ชนิดปั้นขึ้นรูป (Formable Earplugs)

(1) ใช้มือที่สะอาดจับปลั๊กอุดหูบีบคลึงไปมา ให้มีลักษณะเป็นแท่งเล็ก ๆ เรียว

 


(2) ใช้มือข้างที่ว่างอยู่เอื้อมข้ามศีรษะมาจับใบหูอีกข้างแล้วดึงขึ้นเพื่อช่วยเปิดทางเข้ารูหู แล้วสอดปลั๊กอุดหูเข้าไปตรง ๆ ทันทีจนเกือบหมดความยาวของปลั๊กอุดหู

 


(3) จับปลั๊กอุดหูประมาณ 30–40 วินาทีรอจนกระทั่งขยายตัวจนเต็มรูหู

 


ถ้าใส่เข้าไปอย่างกระชับรูหู คนอื่นที่มองจากทางเบื้องหน้าจะไม่สังเกตเห็นส่วนท้ายของปลั๊กอุดหู

ทดสอบความกระชับหลังสอดปลั๊กอุดหูแล้ว โดยใช้ฝ่ามือป้องครอบใบหูแล้วเอามือออก เสียงที่ได้ยินต้องไม่แตกต่างกันระหว่างป้องมือกับไม่ป้องมือ


เวลาถอดปลั๊กอุดหูเออก ต้องค่อย ๆ ดึงออก เพราะแรงดูดภายในช่องรูหู อาจทำให้เจ็บหูได้

  

-  ชนิดขึ้นรูปสำเร็จ (Pre-Molded Earplugs)

(1)  จับก้านปลั๊กอุดหู (Stem) เอื้อมมือข้างที่ว่างอยู่อ้อมข้ามศีรษะมาจับใบหูอีกข้างแล้วดึงขึ้น เพื่อช่วยเปิดทางเข้ารูหู แล้วสอดปลั๊กอุดหูเข้าไปตรง ๆ

 


(2)  สอดส่วนที่เป็นครีบ (Flanges) ทั้งหมดเข้าไปในรูหู

 

(3)  ถ้าใส่ได้อย่างกระชับ คนอื่นที่มองจากทางเบื้องหน้าจะสังเกตเห็นเพียงก้านของปลั๊กอุดหู

 


    2. ที่ครอบหู (Ear Muffs)

(1) วางตำแหน่ง Ear Cups ทั้งสองข้างให้ครอบส่วนใบหูทั้งหมด

(2) ใช้มือข้างหนึ่งจับสายคาดศีรษะขึ้นหรือลง เพื่อปรับตำแหน่ง Ear Cups ทั้งสองข้างให้กระชับใบหู


การสวมใส่ที่ถูกต้อง :

-ตำแหน่ง Ear Cups ต้องครอบส่วนใบหูทั้งหมดและมีความกระชับ
การสวมใส่ที่ไม่ถูกต้อง :

 

- ตำแหน่ง Ear Cups ที่ไม่ครอบส่วนใบหูทั้งหมด
การสวมใส่ที่ไม่ถูกต้อง :

 

-มีเส้นผมมาอยู่ท่ามกลาง Ear Cups และใบหู

 


3. ปลั๊กอุดหูชนิดกึ่งสอดพร้อมสายคล้องคอ (Ear Canal Caps)
    

(1) วางตำแหน่งสายคล้องไว้ใต้คาง ใช้มือดันส่วนปลายที่เป็นปลั๊กอุดหูเข้าไปปิดช่องหู

 

(2) ถ้าต้องการความกระชับมากขึ้น ก็ให้ใช้มือข้างหนึ่งเอื้อมข้ามศีรษะแล้วจับใบหูยกขึ้น มืออีกข้างดันส่วนปลายที่เป็นปลั๊กอุดหูเข้าไปปิดช่องหู

(3) ในพื้นที่งานที่มีเสียงดัง ทดสอบความกระชับโดยการใช้นิ้วมือกดเบา ๆ ที่สายคล้องใกล้ปลั๊กอุดหู แล้วปล่อยมือออก ระดับเสียงที่ได้ยินไม่ควรแตกต่างกันมากระหว่างกดกับไม่กด

 

     การบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันเสียง (Maintenance of Hearing Protectors) ผู้ปฏิบัติงานควรได้รับการฝึกอบรมให้ทราบถึงวิธีการดูแลรักษาอุปกรณ์ป้องกันเสียง เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพเวลาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขอนามัยซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยอุปกรณ์ป้องกันเสียงควรได้รับการทำความสะอาดเพื่อขจัดสิ่งสกปรกหรือการปนเปื้อนภายหลังจากใช้งาน และถูกจัดเก็บไว้ในสถานที่ที่สะอาดเมื่อยังไม่ถูกใช้งาน เช่น ปลั๊กอุดหูชนิดนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Re–usable Earplugs) ต้องได้รับการชำระล้างอย่างบ่อยครั้งด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำอุ่น

 

นอกจากนี้ อุปกรณ์ป้องกันเสียงควรได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอและเปลี่ยนแทนของเดิมเมื่อจำเป็น เช่น ปลั๊กอุดหูที่เปื่อยหรือฉีกขาดหรือมีความแข็งกระด้าง หรือนวมของที่ครอบหูมีการปริแตกและเสียรูปทรง สามารถที่จะส่งผลต่อความกระชับของอุปกรณ์ได้ ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรมีระบบในการตรวจสอบความสมบูรณ์พร้อมใช้งานของอุปกรณ์ป้องกันเสียงอย่างเป็นปกติพื้นฐาน และมีความพร้อมสำหรับการซ่อมแซมชิ้นส่วนที่เสียหายของอุปกรณ์ หรือมีของใหม่สำหรับเปลี่ยนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อถึงคราวจำเป็น


     ความสม่ำเสมอของการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันเสียง (Consistent use of Hearing Protectors) พื้นที่งานบริเวณใดที่มีแนวโน้มว่าผู้ปฏิบัติงานจะสัมผัสกับเสียงที่ดังเกินมาตรฐาน ควรได้รับการชี้บ่งและระบุให้ชัดเจน โดยการติดป้ายเตือน (Warning Signs) ที่ด้านหน้าบริเวณทางเข้าว่าเป็นพื้นที่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง (Hearing Protectors Areas) เพื่อเป็นการเตือนว่าต้องสวมใส่อุปกรณ์นี้ทุกครั้งเมื่อเข้าสู่พื้นที่ และควรมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคนรวมถึงบุคคลภายนอกได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดยไม่คำนึงว่าจะใช้เวลาเท่าไรในพื้นที่งานส่วนนี้


ป้ายเตือนให้ระวังอันตรายและจำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงในพื้นที่นี้

    
      นอกจากนี้ยังต้องย้ำเตือนผู้ปฏิบัติงานให้รับรู้ว่า การถอดอุปกรณ์ป้องกันเสียงในระหว่างการทำงานที่สัมผัสเสียงดังแม้เพียงเสี้ยวนาที จะเป็นการลดประสิทธิภาพของอุปกรณ์และไม่เพียงพอต่อการป้องกัน โดยถ้ามีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงเพียงครึ่งหนึ่ง (50%) ของตลอดช่วงเวลาที่สัมผัสเสียงทั้งหมด จะส่งผลให้ได้รับการป้องกันเสียงเพียงแค่ 3 เดซิเบลเท่านั้น ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานควรถอดอุปกรณ์ป้องกันเสียงเฉพาะเมื่อออกจากพื้นที่เสียงดังเท่านั้น

     หัวหน้างานควรได้รับความรู้ที่เพียงพอสำหรับการกำกับดูแลการใช้และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ลดเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงทุกครั้งในพื้นที่งานที่กำหนด และให้คำปรึกษาชี้แนะหรือตักเตือนผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิเสธการสวมใส่อุปกรณ์ลดเสียง และมีการบังคับใช้มาตรการลงโทษถ้ายังฝ่าฝืนซ้ำ ๆ อีก

 การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้รับทราบ เข้าใจและตระหนักถึงอันตรายจากเสียงดัง

 ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2553” ได้ระบุเกี่ยวกับการฝึกอบรมไว้ดังนี้คือ ให้นายจ้างอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์การได้ยิน ความสำคัญของการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน อันตรายของเสียงดัง การควบคุมป้องกันและการใช้อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) แก่ลูกจ้างที่ทำงานในบริเวณที่มีระดับเสียงดังที่ได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอขึ้นไป และลูกจ้างที่เกี่ยวข้องในสถานประกอบกิจการ

การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานมีความสำคัญมาก เพราะถ้าผู้ปฏิบัติงานได้มีความเข้าใจถึงที่มาของเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) ว่า เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยป้องกันอันตรายจากเสียงดังให้กับตัวผู้ปฏิบัติงานเอง ก็จะเกิดแรงกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของโครงการและตระหนักถึงอันตรายจากเสียงดังที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองได้ ซ้ำยังจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานเข้ามามีส่วนร่วมกับตัวโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความร่วมมือในการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) และการเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน

ในการฝึกอบรม ต้องอธิบายให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) รวมถึงข้อดี ข้อด้อย และข้อจำกัดของอุปกรณ์ป้องกันเสียงประเภทต่าง ๆ ตลอดจนการเลือกใช้ วิธีการสวมใส่ที่ถูกต้อง และการบำรุงรักษา นอกจากนี้ ยังรวมถึงวัตถุประสงค์และขั้นตอนในการเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometric Testing) อีกด้วย

 การให้ความรู้และการสร้างแรงจูงใจเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้เข้าใจว่าการที่โครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) จะประสบผลสำเร็จได้นั้น จะต้องมีพันธะสัญญา การสื่อสาร และความร่วมมือ โดยผู้บริหารควรจัดลำดับความสำคัญของการฝึกอบรมให้อยู่ในลำดับต้น ๆ และวิทยากรควรนำเสนอเนื้อหาการฝึกอบรมที่กระชับ ง่ายต่อการเข้าใจ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน

โดยวิทยากรจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดการสื่อสาร 2 ทางระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมฝึกอบรม เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เข้าร่วมฝึกอบรมมีความเข้าใจอย่างแท้จริง และผู้เข้าร่วมฝึกอบรมควรได้รับการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยเปิดโอกาสให้มีการตั้งคำถามในข้อสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิธีดำเนินการใด ๆ ที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ วิทยากรต้องเตรียมตัวสำหรับการตอบคำถามเหล่านี้พร้อมกับการนำเสนอทางเลือกอื่น ๆ หรือวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าแต่สามารถนำไปปฏิบัติได้มากกว่า

ควรทำให้มั่นใจว่า การฝึกอบรมและการสร้างความตระหนักจะมีความเหมาะสมกับอันตรายจากเสียงดังที่สถานประกอบกิจการประสบอยู่ ผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานกะกลางคืนก็ควรได้รับการฝึกอบรมในเนื้อหาเดียวกันกับกะกลางวัน มีการจดบันทึกการฝึกอบรมไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานทุกครั้ง มีการปรับปรุงเนื้อหาการฝึกอบรมให้ทันสมัยอยู่เสมอ

 การฝึกอบรมและให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยหลัก ๆ แล้วข้อมูลที่ให้จะเกี่ยวกับผลกระทบที่เลวร้ายของการสัมผัสเสียงดัง และวิธีป้องกันการสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดัง โดยอย่างน้อย ๆ เนื้อหาควรประกอบไปด้วย

- การสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดัง (Noise–induced Hearing Loss)

- การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเสียงที่เป็นอันตราย

- ลักษณะอาการของการสัมผัสเสียงดังที่มากเกินมาตรฐาน

- อุปกรณ์ป้องกันเสียง (Hearing Protectors) ข้อดี ข้อด้อย และข้อจำกัด

- การเลือกใช้ การสวมใส่ให้กระชับ และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ลดเสียง

- การอธิบายถึงขั้นตอนการตรวจวัดเสียง (Noise Measurement Procedures)

- ข้อกำหนดหรือองค์ประกอบของโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP)


     หัวหน้างานและผู้ปฏิบัติงานที่มีการสัมผัสเสียงดังต้องมีความตระหนัก รับรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่เลวร้ายของการสัมผัสเสียงดัง และวิธีป้องกันการสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดัง โดยผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเสียงดังต้องมีการดำเนินการในเชิงรุก เพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร โดยหัวหน้างานและผู้ปฏิบัติงานที่มีการสัมผัสเสียงดังสมควรที่จะได้รับความรู้ในประเด็นเหล่านี้


     - การสัมผัสเสียงดังอาจนำมาสู่ความเสียหายอย่างถาวรของระบบการได้ยิน (Auditory System) และไม่มีเทคนิคทางการแพทย์หรือการผ่าตัดใดที่จะรักษาการสูญเสียการได้ยินชนิดนี้ได้ แม้ว่าการใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aid) อาจจะพอช่วยได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถทดแทนระบบการได้ยินตามปกติได้ ซึ่งหลาย ๆ คนไม่ได้ตระหนักว่าเสียงดังสามารถก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน

 ยิ่งไปกว่านี้ ในช่วงเริ่มแรกของการสูญเสียการได้ยินผู้มีอาการมักจะไม่ได้รับสัญญาณเตือนเนื่องจาก เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่เจ็บปวด และการสูญเสียจะเกี่ยวข้องกับความบกพร่องต่อการได้ยินเสียงที่มีความถี่สูง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากถ้ายังเพิกเฉยต่อลักษณะอาการของการสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว เช่น เสียงกังวานหรือเสียงหึ่งในหู เป็นต้น 

 - แต่ละคนควรได้รู้ว่าจะรับรู้ถึงเสียงดังที่เป็นอันตรายได้อย่างไรแม้ว่าการสำรวจและตรวจวัดเสียงไม่ถูกดำเนินการหรือไม่มีป้ายเตือนติดอยู่ การรับรู้และเข้าใจถึงผลกระทบที่เลวร้ายของการสัมผัสเสียงดังนอกเวลางานก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีวิธีสังเกต หรือสิ่งบอกเหตุว่าสถานประกอบกิจการอาจจะมีสภาวะการทำงานภายใต้เสียงดังเกินไป เช่น มีเสียงกังวานหรือเสียงดังหึ่ง ๆ ในรูหูเมื่อผละจากงาน หรือต้องตะโกนเพื่อที่จะสื่อสารให้ผู้ร่วมงานได้ยินในระยะห่างแค่ช่วงแขน (ประมาณ 3 ฟุตหรือ 90 เซนติเมตร) หรือมีอาการการสูญเสียการได้ยินชั่วคราวเมื่อออกจากสถานที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น

- การป้องกันการสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดังจะสำเร็จได้ ก็ด้วยการลดทั้งช่วงเวลาและระดับเสียงของการสัมผัส โดยที่การลดช่วงระยะเวลาสัมผัสจะสำเร็จได้ก็โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใด ๆ ที่ไม่จำเป็นกับเสียงที่ดัง ส่วนการลดระดับเสียงก็มักจะสำเร็จได้โดยอาศัยการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง ซึ่งแต่ละคนต้องสามารถที่จะสวมใส่และบำรุงรักษาอย่างถูกวิธีสำหรับอุปกรณ์ลดเสียงแต่ละชนิดที่เลือกใช้


     นอกจากนี้ กฎหมายยังได้ระบุในตอนท้ายด้วยว่า ให้นายจ้างประเมินผลและทบทวนการจัดการโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) ในสถานประกอบกิจการไม่น้อยกว่าปีละครั้ง ซึ่งการประเมินผลโดยละเอียดในแต่ละองค์ประกอบของโครงการอนุรักษ์ฯ เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อพิจารณาทบทวนเนื้อหาของผลการดำเนินงานว่า มีส่วนใดที่ประสบผลสำเร็จ  ส่วนใดบกพร่อง และส่วนใดควรได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังต้องบันทึกข้อมูลและจัดทำเอกสารการดำเนินการตามองค์ประกอบหลัก (ข้อ 1–4) ของโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) รวมถึงผลการประเมินและทบทวนการจัดการโครงการอนุรักษ์การได้ยินอีกด้วย และเก็บไว้ในสถานประกอบกิจการไม่น้อยกว่า 5 ปี พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้


     โครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะช่วยป้องกันเสียงดังและคงสมรรถภาพในการได้ยินไว้  เนื่องจากไม่มีวิธีใดในการฟื้นฟูการได้ยินให้กลับมาดีดังเดิมได้ภายหลังสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรแล้ว ดังนั้นการป้องกันการสัมผัสกับเสียงดังก็มีเพียงวิธีเดียว นั่นก็คือ หลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการสัมผัสนั้นเสีย การสูญเสียการได้ยินจะคืบคลานอย่างช้า ๆ เราจะไม่ทันรู้ตัวและไม่ตระหนักถึงความเสียหายจนกระทั่งสายไปเสียแล้ว

นอกจากนี้ การสัมผัสกับเสียงเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะมีส่วนทำให้เกิดโรคเครียด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจและหลอดเลือด

 เสียงดังยังสามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตด้วย มีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) ที่มีประสิทธิผล จะรู้สึกว่าตนเองเหนื่อยน้อยลงและลดระดับความโกรธง่ายลง รวมถึงนอนหลับได้สนิทมากขึ้น และไม่ประสบกับการสูญเสียการได้ยินชั่วคราว หรือเสียงกังวานในรูหูภายหลังเสร็จสิ้นงานประจำวัน ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการที่มีโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) ที่มีประสิทธิผลจะสามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย และการขาดงานได้อีกด้วย

    โครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) ที่ประสบผลสำเร็จนั้น จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อสถานประกอบกิจการและผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบจากเสียงดัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ลำพังเพียงแค่ได้ชื่อว่ามีโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะป้องกันการสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดังที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Occupational Noise–Induced Hearing Loss) ได้

ถ้าผู้บริหารไม่ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาและตามติดนโยบายเกี่ยวกับโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้น และไม่มีในสิ่งเหล่านี้ คือ การบูรณาการโครงการนี้ให้เข้ากับนโยบายอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ การระบุหน้าที่รับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ และแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการในแต่ละองค์ประกอบของโครงการ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการที่กฎหมายได้ระบุไว้


 เราต่างคนต่างก็ใช้ชีวิต และบันเทิงเริงรมย์ในโลกแห่งเสียงดังอึกทึกวุ่นวายทันทีทันใดที่ตอกบัตรเลิกงาน  ไม่ว่าจะเป็นการผจญกับเสียงรถราจากการจราจรที่แออัดในท้องถนน เครื่องเสียงที่โชว์พลังก้องรถ หรือเสียงดนตรีเร้าใจในสถานเริงรมย์ ดังนั้น สถานประกอบกิจการมีส่วนอย่างมากในการริเริ่มสร้างวัฒนธรรมของการอนุรักษ์การได้ยินในช่วงต่อระหว่างสถานที่ปฏิบัติงานและที่บ้าน โดยการส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานมีความตระหนักถึงอันตรายจากการสัมผัสเสียงดังทั้งที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำและในชีวิตประจำวัน

ตลอดจนรับรู้วิธีการป้องกันการสูญเสียการได้ยินเหล่านั้น ก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถประยุกต์ใช้ทักษะในการป้องกันเสียงดังที่เรียนรู้จากงานที่ทำ นำไปใช้ภายหลังเลิกงานและบอกกล่าวแก่คนรอบข้างได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว นั่นก็จะทำให้พวกเราทุกคนสามารถคงความสามารถในการได้ยินไว้ใช้ชีวิตบนโลกแห่งเสียงดังและความอึกทึกวุ่นวายใบนี้ได้อีกนานเท่านาน

 

เอกสารอ้างอิง
- Hearing Conservation Program โดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ รพ.สมิติเวช ศรีราชา
- แนวปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ.2549
- Industrial Noise Control By Patrick J. Brooks, P.E.Hearing Conservation OSHA 3074

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด