เนื้อหาวันที่ : 2013-05-03 17:11:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5858 views

มุมองการปรับปรุงประสิทธิภาพและแนวทางลดความสูญเสีย (Wastes)

การปรับปรุงประสิทธิภาพและสมรรถนะเป็นสิ่งที่ดีควรสนับสนุนส่งเสริมเพื่อประโยชน์ขององค์กรเป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับ และการเพิ่มประสิทธิภาพจะเป็นการลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตลงโดยที่ผลผลิตไม่เปลี่ยนแปลงทั้งคุณภาพและปริมาณและในยุดปัจจุบันนั้นต้องคำนึงถึงการผลิตที่คุ้มค่ามีประสิทธิภาพเราจึงควรหันมาค้นหาการสูญเสียที่เกิดขึ้นและหาแนวทางลดการสูญเสียลง

มุมมองการปรับปรุงประสิทธิภาพและแนวทางลดความสูญเสีย (Wastes)


ธนกร ณ พัทลุง  

 

              การปรับปรุงประสิทธิภาพและสมรรถนะเป็นสิ่งที่ดีควรสนับสนุนส่งเสริมเพื่อประโยชน์ขององค์กรเป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับ และการเพิ่มประสิทธิภาพจะเป็นการลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตลงโดยที่ผลผลิตไม่เปลี่ยนแปลงทั้งคุณภาพและปริมาณและในยุดปัจจุบันนั้นต้องคำนึงถึงการผลิตที่คุ้มค่ามีประสิทธิภาพเราจึงควรหันมาค้นหาการสูญเสียที่เกิดขึ้นและหาแนวทางลดการสูญเสียลง

หลักการเพิ่มประสิทธิภาพในองค์กร
     1. ข้อแตกต่างระหว่างประสิทธิผล (Effectiveness) กับประสิทธิภาพ (Efficiency)
 - ประสิทธิผล (Effectiveness) หมายถึง ความสำเร็จในการที่สามารถดำเนินกิจการก้าวหน้าไปและสามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ที่องค์กรตั้งไว้ 

- ประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึง การเปรียบเทียบทรัพยากรที่ใช้ไปกับผลที่ได้รับจากการทำงานว่าดีขึ้นหรือไม่อย่างไร ที่กำลังทำงานตามเป้าหมายขององค์กร

- การที่องค์กรจะไปสู่คุณภาพจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรโดยทั่วไปนิยมใช้ 3 วิธี ดังนี้
- การลดต้นทุน
- การเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
- การปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง


     2. ปัจจัยคำนึงในการปรับปรุง/เพิ่มประสิทธิภาพ
- การปรับปรุงประสิทธิภาพต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระในการผลิตหรือบำรุงรักษาโดยไม่จำเป็น โดยเครื่องมือสำคัญ คือ การประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิศวกรรมการผลิตและบำรุงรักษาเข้ากับการบริหารจัดการ ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นลง สร้างความสะดวกต่อการทำงาน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพที่ลดการใช้ทรัพยากรนี้มีโอกาสประสบผลสำเร็จค่อนข้างสูง


- การเพิ่มประสิทธิภาพโดยการปรับปรุงกระบวนการผลิตควรที่จะเป็นการปรับปรุงอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ในท้องตลาดโดยทั่วไปโดยไม่ต้องออกแบบมาพิเศษ และกระบวนการต้องไม่ซับซ้อนจนทำความเข้าใจได้ยาก หรือต้องมีกระบวนการตรวจสอบยุ่งยากเมื่อมีการใช้อุปกรณ์ที่มีการใช้งานแพร่หลายและลดกระบวนการทำงานลง จะทำให้การทำงานมีความสะดวก ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ชำนาญพิเศษและในการผลิตและบำรุงรักษาการซ่อมแซมที่สามารถดำเนินการได้เอง


- การปรับปรุงประสิทธิภาพ จำเป็นต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในพื้นฐานการทำงานเพื่อจะได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม จะเห็นได้ว่านอกจากความรู้ที่ต้องใช้แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการคือ ความเข้าใจในกระบวนการผลิตและบำรุงรักษาอย่างดีจะเป็นในเรื่องของความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่การทำให้สภาพแวดล้อมเกิดการเรียนรู้จำเป็นต้องมีการพัฒนาจนเกิดเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ สิ่งที่หลายคนมีความคิดการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจต้องค้นคว้าหรืออ่านหนังสือ แต่ถ้ามีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาโดยการอ่านสามารถเข้าถึงเอกสารได้สะดวก ผู้ที่ต้องการศึกษาโดยการสัมผัสสามารถศึกษาดูงานได้ เป็นต้น และสิ่งสำคัญ คือ ต้องตอบสนองต่อพฤติกรรมของแต่ละคนให้เกิดความสนุกต่อการศึกษาหาความรู้และความเข้าใจ


- การปรับปรุงประสิทธิภาพถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ดีควรดำเนินการแต่การรับรู้ในมุมมองของผู้ปฏิบัติ จะมีความรู้สึกว่าเป็นความกดดันหรือบังคับให้ดำเนินการ ทำให้การร่วมมือเป็นไปได้ยาก การสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องจะช่วยลดการปฎิเสธและจะทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้สะดวก มีความผ่อนคลายคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ทัศนคติการับรู้ต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพ
 การรับรู้ในเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพและสมรรถนะ พบว่าบุคลากรรับรู้ในเรื่องดังกล่าวต่างออกไป ตัวอย่างเช่น เมื่อเพิ่มประสิทธิภาพแล้วมีการกำหนดค่าเป้าหมายใหม่, งานเดิมก็มากอยู่แล้ว จะเพิ่มงานอีกทำไม, ยุ่งยากมากต้องใช้คนพิเศษทำ, ทำอะไร อย่างไรไม่รู้ ไม่เข้าใจ, หน่วยงานสำนักงานใหญ่ เป็นพวกว่างงาน ฟุ้งซ่านและไม่เห็นผู้บริหารให้ความสนใจ เป็นต้น ทำให้การพัฒนาปรับปรุงในการเพิ่มประสิทธิภาพเป็นไปได้ยาก

การร่วมมือร่วมใจก็น้อยทั้งนี้เนื่องมาจากการรับรู้ (Perception) ว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพดีต่อองค์กร แต่สร้างความลำบากให้กับผู้ปฏิบัติ ดังนั้นการแก้ไขปรับปรุงเรื่องการรับรู้ว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพ มีประโยชน์ต่อองค์กรและตัวผู้ปฏิบัติเองซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลาการสื่อสาร การสร้างความเชื่อมั่นและสิ่งสำคัญคือแสดงให้เห็นเป็นจริง

เทคนิคและแนวทางการลดความสูญเสีย (Wastes)
     การลดความสูญเสีย (Waste) เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่เราพึงกระทำได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการลดความสูญเสีย (Wastes) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 แสดงไดอะแกรมการใช้ทรัพยากรและความสูญเสีย (Wastes)

 

 หลักการโดยรวม คือ ต้องปรับมุมมองใหม่แล้วเข้าใจหลักการลดความสูญเสีย ( Wastes) จากนั้นไปดำเนินการทดลองทำในงาน
1. การปรับมุมมองใหม่
 โดยมีหลักดังนี้
- ที่ใดมีปัญหาที่นั้นเกิดปัญญา
- ทุกความสูญเสียสามารถแก้ไขได้ ถ้าเราแก้ไข
- ทุกความสูญเสียต้องมีต้นเหตุ
- การแก้ไขต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ
- ถ้ามีโอกาสแก้ไขได้เกิน 60% ควรรีบลงมือทันที
- บางเหตุแก้ไขไม่ได้แต่ป้องกันได้
-การลดความสูญเสียต้องลดทุกตัว
-การลดความสูญเสียมาพร้อมโอกาสเสมอ
- ต้องรับฟังความคิดการเปลี่ยนแปลง,การปรับปรุงและสิ่งใหม่อยู่เสมอ


2. หลักการลดความสูญเสีย (Wastes)
- กำหนดความสูญเสียได้ถูกต้องชัดเจน
- รู้ตัวเลขปัจจุบันอยู่ที่เท่าไร
- หาต้นตอได้
- รู้วิธีแก้ไขหรือนำมาประยุกต์ได้
- ลงมือปฏิบัติ วัดผลและสรุป (ต้องคำนึงถึงความคุ้มทุนด้วย)


3. วิธีการแก้ไขและป้องกันความสูญเสีย (Waste)
- ความสูญเสียที่ไม่ยาก,ไม่ซับซ้อนและรู้ประเด็นอยู่แล้วดำเนินการแก้ไขทันที
- ความสูญเสียที่ยากมีความซับซ้อนจะต้องใช้การวิเคราะห์และนำเทคนิคต่าง ๆ มาช่วยในการแก้ไขหรือหาทางป้องกัน


สรุป 
     การปรับปรุงประสิทธิภาพควรคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญ คือ การสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความรับรู้ที่ตรงกันในทุกระดับถึงผลประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพต่อองค์กรและผู้ปฏิบัติ (Top-down, Bottom-Up, Middle Aligned), โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพเป็นการลดการใช้ทรัพยากรหรือลดการความสูญเสีย (Wastes) ในการผลิตเป็นสำคัญ (Optimum Resources), การปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพควรใช้อุปกรณ์ที่สามารถหาได้ง่ายจากท้องตลาดไม่สร้างความยุ่งยากซับซ้อนและสุดท้ายต้องสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศสำหรับการเรียนรู้จนพัฒนาเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้

 

เอกสารอ้างอิง
1. http://comschool.site40.net/s1.html
2. www.trainingbynumpon.com
3. www.cannac.co.jp/sf/images/qcd.gif
4. นำพล ตั้งทรัพย์., การลดเวลาปรับเปลี่ยนเครื่องจักร (Set Up Time), พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: อินโนกราฟฟิกส์, 2544.
5. SAMI (Strategy Asset Management Inc.)



    

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด