เนื้อหาวันที่ : 2013-04-26 17:17:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4907 views

มหันตภัยไวรัสกลายพันธุ์ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009: Influenza A (H1N1)

หลังจากที่มวลมนุษยชาติได้เผชิญกับการระบาดของโรคซารส์ (โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง โดยมีชะมดเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ) และไข้หวัดนกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง

มหันตภัยไวรัสกลายพันธุ์ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009: Influenza A (H1N1)
ศิริพร วันฟั่น

    หลังจากที่มวลมนุษยชาติได้เผชิญกับการระบาดของโรคซารส์ (โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง โดยมีชะมดเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ) และไข้หวัดนกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนหนึ่งอีกทั้งต้องสังเวยชีวิตไก่เป็นจำนวนกว่าหลายล้านตัว ซ้ำยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวในหลายประเทศ แต่เหมือนเคราะห์กรรมของมวลมนุษยชาติยังไม่จบง่าย ๆ และแล้วมหันตภัยตัวใหม่ก็มาปรากฏโฉมหน้าให้ต้องผวากันอีกครั้ง เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานการระบาดของโรคปอดบวมในประเทศเม็กซิโก

ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552 ซึ่งการระบาดของโรคได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในเดือนเมษายน ข้อมูล ณ วันที่ 24 เม.ย.52 พบผู้ป่วยมากกว่า 854 ราย เสียชีวิต 59 ราย ซึ่งผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่า ป่วยด้วยโรคเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน ที่มีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในหมูผสมอยู่ด้วย จำนวน 18 ราย ต่อมามีการพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศสหรัฐอเมริกาอีก 20 ราย ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเดียวกัน ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย 7 ราย เท็กซัส 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 มลรัฐนี้มีชายแดนติดกับประเทศเม็กซิโก มลรัฐนิวยอร์ก  8 ราย แคนซัส 2 ราย โอไฮโอ 1 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

 แต่เนื่องจากเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ และข้อมูลการสอบสวนโรค บ่งชี้ว่า การระบาดเป็นการติดต่อจากคนสู่คน และมีผู้เสียชีวิต ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดครั้งใหญ่ขยายไปสู่ประเทศอื่น องค์การอนามัยโลกจึงส่งผู้เชี่ยวชาญไปดำเนินการประสานงานป้องกันควบคุมโรคร่วมกับรัฐบาลเม็กซิโก รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 


     ต่อมา ข่าวการระบาดหนักของโรคไข้หวัดใหญ่ในหมู หรือไข้หวัดหมู (Swine Flu) สายพันธุ์ใหม่ในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก และบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็แพร่สะพัดทำให้ผู้คนทั้งโลกตระหนกตกใจเข้าไปอีก โดยนาย โฮเซ่ อังเคล คอร์โดวา รัฐมนตรีสาธารณสุข ของเม็กซิโกออกมาระบุว่า โรคระบาดตัวใหม่คร่าชีวิตผู้คนที่นั่นไปแล้ว 81 ราย จากผู้ที่ป่วยทั้งสิ้นมากกว่า 1,300 ราย นับตั้งแต่ วันที่ 13 เมษายน 2552 เป็นต้นมา (ตัวเลขเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2552) โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-45 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณที่ส่อเค้าอันตราย เพราะโรคนี้มีลักษณะเหมือนโรคระบาดครั้งร้ายแรงในอดีตซึ่งมีอัตราของผู้เสียชีวิตที่อยู่ในวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงสูง


     ด้วยเหตุนี้จึงทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับนั่งไม่ติด ต้องประชุมฉุกเฉินออกประกาศเตือนอันตรายเนื่องจากเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ และข้อมูลการสอบสวนโรค บ่งชี้ว่า การระบาดเป็นการติดต่อจากคนสู่คน และมีผู้เสียชีวิต องค์การอนามัยโลกจึงได้ออกประกาศเตือนประเทศสมาชิก ตามลำดับ ดังนี้คือ

- วันที่ 25 เม.ย.52 ประกาศให้ สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) ถือเป็นการส่งสัญญาณเตรียมความพร้อมในทุกประเทศให้รับมือกับการระบาดของโรค ซึ่งแม้จะเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่หากวินิจฉัยโรคได้เร็ว ก็จะสามารถรักษาได้ทัน โดยให้เน้นในเรื่องของการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดในแต่ละพื้นที่ และเตือนว่าโรคไข้หวัดหมูอาจแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว 

- วันที่ 27 เม.ย.52 ประกาศปรับระดับการระบาดจากเดิม ระดับ 3 เป็นระดับ 4 คือมีการระบาดอย่างต่อเนื่องในระดับชุมชน (จากระดับความรุนแรงสูงสุด  6 ระดับ)  

- วันที่ 29 เมษายน 2552 ประกาศยกระดับการเตือนการระบาดเป็นระดับ 5 คือมีการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวจากคนสู่คนในอย่างน้อย 2 ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน แต่ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีการติดเชื้อ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกประเทศเริ่มปฏิบัติการตามแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น การค้นหาโรคได้รวดเร็ว การรักษาพยาบาล และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข


    ในระยะแรก การรายงานโรคนี้ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Swine Flu” หรือไข้หวัดใหญ่หมู ซึ่งโดยปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่หมูเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นกับหมู มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หลายชนิด เช่น H1N1, H1N2, H3N1, H3N2 และแต่ละชนิดมีหลากหลายสายพันธุ์ ตามปกติการเกิดโรคในหมู บางครั้งอาจมีผู้ติดเชื้อจากหมูและป่วยซึ่งไม่บ่อยนัก การติดเชื้อเกิดจากการที่ คนหายใจเอาละอองฝอยที่หมูไอ หรือจามเข้าไป หรือการสัมผัสกับหมู หรือสิ่งแวดล้อมที่หมูอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโกนี้จากผลการตรวจวิเคราะห์ในระดับพันธุกรรม

พบว่า เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบในคน ซึ่งยังไม่เคยพบในหมูมาก่อน และไม่มีรายงานการระบาดของโรคนี้ในหมูทั้งในประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และผลจากการสอบสวนโรค ก็ไม่พบผู้ใดติดโรคจากหมู หากแต่เป็นการแพร่กระจายโรคอย่างรวดเร็วจากคนสู่คน เชื้อนี้มีความไวต่อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และคาดว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของคน ซึ่งมีสายพันธุ์ H1N1 ประกอบอยู่ด้วย ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ได้


    ต่อมา นายดิค ทอมป์สัน โฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวในวันที่ 1 พ.ค. 52 ว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารกำลังกังวลอย่างยิ่งว่า การเรียกชื่อโรคไข้หวัดหมู (Swine Flu) อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนัก ทั้งที่การแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเนื้อหมูแต่อย่างใด เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนอันจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงเห็นควรพิจารณาเปลี่ยนชื่อ "ไข้หวัดหมู" โดยประกาศให้เรียกชื่อโรคนี้อย่างเป็นทางการว่าโรค “ไข้หวัดใหญ่เอช 1 เอ็น 1 ชนิดเอ: Influenza A (H1N1)” ส่วนกระทรวงสาธารณสุขของไทย ก็ตอบรับทันควันเช่นกันโดยเปลี่ยนการเรียกชื่อบ้างให้สอดคล้องกับประกาศขององค์การอนามัยโลก เป็น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1”  หรือชื่อสั้น ๆ ว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

  ขณะที่ นางมารี พอล คีนีย์ ผู้อำนวยการด้านการวิจัยวัคซีนขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยในวันที่ 4 พ.ค. 52 ว่า “โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ในการพัฒนาวัคซีนที่พร้อมฉีดป้องกันให้แก่มนุษย์ได้หลังทราบรายละเอียดของเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาด ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้น้อยมากที่วัคซีนป้องกันโรคหวัดที่มีอยู่ในขณะนี้ จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 หรือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้”

  ส่วน นายสก็อต ไบรอัน โฆษกศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) แถลงในวันที่ 5 พ.ค. 52 ว่า “มีความเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสเอช 1 เอ็น1 ที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจมีต้นตอการระบาดมาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะผลจากการสอบสวนพบว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อหลายรายในรัฐแคลิฟอร์เนียก่อนที่จะพบการแพร่ระบาดในเม็กซิโก โดยรายแรกที่ตรวจพบในแคลิฟอร์เนียเป็นเด็กชายวัย 10 ขวบ ในเมืองซานดิเอโกซึ่งมีพรมแดนติดกับเม็กซิโก เด็กคนนี้ล้มป่วยในวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ก่อนจะเกิดการระบาดในเม็กซิโกเสียอีก

ส่วนรายที่ 2 เป็นเด็กหญิงวัย 9 ขวบจากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเข้ารักษาอาการไอ มีไข้สูง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ผลการตรวจสอบยืนยันเมื่อวันที่ 17 เมษายน ว่าเด็กสองคนนี้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยที่เด็กทั้งสองคนไม่เคยเดินทางไปเม็กซิโกหรือติดต่อสัมผัสกับหมูเลย” ดังนั้นจึงนับได้ว่าเด็กชายในแคลิฟอร์เนียเป็นรายแรกของโลกที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ที่พบและเป็นข่าวว่ามีการแพร่ระบาดมากในเม็กซิโกก็อาจเป็นเพราะสุขอนามัยและการควบคุมป้องกันโรคของสหรัฐฯ ดีกว่า

 และหลังจากที่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น1 โดยในระยะแรกเริ่มนั้นมาจากประเทศเม็กซิโก ในราวกลางเดือนมีนาคม 52 แต่มาเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในปลายเดือนเมษายน 52 จนกระทั่งมาถึงวันที่ 4 พ.ค. 52 ก็พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดได้บรรเทาลงพอสมควร แต่ นางมากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้รีบออกมาเตือนว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อาจกลับมาระบาดใหม่เป็นระลอกสอง และจะมีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แม้จะดูเหมือนว่าการระบาดในปัจจุบันได้บรรเทาลงแล้วก็ตาม และว่าอัตราการตายจากหวัดมรณะที่ลดลงในขณะนี้

ไม่ได้หมายความว่าการระบาดได้ยุติลงแล้ว หากเกิดการระบาดขึ้นมาอีกครั้งจะเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการระบาดขึ้นในโลก ในศตวรรษที่ 21 และแม้ว่าตัวเลขผู้ป่วยจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็อาจเพิ่มขึ้นในอีกหลายเดือนข้างหน้าได้ เหมือนครั้งไข้หวัดใหญ่สเปน (Spain Flu) ระบาดในปี ค.ศ.1918 (พ.ศ. 2461) โดยช่วงแรกมีการระบาดมากในฤดูใบไม้ผลิ แล้วลดหายไปในช่วงฤดูร้อน และกลับมาระบาดหนักในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 40–50 ล้านคน รวมถึงอาจโผล่เป็นภัยคุกคามในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 หากไวรัสทั้งสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 กับสายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 ผสมกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่า อาจส่งผลกระทบครั้งใหญ่ได้ ส่วนวัคซีนต้านไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ก็ให้คงการผลิตต่อไป เพราะในแต่ละปีมีผู้ป่วย 2-3 ล้านคนและเสียชีวิตมากถึง 500,000 ราย”
 

การระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ครั้งสำคัญ ๆ ในอดีต

   - พ.ศ.2461-2462 (ค.ศ.1918-1919) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H1 N1 ซึ่งยุคนั้นยังไม่สามารถตรวจแยกเชื้อได้ แต่มีการตรวจชนิดของเชื้อไวรัสในภายหลัง) ชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spain Flu)” เป็นการระบาดทั่วโลกครั้งร้ายแรงที่สุด มีผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐกว่า 500,000 คน

   - พ.ศ.2500-2501 (ค.ศ.1957-1958) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H2 N2 ที่มีชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu)” ระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนจะระบาดไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต 70,000 คน ส่วนในสหรัฐ การระบาดครั้งนี้สามารถตรวจพบและจำแนกเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตวัคซีนออกมาฉีดป้องกันได้ทันท่วงที จึงมีผู้เสียชีวิตไม่มากนัก

   - พ.ศ.2511-2512 (ค.ศ.1968-1969) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H3 N2 ที่มีชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu)” รายงานผู้ป่วยรายแรกเป็นชาวฮ่องกง มีผู้เสียชีวิตประมาณ 34,000 คน ในสหรัฐ เป็นชนิดย่อยที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไข้หวัดใหญ่เอเชีย (H2 N2) จึงมีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก เพราะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว

   - พ.ศ.2520-2521 (ค.ศ.1977-1978) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H1 N1 กลับมาระบาดใหม่ มีชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian Flu)” เริ่มระบาดที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตอนเหนือ แล้วกระจายไปทั่วโลก ทราบภายหลังว่าเป็นไวรัสชนิดเดียวกับ ไข้หวัดใหญ่สเปน (H1 N1)

  รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่เอ เอช 1 เอ็น1 ที่กำลังระบาดทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.- 8 มิ.ย. 52 มียอดผู้ป่วยรวม 21,940 ราย ใน 69 ประเทศ ยอดผู้เสียชีวิต 125 รายใน 5 ประเทศทั่วโลก อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.57 โดยเม็กซิโก มีรายงานผู้ติดเชื้อ 5,563 ราย เสียชีวิต 103 ราย ที่สหรัฐฯ 11,054 ราย เสียชีวิต 17 ราย แคนาดา 1,795 ราย เสียชีวิต 3 ราย คอสตาริกา 68 ราย เสียชีวิต 1 ราย และชิลี 369 ราย เสียชีวิต 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีอีก 64 ประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยไทยถูกประกาศเป็นประเทศลำดับที่ 31 ที่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 10 ราย ในจำนวนนี้ 9 ราย ติดมาจากต่างประเทศ ส่วนอีก 1 รายติดภายในประเทศ และถือได้ว่าไทยเป็นประเทศแรกในแถบภูมิภาคอาเซียนที่มีรายงานผู้ติดเชื้อนี้

  สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ รวมทั้งรายงานให้องค์การอนามัยโลกที่เจนีวา และสมาชิกอาเซียน ทราบแล้วตามลำดับดังนี้ คือ

  - 12 พ.ค. 52 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จำนวน 2 ราย โดยทั้งคู่เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

   - 30 พ.ค. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

   - 31 พ.ค. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รายที่ 4 รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

   - 2 มิ.ย. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รายที่ 5 รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 5 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

   - 4 มิ.ย. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 8 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 7 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย (ซึ่งรายที่ 7 เป็นลูกชายวัย 19 ปีที่ติดเชื้อมาจากแม่ที่เดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐฯ จึงนับว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อในประเทศ) 

   - 7 มิ.ย. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 9 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 8 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย 

  - 8 มิ.ย. 52 ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 10 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 9 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย


แผนการตั้งรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศไทย

    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมาว่า “ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองประธาน ได้แก่ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรรมการมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการดูแลประชาชนในประเทศไม่ให้ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ระหว่างประเทศ เพื่อหาแนวทางป้องกัน ส่วนลักษณะการเฝ้าระวังจะใช้รูปแบบเดียวกับที่เกิดไข้หวัดนก”


มาตรการและการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข

 1. เร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นในการเฝ้าระวังโรค 
    เร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการรายงานผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม รวมทั้งขยายขอบเขตให้ครอบคลุมผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง โดยได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเผยแพร่ให้กับหน่วยงานสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ กับ ทีมเฝ้าระวังและสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,030 ทีม และ ครอบคลุมทุกจังหวัดและอำเภอ เพื่อดำเนินการค้นหาผู้ป่วย ตรวจจับการระบาดได้อย่างรวดเร็ว และ ควบคุมได้ทันท่วงที

2. เตรียมพร้อมด้านการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ   
    ขณะนี้ทั่วประเทศ มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสามารถรายงานผลการตรวจได้ภายใน 4 ชั่วโมง จำนวน 14 แห่ง มีรถเคลื่อนที่ที่สามารถตรวจยืนยันเชื้อของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 6 คัน เพราะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศิริราชพยาบาล รวมทั้งองค์การอนามัยโลกและศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข

3. เตรียมความพร้อมด้านการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย
    เพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วและให้การรักษาได้ทันท่วงที กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาล โดยจัดทำแนวทางการคัดกรองผู้ป่วยและการรักษาพยาบาล ส่งให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ และขณะนี้ได้มีการปรับปรุงตามสถานการณ์โรคเป็นระยะ ๆ รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีห้องแยกเพื่อดูแลผู้ป่วยทุกแห่ง ไว้พร้อมแล้ว

4. สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ 
    กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรองยาต้านไวรัสและวัสดุ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของบุคลากรสาธารณสุขไว้ เพื่อรักษาและป้องกันโรค โดยมีความมั่นใจว่าเพียงพอต่อการระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกของการระบาด ซึ่งหากการระบาดของโรคขยายวงกว้างขึ้นภายในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุด เพื่อให้ได้เป้าหมายเพียงพอต่อความต้องการ

5. ให้สุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ 
    เพื่อให้ข้อมูลประชาชน ให้รู้ถึงสถานการณ์ที่ถูกต้องและรู้วิธีในการป้องกันโรคอย่างครบถ้วน โดยออกประกาศคำแนะนำประชาชนในการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ รวมทั้งเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข (www.moph.go.th) และ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ (http://beid.ddc.moph.go.th) และ ศูนย์บริการข่าวสารเบอร์ 02-590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง

6. ตรวจผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 
    กรมควบคุมโรคได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo Scan) ที่สนามบินนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และ สนามบินสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อคัดกรองผู้โดยสารที่มีอาการไข้ การเตรียมพร้อมที่จะใช้งานเมื่อมีความจำเป็นโดยจะดูแลผู้เดินทางให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมแจกคำเตือนสุขภาพสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในประเทศจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ถึงความพร้อมของมาตรการป้องกันควบคุมโรคของประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ 

     ตรวจการคัดกรอง: นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo Scanner) ร่างกายผู้โดยสารขาเข้า เพื่อคัดกรองผู้ป่วยจากไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ที่อากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา
   
    นอกจากนี้ ไทยยังได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน +3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) ในระหว่างวันที่ 7- 8 พฤษภาคม 2552 ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขฟิลิปปินส์เป็นประธานรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดเข้าสู่อาเซียน และรับมือเร่งด่วนกรณีเกิดการระบาดในระดับภูมิภาค โดยสาระสำคัญของที่ประชุมนั้น ก็คือ มีมติให้แต่ละประเทศดำเนินมาตรการที่เข้มข้นในการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และประสานงานกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างใกล้ชิด  นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันจัดตั้งระบบคลังยา เวชภัณฑ์ที่จำเป็นของภูมิภาคอาเซียน บวก 3 ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

  ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 500,000 ชุด และจีนซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้เป็นจำนวนมาก ได้ประกาศพร้อมที่จะสนับสนุนยาชนิดนี้ให้กับภูมิภาคอาเซียน หากมีความต้องการและเกิดการระบาดใหญ่ของโรคนี้ นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีบทสรุปในข้อตกลง 15 ข้อ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 62 ในระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะมีผู้แทนรัฐบาลประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 193 ประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน

      ผนึกกำลังต้าน: นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ถ่ายรูปร่วมกับรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน + 3 หลังจากกล่าวสุนทรพจน์ ในพิธีเปิดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน + 3 นัดพิเศษเพื่อหารือมาตรการป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552
      
    และในวันที่ 21 พ.ค. 52 ที่สหประชาชาติ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. และ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือระหว่าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.ศิริวัฒน์ ทิพธราดล รองปลัด สธ. ฝ่ายไทย กับ ดร.แมรี่ พอล คีนีย์ ผู้อำนวยการด้านการวิจัยวัคซีน และ ดร.เดซี่ มาฟูบีลู รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้แทนองค์การอนามัยโลก เพื่อให้ อภ.สามารถใช้สายพันธุ์เชื้อเป็น และข้อมูลในการพัฒนาการวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเป็น

ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากบริษัท โนบีลอน (Nobilon-Schering-Plough) ที่ได้รับจากประเทศรัสเซีย ทั้งนี้ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน กล่าวว่า ไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่เข้าร่วมผลิตวัคซีนนำร่องในประเทศกำลังพัฒนา และเป็นประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้ามากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่ไทยได้ประกาศที่จะบริจาควัคซีนให้กับคลังวัคซีนโลก นอกจากนี้ไทยยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 โดยครั้งนี้นับช่วงเวลาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาถึงวันที่ 30 เมษายน 2553 เพื่อให้ อภ.ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น ซึ่งมีโรงงานที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี งบประมาณ 1,400 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างเดือนกันยายนนี้ ใช้เวลาประมาณ 18 เดือน จะเริ่มผลิตปี 2555 กำลังการผลิตรองรับได้ปีละกว่า 60 ล้านโดส และผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลปีละ 10 ล้านโดส

คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับเจ้ามหันตภัยไวรัสกลายพันธุ์ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009: Influenza A (H1N1)
    
1. ไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดตามข่าวอยู่ในขณะนี้ คือโรคอะไร

ตอบ: โรคที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากหมู เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1; Influenza A (H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในหมูและในคน เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่คน ไข้หวัดใหญ่หมู และไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกด้วย โดยเริ่มพบการระบาดที่ประเทศเม็กซิโก และแพร่ไปกับผู้เดินทางไปในอีกหลายประเทศ ระยะแรก กระทรวงสาธารณสุขใช้ชื่อโรคนี้ว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก” และเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ประกาศชื่อเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” และใช้ชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009”


2. เหตุใดจึงไม่ใช้คำว่าไข้หวัดหมู (Swine Flu
)

ตอบ: เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ ในการรายงานโรคนี้ช่วงแรกในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Swine Flu” หรือไข้หวัดใหญ่หมู โดยปกติแล้ว ไข้หวัดใหญ่หมูเป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นในหมู มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หลายชนิด เช่น H1N1, H1N2, H3N1 และ H3N2 แต่ละชนิดมีหลากหลายสายพันธุ์ ตามปกติการเกิดโรคในหมูบางครั้งอาจมีผู้ติดเชื้อจากหมูและป่วยซึ่งเกิดไม่บ่อยนัก การติดเชื้อเกิดโดยคนหายใจเอาละอองฝอยเมื่อหมูไอ หรือจาม เข้าไป หรือการสัมผัสกับหมู หรือสิ่งแวดล้อมที่หมูอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโกนี้ ผลการตรวจวิเคราะห์ในระดับพันธุกรรมพบว่า เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่พบในคน และยังไม่เคยพบในหมูมาก่อน และการระบาดดังกล่าว ไม่มีรายงานโรคนี้ระบาดในหมูทั้งในเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา และผลการสอบสวนโรค ไม่พบผู้ใดติดโรคจากหมู หากแต่เป็นการแพร่กระจายโรคจากคนสู่คนเท่านั้น

    ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนการเรียกชื่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากที่เคยเรียกว่า ไข้หวัดหมู หรือ สไวน์ ฟลู (Swine Flu) และไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก (A/California/04/2009 โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ตรวจแยกเชื้อได้ครั้งแรกที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เดือนเมษายน ค.ศ.2009) เป็น “ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1” Influenza A (H1N1) กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1”  และชื่อย่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” เพื่อสื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจตรงกัน ไม่สับสนกับไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่เกิดตามฤดูกาล (Seasonal Flu) ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่คนละตัวกัน


3. เกิดการระบาดขึ้นที่ประเทศใดบ้าง

ตอบ: ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมา เริ่มพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวม รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่เอ เอช 1 เอ็น 1 ที่กำลังระบาดทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.-8 มิ.ย. 52 มียอดผู้ป่วยรวม 21,940 ราย ใน 69 ประเทศ ยอดผู้เสียชีวิต 125 รายใน 5 ประเทศทั่วโลก อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.57 โดยเม็กซิโก มีรายงานผู้ติดเชื้อ 5,563 ราย เสียชีวิต 103 ราย ที่สหรัฐฯ 11,054 ราย เสียชีวิต 17 ราย แคนาดา 1,795 ราย เสียชีวิต 3 ราย คอสตาริกา 68 ราย เสียชีวิต 1 ราย และชิลี 369 ราย เสียชีวิต 1 ราย  นอกจากนี้ ยังมีอีก 64 ประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต อาทิ เช่น สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส อาร์เจนติน่า โปรตุเกส เดนมาร์ก คิวบา ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ จีน ออสเตรเลีย ไทย เป็นต้น โดยไทยถูกประกาศเป็นประเทศลำดับที่ 31 ที่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 10 ราย ในจำนวนนี้ 9 ราย ติดมาจากต่างประเทศ ส่วนอีก 1 รายติดภายในประเทศ และถือได้ว่าไทยเป็นประเทศแรกในแถบภูมิภาคอาเซียนที่มีรายงานผู้ติดเชื้อนี้


4. เคยพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีในประเทศไทยหรือไม่

ตอบ: สำหรับประเทศไทย จากระบบการเฝ้าระวังโรคของประเทศ รวมทั้งการเฝ้าระวังผู้ป่วยและการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ไม่เคยพบเชื้อสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวนี้ ข้อมูลโรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2552 จนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น ๆ ตามฤดูกาล จำนวน 3,159 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่แตกต่างกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2551


5. คนติดโรคนี้ได้อย่างไร

ตอบ: มีอยู่ 2 ทาง คือ ทางแรก เกิดการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ หรือการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ ส่วนทางที่สอง คือ เกิดจากการสัมผัสระหว่างคนกับคนที่ติดเชื้อ โดยพบว่าคนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น แต่ไม่มีรายงานการติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู
    

6. การแพร่เชื้อเป็นอย่างไร

ตอบ: ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากสุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน ซึ่งเชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ โดยการไอจามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป หากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายแพร่เชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก 

   ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิชาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ได้กล่าวว่า เหตุผลที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แพร่จากคนสู่คนได้ดี เนื่องจากชิ้นส่วนพันธุกรรม ทั้ง 8 ท่อน ของไวรัสสายพันธุ์นี้ มีความคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ของคน หมู และสัตว์ปีก จุดสำคัญคือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้ มีส่วนของโปรตีนฮีมแอกลูตินิน (Hemagglutinin) หรือ HA ที่อยู่บนผิวไวรัส เป็นชนิด H1 ซึ่งมีความคล้ายกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดทั่วไปในคน ด้วยเหตุนี้โปรตีน H1 ของไวรัสจึงเข้าจับกับโปรตีนที่อยู่บริเวณผิวของเซลล์มนุษย์ได้อย่างดี และส่งผลให้เชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว แม้การไอหรือจาม ที่แม้จะมีเชื้อไวรัสเพียงเล็กน้อย เชื้อไวรัสก็สามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและเพิ่มจำนวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ขณะที่ไข้หวัดนกยังไม่พบการแพร่จากคนสู่คน เนื่องจากชนิดของโปรตีนฮีมแอกลูตินินของไวรัสไข้หวัดนก เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ไม่สามารถจับกับโปรตีนบริเวณผิวเซลล์มนุษย์ได้ ด้วยลักษณะบางประการที่แตกต่างระหว่างโปรตีนบนผิวเซลล์ของสัตว์ปีกและมนุษย์ เชื้อจึงทำได้เพียงแค่ก่อโรคในคน ส่วนการแพร่จากคนสู่คนนั้นยังคงเป็นไปได้ยาก 

 

รูปภาพแสดงเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009: Influenza A (H1N1) Viruses 


7. ขณะนี้สามารถรับประทานเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมู ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

ตอบ: การบริโภคเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ปรุงสุกนั้นปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ เนื่องจากไม่ใช่เชื้อไข้หวัดใหญ่หมูตัวดั้งเดิมที่พบในหมู ซึ่งแม้เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่หมูตัวดั้งเดิม การติดต่อจากหมูก็เกิดได้น้อยมาก และติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูกน้ำลายหมูป่วยเป็นหลัก นอกจากนั้น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ก็จะถูกทำลายได้ด้วยความร้อนจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปด้วย


8. อาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอะไรบ้าง

ตอบ: ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1–3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน อาการป่วยใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย  

   ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5–7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบ รุนแรง จะพบอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ 
    
  ส่วนกรณีที่เชื้อแพร่เข้าสู่กระแสโลหิต จะทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีการทรงตัวผิดปกติ เดินเอนไปเอนมาเหมือนคนเมาสุรา นอกจากนี้อาจสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกได้ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีส่วนความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กับไข้หวัดนกนั้น ก็คือ ไข้หวัดนกจะไปทุกระบบของร่างกาย แต่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะไปเฉพาะระบบทางเดินหายใจ โดยเมื่อระบบทางเดินหายใจล้มเหลวก็ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้


9. การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

ตอบ: สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาดี   สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษากันเองที่บ้าน โดย
     -  รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น  และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น
     -  ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็น 
     -  พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มากพอเพียง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น หากรับประทานอาหารได้น้อย อาจต้องได้รับวิตามินเสริม
     -  นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี
     -  ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทานยาจนหมดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา


10. มียาชนิดใดบ้างที่สามารถรักษาโรคนี้ได้

ตอบ: ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) แนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัส (Antivirus Drug) ซึ่งใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่นี้ได้ผล คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เป็นยาชนิดกิน และยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) เป็นยาชนิดพ่น นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังระบุอีกว่าไข้หวัดนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัสทามิฟลู (Tamiflu) และ รีเลนซา (Relenza) แต่ผลการตรวจเชื้อไวรัสนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อนี้ดื้อต่อยาต้านไวรัส คือ อะแมนตาดีน (Amantadine), ไรแมนตาดีน (Rimantadine) และ ฟลูมิดีน (Flumidine)

   สำหรับยาต้านไวรัส ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) นั้นพบว่าจะให้ผลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ดีที่สุด ถ้าผู้ป่วยได้รับยาเร็วภายใน 2 วันนับตั้งแต่เริ่มมีไข้ และที่สำคัญที่เราพึงทำความเข้าใจก็คือ ยาต้านไวรัสไม่ใช่ยาที่ใช้ในการป้องกัน แต่ใช้เพื่อรักษาโดยแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งจ่ายเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป


11. ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ในไทย ขณะนี้มีพอเพียงหรือไม่

ตอบ: ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้สำรองยาที่นี้ไว้พอเพียง เพื่อการควบคุมการระบาดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ณ จุดเกิดเหตุ โดยสำรองยาพร้อมใช้ทั่วประเทศจำนวน 3,250,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 325,000 ราย) และองค์การเภสัชกรรมกำลังนำวัตถุดิบที่สำรองมาผลิตยานี้ (GPO-A-Flu?) ได้สำหรับ 1,000,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย) นอกจากนี้ ยังพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดหากเกิดการระบาดใหญ่ ได้อีก 1,000,000 แคปซูล (สำหรับผู้ป่วย 100,000 ราย) ด้วย รวมถึงคณะรัฐมนตรียังอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี 80 ล้านบาท เพื่อซื้อวัตถุดิบให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยา จีพีโอ เอ ฟลู (GPO-A-Flu?) สำหรับเป็นสต๊อกจำนวน 2 ล้านเม็ด หากมีการระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยองค์การเภสัชกรรมจะสามารถผลิตยาดังกล่าวได้ถึงวันละ 250,000 เม็ด ซึ่งถือว่าเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ


12. มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นี้หรือไม่

ตอบ: ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ผลิต เร่งการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ดังกล่าว ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่ผลิตใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ได้


13. หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ตอบ:  
1. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ชุมนุมชนที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เนื่องจากมีโอกาสรับหรือแพร่กระจายเชื้อได้มาก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการรับเชื้อ
2. ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม
3. ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ
4. หากท่านมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ปวดตามเมื่อยตามร่างกาย ให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่โรคไปยังผู้อื่น และรีบไปพบแพทย์
5. ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลประเทศที่ท่านจะเดินทางไปอย่างเคร่งครัด


14. การเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Flu) ก่อนไปหรือไม่

ตอบ: ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น1 ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข ้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์


15. ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

 ตอบ:
1. หากไม่มีความจำเป็น ควรชะลอการเดินทางไปยังพื้นที่ที่กำลังเกิดการระบาดจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินทาง ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ หรือเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งติดตามข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางการในพื้นที่นั้น ๆ อย่างเคร่งครัด

2. ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด จะได้รับการแนะนำด้านสุขภาพจากทีมแพทย์ โดยให้หยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน และสังเกตอาการตนเองทุกวัน หากเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ฯลฯ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้กระดาษทิชชูปิดปากจมูกทุกครั้งที่ไอจาม และรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที กรณีที่อาการไม่รุนแรง แพทย์จะอนุญาตให้รักษาตัวที่บ้านได้ ควรหยุดงาน หยุดเรียน และงดไปในที่ชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น

3. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดย
   - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสุรา
   - หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการไอ จาม 
   - ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
   - ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
   - หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ภายในบ้าน หรือสถานที่ทำงานเดียวกัน ต้องรีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุข หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วและหน่วยงานรับผิดชอบเข้าดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดทันที 
    - หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ หากต้องดูแลผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อดูแลเสร็จ ควรรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทันที

   รวมทั้งติดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด รวมทั้งข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลทางฮ็อตไลน์ของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-1994 และศูนย์ปฏิบัติการ ฯ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0–2590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง


16. กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคนี้อย่างไรบ้าง

ตอบ: มาตรการสำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดและเพิ่มระดับความเข้มข้นการเฝ้าระวังโรคกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรง การตรวจคัดกรองผู้เดินทางระหว่างประเทศโดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิผู้เดินทาง (Infrared Thermo Scanner) ที่สนามบินนานาชาติ การตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย สำรองเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น รวมถึงการสื่อสารความเสี่ยง การให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ และให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนผ่านศูนย์ฮ็อตไลน์ จัดทำข่าวแจก จัดการแถลงข่าว และจัดทำคำแนะนำประชาชนเผยแพร่ทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข  เป็นต้น


17. หน้ากากอนามัยใช้ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดได้หรือไม่

ตอบ: หน้ากากอนามัยทั่วไปใช้ในผู้ป่วย และบุคลากรที่ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรง ควรใช้หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยขณะไอจามได้


18. ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่ใด

ตอบ: ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจรักษา หรือรับคำปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน หากมีอาการอ่อน ๆ ควรขอรับคำแนะนำและรับยาจากเภสัชกร และรักษาตัวที่บ้าน หรือขอรับคำแนะนำจากศูนย์ฮ็อตไลน์กรมควบคุมโรค

   อย่างไรก็ดี... แม้ว่าวิทยาศาสตร์และประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขในโลกปัจจุบันจะมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แต่เราจะสังเกตได้ว่าช่วงเวลาการเริ่มต้นศตวรรษใหม่เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มนุษย์กลับต้องเผชิญกับโรคร้ายแรงที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาแล้วถึง 3 สายพันธุ์ คือ ไข้หวัดนก, ซาร์ส และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งนับได้ว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ร้ายแรงที่มีศักยภาพในการคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกในชั่วพริบตา ด้วยเหตุนี้ “ไวรัสกลายพันธุ์” จึงยังคงเป็นเชื้อมรณะที่ทุกฝ่ายต้องเฝ้าระวังและจับตามองทุกขณะ

 ลำดับความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

วันที่เหตุการณ์ 18 มี.ค. 52
- องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานการระบาดของโรคปอดบวมในประเทศเม็กซิโก

24 เม.ย. 52
- พบผู้ป่วยมากกว่า 854 ราย เสียชีวิต 18 ราย ทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่า สาเหตุการเสียชีวิตมาจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ของคน ที่มีสารพันธุกรรมของหมูผสมด้วย

25 เม.ย. 52
- นาย โฮเซ่ อังเคล คอร์โดวา รัฐมนตรีสาธารณสุข ของเม็กซิโกออกมาระบุว่า โรคระบาดตัวใหม่คร่าชีวิตผู้คนเม็กซิโกไป แล้ว 81 ราย มีผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดหมูแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 1,300 ราย (นับตั้งแต่ 13 เมษายน 2552 เป็นต้นมา)

- องค์การอนามัยโลก ประกาศให้สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก เป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC)

27 เม.ย. 52
- องค์การอนามัยโลก ประกาศปรับระดับการระบาดจากเดิม ระดับ 3 เป็นระดับ 4 จากระดับความรุนแรงสูงสุด 6 ระดับ

28 เม.ย. 52
- ครม.ไทยเห็นชอบตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในประเทศไทย

29 เม.ย. 52
- องค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับการเตือนการระบาดเป็นระดับ 5

1 พ.ค. 52
- องค์การอนามัยโลก ประกาศให้เรียกชื่อโรคนี้อย่างเป็นทางการว่า “ไข้หวัด เอช 1 เอ็น 1 ชนิดเอ”; Influenza A (H1N1)”
- กระทรวงสาธารณสุขไทย เปลี่ยนการเรียกชื่อโรคให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก เป็น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 “ หรือเรียกสั่นๆ ว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009”

7-8 พ.ค. 52
- ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน +3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) สมัยพิเศษว่าด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1

8 พ.ค. 52
- ตัวแทนจากทั้ง 13 ประเทศ แถลงสรุปผลการประชุมว่า จะนำข้อตกลง 15 ข้อ นำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 62 ระหว่างวันที่ 18–22 พ.ค. นี้ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

12 พ.ค. 52
- กระทรวงสาธารณสุขไทยประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันติดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จำนวน 2 ราย เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ
- องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ไทยเป็นประเทศลำดับที่ 31 ที่มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จำนวน 2 ราย โดยเป็นการติดเชื้อจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศและถือว่าเป็นประเทศแรกในแถบภูมิภาคอาเซียน

13 พ.ค. 52
- กระทรวงสาธารณสุขไทยขออนุมัติงบประมาณจากครม. จำนวน 80 ล้านบาท เพื่อซื้อวัตถุดิบให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาต้านไวรัสจีพีโอ เอ ฟลู (GPO-A-Flu?) สำหรับเป็นสต๊อกจำนวน 2 ล้านเม็ด

18–22 พ.ค. 52
- การประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 62 ระหว่างวันที่ 18–22 พ.ค. ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้แทนรัฐบาลประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก 193 ประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน

21 พ.ค. 52
- องค์การอนามัยโลกร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมไทย (อภ.) โดยไทยสามารถใช้สายพันธุ์เชื้อเป็น และข้อมูลในการพัฒนาการวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเป็นที่ได้รับจากองค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ไทยยังได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70 ล้านบาท เพื่อให้ อภ.ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น

30 พ.ค. 52
- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

31 พ.ค. 52
- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รายที่ 4 รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

2 มิ.ย. 52
- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 รายที่ 5 รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน 5 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

4 มิ.ย. 52
- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 3 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 8 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 7 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย (ซึ่งรายที่ 7 เป็นลูกชายวัย 19 ปีที่ติดเชื้อมาจากแม่ที่เดินทางกลับมาจากประเทศสหรัฐฯ จึงนับว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อในประเทศ)

7 มิ.ย. 52
- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 9 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 8 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย

8 มิ.ย. 52
- กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน ทั้งหมด 10 ราย โดยในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จำนวน 9 ราย และติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 1 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต และมีผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวัง รอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 11 ราย

- รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่เอ เอช 1  เอ็น1 ที่กำลังระบาดทั่วโลก องค์การอนามัยโลก รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. -  8 มิ.ย. 52 มียอดผู้ป่วยรวม 21,940 ราย ใน 69 ประเทศ ยอดผู้เสียชีวิต 125 รายใน 5 ประเทศทั่วโลก อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.57 โดยเม็กซิโก มีรายงานผู้ติดเชื้อ 5,563 ราย เสียชีวิต 103 ราย ที่สหรัฐฯ 11,054 ราย เสียชีวิต 17 ราย แคนาดา 1,795 ราย เสียชีวิต 3 ราย คอสตาริกา 68 ราย เสียชีวิต 1 ราย และชิลี 369 ราย เสียชีวิต 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีอีก 64 ประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต อาทิ เช่น สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส อาร์เจนติน่า ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ จีน ออสเตรเลีย ไทย เป็นต้น โดยไทยถูกประกาศเป็นประเทศลำดับที่ 31 ที่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 10 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต ในจำนวนนี้ 9 ราย ติดมาจากต่างประเทศ ส่วนอีก 1 รายติดภายในประเทศ 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง 
- เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th 
- เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ http://beid.ddc.moph.go.th 
- เว็บไซต์กรมควบคุมโรค www.ddc.moph.go.th 
- เว็บไซต์กรมการแพทย์ www.dms.moph.go.th 
- เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ www.dmsc.moph.go.th 
- เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน ออนไลน์ http://www.matichon.co.th/matichon/
- เว็บไซต์ข่าวไทยรัฐออนไลน์ http://www.thairath.co.th/watch

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด