เนื้อหาวันที่ : 2013-04-24 16:25:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2570 views

ยอดขายเลเซอร์พุ่งทะยาน ในตลาดด้านทันตกรรม

ทันทีที่ทันตแพทย์เริ่มนำเอาเทคนิคการเจาะรูฟันด้วยเลเซอร์เข้ามาใช้เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทางบริษัท Biolase ชาวแคลิฟอร์เนีย ได้เร่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เพื่อครองความเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์เลเซอร์เพื่อใช้งานด้านทันตกรรม โดยประธานบริษัทและหัวหอกคนสำคัญของ Biolase คือ Jeffery Jones ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแผนกเลเซอร์ด้านทันตกรรมให้กับบริษัท Biolase ได้เปิดเผยถึงข้อมูลและแผนการดำเนินงานของบริษัทดังต่อไปนี้

ยอดขายเลเซอร์พุ่งทะยาน ในตลาดด้านทันตกรรม

 สิริชนก จันทร์ใบ
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

   ทันทีที่ทันตแพทย์เริ่มนำเอาเทคนิคการเจาะรูฟันด้วยเลเซอร์เข้ามาใช้เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทางบริษัท Biolase ชาวแคลิฟอร์เนีย ได้เร่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เพื่อครองความเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์เลเซอร์เพื่อใช้งานด้านทันตกรรม โดยประธานบริษัทและหัวหอกคนสำคัญของ Biolase คือ Jeffery Jones ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแผนกเลเซอร์ด้านทันตกรรมให้กับบริษัท Biolase ได้เปิดเผยถึงข้อมูลและแผนการดำเนินงานของบริษัทดังต่อไปนี้ 

 

รูปที่ 1 Jeffery Jones ประธานบริษัท Biolase

 

   นับย้อนหลังไปเกือบ 20 ปีที่แล้ว ทันตแพทย์ในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เลเซอร์ในการเจาะฟัน  จนกระทั่งปัจจุบันนี้ตลาดในส่วนเลเซอร์ด้านทันตกรรมกลายเป็นหัวใจสำคัญของ Biolase ไปแล้ว โดย Biolase ถือได้ว่าเป็นบริษัทไฮเทคแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ยืนยันด้วยยอดขายต่อไตรมาสที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 40% ปีต่อปี


 

รูปที่ 2 Waterlase Base Unit from Biolase มีขนาด 12.5 x 26 x 32 inches


   สำหรับ Biolase ซึ่งเป็นบริษัทติดอันดับที่ 148 ในเมืองซานคลีเมนเต (San Clemente) รัฐแคลิฟอร์เนียใต้ อาจถือได้ว่าความสำเร็จที่ได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพัฒนาการของวัสดุที่ผลิตแสงเลเซอร์ชื่อ Yttrium Scandium Gallium Garnet (YSGG) โดย YSGG เองเป็นชิ้นส่วนพื้นฐานที่สำคัญที่ประกอบอยู่ในผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของ Biolase นั่นก็คือ Waterlase ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเจาะฟัน ได้รับการเปิดตัวไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 โดยอุปกรณ์ดังกล่าวใช้หลักการ “Hydrokinetics” ซึ่งเป็นการใช้พลังงานแสงเลเซอร์ขับดันสเปรย์ของน้ำในการเจาะเนื้อฟัน วิธีการนี้สามารถช่วยลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยลงมากจนแทบไม่รู้สึกในขณะรักษา

“ในขณะนี้ [ปี 2003] ถือได้ว่า YSGG เลเซอร์ มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งของโลก และครองตำแหน่งยอดขายอันดับหนึ่งติดต่อกันมาแล้วสามปีซ้อน” Jeffery Jones ประธานบริษัท Biolase กล่าว “ส่งผลให้ยอดขายของ Waterlase สูงถึงกว่าพันชุด” จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ Biolase สามารถรายงานได้ว่าเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้อย่างมหาศาล และมียอดขายต่อไตรมาสในขณะนั้นถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (8.54 ล้านยูโร) โดยในหกเดือนแรกของปี 2003 บริษัททำรายได้สุทธิไว้ที่ 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และถ้าดูยอดขายมีอัตราการขยายตัวเทียบจากปีที่แล้วสูงขึ้นถึง 59% ทำให้ตัวเลขยอดขายในปี 2003 ทะลุ 19.7 ล้านเหรียญสหรัฐ 

รูปที่ 3 LaserSmile Base Unit from Biolase มีขนาด 8.5 x 9 x 12.5 inches

   แต่ความสำเร็จดังกล่าวของ Waterlase ก็ไม่ได้ทำให้ Biolase ได้หยุดตัวเองอยู่กับความรุ่งเรืองแค่นั้น แต่เร่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นตัวที่สองคือ LaserSmile ในปี 2002 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับการขัดฟันขาวโดยเฉพาะ และเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA: US Food and Drug Administration) ในเดือนตุลาคม ปี 2003 ให้เป็นผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์-เลเซอร์ชิ้นแรกที่สามารถใช้รักษาโรคเหงือกและฟันได้ (Periodontal Disease-decay) เป็นอาการที่เกิดในบริเวณซอกเล็ก ๆ ระหว่างเหงือกและฟัน การรักษาด้วยเลเซอร์นั้นเป็นการใช้เลเซอร์ช่วยกำจัดเยื้อหุ้มชั้นนอกออก

 

 

รูปที่ 4 โรคเหงือกและฟัน (Periodontal Disease-decay) ที่อาจเป็นสาเหตุของการสูญเสียฟันได้ในที่สุด

 

   นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคมปี 2003 บริษัทยังได้ขยายตลาดและเพิ่มชนิดของสินค้าใหม่ที่เรียกว่า “Product Portfolio” เพราะบริษัทยอมแลกเงินสดกว่า 1.83 ล้านเหรียญสหรัฐรวมทั้งหุ้นส่วนกว่า 307,500 หุ้นเพื่อให้ได้เป็นเจ้าทรัพย์สินทางปัญญาด้านเลเซอร์ทั้งหมดของบริษัท American Medical Technologies (AMT) อันได้แก่ สิทธิบัตร ฐานความรู้ เทคนิคการใช้อุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งทำให้ Biolase ได้ครองฐานผลิตภัณฑ์ของอุปกรณ์เลเซอร์ด้านทันตกรรมที่กว้างมากของ AMT รวมทั้งได้ใช้ชื่อแบรนด์แนมด้านทันตกรรมของ AMT ซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงมากในสหรัฐอเมริกา และพ่วงท้ายด้วยแนวโน้มฐานลูกค้าใหม่จำนวนมากที่ Biolase จะได้มาพร้อมกับขอบข่ายประเภทของสินค้าที่กว้างขึ้น 

   การเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญาของ AMT ด้านเลเซอร์ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการสร้างความเติบโตให้กับตลาดในปี 2003 และปีถัด ๆ ไป ด้วยฐานความรู้ด้านเลเซอร์ที่แข็งแกร่งของ AMT จะช่วยเพิ่มปริมาณลูกค้าของ Biolase ให้เป็นสองเท่าได้ในเวลาไม่นาน และยังช่วยเพิ่มปริมาณผู้สนใจสั่งซื้อ Waterlase และ LaserSmile ได้อีกกว่าร้อยราย

เยี่ยม เงียบ และสะดวกสบาย

• ทำไม Waterlase และ LaserSmile ถึงได้รับความนิยมมากขนาดนี้ ?

   Jones มีคำตอบสำหรับคำถามนี้ ข้อแรกคือเครื่องมือที่ใช้เลเซอร์จะไม่ทำให้ฟันเกิดความร้อนหรือเกิดการสั่นสะเทือนในขณะปฏิบัติการ ซึ่งทั้งความร้อนและการสั่นสะเทือนจะเกิดขึ้นเมื่อทำการเจาะด้วยดอกเจาะความเร็วสูง จึงถือได้ว่าเลเซอร์ช่วยรักษาสุขภาพฟันที่ดีและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น สำหรับ Waterlase นอกจากจะเงียบและไม่สร้างความเจ็บปวดแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องฉีดยาชาอีกด้วย ที่สำคัญรอยตัดที่ได้มีความสะอาดและสวย ไม่ว่าจะเป็นการตัดเนื้อเยื่อแข็งหรือเนื้อเยื่ออ่อนของฟัน

   “Waterlase ถูกนำไปใช้ในการทำฟันมากกว่าเครื่องมือเลเซอร์ด้านทันตกรรมชนิดอื่น หรือถ้าว่ากันตามจริงแล้ว Waterlase มีการนำมาใช้งานมากกว่าเลเซอร์ด้านการแพทย์อื่นใด ด้วยเพราะมีช่องโหว่จากทาง FDA อยู่มากที่ยังไม่ได้ถูกรับรองให้มีการประยุกต์ใช้เลเซอร์กับทันตกรรม ดังนั้นเมื่อมีเลเซอร์จึงทำให้ทันตแพทย์สามารถประยุกต์ใช้เลเซอร์ทำอะไรได้หลายอย่างซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่สามารถทำได้ หรือช่วยให้ทันตแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้นมาก”

  ถึงแม้โดยส่วนใหญ่ Waterlase ถูกนำมาใช้กับเนื้อเยื่อส่วนแข็งของฟัน เช่นการเตรียมรูสำหรับอุด แต่ศักยภาพของมันมีมากกว่านั้นมาก ตัวอย่างเช่น Waterlase ยังสามารถใช้ในการเพิ่มความยาวของเนื้อฟัน (Crown: เป็นส่วนของฟันที่โผล่พ้นเหงือก) โดยเฉพาะในกรณีที่ฟันเกิดแตกจนไม่เหลือเนื้อฟันที่โผล่พ้นเหงือกพอที่จะใส่หมวกครอบฟันหรือ Crown ด้านบน ได้ ปกติกรณีแบบนี้ต้องทำการรักษาด้วยการถอนฟันออก หรือทำการเจียรหรือขุดไปที่กระดูกรอบ ๆ ฟัน 

 ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์หลายครั้ง “แต่ด้วย Waterlase สามารถใช้เลเซอร์ตัดเนื้อเยื่อรอบ ๆ ฟันออกได้โดยง่ายและสามารถตัดวนไปที่กระดูกรอบ ๆ ฟันได้หลายครั้ง จึงทำให้การรักษานุ่มนวลและไม่ทำให้เจ็บ จนสามารถกล่าวได้ว่าขณะนี้ Waterlase เป็นอุปกรณ์เลเซอร์เพียงชนิดเดียวในโลก ที่ได้รับการรับรองให้ใช้รักษากระดูกด้านทันตกรรมได้”  

  

 

รูปที่ 5 Crown คือส่วนรูปร่างของฟันที่โผล่พ้นเหงือก

 

  แต่ LaserSmile ต่างจาก Waterlase ตรงที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับเนื้อเยื่อส่วนที่แข็ง  แต่เน้นใช้งานสำหรับการขัดฟันขาวและใช้งานกับเนื้อเยื่อส่วนที่นิ่ม ในการขัดฟันจะอาศัยชิ้นส่วนของอุปกรณ์ที่มีความโค้งสำหรับครอบฟันได้หลายซี่  ทำให้การขัดฟันทำได้หลายซี่ในเวลาเดียวกัน  ในการขัดฟันจะอาศัยเลเซอร์ไดโอดช่วงความยาวคลื่น 810 (nm) นาโนเมตร โดยทันตแพทย์จะต้องทาเจลชนิดพิเศษ (Photoactivated) ให้ทั่วฟัน และเจลจะถูกกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาเมื่อโดนแสง โดยปกติแสงเลเซอร์ที่ใช้จะเป็นเลเซอร์สัญญาณ “Bursts” ถูกปล่อยมาเป็นคาบ ๆ ละ 15 วินาที  และทำการยิงเป็นจำนวน 10 ครั้ง ทำให้ในขณะนี้ LaserSmile ครองความเป็นที่สุดด้านความเร็วในการขัดฟันขาว

เลเซอร์คู่แข่ง

   ต้องขอบคุณ Waterlase และ LaserSmile ที่ทำให้ทางบริษัทถือสิทธิบัตรของเทคโนโลยีที่ตรงกับความต้องการใช้งานของทันตแพทย์มากที่สุด แต่คู่แข่งหลักของเลเซอร์ YSGG ก็คือเลเซอร์ Er:YAG ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่ให้แสงความยาวคลื่น 2.94 ไมโครเมตร 
     
  “ขณะนี้เลเซอร์ Er:YAG มีพร้อมใช้งานอยู่ในด้านการรักษาผิวหนังและการผ่าตัดศัลยกรรมพลาสติก” Jones กล่าว “ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ Biolase ได้พัฒนาขึ้น กระตุ้นให้บริษัทอื่น ๆ ที่ขายสินค้าประเภทเดียวกันนี้พยายามเร่งปรับปรุงสินค้าของเค้า ถึงแม้ว่าจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายที่ใช้เลเซอร์ Er:YAG เป็นหลัก แต่ Biolase ก็สามารถก้าวล้ำแซงหน้าไปได้ไกลมากแล้ว” 

  ข้อแตกต่างที่สำคัญของเลเซอร์สองชนิดนี้คือ ระดับการดูดซับพลังงานแสงเลเซอร์ของตัวกลางที่เป็นน้ำ และความลึกที่แสงสามารถตัดผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อได้ ตามคำกล่าวของ Jones น้ำมีอัตราการดูดซับพลังงานที่ความยาวคลื่นของแสงเลเซอร์ Er:YAG มากกว่าที่ความยาวคลื่นของแสงเลเซอร์ YSGG ส่วน Er:YAG สามารถตัดเข้าไปในเนื้อเยื่อได้ลึกประมาณ 1 ไมโครเมตร ขณะที่ YSGG ตัดเข้าไปในเนื้อเยื่อได้ประมาณ 3-5 ไมโครเมตร แต่ถ้าแสงถูกหยุดกะทันหันด้วยเนื้อเยื่อที่อุ้มน้ำมาก ๆ นอกจากจะทำให้แสงจะตัดเนื้อเยื่อไม่เข้าหรือความลึกเป็นศูนย์แล้ว ยังทำให้คุณเลือดไหลอีกต่างหาก

   แต่ถ้ามองในแง่ดีจะพบว่า Biolase มีส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญมากในอนาคตบนเทคโนโลยีของเลเซอร์ YSGG“แค่เฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่ามีปริมาณทันตแพทย์มากถึง 500,000 คน แต่อุปกรณ์ที่ขายได้ในขณะนี้มียอดขายอยู่เพียงพันกว่าชุดเท่านั้น ดังนั้นในอนาคตยังมีที่เหลือของตลาดอยู่อีกมาก คาดการณ์ได้ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคงมีความน่าสนใจมากทีเดียว

• Waterlase มีการทำงานอย่างไร ?

   หัวใจของ Waterlase คือเลเซอร์สัญญาณพัลส์ที่ทำจากคริสตัล YSGG ฝังไว้ด้วยอะตอมของ “Erbium Chromium” (เรียกว่า วัสดุ Erbium Chromium – Doped YSGG) ซึ่งสามารถปล่อยแสงความยาวคลื่น 2.78 ไมโครเมตร มีถึงกำลังสูงถึง 6 W ด้วยพลังงานพัลส์สูงสุดถึง 300 ไมโครจูน หรือ 300 ไมโครวัตต์ต่อวินาทีในการรักษา ทันตแพทย์จะเป็นผู้ควบคุมชิ้นส่วนมือถือ ดังรูปที่ 6

           รูปที่ 6 Pain-free Dentistry: the Waterlase

   ซึ่งแสงอินฟราเรดจะถูกลำเลียงผ่านใยแก้วนำแสงชนิด “Zirconium Fluoride” ไปยังชิ้นส่วนมือถือนั้น ในระหว่างขั้นตอนการเจาะฟันแสงจะรวมตัวกับสเปรย์ของอากาศและน้ำ โดยน้ำจะดูดซับพลังงานแสงและพุ่งชนผิวฟันด้วยความเร็วสูง โดยปลายของอุปกรณ์ต้องถืออยู่ห่างจากฟันประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เพื่อเว้นระยะไว้ให้เกิดประสิทธิภาพในการทำปฏิสัมพันธ์ระหว่างน้ำและแสงสูงที่สุด

   อาศัยการรวมตัวของแสงเลเซอร์-อากาศ-น้ำ ในการตัดเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า “HydroKinetics” ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการตัดเนื้อเยื่อ และยังไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยอีกด้วย
              
   กระบวนการเจาะฟันอย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าอาศัยหลักการของ “HydroKinetics” ซึ่งเป็นการแปลสภาพน้ำจากของเหลวให้เป็นไอ หลังจากสเปรย์ของน้ำดูดซับพลังงานแสง น้ำจะกลายเป็นไอและพุ่งชนฟันด้วยความเร็วสูง ดังนั้นน้ำจึงเป็นตัวกลางที่แท้จริงที่เจาะเข้าไปในฟัน ในตอนแรกคุณอาจคิดว่าน้ำใช้เพื่อเป็นตัวกลางในการระบายความร้อน แต่จริง ๆ แล้วน้ำเป็นตัวกลางหลักในการขุดเจาะฟัน

 ดังนั้นการควบคุมกำลังของแสงกับอัตราส่วนของอากาศและน้ำต้องการความแม่นยำสูง ซึ่งสามารถควบคุมได้ด้วยหน่วยควบคุม (Base Unit) ของ Waterlase เอง สำหรับการตัดเนื้อเยื่อแข็งจะต้องใช้แสงเลเซอร์-อากาศ-น้ำ รวมกัน ในขณะที่การตัดเนื้อเยื่ออ่อนจะเป็นการใช้แสงเลเซอร์-อากาศ เท่านั้น ตัวอย่างการใช้งานกับการตัดเนื้อเยื่ออ่อน ได้แก่ Incisions การกำจัดเนื้อเยื่อของเหงือกหรือ Coagulating Capillaries ส่วนขั้นตอนในการเจาะฟันต้องมีการกำหนดตำแหน่งเป้าหมายก่อน โดยจะอาศัยแสงเลเซอร์สีแดงกำหนดตำแหน่งเป้าหมายที่ต้องการ เมื่อได้ตำแหน่งดังกล่าวแล้วแพทย์จะสวิตช์ไปใช้แสงอินฟราเรดเพื่อทำการเจาะจริง โดยระบบนี้สามารถเจาะรูขนาดเล็กเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลาง 200 ไมโครเมตร ได้

 

 

รูปที่ 7  แป้นควบคุมอัตราส่วนของอากาศ น้ำ ของ Waterlase เป็นปุ่มสัมผัสแบบดิจิตอล ของ Base unit

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก
• Sales soar at dental laser specialist, Opto & Laser Magazine

  

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด