ในตอนแรกของบทความได้กล่าวถึงองค์ประกอบหลักที่สำคัญของโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) ไปแล้ว 3 หัวข้อ ได้แก่ นโยบายการอนุรักษ์การได้ยิน การเฝ้าระวังเสียงดัง (Noise Monitoring) และการเฝ้าระวังการได้ยิน (Hearing Monitoring)
โครงการอนุรักษ์การได้ยิน (Hearing Conservation Program: HCP) (ตอนที่ 2)
ศิริพร วันฟั่น
ในตอนแรกของบทความได้กล่าวถึงองค์ประกอบหลักที่สำคัญของโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) ไปแล้ว 3 หัวข้อ ได้แก่ นโยบายการอนุรักษ์การได้ยิน การเฝ้าระวังเสียงดัง (Noise Monitoring) และการเฝ้าระวังการได้ยิน (Hearing Monitoring) ดังนั้นจึงเหลือองค์ประกอบสุดท้าย นั่นก็คือ หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะขอกล่าวถึง มาตรการควบคุมเสียงดัง (Noise Control Measures) ด้วย
นายจ้าง เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น นายจ้างจะต้องยึดมั่นตามพันธะกิจที่ระบุไว้ในถ้อยแถลงของนโยบายเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์การได้ยิน (HCP) โดยต้องสนับสนุนทั้งกำลังคนและกำลังเงินเพื่อไม่ให้เกิดการหยุดชะงักของโครงการ
ผู้จัดการและหัวหน้างาน มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการกำกับดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามกฎระเบียบของการป้องกันอันตรายจากเสียงดัง (เช่น สวมใส่อุปกรณ์ลดเสียงตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่งานที่กำหนดไว้) และพิจารณาความเหมาะสมในการหมุนเวียนสลับหน้าที่ระหว่างพนักงานด้วยกัน หรือเปลี่ยนงานให้พนักงาน เพื่อให้ระดับเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมงน้อยกว่า 85 เดซิเบลเอ
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่รับผิดชอบ ประสานงานทุกฝ่าย จัดเตรียมรายละเอียดของแนวปฏิบัติในแต่ละองค์ประกอบของโครงการอนุรักษ์ฯ ติดประกาศผลการตรวจวัดระดับเสียงและแผนผังแสดงระดับเสียงในแต่ละพื้นที่เพื่อให้พนักงานทุกคนได้รับทราบ รับรองรายงานผลการตรวจวัดระดับเสียง จัดเตรียมความพร้อมและเนื้อหาในการฝึกอบรมและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ฯ แก่พนักงาน จัดเตรียมอุปกรณ์ลดเสียง จัดเตรียมการประเมินผลและทบทวนโครงการ ตลอดจนบันทึกข้อมูลและจัดทำเอกสารให้ครบทุกองค์ประกอบของโครงการอนุรักษ์ฯ
วิศวกรโรงงาน วิศวกรความปลอดภัย มีหน้าที่รับผิดชอบในการสำรวจ ชี้บ่งแหล่งกำเนิดเสียง และตรวจวัดระดับเสียงในพื้นที่งานที่มีเสียงดังทั้งหมดของสถานประกอบกิจการ ทำการออกแบบวิธีการควบคุมทางวิศวกรรมเพื่อลดระดับเสียง
นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม พยาบาลอาชีวอนามัย มีหน้าที่รับผิดชอบ จัดการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometric Testing) แก่ผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสเสียงดัง และแจ้งผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินให้พนักงานรับทราบด้วยเช่นกัน
ผู้ปฏิบัติงานทุกคน มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการป้องกันอันตรายจากเสียงดัง และเข้าร่วมทดสอบสมรรถภาพการได้ยินตามระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของโครงการอนุรักษ์ฯ ด้วย
หาก ในช่วงของการเฝ้าระวังเสียงดัง (Noise Monitoring) โดยวิธีการสำรวจและตรวจวัดระดับเสียง ศึกษาระยะเวลาสัมผัสเสียงดัง และประเมินการสัมผัสเสียงดังของผู้ปฏิบัติงาน แล้วผลปรากฏว่า มีสภาวะการทำงานที่มีระดับเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานแปดชั่วโมงตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอ (dBA) ขึ้นไป หรือผลจากการเฝ้าระวังการได้ยิน (Hearing Monitoring) โดยวิธีการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometric Testing) แล้วพบความผิดปกติในการได้ยินของผู้ปฏิบัติงาน ตามกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับการรักษาพยาบาลหรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และมีมาตรการป้องกันอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติงาน
อย่างไรก็ดี มาตรการป้องกันอันตรายจากเสียงดังที่จะจัดสรรให้แก่ผู้ปฏิบัติงานนั้น ก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน และมีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาเลือกใช้ เช่น ความเป็นไปได้ด้านงบประมาณและทางเทคนิค ความปลอดภัย ตลอดจนความยากง่ายในการบำรุงรักษา เป็นต้น ซึ่งสถานประกอบกิจการแต่ละแห่ง อาจจะมีลักษณะเฉพาะของสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสเสียงที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรพิจารณาเลือกมาตรการป้องกันอันตรายที่เล็งเห็นผลได้ในทางปฏิบัติ และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมการทำงานมากที่สุด ซึ่งหนึ่งในมาตรการนั้น ก็คือ “มาตรการควบคุมเสียงดัง (Noise Control Measure)”
มาตรการควบคุมเสียงดัง (Noise Control Measure)
เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการควบคุมควรมีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การลดเสียงดังให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน อันจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดเสียงที่ก่อกำเนิดขึ้น หรือช่วยลดระดับเสียงที่ทางผ่านของเสียงไม่ว่าจะเป็นอากาศหรือโครงสร้างของสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งมาตรการที่ว่านี้ จะรวมไปถึงการดัดแปลงเครื่องจักร กระบวนการทำงาน และแผนผังของห้องทำงานด้วย
ตามความเป็นจริงแล้ว วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการควบคุมเสียงที่เป็นอันตรายในสภาพแวดล้อมการทำงาน ก็คือ การขจัดหรือลดอันตรายที่แหล่งกำเนิดเสียง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยตรงที่แหล่งกำเนิดเสียงนั้น หรือการจำกัดแหล่งกำเนิดเสียง แต่สิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้ามอย่างหนึ่งก็คือ การพิจารณาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ (Practical Considerations) เพราะโดยมากแล้วมักจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ในการดำเนินมาตรการควบคุมทั้งหมดในคราวเดียวกัน ดังนั้น ควรมุ่งไปที่ปัญหาเร่งด่วนที่สุด การจัดลำดับความสำคัญจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในบางกรณี หนทางในการแก้ไขปัญหาอาจจะเป็นการใช้หลายมาตรการร่วมกัน เนื่องจากแต่ละมาตรการก็จะมีข้อดี ข้อด้อยต่างกัน และอาจไม่เพียงพอต่อการควบคุมถ้าใช้ลำพังเดี่ยว ๆ
“การควบคุมเสียง (Noise Controls)” เป็นการป้องกันในขั้นแรกสำหรับการสัมผัสเสียงดังที่มากเกิน การใช้วิธีควบคุมเหล่านี้ ควรพุ่งเป้าไปที่ ลดการสัมผัสอันตราย ณ จุดที่มีความเสี่ยงต่อการได้ยิน ซึ่งการลดความเข้มเสียงแม้เพียงไม่กี่เดซิเบล ก็สามารถทำให้อันตรายต่อการได้ยินลดลง การสื่อสารในช่วงของการปฏิบัติงานก็ดีขึ้น และความหงุดหงิดรำคาญอันเนื่องจากเสียงดังก็ลดลง นั่นหมายความถึงประสิทธิภาพในการทำงานก็ดีขึ้นตามไปด้วย
“กลยุทธ์ในการควบคุมเสียงดัง (Noise Control Strategies)” ก่อนที่จะเลือกและออกแบบมาตรการควบคุมเพื่อที่จะควบคุมเสียงดังที่เป็นอันตรายได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการชี้บ่งแหล่งกำเนิดเสียงดัง (Identification of Noisy Sources) และก็ต้องประเมินลักษณะ รวมถึงการสัมผัสของเสียงอย่างรอบคอบ กระบวนการตรวจวัดเสียงจะอยู่ในช่วงของการสำรวจและตรวจวัดตามองค์ประกอบที่ 2 (การเฝ้าระวังเสียงดัง-Noise Monitoring)
ซึ่งต้องสามารถระบุถึงปัญหาด้านเสียงอย่างครบถ้วนเพียงพอที่จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ดีสำหรับกลยุทธ์ในการควบคุม โดยมีปัจจัยที่ควรพิจารณา ได้แก่ ประเภทของเสียง ระดับความดังของเสียงและรูปแบบการแปรเปลี่ยนตามแต่ช่วงเวลา ความถี่ของคลื่นเสียง แหล่งกำเนิดเสียง เส้นทางการแพร่กระจายของเสียง หรือการสะท้อนกลับของเสียงในห้องทำงาน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย เช่น จำนวนผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัส รูปแบบการทำงาน ฯลฯ ในบางครั้ง การใช้มาตรการควบคุมทางวิศวกรรมซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง อาจจะไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่เพียงพอ จึงควรพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ มาใช้ในการควบคุมร่วมด้วย เช่น การใช้อุปกรณ์ลดเสียง ควบคู่ไปกับการจำกัดการสัมผัส ซึ่งความจำเป็นในการควบคุม หรือวิธีอื่น ๆ ในสถานการณ์เฉพาะจะถูกพิจารณากำหนด โดยการประเมินระดับเสียงในพื้นที่งาน ณ จุดปฏิบัติงาน ในเวลาที่มีผู้ปฏิบัติงานทำงานอยู่จริง ๆ ซึ่งหากแหล่งกำเนิดเสียงดังที่เป็นเป้าหมาย สามารถทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกัน ก็ควรใช้วิธีสับสวิตช์ทีละเครื่องเพื่อที่จะหาแหล่งต้นตอที่แท้จริงได้
ส่วนอีกวิธีหนึ่งในการชี้บ่งแหล่งกำเนิดเสียงดัง ก็คือ การเข้าตรวจสอบพื้นที่งานในช่วงที่ไม่มีการปฏิบัติงาน เพื่อที่ว่าแหล่งกำเนิดเสียงแต่ละตัว ณ ช่วงเวลานั้นจะสามารถเดินเครื่องและถูกวัดระดับเสียงได้โดยง่าย ซึ่งในบางครั้ง เครื่องจักรที่มีเสียงดัง อาจจะมีแหล่งที่มาของเสียงหลายทาง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการค้นหาแหล่งที่มาของเสียงแต่ละแหล่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแหล่งที่มาของเสียงที่เป็นตัวการหลัก ๆ
“การจัดลำดับความสำคัญในการควบคุมเสียงดัง (Priority of Noise Control)” เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานประกอบกิจการที่มีแหล่งกำเนิดเสียงดังหลายแห่งในพื้นที่งาน และแต่ละแห่งก็ยังมีระดับเสียงใกล้เคียงกันอีกด้วย ถ้าเราต้องการความมีประสิทธิผลในการลดเสียงดัง ก็ควรดำเนินการลดระดับเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงที่ดังมากที่สุดเป็นลำดับแรก เพราะจะทำให้ระดับเสียงโดยรวมทั้งหมด (Overall Noise Level) ลดลงได้มากที่สุด
ตัวอย่างเช่น มีแหล่งกำเนิดเสียงดัง 3 แห่งอยู่ใกล้กัน โดยมีระดับเสียงอยู่ที่ 80, 85 และ 90 เดซิเบลเอ เมื่อเสียงทั้ง 3 แห่งรวมกันแล้วมีระดับเสียงควบรวม (Combined Noise Level) อยู่ที่ 91 เดซิเบลเอ
วิธีแรกถ้าเราเลือกควบคุมที่แหล่งกำเนิดเสียง 80 เดซิเบลเอก่อนเป็นอันดับแรก จะส่งผลให้ระดับเสียงควบรวมของ 85 และ 90 เดซิเบลเอ อยู่ที่ 91 เดซิเบลเอ แต่ถ้าเราเลือกควบคุมที่แหล่งกำเนิดเสียง 80 และ 85 เดซิเบลเอก่อน จะส่งผลให้มีระดับเสียงเหลืออยู่ 90 เดซิเบลเอ แต่ถ้าเราเลือกควบคุมที่แหล่งกำเนิดเสียง 90 เดซิเบลเอ จะส่งผลให้ระดับเสียงควบรวมของ 80 และ 85 เดซิเบลเอ เหลืออยู่ที่ 86 เดซิเบลเอ
“การชี้บ่งเสียงในทางปฏิบัติโดยการทดสอบ (Practical Noise Identification Tests)” เป็นการทดสอบเพื่อชี้บ่งลักษณะเฉพาะของเสียงที่ก่อกำเนิดจากกลไกการทำงาน ซึ่งขั้นตอนนี้ควรถูกดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความรู้หรือวิศวกรโรงงาน โดยมีการทดสอบได้หลายวิธี เช่น
- ตำแหน่งของแหล่งกำเนิดเสียงจากการกระทบกัน ใช้ทักษะในการฟังเสียงกลไกการทำงานของเครื่องจักร และชี้บ่งชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบที่มีการสัมผัสกระทบกันแล้วก่อกำเนิดเสียงขึ้นมา ถ้าเป็นไปได้ ให้เดินเครื่องจักรโดยลดความเร็วรอบลง หรือถ้าเป็นเครื่องจักรประเภทอัตโนมัติก็ให้เดินเครื่องภายใต้การควบคุมด้วยมือ (Manual Control) เพื่อชี้บ่งแหล่งกำเนิดเสียง
- การแยกส่วนตรวจสอบสำหรับแหล่งกำเนิดเสียงที่คาดการณ์ไว้ ตรวจสอบในแต่ละชิ้นส่วนของกลไกการทำงานของเครื่องจักร ที่สงสัยว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดเสียง หรือไม่ก็ใช้วิธีให้ชิ้นส่วนกลไกอื่น ๆ ทำงานตามปกติยกเว้นชิ้นส่วนที่สงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชิ้นส่วนที่สงสัยมากที่สุด
- ตำแหน่งของลูกปืนที่สึกหรอ ตรวจสอบดูความผิดปกติของเสียงที่เกิดขึ้น โดยถ้าจำนวนรอบในการหมุนของเพลาเพิ่มขึ้น แล้วส่งผลให้เกิดระดับเสียงดังที่เพิ่มขึ้นมาก ก็สันนิษฐานได้ว่าเสียงที่ดังนี้มาจากการสึกหรอของลูกปืน
- ทดสอบเสียงดังจากพัดลม เสียงที่มีความถี่ต่ำเกินไปอาจจะมาจากพัดลมที่ไม่สมดุล หรือหมุนในสภาวะใกล้หยุด โทนของเสียงที่เปลี่ยนไปอาจจะบ่งบอกว่ามีสิ่งที่ติดขัดอยู่ภายใน ใบพัดชำรุดเสียหาย หรือติดตั้งไม่สมดุล และหมุนที่ความเร็วรอบสูงเกินอัตรา
โดยทั่วไปแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง มักมีแหล่งกำเนิดเสียงดังหลายแหล่งที่มีส่วนหนุนร่วมกันให้มีระดับเสียงที่ดังมากขึ้น และมีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเสียงดังในบริเวณการทำงาน เช่น ขนาด ชนิดและจำนวนของเครื่องจักร วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ลักษณะของอาคารโครงสร้างของพื้นและผนัง นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากกระบวนการหรือวิธีการทำงานของพนักงานได้อีกด้วย
เสียงดังที่เกิดจากปัจจัยทางด้านเครื่องจักร เช่น เครื่องปั่นด้าย เครื่องทอผ้า ปั๊มลม และมอเตอร์ หรือจากอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร เช่น พูลเลย์สายพานเยื้องศูนย์ สายพานหย่อน จะทำให้เกิดเสียงดังจากการเสียดสีระหว่างสายพานกับร่องสายพาน นอตยึดส่วนประกอบของอุปกรณ์หรือโครงสร้างหลวม เมื่อเครื่องจักรทำงาน ก็จะทำให้เกิดการกระทบกันของโลหะก่อให้เกิดเสียงดัง และลูกปืนแตกชำรุด ก็จะก่อให้เกิดเสียงดังขณะที่ตลับลูกปืนหมุน เป็นต้น
ส่วนเสียงดังที่เกิดจากกระบวนการ หรือวิธีการทำงานของพนักงาน เช่น การโยนชิ้นงานโลหะลงภาชนะ หรือที่กองเก็บ การเคาะหรือตอก เพื่อดัดหรือเคาะแต่งชิ้นงาน โดยไม่มีมาตรการช่วยลดระดับเสียงที่เกิดจากการเคาะ หรือการนำแรงดันลมจากท่อ หรือสายลม หรือปืนลมมาเป่าตัวพนักงาน เป็นต้น
ปัญหาเสียงดังต่าง ๆ อาจถูกอธิบายในแง่ของ แหล่งกำเนิดเสียง (Source) ทางผ่านของเสียง (Transmission Path) และ ตัวรับเสียง (Receiver) ซึ่งการควบคุมเสียงอาจจะนำเอารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งหมดมาใช้พิจารณาควบคุม แหล่งกำเนิดเสียงเป็นสิ่งเริ่มต้นในการปลดปล่อยพลังงานจากการสั่นสะเทือนของกลไกทำงาน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางกายภาพ (Physical Phenomenon) เช่น การกระทบ การเสียดสี การไหลของอากาศที่ปั่นป่วน
หรือการช็อคทางกลระหว่างของแข็ง (Mechanical Shock) หรืออุปกรณ์ที่ไม่สมดุล เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะทำการควบคุมก็ต้องทำความเข้าใจถึงเสียงดังที่เกิดขึ้นจากเครื่องจักรหรือกระบวนการทำงานที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้ก่อน ส่วนการควบคุมที่ทางผ่านของเสียงจะมีต้นทุนดำเนินการในการลดเดซิเบลอยู่ประมาณ 1 ใน 10 ของต้นทุนที่จะตามมาในภายหลัง การควบคุมเสียงที่ดีที่สุด ก็คือการดำเนินการในช่วงขั้นตอนของการออกแบบ ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเจนที่สุด และในกรณีของการควบคุมเสียงดังในช่วงแรกเริ่มวางผังสำหรับเครื่องจักรใหม่ ก็สามารถเลือกเครื่องจักรที่มีเสียงเบามากกว่าได้
อย่างไรก็ดี การควบคุมและลดการสัมผัสเสียงของผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ปฏิบัติงานมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่โดยทั่วไปแล้ว มี 3 วิธีหลัก ๆ ในการควบคุมเสียงดัง ดังนี้ คือ
1. การควบคุมที่แหล่งกำเนิดเสียง (Source Control) ซึ่งเป็นแหล่งแพร่กระจายเสียง ฉะนั้นแล้วสำหรับสถานประกอบกิจการที่อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ก็ต้องพยายามเจาะจงอุปกรณ์ที่มีเสียงเบาที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ซึ่งอาจจะไม่สามารถขจัดสิ่งที่คาดว่าจะกลายเป็นปัญหาด้านเสียงได้ทั้งหมด แต่จะเป็นการทำให้ง่ายขึ้นต่อการควบคุมเสียงดังและประหยัดงบประมาณในการดำเนินการ
ดังนั้นฝ่ายจัดซื้อควรจะนำระดับเสียงที่เป็นผลพวงจากการทำงานของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์มาพิจารณาประกอบการสั่งซื้อใหม่ด้วยทุกครั้ง
โดยมากแล้ว ปัญหาด้านเสียงที่เกิดขึ้นจากกลไกหรือกระบวนการทำงานของเครื่องจักร จะไม่สามารถแก้ไขที่ตัวเครื่องจักรได้โดยง่าย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ การเพิ่มวัสดุดูดซับเสียงที่พื้นผิวแพร่กระจายเสียง อาจจะช่วยลดระดับความเข้มเสียงที่แหล่งต้นกำเนิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปัญหาด้านเสียงในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ระบบอัดอากาศที่ปล่อยเสียงดังออกมา สามารถบรรเทาเบาบางปัญหานี้ลงได้โดยใช้ Pneumatic Silencers
ตัวอย่างการควบคุมที่แหล่งกำเนิด เช่น
- จัดวางเครื่องจักรที่มีเสียงดังแยกออกมาต่างหาก จากบริเวณที่มีผู้ปฏิบัติงานอยู่จำนวนมาก
- บำรุงรักษาอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหมั่นหล่อลื่นและทำความสะอาด เปลี่ยนชิ้นส่วนที่สึกหรอ ดูแลความตึงหย่อนของสายพานให้มีความพอเหมาะ รวมถึงดูแลเรื่องความสมดุลของสายพาน ใบมีด และชิ้นส่วนที่หมุนอื่น ๆ ด้วย
- ลดความเร็วของปฏิบัติการให้อยู่ในตำแหน่งต่ำสุดที่สอดคล้องกับปริมาณผลิตภัณฑ์และคุณภาพตามที่ตั้งเป้าไว้
- เคลื่อนย้ายตำแหน่งจัดวางอุปกรณ์กำลัง (Power Equipments) ออกจากโครงสร้างอาคารที่เป็นไม้หรือเหล็ก เปลี่ยนเป็นหิน ซีเมนต์หรืออิฐบล็อกแทน
- ลดการสั่นสะเทือน โดยทำให้มั่นใจว่าตัวโครงอุปกรณ์ไม่แอ่นโค้งงอ และตั้งอยู่บนพื้นวางที่แข็ง โดยมากจะเป็นซีเมนต์ และไม่มีส่วนส่วนใดของอุปกรณ์สัมผัสกับอุปกรณ์อื่น ๆ หรือผนังอาคาร
- ใช้อุปกรณ์ลดเสียง เช่น จุกยางสวมขาตั้ง สปริง หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ช่วยดูดซับความสั่นสะเทือนที่สามารถแพร่หรือขยายเสียงได้ และ
- ประยุกต์ใช้วัสดุดูดซับที่บริเวณพื้นผิวที่สั่นและสร้างปล่องดูดซับเสียงรอบ ๆ จุดปฏิบัติการ
การประยุกต์ใช้วัสดุดูดซับเสียงได้อย่างเหมาะสมเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน ที่ต้องนำเอาความถี่ของคลื่นเสียง ระดับเสียงที่ต้องการลด รวมถึงน้ำหนักและขนาดของเครื่องจักรมาพิจารณาร่วมด้วย โดยทั่วไปแล้ว จำนวนชั้นของวัสดุดูดซับเสียงควรจะมีความหนาเท่ากับพื้นผิวที่ต้องการลดระดับเสียง แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมเสียงจากเครื่องจักรเดิมที่มีอยู่
อาจจะเป็นเพราะอายุการใช้งานหรือสาเหตุใดก็ตามแต่ การเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าที่มีเสียงดังด้วยเครื่องจักรใหม่ที่มีระดับเสียงน้อยกว่าก็เป็นหนทางเลือกหนึ่ง ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะคุ้มค่ากว่าในระยะยาว
2. การควบคุมที่ทางผ่านของเสียง (Path Control) จะเกี่ยวข้องกับการกันแยก การสกัดกั้น การเบี่ยงเบนทิศทาง การดูดซับเสียง หรือวิธีอื่น ๆ ในการลดความเข้มเสียงให้ได้ก่อนที่เสียงจะถึงหูผู้ปฏิบัติงาน เสียงถูกส่งผ่านโดยคลื่นเสียงไปทั่วพื้นที่ที่อยู่ตรงกลางระหว่างแหล่งกำเนิดและตัวรับเสียง เมื่อเปลี่ยนแปลงทางผ่านเสียง ก็จะช่วยลดปริมาณพลังงานเสียงที่จะเข้าสู่ตัวรับเสียง ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งในการควบคุมเสียงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมากแล้ววิธีนี้จะเกี่ยวข้องกับการกั้นขวางการแพร่กระจายของเสียง โดยการเข้าแทรกแซงเส้นทางสะท้อนกลับและเส้นทางตรงของเสียง
เส้นทางสะท้อนกลับของเสียงสามารถลดลงได้โดยการใช้แผ่นวัสดุดูดซับเสียงติดเข้ากับผนังห้อง หรือโดยการแขวนอุปกรณ์ดูดซับเสียงห้อยลงมาจากเพดานห้อง ส่วนเส้นทางตรงของเสียงสามารถขัดขวางโดยใช้วัสดุปกคลุมหรือผนังกั้นเสียงระหว่างแหล่งกำเนิดและตัวรับเสียง เช่น ติดตั้งฉากกั้นแบบชั่วคราวหรือถาวร หรือม่านกันเสียง ทั้งนี้ตัวกั้นเสียงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อใช้ร่วมกับวัสดุที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาการสะท้อนของเสียง
3. การควบคุมที่ตัวรับเสียง (Receiver Control) การใช้ปลั๊กอุดหู (Ear Plugs) หรือที่ครอบหู (Ear Muffs) ถูกพิจารณาว่าเป็นวิธีที่ประหยัดสำหรับการควบคุมเสียงดังที่ตัวรับเสียงได้อย่างมีประสิทธิผลและสมเหตุสมผล อย่างไรก็ดี ผู้ปฏิบัติงานมักจะรู้สึกไม่สะดวกกายในการสวมใส่อุปกรณ์เหล่านี้ตลอดเวลา
และมักถูกใช้เป็นข้ออ้างเสมอว่าเป็นการลดความสามารถในการตรวจจับความผิดปกติของอุปกรณ์หรือเครื่องจักร และประสบปัญหาในการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานในช่วงระหว่างปฏิบัติงาน และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ในสภาพแวดล้อมการทำงานซึ่งมีเครื่องจักรกลที่เคลื่อนที่ได้ เช่น รถฟอร์กลิฟต์ เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานอาจจะไม่ได้ยินเสียงเครื่องจักรกลเหล่านี้ หรืออาจจะไม่ได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยอื่น ๆ
การจำกัดเสียงโดยการสวมใส่อุปกรณ์ลดเสียงสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสกับเสียงดัง ถือว่าเป็นวิธีการสุดท้ายและต้องการการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผู้ปฏิบัติงานจะสวมใส่อยู่ตลอดเวลาที่ทำงาน ปัญหาสำคัญคือการเชื่อมั่นได้ว่าอุปกรณ์ที่สวมใส่กระชับเพียงพอที่จะลดเสียงได้ และสวมใส่ได้อย่างถูกต้อง การให้ความรู้เป็นสิ่งจำเป็น โดยผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการฝึกอบรมให้สามารถสวมใส่ได้อย่างกระชับ และควรสวมใส่ตลอดช่วงเวลาทำงานที่สัมผัสเสียงดัง รวมถึงต้องมีการตรวจสอบสภาพการใช้งาน ความสะอาด และบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมออีกด้วย
ในบางครั้งการควบคุมที่ตัวรับเสียง ก็อาจใช้วิธีปิดคลุมผู้ปฏิบัติงานโดยให้อยู่ในห้องเก็บเสียง ซึ่งมักนิยมใช้ในกรณีที่มีเครื่องจักรที่มีเสียงดังหลายตัว โดยที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถควบคุมเครื่องจักรได้จากระยะไกล ทั้งนี้ พื้นผิวผนังห้องเก็บเสียงควรทำด้วยวัสดุดูดซับเสียง ขอบคิ้วประตู หน้าต่างควรอุดกันรูรั่ว รวมถึงการระบายอากาศควรติดตั้งตัวลดเสียงด้วย
การควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering Controls) เป็นเครื่องมือทางกายภาพที่ใช้ลดหรือขจัดการสัมผัสเสียงดังที่เป็นอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือทำการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่เกี่ยวเนื่องกับเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นที่แหล่งกำเนิดเสียง (Noise Source) หรือตามเส้นทางผ่านของเสียง (Transmission Path) เพื่อลดระดับเสียงก่อนที่จะถึงหูผู้ปฏิบัติงาน การควบคุมทางวิศวกรรมมักจะเป็นหนทางแก้ปัญหาที่ถาวรและมีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ไขปัญหาด้านเสียง ดังนั้นจึงควรจะถูกใช้เป็นเครื่องมือแรก ๆ ในการควบคุมเสียงในที่ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้
แต่ก่อนจะทำการควบคุมเสียงได้นั้น ก็ควรดำเนินการสำรวจว่าอุปกรณ์หรือเครื่องจักรกลใด หรือพื้นที่โดยรอบใดที่มีความจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเพื่อลดปริมาณเสียงลง ตัวอย่างการควบคุมทางวิศวกรรม เช่น การปรับปรุงหรือดัดแปลงอุปกรณ์ ตัวอาคาร ด้วยสิ่งปิดคลุมที่ทำด้วยวัสดุดูดซับเสียง ลดการสั่นของเครื่อง และติดตั้งผนังดูดซับเสียงและพรม หรือจัดวางสิ่งกั้นขวางระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงและผู้ปฏิบัติงาน ปิดคลุมหรือกันแยกแหล่งกำเนิดเสียง ตลอดจนหมั่นดูแลบำรุงรักษาและหล่อลื่นเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น
โดยมากแล้วการปรับปรุงเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีจุดประสงค์ในการลดเสียงดัง มักจะมีค่าใช้จ่ายสูงพอดู และยังต้องการความรู้ในเชิงลึกด้านเสียง ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้บริการจากวิศวกรผู้ชำนาญการด้านเสียง (Acoustical Engineer) แต่ถ้าสามารถแก้ปัญหาเสียงดังเกินมาตรฐานได้ก็ถือว่าคุ้มอยู่
การควบคุมทางการบริหารจัดการ (Administrative Controls) เป็นการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการจำกัดการสัมผัสเสียงดังในแต่ละวันของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตารางเวลาการทำงานหรือการผลิต ล้วนถือว่าเป็นการควบคุมทางการบริหารจัดการ บางครั้งก็อาจจะเป็นการจำกัดช่วงเวลาในการสัมผัสให้สั้นลง โดยการหมุนเวียนการทำงานและจัดตารางเวลาปฏิบัติการของเครื่องจักร เพื่อลดจำนวนผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสเสียงนั้นลง ซึ่งการหมุนเวียนพนักงานออกจากพื้นที่งานที่มีเสียงดังนั้น ก็เพื่อจำกัดจำนวนระยะเวลาการสัมผัสทั้งหมดของแต่ละบุคคล ให้อยู่ในช่วงเวลาที่สามารถปฏิบัติงานได้ในระยะเวลาอันสั้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้
การควบคุมทางการบริหารจัดการควรถูกพิจารณา เมื่อการควบคุมทางวิศวกรรมไม่สามารถปฏิบัติได้จริง หรือล้มเหลวในการลดระดับเสียงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ หรือไม่สามารถบรรเทาอันตรายได้ทั้งหมด หรืออยู่ในช่วงระหว่างขั้นตอนดำเนินการ อย่างไรก็ดี การควบคุมทางการบริหารจัดการไม่ควรที่จะถูกใช้ดำเนินการเพียงลำพังเดี่ยว ๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน เนื่องจากไม่สามารถลดระดับเสียงที่ดังได้
การควบคุมการสัมผัสเสียงดังโดยจำกัดระยะช่วงห่าง มักเป็นวิธีที่มีประสิทธิผล ซึ่งเป็นวิธีควบคุมทางการบริหารจัดการที่ง่ายและประหยัด โดยการเพิ่มระยะห่างระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงและตัวผู้ปฏิบัติงาน สามารถลดการสัมผัสได้ ซึ่งในพื้นที่เปิดนั้นทุก ๆ 1 เท่าตัวของระยะห่างระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงและผู้ปฏิบัติงาน จะส่งผลให้เสียงลดลง 6 เดซิเบลเอ (ดูรูปประกอบ)
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงตารางเวลางานหรือปฏิบัติการเพื่อลดการสัมผัส เช่น การเดินเครื่องจักรที่มีเสียงดังในพื้นที่ที่มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนน้อย หรือโยกย้ายผู้ปฏิบัติงานไปสู่งานที่มีเสียงดังน้อยกว่า อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จในการลดการสัมผัสเสียงดัง เนื่องจาก
- สถานประกอบกิจการอาจจะไม่มีผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านการฝึกอบรมในจำนวนที่เพียงพอสำหรับงานเฉพาะด้าน ในการที่จะใช้สลับเปลี่ยนหมุนเวียนงานได้
- การสลับเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ปฏิบัติงานระหว่างงานที่มีความเงียบกับงานที่มีเสียงดัง อาจจะลดความเสี่ยงในการสูญเสียการได้ยินแบบรวดเร็วของผู้ปฏิบัติงานเพียงไม่กี่คน แต่จะไปเพิ่มความเสี่ยงของการสูญเสียการได้ยินแบบค่อยเป็นค่อยไปของผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากแทน
หนทางแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติประการหนึ่งในการที่จะเคลื่อนย้ายผู้ปฏิบัติงานออกจากอันตราย ก็คือ จัดสรรพื้นที่ที่มีความเงียบสำหรับผ่อนคลายจากเสียงดัง (เช่น สร้างห้องกันเสียงเพื่อที่การได้ยินของผู้ปฏิบัติงานจะสามารถฟื้นฟูได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละระดับเสียงดังและช่วงเวลาสัมผัส และเวลาที่ใช้ในห้องที่เงียบนั้น ๆ) ออกแบบพื้นที่พักผ่อนและรับประทานอาหารแยกห่างจากส่วนงานที่มีเสียงดัง หรือใช้สิ่งกีดขวางกั้นเสียงดังนั้นไว้ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการสัมผัสเสียงโดยรวมตลอดช่วงเวลาทำงานได้
ตัวอย่างการแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการควบคุมเสียง
1. ปัญหา ชิ้นส่วนโลหะถูกลำเลียงจากเครื่องจักรไปสู่ถังเก็บ การทิ้งชิ้นส่วนโลหะจากที่สูงลงยังถังเก็บที่ว่างเปล่าจะก่อให้เกิดเสียงดัง
หนทางแก้ไข ติดตั้งระบบไอดรอลิกเพื่อที่สายพานลำเลียงสามารถจะถูกยกให้สูงหรือต่ำลงได้ และติดแผ่นยางไว้ด้านข้างภายในถังเก็บดังรูปเพื่อใช้ชะลอความเร็วของชิ้นส่วนโลหะที่จะตกลงสู่ก้นถังเก็บ
2. ปัญหา การทำความสะอาดชิ้นส่วนเครื่องจักร โดยการเป่าด้วยลมอัดจากหัวฉีดแรงอัดอากาศภายหลังเสร็จสิ้นการทำงาน ซึ่งมักจะเป็นหัวฉีดที่มีท่อรูออกของลมที่ปลายหัวฉีดเพียงท่อเดียว เมื่อฉีดอากาศด้วยความแรงสูงเสียงก็จะดังมากยิ่งขึ้น
หนทางแก้ไข เปลี่ยนหัวฉีดที่มีท่อรูออกของลมตรงกลางเพียงท่อเดียวเพิ่มเป็นรูออกเล็ก ๆ ด้านข้างอีก 2 รู จะทำให้อัตราความเร็วของการไหลของอากาศถูกเฉลี่ยออก 3 ทางทำให้ความเร็วของลมที่ออกตรงกลางลดลง เสียงก็จะค่อยลง
3. ปัญหา งานขัดตัวถังรถจะก่อให้เกิดเสียงกรีดแหลมที่มีความถี่สูง รบกวนผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ทำงานอยู่ใกล้ ๆ
หนทางแก้ไข พื้นที่งานอื่น ๆ ควรได้รับการป้องกันเสียงจากการงานขัดตัวถังรถ โดยใช้ฉากกั้นกำบังทั้ง 2 ด้านของสายงานขัดตัวถังรถ และใช้วัสดุดูดซับเสียงที่แขวนห้อยไว้ที่เพดาน
4. ปัญหา ระบบทำความเย็น (Cooling Systems) อาจจะเป็นแหล่งกำเนิดเสียงดังอย่างสาหัสสากรรจ์ได้ถ้าเกิดการช็อกด้วยแรงดันสูงของของไหลจากคอมเพรสเซอร์
หนทางแก้ไข แยกการสั่นสะเทือนของคอมเพรสเซอร์ด้วยสปริงโลหะที่ฐานขาตั้ง ใช้ข้อต่อแบบยืดหยุ่น (Flexible Connection) สำหรับท่อเข้าและออกที่มีแรงอัดสูง ในขณะที่ท่อที่มีแรงอัดต่ำก็เสริมด้วยท่อยางรัดไว้ด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง รวมทั้งใช้จุกยางสวมไว้ที่ขาตั้งของถังควบแน่น (Condenser Tank) และส่วนอื่น ๆ ที่ติดกับพื้น
5. ปัญหา ผู้ปฏิบัติงานสัมผัสเสียงที่มีความถี่สูงจากเครื่องย้ำหมุด (Riveting Machine)
หนทางแก้ไข ติดตั้งที่ครอบปิด (Enclosure) ที่ทำด้วยวัสดุดูดซับเสียง เมื่อเสียงจากเครื่องย้ำหมุดเดินทางเข้าสู่ผู้ปฏิบัติงาน เสียงก็จะปะทะกับกระจกนิรภัยแล้วสะท้อนกลับไปสู่ผนังดูดซับเสียง
6. ปัญหา เสียงดังที่มาจากการสั่นสะเทือนอย่างแรง (Turbulence) ของท่อ
หนทางแก้ไข ลดการสั่นสะเทือนอย่างแรงของท่อ โดยใช้แผ่นยางแยกแรงสั่นสะเทือน (Rubber Isolator) รัดหุ้มท่อตรงบริเวณข้อจับที่ยึดติดกับผนัง และใช้แผ่นยางแยกแรงสั่นสะเทือนแทนสปริงแยกแรงสั่นสะเทือนที่ยึดท่อห้อยติดกับเพดาน
7. ปัญหา เสียงที่ดังออกมาจากสายพาน
หนทางแก้ไข ลดการแผ่เสียง (Sound Radiation) โดยใช้การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของผิวสัมผัสที่แผ่เสียงออกมา ซึ่งก็คือ ส่วนที่สัมผัสกันของผิวสัมผัสสายพานกับเฟืองขับ แก้ไขโดยการลดขนาดความกว้างของสายพานให้แคบลงกว่าเดิม แต่ไปเพิ่มจำนวนเส้นสายพานแทน
ส่วนตอนจบของบทความก็จะเป็นเรื่องของการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) อันได้แก่ อุปกรณ์ลดเสียง เช่น ปลั๊กอุดหู (Ear Plugs) หรือที่ครอบหู (Ear Muffs) และประเด็นสุดท้ายก็คือ การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้รับทราบ เข้าใจและตระหนักถึงอันตรายจากเสียงดัง
…… โปรดติดตามอ่านตอนจบ…..
เอกสารอ้างอิง
- Hearing Conservation Program โดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ รพ.สมิติเวช ศรีราชา
- แนวปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ.2549
- Industrial Noise Control by Patrick J. Brooks, P.E.
- Hearing Conservation OSHA 3074
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.
ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด