เนื้อหาวันที่ : 2013-05-03 10:18:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7825 views

ทำงานด้วยพีแอลซี Allen Bradley (ตอนที่ 3)

จากบทความตอนที่แล้วนั้นได้กล่าวถึงโปรแกรมสำหรับพัฒนาและเขียนโปรแกรมพีแอลซี Allen Bradley ตระกูล SLC500 และตระกูล MicroLogix ซึ่งประกอบด้วยโปรแกรม RSLinx Classic ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์กับพีแอลซีและโปรแกรม RSLogix 500 นั้นเป็นซอฟต์แวร์สำหรับเขียนโปรแกรมพีแอลซี โดยที่ได้อธิบายขั้นตอนการติดตั้งโปรแกรมลงคอมพิวเตอร์ สำหรับบทความตอนนี้จะกล่าวถึงการใช้งานโปรแกรม RSLogix 500 เบื้องต้นสำหรับสร้างโปรเจกต์โดยจะแบ่งเป็นลำดับขั้นตอนการทำงาน

ทำงานด้วยพีแอลซี Allen Bradley (ตอนที่ 3)
(Working with Allen Bradley PLCs)

วัชรชัย สิทธิพันธ์

        จากบทความตอนที่แล้วนั้นได้กล่าวถึงโปรแกรมสำหรับพัฒนาและเขียนโปรแกรมพีแอลซี Allen Bradley ตระกูล SLC500 และตระกูล MicroLogix ซึ่งประกอบด้วยโปรแกรม RSLinx Classic ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์กับพีแอลซีและโปรแกรม RSLogix 500 นั้นเป็นซอฟต์แวร์สำหรับเขียนโปรแกรมพีแอลซี โดยที่ได้อธิบายขั้นตอนการติดตั้งโปรแกรมลงคอมพิวเตอร์ สำหรับบทความตอนนี้จะกล่าวถึงการใช้งานโปรแกรม RSLogix 500 เบื้องต้นสำหรับสร้างโปรเจกต์โดยจะแบ่งเป็นลำดับขั้นตอนการทำงาน

เริ่มต้นใช้งานโปรแกรม RSLogix 500
              เพื่อที่จะเปิดหน้าต่างและแถบเครื่องมือของโปรแกรม RSLogix500 ได้อย่างสะดวกและง่ายดายเราจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงส่วนประกอบและหน้าที่ที่ได้เตรียมไว้ของโปรแกรม RSLogix500


รูปที่ 1 แสดงหน้าจอของโปรแกรม RSLogix 500

 

- แถบเมนู (Menu Bar) เลือกหน้าที่การทำงานจากเมนูที่ปรากฏโดยคลิกบนแถบเมนู

- แถบไอคอน (Icon Bar) บนแถบไอคอนนั้นจะประกอบด้วยหน้าที่การทำงานที่ใช้บ่อย ๆ ในการพัฒนาและทดสอบโปรแกรม

- แถบออนไลน์ (Online Bar) เป็นช่องสำหรับแสดงโหมดการทำงานของโปรเซสเซอร์ แสดงสถานะของการแก้ไขโปรแกรมออนไลน์ การบังคับการทำงาน (Force) แสดงไดรเวอร์ที่ใช้ในการสื่อสารและหมายเลขของโหนด

- โครงสร้างของโปรเจกต์ (Project Tree) จะแสดงโฟลเดอร์และไฟล์ที่อยู่ในโปรเจกต์ โดยจะมีสักษณะแตกออกเป็นกิ่งก้าน

- แถบแสดงสถานะ (Status Bar) จะแสดงมูลสถานะที่ทำงานอยู่

- ส่วนแสดงผลลัพธ์ (Result Pane) เป็นช่องสำหรับแสดงผลลัพธ์ของการค้นหา การตรวจสอบโปรแกรม โดยที่เราสามารถซ่อนส่วนนี้หรือย้ายไปตำแหน่งไหนบนจอก็ได้

- ส่วนแสดงแลดเดอร์ (Ladder View) เป็นส่วนสำหรับเขียน แก้ไขแลดเดอร์ลอจิกโดยที่สามารถแสดงได้หลาย ๆ หน้าของแลดเดอร์ลอจิกในเวลาเดียวกัน

- แถบเครื่องมือชุดคำสั่ง (Instruction Toolbar) แสดงคำสั่งที่เป็นตัวย่อ (Mnemonic) โดยจะแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ เมื่อต้องการแทรกคำสั่งลงในแลดเดอร์ก็สามารถคลิกที่คำสั่ง

ขั้นตอนเบื้องต้นสำหรับการใช้งาน RSLogix 500
ขั้นตอนที่ 1
กำหนดไดรเวอร์ในโปรแกรม RSLinx Classic

  เมื่อเราต้องการเขียนโปรแกรมให้พีแอลซี SLC500 หรือ MicroLogixทำงานนั้นเราจะต้องเชื่อมต่อพีแอลซีกับคอมพิวเตอร์นั่นก็หมายความว่าเราจะต้องมีซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อพีแอลซีกับคอมพิวเตอร์

     ไดรเวอร์ เป็นโปรแกรมย่อยสำหรับควบคุมอุปกรณ์ภายนอกในกรณีนี้นั้นโปรแกรม RSLinx Classic จะใช้ไดรเวอร์สำหรับการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับโปรเซสเซอร์ซึ่งหมายถึงพีแอลซีนั่นเอง ไดรเวอร์ที่เราจะใช้นั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางกายภาพของการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์กับโปรเซสเซอร์ เช่น RS 232, RS 485, RS 422 หรือ Ethernet เป็นต้น

- ขั้นตอนการกำหนดไดรเวอร์ของโปรแกรม RSLinx Classic

1. เปิดโปรแกรม RSLinx Classic โดยการคลิกเลือก Start>Programs>Rockwell Software>RSLinx>RSLinx 

รูปที่ 2 การเปิดโปรแกรม RSLinx Classic

 

2. คลิก Communication>Configure Drivers เพื่อเปิดหน้าต่างสำหรับกำหนดไดรเวอร์

รูปที่ 3 เลือกเมนูเพื่อเปิดหน้าต่างสำหรับกำหนดไดรเวอร์


3. เมื่อเข้าสู่หน้าสำหรับกำหนดไดรเวอร์เลือกไดรเวอร์ที่ต้องการที่จะติดต่อกับโปรเซสเซอร์

 

รูปที่ 4 เลือกไดรเวอร์ที่ต้องการที่จะติดต่อกับโปรเซสเซอร์

 

 

4. คลิก Add New สำหรับเลือกไดรเวอร์

5. จากนั้นตั้งชื่อตามที่เราต้องการโดยที่ขนาดความยาวไม่เกิน 15 ตัวอักษร

 

รูปที่ 5 ตั้งชื่อให้กับไดรเวอร์

 

6. หน้าต่างที่ปรากฏนั้นจะขึ้นกับไดรเวอร์ที่เราเลือกโดยเราจะต้องกำหนดคุณสมบัติของไดรเวอร์ให้สอดคล้องกับโปรเซสเซอร์ 

 

รูปที่ 6 กำหนดพารามิเตอร์ต่าง ๆ ให้กับไดรเวอร์ 

 

7. เมื่อต้องการสิ้นสุดการกำหนดไดรเวอร์ให้คลิก Close

รูปที่ 7 สิ้นสุดการกำหนดไดรเวอร์

 

8. หากต้องการตรวจสอบให้แน่ใจเกี่ยวกับไดรเวอร์ที่เรากำหนดว่าทำงานถูกต้องหรือไม่ให้ใช้ฟังก์ชั่น RSWho ของ RSLinx Classic โดยจะแสดงโปรเซสเซอร์ให้เราเห็น โดยการคลิกที่ Communications>RSWho

 

รูปที่ 8 ตรวจสอบความถูกต้องด้วย RSWho


 ขั้นตอนที่ 2 กำหนดการสื่อสารของระบบ (Configure System Communication)
     การกำหนดการสื่อสารของโปรแกรม RSLogix 500 นั้นมีสองแบบด้วยกันคือ
1. การสื่อสารของระบบ (System Communications) เป็นการกำหนดส่วนกลาง (Globally) หมายความว่าเมื่อกำหนดพารามิเตอร์ให้กับระบบ พารามิเตอร์นั้นจะถูกกำหนดเป็นค่าเริ่มแรกสำหรับการสร้างโปรเจกต์ใหม่ของ RSLogix 500

2. การสื่อสารของคอนโทรลเลอร์ (Controller Communications) เมื่อเรากำหนดการสื่อสารของคอนโทรลเลอร์ พารามิเตอร์ต่าง ๆ ที่กำหนดนั้นจะไปแทนที่การสื่อสารของระบบที่กำหนดไว้


- การกำหนดพารามิเตอร์การสื่อสารของระบบ
1. เข้าเมนู Comms คลิก System Comms จะปรากฏหน้าต่างการสื่อสารโดยจะมีลักษณะหน้าตาเหมือนกับหน้า RSWho

 

 2. จากนั้นคลิกเลือกไดรเวอร์ที่ต้องการและคลิก OK

ขั้นตอนที่ 3 การสร้างโปรเจกต์ใหม่หรือเปิดโปรเจกต์ที่มีอยู่แล้ว
- การสร้างโปรเจกต์ใหม่
     คลิก File>New จากนั้นเลือกโปรเซสเซอร์ที่ต้องการ สามารถที่จะกำหนดไดรเวอร์ที่จะสื่อสารได้ กำหนดหมายเลขโหนดของโปรเซสเซอร์ได้

รูปที่ 10 เลือกโปรเซสเซอร์ในกรณีสร้างโปรเจกต์ใหม่

 
- การเปิดโปรเจกต์ที่มีอยู่แล้ว
     คลิก File>Open จากนั้นจะปรากฏหน้าต่างเพื่อเลือกโปรเจกต์ที่ต้องการที่เก็บอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา

รูปที่ 11 เลือกโปรเจกต์ที่มีอยู่แล้ว

 

-การใช้โปรเจกต์ทรี (คือโครงสร้างที่มีการแตกออกเป็นกิ่ง/แขนง)
      

 เมื่อเราเปิดโปรเจกต์หรือสร้างโปรเจกต์ใหม่นั้นจะเห็นโปรเจกต์ทรีทางด้านซ้ายมือโดยจะแสดงโฟล์เดอร์และไฟล์ทั้งหมดที่มีในโปรเจกต์ เครื่องหมายลบ (-) นั้นแสดงว่าได้แสดงไฟล์ที่มีในโฟล์เดอร์แล้วและสามารถคลิกที่เครื่องหมายลบเพื่อซ่อนไฟล์ที่แสดงอยู่ เครื่องหมายบวก (+) นั้นแสดงว่าโฟล์เดอร์นั้นประกอบด้วยไฟล์ที่ยังไม่ได้แสดงสามารถคลิกที่เครื่องหมายบวกเพื่อแสดงไฟล์ที่มีอยู่ในโฟล์เดอร์ เราสามารถที่จะเปลี่ยนชื่อไฟล์ได้แต่ไฟล์ SYS0 และ SYS1 นั้นเป็นไฟล์ภายในไม่สามารถเปลี่ยนชื่อได้


รูปที่ 12 แสดงโปรเจกต์ทรี

 

-การเปิดหลาย ๆ ไฟล์
     เราสามารถที่จะเปิดหลาย ๆ ไฟล์ได้ในเวลาเดียวกันโดยที่ลากเมาส์ที่แถบแบ่งดังรูปที่ 13

 

รูปที่ 13 แถบแบ่งสำหรับแสดงหลายไฟล์

 

ขั้นตอนที่ 4 สร้างโปรแกรมและไฟล์ตารางข้อมูล
      เราสามารถสร้างโปรแกรมไฟล์และไฟล์ตารางข้อมูลได้โดยการคลิกขวาบนโฟล์เดอร์ Program Files และ Data Files ในโปรเจกต์ทรี หรือเลือก New จากเมนู 

 

ไฟล์โปรแกรม (Program Files) จะประกอบด้วยข้อมูลของคอนโทรลเลอร์ (พีแอลซี) แลดเดอร์โปรแกรมหลัก, โปรแกรมย่อย ส่วนจำนวนของไฟล์โปรแกรมที่สามารถมีได้นั้นขึ้นกับคอนโทรลเลอร์

 

รูปที่ 14 แสดงไฟล์โปรแกรม

 

  ไฟล์ตารางข้อมูล (Data Table Files) จะประกอบด้วยข้อมูลสถานะที่เกี่ยวข้องกับอินพุต/เอาต์พุตภายนอก และคำสั่งในโปรแกรมหลักและโปรแกรมย่อย ข้อมูลที่จะเก็บนั้นขึ้นกับการทำงานของคอนโทรลเลอร์

 


รูปที่ 15 แสดงไฟล์ตารางข้อมูล

 

ขั้นตอนที่ 5 กำหนดโครงฐานและโมดูล (Chassis and Module)
      

   หลังจากที่เราเปิดโปรเจกต์แล้วนั้นเราจะต้องกำหนดโปรเซสเซอร์ ตำแหน่งของการ์ดอินพุต/เอาต์พุตโดยเข้าไปยังโฟลเดอร์ Controller ในโปรเจกต์ทรีจากนั้นดับเบิลคลิกที่ไฟล์ IO Configuration จากนั้นจะปรากฏหน้าต่างสำหรับกำหนดอินพุต/เอาต์พุตโมดูล การกำหนดโมดูลนั้นให้คลิกที่หมายเลข Slot ตัวอย่างในรูปคลิกเมาส์เลือกที่ Slot ที่ 1 จากนั้นดับเบิลคลิกเลือกโมดูลที่ต้องการทางขวามือโมดูลที่เลือกก็จะปรากฏใน Slot ที่เราเลือกทางด้านซ้ายมือทำอย่างนี้จนครบโมดูลที่เราต้องการ

รูปที่ 16 เลือกโมดูลให้กับโปรเจกต์

 



รูปที่ 17 ตัวอย่างโมดูลที่เลือกทั้งหมดสำหรับโปรเจกต์

ขั้นตอนที่ 6 เขียนโปรแกรมลอจิก
      

เมื่อต้องการเปิดโปรแกรมไฟล์ให้ดับเบิ้ลคลิกไอคอนในโปรเจกต์ทรี โดยไฟล์แลดเดอร์นั้นจะอยู่ทางด้านขวามือของหน้าต่างโปรแกรม RSLogix 500 โดยทั่วไปแล้วนั้นไฟล์หมายเลข 2 จะเป็นไฟล์โปรแกรมหลัก

คลิกที่ Rung สุดท้ายแล้วเลือกไอคอนสำหรับสร้าง Rung ใหม่จากแถบเครื่องมือ จากนั้นคลิกคำสั่งเพื่อวางคำสั่งบน Rung เราสามารถวางคำสั่งได้หลาย ๆ คำสั่งจากซ้ายไปขวา

รูปที่ 18 เขียนโปรแกรมลอจิก

 

 ขั้นตอนที่ 7 เพิ่มเอกสารให้กับคำสั่งลอจิก (Documentation)

 มีหลายวิธีที่จะกำหนดสัญลักษณ์ (Symbols) คำอธิบาย (Descriptions) ให้กับแอดเดรสในฐานข้อมูล
- การแก้ไขสัญลักษณ์และคำอธิบายจากไฟล์โปรแกรม
- การแก้ไขสัญลักษณ์และคำอธิบายจากไฟล์ข้อมูล
- การแก้ไขฐานข้อมูลด้วย Database Editor
- เพิ่มสัญลักษณ์เมื่อสร้างคำสั่งใหม่
- แสดงและแก้ไขฐานข้อมูลด้วย Microsoft Excel (สำหรับ RSLogix 500 Professional)

ตัวอย่างดังรูปที่ 19 เมื่อเราป้อนแอดเดรสให้กับคำสั่งใหม่จะปรากฏ Pop Up สำหรับให้เราป้อนสัญลักษณ์และคำอธิบาย

รูปที่ 19 ตัวอย่างการกำหนดสัญลักษณ์และคำอธิบาย


ขั้นตอนที่ 8 การตรวจสอบความถูกต้องของโปรเจกต์ (Project Validate)
              

  ก่อนที่จะแปลงโปรแกรม (Compile) หรือดาวน์โหลดโปรแกรมลงโปรเซสเซอร์เราควรตรวจสอบความถูกต้องของโปรเจกต์ก่อน โดยสามารถตรวจสอบทีละโปรแกรมหรือตรวจสอบทั้งโปรเจกต์การตรวจสอบความถูกต้องของไฟล์นั้นให้คลิกที่ไอคอนการตรวจสอบ Edit>Verify File หากต้องการตรวจสอบทั้งโปรเจกต์คลิก Edit>Verify Project จากนั้นจะปรากฏหน้าต่างเอาต์พุตแสดงข้อมูลเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในโปรแกรมลอจิก

 

รูปที่ 20 เลือกเมนูสำหรับตรวจสอบความถูกต้องของไฟล์หรือโปรเจกต์

 

ขั้นตอนที่ 9 การกำหนดช่องสื่อสาร, ดาวน์โหลด และออนไลน์

      ก่อนที่เราจะออนไลน์เราจะต้องกำหนดการสื่อสารของโปรเซสเซอร์ก่อนเช่น กำหนดบอด (Baud Rate, อัตราความเร็วในการส่งข้อมูล), โปรโตคอล (Protocol) ขั้นตอนวิธีการติดต่อสื่อสารที่ทำให้คอมพิวเตอร์และโปรเซสเซอร์ติดต่อกันได้) โดยที่จะขึ้นกับโปรเซสเซอร์ ดับเบิลคลิกที่ Channel Configuration ในโปรเจกต์ทรีและกำหนดพารามิเตอร์

     ขั้นตอนสุดท้ายคือคลิก Download

รูปที่ 21 การกำหนดช่องสื่อสาร

 

ขั้นตอนที่ 10 แสดงผลไฟล์ข้อมูล

     เราสามารถใช้โปรแกรม RSLogix 500 แสดงผลที่เกิดขึ้นในไฟล์ข้อมูลโดยสามารถทำงานได้ดังต่อไปนี้

- กำหนดไฟล์ข้อมูลที่ต้องการแสดงผล
- เปลี่ยนแปลงค่าในตารางข้อมูล
- เปลี่ยนแปลงการแสดงเป็นเลขฐานต่าง ๆ
- แสดงแอดเดรสที่ใช้ในแลดเดอร์ลอจิก
- สลับระหว่างไฟล์
- กระโดดไปยังแอดเดรสในไฟล์ตารางข้อมูลอื่น
- การอ้างอิงข้อมูลถึงที่อื่น

  เมื่อเราต้องการแสดงผลไฟล์ตารางข้อมูล คลิกไอคอนของไฟล์ข้อมูลที่ต้องการแสดงโดยที่สามารถเปิดหลาย ๆ ไฟล์ได้ในเวลาเดียวกัน



รูปที่ 22 ตัวอย่างแสดงไฟล์ข้อมูลจำนวนเต็ม (Integer, N7)

 

ขั้นตอนที่ 11 การค้นหาและแทนที่คำสั่ง

 เราสามารถที่จะค้นหาตำแหน่งของคำสั่ง, แอดเดรสและสัญลักษณ์ภายในแลดเดอร์ไดอะแกรมได้อย่างรวดเร็วในโปรแกรม RSLogix 500 โดยป้อนคำที่ต้องการค้นหาในช่องดังแสดงในรูปที่ 23


รูปที่ 23 การป้อนคำสั่ง แอดเดรส หรือสัญลักษณ์เพื่อค้นหา
    

หากต้องการค้นหาและแทนที่สารถเลือกที่เมนู Search

รูปที่ 24 เมนู Search

ขั้นตอนที่ 12 การพิมพ์รายงาน

เราสามารถสั่งพิมพ์ส่วนประกอบต่าง ๆ ของโปรเจกต์เช่น ไฟล์โปรแกรม, ไฟล์ตารางข้อมูล, ข้อมูลของโปรเซสเซอร์ โดยเลือกเข้าเมนู File แล้วเลือก Report Options



รูปที่ 25 แสดงเมนูเกี่ยวกับการพิมพ์รายงาน

 

รูปที่ 26 Report Option

 

  จากขั้นตอนการทำงานที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้อธิบายการใช้งานและการทำงานของโปรแกรม RSLogix 500 โดยสังเขปโดยแสดงให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาโปรเจกต์ของการควบคุมอัตโนมัติด้วยโปรแกรม RSLogix 500 กับพีแอลซี Allen Bradley

 


เอกสารอ้างอิง
- RSLogix 500 GETTING RESULTS GUIDE, Rockwell Automation Technologies, Inc.
- MicroLogix 1200 Programmable Controllers Bulletin 1762 Controllers and Expansion I/O User Manual, Rockwell Automation Technologies, Inc.


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด