เนื้อหาวันที่ : 2013-04-26 16:20:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 11471 views

แผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Hygiene Program) ตอนจบ

ในตอนที่ผ่านมา เราได้กล่าวถึงความหมายและความสำคัญของสุขศาสตร์อุตสาหกรรม บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ตอนจบนี้ จะขอกล่าวถึงเนื้อหาที่สำคัญของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม นั่นก็คือ “องค์ประกอบของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม”

แผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Hygiene Program) ตอนจบ
ศิริพร วันฟั่น

  ในตอนที่ผ่านมา เราได้กล่าวถึงความหมายและความสำคัญของสุขศาสตร์อุตสาหกรรม บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม หน่วยงานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในต่างประเทศ ตลอดจนวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่ได้จากแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม รวมถึงทบทวนความรู้กันเล็กน้อยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญ ปัจจัย และอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานกันไปแล้ว ดังนั้นในตอนจบนี้ จะขอกล่าวถึงเนื้อหาที่สำคัญของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม นั่นก็คือ “องค์ประกอบของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม” ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักและเป็นแนวทางในการดำเนินงานของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

 
องค์ประกอบของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

  1. แถลงนโยบาย (Policy Statement) 
  โดยแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ควรเริ่มจากถ้อยแถลงนโยบายจากผู้บริหารอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร อันแสดงถึงการให้ความสำคัญ ความจริงใจและเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของฝ่ายบริหาร ในพันธะกิจและพันธะสัญญาที่ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ฝ่ายบริหารพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมที่วางไว้ พร้อมทั้งขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกหน่วยงานขององค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหลักของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม นั่นคือ สามารถป้องกันหรือควบคุมอันตรายที่คุกคามต่อสุขภาพและอุบัติเหตุจากการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


  2. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย 
  ควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อใช้ในการพัฒนาแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ซึ่งการทำงานอาจกระทำในรูปของคณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยมีการระบุถึงวัตถุประสงค์ให้เฉพาะเจาะจงลงไปในแต่ละส่วน เพื่อให้สามารถประเมินและวัดผลการดำเนินงานได้ เช่น ต้องการลดการบาดเจ็บอันสืบเนื่องมาจากปัญหาทางด้านเออร์โกโนมิก โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดจำนวนอุบัติเหตุลงให้ได้อย่างน้อย 20% ภายในระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการทางด้านเออร์โกโนมิก จัดการฝึกอบรมทางด้านเออร์โกโนมิกให้กับคณะกรรมการและบุคลากรที่ประสบปัญหา และคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาด้านเออร์โกโนมิกมาให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาเออร์โกโนมิกที่เกิดขึ้นในสถานที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น

  วัตถุประสงค์และเป้าหมายควรมีการประเมินและปรับปรุงให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ สำหรับการประเมินนั้นอาจรวมตั้งแต่การศึกษาว่า วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งหรือกำหนดไว้นั้นมีความชัดเจน เพียงพอหรือครอบคลุมหรือไม่ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะต่าง ๆ ก็อาจมีปัญหาใหม่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่เดิมก็อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการปรับปรุงหรือจัดทำเพิ่มเติมเข้าไป รวมถึงตัวแผนงานเองก็ควรมีการปรับปรุงให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอเช่นเดียวกัน


 3. กำหนดมาตรฐานในการทำงานและระบุถึงหน่วยงาน/บุคลากรที่รับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรม
 ควรมีการกำหนดมาตรฐานในการทำงานว่าจะมีแนวทางหรือวิธีดำเนินการอย่างไร และมีการระบุว่าหน่วยงานใดหรือบุคคลใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ รวมถึงมีการสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรได้รับทราบโดยทั่วกันถึงเป้าหมายและความสำคัญของแผนงาน เพื่อที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน และลดความสับสนในกระบวนการทำงาน รวมถึงได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานขององค์กรเป็นอย่างดี โดยควรมีการจดบันทึกไว้เป็นเอกสาร เพื่อใช้ในการประเมินผลว่ามีการดำเนินการได้ตามมาตรฐานที่มีการกำหนดไว้หรือไม่

 โดยทั่วไปแล้ว หน่วยงานหรือบุคลากรที่รับผิดชอบในการดำเนินงานในส่วนที่รับผิดชอบตามแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม มีดังต่อไปนี้ คือ

  -งานด้านการแพทย์ จะประกอบไปด้วยหน่วยงานที่จะให้การบริการทางการแพทย์ โดยมีเป้าหมายในการรักษาสุขภาพโดยรวมของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงมีการป้องกันและควบคุมโรคหรือการบาดเจ็บจากการปฏิบัติงาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็จะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานทางการแพทย์ คือ แพทย์อาชีวอนามัย (Occupational Physician) และ พยาบาลอาชีวอนามัย (Occupational Health Nurse)

  โดยแพทย์อาชีวอนามัยเป็นแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมหรือมีประสบการณ์ และความรู้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคจากการทำงานและอันตรายของสารเคมี ฟิสิกส์ ชีวภาพ และเออร์โกโนมิกที่มีผลกระทบต่อคนงาน รับรู้ถึงลักษณะอาการของผู้ป่วยที่ได้รับสารทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง พร้อมทั้งสามารถให้การรักษาและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยได้ โดยจุดมุ่งหมายหลักของแพทย์อาชีวอนามัยก็เพื่อป้องกันโรคจากการทำงาน เมื่อเกิดโรคจากการทำงานขึ้น ก็สามารถรักษาโรคจากการทำงานให้หายได้และช่วยให้คนงานมีสถานที่ปฏิบัติงานที่ดีและปลอดภัย นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดทำโครงการเฝ้าระวังทางการแพทย์ (Health Surveillance Program) โดยจัดให้มีการทดสอบที่จำเป็นตามลักษณะงานเพื่อดูแลสุขภาพของคนงาน และสามารถตรวจพบความผิดปกติของคนงานก่อนที่จะป่วยด้วยโรคจากการทำงาน

  ส่วนพยาบาลอาชีวอนามัยเป็นบุคลากรที่สำคัญในการให้การบริการทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน โดยมีหน้าที่ในการส่งเสริม ป้องกัน และทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาพดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ดีและมีความปลอดภัย

  โดยองค์กรขนาดใหญ่ควรมีแพทย์และพยาบาลทำงานเต็มเวลา และมีห้องพยาบาลที่ทันสมัยและพร้อมให้การรักษาได้ตลอดเวลา สำหรับองค์กรขนาดเล็กนั้นอาจจะไม่สามารถจัดหาแพทย์และพยาบาลมาทำงานเต็มเวลาได้ จึงต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาเป็นอย่างดีและอาจขอใช้บริการจากสถานบริการทางการแพทย์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงก็ได้


  งานด้านการแพทย์ โดยทั่วไปจะมีกิจกรรมการให้บริการ ดังนี้ คือ

- การตรวจสุขภาพ
- การวินิจฉัยและรักษาโรค
- การเก็บข้อมูลทางการแพทย์
- การตรวจสอบสารทางชีวภาพหรือการตรวจทางการแพทย์
- รับปรึกษาและให้ความรู้ทางด้านสุขภาพ
- กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ


   การที่แผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการทำงานต่อหน่วยงานทางการแพทย์ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการคุ้มครองสุขภาพของคนงานได้ดีเพียงไรนั้น ตัวบุคลากรทางการแพทย์เองก็ต้องมีการเรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับสถานที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้ทราบว่าโรงงานผลิตอะไร กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร และมีอันตรายทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตและการใช้แรงงานอย่างไรบ้าง ซึ่งควรมีข้อมูลการตรวจทางการแพทย์ก่อนเริ่มทำงาน และมีการตรวจสุขภาพอยู่เป็นระยะๆ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับงานที่ทำและควรจัดให้มีโปรแกรมการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพด้วย

   หน่วยงานทางการแพทย์ควรจะทำงานร่วมกับหน่วยงานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ในการพัฒนามาตรการเพื่อป้องกันการได้รับสารอันตราย โดยแพทย์ควรทำการตรวจร่างกายผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานกับสารอันตรายและแนะนำให้ลดการได้รับสารอันตรายนั้นลง รวมถึงแจ้งนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมถึงผลที่เกิดขึ้นและมีการเก็บรายงานทางการแพทย์ไว้ด้วย


  -งานด้านวิศวกรรม วิศวกรจะมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งการออกแบบและการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพราะกระบวนการเหล่านี้ อาจทำให้เกิดอันตรายทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ปฏิบัติงาน โดยวิศวกรต้องวางแผนการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ลดงานซ้ำซ้อนและค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ควรมีการคาดคะเนและขจัดอันตรายตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน กระบวนการออกแบบ และนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมเองก็ต้องทำงานร่วมกับวิศวกรในการปรับปรุงวิธีการควบคุมเพื่อลดหรือขจัดอันตรายจากการทำงานด้วย


  -งานด้านความปลอดภัย โดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน นั่นก็คือ ดำเนินการให้สถานที่ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยและให้ผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาพดี และแผนงานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานทางด้านความปลอดภัยด้วย


   โดยภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ก็คือ ดำเนินการเพื่อให้มีแผนงานความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือและสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในองค์กร พร้อมทั้งจะเป็นการเพิ่มความตระหนักทางด้านความปลอดภัยในงานและจะนำไปสู่กิจกรรมทางด้านความปลอดภัยอื่นๆ เช่น การสำรวจสถานที่ปฏิบัติงาน การสอบสวนอุบัติเหตุและการวิเคราะห์แนวโน้มของอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการวิเคราะห์แนวทางและส่งข้อมูลต่อไปยังนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และถ้าจำนวนบุคลากรทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมมีน้อย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยต้องรับผิดชอบงานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมอีกด้วย

  -งานด้านจัดซื้อ โดยหน่วยงานจัดซื้อขององค์กรมีภาระหน้าที่ในการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจได้ว่า อุปกรณ์และสารเคมีที่จัดซื้อนั้น ได้รับการรับรองจากนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย นักสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่รับผิดชอบ โดยหน่วยงานจัดซื้อจะต้องได้รับเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) สำหรับสารทุกชนิดที่จะจัดซื้อ


  -งานด้านบุคลากร โดยผู้จัดการของแต่ละหน่วยงานมีภาระหน้าที่ในการจัดสรรบุคลากรในหน่วยงานของตนเองเพื่อให้การสนับสนุน และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมที่วางไว้ ซึ่งต้องมีผู้ควบคุมดูแลให้แผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมสามารถปฏิบัติได้และเป็นไปตามข้อกำหนดทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจในแผนงาน วิธีการปฏิบัติงาน มาตรการควบคุมอันตรายต่าง ๆ การใช้และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอื่นๆ การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่ปฏิบัติงาน การแจ้งผู้ควบคุมทันทีที่พบสภาวะที่มีอันตรายจากการทำงานหรือการปฏิบัติงานที่เสี่ยงอันตราย รวมถึงมีการรายงานอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นทุกครั้งโดยทันที   


  -คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการฯ จะประกอบไปด้วยนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ แพทย์อาชีวอนามัย พยาบาลอาชีวอนามัย ลูกจ้าง ผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารตามสายการบังคับบัญชาและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของหน่วยงาน โดยมวลหมู่สมาชิกต้องทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะให้ข้อมูลและร่วมมือกันทำกิจกรรมที่สนับสนุนให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ แม้ว่าสมาชิกแต่ละคนจะมีการทำงานที่แตกต่างกัน แต่ก็จะมีลักษณะเชื่อมโยงกันเพื่อให้การทำงานโดยองค์รวมนั้นเป็นไปตามแผนงานและประสบผลสำเร็จได้อย่างราบรื่น และองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้การทำงานบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ก็คือ การตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารตามสายการบังคับบัญชาที่จะให้ความสำคัญและสนับสนุนแผนงานอย่างจริงจังและจริงใจ
     

     คณะกรรมการฯ ควรมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกัน มีความเข้าใจและมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแผนงาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คณะกรรมการฯ มีภาระหน้าที่หลักดังนี้ คือ

- ตรวจสอบงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบริษัท และรายงานปัญหาต่างๆ ที่พบเจอ

- ทำการสำรวจสถานที่ปฏิบัติงานอยู่เป็นระยะ ๆ

- ประเมินและส่งเสริมความเข้าใจ รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในแผนงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย


 4. การตระหนักถึงอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (Recognition of Hazards) 
   
  เป็นการค้นหาหรือบ่งชี้อันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่อาจคุกคามต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน และยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้วย ซึ่งนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยตัวนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมเองนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการผลิตต่าง ๆ ในโรงงานหรือสถานประกอบการ นอกจากนี้ยังจะต้องศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้และผลิตขึ้น ซึ่งข้อมูลในการชี้บ่งอันตรายนั้นอาจรวบรวมมาจากการสำรวจโรงงาน การสังเกต หรือการสอบถามผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารระหว่างการสำรวจ รวมถึงศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ซึ่งปกติแล้วจะอยู่ในคู่มือหรือตำราทางวิชาการเกี่ยวกับการผลิตเฉพาะเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายชื่อสารเคมีและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทั้งหมดควรที่จะมีไว้เพื่อใช้อ้างอิงในระหว่างการประเมินระดับปัญหาสิ่งแวดล้อมในสถานที่ปฏิบัติงาน

  ประเด็นสำคัญในการตระหนักถึงอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน มีดังนี้ คือ

 -พิษของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมต้องมีการศึกษารายละเอียดของกระบวนการผลิตที่มีการใช้สารเคมีหรือผลิตสารเคมีนั้น รวมถึงลักษณะและระดับความเป็นพิษของสารที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อสารเหล่านั้น นอกจากนี้ยังต้องมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่น ๆ หรือกับปัจจัยทางกายภาพต่าง ๆ และจะต้องตรวจสอบถึงประสิทธิภาพของระบบการระบายอากาศที่ใช้อยู่หรือประสิทธิภาพของการปิดคลุมสารที่ใช้ในกระบวนการผลิต 


   -แหล่งของมลพิษในสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งในการสำรวจสถานที่ปฏิบัติงานในเบื้องต้นโดยอาศัยการสังเกตด้วยตาเปล่านั้น อาจจะช่วยบอกให้ทราบคร่าว ๆ ถึงชนิดของงานหรือสถานีงานใด ที่อาจก่อให้เกิดหรือต้องเผชิญกับอันตราย เช่น การเชื่อมโลหะก่อให้เกิดฟูมขึ้นมา หรือบริเวณงานใดที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย เป็นต้น

    นอกจากนี้จากการสำรวจเบื้องต้นถึงรายชื่อวัตถุดิบและสารเคมีที่ใช้ ผลิตภัณฑ์ และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต ก็สามารถชี้บ่งหรือคาดคะเนถึงสารปนเปื้อนและอนุภาคสารต่าง ๆ ในอากาศที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงการปนเปื้อนจากกระบวนการเผาไหม้หรือการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่าง ๆ และกระบวนการแยกสารด้วย


   ส่วนมลพิษทางชีวภาพในสถานที่ปฏิบัติงานนั้น นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะต้องเป็นผู้สังเกตกิจกรรมและกระบวนการผลิต ที่อาจเป็นแหล่งมลพิษทางชีวภาพทั้งที่เป็นฝุ่นพืช และเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ด้วย

  -การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจะต้องพิจารณาถึงลักษณะของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต ที่อาจมีอันตรายใหม่เพิ่มขึ้นมาหรือมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไปจากเดิม

 -การทบทวนวิธีการปฏิบัติงาน เป็นการพิจารณาว่าวิธีการปฏิบัติงานที่เป็นอยู่ มีอันตรายใดแฝงอยู่หรือไม่ และในบางครั้งการเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานหรือการปรับเปลี่ยนทางด้านเทคนิคนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานได้ และการทำงานล่วงเวลาที่ต้องใช้เวลาในการทำงานยาวนานขึ้น ก็อาจมีผลให้เกิดความเมื่อยล้าและก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน

 -มาตรการควบคุมที่ใช้ในสถานที่ปฏิบัติงาน จากการสำรวจเบื้องต้นจะทำให้ทราบถึงชนิดหรือประเภทของมาตรการควบคุมที่ใช้อยู่ ตลอดจนประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมาตรการเหล่านั้น ซึ่งมาตรการในการควบคุมอันตราย ยกตัวอย่างเช่น ระบบระบายอากาศ (เฉพาะที่หรือทั่วไป) อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ การป้องกันอันตรายจากรังสีความร้อน แสงอัลตราไวโอเลตหรือรูปแบบอื่นๆ ของพลังงาน เป็นต้น


  จากการสำรวจสถานที่ปฏิบัติงานในเบื้องต้น ที่เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการตระหนักถึงอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ก็เพื่อที่จะได้ข้อมูลเบื้องต้นในการตอบคำถามดังต่อไปนี้ เช่น

- โรงงานผลิตอะไร ใช้วัตถุดิบอะไรในการผลิต
- มีการเติมสารใดบ้างเข้าไปในกระบวนการผลิต
- เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ใช้มีอะไรบ้าง
- จำนวนรอบของการผลิตเป็นอย่างไร
- มีระบบระบายอากาศเพียงพอหรือไม่
- มีการควบคุมฝุ่น การแก้ปัญหาเมื่อมีสารเคมีรั่วไหล และการกำจัดของเสียเป็นอย่างไร
- การออกแบบโรงงานช่วยลดการได้รับอันตรายจากสารต่างๆ หรือไม่
- มีขั้นตอนการทำงานเขียนไว้สำหรับการใช้สารอย่างปลอดภัยและการจัดเก็บสารอย่างปลอดภัยหรือไม่
- โรงงานมีอุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัย เช่น อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ หน้ากาก ที่อาบน้ำ และที่ล้างตาฉุกเฉินหรือไม่
- ได้มีการจัดทำขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยและให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติตามหรือไม่
- สารเคมีแต่ละชนิดที่ใช้ในกระบวนการผลิต มีข้อมูลระดับสารที่ปลอดภัยสำหรับคนงานครบถ้วนหรือไม่
- การตรวจสอบว่ามีความเข้าใจในกระบวนการผลิตเพียงพอที่จะทราบว่ามีสารถูกปล่อยออกมาจากที่ไหน เป็นต้น


5. การประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (Evaluation of Hazards)
    
  เมื่อได้ข้อมูลที่รวบรวมจากขั้นตอนการตระหนักถึงอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยอาศัยการศึกษาหรือการสำรวจเบื้องต้นในสถานที่ปฏิบัติงาน เพื่อค้นหาหรือชี้บ่งอันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่อาจคุกคามต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนการประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานเพื่อประเมินระดับของปัญหาที่พบนั้น  ซึ่งในขั้นตอนนี้ตัวผู้ดำเนินการควรมีความเข้าใจในกระบวนการผลิตของโรงงานเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้ทราบถึงแหล่งและต้นตอของปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวมถึงยังต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจในประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการพิจารณา เช่น

- ข้อกำหนดทางกฎหมายแรงงานที่มีการกำหนดระดับปลอดภัยของปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องหรือสัมผัส เช่น ACGIH–TLV เป็นต้น
- ระดับปัจจัยทางกายภาพต่าง ๆ ที่ผู้ปฏิบัติงานสัมผัส
- จำนวนผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและระยะเวลาที่สัมผัส
- ชนิดหรือประเภทของสารเคมีและมลพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต
- ระดับมลพิษทางอากาศในกระบวนการผลิต โดยใช้เทคนิคการเก็บตัวอย่างอากาศอย่างเหมาะสมแล้วดำเนินการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
- การคำนวณผลที่ได้เพื่อหาระดับเฉลี่ยที่ผู้ปฏิบัติงานสัมผัส และระดับสูงสุดที่สัมผัสตลอดจนระยะเวลาที่สัมผัส
- การเปรียบเทียบผลการคำนวณที่ได้กับข้อกำหนดหรือมาตรฐานของกฎหมายแรงงานหรือมาตรฐานสากลต่างๆ แนวทางหรือกระบวนการในการประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ดังนี้ คือ


  -การเลือกเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
      โดยทั่วไปแล้ว เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเพื่อให้ทราบระดับอันตรายจากการทำงาน จะมีอยู่ 3 ประเภท คือ เครื่องมือชนิดอ่านค่าโดยตรง (Direct Reading Instrument) เครื่องมือวิเคราะห์แบบต่อเนื่อง (Continuous Monitoring Devices) และเครื่องมือเก็บตัวอย่างเพื่อการส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ (Sample Collection Devices) ซึ่งเครื่องมือส่วนใหญ่ที่มักใช้กัน จะเป็นสองประเภทแรก โดยในการพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานนั้น ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับชนิดการวิเคราะห์และข้อมูลที่ต้องการ รวมถึงวิธีการใช้งาน ซึ่งจะต้องง่าย สะดวก มีประสิทธิภาพสูง และเชื่อถือได้ในสภาวะต่าง ๆ


  -การสอบเทียบ (Calibration) เครื่องมือที่ใช้ ต้องมีการสอบเทียบเครื่องมือที่ใช้ทุกครั้ง เพื่อที่ว่าผลที่ได้รับจากการวิเคราะห์จะเป็นข้อมูลที่ชี้ได้ถึงระดับความเข้มข้นที่แท้จริงของสารที่สัมผัส เช่น กรณีการเก็บตัวอย่างก็ต้องทราบอัตราการไหลของอากาศที่เก็บและระยะเวลาที่เก็บ ซึ่งต้องมีการปรับความถูกต้อง แม่นยำของเครื่องมือตรวจหรือเก็บตัวอย่าง โดยการใช้อุปกรณ์วัดการไหลของอากาศ (Flow–rate Meter) แบบมาตรฐานทั้งก่อนและหลังการใช้ภาคสนามเสมอ ส่วนเครื่องมือแบบอ่านค่าโดยตรงและหลอดตรวจวัดก๊าซต่าง ๆ ก็จะต้องสอบเทียบโดยเทียบกับค่าความเข้มข้นของสารที่เตรียมขึ้นนั้น เป็นต้น


  - การสำรวจสิ่งแวดล้อมภาคสนาม มีประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้ คือ
- สถานที่ที่ควรตรวจและเก็บตัวอย่าง
- ผู้ปฏิบัติงานที่ควรได้รับการตรวจและเก็บตัวอย่าง โดยพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้ประกอบด้วย เช่น เป็นผู้ที่ทำงานประจำและทำงาน ณ จุดที่มีการเสี่ยงต่ออันตรายสูง ลักษณะและวิธีการทำงาน ขนาดของร่างกาย เพศ อายุ เป็นต้น
- ระยะเวลาของการตรวจและเก็บตัวอย่าง
- จำนวนตัวอย่างที่ทำการตรวจและเก็บ


  -การวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ดำเนินการโดยนักวิเคราะห์จากตัวอย่างที่ส่งมา ดังนั้นผู้ทำการสำรวจต้องมั่นใจว่าได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างอย่างถูกต้องและมีปริมาณตัวอย่างที่เพียงพอ ก่อนที่จะส่งให้นักวิเคราะห์ต่อไป


  -การแปรผลจากการประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยก่อนที่ผู้ประเมินจะตัดสินว่าผู้ปฏิบัติงานคนใดหรือกลุ่มใดได้รับอันตรายจากการสัมผัสกับสิ่งที่คุกคามสุขภาพอนามัยนั้น ผู้ประเมินควรมีข้อมูลเหล่านี้ก่อน คือ ธรรมชาติของสารเป็นพิษ หรือต้นเหตุทางกายภาพที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติงาน ความเข้มข้นของมลพิษที่ผู้ปฏิบัติงานต้องสัมผัส ระยะเวลาที่ผู้ปฏิบัติงานต้องสัมผัสกับมลพิษ และความต้านทานของร่างกายในแต่ละคน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถทราบได้จากการสำรวจเบื้องต้นโดยการสังเกตและการสำรวจต่อมาโดยใช้เครื่องมือ แต่ก็มีหลายกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้แสดงอาการของการเจ็บป่วยและบาดเจ็บในการที่สัมผัสกับอันตรายนั้น ๆ จนเวลาล่วงเลยผ่านไปจึงค่อยแสดงอาการ

 


   โดยการแปรผลนั้น จะอาศัยการเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ของสารนั้น หรือเปรียบเทียบผลที่ได้กับข้อมูลเดิมที่เก็บบันทึกไว้ รวมถึงเปรียบเทียบกับผลการตรวจสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งผลที่ได้จากมถึงรียบเทียบกับผลการตรวจสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน้นที่กำหนดไว้ หรือเปรียบเทียบกับยต้องสัมผัสกับมลพิษ และความต้านทานร่างกายขการเปรียบเทียบนั้นจะเป็นข้อมูลที่ช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้มาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขในลำดับขั้นตอนถัดไป


   การประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานนั้น ควรมีการดำเนินการอยู่เป็นระยะ เพื่อให้ทราบว่าสภาวะแวดล้อมได้มีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยความถี่และขอบเขตของการประเมินอันตรายซ้ำจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอันตราย และควรกระทำทุกครั้งที่มีการติดตั้งหรือปรับปรุงกระบวนการทำงานใหม่ หรือมีการนำสารอันตรายชนิดใหม่เข้ามาใช้ในสถานที่ปฏิบัติงาน


6. การควบคุมอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (Control of Hazards) 
     
  ถ้าการสัมผัสกับอันตรายอยู่ในระดับที่ยอมรับไม่ได้ ควรมีการจัดมาตรการเพื่อลดหรือขจัดการสัมผัสอันตรายเหล่านั้น โดยแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมควรมีการบันทึกเกี่ยวกับมาตรการควบคุม และควรจัดทำโครงการย่อยต่าง ๆ เช่น โครงการอนุรักษ์การได้ยิน อุปกรณ์ป้องกันอันตรายของระบบหายใจ การสื่อสารเกี่ยวกับอันตรายและเออร์โกโนมิก เป็นต้น โดยในการบันทึกนั้นควรมีการกำหนดผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน และมีการทบทวนและรับรองโดยคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม

  การควบคุมอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงานมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ผลจากการเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมจะเป็นการช่วยลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาจากอันตรายที่จะคุกคามสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานลงได้

  โดยทั่วไปแล้ว มาตรการหลัก ๆ ที่ใช้ควบคุมอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน มีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ

   (1) การควบคุมเชิงวิศวกรรม (Engineering Controls) เป็นมาตรการควบคุมที่ใช้เทคนิคทางวิศวกรรมเข้ามามีบทบาทในการควบคุมอันตราย เป็นมาตรการหนึ่งที่นิยมใช้กันและจะใช้เป็นลำดับแรก โดยเป็นการควบคุมอันตรายที่เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ปฏิบัติงาน รูปแบบของกระบวนการผลิต สถานีงาน การจัดวางเครื่องจักร/อุปกรณ์ และระบบต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็จะเป็นวิศวกร สถาปนิก โดยมีการปรึกษาหารือและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย เพื่อที่จะให้รูปแบบที่ออกมานั้นเป็นไปตามมาตรฐานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตรงตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมอันตราย

 โดยรูปแบบการควบคุมเชิงวิศวกรรมที่ใช้กันอยู่ มีดังนี้

  -การแทนที่สารที่ใช้ด้วยสารที่มีอันตรายน้อยกว่า เป็นวิธีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ โดยการใช้สารที่ไม่เป็นพิษหรือสารที่มีพิษน้อยกว่าแทนสารที่มีพิษมาก ซึ่งนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมต้องระมัดระวังในการใช้สารเคมีชนิดหนึ่งไปแทนสารอีกชนิดหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าอันตรายที่ไม่คาดคิดจะไม่เกิดขึ้นจากการใช้สารทดแทน ตัวอย่างการใช้สารทดแทน เช่น การแทนที่ตะกั่วขาวซึ่งเป็นพิกเมนท์ในสีด้วยสังกะสี แบเรียมหรือติเตเนียมออกไซด์ หรือการใช้ Calcium Silicate และ Mineral Wool แทนแอสเบสตอส รวมถึงการเปลี่ยนตัวทำละลายสำหรับล้างไขมัน คาร์บอนเตทตระคลอไรด์ ซึ่งมีพิษมากไปเป็นเปอร์คลอโรเอททิลีนและไตรคลอโรเอททิลีน เป็นต้น
 
   ในบางกรณี การทดแทนสารที่เป็นพิษบางชนิดอาจไม่สามารถกระทำได้ เช่น การผลิตยาฆ่าแมลง ตัวทำละลาย และกระบวนการการผลิตรังสีชนิดแตกตัวได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเราก็ยังถือว่าการทดแทนสารเคมีที่ใช้ด้วยสารที่อันตรายน้อยกว่า หรือการเปลี่ยนอุปกรณ์ก็เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองน้อย และดีที่สุดวิธีหนึ่ง รวมถึงยังมีส่วนสำคัญในการช่วยลดมลพิษต่อชุมชนได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการพิจารณาคัดเลือกสารที่จะนำมาทดแทนอย่างรอบคอบด้วยว่าอาจทำให้เกิดมลพิษและทำลายชั้นโอโซนหรือไม่


   -การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหรือกระบวนการทำงาน การใช้วิธีนี้ถือเป็นโอกาสที่จะได้ปรับปรุงสภาวะการทำงาน โดยการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตนั้น ส่วนมากจะทำขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพหรือลดค่าใช้จ่ายในการผลิต อย่างไรก็ตามในบางกรณีกระบวนการผลิตหรือกระบวนการทำงานต่าง ๆ อาจได้รับการปรับปรุงเพื่อวัตถุประสงค์ในการลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น หรือฟูม และลดอันตรายลง เช่น

      - ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ มีการใช้ Tin Solder และสารซิลิโคนมาแทนที่ Lead Solder เพื่อเป็นการลดปริมาณฝุ่นตะกั่วที่เกิดขึ้น
     - การใช้แปรงทาสีหรือการจุ่มชิ้นงานลงในสีแทนการพ่นสีเพื่อลดความเข้มข้นของมลพิษในอากาศ
     - การใช้ Vapor Degreasing ที่มีการระบายอากาศแทนการล้างชิ้นงานด้วยมือในภาชนะเปิด
     - การใช้ไอน้ำในการล้างชิ้นงานแทน Vapor Degreasing 
     - การใช้เทคนิคการพ่นสีที่ใช้ Air–less Paint Spraying แทนการใช้ Compressed–air paint spraying เพื่อลดการ Over Spray
     - การใช้ Electrostatic Paint–spraying แบบอัตโนมัติ แทนที่การใช้ Compressed–air Paint Spraying แบบใช้มือ
       เป็นต้น


    -การแยกกระบวนการที่เป็นอันตรายหรือเป็นพิษ โดยกระบวนการผลิตหรือกระบวนการทำงานใดที่พิจารณาแล้วว่ามีอันตรายหรือเป็นพิษ ควรถูกแยกออกไปจากพื้นที่ที่มีผู้ปฏิบัติงานอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อลดการสัมผัสกับงานที่เป็นอันตรายหรือสารที่เป็นพิษนั้น การแยกกระบวนการที่เป็นอันตรายหรือเป็นพิษนี้อาจจะกระทำได้ 2 วิธี วิธีแรกคือการกำหนดหรือแยกสถานที่อันตรายหรือเป็นพิษออกไปให้เป็นที่เฉพาะ วิธีที่สองโดยการจำกัดเวลาของผู้ปฏิบัติงานที่เข้าไปทำงาน ณ สถานที่เหล่านั้น ตัวอย่างการแยกกระบวนการที่อันตรายออกไป เช่น ใช้แผ่นกั้นเพื่อดูดซับเสียง หรือห้องเก็บเสียงเพื่อเป็นการแยกกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักรที่มีเสียงดังออกไปต่างหาก หรืออาจทำในรูปของการจำกัดระยะทาง เช่น การใช้ระบบควบคุมการทำงานที่อยู่ห่างออกไปจากอุปกรณ์เพื่อที่ว่าผู้ควบคุมอุปกรณ์จะได้ไม่ต้องเข้ามาใกล้เครื่องมือที่มีเสียงดัง หรือทำการแยกผู้ปฏิบัติงานออก โดยการกันให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าไปอยู่ในบู๊ธที่มีการควบคุมเสียงและมีการส่งอากาศบริสุทธ์เข้าไปในบูธนั้นด้วย

   การแยกกระบวนการอาจจะเป็นประโยชน์ ในกรณีที่ต้องการแยกเอาคนที่ปฏิบัติงานกับเครื่องจักรหรือสารพิษซึ่งใช้คน 2–3 คนเท่านั้น และพิจารณาแล้วว่าการควบคุมวิธีอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งการแยกกระบวนการออกมาเช่นนี้ จะทำให้คนส่วนใหญ่ในสถานที่นั้นไม่ต้องสัมผัสกับอันตรายจากงานที่ทำ เช่น สารเป็นพิษหรืออันตรายจากเสียง โดยคนที่ปฏิบัติงานกับเครื่องจักร 2–3 คนนั้น อาจจะได้รับการควบคุมและป้องกันโดยการติดตั้งระบบระบายอากาศเฉพาะที่ ณ บริเวณนั้น หรือถ้าจำเป็นจริง ๆ อาจใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลแทน 


   -การปิดคลุมกระบวนการที่เป็นอันตรายหรือเป็นพิษ สามารถทำได้โดยใช้เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติเพื่อไม่ให้คนงานได้รับสารพิษ เช่น ผู้ขับรถยกวัสดุขนาดใหญ่ สามารถจะอยู่ในห้องคนขับที่ปิดและมีการกรองอากาศเข้าไป และใช้หลักการเดียวกันกับงานเหมือง งานบดโม่หิน และการส่งวัสดุผ่านสายพานอัตโนมัติ ซึ่งผู้ควบคุมเครื่องจะอยู่ในห้องเล็ก ๆ ที่มีการระบายอากาศอย่างดี มีการกรองอากาศเข้าไป ส่วนการที่ผู้ควบคุมเครื่องจะมีบางช่วงที่ต้องมาดูการทำงาน ก็จะใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

   การปิดคลุมกระบวนการเป็นวิธีการควบคุมที่มีประโยชน์ เพราะการปิดคลุมจะป้องกันหรือลดการแพร่กระจายของมลพิษเข้าสู่บรรยากาศการทำงาน โดยเป็นมาตรการแรกที่ควรนำมาใช้หลังจากการใช้สารอื่นทดแทนไม่ได้ แต่ก็มีข้อพึงระวัง คือ การทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ปิดคลุมหรือการเริ่มเดินเครื่องหรือปิดเครื่องเพื่อหลีกเลี่ยงความเข้มข้นที่สูงของมลพิษ

   การปิดคลุมอุปกรณ์ปกติจะทำเป็นแบบปิดแน่นแล้วจะเปิดเมื่อต้องการทำความสะอาดหรือต้องการเติมสาร เช่น การใช้ Glove Boxes, Airless–blast หรือ Shotblast Machine จะต้องมีการกำหนดวิธีการทำความสะอาดที่ปลอดภัย รวมทั้งมีการใช้วิธีล็อกเอาต์/แท็กเอาต์ ในช่วงที่มีการบำรุงรักษาเครื่องมือด้วย


   -การใช้วิธีทำให้เปียกหรือชื้น เพื่อลดอันตรายจากฝุ่นในอากาศ โดยการใช้น้ำหรือของเหลวอื่นที่เหมาะสมฉีดพ่นลงไปเมื่อการใช้เครื่องดูดฝุ่นทำไม่ได้ อีกวิธีหนึ่งก็คือ การทำให้พื้นเปียกก่อนการกวาดเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น ซึ่งการใช้วิธีทำให้เปียกหรือชื้นจัดว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการควบคุมฝุ่น ประสิทธิภาพของการควบคุมฝุ่นขึ้นอยู่กับการทำให้ฝุ่นเปียก อาจจะต้องมีการใช้สารทำให้เปียก (Wetting Agent) ลงไปในน้ำและทำการกำจัดฝุ่นเปียกทิ้งก่อนที่ฝุ่นจะแห้งแล้วฟุ้งกระจาย 
 
   การลดความเข้มข้นของฝุ่นในอากาศสามารถทำได้ โดยการพ่นน้ำผ่านอุปกรณ์ที่ใช้ในการขุดเจาะหิน มีโรงหล่อหลายแห่งใช้น้ำที่มีแรงดันสูงสำหรับทำความสะอาดเหล็กหล่อแทนการทำความสะอาดด้วยการพ่นขัดด้วยทราย โดยฝุ่นในอากาศจะมีความเข้มข้นต่ำถ้าทรายที่ใช้เป็นแม่พิมพ์มีความชื้นอยู่เสมอ แม่แบบที่มีเหล็กหล่อที่เย็นแล้วสามารถทำให้ชื้นก่อนที่จะเขย่าชิ้นงานออกมาได้และควรทำให้พื้นเปียกเป็นระยะๆ

 
   -การระบายอากาศ เป็นวิธีการควบคุมสิ่งแวดล้อมในการทำงานโดยการเพิ่มอากาศหรือการดูดอากาศออก โดยการเจือจางความเข้มข้นของสารมลพิษให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และนำเอาสารพิษออกจากแหล่งกำเนิด เป็นการทำให้สิ่งแวดล้อมในการทำงานดีขึ้น โดยช่วยในการควบคุมความชื้น กลิ่นและสภาวะสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสบายของผู้ปฏิบัติงาน

  การระบายอากาศที่ใช้กัน มีอยู่ 2 แบบ คือ
     - การระบายอากาศแบบทั่วไป (General Ventilation) หรือแบบเจือจาง (Dilution Ventilation) เป็นการระบายอากาศเพื่อลดความเข้มข้นของมลพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศภายในสถานที่ปฏิบัติงาน โดยการทำให้เจือจางลงด้วยอากาศบริสุทธิ์จากภายนอก จนกระทั่งมลพิษดังกล่าวมีความเข้มข้นให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เช่น กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ การระบายอากาศแบบทั่วไปหรือแบบเจือจางยังใช้ได้ดีในการป้องกันและควบคุมปัญหาเกี่ยวกับความชื้น ความร้อนและอันตรายจากการระเบิดเนื่องจากสารเคมีบางประเภทอีกด้วย

ข้อจำกัดของการระบายอากาศแบบทั่วไปหรือแบบเจือจาง มีข้อควรพิจารณาดังนี้ คือ

- ปริมาณมลพิษที่ถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดเข้าสู่อากาศในสถานที่ปฏิบัติงาน จะต้องมีไม่มากนัก มิฉะนั้นจะต้องใช้อากาศบริสุทธิ์ปริมาณมากเกินความเหมาะสม เพื่อทำให้มลพิษเจือจางจนมีความเข้มข้นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
- มลพิษที่จะควบคุมนั้นควรจะมีความเป็นพิษต่ำหรือค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันกับในข้อแรกที่กล่าวมา
- อัตราการเกิดและเข้าปนเปื้อนกับอากาศของมลพิษควรจะคงที่หรือมีความผันแปรไม่มากนัก
- ผู้ปฏิบัติงานจะต้องอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดมลพิษในระยะห่างเพียงพอที่จะทำให้มลพิษนั้นเจือจางลงจนถึงระดับที่ปรับได้ ก่อนที่จะเคลื่อนมาถึงตัวผู้ปฏิบัติงาน

ข้อดีของการระบายอากาศแบบทั่วไปหรือแบบเจือจาง

- เมื่อเปรียบเทียบกับการระบายอากาศแบบเฉพาะแห่งแล้ว การระบายอากาศแบบทั่วไปหรือแบบเจือจางสามารถทำได้ง่ายกว่า และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า
- ใช้ได้ดีในการควบคุมมลพิษประเภทที่มีสถานะเป็นไอและก๊าซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอที่เกิดจากการระเหยของสารละลายอินทรีย์เคมี
- ไม่ต้องมีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อลดระดับความเข้มข้นของมลพิษในอากาศ ก่อนที่จะถูกถ่ายเทออกจากสถานที่ปฏิบัติงานสู่บรรยากาศภายนอก

ข้อเสียของการระบายอากาศแบบทั่วไปหรือเจือจาง

-การระบายอากาศแบบนี้มิได้เป็นการกำจัดมลพิษที่เกิดขึ้นทั้งหมดออกไปจากบริเวณสถานที่ปฏิบัติงาน หากเป็นแต่เพียงลดปริมาณความเข้มข้นของมลพิษนั้นให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ ซึ่งกำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้น หากวิธีการจัดการเกี่ยวกับปริมาณอากาศบริสุทธิ์ที่ต้องใช้เพื่อทำให้มลพิษเจือจางลง และทางเข้าของอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกรวมถึงทางออกของอากาศที่ปนเปื้อนด้วยมลพิษจากภายใน ตลอดจนการเคลื่อนไหวของอากาศภายในสถานที่ปฏิบัติงานนั้นไม่ถูกต้องเหมาะสมตามที่ควรจะเป็นแล้ว อันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานจะยังคงไม่หมดไป

-การระบายอากาศแบบนี้มักจะใช้ไม่ค่อยได้ผลกับมลพิษประเภทฟูมและฝุ่น ทั้งนี้เพราะมลพิษเหล่านั้นมักมีอัตราการเกิดและเข้าปนเปื้อนกับอากาศด้วยปริมาณที่ค่อนข้างสูง และมีความผันแปรมาก รวมทั้งเหตุที่ว่ามลพิษที่อยู่ในสถานะดังกล่าวมักมีระดับความเป็นพิษสูง

-การระบายอากาศแบบนี้ จะต้องเคลื่อนย้ายอากาศเข้าและออกจากอาคารสถานที่ปฏิบัติงานด้วยปริมาณที่มากกว่าการระบายอากาศแบบเฉพาะแห่ง ดังนั้นในกรณีที่ต้องมีการปรับอากาศ (อุณหภูมิและความชื้น) ในสถานที่นั้นด้วยแล้ว การระบายอากาศแบบนี้จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงกว่า


   - การระบายอากาศแบบเฉพาะแห่ง (Local Exhaust Ventilation) เป็นการระบายอากาศเพื่อที่จะป้องกันอันตรายต่อสุขภาพและควบคุมปัญหาเดือดร้อนรำคาญภายในสถานที่ปฏิบัติงานเช่นเดียวกับการระบายอากาศแบบเจือจาง แต่มีหลักการและวิธีการแตกต่างออกไป กล่าวคือ การระบายอากาศแบบเฉพาะแห่งอาศัยหลักการดูดระบายมลพิษ พร้อมทั้งอากาศที่ถูกปนเปื้อนออกจากบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดโดยตรง ก่อนที่มลพิษนั้นจะเข้าปนเปื้อนกับอากาศส่วนใหญ่ของห้อง ทั้งนี้ด้วยการทำงานของระบบระบายอากาศ ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ ท่อดูดอากาศ ท่อลม และพัดลมระบายอากาศ และนอกจากองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว ระบบระบายอากาศยังอาจมีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษติดตั้งอยู่ด้วยในกรณีที่จำเป็น เช่น  เมื่อปริมาณความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในปล่องควันของระบบระบายอากาศมีระดับสูงกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศที่ปล่อยออกมานอกโรงงานซึ่งกำหนดไว้สำหรับมลพิษชนิดนั้นๆ
      
  เมื่อพิจารณาจากหลักการและวิธีการของการระบายอากาศแบบเฉพาะแห่งแล้ว จะเห็นได้ว่าการระบายอากาศแบบนี้ไม่มีข้อจำกัดดังเช่นกรณีของการระบายอากาศแบบทำให้เจือจาง

ข้อดีของการระบายอากาศแบบเฉพาะแห่ง

- เป็นวิธีการที่มุ่งเน้นการนำเอามลพิษที่เกิดขึ้นออกไปจากบริเวณทำงาน จึงทำให้ผลในด้านการควบคุมได้ดีและปลอดภัย
- ใช้ได้ดีกับมลพิษในทุกสถานะไม่ว่าจะเป็นไอ ก๊าซ ฝุ่น หรือฟูม และไม่ว่ามลพิษนั้นจะมีอัตราการเกิดและระดับความเป็นพิษมากน้อยประการใด

ข้อเสียของการระบายอากาศแบบเฉพาะแห่ง

- ต้องการพื้นฐานความรู้และประสบการณ์สูงในการออกแบบระบบระบายอากาศแบบนี้
- ต้องการบุคลากรที่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมมาดีพอสมควรในการตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบระบายอากาศแบบนี้
- โดยทั่วไปแล้วสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการจัดสร้าง และดำเนินการมากกว่าการระบายอากาศแบบทำให้เจือจาง


   (2) การควบคุมเชิงบริหารจัดการ (Administrative Controls) เป็นมาตรการควบคุมที่ใช้เป็นลำดับถัดมา ในกรณีที่การควบคุมเชิงวิศวกรรมมีข้อจำกัดในการปฏิบัติ หรืออยู่ในระหว่างรอการติดตั้งระบบควบคุมเชิงวิศวกรรม หรือใช้ควบคู่กันเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการควบคุมอันตรายให้ดียิ่งขึ้นก็ได้ ตัวอย่างการควบคุมเชิงบริหารจัดการ เช่น

- จัดช่วงเวลาการทำงานที่เหมาะสม เพื่อลดการได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ปฏิบัติงานในการทำงานที่มีอันตราย
- การทำความสะอาดสถานที่ปฏิบัติงาน การบำรุงรักษาและการจัดเก็บให้เป็นระเบียบ (5ส) ซึ่งการจัดเก็บที่ดีจะป้องกันการกระจายของสารอันตรายและทำให้สภาวะการทำงานมีสุขอนามัยที่ดีและปลอดภัย
- การมีสถานที่รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
- การติดตั้งสัญญาณเตือนที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน
- การจัดเก็บขยะและการกำจัดของเสีย เป็นต้น


   (3) อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถทำให้สิ่งแวดล้อมในการทำงานปราศจากอันตรายต่อสุขภาพได้ อาจจำเป็นต้องป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากอันตรายที่มาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ซึ่งการใช้มาตรการนี้ควรพิจารณาเลือกใช้เป็นลำดับสุดท้ายเมื่อเห็นว่าการควบคุมเชิงวิศวกรรมและการควบคุมเชิงบริหารจัดการไม่สามารถกระทำได้ หรือทำได้ไม่เพียงพอที่จะทำให้ระดับสารมลพิษต่ำกว่าที่มาตรฐานกำหนด  อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลจะเหมาะสมในการป้องกันการสัมผัสกับสารพิษในช่วงเวลาสั้น เช่น ระหว่างการบำรุงรักษาเครื่องมือหรือใช้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลนั้นจะมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถขจัดอันตรายจากสถานที่ปฏิบัติงานได้ และถ้าอุปกรณ์ทำงานล้มเหลวจะทำให้ผู้สวมใส่อุปกรณ์ได้รับสัมผัสสารอันตรายโดยทันที รวมถึงจะใช้ไม่ได้ผลถ้าผู้สวมใส่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการใช้งานได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลหลัก ๆ เช่น อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ ชุดป้องกันอันตราย อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตา หรืออุปกรณ์ป้องกันเสียง เป็นต้น


7. การให้ความรู้และการฝึกอบรม (Education & Training)
    
  ถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลย เพราะจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้แผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งการให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้น จะมีเนื้อหาที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอันตรายที่อาจคุกคามต่อสุขภาพ เช่น สามารถที่จะชี้บ่งอันตราย วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการลดหรือป้องกันการสัมผัสกับอันตรายจากการทำงาน เข้าใจและรับทราบถึงมาตรการควบคุมอันตรายที่ใช้อยู่ การรายงานอันตรายที่พบเจอ เป็นต้น โดยในการฝึกอบรมนั้นจะมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วได้มีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรม รวมทั้งทำให้เกิดทักษะที่จำเป็นและมีความชำนาญเพียงพอที่จะสามารถจะนำไปปฏิบัติได้จริงในยามที่ต้องเผชิญกับอันตราย
 
   การจัดฝึกอบรม มีข้อควรพิจารณาดังนี้ คือ

- พิจารณาว่ามีความจำเป็นในการฝึกอบรมหรือไม่
- หัวข้อในการฝึกอบรมมีประเด็นใดบ้าง
- วิทยากรคือใคร  และใครที่ควรได้รับการฝึกอบรม
- วัตถุประสงค์และเป้าหมายในการฝึกอบรมคืออะไร
- ระยะเวลาที่เหมาะสมในการฝึกอบรม
- วิธีการและอุปกรณ์ในการฝึกอบรม
- การจดบันทึกเรื่องราวทั้งหมดจากการฝึกอบรม
- แนวทางในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการฝึกอบรม
- การพัฒนา ปรับปรุงในการจัดฝึกอบรมครั้งต่อไป

 
8. การมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee Involvement)
    
  โดยแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพนั้น นายจ้างควรจะมีการกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานเข้ามามีส่วนร่วมในแผนงานและการตัดสินใจที่มีผลต่อผู้ปฏิบัติงานทางด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานได้แสดงความคิดเห็นถึงปัญหาที่พบเจอและหนทางในการแก้ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมในการทำงาน และส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างานทราบโดยทันทีที่พบเจอปัญหา เพื่อที่จะได้รีบแก้ไขและหาวิธีป้องกันได้อย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันการขยายวงหรือระดับความรุนแรงของปัญหา


9. การเก็บบันทึก (Record Keeping)
    
  ควรมีการเก็บบันทึกเอกสารที่เกี่ยวข้องทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในอนาคตสำหรับการประเมินทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและทางการแพทย์ เป็นต้นว่าเอกสารของโครงการย่อยต่าง ๆ เช่น โครงการอนุรักษ์การได้ยิน ก็ต้องมีการพัฒนาแบบฟอร์ม วิธีการเก็บบันทึกรายงานและข้อมูลพื้นฐาน เพื่อให้สามารถที่จะจัดการกับข้อมูลจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ


10. การประเมินและการตรวจประเมินแผนงาน
    
  ควรมีการประเมินประสิทธิภาพของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมเป็นระยะ และการตรวจประเมินก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้องค์ประกอบของแผนงานมีการนำไปใช้ตามวิธีการที่กำหนดและทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การตรวจประเมินจะดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย หรือทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกหน่วยงานมาทำหน้าที่ตรวจสอบ คณะผู้ตรวจสอบปกติจะมาจากบุคลากรส่วนกลางหรือสำนักงานใหญ่ หรือหน่วยงานอิสระอื่นๆ ซึ่งการตรวจสอบภายในนั้นจะเป็นการประเมินที่มีประโยชน์มาก

    ส่วนขอบเขตของการประเมินขึ้นอยู่กับเวลา และบุคลากรที่มี ซึ่งหน่วยงานขนาดเล็กนั้น การตรวจสอบในทุกองค์ประกอบของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมสามารถกระทำให้สำเร็จได้ง่ายกว่าหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพราะหน่วยงานขนาดใหญ่จะมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก ดังนั้นผู้ตรวจสอบควรให้ความสำคัญกับเรื่องที่จำเป็นมากๆ ก่อน

    ผู้ตรวจสอบควรเตรียมการตรวจสอบโดยศึกษาองค์ประกอบของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และจะประเมินว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ การตรวจสอบจะเป็นการหาแนวทางและมุ่งเน้นการรวบรวมข้อมูลของแต่ละองค์ประกอบของแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม โดยมีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะมีการตรวจสอบ เพื่อให้เวลาผู้บริหารเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น กำหนดช่วงเวลาที่จะสัมภาษณ์บุคลากรหลักและเพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการหรืองานต่าง ๆ ยังมีการดำเนินงาน ในระหว่างที่ทำการตรวจสอบด้วย

โดยปกติแล้ว การตรวจประเมินมี 5 ขั้นตอน ดังนี้ คือ

- การประชุมกับผู้บริหารของหน่วยงานเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ขอบเขต และกำหนดการตรวจสอบ
- การรวบรวมข้อมูล
- การวิเคราะห์ข้อมูล มีการตรวจสอบความจริง แล้วแก้ไขปัญหาในสิ่งที่ขัดแย้งกัน
- ผู้ตรวจสอบจะตรวจสอบแล้วบ่งชี้ข้อบกพร่องที่พบเจอ
- รายงานผลการตรวจสอบต่อผู้บริหารโดยจะมีการปรึกษาหารือในภาพรวม ก่อนนำส่งรายงานการตรวจสอบทั้งหมดให้ผู้บริหาร
 
   เท่านี้ก็เป็นอันว่าครบถ้วนกระบวนความของการดำเนินงานตามแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายจนเกินไปเช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความจริงจัง จริงใจและความร่วมมือกันของทุก ๆ ฝ่ายที่จะพร้อมใจกันในดำเนินการด้วยความมุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

 เอกสารอ้างอิง 
- Big Issues Keep Industrial Hygienists Focused on the Big Picture; Bob Durstenfeld, Feb.2008
- Industrial Hygiene; U.S.Department of Labor Occupational Safety & Health Administration 2007
- Don’ t Overlook Industrial Hygiene; Bruce K.Lyon, Sep.2005 
- สุขศาสตร์อุตสาหกรรม โดย ดร.พรพิมล ทองทิพย์ ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- สุขศาสตร์อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม โดย ดร.ชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด