เนื้อหาวันที่ : 2013-04-24 15:18:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 74478 views

ทำความเข้าใจแผนภูมิไซโครเมตริก (Psychometric Chart)

แผนภูมิไซโครเมตริก (Psychometric Chart) เป็นแผนภูมิที่บอกถึงรายละเอียดของอากาศที่สภาวะต่าง ๆ เชื่อว่าหลายท่านที่ทำงานในสายงานเครื่องกล

ทำความเข้าใจแผนภูมิไซโครเมตริก (Psychometric Chart)
อาจหาญ  ณ นรงค์
แผนกวิศวกรรมและซ่อมบำรุง
บริษัท โยโกฮาม่า ไทร์  แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 

   แผนภูมิไซโครเมตริก (Psychometric Chart) เป็นแผนภูมิที่บอกถึงรายละเอียดของอากาศที่สภาวะต่าง ๆ เชื่อว่าหลายท่านที่ทำงานในสายงานเครื่องกล เช่น งานปรับอากาศและความเย็นคงจะรู้จักแผนภูมินี้ และการที่เราเข้าใจแผนภูมินี้จะทำให้เราเข้าใจถึงธรรมชาติและกระบวนการการเปลี่ยนแปลงของสภาวะของอากาศตลอดจนสามารถนำมาใช้งานและวิเคราะห์แก้ใขปัญหาในงานที่เกี่ยวข้องได้มากยิ่งขึ้น

  

 

รูปที่ 1 แผนภูมิไซโครเมตริก (Psychometric Chart)

 

ความสำคัญของอากาศและการใช้งาน 
   เชื่อว่าทุกคนคงจะรู้จักอากาศ (Air) กันเป็นอย่างดี อากาศมีอยู่ทุก ๆ ที่เราทุกคนใช้อากาศในการหายใจ อากาศเป็นตัวช่วยในการติดไฟของเชื้อเพลิงในการหุงต้มหรือในเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรต่าง ๆ ในงานด้านวิศวกรรมและการผลิต อากาศถูกนำมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนี้จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติ รายละเอียดตลอดจนธรรมชาติของอากาศซึ่งถ้าเราจะอธิบายกันแบบลอย ๆ นั้นก็ยากที่จะเข้าใจแผนภูมิ (Chart) หนึ่งที่จะนำมาอธิบายคุณสมบัติของอากาศได้ดีก็คือแผนภูมิไซโครเมตริก (Psychometric Chart) ซึ่งในแผนภูมิดังกล่าวจะรวบรวมความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ของอากาศให้ง่ายต่อการเข้าใจในรายละเอียด


คุณสมบัติสำคัญ ๆ ของอากาศ
   ในงานทางวิศวกรรม เช่น งานปรับอากาศหรือทำความเย็นนั้นคุณสมบัติต่าง ๆ ของอากาศเป็นสิ่งที่มีผลกับสิ่งที่เราต้องการควบคุม เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์และอื่น ๆ บทความต่อไปนี้จะอธิบายถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของอากาศเพื่อให้เป็นที่เข้าใจอย่างง่าย ๆ ดังนี้คือ

 

  

รูปที่ 2 การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในห้องปรับอากาศ

 
1. ความชื้น (Humidity)  
   เราอาจได้ยินคำเหล่านี้มาบ้างแล้ว เช่น อากาศชื้น (Moist Air) หรืออากาศแห้ง (Dry Air) แต่บางทีเราอาจไม่เข้าใจว่าความหมายที่แท้จริงของคำเหล่านี้ว่ามันคืออะไร เรารู้ว่าก่อนฝนตกอากาศจะร้อนอบอ้าวจนเรารู้สึกอึดอัด หรือในหน้าหนาวผิวหนังของเราจะแห้งจนแตกหรือผ้าที่เราตากไว้จะแห้งเร็วกว่าปกติทั้ง ๆ ที่อุณหภูมิของอากาศต่ำ ทั้งหมดที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างเบื้องต้นนั้นเกี่ยวกับความชื้นทั้งสิ้น 

   ถ้าจะพูดให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ ความชื้น (Moisture) คือ อัตราส่วนของไอน้ำที่ปะปนอยู่ในอากาศต่อจำนวนอากาศที่อ้างอิง อากาศที่มีไอน้ำปะปนอยู่มากเราเรียกว่าอากาศชื้นหรืออากาศเปียก เช่นลมระบายความร้อนที่ออกมาจากคูลลิ่งทาวเวอร์ (Cooling Townwer) หรืออากาศก่อนที่ฝนจะตกจะมีอัตราส่วนของไอน้ำที่ผสมอยู่ในอากาศมากจึงทำให้เรารู้สึกร้อนอบอ้าวและอึดอัดเพราะเมื่อปริมาณไอน้ำในอากาศมีมากจะส่งผลให้เหงื่อหรือน้ำที่ผิวหนังของเรานั้นระเหยตัวยากจึงทำให้เรารู้สึกร้อนอบอ้าว
     
   ดังที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ข้างต้นว่าความชื้นคือจำนวนไอน้ำที่ปนอยู่ในอากาศ จากรูปที่ 3 ถ้าเราเอาอากาศจำนวนหนึ่งมากำจัดความชื้นออกให้หมดเราจะเรียกอากาศที่ไม่มีไอน้ำเจือปนอยู่ว่า “อากาศแห้ง (Dry Air)” ดังรูปที่ 3ก จากนั้นถ้าเราค่อย ๆ ปล่อยไอน้ำข้าไปในอากาศดังกล่าวเรื่อย ๆ ดังรูปที่ 3ข เมื่ออากาศมีไอน้ำผสมอยู่เราเรียกอากาศนั้นว่า “อากาศชื้น” ซึ่งหมายถึงอากาศที่มีไอน้ำปะปนอยู่ ซึ่งก็เหมือนกับอากาศในบรรยากาศบนโลกของเรานั่นเอง ในตอนแรกที่เราเริ่มปล่อยไอน้ำเข้าไปผสมปะปนกับอากาศนั้นปริมาณไอน้ำในอากาศจะมีน้อย อากาศจะสามารถรองรับไอน้ำจำนวนดังกล่าวไว้ได้ แต่เมื่อปริมาณไอน้ำเพิ่มไปถึงจุดหนึ่งที่อากาศไม่สามารถรองรับปริมาณไอน้ำดังกล่าวไว้ได้ ไอน้ำส่วนที่เกินก็จะเริ่มกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำ ซึ่งเราจะเรียกว่า “จุดอิ่มตัวของไอน้ำในอากาศ” หรือเรียกอากาศที่จุดนี้ว่า “อากาศอิ่มตัว (Saturated Air)” ซึ่งก็คือสภาวะที่อากาศไม่สามารถที่จะดูดซับไอน้ำไว้ในตัวมันได้อีกแล้ว ในแผนภูมิไซโครเมตริกเส้นอากาศอิ่มตัว (Saturated Air Line) คือเส้นโค้งที่อยู่ทางด้านซ้ายของแผนภูมิไซโครเมตริก ดังรูปที่ 4

  1.1 อัตราส่วนความชื้น (Humidity Ratio,  ) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าค่าความชื้นจำเพาะ (Specific Humidity) คืออัตราส่วนระหว่างมวลของไอน้ำในอากาศ (mv) กับมวลของอากาศแห้ง(ma) ที่ปริมาตรอากาศที่พิจารณา ดังสมการที่ 1


เช่น สภาวะหนึ่งมีไอน้ำอยู่ในอากาศ 8 กรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 m3 โดยที่น้ำหนักของอากาศแห้ง (ไม่รวมน้ำหนักไอน้ำ) ตรงจุดนั้นเท่ากับ 0.88 kg/m3 ดังนั้นอัตราส่วนความชื้นที่สภาวะดังกล่าวจะเท่ากับ 1/0.88= 9.1 gvapour/ kgDry Air

ในแผนภูมิไซโครเมตริกเส้นอัตราส่วนความชื้น (Humidity Ratio Line) เป็นเส้นที่ลากจากเส้นไอน้ำอิ่มตัว (Saturated Vapor) จากด้านซ้ายมือไปยังด้านขวามือดังรูปที่ 4 โดยที่ค่าอัตราส่วนความชื้นด้านล่างจะน้อยเพราะอุณหภูมิต่ำส่วนที่อุณหภูมิสูงอัตราส่วนความชื้นก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอัตราส่วนความชื้นที่ปรากฏในแผนภูมิไซโครเมตริกจะเป็นอัตราส่วนมวลของไอน้ำในอากาศเป็นกรัมต่อมวลอากาศแห้งเป็นกิโลกรัม (gvapor/kgDry Air)

  

รูปที่ 3 แสดงลักษณะอากาศที่สภาวะต่าง ๆ 

รูปที่ 4 แสดงเส้นอัตราส่วนความชื้น (Humidity Ratio Line)

 

1.2 ความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity or RH, ) คือความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนมวลของไอน้ำในอากาศต่อจำนวนมวลของไอน้ำอิ่มตัวในสภาวะที่พิจารณา เพื่อความเข้าใจให้พิจารณารูปที่ 4 และรูปที่ 5 ในรูปที่ 5ก เป็นถังที่มีปริมาตร 1 m3บรรจุอากาศแห้ง อุณหภูมิอากาศภายในถัง 20 เซลเซียส ที่ความดันบรรยากาศในถังไม่มีไอน้ำปะปนอยู่ในอากาศดังนั้นถังใบนี้จึงมีความชื้นสัมพัทธ์เท่ากับ 0 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาเราเปิดวาล์วและค่อย ๆ ปล่อยไอน้ำเข้าไปในถังเรื่อย ๆ ถึงตอนนี้ในถังก็จะมีไอน้ำผสมอยู่ อากาศในถังก็จะเป็นอากาศชื้นดังรูปที่ 5ข และเมื่อเรายังคงปล่อยไอน้ำเข้าไปเรื่อย ๆ จนปริมาณไอน้ำที่ผสมอยู่ในอากาศมากจนอากาศไม่สามารถรองรับปริมาณไอน้ำไว้ได้ไอน้ำส่วนเกินเหล่านั้นก็จะกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำอยู่ที่ก้นถังดังรูปที่5ค    


ปริมาณไอน้ำสูงสุดที่อากาศจะรับไว้ได้นี้ก็จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศยิ่งอากาศมีอุณหภูมิสูงจำนวนใอน้ำที่อากาศสามารถอุ้มไว้ได้ก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

 

 
รูปที่ 5 แสดงสภาวะต่าง ๆ ของไอน้ำในอากาศ 

 

  

รูปที่ 6 กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นสัมพัทธ์กับปริมาณไอน้ำในอากาศ


ตารางที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณไอน้ำที่อากาศสามารถรับไว้ได้กับอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์


   จากตารางที่ 1 แสดงปริมาณไอน้ำที่อากาศสามารถรับไว้ได้ที่อุณหภูมิต่าง ๆ เช่น ที่อุณหภูมิ 20 เซลเซียส ความดันบรรยากาศ อากาศสามารถรองรับไอน้ำไว้ได้สูงสุดเป็นจำนวน 17.3 กรัมต่อปริมาตรอากาศ 1m3 ซึ่งจุดนี้เองคือจุดที่มีความชื้นสัมพัทธ์เท่ากับ 100% (100% RH) จากข้างต้นทำให้เราเข้าใจแล้วว่าจุดที่ความชื้นสัมพัทธ์ 100% คือจุดที่มีปริมาณไอน้ำในอากาศจำนวนมากที่สุดที่อากาศสามารถรองรับไว้ได้ ดังนั้นที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่าง ณ อุณหภูมิที่นำมาพิจารณาก็คือจะพิจารณาปริมาณไอน้ำในอากาศศที่ 100% ของอุณหภูมินั้น ๆ เปรียบเทียบกับปริมาณไอน้ำในอากาศที่มีอยู่จริง ณ อุณหภูมินั้น ๆ เช่นที่อุณหภูมิ 20 เซลเซียส อากาศสามารถรองรับไอน้ำไว้ได้สูงสุด 17.3 กรัมvapor/ m3Dry Air ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 50% ก็จะมีปริมาตรไอน้ำเป็นครึ่งหนึ่งคือ (17.3/2) = 8.65 กรัมvapor/m3Dry Air และที่ความชื้นสัมพัทธ์ 25% ปริมาณไอน้ำในอากาศก็จะมีอยู่ (17.3/4) = 4.325 กรัมvapor/ m3Dry Air ซึ่งนอกจากนั้นเราสามารถที่จะหาเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศได้จากสมการ



   เส้นแสดงความชื้นสัมพัทธ์ในไซโครเมตริกชาร์ทดังแสดงในรูปที่ 7 โดยเส้นแรกทางขวามือสุดหรือเส้นที่อยู่ด้านนอกคือเส้นความชื้นสัมพัทธ์ 100% นั้นจะเป็นเส้นเดียวกับเส้นอากาศอิ่มตัว (Saturated Air Line) หรือจุดที่อากาศสามารถรองรับปริมาณไอน้ำได้สูงสุดที่อุณหภูมิต่าง ๆ 


   ถัดมาจากเส้นความชื้นสัมพัทธ์ 100% ค่าความชื้นสัมพัทธ์ก็จะลดต่ำลงมาเรื่อย ๆ
   อากาศที่มีปริมาณความชื้นอยู่เท่า ๆ กันแต่เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงค่าความชื้นสัมพัทธ์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังรูป

 

 

รูปที่ 7 แสดงเส้นความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity Line)


2. ปริมาตรจำเพาะของอากาศ (Specific Volume, )
ปริมาตรจำเพาะ คืออัตราส่วนระหว่างปริมาตร (Volume) ต่อมวล (Mass) ของอากาศ มีหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตรต่อกิโลกรัม (m3/kg) ในระบบ SI เป็นที่ทราบกันดีว่าอากาศมีคุณสมบัติในการขยายตัวตามอุณหภูมิที่ความดันคงที่ (Constant Pressure) ในสภาวะความดันคงที่ถ้าอุณหภูมิต่ำอากาศจะมีปริมาตรจำเพาะน้อยหมายถึงน้ำหนักอากาศต่อหน่วยปริมาตรจะมากในทางตรงกันข้ามถ้าอุณหภูมิขออากาศสูงขึ้นอากาศจะขยายตัวออกทำให้ปริมาตรจำเพาะของอากาศของอากาศมากขึ้น  ซึ่งก็คือน้ำหนักของอากาศต่อหน่วยปริมาตรจะลดลงหรืออากาศเบาขึ้นนั่นเอง 


ตัวอย่างเช่นอากาศที่ความดันบรรยากาศอุณหภูมิ 15 ๐C ความชื้นสัมพัทธ์ 60% จะมีปริมาตรจำเพาะเท่ากับ 0.825 m3/kg (1.21 kg/m3) แต่ถ้าอุณหภูมิเปลี่ยนไปเป็น 25 ๐C ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 60% เท่าเดิม ปริมาตรจำเพาะของอากาศจะเท่ากับ 0.861 m3/kg (1.16kg/m3) จะเห็นว่าอุณหภูมิเปลี่ยนไป 10 ๐C แต่ปริมาตรจำเพราะอากาศเปลี่ยนไป 4.4% ในการคำนวณเราจะสามารถใช้ค่าปริมาตรจำเพาะสำหรับหาอัตราการไหลเชิงปริมาตร (G) หรืออัตราการไหลเชิงมวล (m) ของอากาศ สำหรับเส้นแสดงปริมาตรจำเพาะที่อยู่ในไซโครเมตริกชาร์ตนั้นจะเป็นเส้นทะแยงจากซ้ายไปขวา โดยเส้นที่อยู่ด้านล่างจะมีค่าปริมาตรจำเพาะน้อยและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไปสู่ด้านบนดังรูปที่ 7

 


รูปที่ 8 แสดงเส้นปริมาตรจำเพาะ (Specific Volume)


3. อุณหภูมิ (Temperature)
เมื่อพูดถึงอุณหภูมิเราจะนึกถึงความร้อนและความเย็นของอากาศ เรารู้ว่าในห้องปรับอากาศจะมีความเย็นกว่ากลางแดดจ้าในหน้าร้อน ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นจะเย็นกว่าในห้องปรับอากาศ อุณหภูมินอกจากจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความร้อนหรือเย็นแล้วยังเป็นตัวที่บ่งบอกถึงระดับพลังงานที่มีอยู่ในอากาศ อากาศที่ร้อนย่อมจะมีพลังงานอยู่ในตัวเองมากกว่าอากาศที่เย็น  อุณหภูมิของอากาศแบ่งออกเป็นสองชนิดซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกซึ่งก็คือ

3.1 อุณหภูมิกระเปาะแห้ง (Dry Bulb Temperature, Tdb) คืออุณหภูมิที่วัดจากเทอร์โมมิเตอร์ธรรมดา เช่น เราอยากรู้ว่าตอนนี้อุณหภูมิเท่าไหร่เราก็อ่านค่าจากเทอร์โมมิเตอร์ที่ติดอยู่ที่ฝาผนัง ค่าอุณหภูมิดังกล่าวคืออุณหภูมิกระเปาะแห้ง  ในแผนภูมิไซโครเมตริกจะเป็นเส้นตามแนวตั้งอยู่ในแผนภูมิโดยค่าจะเรียงตั้งแต่น้อยไปหามากจากซ้ายมือไปยังขวามือ ดังรูปที่9 

 


รูปที่ 9 เส้นอุณหภูมิกระเปาะแห้งบนแผนภูมิไซโครเมตริก

 

3.2 อุณหภูมิกระเปาะเปียก (Wet Bulb Temperature, Twb) 
ก่อนที่เราจะมาพูดกันต่อเรื่องอุณหภูมิกระเปาะเปียกกัน อยากให้เรามารู้จักกับคำว่ากระเปาะกันก่อน ซึ่งกระเปาะ (Bulb) ก็คือส่วนปลายที่ใช้รับอุณหภูมิของเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอทที่เราใช้แหย่ไปยังจุดที่ต้องการวัด ในตอนแรกที่กล่าวถึงอุณหภูมิกระเปาะแห้งซึ่งก็คือในตอนที่ทำการวัดนั้นกระเปาะรับอุณหภูมิของเทอร์โมมิเตอร์จะต้องแห้งจึงทำให้อุณหภูมิที่วัดได้จึงเป็นอุณหภูมิแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ เทอร์โมมิเตอร์ตัวนั้น ดังรูปด้านบนของรูปที่ 10

สำหรับการวัดอุณหภูมิกระเปาะเปียกนั้นในการวัดก็ใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบเดียวกับที่วัดแบบกระเปาะแห้ง แต่ที่กระเปาะปลายเทอร์โมมิเตอร์จะเอาผ้าชุบน้ำพอชุ่ม ๆ พันกระเปาะเอาไว้และในตอนวัดก่อนที่จะอ่านก็จะต้องทำให้ปลายกระเปาะเปียกดังกล่าวเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ๆ หนึ่ง โดยปกติในการวัดจะใช้เชือกผูกและเหวี่ยงตัวเทอร์โมมิเตอร์กระเปาะเปียกดังกล่าวให้เคลื่อนที่สักพักนึงแล้วจึงอ่านค่าอุณหภูมิ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าถ้าความชื้นในอากาศขณะที่ทำการวัดน้อยเวลาที่เทอร์โมมิเตอร์กระเปาะเปียกเคลื่อนที่ผ่านอากาศก็จะทำให้ความชื้นที่อยู่ที่ผ้าชุบน้ำดังกล่าวระเหยได้ง่ายเพราะความชื้นในอากาศมีน้อย

 

 

รูปที่ 10 เทอร์โมมิเตอร์แบบกระเปาะแห้งและแบบกระเปาะเปียก เมื่อรวมกันจะเรียก Sling Phychrometer


   ในกระบวนการการระเหยของความชื้นของผ้าชุบน้ำที่ติดอยู่ที่ปลายเทอร์โมมิเตอร์แบบกระเปาะเปียกนั้นจะดูดความร้อนรอบ ๆ ตัวกระเปาะมาทำให้ความชื้นเปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลายเป็นไอ ดังนั้นจึงทำให้อุณหภูมิที่วัดได้หรืออุณหภูมิกระเปาะเปียกจะต่ำกว่าาอุณหภูมิกระเปาะแห้ง ในกรณีที่ในอากาศมีความชื้นอยู่มาก ความชื้นที่ผ้าที่หุ้มกระเปาะไว้จะระเหยได้ยากดังนั้นความร้อนที่ใช้ในการระเหยตัวก็จะน้อยส่งผลให้ค่าที่วัดได้จะไกล้เคียงกับอุณหภูมิกระเปาะแห้ง


   ดังที่กล่าวข้างต้นอุณหภูมิกระเปาะเปียกจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในอากาศในจุดที่ทำการวัด ถ้าความชื้นในอากาศน้อยความแตกต่างของอุณหภูมิกระเปาะแห้งกับอุณหภูมิกระเปาะเปียกจะมาก และถ้าความชื้นในอากาศมากความแตกต่างของอุณหภูมิที่วัดได้จะน้อย และอุณหภูมิกระเปาะแห้งกับกระเปาะเปียกจะเท่ากันที่เส้นอากาศอิ่มตัว (Saturated Temperature) หรือจุดที่ความชื้นสัมพัทธ์เท่ากับ 100% สำหรับเส้นอุณหภูมิกระเปาะเปียกที่อยู่ในแผนภูมิไซโครเมตริกนั้นจะเป็นดังรูปที่ 11 โดยจะเอียงทแยงจากซ้ายไปขวาและค่าจะเพิ่มขึ้นจากน้อยไปมากจากด้านซ้ายไปยังด้านขวา 

 

รูปที่ 11 เส้นอุณหภูมิกระเปาะเปียกบนแผนภูมิไซโครเมตริก

 

3.3 อุณหภูมิหยดน้ำค้าง (Dew Point Temperature) คือ “อุณหภูมิที่ความชื้นในอากาศเริ่มกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเมื่ออากาศถูกลดอุณหภูมิที่ความดันคงที่” หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คืออุณหภูมิอิ่มตัวของไอน้ำเมื่อเปรียบเทียบกับความดันของไอน้ำดัง
สมการ           Tdp  = Tsat@pv …………. (5)                                                                                      
โดยที่     Pv   คือแรงดันย่อยของไอน้ำที่อุณหภูมิจุดไอน้ำอิ่มตัว ณ อุณหภูมิที่อ้างอิง, kN/m2


   เพื่อให้เรานึกภาพของอุณหภูมิหยดน้ำค้างออกให้เรานึกถึงหยดน้ำที่เกาะอยู่ด้านข้างของแก้วน้ำเย็น หรือหยดน้ำค้างที่เกาะอยู่ตามยอดหญ้าในตอนเช้าของฤดูร้อน ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ก็เนื่องจากการที่อากาศที่มีความชื้นสูงถูกลดอุณหภูมิลง ทำให้ความสามารถในการรองรับความชื้นในอากาศที่อุณหภูมิต่ำลดลง ดังนั้นปริมาณความชื้นในอากาศที่เกินจากความสามารถในการรองรับของอากาศที่อุณหภูมิต่ำลง จึงกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำ

   ตารางที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณไอน้ำที่อากาศสามารถรับไว้ได้กับอุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิหยดน้ำค้าง

- ข้อมูลในตารางเป็นข้อมูลที่ได้จากการคำนวณอาจมีความคลาดเคลื่อนในบางค่า

ตัวอย่าง (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) ในฤดูร้อนวันหนึ่งอากาศมีอุณหภูมิ35 C?ความชื้นสัมพัทธ์ 60% ในอากาศมีไอน้ำปะปนอยู่ที่ 23.8 กรัม/อากาศ 1m3 เมื่อเวลาผ่านกลางคืนไปจนถึงตอนเช้าอุณหภูมิลดลงเหลือ 20 เซลเซียส ซึ่งที่อุณหภูมินี้เราจะเห็นว่าอากาศสามารถที่จะรองรับไอน้ำได้สูงสุด (RH100%) เพียง 17.3 กรัม/อากาศ 1m3 ดังนั้นไอน้ำจำนวน (23.8-17.3) = 6.5กรัม/อากาศ 1m3 จะกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำเกาะอยู่ตามยอดหญ้าหรือวัตถุที่มีอุณหภูมิเดียวกับอากาศบริเวณนั้น จากหลักการนี้เรายังสามารถประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์ลดความชื้นหลายชนิดในงานอุตสาหกรรม


อุณหภูมิหยดน้ำค้างของอากาศที่จุดต่าง ๆ สามารถหาได้ในไซโครเมตริก โดยลากเส้นจากจุดนั้นขนานไปกับเส้นปริมาตรจำเพาะไปทางขวามือไปชนกับเส้นอากาศอิ่มตัว 

 

รูปที่ 12 แสดงการหาจุดน้ำค้างที่สภาวะที่กำหนด

 

4.  เส้นอากาศอิ่มตัว (Saturation Line, Air saturation line) 
เป็นเส้นที่อยู่ในแนวเดียวกันเส้นความชื้นสัมพัทธ์ด้านนอกสุดซ้ายมือในแผนภูมิไซโครเมตริกหรือเป็นเส้นปิดแผนภูมิไซโครเมตริกทางด้านซ้ายมือ จริง ๆ แล้วเส้นอากาศอิ่มตัวก็คือเส้นความชื้นสัมพัทธ์100%(100%RH) ดังในรูปที่ 6 และรูปที่ 13 นั่นเอง ดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อเรื่องความชื้นสัมพัทธ์ว่าจุดอากาศอิ่มตัวก็คือจุดที่อากาศ ณ อุณหภูมินั้น ๆ สามารถรองรับไอน้ำไว้ได้มากที่สุดสำหรับจำนวนไอน้ำที่อากาศสามารถรับไว้ได้มากที่สุดที่อุณหภูมิต่าง ๆ นั้นดังแสดงในช่องความชื้นสัมพัทธ์ 100 % (100%RH) ในตารางที่ 1 และตารางที่ 2

5. เอลทาลปี้ (Enthalpy)
ในทางเทอร์โมไดนามิกค่าเอลทาลปี้ (Enthalpy) คือค่าที่เป็นตัวบ่งบอกถึงระดับพลังงานของของไหลซึ่งรวมถึงอากาศด้วย ซึ่งเป็นค่าพลังงานภายในของของไหลบวกกับพลังงานเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความดันและปริมาตร (PV) ของของไหลดังสมการ


สำหรับค่าเอลทาลปี้เราสามารถเปิดได้จากตารางไอน้ำอิ่มตัวในตำราเทอร์โมไดนามิกต่าง ๆ ได้ ความสัมพันธ์ของคุณสมบัติทั้งสามอย่างข้างต้นมักจะรวมอยู่ในรูป u + pv ดังนั้นเพื่อเป็นความสะดวกในการคำนวณเราจึงให้คำจำกัดความเรียกผลรวมของความสัมพันธ์ของคุณสมบัติทั้งสามตัวว่าเอลทาลปี้ (Enthalpy, h) โดยที่ถ้าเป็นเอลทาลปี้ต่อหน่วยมวลเราจะเรียกว่าเอลทาลปี้จำเพาะมีหน่วยเป็น พลังงานต่อมวลเช่น kJ/kg สำหรับของไหลที่ความดันบรรยากาศค่าเอลทาลปี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิโดยที่ถ้าอุณหภูมิมากค่าเอลทาลปี้จะมากตามไปด้วย เช่น อากาศที่อุณหภูมิสูงจะมีค่าเอลทาลปี้มากกว่าอากาศที่อุณหภูมิต่ำ เช่นถ้าเราต้องการที่จะลดอุณหภูมิอากาศจากอุณหภูมิ 40 เซลเซียส ที่ความชื้นสัมพัทธ์หนึ่งให้เหลือ 20 เซลเซียส ที่ความชื้นสัมพัทธ์หนึ่งเราก็เอาค่าเอลทาลปี้ของจุดแรกไปลบเอลทาลปี้ที่จุดหลังเราก็สามารถคำนวณภาระทางความร้อนของกระบวนการลดอุณหภูมิในกระบวนการดังกล่าวได้
       การหาค่าเอลทาลปี้ของอากาศแห้งและอากาศชื้นสามารถคำนวณได้จากสมการ  
      

 


รูปที่ 13 เส้นแสดงค่าเอลทาลปี้

เส้นแสดงระดับค่าเอลทาลปี้ในแผนภูมิไซโครเมตริกนั้นจะอยู่ด้านซ้ายมือหรือด้านหน้าของเส้นอากาศอิ่มตัวดังรูปที่ 13 โดยที่ค่าเอลทาลปี่จะเพิ่มจากน้อยไปหามากตามระดับของอุณหภูมิของอากาศที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางของลูกศรที่แสดงในรูป  สำหรับการหาค่าเอลทาลปี้ที่จุดต่าง ๆ ตามสภาวะอากาศหลังจากที่เราพลอตจุดในไซโครเมตริกชาร์ทได้แล้วเราก็ลากเส้นตรงในแนวระนาบมาตัดกับเส้นอากาศอิ่มตัวทางซ้ายมือและเอาค่าที่จุดตัดนั้นมาดูว่าตรงกับค่าเอลทาลปี้เท่าได


6. การศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาวะของอากาศโดยใช้แผนภูมิไซโครเมตริก
ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาวะของอากาศแผนภูมิไซโครเมตริกจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เรามองการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นและสามารถนำมาคิดคำนวณหาพลังงานและทำให้เรารู้ค่าตัวแปลต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องใช้สูตรในการคำนวณให้ยุ่งยากโดยที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นเราสามารถพิจารณาด้วยไซโครเมตริกชาร์ทได้ดังนี้

6.1 กระบวนการเพิ่มและลดความร้อน (Heating and Cooling Process) 

6.1.1 กระบวนการเพิ่มความร้อน (Heating Process)
       คือกระบวนการที่ในระหว่างกระบวนการหรือจากการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะหนึ่งไปยังอีกสภาวะหนึ่ง ความร้อนของอากาศจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นที่สภาวะความดันคงที่ ตัวอย่างเมื่อเราให้ความร้อนกับอากาศที่ความดันคงที่ อุณหภูมิของอากาศจะเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ปริมาตรจำเพาะของอากาศเพิ่มขึ้นหรืออากาศมีน้ำหนักเบาขึ้นเพราะอากาศเกิดการขยายตัว ในขณะที่ไอน้ำในอากาศมีเท่าเดิม และค่าความชื้นสัมพัทธ์จะลดลงเพราะอากาศสามารถรองรับไอน้ำที่ปะปนอยู่ได้เพิ่มขึ้นดังรูปที่ 14 สำหรับกระบวนการนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกระบวนการอบเพื่อลดความชื้นกับวัสดุหรือผืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ สำหรับความร้อนที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้จะเป็นความร้อนสัมผัส (Sensible Heat) หรือความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนของกระบวนการให้ความร้อน (Heating) ในไซโครเมตริกชาร์ตนั้นจะเป็นเส้นในแนวขนานกับแกนอุณหภูมิกระเปาะแห้ง (Tdb) ในทิศทางห่างออกไปจากเส้นอากาศอิ่มตัวดังรูปที่ 14

6.1.2  กระบวนการลดความร้อน (Cooling Process)
       คือกระบวนการที่ในระหว่างกระบวนการนั้นอุณหภูมิของอากาศจะลดลงที่ความดันคงที่ เช่น ในระบบการปรับอากาศ เมื่อเราเริ่มต้นเปิดเครื่องปรับอากาศก็จะทำให้อุณหภูมิในห้องปรับอากาศค่อย ๆ ลดลงที่ความดันคงที่ และผลจากกระบวนการนี้ก็จะทำให้ปริมาตรจำเพาะของอากาศจะลดลง หรืออากาศมีความหนาแน่นขึ้นและจะทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมากขึ้นตามไปด้วย   

 

รูปที่ 14 แสดงทิศทางของการลดและเพิ่มอุณหภูมิ


 ดังนั้นในกระบวนการปรับอากาศของพื้นที่ปรับอากาศจึงจะต้องมีกระบวนการลดความชื้นตามมาด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนหลัง เมื่อเราพิจารณาในแผนภูมิไซโครเมตริกเราจะเห็นว่ากระบวนการลดความร้อนของอากาศนี้จะมีทิศทางของอุณหภูมิตรงกันข้ามกับกระบวนการเพิ่มความร้อนของอากาศ โดยที่กระบวนการที่เกิดขึ้นนั้นจะเริ่มจากสภาวะเริ่มต้นของกระบวนการมาในทิศทางของทางเส้นอากาศอิ่มตัวโดยที่เส้นของกระบวนการจะขนานกับเส้นอุณหภูมิกระเปาะแห้งดังรูปที่ 14 ในส่วนของความร้อนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็เป็นความร้อนสัมผัสเช่นกัน

6.2  กระบวนการลดความชื้น (Dehumiditification Process) 
ได้มีการกล่าวถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของความชื้นตั้งแต่ตอนแรก ๆ ของบทความนี้แล้ว เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าที่สภาวะความดันคงที่ถ้าอุณหภูมิลดลงความชื้นสัมพัทธ์จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นในการควบคุมสภาวะอากาศให้มีค่าความชื้นสัมพัทธ์น้อยที่อุณหภูมิต่ำนั้นเราสามารถที่จะทำได้โดยวิธีการดังนี้คือ


รูปที่ 15 แสดงการลดความชื้นโดยการลดอุณหภูมิของอากาศ   รูปที่ 16 แสดงวงจรลดความชื้น (Air Dryer) ของเครื่องอัดอากาศ

 

6.2.1 การลดความชื้นโดยการลดอุณหภูมิ (Dehumiditification by Cooling)

คือการลดอุณหภูมิของอากาศ ณ จุดที่เป็นจุดลดความชื้นให้ลดลงจนถึงจุดน้ำค้าง (Tdp) ของอากาศ ตัวอย่างที่เราสามารถเห็นได้ก็คือในห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก เราจะเห็นว่าที่ด้านล่างของคอยล์เย็นของเครื่องปรับอากาศจะมีถาดรองน้ำรองอยู่ซึ่งเป็นที่รองไอน้ำที่ควบแน่นจากการกลั่นตัวนั่นเอง โดยหลักการทำงานง่ายก็คือสมมติในห้องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 25 เซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 50% ดังนั้นอุณหภูมิหยดน้ำค้างของอากาศที่สภาวะดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 เซลเซียส และที่คอล์ยเย็นของเครื่องปรับอากาศจะมีอุณหภูมิประมาณ 7 เซลเซียส ดังนั้นเมื่ออากาศถูกดูดเข้าใกล้คอล์ยเพื่อลดอุณหภูมิของอากาศดังกล่าวและเมื่อที่จุดดังกล่าวมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดน้ำค้างของอากาศจึงทำให้ความชื้นในอากาศเกิดการกลั่นตัวกลายเป็นน้ำ ทำให้ปริมาณความชื้นในอากาศลดลง สำหรับเส้นการลดความชื้นด้วยการลดอุณหภูมินั้นจะแสดงดังรูปที่ 15 อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการลดปริมาณน้ำในลมอัดของเครื่องอัดลม (Air Compressor) ดังวงจรในรูปที่ 16


6.2.2  การลดความชื้นโดยวิธีการดูดซึมความชื้น (Dehumiditification by Absorption)
การลดความชื้นแบบนี้เป็นการใช้วัสดุดูดซึมความชื้น (Absorption Material) เช่น ซิลิก้าเจล เป็นตัวลดความชื้นออกจากอากาศ การลดความชื้นวิธีนี้จึงไม่จำเป็นต้องลดอุณหภูมิดังแสดงในรูปที่ 17 เมื่อเรานำวัสดุดูดความชื้นมาวาง วัสดุดูดความชื้นก็จะดูดไอน้ำหรือความชื้นในอากาศออกจากอากาศในระบบนั้น เป็นผลให้ความชื้นในอากาศลดลงโดยที่อุณหภูมิของอากาศคงที่ 

 
รูปที่ 17 การลดความชื้นโดยใช้วัสดุดูดความชื้น

 

 6.3 กระบวนการเพิ่มความชื้น (Humidity Process)
ในกรณีที่สภาวะอากาศรอบ ๆ ระบบนั้นมีความชื้นน้อยแต่เราต้องการให้มีความชื้นมากภายในระบบ เช่น ในระบบปรับอากาศในเมืองหนาวที่ใช้ฮีทเตอร์เป็นตัวเพิ่มอุณหภูมิของอากาศแต่ความชื้นของระบบยังไม่ได้ตามที่ต้องการ ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการเพิ่มความชื้นให้กับระบบซึ่งวิธีการส่วนใหญ่ที่ทำกันคือ

6.3.1 การการเพิ่มความชื้นโดยการเติมไอน้ำเข้าสู่ระบบ (Humidification by Steam) 
เมื่อเราเติมไอน้ำเข้าไปปะปนในอากาศ ไอน้ำก็จะเจือปนอยู่กับอากาศในระบบทำให้ภายในระบบดังกล่าวมีความชื้นมากขึ้นตามที่ต้องการ สำหรับในแผนภูมิไซโครเมตริกชาร์ตนั้นจะแสดงดังรูปที่ 18  โดยที่กระบวนการจะเริ่มที่อุณหภูมิเริ่มต้นและเมื่อไอน้ำค่อย ๆ เข้าไปในระบบแล้วความชื้นในระบบจะค่อย ๆ เพิ่มโดยที่อุณหภูมิกระเปาะแห้งยังคงที่ส่วนตัวแปรที่เปลี่ยนไปคือค่าความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิกระเปาะเปียกดังรูป เราจะสังเกตได้ว่าเมื่อเราเพิ่มความชื้นเข้าไปในระบบเรื่อย ๆ ค่าตัวแปรหนึ่งที่เปลี่ยนตามคือค่าอัตราส่วนความชื้นที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามวลของไอน้ำที่เราเติมเข้าไปนั้นมากขึ้นนั่นเอง

 
รูปที่ 18 การเพิ่มความชื้นโดยเติมไอน้ำเข้าสู่ระบบ

 

6.3.2 การเพิ่มความชื้นโดยการทำให้อากาศเย็นโดยการระเหย (Humidification by Evaporative Cooling) 
คือการเพิ่มความชื้นในขณะที่ทำการลดอุณหภูมิไปในเวลาเดียวกันตัวอย่างของกระบวนการนี้ให้เรานึกถึงพัดลมแบบที่มีช่องใส่น้ำแข็งอยู่ที่ด้านหน้าของใบพัดดังรูปที่ 19 สมมติว่าเราเอาพัดลมตัวนี้ไปวางไว้ในห้อง เมื่อพัดลมเริ่มทำงานพัดลมก็จะเป่าทำให้น้ำแข็งระเหยกลายเป็นไอเย็นออกมาทำให้อุณหภูมิรอบ ๆ พัดลมนั้นค่อย ๆ เย็นลง แต่ขณะเดียวกันนั้นปริมาณไอน้ำที่เกิดจากการระเหยก็จะค่อย ๆ มากขึ้นทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศค่อย ๆ มากขึ้น ๆ ไปด้วย สำหรับกระบวนการในแผนภูมิไซโครเมตริกจะเป็นไปและมีทิศทางดังรูปที่ 20

 

รูปที่ 19 พัดลมแบบเติมน้ำแข็ง

            

รูปที่ 20 การเพิ่มความชื้นแบบทำให้อากาศเย็นโดยการระเหย


จากที่กล่าวในเรื่องของกระบวนการต่าง ๆ ของการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่กล่าวมาในข้างต้นพอจะสรุปกระบวนการต่าง ๆ ในรูปของแผนภูมิไซโครเมตริกได้ดังรูปที่ 20 ในการพิจารณาทิศทางของกระบวนการต่าง ๆ นั้น ให้เราพลอตที่จุดแรกของสภาวะอากาศลงในแผนภูมิไซโครเมตริก จากนั้นเราก็พลอตค่าสภาวะอากาศจุดที่สองลงในแผนภูมิไซโครเมตริก เมื่อเราได้จุดทั้งสองจุดแล้วก็จากเส้นจากจุดแรกไปยังจุดที่สอง จากนั้นเราก็ได้เส้นของกระบวนการที่เกิดขึ้นและสามารถพิจารณาได้ว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการไหน 

 

รูปที่ 21 สรุปกระบวนการการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของอากาศ


เพื่อความเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ของการเปลี่ยนแปลงของอากาศมากยิ่งขึ้น จึงขอยกตัวอย่างประกอบดังนี้
     
ตัวอย่าง พิจารณาอากาศในห้องที่ความดันบรรยากาศห้องหนึ่งที่อุณหภูมิ 20 เซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 40% ให้ใช้แผนภูมิไซโครเมตริกหาค่าต่าง ๆ ของอากาศดังต่อไปนี้ 
ก) อัตราส่วนความชื้น (Humidity Ratio,
ข) อุณหภูมิกระเปาะเปียก (Wet Bulb Temperature, Tdb)
ค) อุณหภูมิหยดน้ำค้าง (Dew Point Temperature)
ง) ปริมาตรจำเพาะของอากาศ (Specific Volume)
จ) เอลทาลปี้หรือระดับพลังงานของอากาศ  (Enthalpy, h)

จากแผนภูมิไซโครเมตริกรูปที่ 22 เมื่อเราทราบค่าอุณหภูมิซึ่งเป็นอุณหภูมิกระเปาะแห้งและความชื้นสัมพัทธ์ ให้เราพลอตจุดลงที่จุดตัดระหว่างเส้นอุณหภูมิกระเปาะแห้ง 20 เซลเซียส และเส้นความชื้นสัมพัทธ์ 40% เราจะได้จุด A ซึ่งเป็นจุดที่ตรงกับคุณสมบัติของอากาศ ณ จุดนั้น

 

รูปที่ 22 แผนภูมิไซโครเมตริกตามตัวอย่างที่ 1


จากนั้นเราก็ทำการหาค่าต่าง ๆ ที่ต้องการโดย
ก. อัตราส่วนความชื้น ให้เราลากเส้นจากจุด A ไปทางขวามือโดยขนานไปกับแกนของอุณหภูมิกระเปาะแห้งไปตัดกับเส้นอัตราส่วนความชื้น(Humidity ratio, )  จากนั้นเราก็พลอทตรงจุดตัดที่จุด B และเทียบอัตราส่วนจากจากสเกลค่าที่จุดดังกล่าวเราก็จะได้อัตราส่วนความชื้นเท่ากับ 0.0058 kg/kg Dry Air หรือ 5.8กรัม /kg Dry Air

ข. อุณหภูมิกระเปาะเปียก ให้เราลากเส้นจากจุด A ให้ขนานไปกับเส้นอุณหภูมิกระเปาะเปียกไปจนตัดกับเส้นอากาศอิ่มตัวจากนั้นเราก็พลอทจุดตรงจุดตัดระหว่างสองเส้นดังกล่าวที่จุด C และเทียบอัตราส่วนระหว่างเส้นอุณหภูมิกระเปาะเปียกสองเส้นที่จุดดังกล่าวเราก็จะได้ค่าอุณหภูมิกระเปาะเปียกเท่ากับ 12.35 เซลเซียส

ค. อุณหภูมิหยดน้ำค้าง หาได้โดยการลากเส้นไปทางซ้ายมือของจุดA โดยให้ขนานไปกับเส้นอุณหภูมิกระเปาะแห้งไปจนตัดกับเส้นอากาศอิ่มตัวที่จุด D และเทียบอัตราส่วนระหว่างเส้นอุณหภูมิหยดน้ำค้างสองเส้นที่จุดดังกล่าว เราก็จะได้ค่าอุณหภูมิหยดน้ำค้าง 6 เซลเซียส  หมายความว่าถ้าวางวัตถุไดก็ตามที่มีอุณหภูมิ 6 เซลเซียส ที่สภาวะนี้ก็จะมีหยดน้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวของไอน้ำมาเกาะที่วัตถุดังกล่าว

ง. ปริมาตรจำเพาะของอากาศ ให้เราลากเส้นจากจุด A โดยขนานกับเส้นแสดงค่าปริมาตรจำเพาะในแผนภูมิไซโครเมตริกจนไปตัดกับเส้นไอน้ำอิ่มตัวที่จุด E จากนั้นก็เทียบระยะสเกลหาค่า เราจะได้ค่าปริมาตรจำเพาะตรงจุดนี้เท่ากับ 0.838 m3/kg

จ. ค่าเอลทาลปี้หรือระดับพลังงานของอากาศ หาได้โดยลากเส้นจากจุด A ให้ขนานกับเส้น เอลทาลปี้ที่อยู่ด้านนอกของแผนภูมิไซโครเมตริก ให้ไปตัดกับเส้นเอลทาลปี้ที่จุด F จากนั้นก็เทียบสเกลหาค่า เราจะได้ค่าเอลทาลปี้ที่จุดนี้เท่ากับ 34.8 kJ/kg

จากตัวอย่างแรกคงจะทำให้เรามีความเข้าใจถึงการหาค่าต่าง ๆ ในแผนภูมิไซโครเมตริกกันบ้างแล้ว ในการหาค่าต่าง ๆ นั้นตัวแปรที่เราจำเป็นต้องรู้ตัวแปรอย่างน้อย 2 ตัวคือ อุณหภูมิกระเปาะแห้งกับความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิกระเปาะเปียกกับอุณหภูมิกระเปาะแห้ง หรืออุณหภูมิกระเปาะแห้งกับอุณหภูมิหยดน้ำค้าง เราถึงจะสามารถหาค่าของคุณสมบัติที่เหลือได้จากแผนภูมิไซโครเมตริก

สรุป
จากบทความข้างต้นคงที่จะทำให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจถึงคุณสมบัติของอากาศและการใช้งานแผนภูมิไซโครเมตริกบ้างไม่มากก็น้อย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เอาความรู้เหล่านี้ไปใช้งานโดยตรงในงานออกแบบระบบปรับอากาศต่าง ๆ แต่การที่เรามีความรู้ทั้งในเรื่องคุณสมบัติของอากาศและแผนภูมิไซโครเมตริกไว้ในบางครั้งก็อาจนำเอาความรู้มาประยุกต์ หรือวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรือปรับปรุงในงานที่รับผิดชอบอยู่ได้

เอกสารอ้างอิง
[1]  Wilbert F/Jerold W. Jones, "REFRIGERATION & AIRCONDITIONING" Second Edition.,McGRAWHILL
[2] Yunus A. Cengel/Michael Boles, Thermodynamics AnEngineering Approach. Third Edition., McGRAWHILL

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด