เนื้อหาวันที่ : 2013-04-26 15:11:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 72263 views

อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร (Machine Guarding) (ตอนที่ 2)

ในบทความตอนที่แล้ว เราพูดกันไปแล้วถึงเรื่องความหมายและหน้าที่หลักของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร รวมถึงชนิดอันตรายจากเครื่องจักร ตลอดไปจนถึงการเลือกวัสดุเพื่อนำมาสร้างอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรกันไปแล้ว ในตอนนี้ เราจะมาพูดถึงเรื่องชนิดของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรกันบ้าง

อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร (Machine Guarding) (ตอนที่ 2)


ศิริพร วันฟั่น

       ในบทความตอนที่แล้ว เราพูดกันไปแล้วถึงเรื่องความหมายและหน้าที่หลักของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรรวมถึงชนิดอันตรายจากเครื่องจักร ตลอดไปจนถึงการเลือกวัสดุเพื่อนำมาสร้างอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรกันไปแล้วในตอนนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องชนิดของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรกันบ้าง


        เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในการป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรมีหลายวิธี แต่ก็มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ควรพิจารณาเพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกใช้วิธีป้องกันหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรให้เหมาะสมกับเครื่องจักรแต่ละตัว โดยปัจจัยที่ว่านั้น ได้แก่ ประเภทของปฏิบัติการ ขนาดและรูปร่างของวัสดุหรือชิ้นงาน วิธีในการจับต้องสัมผัส แผนผังทางกายภาพของสถานที่ปฏิบัติงาน ชนิดของวัสดุ และความต้องการสำหรับกระบวนการผลิตหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เป็นต้น


       โดยทั่วไปแล้ว การป้องกันอันตรายที่ดีที่สุดจากเครื่องส่งกำลังของเครื่องจักร (Power Transmission Apparatus) ทำได้โดยการใช้เครื่องป้องกันแบบติดอยู่กับที่ (Fixed Guards) ซึ่งจะล้อมปิดบริเวณที่เป็นอันตราย หรือส่วนอันตราย ณ จุดปฏิบัติการของเครื่องจักร (Point of Operation) ซึ่งเป็นที่ที่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวจากการกระทำกับวัสดุหรือชิ้นงานนั้น โดยปกติจะมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายฯ หลากหลายชนิดให้เลือกใช้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็ควรเลือกชนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติ

 

ชนิดของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร 


     1. เครื่องป้องกัน (Guards) คือ เครื่องกั้นทางกายภาพ (Physical Barriers) ระหว่างผู้ปฏิบัติงานและจุดอันตรายของเครื่องจักร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการสัมผัสหรือล่วงล้ำเข้าสู่บริเวณอันตรายของเครื่องจักรและยังสามารถปกป้องอันตรายที่อาจเกิดจากเศษวัสดุที่ปลิวออกมา การปนเปื้อน หรือเสียงบางส่วน เป็นต้น โดยเครื่องป้องกันนี้ควรที่จะมีความมั่นคง แข็งแรงและปลอดภัย และทำให้ผู้ปฏิบัติงานทั่วไปไม่สามารถที่จะหลบเลี่ยง ถอดออก หรือเข้าไปยุ่งกับเครื่องป้องกันได้ง่ายนัก และตัวของเครื่องป้องกันเองก็ไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อทัศนวิสัยหรือกีดขวางการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน


 เครื่องป้องกันสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แบบ ดังนี้ คือ


     1.1 เครื่องป้องกันแบบติดอยู่กับที่ (Fixed Guard) เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายฯ ที่เปรียบเสมือนเป็นชิ้นส่วน


หนึ่งของเครื่องจักรที่ติดอยู่อย่างถาวร โดยการทำงานของเครื่องป้องกันนี้ไม่ได้พึ่งพาหรือใช้ชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักรเป็นตัวกระตุ้นแต่อย่างใด ในการติดตั้งต้องมีการติดยึดให้เข้ากับตัวเครื่องจักรหรือพื้นโรงงานอย่างแน่นหนามั่นคงและจะต้องใช้เครื่องมือพิเศษสำหรับการถอดออกมาบำรุงรักษาหรือซ่อมแซม อุปกรณ์ป้องกันอันตรายฯ ชนิดนี้ ส่วนใหญ่มักทำด้วยโลหะ หรือทำจากวัสดุอื่น เช่น พลาสติก ตาข่ายลวด ที่แข็งแรงเพียงพอต่อการต้านทานกับสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ

และทนทานตลอดอายุการใช้งาน อุปกรณ์ป้องกันอันตรายฯ ชนิดนี้นิยมใช้กันมากเพราะไม่ยุ่งยาก และมีหลายแบบ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียง 2 แบบ คือ แบบปิดกั้นหรือครอบทั้งหมด และแบบปิดกั้นที่สามารถมองเห็นการทำงานของเครื่องจักรได้


     -  แบบปิดกั้นหรือครอบทั้งหมด ใช้ปิดกั้นหรือครอบเครื่องจักร หรือชิ้นส่วนของเครื่องจักรทั้งหมด ในกรณีที่ไม่ต้องการมองเห็นการทำงานของเครื่องจักรหรือส่วนประกอบนั้น เช่น ฝาครอบที่ปิดครอบชุดเฟืองหรือสายพานโซ่ เฟืองโซ่ หรือกระปุกเกียร์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะทำให้เปิดได้เพื่อการซ่อมบำรุง โดยมีบานพับติดเอาไว้ ซึ่งดีกว่าการถอดแยกออกจากเครื่องจักรเลย เพราะเมื่อถอดฝาครอบออกไปแล้ว มักจะไม่ประกอบฝาครอบกลับเข้าที่เดิมอีก ฝาครอบชนิดนี้มีทั้งแบบปิด–เปิดเพื่อซ่อมบำรุง

 ตามปกติ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายฯ ชนิดนี้ จะทนทานต่อการชำรุด สึกหรอ เพราะทำด้วยโลหะแผ่นที่มีความแข็งแรง และเป็นที่นิยมใช้มากกว่าอุปกรณ์ป้องกันอันตรายฯ ชนิดอื่น ๆ เพราะว่าป้องกันมิให้มือหรืออวัยวะส่วนอื่นใดของผู้ปฏิบัติงานเข้าถึงจุดอันตราย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการกระเด็นของเศษวัสดุจากเครื่องจักร เพราะเป็นแบบปิดกั้นหรือครอบหมดทั้งเครื่องจักร

 

   -  แบบปิดกั้นที่สามารถมองเห็นการทำงานของเครื่องจักร ใช้ในกรณีที่ต้องการเห็นการทำงานของเครื่องจักร โดยอาจทำด้วยโลหะแผ่นเจาะรู ตะแกรงโลหะ หรือเหล็กเส้น ถ้าเป็นเหล็กเส้นก็มักจะติดตั้งให้ขนานกับการเคลื่อนที่ของเครื่องจักร จึงจะทำให้มองเห็นการเคลื่อนที่นั้นได้อย่างชัดเจน เช่น เครื่องปั๊มแผ่นโลหะ หรืออาจทำด้วยตะแกรงเหล็กในส่วนที่ต้องการเห็นการหมุนของเครื่องจักร เช่น แบบที่ใช้ปิดกั้นสายพานและมู่เล่ของเครื่องจักร เป็นต้น


 นอกจากนี้ ยังมีเครื่องป้องกันแบบติดอยู่กับที่อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งก็นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ แบบการใช้แผ่นกั้น (Fixed Barrier Guards) ซึ่งเป็นได้ทั้งแผ่นโลหะ พลาสติก ตะแกรงลวด หรือตะแกรงเหล็กที่มีรูในแผ่นตะแกรงนั้น เล็กขนาดไม่ให้มือของผู้ปฏิบัติงานลอดผ่านเข้าไปได้ และชิ้นงานมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไม่มากนัก เช่นที่ใช้กับเครื่องตัดโลหะแผ่น ซึ่งมีการจำกัดความหนาสูงสุดของโลหะ ซึ่งชิ้นงานที่ถูกตัดจะมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะขนาดความกว้างของชิ้นงานเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถติดตั้งแผ่นกั้นได้โดยจำกัดขนาดช่องห่างของทางเข้าให้มีค่าปลอดภัย เช่น มีขนาด 3/8 นิ้ว เป็นต้น

 


Fixed Guard

 

1.2 เครื่องป้องกันแบบอินเตอร์ล็อค (Interlocked Guard) เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายฯ ที่มีหลักการทำงาน ว่า ถ้าเครื่องป้องกันถูกเปิดในขณะที่เครื่องจักรกำลังทำงานอยู่ หรือมีอะไรล่วงล้ำบริเวณที่เป็นอันตรายของเครื่องจักรที่ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้อยู่ การทำงานของเครื่องจักรจะต้องหยุดทันที โดยใช้กลไกดึงวงจรให้สะดุด และ/หรือปิดพลังงานโดยอัตโนมัติ หรือหยุดจ่ายพลังงาน ส่งผลให้เครื่องจักรมีรอบการทำงานไม่ครบ จึงหยุดลง และถ้าเครื่องป้องกันยังไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะป้องกันอันตรายให้กับผู้ปฏิบัติงานได้ เครื่องจักรก็จะไม่สามารถเริ่มการทำงาน จนกว่าเครื่องป้องกันจะกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม


เครื่องป้องกันแบบอินเตอร์ล็อคนี้ อาจทำงานโดยใช้กระแสไฟฟ้า ระบบกลไก ไฮดรอลิค หรือนิวแมติก หรือการรวมกันของระบบดังกล่าวก็ได้

 

Interlocked Guard

 

1.3 เครื่องป้องกันแบบปรับได้ (Adjustable Guard) เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายฯ ที่มีประโยชน์มากเพราะสามารถปรับให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับขนาดและรูปร่าง     ต่าง ๆ กันของวัสดุหรือชิ้นงานที่ถูกป้อนเข้าไปในเครื่องจักรได้ ซึ่งเครื่องป้องกันนี้จะเป็นตัวกั้นและป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากส่วนที่เป็นอันตรายของเครื่องจักร

 

Adjustable Guard

 

1.4 เครื่องป้องกันแบบปรับได้เอง(Self–adjusting) เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายฯ ที่การเปิดออกของเครื่องกั้นนี้ถูกกำหนดโดยการเคลื่อนที่ของวัสดุหรือชิ้นงาน เมื่อผู้ปฏิบัติงานป้อนวัสดุหรือชิ้นงานเข้าไปยังพื้นที่อันตรายของเครื่องจักร เครื่องป้องกันจะถูกผลักออกแล้วเปิดช่องให้มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะรับวัสดุหรือชิ้นงานเท่านั้น หลังจากที่วัสดุหรือชิ้นงานถูกดึงออกมาเครื่องป้องกันก็จะกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม เครื่องป้องกันชนิดนี้อาจสร้างจากวัสดุที่ทำจากพลาสติก โลหะ หรือวัสดุอื่นที่มีความแข็งแรง


Self–adjusting Guard

 

2. อุปกรณ์ป้องกัน (Devices) คือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถป้องกันการสัมผัส ณ จุดปฏิบัติการ และอาจจะใช้แทนที่หรือเพิ่มเติมจากเครื่องป้องกัน (Guards) โดยอุปกรณ์นี้จะหยุดการทำงานของเครื่องจักรเมื่อมีมือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้ปฏิบัติงานยื่นเข้าสู่พื้นที่อันตรายโดยไม่ตั้งใจ หรืออาจดึงรั้งมือของผู้ปฏิบัติงานให้กลับออกมาจากพื้นที่อันตรายในระหว่างการดำเนินงานหรือกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องใช้มือทั้งสองข้างวางอยู่ในตำแหน่งควบคุมเครื่องจักรเพื่อเป็นการป้องกันมือและส่วนอื่นของร่างกายให้ห่างจากอันตรายเหล่านั้น หรือเป็นเหมือนสิ่งกีดกั้น (Barrier) ซึ่งกระทำพร้อมกับรอบการทำงานของเครื่องจักร เพื่อที่จะป้องกันการล่วงล้ำเข้าสู่พื้นที่อันตรายของรอบการทำงานนั้น

 อุปกรณ์ป้องกัน สามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการป้องกัน ได้ดังนี้ คือ

- ระบบป้องกันโดยพื้นที่ (Area Guarding Systems) ถูกใช้เพื่อเฝ้าตรวจสอบพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น พื้นโรงงาน 

- อุปกรณ์ป้องกันบริเวณอาณาเขตรอบนอก (Perimeter Guarding Devices) ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เฝ้าตรวจสอบอาณาบริเวณอาณาเขตรอบนอกของเครื่องจักร

- อุปกรณ์ป้องกันที่ประตูทางเข้า (Door and Gate Guarding Devices) ใช้ป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากการล่วงล้ำเข้าสู่พื้นที่หวงห้าม เช่น ในระหว่างการทำงานของเครื่องจักร

- อุปกรณ์ป้องกันในส่วนของกระบวนการ (Process Protection Devices) ใช้ป้องกันผู้ปฏิบัติงานในระหว่างกระทำการใด ๆ กับเครื่องจักร เช่น ซ่อมแซม บำรุงรักษา

- อุปกรณ์ป้องกันในส่วนของเครื่องจักร (Machine Protection Devices) ถูกใช้ในการเฝ้าตรวจสอบและป้องกันผู้ปฏิบัติงานในระหว่างที่เครื่องจักรทำงานตามปกติ

 

ตารางเปรียบเทียบข้อแตกต่างของเครื่องป้องกันทั้ง 4 แบบ

 

ตัวอย่างอุปกรณ์ป้องกัน เช่น

     2.1 Presence Sensing Device เป็นชุดอุปกรณ์ป้องกันที่รับรู้การล่วงล้ำของสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่พื้นที่อันตรายของเครื่องจักร ในบริเวณที่มีอุปกรณ์ชนิดนี้ติดตั้งอยู่เพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักรและป้องกันผู้ปฏิบัติงานก่อนจะเข้าถึงจุดอันตรายนั้นๆโดยอุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้เมื่อถูกกระตุ้นให้ทำงานอาจแสดงผลออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ส่งเสียงเตือน หยุดการทำงานของเครื่องจักรชั่วคราว เริ่มการกระทำที่ต่างออกไปของเครื่องจักร หรือหยุดการทำงานของเครื่องจักรโดยสิ้นเชิง  อุปกรณ์ป้องกันที่รับรู้ต่อการปรากฏตัวของวัตถุ (Presence Sensing Device) นั้นมีการใช้เทคโนโลยีหลากหลายในการป้องกัน ที่ใช้กันอยู่ก็มีหลายชนิด เช่น


     -  Photoelectric/Optoelectronic Presence Sensing Device เป็นอุปกรณ์ป้องกันโดยใช้การตรวจจับการล่วงล้ำ โดยใช้ระบบของแหล่งกำเนิดแสง (Light Sources) และการควบคุมที่สามารถขัดขวางรอบการทำงานของเครื่องจักรได้ ถ้าหากลำแสงถูกบดบังก็จะส่งผลให้เครื่องจักรหยุดทำงาน อุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้ควรถูกใช้เฉพาะเครื่องจักรประเภทที่สามารถทำการหยุดได้ก่อนที่ผู้ปฏิบัติงานจะเข้าถึงพื้นที่อันตราย ส่วนการออกแบบและการจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ป้องกันนี้จะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ใช้ในการหยุดกลไกการทำงานของเครื่องจักรและระยะเวลาที่มือของผู้ปฏิบัติงานจะสามารถข้ามระยะห่างจากเครื่องป้องกันไปยังพื้นที่อันตราย ตัวอย่างอุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้ เช่น


     -  Light Curtains เป็นอุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบม่านลำแสง ซึ่งถูกใช้กันมากว่า 50 ปีแล้ว ในบางครั้งก็อาจถูกเรียกขานด้วยชื่ออื่นๆ เช่น Light Screens หรือ Optical Guards และ Presence Sensing Devices โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ เครื่องส่งกำลังแสง (Photoelectric Transmitter) เครื่องรับ (Receiver) และตัวควบคุมม่านลำแสง (Light Curtain Controller) ซึ่งมีหลักการทำงาน คือ เมื่อเครื่องส่งส่องกระจายลำแสงอินฟราเรด (Infrared Light Beams) ในลักษณะเป็นกลุ่มๆ หลายกลุ่มพร้อมๆ กันและขนานกันในแนวนอน พุ่งตรงไปยังเครื่องรับ ก็จะทำให้เกิดลักษณะเหมือนม่านลำแสงขึ้นบริเวณด้านหน้าพื้นที่อันตรายที่ต้องการได้รับการป้องกัน เพื่อตรวจจับวัตถุแปลกปลอม

เมื่ออุปกรณ์ป้องกันนี้เริ่มทำงานก็จะส่งผลให้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเริ่มปฏิบัติการได้ แต่เมื่อใดที่มีวัตถุทึบแสง เช่น ผู้ปฏิบัติงาน มาบดบังลำแสงเหล่านั้น ตัวควบคุมม่านลำแสง (Light Curtain Controller) ก็จะส่งสัญญาณหยุดไปยังวงจรควบคุมของเครื่องจักรซึ่งจะส่งผลให้เครื่องจักรหยุดทำงานได้ทันที หรือป้องกันการเริ่มสตาร์ทเครื่องใหม่อีกครั้ง เมื่อตัวควบคุมม่านลำแสงส่งสัญญาณหยุดก็จะเกิดสภาวะล็อกเอาท์ขึ้น จำเป็นที่ผู้ปฏิบัติงานต้องไปกดสวิตช์บนตัวควบคุมม่านลำแสงเพื่อที่จะทำให้เครื่องจักรกลับมาเดินเครื่องเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตัวควบคุมม่านลำแสงนี้มี 2 แบบ คือ Integral Light Curtain Controllers ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มาเป็นชุดรวมกันพร้อมกับเครื่องส่งและเครื่องรับ

และ External Light Curtain Controllers ซึ่งจะแยกต่างหากโดยมากจะติดตั้งในตำแหน่งใกล้ๆ กับเครื่องส่งและเครื่องรับ อุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบม่านลำแสงนี้ สามารถถูกใช้ในการป้องกันที่จุดปฏิบัติการ (Point of Operation) ของเครื่องจักร เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วมือ มือหรือส่วนอื่นใดของร่างกายผู้ปฏิบัติงานล่วงล้ำเข้าไป หรืออาจใช้ป้องกันบริเวณอาณาเขตรอบนอก (Perimeter) ของเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์อุตสาหกรรมก็ได้  

       ในปัจจุบัน อุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบม่านลำแสงหรืออุปกรณ์ตรวจจับที่รับรู้การล่วงล้ำของวัตถุ (Presence Sensing Devices) แบบอื่น ๆ นั้น ได้มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตด้วย โดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับเหล่านี้ในการเริ่มรอบการทำงานของเครื่องจักรด้วย หรือที่เรียกกันชื่อกันว่า Presence Sensing Device Initiation (PSDI) ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ปฏิบัติงานเข้าถึงม่านลำแสงเพื่อโหลดวัสดุหรือชิ้นงานเข้าไปในเครื่องจักร การถูกบดบังของลำแสงก็จะขัดขวางเพื่อป้องกันเครื่องจักรเริ่มเดินเครื่องใหม่ แต่เมื่อผู้ปฏิบัติงานวางชิ้นงานเสร็จแล้วดึงมือกลับจากเครื่องจักร

ก็จะทำให้วงจรการทำงานของม่านลำแสงครบสมบูรณ์และสั่งการให้เครื่องจักรเริ่มปฏิบัติการใหม่อีกครั้งทันที โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ปฏิบัติงานไปกดปุ่มควบคุมหรือเหยียบสวิตช์ใด ๆ เพื่อเริ่มรอบการทำงานของเครื่องจักรใหม่อีกครั้งเหมือนแต่เดิมที่เคยเป็นมา ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสีย (Non–value Added) จากการเคลื่อนที่ของผู้ปฏิบัติงาน และขจัดการกระทำซ้ำ ๆ ตามหลักเออร์โกโนมิก และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไปด้วยในตัว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่ามีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ รวมถึงเชื่อมั่นแค่ไหนในระบบควบคุมของอุปกรณ์ป้องกันเหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อใช้กับเครื่องจักรประเภท Mechanical Power Press


 อุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบม่านลำแสงนี้ มีการออกแบบชุดอุปกรณ์ให้มีลักษณะฟังก์ชันการใช้งานเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานของเครื่องจักรแต่ละประเภท ตัวอย่างเช่น


     Muting จะยกเว้นฟังก์ชันป้องกันชั่วคราวของม่านลำแสงและยินยอมเฉพาะในช่วงที่ไม่มีอันตรายของรอบการทำงาน เช่น ยินยอมให้พาเลตที่บรรจุชิ้นส่วนวัสดุหรือชิ้นงานบนสายพานลำเลียงผ่านเข้าไปในเครื่องจักรโดยปล่อยให้เครื่องจักรทำงานต่อไปตามปกติ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติงานยื่นมือหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเข้าไปในพื้นที่อันตรายของเครื่องจักรก็จะทำให้เครื่องจักรหยุดทำงานทันที


     Floating Blanking จะยินยอมให้วัตถุที่มีขนาดและรูปร่างตามที่ได้กำหนดไว้ สามารถผ่านม่านลำแสงไปได้โดยไม่ไปกระตุ้นเครื่องจักรให้หยุดทำงาน โดยวิธีนี้จะถูกใช้กับวัตถุที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น สายไฟสายไฮดรอลิก หรือชิ้นส่วนใดของตัวเครื่องจักรเอง ซึ่งสามารถผ่านม่านลำแสงไปโดยไม่เกิดผลกระทบใด ๆ กับเครื่องจักร


     นอกจากนี้ก็ยังมีลักษณะฟังก์ชันการทำงานอื่น ๆ อีก เช่น Fixed Blanking, Solid–state Outputs, External Device Monitoring (EDM), Coded Beams, PC–based Configuration, Self–documentation และ Advanced Diagnostics เป็นต้น


 มีตัวแปรสำคัญหลายประการที่ต้องคำนึงถึงเมื่อมีการใช้งานของอุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบม่านลำแสง เช่น


- ตำแหน่งการติดตั้งเครื่องส่งกำลังแสงและเครื่องรับซึ่งต้องมีระยะห่างอย่างเหมาะสม เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ในบางครั้งก็อาจใช้กระจกช่วยในการหักเหลำแสงไปยังรอบ ๆ มุมที่ต้องการ

- ระยะความสูงที่ต้องได้รับการป้องกัน คือ มิติของสนามลำแสงที่กระทำการซึ่งก็คือจำนวนลำแสงที่ต้องการนั่นเอง

- ความไวในการรับรู้ คือ ขนาดของวัตถุเล็กที่สุดที่สามารถถูกตรวจจับได้

- เวลาในการตอบสนองของม่านลำแสง คือ เวลามากที่สุดระหว่างการถูกกระตุ้นในการรับรู้และการแสดงผลปฏิบัติการต่อการรับรู้นั้นออกมา

- อุณหภูมิปฏิบัติการ คือ อุณหภูมิที่อยู่ล้อมรอบอุปกรณ์ป้องกันฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานฯลฯ

Safety Light Curtains

 

- Safety Sensors เป็นอุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบเซนเซอร์ ถูกใช้ในการตรวจจับสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยและส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ที่จะทำการเตือนผู้ปฏิบัติงาน อุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้สามารถติดตั้งให้เข้ากับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้หลายชนิด รวมถึงมักใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์หรือตัวควบคุมโปรแกรมลอจิก (Programmable Logic Controller: PLC) ตัวอย่างอุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้ เช่น

- Photoelectric Safety Sensors เป็นอุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบเซ็นเซอร์ โดยใช้คุณสมบัติของอุปกรณ์ไวแสง (The Properties of Light Sensitive Elements) ซึ่งถือว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการควบคุมเชิงวิศวกรรมแบบอัตโนมัติ (Automatic Control Engineering) อุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้มีอยู่หลายแบบ เช่น การสะท้อนกลับจากวัตถุโดยตรง การสะท้อนกลับด้วยเครื่องสะท้อน การสะท้อนผ่านลำแสง

หรือการสะท้อนแบบมีขั้วบวก-ลบด้วยเครื่องสะท้อน เป็นต้น อุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบเซ็นเซอร์นี้จะใช้เครื่องส่ง (Emitters) และเครื่องรับ (Receivers) ในการค้นหาการปรากฏ/ไม่ปรากฏหรือระยะห่างของวัตถุเป้าหมาย โดยให้การป้องกันคล้าย ๆ กันกับอุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบม่านลำแสง แต่จะมีจุดอ่อนที่น้อยกว่าอุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับม่านลำแสงแบบดั้งเดิม

     อุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบเซนเซอร์ มีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย โดยความแตกต่างระหว่างสีจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงของความสว่าง อุณหภูมิโดยรอบ หรือตำแหน่งของวัตถุ ซึ่งสามารถตรวจจับวัตถุได้โดยใช้องค์ประกอบของอุปกรณ์ไวแสง โดยมีตัวตรวจจับ (Detector) และเซ็นเซอร์อยู่ในที่เดียวกันและเมื่อใดที่ลำแสงถูกสะท้อนกลับจากพื้นผิวของวัตถุเป้าหมาย เซนเซอร์ก็จะสามารถตรวจจับการปรากฏของวัตถุนั้นได้ อุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้มักถูกใช้ในการควบคุม ตรวจสอบ ตรวจจับ และใช้กับ Machine Tools และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ


      เซ็นเซอร์สามารถทำงานได้ 5 รูปแบบ คือ แบบรวมกันเป็นจุดเดียว แบบลู่ออก หรือแบบปรับได้ แบบแพร่กระจายออก และแบบคงที่ โดยสามารถเลือกให้เหมาะกับคุณลักษณะที่ต้องการมากที่สุด


      อุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบเซ็นเซอร์ ที่ใช้กันทั่วไปยังมีอีกหลายประเภท เช่น Break-a-beam Switches, Perimeter Guards, Safety Blocks, Safety Sensor Switches, Wireless Safety Sensors เป็นต้น


 อุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบเซนเซอร์มีประโยชน์มากในอุตสาหกรรมที่ต้องการระบบควบคุมและระบบอัตโนมัติโดยถูกใช้สำหรับตรวจจับโดยไม่ต้องสัมผัส หรือระบุตำแหน่ง จำแนก หรือนับจำนวนของวัตถุที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังถูกใช้ในการตรวจจับการรั่วไหลของสารไวไฟหรือวัตถุระเบิดระหว่างการขนส่ง และใช้ในพื้นที่งานอื่น ๆ เช่น งานวิศวกรรมเครื่องกล งานจับต้องวัตถุ ประกอบชิ้นส่วน บรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมยา ไม้ อาหาร และเครื่องดื่ม เป็นต้น

 

Photoelectric Safety Sensors

 

- Laser Scanners เป็นอุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบเลเซอร์ในการเฝ้าระวังกิจกรรมภายใต้พื้นที่งานอันตราย ซึ่งใช้ได้กับงานทั้งที่อยู่กับที่หรือเคลื่อนที่ โดยมีจุดเด่น คือ สามารถตรวจจับขาและเท้าของผู้ปฏิบัติงานที่จะล่วงล้ำเข้าสู่พื้นที่อันตรายจากอาณาเขตที่ระบุไว้ (Perimeter) ซึ่งจะไม่ใช้ในการตรวจจับมือและนิ้วมือเหมือนอุปกรณ์แบบม่านลำแสง รวมถึงมีระยะเวลาตอบสนองช้ากว่าอุปกรณ์แบบม่านลำแสง อุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้สามารถใช้ป้องกันตัวเครื่องจักรรวมถึงตัวผู้ปฏิบัติงานด้วย และผู้ใช้งานสามารถปรับให้เหมาะกับพื้นที่การใช้งาน โดยเฉพาะการตรวจจับการปรากฏตัวของวัตถุในพื้นที่ขนาดใหญ่


       อุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบเลเซอร์ มีฟังก์ชันการทำงานโดยเครื่องสแกนจะส่องกระจายแสงออกไปเป็นจังหวะ เมื่อแสงกระทบโดนวัตถุแรกในทางเดินของแสงและสะท้อนกลับไปสู่เครื่องสแกน ต่อจากนั้นเครื่องสแกนจะเปรียบเทียบระยะทางกับขนาดวัตถุที่รับรู้ในโซนที่กำหนดไว้ ถ้าเครื่องสแกนรับรู้ถึงการล่วงล้ำ ก็จะส่งสัญญาณหยุดไปยังตัวควบคุมของเครื่องจักร ซึ่งสามารถตรวจจับวัตถุที่อยู่กับที่ เช่น ผนังห้อง เสา และวัตถุที่เคลื่อนที่ เช่น ผู้ปฏิบัติงาน

 หรือใช้งานได้ดีกับพื้นที่ที่มีรูปร่างต่างๆ เช่น วงกลม สี่เหลี่ยมมุมฉาก หรือหลายเหลี่ยม นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้งานกับระบบนำทางอัตโนมัติของยานพาหนะ(Automatic Guided Vehicle: AGV) โดยติดตั้งเครื่องสแกนไว้ที่ข้างหน้าและข้างหลังของยานพาหนะ เพื่อป้องกันการชนกับสิ่งกีดขวาง ซึ่งผู้ผลิตหลายรายมักใช้เครื่องสแกนแทนกันชนของยานพาหนะเหล่านั้น

 



Safety Laser Scanners

 

- Safety Mats เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ตรวจจับการล่วงล้ำอีกประเภทหนึ่งซึ่งใช้เพื่อป้องกันอันตรายในระดับพื้นโรงงานรอบๆตัวเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยอุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้จะมีลักษณะเหมือนพรม ซึ่งมีหลักการทำงานง่าย ๆ คือ อันดับแรกก็เปิดสวิตช์พรม และเมื่อใดก็ตามที่วัตถุที่มีน้ำหนักอย่างน้อยตามแรงกดที่กำหนดไว้มากดทับบนพรม (อาจจะเป็นเท้าของผู้ปฏิบัติงาน) ก็จะทำให้สวิตช์ปิดตัวลงและส่งสัญญาณไปยังตัวควบคุมของพรม (Safety Mat Controller)

ซึ่งจะส่งสัญญาณหยุดต่อไปยังตัวควบคุมของเครื่องจักรอีกทีหนึ่งเพื่อทำให้เครื่องจักรหยุดการทำงานทันที ในทำนองเดียวกันถ้าการสัมผัสใด ๆ บนพรมไม่มีแรงกระตุ้นที่เพียงพอ สัญญาณก็จะไม่บกพร่อง ก็จะทำให้เครื่องจักรทำงานได้ตามปกติ ส่วนกรณีที่ตัวพรมมีเหตุขัดข้อง เช่น สายไฟฟ้าชำรุด หรือเกิดการลัดวงจรขึ้น ก็จะทำให้เครื่องจักรไม่สามารถทำงานต่อไปได้เช่นกัน


        โดยตัวพรมแต่ละแผ่นนั้น จะมีสัญญาณที่ถูกส่งผ่านตลอดทั้งด้านบนและด้านล่างจากสายไฟฟ้าด้านละ 2 เส้นที่เดินไว้เชื่อมต่อกับตัวควบคุมของพรม ถ้าจำเป็นต้องใช้การป้องกันในอาณาบริเวณกว้าง ก็สามารถนำพรมแต่ละแผ่นมาต่อกันได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาในเบื้องต้น คือ อาณาบริเวณที่ใช้งาน ซึ่งพรมนั้นมีหลายขนาดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีตัวแปรที่ควรพิจารณาร่วมด้วย คือ แรงกระตุ้นขั้นต่ำ (แรงกดขั้นต่ำที่กดทับบนพรมแล้วไปกระตุ้นทำให้สวิตช์ปิด) และอายุการใช้งานสูงสุดของกลไกการทำงาน (จำนวนครั้งมากที่สุดของการรับแรงกระตุ้น)

 อุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้ สามารถใช้ทดแทนอุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบม่านลำแสงได้ในพื้นที่งานที่มีข้อจำกัด เช่น มีหมอก ควัน และฝุ่นละออง นอกจากนี้ตัวพรมบางชนิดก็สามารถต้านทานต่อสารต่าง ๆ ได้เช่น เกลือ เศษกระเด็นจากการเชื่อม ฝอยโลหะจากเครื่องขัดโลหะ น้ำ กรดแร่ กรดอินทรีย์ แอลกอฮอล์ อัลดีไฮด์ สารกัดกร่อน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

Safety Mats

 

- Radiofrequency (Capacitance) Presence Sensing Device เป็นอุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบใช้ความจุหรือสนามความถี่วิทยุ (Radiofrequency Field) ในการควบคุมการทำงานของเครื่องจักร โดยตรวจจับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสนามความถี่วิทยุนั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรควบคุมเครื่องจักร (Machine Control Circuit) และเมื่อสนามความถี่วิทยุถูกบดบังก็จะมีการแสดงผลออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ส่งสัญญาณเตือน เปลี่ยนการกระทำของเครื่องจักร

หรือทำให้เครื่องจักรนั้นหยุดการทำงาน ซึ่งก็เหมือนกับกรณีของอุปกรณ์ป้องกันชนิดตรวจจับแบบม่านลำแสง ที่อุปกรณ์ป้องกันประเภทนี้ควรใช้กับเครื่องจักรชนิดที่สามารถทำการหยุดได้ก่อนที่ผู้ปฏิบัติงานจะเข้าถึงพื้นที่อันตราย โดยตัวเครื่องจักรเองก็อาจใช้คลัทช์ที่มีความฝืด (Friction Clutch) หรืออุปกรณ์อื่นที่เชื่อถือได้ในการหยุดการทำงาน 

 

Radiofrequency Presence Sensing Device

- Electromechanical Sensing Device เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้การตรวจจับการล่วงล้ำประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถติดตั้งไว้ที่ตัวเครื่องจักร โดยอุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้จะมีชิ้นส่วนที่เป็นแท่งหรือแถบสัมผัสยื่นลงมาตามระยะห่างที่ได้กำหนดไว้เมื่อผู้ปฏิบัติงานเริ่มรอบการทำงานของเครื่องจักร โดยเครื่องจักรก็จะทำงานตามปกติจนกระทั่งผู้ปฏิบัติงานยื่นมือหรือนิ้วมือเข้าไปแตะถูกแท่งหรือแถบสัมผัสนั้น ก็จะทำให้ตัวควบคุมไม่กระตุ้นการทำงานของเครื่องจักร

 

Electromechanical Sensing Device

 


2.2 Pullback เป็นอุปกรณ์ป้องกันแบบดึงถอยกลับ โดยมากใช้กับเครื่องจักรที่มีการทำงานแบบการกด หรือกระแทก เช่น เครื่องปั๊ม (Power Press) อุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้ประกอบไปด้วยสายดึงที่มีแถบ 2 เส้น ที่โยงมาจากเครื่องจักรมารัดที่ข้อมือหรือแขนของผู้ปฏิบัติงาน โดยมีหลักการทำงาน คือ เมื่อส่วนของเครื่องจักรที่ใช้ปั๊ม ถูกยกสูงขึ้นก็จะเป็นช่วงเวลาปลอดภัยที่ผู้ปฏิบัติงานจะใช้มือหยิบจับ จัดวางชิ้นงานให้เหมาะสมกับเครื่องจักรที่จะปั๊มให้เป็นรูปร่างที่ต้องการ เมื่อจัดวางชิ้นงานเรียบร้อยแล้ว ขณะที่เครื่องจักรกำลังจะเริ่มเคลื่อนที่ลงมาปั๊ม สายดึงที่รัดอยู่กับข้อมือของผู้ปฏิบัติงานก็จะดึงมือของผู้ปฏิบัติงานออกจากบริเวรอันตรายนั้นทันที ทั้งนี้เป็นเพราะกลไกการดึงมือถอยกลับนี้สัมพันธ์กับกลไกการทำงานของเครื่องปั๊มนั่นเอง

 

Pullback

 

2.3 Restraint เป็นอุปกรณ์ป้องกันแบบเหนี่ยวรั้ง โดยใช้สายดึงรัดเข้าที่ข้อมือของผู้ปฏิบัติงานไว้กับเสาที่อยู่กับที่ตลอดเวลา โดยเป็นการจำกัดระยะทางการเคลื่อนไหวของมือและแขนของผู้ปฏิบัติงานให้ทำงานภายในระยะทางที่กำหนดไว้ซึ่งเป็นระยะที่ปลอดภัยที่สุด ดังนั้นในการปฏิบัติงานดังกล่าวจึงไม่สามารถยืดแขนเกินไปกว่าระยะนั้น ๆ เนื่องจากถูกเหนี่ยวรั้งด้วยสายดึงที่รัดข้อมือไว้ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น อาจมีการใช้เครื่องมือป้อนชิ้นงานร่วมด้วย โดยใช้จับชิ้นงานนั้นเข้าสู่บริเวณที่อาจก่อให้เกิดอันตราย


Restraint

 

2.4 Safety Controls เป็นอุปกรณ์ป้องกันแบบใช้การควบคุม ตัวอย่างเช่น


- Safety Trip Control เป็นอุปกรณ์ป้องกันแบบใช้การควบคุม ที่สามารถหยุดการทำงานของเครื่องจักร โดยใช้เครื่องมือที่ตอบสนองได้อย่างรวดเร็วในการหยุดการทำงานหรือกลไกของเครื่องจักรเมื่อยามเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ตัวอย่างเช่น


 - Pressure–sensitive Body Bar เมื่อแท่งเหล็กที่รับรู้แรงกดถูกกดให้ต่ำลง จะส่งผลให้หยุดการทำงานหรือกลไกของเครื่องจักรนั้นทันที ซึ่งแรงกดที่เกิดขึ้นนั้นอาจมาจากการที่ผู้ปฏิบัติงานสะดุด เสียการทรงตัว หรือล้มใส่เครื่องจักรแล้ว ตัวผู้ปฏิบัติงานไปกดแท่งเหล็กที่รับรู้แรงกดให้ต่ำลงมา ทำให้การทำงานของเครื่องจักรนั้นหยุดชะงัก ดังนั้นการจัดวางตำแหน่งของแท่งเหล็กที่รับรู้แรงกดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งต้องสามารถหยุดการทำงานของเครื่องจักรได้ก่อนที่ตัวผู้ปฏิบัติงานจะเข้าถึงพื้นที่อันตราย

 

Pressure–sensitive Body Bar

 

- Safety Tripod เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกับ Pressure–sensitive Body Bar นั่นคือเมื่อมีแรงกดที่กระทำต่อแท่งเหล็กที่มีลักษณะเป็น 3 ขา ก็จะส่งผลให้ปฏิบัติการหรือกลไกของเครื่องจักรนั้นหยุดลง ซึ่งจะใช้ในยามเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีข้อผิดพลาดในการทำงาน โดยผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้มือดึงแท่งเหล็กนี้ได้ทันที ดังนั้นการจัดวางตำแหน่งของแท่งเหล็กนี้ก็สำคัญเช่นเดียวกัน

 


Safety Tripod

 

- Safety Tripwire Cables เป็นอุปกรณ์ป้องกันที่ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งอาณาเขตรอบนอกหรืออยู่ใกล้กับพื้นที่อันตราย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานต้องสามารถที่จะเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันนี้ได้ในยามเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น โดยใช้มือดึงสายเคเบิลในการหยุดการทำงานหรือกลไกของเครื่องจักรนั้นลง และอุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้สมควรอย่างยิ่งที่ต้องให้ผู้ปฏิบัติงานทำการตั้งเครื่องใหม่เพื่อการเริ่มการทำงานของเครื่องจักรอีกครั้ง เพราะถ้าใช้แค่การปล่อยมือจากสายเคเบิลแล้วเครื่องจักรกลับมาทำงานทันที อาจเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นได้ เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานอาจจะยังอยู่ในระยะอันตราย

 

Safety Tripwire Cables

 

- Two–hand Control เป็นอุปกรณ์ป้องกันแบบใช้การควบคุม ซึ่งต้องการให้ผู้ปฏิบัติงานใช้มือทั้ง 2 ข้างกดที่ปุ่มบังคับการทำงานของเครื่องจักรพร้อมกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เครื่องจักรทำงาน และต้องกดอยู่ที่ปุ่มบังคับนั้นตลอดเวลาจนกว่าเครื่องจักรนั้นจะทำงานเสร็จเรียบร้อย ด้วยลักษณะการควบคุมดังกล่าว จึงเป็นการทำให้มือของผู้ปฏิบัติงานอยู่ในระยะที่ปลอดภัยจากพื้นที่อันตรายของเครื่องจักรในระหว่างที่เครื่องจักรกำลังปฏิบัติการ กรณีที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันฯ นี้กับเครื่องจักรประเภทเครื่องปั๊ม (Power Press) ก็จะต้องการ Part-revolution Clutch, Break และ Break Monitor ด้วย

 

- Two–hand Trip เป็นอุปกรณ์ป้องกันแบบใช้การควบคุม ซึ่งต้องการให้ผู้ปฏิบัติงานใช้มือทั้ง 2 ข้างกดที่ปุ่มบังคับการทำงานของเครื่องจักรพร้อมกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เครื่องจักรทำงานอุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้ใช้กับเครื่องจักรที่มี Full–Revolution Clutches โดยที่ตัวปุ่ม Trips นั้นต้องถูกวางอยู่ในตำแหน่งที่มีระยะห่างเพียงพอจากจุดปฏิบัติการ เพื่อให้ยากต่อการที่ผู้ปฏิบัติงานจะย้ายมือจากปุ่ม Trip หรือที่จับ เข้าไปยังจุดปฏิบัติการของเครื่องจักรก่อนที่รอบการทำงานแรกของเครื่องจักรจะผ่านไปครึ่งรอบอย่างสมบูรณ์ โดยระยะห่างนั้นขึ้นอยู่กับความเร็วของรอบการทำงานของเครื่องจักรและความเร็วคงที่ของอุปกรณ์ของเครื่องจักร เช่น หัวอัด เพื่อเป็นการทำให้มือของผู้ปฏิบัติงานอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยก่อนที่หัวอัดหรือใบมีดจะเคลื่อนตัวลงมาจนอยู่ในตำแหน่งต่ำสุด

 

Two–hand Trip

 

2.5 Stop Buttons and Power Control เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเครื่องจักรควรที่จะมีตัวตัดพลังงานฉุกเฉิน (Emergency Power Off: EPO) หรือปุ่มหยุดฉุกเฉิน หรือสวิตช์ตัวจ่ายพลังงานที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจน ที่อยู่ในระยะเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกต่อผู้ปฏิบัติงานในการตัดพลังงานสำหรับเครื่องจักรแต่ละตัวเมื่อยามเกิดเหตุฉุกเฉิน และสำหรับเครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่นั้นสวิตช์ตัวจ่ายพลังงานควรที่จะถูกติดตั้งในหลาย ๆ ด้าน เพื่อที่พลังงานจะสามารถถูกตัดได้โดยง่ายจากผู้ปฏิบัติงานคนใดคนหนึ่งที่อยู่ใกล้กับสวิตช์ตัวที่อยู่ในด้านนั้น


2.6 Anti–Restart Devices (ARD) เป็นอุปกรณ์ป้องกันในกรณีที่พลังงานหรือกระแสไฟฟ้ากลับคืนสู่เครื่องจักรกะทันหันหลังจากที่ดับหรือขัดข้องไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ทันระวังตัวได้เช่นเลื่อยไฟฟ้าหรือเครื่องปั๊ม(Power Press)ที่มอเตอร์อาจทำงานทันทีที่พลังงานกลับคืนมา ดังนั้นสามารถป้องกันโดยการติดตั้งอุปกรณ์ระงับการสตาร์ทเครื่องใหม่อีกครั้งซึ่งควรพิจารณาใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบการเดินสายไฟของเครื่องจักรแต่ละประเภท  เช่น Cord–connected , Hard–wired หรือ Three–phase Machines  


2.7 Gateเป็นอุปกรณ์ป้องกันที่เปรียบเสมือนสิ่งกีดขวางที่เคลื่อนไหวได้ (Movable Barriers) ซึ่งจะป้องกันหรือจำกัดผู้ปฏิบัติงานในการเข้าถึงจุดอันตรายของเครื่องจักร ตัวอย่างอุปกรณ์ชนิดนี้เช่น Noncontact Safety Interlock Switches, Mechanical Safety Interlocked Switches เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ป้องกันชนิดนี้ในหลาย ๆ กรณีจะถูกออกแบบให้ทำงานไปพร้อมกับรอบการทำงานของเครื่องจักร เช่น ถ้าประตูไม่ปิดสนิทเครื่องจักรก็จะไม่ทำงาน หรือเมื่อเปิดประตูเครื่องจักรก็จะไม่ทำงานเช่นกัน

Gate

 

 ตารางเปรียบเทียบข้อแตกต่างของอุปกรณ์ป้องกัน

 

 ตารางเปรียบเทียบข้อแตกต่างของอุปกรณ์ป้องกัน(ต่อ)


โปรดติดตามตอนจบได้ในฉบับหน้า

 

เอกสารอ้างอิง
* Machine Guarding; U.S.Department of Labor Occupational Safety & Health Administration 2007 
* อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช   

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด