เนื้อหาวันที่ : 2013-04-24 16:10:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 17939 views

กลุ่มประเทศ CLMV ตลาดเป้าหมายของประเทศไทย โอกาสใหม่ใน AEC

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความผันผวนทางด้านการลงทุนของโลกที่มีความผันผวนมาก เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรโซน

กลุ่มประเทศ CLMV ตลาดเป้าหมายของประเทศไทย โอกาสใหม่ใน AEC
จุฑามาศ ส่งศรี
    
     จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความผันผวนทางด้านการลงทุนของโลกที่มีความผันผวนมาก เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรโซน ประกอบกับภาวะทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ทำการค้าหรือเข้าไปลงทุนกับกลุ่มประเทศดังกล่าวอาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่มีอัตราหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ


     ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรมองหาโอกาสและตลาดใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ เพื่อรองรับวิกฤติดังกล่าวข้างต้นที่อาจจะลุกลามในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านและประเทศใกล้เคียงอย่างกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา, สปป.ลาว, พม่า และเวียดนาม เนื่องจากเป็นตลาดที่กำลังพัฒนาและมีความพร้อมในหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม อีกทั้ง โอกาสทางการค้าและการลงทุนยังเปิดกว้างอยู่มาก

กล่าวคือ เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งแรงงานที่มีค่าจ้างไม่สูงมากนัก จึงทำให้กลุ่มประเทศ CLMV เป็นทั้งแหล่งผลิตและตลาดใหม่ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถอาศัยความได้เปรียบด้านการแข่งขันในกลุ่มประเทศ CLMV จากปัจจัยที่กลุ่มประเทศ CLMV มีความใกล้ชิดกับไทยทั้งทางด้านภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม

ดังนั้นการวางแผนการตลาดสำหรับภูมิภาคอาเซียนจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่หลายธุรกิจกำลังเตรียมการเพื่อรองรับโอกาสจากการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจ (Business Landscape) ของไทย ที่จะสลายเส้นแบ่งพรมแดนการตลาดในขอบเขตของประเทศ มาเป็นการมองตลาดในระดับภูมิภาคอาเซียนในฐานะตลาดร่วมตลาดเดียว (Single Market)

ประเมินความพร้อมก่อนการเข้าสู่ AEC 


     จากกระแสการรวมตัวสู่การเป็น AEC ในปัจจุบันเข้มข้นขึ้นทุกขณะ ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต่างก็ตื่นตัวและเร่งเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ AEC ในปี พ.ศ.2558 ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งนี้ สำหรับการติดตามความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนในการก้าวสู่ AEC สามารถพิจารณาได้จากเครื่องมือติดตามและประเมินผล หรือที่เรียกว่า AEC Scorecard

     จากกระแสการรวมตัวสู่การเป็น AEC ในปัจจุบันเข้มข้นขึ้นทุกขณะ ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต่างก็ตื่นตัวและเร่งเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ AEC ในปี พ.ศ.2558 ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งนี้ สำหรับการติดตามความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนในการก้าวสู่ AEC สามารถพิจารณาได้จากเครื่องมือติดตามและประเมินผล หรือที่เรียกว่า AEC Scorecard

ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) เพื่อเป็นกลไกในการติดตามความคืบหน้าและประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ของสมาชิกอาเซียนเป็นรายประเทศ รวมทั้งภาพรวมการดำเนินงานในระดับภูมิภาค โดยโครงสร้างของ AEC Scorecard ประกอบด้วยแผนงานที่สำคัญ 4 ประการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็น AEC ในปี พ.ศ.2558 โดยมีรายละเอียด ดังนี้


     1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (Single Market and Production Base) โดยมีแผนงานที่จะส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี


     2. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Competitive Economic Region) โดยส่งเสริมกรอบนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ นโยบายการแข่งขัน นโยบายด้านภาษี สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น


     3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค (Equitable Economic Development) เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก โดยสนับสนุนการพัฒนา SMEs ตลอดจนการส่งเสริมโครงการต่าง ๆ ภายใต้กรอบการริเริ่มการรวมกลุ่มอาเซียน


     4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Integration into the Global Economy) โดยเน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนที่มีต่อประเทศภายนอกภูมิภาค อาทิ การจัดทำเขตการค้าเสรี และการสร้างเครือข่ายด้านการผลิตและจำหน่าย เป็นต้น


     การจัดทำ AEC Scorecard เป็นการประเมินผลคะแนนในรูปของเปอร์เซ็นต์ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถทำได้ตามแผนงาน โดยเทียบกับแผนงานที่ต้องทำทั้งหมด นอกจากนี้ ยังแบ่งการประเมินผลการดำเนินงานออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ.2551-2552) ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ.2553-2554) ระยะที่ 3 (ปี พ.ศ.2555-2556) และระยะที่ 4 (ปี พ.ศ.2557-2558) ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนจะเสนอ AEC Scorecard ให้ผู้นำอาเซียนทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ของทุกปี ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ เดือนมีนาคม พ.ศ.2555 พบว่าการประเมินผลของ AEC Scorecard

ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 (จากรูปที่ 1) ในภาพรวมประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศสามารถปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานเพื่อจัดตั้ง AEC ได้คะแนนเฉลี่ยที่ 86.7% และ 55.8% ตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2551-2554 ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศสามารถปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานได้คะแนนเฉลี่ยที่ 67.5% ซึ่งแบ่งเป็นการบรรลุเป้าหมายในด้านต่าง ๆ ดังนี้


-  การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน 65.9%
-  การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน 67.9%
-  การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค 66.7%
-  การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก 85.7%

   รูปที่ 1 การประเมินติดตามผลความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมสู่ AEC


     
     เป็นที่น่าสังเกตว่าการดำเนินงานภายใต้แผนการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกของอาเซียนมีความคืบหน้ามากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาเซียนมีการรวมกลุ่มกับเศรษฐกิจโลกโดยการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (Closer Economic Partnership: CEP) กับหลายประเทศ อาทิ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวนับเป็นการขับเคลื่อนบทบาทของอาเซียนในเวทีการค้าโลก โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
    
     ตารางที่ 1 แสดงผล AEC Scorecard (ปี พ.ศ.2551-2552) จำแนกรายประเทศ

ที่มา: www.aseansec.org

     สำหรับความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ AEC ของกลุ่มประเทศ CLMV หากพิจารณาจาก AEC Scorecard (ปี พ.ศ.2551-2552) พบว่าเวียดนามสามารถดำเนินการตามแผนงานได้มากที่สุด โดยได้คะแนนเฉลี่ย 95.3% อยู่ในลำดับที่ 3 ของอาเซียน รองลงมา ได้แก่ พม่า, กัมพูชา และ สปป.ลาว โดยอยู่ในลำดับที่ 7-9 ของอาเซียน ตามลำดับ ส่วนไทยสามารถทำได้คะแนนเฉลี่ย 94.4% อยู่ในลำดับที่ 5 ของอาเซียนซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มประเทศ CLMV

ส่วนใหญ่ยังมีความล่าช้าในการปฏิบัติตามแผนงานที่จะก้าวสู่ AECในปี พ.ศ.2558 สะท้อนจากลำดับคะแนนที่อยู่ค่อนข้างรั้งท้าย อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มประเทศ CLMV จะมีความล่าช้าในการปฏิบัติตามแผนงานอยู่บ้างภายใต้การประเมินผลของ AEC Scorecard แต่ในช่วงที่ผ่านมาในทางปฏิบัติทุกประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามและการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ AEC โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

   กัมพูชา: รัฐบาลกัมพูชาได้เร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศหลังจากการเมืองในประเทศเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นเป็นลำดับ โดยรัฐบาลกัมพูชามุ่งให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกในภาคส่งออกและภาคการลงทุนผ่านช่องทางการใช้หลักธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการเสริมสร้างความสามารถของการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnerships: PPPs) ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนในด้านการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการสนับสนุนทางการเงิน และการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นสำคัญ


     สปป.ลาว: จุดอ่อนที่สำคัญของ สปป.ลาว อยู่ที่ข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเชิงคุ้มครองมากกว่าเชิงส่งเสริม อีกทั้งยังขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่าการลงทุนใน สปป.ลาว ไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล สปป.ลาว ได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ AEC โดยเร่งแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าวด้วยการปฏิรูปข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของอาเซียน รวมทั้งการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (ปี พ.ศ.2554-2558) ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ สปป.ลาว บรรลุเป้าหมายในการก้าวสู่ AEC อย่างสมบูรณ์

     พม่า: แม้ว่าการเปิดประเทศของพม่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่รัฐบาลพม่าได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการนำพาประเทศให้ยืนหยัดอย่างมั่นคงบนเวทีการค้าโลก ซึ่งนับตั้งแต่รัฐบาลพม่าปฏิรูปการเมืองและนางออง ซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพ ทุกความเคลื่อนไหวของพม่าได้ถูกจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งการที่หลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ประกาศผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพม่าได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในการก้าวสู่ AEC สะท้อนจากการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นแบบแผน

กล่าวคือ ในด้านการปกครองพม่ายึดสิงคโปร์เป็นต้นแบบ ในด้านการลงทุน มีจีนและเกาหลีใต้เป็นต้นแบบ
ในด้านการพัฒนาตลาดทุนมีญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ และในด้านเกษตรกรรมมีเวียดนามเป็นต้นแบบ เป็นต้น นอกจากนี้ การที่พม่าจะเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนในปี พ.ศ.2557 ยังเป็นสัญญาณที่มีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของพม่า เพื่อเตรียมก้าวสู่ AEC ในปีถัดไป


     เวียดนาม: เวียดนามมีความพร้อมค่อนข้างมากในการก้าวสู่ AEC เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามได้เร่งปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ทั้งด้านภาษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้เวียดนามมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านก่อนก้าวสู่ AEC ในปี พ.ศ.2558

กลุ่มประเทศ CLMV ขุมทองแห่งการลงทุน


     ในด้านสถานการณ์การลงทุนของประเทศในประเทศกลุ่ม CLMV นั้น ผลการศึกษาพบว่าการลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่มประเทศดังกล่าวมีอัตราการเติบโตที่สูงมากในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจของเอเชียทั้งนี้เนื่องจากนักลงทุนจากชาติต่าง ๆ ต่างเล็งเห็นศักยภาพของประเทศในกลุ่มดังกล่าวทั้งในด้านปัจจัยการผลิต ตลาดภายในประเทศและตลาดระหว่างประเทศ ตลอดจนมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างชาติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามที่รัฐบาลได้พยายามผ่อนคลายข้อจำกัดในการลงทุนและส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติอย่างจริงจังต่อเนื่อง


     การขยายตัวของการลงทุนจากต่างชาติในประเทศกลุ่ม CLMV อย่างรวดเร็วในระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าการลงทุนของประเทศไทยมีสัดส่วนต่อมูลค่าเงินลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ผ่านมา โดยประเทศยังคงมีส่วนแบ่งการลงทุนในประเทศกลุ่มดังกล่าวสูงคือ ประเทศญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศที่มีการลงทุนในประเทศกลุ่ม CLMV มากขึ้นอย่างรวดเร็วคือประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์


     ในด้านมูลเหตุจูงใจให้ลงทุนนั้น นักลงทุนลงทุนต่างชาติที่ทำการลงทุนในประเทศ กัมพูชา, ลาว และพม่า ส่วนใหญ่จะมีมูลเหตุจูงใจในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ ที่ดิน สำหรับทำการเกษตร แหล่งน้ำสำหรับสร้างพลังงาน และแหล่งพลังงานใต้ท้องทะเล และมูลเหตุจูงใจด้านตลาดในประเทศที่ยังคงมีช่องว่างของผลิตภัณฑ์ในตลาด ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่เลือกลงทุนขยายฐานการผลิตในเวียดนามส่วนใหญ่จะมีมูลเหตุจูงใจในด้านคุณภาพของแรงงานเมื่อเทียบกับระดับค่าจ้าง การขยายตัวของกำลังซื้อของตลาดภายในประเทศ และช่องทางในการส่งออก ตลอดจนเสถียรภาพทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ


     รัฐบาลของประเทศในกลุ่ม CLMV ในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม, ลาว และกัมพูชา ต่างมีความประสงค์ที่จะดึงดูดการลงทุนของต่างชาติให้เกิดขึ้นในประเทศของตนอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จึงได้สร้างความชัดเจนในด้านกฎระเบียบ ขั้นตอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของต่างชาติให้มีมากขึ้น ลดหรือผ่อนคลายกฎระเบียบหรือขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติลงทุน ลดระยะเวลาในการที่ต้องใช้ในการรอผลการอนุมัติการลงทุน นอกจากนี้ประเทศในกลุ่มดังกล่าวมักมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจอนุมัติการลงทุนให้กับรัฐบาลส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในกรณีที่เป็นการลงทุนขนาดเล็ก

อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่ประสงค์จะเข้าไปลงทุนในประเทศดังกล่าวควรทำการศึกษารูปแบบและขั้นตอนการลงทุนในทางปฏิบัติจากกิจการที่ได้เข้าไปลงทุนแล้วหรือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทย ในประเทศนั้น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากรูปแบบและขั้นตอนการลงทุนในทางปฏิบัติอาจมีความแตกต่างจากที่ปรากฏในเอกสารอยู่บ้าง


     ในด้านศักยภาพการลงทุนของประเทศในกลุ่ม CLMV นั้น ผลการศึกษาพบว่า ประเทศกัมพูชามีศักยภาพในด้านค่าแรงแรงานที่ยังค่อนข้างต่ำ มีการเติบโตของตลาดการท่องเที่ยวสูง ได้รับสิทธิพิเศษทางด้านการค้าระหว่างประเทศมาก และยังขาดแคลนอุตสาหกรรมการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมแต่ก็มีข้อจำกัดในด้านขนาดตลาดภายในประเทศที่มีประชากรค่อนข้างน้อย และความพร้อมของสาธารณูปโภค ส่วนประเทศลาวนั้น มีศักยภาพในด้านค่าแรงแรงานที่ยังค่อนข้างต่ำ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งแร่ธาตุ พลังน้ำ และที่ดินสำหรับทำการเกษตร มีวัฒนธรรมและภาษาใกล้เคียงกับไทย และยังขาดแคลนเทคโนโลยีการผลิตผลผลิตทางการเกษตร

 แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านขนาดตลาดในประเทศที่มีประชากรน้อย ความพร้อมของสาธารณูปโภค และการไม่มีพรมแดนติดทะเลจึงทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศต้องผ่านประเทศอื่น ประเทศพม่ามีศักยภาพในด้านกำลังแรงงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มีระดับค่าแรงที่ต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งแร่ธาตุ น้ำมัน และที่ดินสำหรับทำการเกษตร นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันในประเทศที่ไม่สูงนัก แต่ก็มีข้อจำกัดใดด้านความไม่แน่นอนทางการเมือง การส่งเริมการลงทุน การขนส่งสินค้าผ่านแดน และความพร้อมของสาธารณูปโภค

     สำหรับประเทศเวียดนามนั้นนับว่ามีศักยภาพสูงมากทั้งในด้านกำลังแรงงานที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในวัยหนุ่มสาว ค่าแรงที่ยังค่อนข้างต่ำ การพัฒนาของสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่อง ขนาดของตลาดภายในประเทศที่มีประชากรมากกว่าประเทศไทย ช่องทางการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ก็มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ ความรุนแรงในการแข่งขันทังนี้เนื่องจากประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
    
กลุ่มประเทศ CLMV โอกาสของประเทศไทย

     จากข้อมูลตามฐานศุลกากรในช่วง 5 เดือนแรกของปี พ.ศ.2555 นี้ ระบุว่าการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV มีการเติบโตโดดเด่นถึงร้อยละ 16.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกโดยรวมหดตัวร้อยละ 1.5 และการส่งออกไปยังยูโรโซนหดตัวถึงร้อยละ 11.8 นอกจากนี้ การเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องของตลาด CLMV ยังหนุนให้สัดส่วนตลาด CLMV ขึ้นแซงยูโรโซนมาอยู่ที่ร้อยละ 7.8 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี พ.ศ.2555 (จากร้อยละ 6.8 ในปี พ.ศ.2554) ในขณะที่สัดส่วนของตลาดยูโรโซนลดต่ำลงมาเป็นร้อยละ 6.8 (จากร้อยละ 7.3 ในปี พ.ศ.2554) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าช่วยชดเชยผลกระทบจากความอ่อนแอลงของตลาดยูโรโซนไว้ได้ระดับหนึ่ง
  ตลาดประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มนี้มีความน่าสนใจเนื่องจากผู้บริโภคมีความนิยมต่อสินค้าไทย โดยมองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และผู้บริโภคมีการรับรู้ต่อตราสินค้าของไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะใน 3 ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยโดยตรง หรือ CLM คือ กัมพูชา, สปป.ลาว และพม่า

  
     ความต้องการสินค้าไทยมีหลากหลาย ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, ยานยนต์ รวมไปจนถึงสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน เช่น วัสดุก่อสร้าง, เครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องจักรอุตสาหกรรม


  ถ้าพิจารณาเป็นรายประเทศ ตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (ในช่วง 5 เดือนแรกของปี พ.ศ.2555) คือเวียดนาม ตามมาด้วยกัมพูชา สปป.ลาว และพม่า แต่หากมองถึงอัตราการขยายตัว ตลาดที่เติบโตสูงที่สุดในปีนี้ได้แก่


     กัมพูชา ขยายตัวร้อยละ 51.8 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและทองคำ (ที่ยังไม่ขึ้นรูป) ออกไปเป็นมูลค่าสูงมาก อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังกัมพูชาที่ไม่รวมน้ำมันสำเร็จรูปและทองคำก็ยังขยายตัวสูงร้อยละ 44.8


     สปป.ลาว ขยายตัวร้อยละ 45.0 แม้ สปป.ลาว มีประชากรน้อยที่สุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน หรือเพียงประมาณ 6.4 ล้านคน แต่ สปป.ลาว มีความต้องการสินค้าจากไทยสูงเนื่องจากสินค้าหลายชนิดไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ


     พม่า ขยายตัวร้อยละ 15.6 แม้ปัจจุบันยังมีมูลค่าการส่งออกน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น แต่การเปิดประเทศของพม่าเป็นก้าวย่างที่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับธุรกิจไทยที่สนใจขยายตลาดไปยังพม่า ซึ่งมีประชากรกว่า 60 ล้านคน ที่จะมีกำลังซื้อสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่เห็นการลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าไปยังพม่าอีกจำนวนมาก

     เวียดนาม สำหรับการส่งออกไปยังเวียดนามหดตัวลงร้อยละ 8.4 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากอุทกภัยในไทย ซึ่งอุตสาหกรรมในเวียดนามส่วนหนึ่งพึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากไทย อีกทั้งมีผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเวียดนามเอง จากทั้งปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ และผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเวียดนามเป็นประเทศที่พึ่งพาตลาดส่งออกในยูโรโซนสูงประมาณร้อยละ 13 ของการส่งออกรวม 
     ทั้งนี้ หากไม่นับรวมเวียดนาม ซึ่งการส่งออกหดตัวในช่วง 5 เดือนแรกนั้น การส่งออกไปยังเพื่อนบ้าน 3 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทย หรือ CLM ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 37.2
 
การส่งออกของไทยไปยัง CLMV รายประเทศ

      การส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกทางชายแดนเป็นหลัก ยกเว้นเวียดนามที่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ช่องทางการส่งออกหลักจึงเป็นการส่งออกทางทะเล สำหรับการส่งออกไปยังแต่ละประเทศ CLMV มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

 

 กัมพูชา
     นับเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในการทำการค้าการลงทุน เนื่องจากประชากรมีอัตราเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งยังมีชาวกัมพูชาโพ้นทะเลจำนวนหนึ่งที่มีกำลังซื้อสูง เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และกำลังได้รับการพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ทั้งภายในประเทศและจากความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคและอาเซียน ที่สำคัญกัมพูชามีอุปสงค์ในการบริโภคสินค้าและบริการเกือบทุกประเภทในปริมาณที่สูง เพราะไม่สามารถผลิตได้เองหรือผลิตได้น้อย การส่งออกของไทยไปกัมพูชามีสัดส่วนการส่งออกผ่านชายแดนราวร้อยละ 57 ของการส่งออกไปกัมพูชาโดยรวม อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกของไทยโดยรวมของไปกัมพูชามีทิศทางเติบโตดี โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี พ.ศ.2555 การส่งออกโดยรวมของไทยไปกัมพูชาขยายตัวถึงร้อยละ 51.8 (YoY) ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน CLMV

ทั้งนี้ การเชื่อมโยงช่องทางการส่งออกทางชายแดนที่สำคัญของไทยไปกัมพูชา คือ จังหวัดสระแก้ว ราวร้อยละ 60 ของการส่งออกทางชายแดนไทยไปกัมพูชา เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีชายแดนเป็นแนวยาวถึง 165 กิโลเมตร ช่วยให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดกัมพูชาผ่านจังหวัดบันเตียเมียนเจย ซึ่งเป็นจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญแห่งหนึ่งของกัมพูชา รองลงมาคือจังหวัดตราดและจันทบุรีที่มีพรมแดนติดกับจังหวัดพระตะบองและจังหวัดเกาะกงซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการขยายตัวของกัมพูชาเช่นกัน

สปป.ลาว
     แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรในประเทศเพียง 6.4 ล้านคน แต่มีบทบาทเสมือนเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเซีย และเป็นประเทศที่มีสังคม วัฒนธรรม ใกล้เคียงกับประเทศไทยมากที่สุด ที่น่าสนใจคือในปี พ.ศ.2552 เศรษฐกิจลาวมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่น โดยคาดว่าอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงมีอัตราเพิ่มร้อยละ 6.4 ซึ่งนับว่าสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออก รองจากจีน การส่งออกสินค้าของไทยไป สปป.ลาว เป็นการส่งออกผ่านชายแดนเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 98 ของการส่งออกไป สปป.ลาว โดยรวม  นับเป็นสัดส่วนสูงสุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะด่านชายแดนระหว่างไทยกับ สปป.ลาว มีความเชื่อมโยงและเข้าถึงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของ สปป.ลาว โดยตรง

 ทำให้สินค้าไทยค่อนข้างเข้าถึงตลาดผู้บริโภคใน สปป.ลาว ได้ง่าย สำหรับช่องทางการส่งออกสำคัญคือ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นช่องทางส่งออกสำคัญราวร้อยละ 57 ของการส่งออกทางชายแดนไทย-สปป.ลาว รองลงมาคือ มุกดาหาร, อุบลราชธานี และเชียงราย โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งไป สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวแข็งแกร่งต่อเนื่อง และสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างที่เติบโตรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน สปป.ลาว  ทั้งนี้ แม้ประชากร สปป.ลาว ส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก แต่มีพฤติกรรมการบริโภคที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับคนไทยทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักคุ้นเคยและได้รับการยอมรับในตลาด สปป.ลาว เป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้รับการถ่ายทอดพฤติกรรมการบริโภคของไทยผ่านสื่อโทรทัศน์ด้วยและการเดินทางผ่านชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว เป็นไปโดยสะดวกและคล่องตัว

พม่า
     นับเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม CLMV ที่ไทยเสียดุลการค้า โดยในปี พ.ศ.2554 ไทยเสียดุลการค้าให้พม่าถึง 13,848.29 ล้านบาท (ตารางที่ 2) โดยสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากพม่าและเป็นเหตุให้เสียดุลการค้าคือ ก๊าซธรรมชาติ แต่เมื่อพิจารณาถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดการค้าการลงทุนแล้ว จะเห็นว่าพม่าเป็นประเทศที่มีประชากรมาก และยังไม่สามารถผลิตปัจจัยสี่ได้พอเพียง ขณะที่สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการนับถือศาสนาพุทธ วิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี คล้ายคลึงกับประเทศไทย และเป็นจุดร่วมสำคัญที่สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าไทย ซึ่งชาวพม่ามีค่านิยมในการบริโภคสินค้าที่ยึดติดกับตราสินค้าโดยเฉพาะตราสินค้าไทย ที่ชาวพม่ารับรู้และเชื่อมั่นว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี

ส่วนการส่งออกของไทยไปยังพม่าส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านชายแดนเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 75 ของการส่งออกรวมจากไทยไปพม่า โดยช่องทางการส่งออกที่สำคัญคือ การส่งออกทางชายแดนจังหวัดตาก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 50 ของการส่งออกชายแดนไทย-พม่า ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปพม่าที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค รวมถึงสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ก็มีการขยายตัวโดดเด่น (ในช่วง 5 เดือนแรกของปี พ.ศ.2555 การส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของไทยไปพม่ามีอัตราขยายตัวถึงกว่า 3 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันในปีก่อน) ทั้งนี้เป็นอานิสงค์จากการเร่งพัฒนาโครงสร้างและสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศพม่า

 โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ที่พม่าจะเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2556 ณ นครเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า ผนวกกับการเปิดประเทศและพัฒนาการทางการเมืองของพม่าที่มีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ ยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดความสนใจเข้ามาลงทุนและเดินทางมาท่องเที่ยวในพม่ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนให้กิจกรรมเศรษฐกิจในพม่าคึกคัก และเป็นโอกาสขยายการส่งออกสินค้าไทยรองรับความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เวียดนาม
      นับเป็นประเทศที่เป็นทั้งแหล่งผลิตและแหล่งตลาดที่สำคัญในภูมิภาค มีนโยบายด้านการค้า การลงทุนที่ชัดเจนและบังคับใช้ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือ คนเวียดนามมีความรู้สึกที่ดีต่อสินค้าไทย สินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดเวียดนาม ได้แก่ อุปกรณ์ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์สำหรับเป็นอะไหล่ทดแทนและอุปกรณ์ตกแต่งรถจักรยานยนต์ วัสดุก่อสร้างที่เน้นคุณภาพและความแตกต่าง บริการก่อสร้างทั้งที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างสาธารณูปโภค ธุรกิจบริการและดูแลรักษารถจักรยานยนต์ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันและเครื่องสำอาง รวมถึงการทำธุรกิจท่องเที่ยวแบบ Inbound Tourism และธุรกิจต่อเนื่อง เช่น สปา ภัตตาคาร เป็นต้น การส่งออกของไทยไปเวียดนามค่อนข้างต่างจากการส่งออกไปประเทศ CLM ทั้งในแง่ช่องทางการส่งออกที่เป็นการส่งออกทางทะเลเป็นหลัก มีการส่งออกผ่านแดนค่อนข้างน้อย

 รวมทั้งความแตกต่างในแง่กลุ่มสินค้าซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ค่อนข้างกระจุกตัวในกลุ่มสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเนื่องจากเวียดนามค่อนข้างมีการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและรองรับความต้องการในประเทศที่เข้มข้นกว่าประเทศ CLM ทั้งนี้ ตลาดเวียดนามนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออกสินค้าไทย เนื่องจากชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้น มีความเป็นเมืองที่กระจายตัวมากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยซึ่งค่อนข้างเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพและตราสินค้า อย่างไรก็ดี พฤติกรรมผู้บริโภคชาวเวียดนามค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละโซนพื้นที่ ผู้ส่งออกไทยจึงควรศึกษาและวางกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดอย่างเหมาะสม

ตางรางที่ 2 แสดงมูลค่าการค้า ระหว่างไทย กับประเทศในกลุ่ม CLMV ในปี พ.ศ.2553-2554

ที่มา: กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์

 

  โดยสรุป ตลาด CLMV เป็นตลาดที่มีอนาคตค่อนข้างสดใสสำหรับธุรกิจไทยในการรุกเปิดตลาดและขยายช่องทางกระจายสินค้าให้กว้างขวางขึ้น โดยอาศัยปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน อาทิ 


     -  ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกันทางบก ผ่านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค (Economic Corridors) ที่ปัจจุบันมีความสะดวกยิ่งขึ้น และน่าจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปิดประตูการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต  


     -  การเปิดเสรีมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดย CLMV มีกำหนดที่จะลดภาษีศุลกากรลงเป็น 0% ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเริ่มต้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยนอกจากการเปิดตลาดเสรีในด้านสินค้าแล้ว อาเซียน 10 ประเทศมีเป้าหมายที่จะลดมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีลง (Non-Tariff Barriers) รวมทั้งเปิดเสรีมากขึ้นในสาขาการบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะ และการเคลื่อนย้ายเงินทุน 


     -   รายได้ประชากรในประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวสูง ขณะที่การเติบโตของธุรกิจบริการในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การท่องเที่ยว จะทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น


     จากโอกาสทางการตลาดดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกไปยัง CLMV อาจขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 ในปี พ.ศ.2555 มีมูลค่าประมาณ 18,700 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 570,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ช่วยให้การส่งออกของไทยโดยรวมในปีนี้อาจขยายตัวในระดับประมาณร้อยละ 10 (กรอบคาดการณ์อยู่ในช่วงร้อยละ 7-15) ท่ามกลางความยืดเยื้อของวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน 


  ทั้งนี้ ภายใต้กรอบประมาณการปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะประสบภาวะถดถอย (โดยอัตราการขยายตัวอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.8 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.2) อย่างไรก็ดี หากปัญหาในยูโรโซนลุกลามถึงขั้นนำไปสู่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเงินอย่างรุนแรง จนฉุดให้ภาพรวมการส่งออกของไทยอาจถลำลงสู่แดนติดลบได้นั้น (ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังมีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดขึ้น) สำหรับตลาดส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พม่า สปป.ลาว และกัมพูชา (CLM) คาดว่าจะยังสามารถรักษาการขยายตัวเป็นบวกได้ แม้จะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระบุไว้ข้างต้น เนื่องจากความต้องการสินค้าจากไทยของประเทศกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่นำไปใช้เพื่อการบริโภคในประเทศ และตอบสนองโครงการลงทุนระยะยาว 


     นอกจากนี้กลุ่มประเทศที่เรียกว่า CLMV (กัมพูชา, สปป. ลาว, พม่า และเวียดนาม) ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่คงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ ประมง แร่ธาตุ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเป็นแหล่งแรงงานวัยหนุ่มสาวราคาถูก กลุ่มประเทศเหล่านี้จึงเป็นทั้งแหล่งผลิตและตลาดใหม่ที่น่าสนใจของภูมิภาครวมถึงประเทศไทย เห็นได้จากปี 2554 ประเทศไทยทำการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศ CLMV ในอัตราการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจรวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้าการลงทุน ที่มีมากขึ้นจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ขณะที่สภาพสังคมวัฒนธรรมและปัจจัยแวดล้อมที่มีความใกล้เคียงกับประเทศไทย จึงเป็นโอกาสในการขยายตลาดการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทย

เอกสารข้อมูลอ้างอิง


-  CMLV ตลาดเป้าหมายของไทยกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
-  บทวิเคราะห์ “ตลาด CLMV: โอกาสส่งออกไทยใน AEC…คาดปี 2555 เติบโตโดดเด่นถึง 20% (ฉบับส่งสื่อมวลชน)”: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
-  CLMV ตลาดใหม่ของ SMEs ไทย: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด