เนื้อหาวันที่ : 2013-05-02 16:47:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7354 views

“เอมาร์ค” จากแล็บการแพทย์ สู่การตรวจสินค้าอาหารและเกษตรหวังให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีหนุนบริษัทเอกชน ตั้งแล็บตรวจวิเคราะห์อาหารและการเกษตรครบวงจร ในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และให้คำปรึกษาการทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ พร้อมพัฒนาสู่สถาบันระดับภูมิภาค สร้างมาตรฐานการส่งออกของไทยสู่สากล

“เอมาร์ค” จากแล็บการแพทย์ สู่การตรวจสินค้าอาหารและเกษตร
หวังให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก


ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี

    ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีหนุนบริษัทเอกชน ตั้งแล็บตรวจวิเคราะห์อาหารและการเกษตรครบวงจร ในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และให้คำปรึกษาการทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ พร้อมพัฒนาสู่สถาบันระดับภูมิภาค สร้างมาตรฐานการส่งออกของไทยสู่สากล
    
     เอมาร์ค หรือ บริษัทศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (ASIA MEDICAL AND AGRICULTURAL LABORATORY AND RESEARCH CENTER: AMARC) เกิดจากการรวมกลุ่มระหว่างแพทย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญทางห้องปฏิบัติการด้านงานทดสอบ และเป็นศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยภาคเอกชนเพียงบริษัทเดียวที่มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลักเป็นคนไทยทั้งหมด โดยมีความต้องการจะทำให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้รับการควบคุมคุณภาพบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการตรวจวิเคราะห์โดยระบบคุณภาพ อันเป็นที่ยอมรับและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล 
       
     
       เดิมทีนั้นเอมาร์คเป็นห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านการแพทย์ แต่เมื่อเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำธุรกิจส่งออกด้านเกษตรและอาหารเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ในประเทศขณะนี้ไม่สามารถรองรับการตรวจได้เพียงพอ ผู้ประกอบการต้องเข้าคิวรอตรวจค่อนข้างนาน ทำให้สินค้าเกษตรและอาหารที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาเกิดความเสียหาย และไม่สามารถส่งมอบให้กับลูกค้าได้ทันเวลา

ผู้บริหารของบริษัทจึงเข้าไปขอรับการสนับสนุน “เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ” จาก โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) ภายใต้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ในวงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดตั้ง ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งในส่วนของการซื้อเครื่องมือ และรับผู้เชี่ยวชาญเพิ่ม

 


     
     รศ.นพ.วิรัตน์ วงศ์แสงนาค
     ประธานกรรมการเอมาร์ค

 
     รศ.นพ.วิรัตน์ วงศ์แสงนาค ประธานกรรมการเอมาร์ค กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศคู่ค้า ที่กลุ่มประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกพยายามนำมาตรการทางด้านสุขอนามัย และนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร มาใช้เพื่อกีดกันทางการค้า และเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงการตรวจวิเคราะห์สินค้าอาหารทางห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากลมากขึ้น


     “บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวและธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัยรับรองคุณภาพของอาหารและผลิตผลทางการเกษตร ตลอดจนถึงเพื่อแก้ไขปัญหาการรอคิวตรวจของผู้ผลิตฯ เพื่อการส่งออกซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากและตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศคู่ค้า

บริษัทจึงขอรับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนจาก TMC ในการจัดตั้ง ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อเป็นศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยภาคเอกชนของไทยที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการเกษตรที่ครบวงจร เช่น การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหารสดและอาหารสำเร็จรูป ตรวจผลิตผลด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น” รศ.นพ.วิรัตน์ กล่าว


     โครงการนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านห้องปฏิบัติการในประเทศแล้ว ยังนับเป็นการเพิ่มศักยภาพของคนไทยที่จะพัฒนาเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น และสำคัญ ทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นด้วย
       
    


     


     
     สำหรับการให้บริการของห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหาร ได้แก่ ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ให้บริการตรวจวิเคราะห์วิจัยทางด้านจุลินทรีย์และเชื้อปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง น้ำดื่ม และน้ำที่ใช้ในฟาร์มและโรงงานผลิต ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ห้องปฏิบัติการเคมี ให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางด้านอาหารและเกษตรเคมี และออกใบรับรองคุณภาพแก่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร ตรวจวิเคราะห์ประกอบการจัดทำฉลากโภชนาการ ว่ามีคุณค่าสารอาหารตรงตามฉลากหรือไม่ ห้องปฏิบัติการทางกายภาพ และวิเคราะห์สิ่งปลอมปน ให้บริการตรวจด้านกายภาพในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนตรวจหาสิ่งปลอมปนแก่โรงงานอุตสาหกรรม


     นอกจากการขอรับทุนสนับสนุนจาก CD ด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแล้ว เอมาร์คยังได้รับความช่วยเหลือจาก โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ใน โครงการฝึกอบรมและให้คำแนะนำในการจัดทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ด้วย ปัจจุบันเอมาร์คผ่านการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025: 2005

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด มีการดำเนินงานด้วยระบบคุณภาพ มีบุคลากรซึ่งมีความสามารถด้านการตรวจวิเคราะห์และผลการทดสอบที่ผ่านการรับรองโดยเอมาร์คนั้นเป็นที่น่าเชื่อถือได้ทางวิชาการ ทั้งนี้เองมาร์คยังผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 15189: 2003 สำหรับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการที่มาใช้บริการได้ว่าผลการวิเคราะห์ย่อมถูกต้องได้มาตรฐานสากล


     รศ.นพ.วิรัตน์ วงศ์แสงนาค กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายระยะยาว คือ อยากให้เอมาร์คกลายเป็นศูนย์กลางการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยซึ่งให้บริการครอบคลุมได้อย่างครบวงจร สามารถให้บริการงานวิจัยด้านอาหารและเกษตรเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ส่งออกได้มากขึ้น เป็นแหล่งการเรียนรู้ทางวิชาการด้านงานทดสอบและเทคโนโลยี และคาดหวังที่จะให้เอมาร์คก้าวไปสู่การเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับการวิเคราะห์สินค้าอาหารและเกษตรในระดับภูมิภาคต่อไป


งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี 
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1476-8,
www.tmc.nstda.or.th
สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ: ธณาพร (เอ็ม), สุธิดา (ไก๋)
โทรศัพท์ 0-2270-1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล:
prtmc@yahoo.com

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด