เนื้อหาวันที่ : 2013-04-25 10:53:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3874 views

FTA BIMSTEC ตลาดใหม่ช่วยไทยลดการพึ่งพาตลาดเก่า

เขตการค้าเสรีสะท้อนแนวคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า "ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อประเทศต่าง ๆ ผลิตสินค้าที่ตนมีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดเมื่อเปรียบ เทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้วนำสินค้าเหล่านั้นมาค้าขายแลกเปลี่ยนกัน" ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ประโยชน์สูงสุดดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากยังมีการเก็บภาษีขาเข้าและมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ซึ่งส่งผลบิดเบือนราคาที่แท้จริงของสินค้า และทำให้การค้าขายไม่เป็นไปอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ

ชื่อเรื่อง  FTA BIMSTEC ตลาดใหม่ช่วยไทยลดการพึ่งพาตลาดเก่า
ผู้เขียน  วิรัตน์ แก้วสาร

เขตการค้าเสรีสะท้อนแนวคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า "ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อประเทศต่าง ๆ ผลิตสินค้าที่ตนมีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดเมื่อเปรียบ เทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้วนำสินค้าเหล่านั้นมาค้าขายแลกเปลี่ยนกัน"  ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ประโยชน์สูงสุดดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากยังมีการเก็บภาษีขาเข้าและมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ  ซึ่งส่งผลบิดเบือนราคาที่แท้จริงของสินค้า และทำให้การค้าขายไม่เป็นไปอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ


ปัจจุบันประเทศไทยมีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีแล้วทั้งสิ้นกับ 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น บาห์เรน และเปรู กับอีก 2 กลุ่มประเทศ ได้แก่ EFTA และ BIMSTEC ซึ่งเป็นการรุกคืบไปยังกลุ่มประเทศที่อยู่ในอนุทวีเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกหนึ่งก้าวยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยที่เล่นบทบาทเชิงรุกเพื่อการจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศและกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรทางการค้า เพิ่มโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุน ซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ของไทยสอดรับกับนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดีย พร้อมทั้งเป็นการช่วยเน้นจุดยืนนโยบายต่างประเทศแบบ Forward Engagement ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นกระชับความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรเดิม และบุกเบิกความสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่ ๆ 


โดยมีวัตถุประสงค์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งในด้านการค้าและการลงทุน เทคโนโลยี การสื่อสาร พลังงาน คมนาคม การท่องเที่ยวและประมง รวมทั้งส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน โดยได้กำหนด ปฎิญญาที่ประชุมของผู้นำในกรอบ BIMSTEC Summit Declaration ซึ่งเป็นความร่วมมือใหม่นี้ว่าเป็นความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความร่วมมือที่ประสานจุดแข็งของแต่ละประเทศเข้าด้วยกันใน BIMSTEC ก็เป็นการส่งเสริมความริเริ่มของไทยที่นำมาใช้ได้ผลเป็นที่ยอมรับในหลายเวที ทั้ง ACD และ ACMECS ซึ่งความสำเร็จในเวทีนี้ ก็จะเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (south-south cooperation) ที่จะทำให้ไทยมีบทบาทสร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศต่อไป

จุดเริ่มต้นและความสำคัญของ BIMSTEC
 กลุ่ม BIMSTEC ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 โดยมีประเทศสมาชิก 4 ประเทศได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดียและไทย ภายใต้ชื่อ "กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย" (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation :BIST-EC) ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2540 BIST-EC ได้รับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการพร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อกรอบความร่วมมือใหม่ BIMST-EC โดยเพิ่มชื่อพม่าเข้าไประหว่างอินเดียและศรีลังกาทั้งในชื่อภาษาไทยและชื่อภาษาอังกฤษ ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2546 BIMST-EC ได้รับสมาชิกใหม่อีก 2 ประเทศ คือ เนปาล และภูฎาน

  ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่กันอีกครั้ง เป็นBIMSTEC (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ปัจจุบัน BIMSTEC มีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ และจัดให้มีการเจรจาร่วมกันเพื่อลดภาษีเป็นรายสินค้าและเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุนเป็นรายสาขา ซึ่งครั้งล่าสุดได้จัดประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า BIMSTEC TNC ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 17-21 มีนาคม 2551 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย


ด้วยจำนวนประชากรรวมกันที่มีมากถึง 1,300 ล้านคน กลุ่ม BIMSTEC ถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ แต่ปัจจุบันยังมีการค้า การลงทุน และการเดินทางติดต่อระหว่างกันค่อนข้างน้อย ทำให้ยังมีโอกาสและลู่ทางในการที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการค้าการลงทุนนั้น ประเทศสมาชิกได้ลงนามในกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC แล้ว และทุกประเทศได้เสร็จสิ้นกระบวนการภายในประเทศสำหรับการให้สัตยาบันแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าก็กำลังดำเนินอยู่ โดยมีเป้าหมายเร่งรัดเจรจาด้านตัวสินค้าก่อนเป็นลำดับแรกให้เสร็จสิ้นเพื่อเริ่มลดภาษีได้จากนั้นค่อยเริ่มการเจรจาเรื่องการลงทุน และการค้าบริการ


 สำหรับที่ประชุมรับรองปฏิญญาการประชุมระดับผู้นำในกรอบ BIMSTEC ( BIMSTEC Summit Declaration) ครั้งแรก ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยนายกรัฐมนตรีของศรีลังกาเสนอว่าถึงเวลาแล้วที่จะยกระดับการประชุมของ BIMSTEC เป็นระดับผู้นำสูงสุด เพื่อการบรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกัน และได้กำหนดชื่อความร่วมมือใหม่เป็น "ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขา ทางวิชาการและเศรษฐกิจ" (Bay of Bengal Initiative for Multi - Sectoral Technical and Economic Cooperation - BIMSTEC) โดยได้เน้นย้ำเรื่องวัตถุประสงค์และหลักการของ BIMSTEC ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของภูมิภาค

  ความร่วมมือ 6 สาขาและการขยายความร่วมมือสู่สาขาใหม่ ๆ เช่น สาธารณสุข การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษา การพัฒนาพื้นที่ชนบท วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง การก่อสร้าง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ การวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยา และการควบคุมและ การจัดการปัญหาภัยธรรมชาติ  โดยได้ให้ความสำคัญของการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี BIMSTEC ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ความจำเป็นของความร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งปัญหาข้ามพรมแดนอื่นๆ เช่น โรคเอดส์และปัญหาด้านสาธารณสุขต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการปฏิสัมพันธ์ระดับประชาชน และบทบาทของภาคเอกชนซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการอำนวยความสะดวกในการเดินทางภายในภูมิภาค BIMSTEC ผ่านบัตรเดินทางนักธุรกิจ BIMSTEC (BIMSTEC Business Travel Card) หรือ BIMSTEC visa อีกด้วย

มองภาพรวมของกลุ่มประเทศ BIMSTEC
ประเทศอินเดีย


 ประเทศอินเดีย หรือ สาธารณรัฐอินเดีย (Republic of India) เป็นอนุทวีป เกือบ 2,000 ไมล์ จากเหนือจรดใต้ และ 1,800 ไมล์จากตะวันออกถึงตะวันตก ชายฝั่งของอินเดียมีความยาว 3,800 ไมล์ และมีพื้นที่ 1.3 ล้านตารางไมล์ โดยมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ทิศเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับ ปากีสถาน จีน เนปาล และภูฎาน 

ทิศตะวันตกมีอาณาเขตติดต่อกับ ปากีสถาน และทะเลอาระเบีย ทิศตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับ พม่า บังคลาเทศ และอ่าวเบงกอล และทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับศรีลังกา และมหาสมุทรอินเดีย มีประชากรเป็นอันดับสองของโลก

ะยะทางที่กว้างใหญ่เป็นตัวแบ่งเมืองต่าง ๆ ที่มีประชากรหนาแน่นของอินเดีย เมืองหลวง คือ นิวเดลี (New Delhi) ส่วน มุมไบ เป็นเมืองสำคัญและเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงินและการคมนาคม เชื้อชาติของอินเดียส่วนใหญ่จะเป็นอินโด-อารยัน ร้อยละ 72 ดราวิเดียน ร้อยละ 25 ส่วนมองโกลอยด์ร้อยละ 2  และอื่น ๆ อีกร้อยละ 1


 เดิมอินเดียใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ก่อนที่จะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1991 โดยรัฐบาลอินเดียได้เข้าไปกำหนดมาตรการและแทรกแซงการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ทั้งด้านการผลิต การตลาด และการลงทุน โดยใช้นโยบายควบคุมการนำเข้าสินค้าอย่างเคร่งครัด ต่อมาเมื่ออินเดียประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำวิกฤตอย่างรุนแรง อินเดียต้องกู้เงินจำนวนมาก IMF (International Monetary Fund) และจากธนาคารโลก รวมทั้งการใช้มาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการนำเข้า เพื่อเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศในขณะเดียวกันก็พยายามส่งเสริมการส่งออกควบคู่กันไป ทำให้อินเดียต้องดำเนินนโยบายการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ในปี 1991 เป็นต้นมา

  โดยหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจการตลาดแทน จากที่นานาประเทศเคยมองข้ามความน่าสนใจของอินเดีย เพราะอินเดียเคยถูกจัดว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจปิดมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้นานาประเทศรู้จักอินเดียน้อยมาก แต่เมื่ออินเดียเล่นบทเชิงรุกหันหน้าเข้าหาประเทศต่าง ๆ และเปิดประเทศมากขึ้น มีการประกาศใช้นโยบายการส่งออกและนำเข้า ระหว่างปี 1997 - 2002

เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้อินเดียได้รับประโยชน์มากขึ้น มีการจัดหาวัตถุดิบ ทั้งสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ชิ้นส่วนประกอบและสินค้าทุน สำหรับการผลิตภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการบริการให้สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก และที่สำคัญาเป็นการยกระดับให้ประเทศเข้าสู่ตลาดโลกอีกทางหนึ่งด้วย


 อินเดียมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้า ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  อังกฤษและเยอรมนี ส่วนตลาดการนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ส่วนไทยนั้น อินเดียนับได้ว่าเป็นตลาดการส่งออกที่สำคัญอันดับ 23 และเป็นหนึ่งในกลุ่มตลาดใหม่ที่ภาครัฐให้ความสนใจที่จะขยายการค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนการส่งออกไปยังตลาดหลักที่มีแนวโน้มลดลง โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นเม็ดพลาสติก เหล็กกล้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

  ไทยก็มีการนำเข้าสินค้าจากอินเดียเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้า เครื่องเพชร พลอย อัญมณี น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ โดยในภาพรวมแล้วไทยกับอินเดียมีมูลค่าการค้าขายระหว่างกันน้อยมาก แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหลังจากได้บรรลุข้อตกลงการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างกัน มีทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด เช่น ถ่านหิน ซึ่งมีปริมาณสำรองมากเป็นอันดับ 4 ของโลก แร่เหล็ก แมงกานิส ไมก้า บ็อคไซต์ ไททาเนี่ยม โครไมต์ แก๊สธรรมชาติ เพชร หินปูน และปิโตรเลี่ยม มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 คือ พันกว่าล้านคน มีหลากเชื้อชาติ ส่วนใหญ่เป็นอินโด-อารยัน ที่เหลือเป็นดราวิเดียน อารยัน มองโกลอยด์ และอื่น ๆ


ประเทศศรีลังกา


ศรีลังกา หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดียใกล้ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอนุทวีปอินเดีย ชื่อในอดีตได้แก่ ลงกา ลังกาทวีป สิงหลทวีป และ ซีลอน ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในสมัยอาณานิคมจนถึง พ.ศ. 2517 และเป็นชื่อที่ยังคงใช้ในบางโอกาส ซึ่งชื่อในปัจจุบันคือ ศรีลังกา ชีวิตบนเกาะนี้ ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ระหว่างรัฐบาล และกบฏแบ่งแยกทมิฬอีแลม

 ซึ่งได้มีข้อตกลงหยุดยิงเมื่อต้นปี พ.ศ. 2545 มีประชากรกว่า 19.4 ล้านคน  ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ คือ สิงหล 74% ทมิฬศรีลังกา 12.6% ทมิฬอินเดีย 5.5%  แขกมัวร์ ซึ่งเป็นมุสลิมจากอินเดียวและตะวันออกกลาง 7.1% และอื่น ๆ

  ด้านทรัพยากรธรรมชาติถือได้ว่าศรีลังกาเป็นประเทศที่มีพลอยดิบและอัญมณีเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีพ่อค้าพลอยของไทยซื้อพลอยดิบจากศรีลังกามาเผาเป็นพลอยไพลิน โดยรัฐบาลศรีลังกาได้มีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีที่สำคัญของโลก แต่ศรีลังกายังขาดเทคโนโลยีการเผาพลอยไพลินและช่างฝีมือเจียระไนพลอย


นโยบายด้านการค้าภายหลังได้รับเอกสารศรีลังกาได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า โดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้นและออกกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ จึงทำให้ศรีลังกาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีการกำหนดนโยบาย The Inward-Looking เพื่อลดการขาดดุลทางการค้าและดำเนินการตามนโยบายการค้าเสรี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ

  ซึ่งในปัจจุบันมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเสรี เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต มีแรงงานที่มีทักษะ และมีปัจจัยที่เอื้อต่อการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมผลิตยางพารา อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเจียระไนเพชร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์  เป็นต้น

ส่วนด้านการค้ามีประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ฮ่องกง อินเดีย และประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกและสหภาพยุโรป สินค้าที่นำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมัน เครื่องจักร สินค้าบริโภคและวัตถุดิบ


สำหรับมาตรการกีดกันทางการค้าศรีลังการได้กำหนดการนำเข้าสินค้าจำนวน 84 รายการ เช่น นม น้ำมันพืช ขนมหวาน ผัก ผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก สายไฟฟ้า และตัวนำ ซีเมนต์ ฯลฯ โดยระบุให้เป็นสินค้าควบคุมตามที่กำหนด และยังมีสินค้าบางรายการที่ต้องมีการควบคุมและตรวจสอบซึ่งผู้นำเข้าต้องได้รับอนุญาตก่อนจะขายสินค้าดังกล่าวได้ ด้านเศรษฐกิจศรีลังกาได้กำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษนี้เพื่อให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องที่ 7-8%

และให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นภายในปี 2553 และให้ลดสภาพงบประมาณขาดดุลจาก 8% หรือเหลือ 3% ภายในปี 2553 เช่นกัน รวมทั้งให้มีการใช้จ่ายเงินที่สอดคล้องกับความจำเป็นในการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางธุรกิจ

ประเทศพม่า

 
ในทางประวัติศาสตร์ของพม่านั้นมีความยาวนานและซับซ้อน มีประชาชนหลายเผ่าพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีลักษณะพิเศษคือ เป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีพรมแดนทางแผ่นดินติดต่อกับสองประเทศเป็นแหล่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก ได้แก่จีน และอินเดีย

ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่มีเขตติดต่อกับ บังกลาเทศ ลาว และไทย  ทำให้ได้เปรียบในการติดต่อทำการค้าและขนส่งสินค้าผ่านชายแดนไปยังประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน จำนวนประชากรประมาณ 50.51 ล้านคน พม่ามีประชากรหลายเชื้อชาติ จึงเกิดเป็นปัญหาชนกลุ่มน้อย มีชาติพันธุ์พม่า 63% ไทยใหญ่ 16% มอญ 5% ยะไข่ 5% กะเหรี่ยง 3.5% คะฉิ่น 3% ไทย 3% ชิน 1%

  พม่ามีพม่ามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จึงเอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ซึ่งยังไม่มีการพัฒนาและนำไปใช้อย่างจริงจัง และในปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าไปพัฒนาและสัมปทานซื้อก๊าซธรรมชาติในแหล่งต่าง ๆ ของพม่า นอกจากนี้ยังมี อัญมณีประเภททับทิม พลอย ไข่มุก หยก สินแร่จำพวกถ่านหิน แร่นิกเกิ้ล แร่เหล็ก แร่สังกะสี ยิปซั่ม ตะกั่วและสัตว์น้ำ


 เศรษฐกิจของประเทศพม่ามีเกษตรกรรม เป็นอาชีพหลัก เขตเกษตรกรรมคือบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำสะโตง ปลูกข้าวเจ้า ปอกระเจา อ้อย และพืชเมืองร้อนอื่น ๆ  ทำเหมืองแร่ ภาคกลางตอนบนมีน้ำมันปิโตรเลียม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขุดแร่ หิน สังกะสี และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ทำเหมือง ดีบุก การทำป่าไม้ มีการทำป่าไม้สักทางภาคเหนือ ส่องออกขายและล่อมมาตามแม่น้ำอิรวดีเข้าสู่ย่างกุ้ง  อุตสาหกรรม กำลังพัฒนา อยู่บริเวณตอนล่าง เช่น ย่างกุ้ง  เป็นประเทศกำลังพัฒนาขั้นต่ำ หรือมีรายได้เฉลี่ยต่อบุคคล อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก 

 ส่วนนโยบายทางการค้าได้เปิดเขตการค้าเสรี โดยเปิดให้ชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนได้เกือบทุกประเภท โดยรัฐบาลประกันว่ากิจการที่ลงทุนจะไม่โอนกิจการเป็นของรัฐแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักเพราะความไม่มันใจในการปกครอบแบบเผด็จการทหาร พร้อมทั้งไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงพอและขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นทำให้การลงทุนต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลและมีความเสี่ยงสูงจากความมั่นคงทางการเมือง


 ประเทศคู่ค้าหลักที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ ไทย อินเดีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และมาเลเซีย  ส่วนสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ถั่ว ไม้สัก ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และข้าว ตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกล อุปกรณ์โลหะ ผลิตภัณฑ์โลหะ น้ำมันดิบ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำมันพืช  การลงทุนต่างชาติในพม่ามาจากสิงคโปร์เป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นอังกฤษ และไทย โดยไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 3 ของพม่า และไทยส่งสินค้าออกไปขายพม่ามากเป็นอันดับที่ 25 ของการส่งออกทั้งหมด

ประเทศบังกลาเทศ

 

สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ (People's Republic of Bangladesh) เป็นประเทศในเอเชียใต้ ซึ่งครอบครองเนื้อที่ในส่วนตะวันตกของภูมิภาคเบงกอล คำว่า "บังกลาเทศ (Bangladesh)" แปลว่า "ประเทศแห่งเบงกอล" ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของอ่าวเบงกอล มีพรมแดนติดกับประเทศอินเดียเกือบทุกด้าน ยกเว้นส่วนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศพม่าเล็กน้อยดินแดนที่เป็นประเทศบังกลาเทศในปัจจุบันมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1,000 ปี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป (อินเดีย) เคยเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนามาก่อน

ต่อมาพ่อค้าชาวอาหรับได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแผ่ จนชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมาจนถึงทุกวันนี้ ในปี พ.ศ. 2300 อังกฤษได้เข้าไปยึดครองชมพูทวีป และดินแดนแห่งนี้ได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเกือบ 200 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ดินแดนแถบนี้ได้รับเอกราช แต่บังกลาเทศก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน เรียกกันว่าปากีสถานตะวันออก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2514 ปากีสถานตะวันออกได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ภายใต้ชื่อ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ประชากรมีประมาณ 133.4 ล้านคน 


ประเทศบังกลาเทศตั้งอยู่ริมอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย ทำให้ได้รับอิทธิพลลมมรสุมจากมหาสมุทรอินเดียอยู่เสมอ เศรษฐกิจของบังกลาเทศจึงขึ้นอยู่กับการเพาะปลุกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะปอกระเจา ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการถักกระสอบ แต่เนื่องจากบังกลาเทศมักประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ เนื่องจากเป็นจุดที่พายุไซโคลนเข้ามากที่สุดในบรรดาประเทศในเอเชียใต้ ทำให้การเพาะปลูกของบังคลาเทศก็ไม่ค่อยดีนัก มีทรัพยกากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทรัพยากรทางทะเล หินปูน หินแข็ง ถ่านหิน ลีกไนซ์ ซิลิกา ดินขาว มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ มีก๊าซธรรมชาติในปริมาณมาก

ซึ่งบางส่วนมากจากปิโตรเลียม และบางส่วนก็มาจากถ่านหินเกรดต่ำ ด้านอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมของบังกลาเทศส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตทางการเกษตร เช่น สิ่งทอ กระดาษ น้ำตาล เป็นต้น  สินค้าส่งออก ได้แก่ เสื้อผ้า ปอกระเจา เครื่องแต่งกาย อาหารทะเลและปลาแช่แข็ง ประเทศผู้ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี  สินค้านำเข้า ได้แก่ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า ปิโตรเลียม ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน


นโยบายต่างประเทศของบังกลาเทศได้เปิดโอกาสให้มีการลงทุนจากต่างประเทศโดยเสรีที่สุดของประเทศในเอเชียใต้ โดยเปิดให้ลงทุนต่างชาติในกิจการต่าง ๆ ได้ในสัดส่วน 100% หรืออาจจะเข้าร่วมลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นหรือกับภาครัฐก็ได้ มีการทำความตกลงทวีภาคีเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนและการคุ้มครองการลงทุนต่างชาติกับ 14 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี มาเลเซีย เนเธอร์แนลด์ ปากีสถาน โรมาเนีย เกาหลีใต้ อังกฤษ ตุรกี และไทย และยังได้ลงนามในความตกลงเรื่องภาษีซ้อนกับอีก 20 ประเทศ

ประเทศเนปาล


ประเทศเนปาล เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในเอเชียใต้ บริเวณเทือกเขาหิมาลัย มีพรมแดนติดกับทิเบตของจีน และประเทศอินเดีย เนปาลเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นระบอบสาธารณรัฐในปีพ.ศ.2550 โดยก่อนปีพ.ศ.2549 เนปาลเคยเป็นรัฐเดียวในโลกที่มีศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเนปาลระบุให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐโลกวิสัย นอกจากศาสนาฮินดูที่คนเนปาลส่วนใหญ่นับถือแล้ว

เนปาลยังเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญของพุทธศาสนา คือ ลุมพินีวัน ที่ประสูติของพระโคตมพุทธเจ้า ประชากรของเนปาลมีประมาณ 24 ล้านคน กลุ่มเนปาลีชาวเนปาลดั้งเดิมเป็นชนชาติมองโกลอยด์ ผสมกับพวกอินโด-อารยันจากอินเดีย เป็น อินโด-เนปาลี 52%  ไมกิลิ 11%  โภชปุริ 8%  ถารู 3.6%  กลุ่มทิเบต-พม่า เช่น  ตามัง 3.5%  เนวารี 3%  มอการ์ 1.4 กุรุง 1.2%  ลิมูบู 0.2%


เนปาลมีพื้นที่เกษตรกรรมมีเพียงร้อยละ 17 พืชที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวเจ้า พื้นที่ 2 ใน 3 ปกคลุมด้วยป่าไม้ มีการตัดไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมไม้อัด โรงงานอุตสากรรมขนาดเล็กที่แปรสภาพผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ โรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศได้มาจากการค้าแรงงานของชาวเนปาลีที่อยู่ต่างประเทศ และส่งเงินกลับมาให้กับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเนปาล

 

 ธุรกิจการท่องเที่ยวมีจุดสนใจอยู่ที่การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยและวัฒนธรรม เช่นการเดินเขา ปีนเขา และล่องแก่ง ตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเนปาลก็มีอาทิเช่น ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ,วัดปศุปฏินาถ ,วัดสวยมภูวนาถ ,พระราชวังกาฐมัณฑุ ,เมืองโพคารา ฯลฯ มีทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ แร่ธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีพลังน้ำมากมายมหาศาล และมีราคาถูกทำให้อุตสาหกรรมด้านนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว


นโยบายทางการค้าเปิดเศรษฐกิจแบบเสรี และส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ มีความสัมพันธ์ทางค้ากับอินเดียซึ่งเป็นช่องทางการนำเข้าและส่งออกสู่ทะเล ประเทศคู่ค้าหลักได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ และฮ่องกง เนปาลเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก พร้อมกันนี้ยังเป็นประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ขาดแคลนเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อด้อยของบรรยากาศที่ไม่มองเห็นภาพประเทศน่าลงทุนอะไรเลย

ตลอดระยะเวลาสิบกว่า 2 ทศวรรษรัฐบาลได้มีการปรับนโยบายทางการค้าเพื่อส่งเสริมการผลิตให้มีประสิทธิภาพ โดยการลดนโยบายปกป้อง ปรับปรุงโครงสร้างทางภาษีศุลกากร และกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับนโยบายเปิดเสรีทางการค้าสอดรับกับการปฏิรูปการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการขององค์การการค้าโลก

ประเทศภูฎาน


ภูฏาน หรือชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรภูฏาน เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีขนาดเล็ก และมีภูเขาเป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยระหว่างประเทศอินเดียกับจีน มีพื้นที่ประมาณ 38,394 ตารางกิโลเมตร ขนาดใกล้เคียงกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่เหนือรัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย ภูฏานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล

ปรากฏภูมิประเทศ 3 ลักษณะ เทือกเขาสูงตอนเหนือ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ที่ลาดเชิงเขา พบตอนกลางของประเทศ ที่ราบ พบตอนใต้ของประเทศ มีแม่น้ำพรหมบุตรพาดผ่าน เป็นประเทศเดียวที่ประกาศว่า จะไม่สนใจ GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ แต่จะสนใจ GDH แทน  คือ Gross Domestic Happiness หรือ ความสุขรวมภายในประเทศ มีประชากรจำนวนประมาณ 2 ล้านคน นับถือศาสนา พุทธ 70% ฮินดู 25% มูสลิม 4.9% และคริสต์ 1% ในปี พ.ศ. 2173 ดรุกปา ลามะ ลี้ภัยจากทิเบตสู่ภูฏาน

ต่อมาได้ตั้งตัวขึ้นเป็น ธรรมราชา ปกครองครองดินแดนด้วยระบบศาสนเทวราช มีคณะรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง แม้ภูฏานจะพยายามแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ต่อมาก็ถูกรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะทิเบตอยู่หลายครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ถึง 23 ในระยะต่อมาก็ยังถูกรุกรานโดยอังกฤษซึ่งมีอำนาจอยู่ในอินเดียก่อนที่จะได้เจรจาสงบศึกกัน ในปี พ.ศ. 2453


ในภูฏานมีพื้นที่ป่าถึง 60% มีอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 4 แห่ง และเขตสงวนธรรมชาติ 1 แห่ง คิดเป็น 35% ของพื้นที่ประเทศ ในพื้นที่ดังกล่าวมีสัตว์และพืชหายากมากกว่า 7,000 ชนิด มีกล้วยไม้เฉพาะถิ่น 300 เขต และพันธุ์ไม้หายากอีกราว 500 ชนิด และมีสมุนไพรหายากราว 150 ชนิด ส่วนทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ แร่ โดยอุตสาหกรรมเหมืองแร่ส่วนใหญ่เป็นของภาคเอกชนดำเนินการในเขตภายใต้ของประเทศ แต่เหมืองแร่ยิบซั่มดำเนินการโดยรัฐวิสหกิจเท่านั้น มีการผลิตและใช้ประโยชน์ไฟฟ้าพลังน้ำ รวมทั้งส่งออกด้วย  ส่วนเศรษฐกิจรายได้หลักของประเทศ

มากกว่าร้อยละ 33 ของจีดีพี มาจากการเกษตร และประชากรกว่าร้อยละ 70 มีวิถีชีวิตขึ้นอยู่กับผลิตผลทางการเกษตรด้วย สินค้าส่งออกสำคัญคือไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ซึ่งส่งออกไปยังอินเดียสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไฟฟ้าพลังงาน เครื่องเทศ แร่ยิบซัม ไม้ซุง สินค้าหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์จากไม้ ซีเมนต์ ผลไม้ น้ำผลไม้ผสม ไฟฟ้าหินมีค่า

สินค้าส่งออกหลักไปยังอินเดีย คือ พลังงานไฟฟ้า ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ สินค้าประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง และน้ำมันหล่อลื่น ธัญพืช ชิ้นส่วนรถบรรทุก ผ้า ข้าว ยานยนต์ เบียร์   สำหรับประเทศคู่ค้า อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าหลัก นอกจากนั้นเป็นประเทศบังกลาเทศ ญี่ปุ่น ไทย สิงคโปร์ และอังกฤษ


นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของภูฎานมีขนาดเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเขตเอเชียใต้เป็นเศรษฐกิจที่ขึ้นกับภาคการเกษตรและป่าไม้ เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ และแร่ธาตุสำคัญหลายประเภท แต่มีอุปสรรคในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เพราะสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย โดยยังต้องพึ่งพาประเทศเพื่อบ้านโดยเฉพาะอินเดียและยังต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และประเทศอื่น ๆ

ประเทศไทย
ประเทศไทย หรือ ราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้ติดอ่าวไทยและประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดกับประเทศพม่า และประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เอเปค และ อาเซียน มีศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ

สำหรับเศรษฐกิจหลักของประเทศ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ และ ทรัพยากรธรรมชาติ ถือเป็นเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับคนในประเทศ โดยภาพรวมทางเศรษฐกิจอ้างอิงเมื่อ พ.ศ. 2546 มี GDP 5,930.4 พันล้านบาท ส่งออกมูลค่า 78.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่นำเข้า 74.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ


 ในด้านเกษตรกรรม ข้าว ถือเป็นผลผลิตที่สำคัญที่สุด เป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าว เป็นอันดับหนึ่งของโลก ด้วยสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 36 รองลงมาคือ เวียดนาม ร้อยละ 20 อินเดีย ร้อยละ 18 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ14 ปากีสถาน ร้อยละ 12 ตามลำดับ พืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ได้แก่ ยางพารา ผักและผลไม้ต่าง ๆ มีการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์เช่น วัว สุกร เป็ด ไก่ สัตว์น้ำทั้งปลาน้ำจืด ปลาน้ำเค็มในกระชัง นากุ้ง เลี้ยงหอย รวมถึงการประมงทางทะเล อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ส่วนทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเช่น ดีบุก ก๊าซธรรมชาติ 


ส่วนการค้าระหว่างประเทศ ในช่วงปี 2550 มีมูลค่าการส่งออก ประมาณ 163.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  รถยนต์ อุปกรณ์และ  ส่วนประกอบ  น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา    แหล่งส่งออกสำคัญ ได้แก่  สหรัฐอเมริกา (13.2%)  ญี่ปุ่น (12.7%)  จีน (8.9%) และฮ่องกง (4.7%)  โดยมีมูลค่าการนำเข้า ประมาณ 151.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่น้ำมันดิบ  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ  เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า  แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่  ญี่ปุ่น (20.7%)  จีน (11.5%)  สหรัฐฯ (7.0%)  มาเลเซีย (6.3%)  และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (4.4%)

สาระสำคัญภายใต้กรอบความตกลง BIMSTEC
ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีในกรอบ BIMSTEC (The BIMSTEC Free Trade Area) นี้เพื่อกระตุ้นการค้าและการลงทุนภายในประเทศสมาชิก และเพื่อดึงดูดนักธุรกิจจากภายนอกให้เข้ามาทำการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิก BIMSTEC ให้มากขึ้น โดยขอบเขตกรอบความตกลงครอบคลุมสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ประกอบด้ว


- การเปิดเสรีการค้าสินค้า
มีพิธีสารกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี ได้กำหนดกรอบเวลาสำหรับการลดภาษีศุลกากรสำหรับการค้าตัวสินค้า โดยแบ่งสินค้าออกเป็นกลุ่มเร่งลดภาษีเร็ว (Fast Track) และกลุ่มปกติ (Normal Track) สำหรับสินค้าที่ไม่อยู่ในรายการสินค้าอ่อนไหวที่ไม่นำมาลดภาษี (Negative List) ดังนี้

1. กลุ่มสินค้าลดภาษีเร็ว (Fast Track)  สำหรับการลดยกเลิกภาษีของประเทศกำลังพัฒนา ประกอบด้วย อินเดีย ศรีลังกา และไทย จะเริ่มลดยกเลิกภาษีระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 โดยภาษีจะลดเป็นศูนย์ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 และจะลดยกเลิกภาษีศุลกากรให้ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฎาน พม่าและเนปาล ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2550 และภาษีจะลดเป็นศูนย์ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 

ส่วนการลดยกเลิกภาษีของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฎาน พม่า และเนปาล จะลดยกเลิกภาษีให้ประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา และไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่  30 มิถุนายน 2554 โดยภาษีจะลดเป็นศูนย์ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 และจะลดยกเลิกภาษีศุลกากรให้ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดด้วยกัน ตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 โดยภาษีจะลดเป็นศูนย์ในวันที่ 1กรกฎาคม 2552


2. กลุ่มสินค้าลดภาษีปกติ (Normal Track) กรอบความตกลงในกลุ่มสินค้าลดภาษีปกตินี้ได้กำหนดการลดยกเลิกภาษีของประเทศกำลังพัฒนาได้ดังนี้ ประกอบด้วย ประเทศอินเดีย ศรีลังกา และไทย จะเริ่มลดและยกเลิกภาษีระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 โดยภาษีนั้นจะถูกลดเป็นศูนย์ทันทีวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 และจะยกเลิกภาษีศุลกากรให้ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฎาน พม่าและเนปาล

 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2550 และจะปรับเป็นศูนย์ทันทีในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ส่วนการลดและยกเลิกภาษีของประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดนั้น ประกอบด้วย ประเทศ บังกลาเทศ ภูฎาน พม่า และเนปาล จะลดยกเลิกภาษีให้ประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา และไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 โดยภาษีจะลดเป็นศูนย์โดยทันทีวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 และจะลดยกเลิกภาษีศุลกากรให้ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 โดยภาษีจะปรับเป็นศูนย์ในทันทีในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552


ทั้งนี้ ประเทศกลุ่มสมาชิก BIMSTEC ได้ตกลงให้มีรายการสินค้าอ่อนไหวซึ่งจะไม่นำมาลดภาษีนำเข้าระหว่างกัน (Negative List) เป็นจำนวนน้อยที่สุด และให้คำนึงถึงรายการที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเป็นหลัก นอกจากนี้ ในการเจรจาลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้า ก็ควรจะต้องครอบคลุมถึงรูปแบบของการลดยกเลิกภาษี หลักการต่างตอบแทน แหล่งกำเนิดสินค้า การปฏิบัติต่อสินค้าที่มีโควตา และอุปสรรคมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร เป็นต้น

ตารางที่ 1 แสดงกลุ่มสินค้าเร่งลดภาษีเร็ว (Fast Track)

ตารางที่ 2 แสดงกลุ่มสินค้าลดภาษีปกติ (Normal Track)


กฎแหล่งกำเนิดสินค้า  ประเทศสมาชิกกลุ่ม BIMSTEC ได้แบ่งกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ออกเป็นดังนี้

1.กฎทั่วไป (General Rule) ประเทศกำลงพัฒนาใช้เกณฑ์ CTSH+Local Content 35% และให้แต้มต่อประเทศ LDCs ใช้เกณฑ์ CTSH+Local Content 30%

2.กฎเฉพาะรายสิค้า (Product Specific Rules:PSRs) สินค้า PSRs ถ้าประเทศสมาชิกยื่นรายการสินค้าไม่ตรงกันก็ให้รับ PSRs นั้น แต่หากตรงกันก็ให้มีการเจรจาหาข้อสรุปต่อไป 


- การค้าบริการ ประเทศสมาชิกกลุ่ม BIMSTEC ตกลงที่จะให้มีการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการ ซึ่งครอบคลุมสาขาที่สำคัญโดยใช้ Positive List Approach พร้อมทั้งให้มีการปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่างรวมทั้งยึดหยุ่นให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด นอกจากนี้ ต้องยกเลิกการเลือกปฏิบัติ และห้ามใช้มาตรการเลือกปฏิบัติใหม่ รวมทั้งขยายขอบเขตการเปิดเสรีให้มากกว่าการค้าบริการขององค์การการค้าโลกและเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาศักยภาพและการแข่งขันของการค้าบริการ 


- การลงทุน ประเทศสมาชิกลุ่ม BIMSTEC ตกลงที่จะให้การส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ระหว่างกันอาทิ การแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุนให้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น และให้มีการเจรจาเพื่อเปิดเสรีด้านการลงทุน โดยใช้ Positive List Approach 


- ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิกลุ่ม BIMSTEC ตกลงให้ประเทศกำลังพัฒนาให้ความช่วยเหลือต่าง  ๆ ด้านเทคนิค แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช(SPS) และอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศ (TBT) นอกจากนี้ ยังตกลงให้มีการอำนวยความสะดวกทางการค้าในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการพัฒนาการยอมรับร่วมกัน (MRAs) และความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร เป็นต้น 

สำหรับการเจรจาลดยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้า กำหนดให้เริ่มเจรจาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 และให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2548 ขณะที่การค้าบริการและการลงทุน กำหนดให้เริ่มเจรจาในปี 2548 และแล้วเสร็จภายในปี 2549


วัฒนธรรมและภาษาที่แตกต่างนำไปสู่เขตการค้าเสรี
โดยการเจรจาในช่วงที่ผ่านมา ได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานเกือบ 4 ปี เนื่องจากสมาชิกซึ่งประกอบด้วย บังคลาเทศ  ภูฎาน  อินเดีย  พม่า  เนปาล  ศรีลังกา  และไทย ไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องจำนวนรายการสินค้าที่จะนำมาลดภาษีได้  โดยในช่วงแรกประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ให้คงรายการสินค้า Negative List กว่าร้อยละ 25 ของจำนวนรายการตามพิกัดศุลกากรในระดับ 6 หลัก

ซึ่งส่งผลให้การเปิดตลาดมีน้อยมาก และไทยเห็นว่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการทำเขตการค้าเสรีที่มุ่งผลให้มีการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันให้มากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเปิดตลาด  เนื่องจากเป็นการกำหนดเกณฑ์ของสินค้าที่จะสามารถได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากการเปิดเสรีขณะที่การเจรจาเรื่องอื่น ๆ ทั้งการค้าบริการ และการลงทุนก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะเพิ่งจะมีการเริ่มเจรจาเพื่อจัดทำร่างความตกลงในเรื่องดังกล่าวเท่านั้น สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเฉลี่ยปีละ 25.7% ในปี 2550 การค้าระหว่างไทยกับ BIMSTEC มีมูลค่า 8,891.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 20.8%


หลังการเจรจายืดเยื้อมานาน ความคืบหน้าล่าสุดที่ประชุมได้ข้อตกลงกฎแหล่งกำเนิดสินค้าและกฎเฉพาะสินค้าได้แล้ว  ไทยได้ทีเตรียมเสนอสินค้าอัญมณี  เหล็กและโทรทัศน์สี เป็นรายการสำคัญในการเจาะตลาด โดยสามารถตกลงกันในการผลักดันการเปิดเสรีมีความคืบหน้ามากขึ้น เบื้องต้นได้ตกลงที่จะใช้กฎทั่วไป (General Rule) ของเกณฑ์พิจารณาการได้แหล่งกำเนิดสินค้า โดยใช้เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากรในระดับ 6 หลักควบคู่กับสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในประเทศ (Local Content) ร้อยละ 35

แต่สำหรับประเทศที่พัฒนาน้อย (LDCs) สามารถใช้ Local Content ที่ร้อยละ 30 เพื่อเป็นแต้มต่อให้แก่ประเทศที่พัฒนาน้อยอีกทางหนึ่งขณะเดียวกัน ยังได้ตกลงให้มีการจัดทำกฎเฉพาะรายสินค้าขึ้น (Product Specific Rules : PSRs) โดยแต่ละประเทศจะคัดเลือกสินค้าส่งออกสำคัญของตนเองที่มีศักยภาพในการส่งออก แต่ไม่สามารถผ่านเกณฑ์ General Rule ได้และกำหนดเกณฑ์เฉพาะสำหรับสินค้านั้นๆ ขึ้นมา ซึ่งไทยได้เสนอรายการสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกพวกอัญมณี เหล็ก โทรทัศน์สี เป็นต้น

หัวใจหลักของการเจรจาเขตการค้าเสรี BIMSTEC
นอกจากเรื่องมาตรการและแหล่งกำเนิดสินค้าแล้ว เรื่องที่มีความสำคัญที่สุด ก็คือ รายการสินค้า ซึ่งตกลงกันว่าจะเป็นในลักษณะ negative lists (NL) โดยแต่ละประเทศจะกลับไปพิจารณาและหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อยื่นรายการสินค้าที่ตนขอให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ถอนจากรายการ NL ซึ่งจะมีเพียง 1 รายการที่จะใช้กับทุกประเทศ แต่อาจมีการให้สิทธิพิเศษกับประเทศด้อยพัฒนา

 โดยกำหนดให้เสร็จสิ้นภายใน 10 พฤศจิกายนนี้ และมีเป้าหมายว่าจะต้องลดรายการสินค้า NL ให้น้อยที่สุด ไทยได้เสนอการนำหลักเกณฑ์การต่างตอบแทน (reciprocate) ที่ใช้ในการเจรจา เช่นเดียวกับการเจรจาในกรอบอาเซียนใช้  คือ ประเทศใดที่มีรายการสินค้าตัวใดอยู่ใน NL ของตน ก็จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษจากการลดภาษีของประเทศอื่น หรือกล่าวได้ว่า เป็นการยกรายการสินค้าที่ประเทศเห็นว่าไม่พร้อมออกจากบัญชีการเจรจาชั่วคราว

แล้วจึงพิจารณาทบทวนทุก ๆ 2-4 ปี ซึ่งไทยก็ได้ให้เหตุผลว่า วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้สามารถลด NL ให้เหลือน้อยที่สุด และเป็นข้อตกลงที่ชนะกันทั้งหมด เพราะหากประเทศยังไม่มีความพร้อมในสินค้าใด สินค้านั้นก็ไม่ควรเข้าร่วมข้อตกลงลดภาษี และการเข้าถึงตลาดของประเทศที่พร้อม จนกว่าประเทศนั้นจะมีความพร้อม แล้วจึงจะมีการเจรจานำกลับเข้ามาอีกครั้ง ซึ่งยังจะช่วยให้แต่ละประเทศมีเวลาในการปรับพัฒนาในส่วนของอุตสาหกรรมที่ไม่พร้อมให้ขยายตัวมากขึ้นด้วย

โดยไทยจะขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในส่วนของสินค้าที่เหลือจาก NL จะเป็น normal list ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ลดภาษีขั้นสุดท้ายเหลือร้อยละ 0% และกลุ่มที่ลดภาษีขั้นสุดท้ายเหลือร้อยละ 1-5% ซึ่งประเทศสมาชิกตกลงกันว่า จะไปคัดเลือกสินค้ากลุ่มของตน สำหรับท่าทีของฝ่ายไทยนั้น ต้องการให้รายการปกติอยู่ในกลุ่มที่ 1 คือลดเหลือ 0%

แต่ก็จะมีการเสนอเพิ่มเติมให้กำหนดเพดาน ว่าบัญชีนี้จะมีกี่เปอร์เซ็นต์ของรายการสินค้าทั้งหมด แต่หากสามารถหาข้อสรุปเรื่องการใช้แนวทางต่างตอบแทนได้ ก็จะทำให้การกำหนดรายการสินค้าปกติทำได้ง่ายขึ้นด้วย

ความร่วมมือบนผลประโยชน์ที่ลงตัว
  จากจำนวนประชากรรวมกันแล้วประมาณกว่า 1,300 ล้านคน  กลุ่มประเทศ BIMSTEC เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่น่าสนใจสำหรับการขยายการค้าและการลงทุน   โดยที่อนุภูมิภาคนี้ อีกทั้ง เป็นตลาดใหม่ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการพึ่งพาตลาดเก่า และบรรเทาปัญหาภาวะการแข่งขันของประเทศไทยกำลังประสบอยู่ได้  นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น  เพชรพลอย อัญมณี  เหล็กและเศษโลหะ  เคมีภัณฑ์  และอาหารทะเล เป็นต้น 

  ซึ่งช่วยลดและเลิกอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษีระหว่างประเทศสมาชิก จะทำให้สมาชิกมีการปรับมาตรฐานกฎเกณฑ์ของประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกัน/เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น มีการปรับกฎเกณฑ์/มาตรฐานด้านคุณภาพ พิธีการศุลกากร เป็นต้น ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง  โดยที่ BIMSTEC มีพื้นที่ที่ติดต่อเชื่อมต่อกัน

จึงมีความร่วมมือด้านคมนาคมในการสร้างถนนเชื่อมโยงกัน คือ เส้นทางไทยเชื่อมผ่านพม่า ไปยังอินเดีย   และ เส้นทางไทยผ่านพม่าไปยังบังกลาเทศ  และความร่วมมือในการพัฒนาการเดินเรือเลียบชายฝั่งระหว่างสมาชิกในอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย  หากการดำเนินการดังกล่าวสำเร็จ  จะสามารถส่งเสริมการค้าได้เป็นอย่างดี

ซึ่งสมาชิก  BIMSTEC เป็นอนุภูมิภาคที่มีพื้นที่เชื่อมโยงติดต่อกัน  อีกทั้งมีความร่วมมือทาง ด้านคมนาคม  เช่น การเชื่อมถนนจากไทย ไปพม่า เข้าสู่ บังกลาเทศ และอินเดีย  หรือการพัฒนาท่าเรือของบังกลาเทศและอินเดีย  จะเป็นการช่วยลดต้นทุนการขนส่งเพื่อส่งเสริมการค้าในอนุภูมิภาคนี้  การมีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ/การค้าที่ดีและสำคัญของสมาชิกจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและจะทำให้ประเทศต่างๆ สนใจในภูมิภาคนี้มากขึ้น  อันจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนของสมาชิก 

บทสรุป
ความคล้ายและความแตกต่างกันของการนับถือศาสนาของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศอาจนำมาใช้เป็นปัจจัยในการทำนายถึงลักษณะและประเภทของสินค้าที่จะติดต่อค้าขาย รวมทั้งความต้องการบริโภคได้ นอกจากนั้น ภาษาก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งต่อการค้าระหว่างระประเทศและเป็นทั้งปัจจัยเสริมหรืออุปสรรคในการติดต่อค้าขายได้ ดังนั้นแม้ว่าแต่ละประเทศจะมีภาษาประจำชาติของตนเอง

 แต่จากการที่ประเทศสมาชิก BIMSTEC ส่วนใหญ่เคยเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก รวมทั้งภาษาฮินดี ซึ่งอินเดียและเนปาลใช้กันเป็นส่วนใหญ่ ก็ทำให้ประเทศเหล่านั้นสามารถติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครก็เป็นจุดอ่อนในการเจรจากันในช่วงเริ่มต้นเท่านั้นแต่ก็สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีตลอดระยะเวลาของการเจรจา


 หลายประเทศได้ให้ความสนใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จึงมีการผุดโครงการความร่วมมือด้านเทคนิคเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้านการเกษตร ซึ่งจะร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC (BIMSTEC Workshop on Agricultural Cooperation ) มีการการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาการเกษตรของประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย

เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางและกิจกรรมความร่วมมือที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริงต่อการพัฒนาภาคเกษตร รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของเกษตรกรในหมู่ประเทศสมาชิก  มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน บทสรุปสุดท้ายจากนโยบายมองตะวันตก ของไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายมองตะวันออกของอินเดีย เป็นเขตการค้าเสรีที่จะมีผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้อนุทวีเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลงตัว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
www.gfmis.go.th
- www.mfa.go.th
www.dtn.go.th
www.apecthai.org
www.thaifta.com


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด