เนื้อหาวันที่ : 2013-05-03 15:59:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 12554 views

แนวคิดโรงงานสีเขียวเพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (ตอนที่ 1)

ปัจจุบันแนวคิดผลิตภาพสีเขียวที่มุ่งความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR

แนวคิดโรงงานสีเขียวเพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (ตอนที่ 1)
โกศล  ดีศีลธรรม
koishi2001@yahoo.com


     
     ปัจจุบันแนวคิดผลิตภาพสีเขียวที่มุ่งความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบธุรกิจสีเขียว ผลการศึกษาผู้บริโภคทั่วโลกของ บริษัท บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) หรือ BCG พบว่าผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกและ 73% ของชาวอเมริกันเห็นว่าประวัติผู้ประกอบการที่รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นตัวแปรหลักในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ

ดังตัวอย่างบริษัทซีร็อกซ์สามารถประหยัดค่าออกแบบและต้นทุนการผลิตไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนโตโยต้าใช้สายการผลิตเดียวกับรถยนต์หลายรุ่นจนประหยัดพลังงานในโรงงานกว่า 30% ดังนั้นการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะสนับสนุนให้เกิดผลิตภาพสีเขียวและสร้างคุณค่าที่ตอบสนองความต้องการลูกค้า ทำให้แนวโน้มหลักที่มุ่งสู่ความเป็นองค์กรสีเขียวที่มุ่งความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

    1. การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของพื้นที่เมือง ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นและพลังงานสะอาดที่ไม่ได้มาจากเหมืองถ่านหินซึ่งสร้างมลภาวะและแก๊สเรือนกระจก อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เซลล์เชื้อเพลิงเหลว

    2. การบริหารทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิผล โดยมุ่งการใช้ซ้ำและรีไซเคิลมาใช้ใหม่เพื่อประหยัดน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคมากที่สุด รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่มและตั้งโรงงานบำบัดเพื่อจัดการน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือน

    3. การออกกฎหมายและนโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกำหนดมาตรฐานและข้อบังคับร่วมกับความสมัครใจในการควบคุมระดับการก่อมลพิษ ด้วยการลงนามร่วมกันระหว่างรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในอนาคตอาจมีการออกกฎหมายควบคุมระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถแต่ละคันและการเก็บภาษีรถที่สร้างมลพิษ เพื่อให้เกิดการควบคุมบนมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

    4. การดำเนินธุรกิจตามวิถีองค์กรสีเขียว โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมที่มุ่งเสนอสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภค รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสะอาดและลดความสิ้นเปลืองการใช้พลังงาน

    5. ดำเนินการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสาเหตุการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศเกิดจากกิจกรรมดังกล่าวมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ทำให้กระตุ้นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่ใช้กับรถยนต์ รวมทั้งรถยนต์ไฮบริดที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

    6. แนวโน้มสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น เป็นผลจากกระแสตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการมุ่งผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

    7. การพัฒนาแนวคิดเชิงระบบเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบกิจกรรมการผลิตต่อสภาพแวดล้อม แต่เดิมประเด็นดังกล่าวจะพิจารณาประเมินตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และโรงงานว่ากระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร แต่ศตวรรษใหม่นี้จะพิจารณาทั้งระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน และพิจารณาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้ง ระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก

    8. เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและขยายตัวของเขตเมือง ทำให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและมลภาวะมากขึ้น รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของประชากรตามการขยายตัวของครอบครัว ทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานขยายตัว

    9. ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำให้การติดต่อสื่อสารสะดวกและสามารถทำงานได้จากที่พักอาศัยแทนการเดินทางไปสำนักงาน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเดินทางมีแนวโน้มลดลงและสนับสนุนการพัฒนาแนวคิดสีเขียวเกิดประสิทธิผล

    10. อาคารสีเขียว สำหรับอาคารยุคใหม่มุ่งบริหารจัดการพลังงานภายในอาคาร ทำให้สถาปนิกและวิศวกรออกแบบอาคารภายใต้แนวคิดลดสภาวะโลกร้อน อาทิ การใช้แสงสว่างธรรมชาติให้อาคาร การใช้ระบบพลังงานทางเลือก ระบบบริหารจัดการน้ำแบบหมุนเวียนซ้ำ รวมทั้งปรับปรุงผังเมืองใหม่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การกำหนดพื้นที่สีเขียว การจัดพื้นที่รับอากาศบริสุทธิ์ในชุมชน ทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์เข้มงวดเกี่ยวกับอาคารสีเขียวในอนาคต


   นอกจากนี้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้มองปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่มองเป็นความท้าทายสำคัญในมิติการพัฒนาประเทศ ทำให้ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ให้ความสำคัญต่อนโยบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยมีข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจที่คำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนในการผลิตและบริโภค ส่งเสริมการผลิตสะอาด การลงทุนในภาคการผลิตที่เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

   
   โดยกำหนดมาตรการจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ทั้งการเงิน การคลัง การปรับระบบภาษี และมาตรการทางการตลาด ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแบบแผนการบริโภคของสังคมให้มุ่งสู่ความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่ “สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อตอบสนองและรองรับการดำเนินงานเรื่องนี้ ทั้งในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายประการ เช่น การจัดทำระบบ National Registry System สำหรับการจัดตั้งตลาดคาร์บอนต่อไปในอนาคต กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


   ทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ในทิศทางการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ นับเป็นการส่งสัญญาณต่อการปรับทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานหลักเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่าง กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดทั้งทั้งภายในและภายนอกตลอดห่วงโซ่อุปทาน

 โดยแนวคิดอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นการจัดการภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การหมุนเวียนของเสียกลับมาใช้ใหม่ (Waste Recovery) การป้องกันปัญหามลพิษโดยใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) รวมทั้งการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Product) โดยมีการแลกเปลี่ยนของเสียที่จะเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานอื่น (Industrial Symbiosis) โดยเน้นของเหลือใช้และของเสียกลับมาใช้ใหม่ตามหลักการ 3R's ได้แก่ Reuse Reduce Recycle


   ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความเป็นมาโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวว่าประเทศไทยมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ตามที่ได้ให้สัตยาบันรับรองปฏิญญาโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อปี  2545 และปฏิญญามะนิลาว่าด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เมื่อปี 2552  กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดยุทธศาตร์พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยดำเนินการเชิงรุกมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 จึงได้เริ่มโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมุ่งให้ภาคอุตสาหกรรมมีภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือ และประชาชนไว้วางใจ และสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียวของประเทศ (Green GDP) มีมูลค่าสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้การพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่ความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว 5 ระดับ คือ

     ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือ ความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน

     ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้

     ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบมีการติดตามประเมินผลและทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับและการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

     ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือ การที่ทุกคนในองค์กรให้ความร่วมมือร่วมใจดำเนินงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกด้านของการประกอบกิจการจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

     ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) แสดงถึงการขยายเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย

 

ที่มา: http://green.industry.go.th



     การดำเนินการที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและดำเนินโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวและคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการให้การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ และคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมสีเขียว ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงแนวทางดำเนินการ โดยกำหนดนโยบายให้หน่วยงานราชการเกี่ยวข้องนำเสนอแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์หรือสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม

 รวมถึงเผยแพร่ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในภูมิภาคเพื่อสร้างความเข้าใจและสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาและดำเนินโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นโครงการในเชิงรุก ด้าน นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะเพื่อให้เป็นเมือง สมาร์ทซิตี้ โดยให้ทุกคนทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมได้ เป็นเมืองประหยัดพลังงาน และจัดสรรให้มีพื้นที่สีเขียว

รวมทั้งทำเขตกันชนระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน โดยใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับติดตั้งกังหันลม นำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า หลังคาโรงงานที่หันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยนิคมสามารถผลิตไฟฟ้าจากขยะและระบบลมร้อนจากแอร์ ได้ 400 เมกะวัตต์ รวมทั้งมุ่งการวิจัยและพัฒนาเพื่อแปรรูปพลังงานของเสียให้นำกลับมาใช้ได้ใหม่ 


   เนื่องจากกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม คือ สาเหตุหลักที่สร้างมลพิษ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้ผู้ประกอบการที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดปัญหามลพิษ โดยใช้เทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายสีเขียว เพื่อร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างสมดุลยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาสถานประกอบการสู่โรงงานสีเขียว (Green Factory) ที่มีการดำเนินการแสวงหาผลกำไรที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

 โดยมุ่งการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทางด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้องค์กร โดยคำนึงถึงการเลือกใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการกำจัดความสูญเปล่าต่าง ๆ อาทิ การใช้วัตถุดิบสิ้นเปลืองไม่คุ้มค่า การใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ เกิดขยะของเสียในสายการผลิตจำนวนมากและสถานที่ทำงานไม่ปลอดภัย องค์กรชั้นนำภาคการผลิตได้ปรับปรุงผลิตภาพด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยหลัก ดังนี้

 กระบวนการผลิต (Manufacturing Process) ประกอบด้วย เครื่องจักรและระบบสนับสนุนการแปรรูปทรัพยากรการผลิต เช่น เครื่องกลึง อุปกรณ์จับยึด เครื่องมือทดสอบ เป็นต้น 

ระบบการผลิต (Manufacturing System) เป็นการบูรณาการขั้นตอนการผลิตกับทรัพยากรแรงงานเพื่อเชื่อมโยงการทำงานและระบบขนถ่ายเพื่อเคลื่อนย้ายทรัพยากรระหว่างสายการผลิต 

การเพิ่มคุณค่า (Value Added) คือ กิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับผลิตผลจากกระบวนการที่สามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า 

กิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าเพิ่ม (Non-Value Added) เป็นกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการผลิต แต่กิจกรรมเหล่านี้ไม่สร้างคุณค่าหรือตอบสนองความต้องการต่อลูกค้า ซึ่งต้องดำเนินการขจัดออกจากระบบ   


   โดยความสูญเปล่าที่เกิดในภาคอุตสาหกรรมมักแฝงในรูปของเสียหรือกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าเพิ่มและการใช้ทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการควบคุมความสูญเปล่าควรวิเคราะห์ที่มุ่งเพิ่มคุณค่าด้วยการปรับปรุงกระบวนการ ความสูญเปล่าอาจแสดงด้วยความสิ้นเปลือง (Wastage) จำแนกได้เป็น 

     1. ความสิ้นเปลืองโดยธรรมชาติ ประกอบด้วย ความสูญเปล่าที่หลีกเลี่ยงได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างความสูญเปล่าที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น ฝุ่นขี้เลื่อย เศษโลหะที่เกิดจากการกลึง การหดตัวของวัตถุดิบในกระบวนการแปรรูป เป็นต้น

     2. ความสิ้นเปลืองทางทรัพยากร ประกอบด้วย ความสิ้นเปลืองแรงงาน วัตถุดิบ เครื่องจักร และการจัดการวัสดุ (Material Management) เป็นสาเหตุก่อให้เกิด
 ความล้าสมัย (Obsolete) โดยเฉพาะวัตถุดิบและเครื่องจักรที่ไม่มีความเสียหาย แต่ไม่ได้ถูกใช้เป็นระยะเวลาหนึ่งและเกิดการเสื่อมมูลค่า เนื่องจากการปรับเปลี่ยนสายการผลิต และการนำระบบอัตโนมัติมาใช้งาน

 สิ่งที่เหลือใช้ (Surplus) โดยทรัพยากรหรือสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ได้ถูกใช้งานทันทีหลังจากที่ได้รับการส่งมอบ แต่ถูกจัดเก็บสะสมไว้ซึ่งอาจส่งผลต่อระดับสต็อกที่เกิดจากการวางแผนหรือการพยากรณ์ที่ผิดพลาด

 เศษของเสีย (Scrap) เป็นความสูญเปล่าจากกระบวนการแปรรูป อาทิ การกลึง การกว้าน

     3. ความสิ้นเปลืองที่เกิดจากสาเหตุความผิดพลาดในการวางแผน อาทิ ความสิ้นเปลืองจากการออกแบบ ความบกพร่องของฝ่ายจัดซื้อ การจัดเก็บและการแปรรูป

แนวคิดการบริหารทรัพยากร


     สำหรับผู้ประกอบการที่มุ่งแนวคิดลีน (Lean Manufacture) พิจารณาแนวทางมุ่งสู่ความเป็นโรงงานสีเขียวที่สามารถดำเนินกิจกรรมพื้นฐาน อาทิ ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ขจัดความสิ้นเปลืองการใช้ปัจจัยการผลิต (พลังงาน วัตถุดิบ และแรงงาน) ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อนและสร้างความสัมพันธ์กับแหล่งชุมชนโดยรอบ ส่วนการปรับปรุงผลิตภาพโรงงานจะมุ่งเน้นการขจัดความสูญเปล่าทั้ง 7 ประการ ประกอบด้วย

   1.การลดความสูญเปล่าจากการผลิตเกินความจำเป็น โดยมุ่งผลิตตามคำสั่งซื้อและปรับเวลากระบวนการให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิต

   2. การลดความสูญเปล่าจากการรอคอย สามารถดำเนินการ ดังนี้
 ปรับการไหลของงานให้สอดคล้องกับกระบวนการเพื่อลดปัญหาการรอคอย

 จัดสรรภาระแรงงานและเครื่องจักรให้เกิดสมดุลสายการผลิต (Line Balancing)

 ดำเนินกิจกรรมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เพื่อลดปัญหาเครื่องจักรขัดข้อง ซึ่งเป็นสาเหตุการรอคอย

   3. การลดความสูญเปล่าจากการขนส่ง
 ปรับปรุงการวางผังโรงงาน โดยมุ่งความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น การจัดสายการประกอบสุดท้ายให้อยู่ใกล้สโตร์เพื่อลดระยะทางขนส่ง

 ระบุแนวทางปรับปรุงเพื่อลดปริมาณการขนถ่าย โดยเฉพาะการจัดหาอุปกรณ์ขนถ่ายที่มีความยืดหยุ่น

 การดำเนินกิจกรรม 5ส

  4. การลดความสูญเปล่าจากกระบวนการที่ไม่สร้างคุณค่าเพิ่ม
 วิเคราะห์ขั้นตอนการทำงานโดยรวมด้วยการใช้ผังการไหลกระบวนการ (Flow  Process Chart) เพื่อพิจารณาว่ากิจกรรมใดมีความจำเป็นและเกิดคุณค่าเพิ่ม

 ระบุแนวทางขจัดความสูญเปล่าด้วยหลักการวิศวกรรมอุตสาหการเพื่อปรับลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออก

 ใช้หลักการวิศวกรรมคุณค่า (Value Engineering) โดยเฉพาะช่วงการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อลดความซับซ้อนขององค์ประกอบชิ้นส่วน

  5. การลดความสูญเปล่าจากการเก็บสินค้าคงคลัง
 ปรับการไหลของงานให้เกิดความต่อเนื่องเพื่อลดการสะสมของงานระหว่างผลิต

 ลดปริมาณการจัดซื้อคราวละมาก ๆ โดยจัดทำแผนจัดซื้อให้สอดคล้องกับกำหนดการผลิตและสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่ค้า  

สร้างระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just  In Time)

  6. การลดความสูญเปล่าจากการเคลื่อนไหว
 ศึกษาหลักการเคลื่อนไหวอย่างประหยัด (Motion Economy) และหลักการเออร์โกโนมิกเพื่อให้การทำงานเกิดผลิตภาพและลดความเมื่อยล้าในการทำงาน

 ปรับปรุงการเคลื่อนไหว โดยใช้กลไกและระบบสนับสนุน

 ปรับลำดับขั้นตอนการทำงานเพื่อให้เป็นมาตรฐาน

  7. ลดความสูญเปล่าจากการผลิตของเสีย
 พัฒนาวิธีการทำงาน เพื่อป้องกันการเกิดของเสียซ้ำ

 สร้างระบบการประกันคุณภาพให้ทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เกิดการส่งต่อของเสียกับกระบวนการถัดไป

 ลดความซับซ้อนของกระบวนการ โดยพัฒนาเทคนิคช่วงการออกแบบ

 

 
ประเภทความสูญเปล่า

   เนื่องจากความเป็นโรงงานสีเขียว คือความมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม ดังนั้นผู้บริหารโรงงานจะต้องมีความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จในกิจกรรมพื้นฐานที่เป็นรากฐานการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องที่จะลดการปลดปล่อยมลพิษสู่อากาศและน้ำ ที่ไม่เพียงแค่มุ่งประเด็น 3R คือ Reduce (ลดการใช้วัตถุดิบที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่) Reuse (การนำกลับมาใช้ใหม่) Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่โดยผ่านกระบวนการแปรรูป) ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีสะอาดและผลิตภาพสีเขียว (Green Productivity) แต่ครอบคลุมถึงประเด็นร่องรอยคาร์บอน (Carbon Footprint)

ดังนั้นการพัฒนาสู่โรงงานสีเขียวอาจเกิดขึ้นได้ยาก หากภาครัฐไม่เห็นความสำคัญและกำหนดเป็นแผนพัฒนาที่ให้การสนับสนุนต่อเนื่อง รวมทั้งทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งมั่นปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดการปลดปล่อยมลพิษจากต้นทาง (Source Reduction) ไม่ใช่เพียงแค่การบำบัดที่ปลายทาง (End of Pipe Treatment) ซึ่งมีต้นทุนสูง

     ดังกรณี บริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค (Kimberly-Clark) ที่มีจิตสำนึกในการปกป้อง ดูแล และรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งพนักงาน ลูกค้า และชุมชนใกล้เคียง โดยบริษัทให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการ R3: Reduce, Recycle, Replant ประกอบด้วยหลักการรักษาสภาพแวดล้อม ดังนี้ 

Reduce: การลดต้นเหตุของขยะ โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้สินค้าใช้ได้นานขึ้นและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

Recycle: การนำเยื่อกระดาษรีไซเคิลมาผสมกับเยื่อบริสุทธิ์ชั้นดีเพื่อผลิตสินค้าบางประเภทให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด 

Replant: โครงการปลูกป่าทดแทนเพื่อฟื้นฟูและดูแลทรัพยากรธรรมชาติ โดยปลูกจิตสำนึกพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า 

    โดยคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค มีนโยบายไม่ใช้เยื่อกระดาษจากป่าไม้เขตร้อน และมาตรการเลือกซื้อเยื่อกระดาษจากผู้จำหน่ายที่ปฏิบัติตามข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านการรับรองการประกอบ อุตสาหกรรมป่าไม้ และเยื่อกระดาษจากสถาบันดูแลรักษาป่าเท่านั้น บริษัทมีมาตรการงดใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมลพิษต่อผู้บริโภคในกระบวนการผลิต เช่น นโยบายไม่ใช้สารคลอรีนและเยื่อกระดาษที่ผ่านการฟอกย้อมในกระบวนการผลิตกระดาษ

เนื่องจากการใช้สารคลอรีนในกระบวนการผลิตจะก่อให้เกิดสารไดอ๊อกซิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ แต่ละปีบริษัทมีเป้าหมายลดพลังงานที่ชัดเจนและความมุ่งมั่นพัฒนาโรงบำบัดน้ำเสียจนได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในระบบบำบัดน้ำเสีย ตัวอย่างที่ถูกใช้เป็นต้นแบบแก่บริษัทอื่นทั่วประเทศ นอกจากนี้บริษัทคำนึงถึงสภาพชุมชนรอบข้าง โดยดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัดภายใต้ข้อกำหนดภาครัฐและมุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบยั่งยืน รวมถึงประหยัดพลังงาน  

   สำหรับผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าค่ายญี่ปุ่นอย่างโตชิบา ได้ประกาศพันธสัญญาที่เป็นคำมั่นจาก โนริโอะ ซาซากิ (Norio Sasaki) ผู้บริหารระดับสูงคือ “ความมุ่งมั่นที่ทำให้โตชิบาสามารถก้าวสู่ความเป็น Eco Company แห่งแรกก่อนใคร” สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโตชิบามิได้จำกัดเพียงแค่ การดำเนินกิจกรรม CSR เท่านั้น แต่ยังมุ่งประเด็นในสามมิติหลักคือ กระบวนการสีเขียว (Greening of Process), ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Greening of Products) และ เทคโนโลยีสีเขียว (Greening by Technology) ดังนั้นโตชิบามิได้วางกรอบยุทธศาสตร์สีเขียวที่มุ่งแคมเปญทางการตลาด (Marketing Campaign) เท่านั้น แต่ให้ความใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิตระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่เน้นการรีไซเคิล 

   โตชิบา เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2534 กระทั่งปี 2550 โตชิบาประกาศใช้แนวคิด นวัตกรรมสีเขียว เพื่อโลกสีขาว (Green Innovation for White World) เป็นทั้งนโยบายองค์กร (Corporate Policy) และนโยบายการตลาด(Marketing Strategy) เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างโตชิบากับเครื่องใช้ไฟฟ้าตราสินค้าอื่น

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ กล่าวถึงแนวคิด Green Innovation หมายถึง การผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประหยัดพลังงาน ตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าที่ปรับปรุงให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและตั้งโรงงานรีไซเคิลหลอดไฟ โดยลดการใช้วัสดุที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม เช่น สารตะกั่ว สารปรอท สารแคดเมียม สารโครเมียม ตามมาตรฐาน RoHS (Restriction of Hazardous Substances) รวมถึงลดจำนวนนอต สกรู และออกแบบให้ประหยัดพลังงาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ส่วนการผลิตสินค้าใหม่จะพิจารณาประเด็น Innovation, Eco Design, Eco Factory ว่าอยู่ระดับใด หากว่าสูงกว่าสินค้าตัวเก่าที่เคยผลิต ก็จะไม่ได้รับการผลิต

โตชิบามุ่งขับเคลื่อนนโยบายสิ่งแวดล้อม 5 Green ประกอบด้วย 
Green Company โดยมุ่งบริหารจัดการผลิตและสร้างจิตสำนึกในองค์กรให้ก้าวสู่การประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม 

Green Service บริการเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความพอใจแก่ผู้บริโภค โดยเน้นความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อม  

Green Products คือ สินค้าต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบ จัดหาวัตถุดิบ การผลิต การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง รวมทั้งการรีไซเคิล ส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ต้องมีการทำลายอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

 Green Purchasing เป็นการเลือกซื้อสินค้าหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจาก Green Company

 Green Society  คือ ความมีส่วนร่วมกับภาคสังคมทั้งประชาชนและร้านค้าเพื่อร่วมรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่าชายเลน ป่าปะการัง เป็นต้น

    ช่วงปลายปี 2552 โตชิบา ไทยแลนด์ วางแผนที่จะเพิ่มตัวแทนจำหน่ายสีเขียว (Green Dealer) มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ตัวแทนจำหน่ายใส่ใจการทำตลาดสีเขียว (Green Marketing) ก่อนช่วงเวลาดังกล่าว โตชิบาร่วมกับต้วแทนจำหน่ายเพื่อรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างโลโก้ ทีจัง (T-Chan) เป็นสัญลักษณ์ Green Innovation ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สินค้าอย่างถูกวิธีเพื่อยืดอายุการใช้งานและประหยัดพลังงานไฟฟ้า หาก Toshiba Group สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้บริโภคทั้งสามมิติด้วย เทคโนโลยี, กระบวนการผลิต และสินค้าที่เน้นตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรทั่วโลก

    โดยสัญลักษณ์ Toshiba Eco Style ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดสีเขียว (Green Concept) ทำให้แคมเปญ นวัตกรรมสีเขียวเพื่อโลกสีขาว ตอบโจทย์ 'โตชิบา นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต' เป็นการสร้างมูลค่าให้กับตราสินค้าในเชิงการตลาดเพื่อสังคม ที่มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจมากกว่าเพียงแค่สนองความต้องการของลูกค้า ตามรายงานนิตยสาร Entrepreneur เคยระบุถึงแนวโน้มธุรกิจสีเขียวจะกลายเป็นแนวโน้มหลักของธุรกิจยุคใหม่ ทำให้นวัตกรรมสีเขียวไม่เพียงแค่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ช่วยให้ขยายฐานลูกค้าองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Green Corporation) 

          

 

     ทางด้านผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟฟ้าค่ายญี่ปุ่นอีกราย คือ บริษัท พานาโซนิคอีโคเทคโนโลยี เซ็นเตอร์ (Panasonic Eco Technology Center) หรือ PETEC ตั้งอยู่ที่จังหวัดเฮียวโก (Hyogo) ประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นศูนย์กลางรีไซเคิล ครบวงจร ภายใต้แนวคิด "ผลิตภัณฑ์เพื่อผลิตภัณฑ์" คือ การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด PETEC มีแผนกวิจัยกลุ่มสินค้าต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางรีไซเคิลให้เหมาะสม การตื่นตัวปัญหาภาวะโลกร้อนและการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ PETEC นำร่องโครงการรีไซเคิลสินค้า 4 กลุ่ม คือ โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น

    โดยวางเป้าหมาย “Green Product-Green Factory” ใช้วัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยของเสีย พานาโซนิคคอร์ปตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก 1 แสนตันในปี 2551 และเพิ่มเป็น 3 แสนตัน ในปี 2553 ส่วนโรงงานที่เมืองชิกะ ประเทศญี่ปุ่นเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเครื่องปรับอากาศ (Air Conditioner Factory) ที่นำหลัก ECO Ideas เพื่อให้พานาโซนิคก้าวสู่ความเป็นโรงงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Company) เป็นนโยบายหลักของพานาโซนิค โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ

    ทาง พานาโซนิค ตั้งแผนภายใน "GP3" เป็นนโยบายของบริษัทแม่ที่วางกฎเกณฑ์ทำงานทั้งในส่วนโรงงานผลิตและฝ่ายการขายของพานาโซนิคทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ การให้พานาโซนิคเป็นองค์กรสากล (Global Progress) กลยุทธ์ด้านกำไร (Global Profit) และขยายตลาดสู่ภายนอกประเทศญี่ปุ่น (Global Panasonic) นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ฮีทปั้ม (Heat Pump) ช่วยลดความร้อนจากเครื่องใช้ไฟฟ้าให้น้อยที่สุด เทคโนโลยีนี้ได้ถูกใช้ในแอร์ ตู้เย็นและเครื่องอบผ้า ทำให้ลดการใช้ไฟฟ้า ทางพานาโซนิคคิดค้นแผ่นฉนวนที่สามารถลดความร้อนได้ 10 เท่าเพื่อใช้ในตู้เย็น เครื่องต้มน้ำร้อน กระติกน้ำร้อน สะท้อนถึงโรงงานแห่งนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เพียงแค่การสื่อกับตลาดและลูกค้าภายนอกให้ได้รับรู้ แต่พานาโซนิคมุ่งปลูกฝังและสร้างความรู้สึกถึงความเป็นโรงงานเพื่อสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม

    ดังนั้น Eco Ideas คือ แนวคิดการตลาดของพานาโซนิค ที่อยู่บนหลักการ 3 ประการ คือ การประหยัดพลังงาน วัตถุดิบในการผลิตต้องไม่มีสารพิษต้องห้าม 6 ชนิดตามมาตรฐาน RoHS ได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว, แคดเมียม, โครเมียม, โพลีโบรมิเนต ไบฟีนิล และโพลีโบรมิเนต ไดอีเทอร์ หากผู้ผลิตรายใดไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐาน RoHS จะไม่สามารถส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในยุโรปได้ และโรงงานทุกแห่งของพานาโซนิคจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ISO 14001

   แนวคิดการรักษาสิ่งแวดล้อมของพานาโซนิคแบ่งเป็น 3 หัวข้อ คือ Eco ideas for Product, Eco Ideas for Manufacturing และ Eco Ideas for Everybody Everywhere ล่าสุด พานาโซนิคประกาศปฏิญญารักษาสิ่งแวดล้อม Eco Ideas Declaration กับประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งจัดกิจกรรม Panasonic Eco Ideas Experience Road Show เพื่ออธิบายให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงแนวคิดการตลาดสีเขียวของพานาโซนิค เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจการประหยัดพลังงาน ทำให้การจัดกิจกรรมดังกล่าวช่วยให้ผู้บริโภครู้จักตราสินค้าที่ช่วยประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม

   ฮิโรทากะ มุราคามิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทพานาโซนิค ประเทศไทย กล่าวว่า 'เราต้องการให้ผู้บริโภครับรู้ว่าพานาโซนิค คือ Eco หรือธุรกิจที่รักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ' นอกจากนี้พานาโซนิคยังใช้ Eco Ideas สื่อสารถึงผู้บริโภครุ่นใหม่ที่จะเป็นลูกค้าอนาคต โดยเฉพาะการปลูกฝังประเด็นทางสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าต่าง ๆ ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม นั่นคือ Save Earth Save Energy และ Save Money ให้ผู้บริโภค

แนวคิดออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
           
    สำหรับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมส่งเสริมสังคม โดยเน้นความมีส่วนร่วมตั้งแต่พนักงานภายในองค์กร เครือข่ายธุรกิจและบริษัทในเครือ พร้อมส่งเสริมความมีส่วนร่วมของลูกค้า ชุมชนและสังคมเพื่อร่วมผลักดันสังคมให้พัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เป็นการเดินตามแนวทางวิสัยทัศน์ระดับโลก(Global Vision 2020)ของบริษัทแม่โตโยต้า โดยมีหลักการว่า "วัฏจักรธรรมชาติกับวัฏจักรอุตสาหกรรมจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืนตลอดไป" ดังนั้นแนวคิดโรงงานแห่งความยั่งยืนของโตโยต้าครอบคลุมกิจกรรมหลัก คือ การลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ การใช้พลังงานทดแทนและการฟื้นฟูป่า

    แนวคิดดังกล่าวทำให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ปรับปรุงกระบวนผลิตและระบบขนส่ง อาทิ ปรับปรุงการใช้พลังงานของเครื่องอัดอากาศ การลดจำนวนเที่ยวในการขนส่งโดยใช้รถขนส่งขนาดใหญ่ขึ้น การคัดเลือกแหล่งจัดหาชิ้นส่วนที่เหมาะสมเพื่อลดการขนส่งและการเปลี่ยนประเภทบรรจุภัณฑ์ ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โตโยต้า ประเทศไทย

เริ่มทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2549 ด้วยนโยบายบริษัทแม่ที่กำหนดให้สาขาแต่ละประเทศนำ Toyota Earth Charter จากโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น สำนักงานใหญ่ มาใช้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมและเป้าหมายดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งระยะสั้นและยาวของบริษัท

  วิสัยทัศน์ระดับโลกของโตโยต้า (Global Vision 2020)


    ช่วงเดือนมีนาคมปี 2550 โตโยต้าได้ก่อสร้างโรงงานใหม่ที่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยผลักดันให้โรงงานแห่งนี้ก้าวสู่โรงงานแห่งความยั่งยืน (Sustainable Plant) ภายใต้ปรัชญาความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco–Friendly) แสดงเจตนารมณ์ด้วยการผลิตรถยนต์ทุกรุ่นให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงาน การจัดการมลภาวะ พันธกิจที่มีต่อโรงงานบ้านโพธิ์ คือ ส่งเสริมความแข็งแกร่งในด้านการบริหาร  ระบบการผลิต เพื่อเป็นโรงงานที่มีความสามารถแข่งขันระดับโลก อีกทั้งตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในชุมชนและสังคมไทย

    โรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ ได้รับการยอมรับว่า เป็นโรงงานทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียและถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 โรงงานต้นแบบของโตโยต้าทั่วโลก ภายใต้โครงการ “โรงงานแห่งความยั่งยืน” ที่ต้องลดการใช้พลังงาน การเปลี่ยนรูปพลังงานและให้ชุมชนมีส่วนร่วม โรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ เป็นโรงงานต้นแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Ecological Factory) ที่มีระบบบริหารจัดการที่ดีหลายด้าน อาทิ การอนุรักษ์พลังงานโดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generator) โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่อาคารสำนักงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในที่ทำงาน สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศกว่า 8,500 ตันต่อปี

    การจัดการด้านมลภาวะทางอากาศด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง โดยนำระบบการพ่นสีรถยนต์ที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย มีคุณภาพดีกว่าการใช้สีผสมทินเนอร์ การนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการพ่นสี การติดตั้งเตาเผาอุณภูมิสูง(Regenerative Thermal Oxidizer Incinerator) เพื่อลดปริมาณสารระเหยไฮโดรคาร์บอน และมลภาวะอากาศ ที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ การจัดการขยะ ทำให้โตโยต้า สามารถนำขยะไปรีไซเคิลได้กว่า 80%  การจัดการมลภาวะทางน้ำ ที่มีกระบวนการบำบัดน้ำที่ใช้แล้วให้ได้คุณภาพ โดยมีดัชนีคุณภาพน้ำทิ้งเข้มงวดกว่าค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดถึง 20%



แนวทางสู่โรงงานแห่งความยั่งยืนของโตโยต้า


     ช่วงต้นปี 2551 โตโยต้า เปิดตัว โครงการป่านิเวศในโรงงาน (Eco-Forest) ขึ้นในโรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ เพื่อเน้นถึงวิสัยทัศน์ความเป็นองค์กรแบบ Eco–Friendly โดยช่วงต้น โครงการป่านิเวศในโรงงาน ได้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ 30 ไร่ ภายในบริเวณโรงงาน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์และพนักงานมีโอกาสทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี รวมถึงชุมชนรอบข้าง

    กิจกรรมวันปลูกป่าเกิดขึ้น ด้วยความร่วมมืออาสาสมัคร 10,000 คน ประกอบด้วย คณะผู้บริหาร พนักงาน และครอบครัวโตโยต้า ผู้แทนจำหน่าย บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน บริษัทในเครือ ตัวแทนหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน ชุมชนฉะเชิงเทรา และสื่อมวลชน ร่วมปลูกป่าจากกล้าไม้ท้องถิ่น 34 สายพันธุ์ จำนวน 100,000 ต้น ทำการปลูกป่าแบบยั่งยืนเพื่อสร้างผืนป่าที่ดำรงไว้ซึ่งสภาพตามธรรมชาติ การดำเนินโครงการป่านิเวศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 30 ไร่

    ช่วงแรกสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 800 ตันต่อปี โดยมีตัวเลขค่าเฉลี่ยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของไม้ยืนต้นโตเต็มที่ 1 ต้น อยู่ที่ประมาณ 8 กิโลกรัมต่อปี เป็นแนวคิดที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการปลูกป่าที่สำเร็จแล้วกว่า 1,500 แห่งทั่วโลก อาทิ โครงการปลูกป่ายั่งยืนที่เมืองโยโกฮาม่า โครงการฟื้นฟูป่าต้นโอ๊กบริเวณรอบกำแพงเมืองจีน ป่าฝนเขตร้อนในเมืองซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ป่าอเมซอนประเทศบราซิล เป็นต้น

    นอกเหนือจากการดำเนินโครงการปลูกป่านิเวศในโรงงานบ้านโพธิ์ โตโยต้ายังขยายผลโครงการป่านิเวศสู่ชุมชนและเครือข่ายโตโยต้าทั่วประเทศ โดยร่วมกับตัวแทนจำหน่ายและผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ช่วยกันปลูกป่านิเวศ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยวางเป้าหมายจะปลูกป่านิเวศให้ครบ 1 ล้านต้น ภายในปี 2555 การดำเนินการที่ผ่านมามีผู้แทนจำหน่าย และอาสาสมัครได้ร่วมกันปลูกป่านิเวศแล้วไม่ต่ำกว่า 270,000 ต้น

 ภายใต้ปรัชญาความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly Product) ขณะเดียวกันโตโยต้าสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ตลอดจนการค้นคว้าและวิจัยพัฒนาโครงการต่าง ๆ ร่วมกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมที่มุ่งหวังให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการความตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนให้แก่สังคม


โครงการปลูกป่านิเวศของโตโยต้า
       
     
   

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด