เนื้อหาวันที่ : 2013-04-24 13:39:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 47900 views

กว่าจะมาเป็นถุงมือยางทางการแพทย์ (Medical Latex Glove)รู้จักชนิด การใช้งาน กระบวนการ และจักรกลผลิตถุงมือยางของไทย (ตอนที่ 1)

อุตสาหกรรมยางพารา เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญมากของไทย สร้างรายได้นับแสนล้านบาท จากข้อมูลของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร

กว่าจะมาเป็นถุงมือยางทางการแพทย์ (Medical Latex Glove)รู้จักชนิด การใช้งาน กระบวนการ และจักรกลผลิตถุงมือยางของไทย (ตอนที่ 1)

ทนงศักดิ์ วัฒนา, ศุภัสชกรณ์ หลิมเฮงฮะ

   อุตสาหกรรมยางพารา เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญมากของไทย สร้างรายได้นับแสนล้านบาท จากข้อมูลของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางพารามีมูลค่าสูงถึง 402,563 ล้านบาท นอกจากอุตสาหกรรมยางพารายังมีผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจระดับชาติแล้ว ยังมีผลกระทบต่อแรงงาน โดยมีผู้อยู่ในอุตสาหกรรมประมาณ 106,844 คน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางกว่าหนึ่งล้านครัวเรือน นอกจากผลกระทบที่กล่าวมาแล้ว สวนยางพาราเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ โดยมีข้อมูลจากสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร วงจรชีวิตของสวนยาง 25 ปี สามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 42.65 เมตริกตันต่อไร่ 

   ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ายางพารานับว่ามีความสำคัญต่อประเทศชาติในหลาย ๆ ด้าน และเมื่อกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ยาง ปัจจุบันเราคงคุ้นเคยและเคยชินกับการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากยางธรรมชาติ จนบางครั้งอาจมองเป็นเรื่องปกติและอาจจะขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น ยางเส้น ยางรัดของ ยางฟองน้ำ รองเท้ายาง หัวนมยาง ลูกโป่ง และถุงยางอนามัย เป็นต้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ยางอีกชนิดหนึ่งที่เราอาจไม่คุ้ยเคย หรือมีใช้ในชีวิตประจำวันมากนัก คือ ถุงมือยาง ปัจจุบันมีการใช้งานอยู่ในหลายรูปแบบ และหลายวงการอุตสาหกรรม ได้แก่ ถุงมือยางสำหรับวงการแพทย์ (Medical Glove) ถุงมือยางสำหรับใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Glove) และ ถุงมือยางสำหรับใช้ในครัวเรือน (Household Glove) ซึ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มถุงมือยาง เราเรียกว่า ผลิตภัณฑ์ยางจากกระบวนการจุ่ม (Dipping Products) อันที่จริง กลุ่มผลิตภัณฑ์จากกระบวนการจุ่ม (Dipping) ยังมีอีกหลายชนิด เช่น หัวดูดนมเด็ก กระเป๋ายางน้ำร้อน ยางสวมนิ้ว ชุดกีฬาทางน้ำ ลูกโป่ง ตุ๊กตายาง และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ในบทความนี้ จะขอกล่าวเฉพาะ ถุงมือยางทางการแพทย์ที่มีผลิตในประเทศไทย เท่านั้น

 


   
ก) ถุงมือยางชนิดต่าง ๆ


               
ข) ถุงยางอนามัย                                          ค) ลูกโป่ง
รูปที่ 1 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยางจากกระบวนการจุ่ม (Dipping)

 

กว่าจะมาเป็นถุงมือที่ประเทศไทยผลิตได้เอง
นับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งเริ่มมีการคิดค้นการใช้ถุงมือเป็นครั้งแรก โดยนายแพทย์วิลเลียม ฮัลสเตด เพื่อแก้ปัญหาการการแพ้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคของพยาบาลคนหนึ่งในแผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลจอห์น ฮอพกินส์ (Johns Hopkins Hospital) หลังจากนั้นเป็นต้นมาเริ่มมีความนิยมใช้ถุงมือยางกันอย่างแพร่หลาย สำหรับในประเทศไทยนับตั้งแต่มีการใช้ถุงมือยางเป็นครั้งแรก ก็ต้องนำเข้าถุงมือยางมาจากต่างประเทศ จนเมื่อประมาณเกือบสามสิบปีมานี้ ที่ประเทศไทยเริ่มมีการผลิตถุงมือขึ้นใช้เอง แต่ในช่วงแรกของการผลิตยังประสบปัญหาเรื่องคุณภาพถุงมือ ทำให้รัฐบาลต้องมีการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องการผลิตถุงมือยาง ทำให้ต่างชาติเริ่มเข้ามาลงทุนและเริ่มมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี

จนกระทั่งปี พ.ศ.2529 ประเทศไทยสามารถผลิตถุงมือที่มีคุณภาพเพื่อใช้งานในประเทศรวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ และต่อมาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐาน มอก.538-2548 สำหรับถุงมือยางปราศจากเชื้อสำหรับการศัลยกรรมชนิดใช้ครั้งเดียว และมาตรฐาน มอก.1056-2548 สำหรับถุงมือยางสำหรับการตรวจโรคชนิดใช้ครั้งเดียวนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อุตสาหกรรมถุงมือยางได้ขยายตัวเป็นอย่างมาก รวมถึงเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น ซึ่งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมถุงมือยางประมาณ 65 ราย มีกำลังการผลิตมากกว่า 20,000 ล้านชิ้น ปัจจุบันพบว่า อุตสาหกรรมถุงมือยางของไทย ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รายงานว่า ปี พ.ศ.2553 อุตสาหกรรมถุงมือยางมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน และในครึ่งปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกถึง 472.2 ล้านเหรียญสหรัฐ อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง แต่อย่างไรก็ตามในด้านเทคโนโลยีการผลิตประเทศไทยก็ยังประสบปัญหาอยู่หลายประการ และควรได้รับการพัฒนาให้เทียบเท่ากับคู่แข่ง โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย

 


     
รูปที่ 2 การผลิตถุงมือยางของไทย

 

รู้จักชนิดและการใช้งานถุงมือยางของไทย
เนื่องจากรูปแบบการบริโภค หรือการใช้งานถุงมือยาง มีหลายแบบ เช่น ใช้ในวงการแพทย์ หรือในอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ในครัวเรือน จึงทำให้ผู้ผลิตถุงมือยางต้องผลิตถุงมือยางตามความต้องการตลาดซึ่งสามารถแบ่งประเภทของถุงมือยางตามลักษณะการใช้งานได้ 3 ประเภท คือ ถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์ ถุงมือยางที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และถุงมือยางในครัวเรือน ดังนี้

1. ถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ (Medical Glove) โดยปกติถุงมือยางที่ใช้สำหรับทางการแพทย์ยังสามารถแบ่งได้อีก 2 แบบ คือ 
     1.1 ถุงมือยางที่ใช้ในงานผ่าตัด (Surgical Glove) หรือทางศัลยกรรม จะมีลักษณะเนื้อบางเหนียวและยาวถึงข้อศอก มีความแข็งแรงและต้องผ่านการฆ่าเชื้อ 100% โดยเครื่องแกรมมาเรย์ การบรรจุหีบห่อมีความประณีตสะดวกเวลาแกะใช้ ปกติใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งวัตถุดิบที่ใช้คือน้ำยางธรรมชาติเป็นหลัก และเทคโนโลยีการผลิตค่อนข้างสูงเพราะต้องการถุงมือยางที่มีความสะอาดและคุณภาพสูง ดังแสดงในรูปที่ 3

 

    
รูปที่ 3 แสดงลักษณะถุงมือยางใช้สำหรับงานผ่าตัด


     
     1.2 ถุงมือยางที่ใช้ในงานตรวจโรคทั่วไป (Examination Glove) เป็นถุงมือที่ใช้วงการแพทย์สำหรับใช้ตรวจโรคทั่วไป มีลักษณะบางพร้อมทั้งมีความกระชับมือและสั้นแค่ข้อมือ ไม่แยกข้างซ้าย หรือข้างขวา ใช้เพียงครั้งเดียวทิ้งโดยไม่มีการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย มีทั้งชนิดที่มีแป้งและไม่มีแป้ง การผลิตต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานคือ ต้องใส่ได้ง่าย แกะห่อได้อย่างรวดเร็ว และราคาต้องไม่แพง ดังแสดงในรูปที่ 4

 

  
 
รูปที่ 4 แสดงลักษณะถุงมือยางใช้สำหรับตรวจโรค


2. ถุงมือยางสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม (Industrial Glove) ถุงมือชนิดนี้ ส่วนใหญ่จะมีลักษณะจำเพาะในแต่ละอุตสาหกรรม มีความทนทานต่อการใช้งานเช่น ในด้านงานช่างซึ่งใช้สำหรับ ตัด เจีย จะมีลักษณะแข็งแรง เทอะทะ ดังแสดงในรูปที่ 5 หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะมีลักษณะบางกระชับ สวมเฉพาะส่วนหนึ่งของนิ้ว เรียกว่า ถุงนิ้ว ดังแสดงในรูปที่ 6 หรืออาจใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ดังแสดงในรูปที่ 7 การบรรจุหีบห่อไม่จำเป็นต้องสวยงาม

 

  
 
 รูปที่ 5 ถุงมือยางสำหรับงานช่าง (ถุงมืออุตสาหกรรม)

    
      
รูปที่ 6 ถุงนิ้วสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

   
 
รูปที่ 7 ถุงมือยางสำหรับ โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป (อุตสาหกรรมอาหาร)

 

3. ถุงมือยางที่ใช้ในครัวเรือน หรือถุงมือแม่บ้าน (Household Glove) ถุงมือยางชนิดนี้จะมีความแข็งแรง ทนทาน เนื้อหนากว่าถุงมือยางที่ใช้ในการแพทย์เนื่องจากต้องสัมผัสกับน้ำ ผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ จะออกแบบให้มีอายุการใช้งานได้นาน บรรจุหีบห่ออย่างประณีตสวยงามเพื่อดึงดูดแม่บ้าน ซึ่งเป็นถุงมือที่ใช้สำหรับงานบ้าน หรือในครัวเรือน เช่น งานทำความสะอาด งานซักล้าง มีลักษณะแข็งแรง ทนทานอายุการใช้งานยาวนาน สวมใส่สบาย นุ่มมือ มีหลายสีให้เลือก เช่น สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า ดังแสดงในรูปที่ 8

 
       
รูปที่ 8 ถุงมือยางสำหรับใช้ในครัวเรือน

 

รู้จักวัตถุดิบที่นำมาผลิตถุงมือยางของไทย
 เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิต และส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกของไทยมีการขยายตัวและเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมดมีมากกว่า สามแสนล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ยางในการส่งออกอยู่ในรูปของวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง มาตรฐาน STR เกรดต่าง ๆ หรือน้ำยางข้น คิดเป็น 87% และแปรรูปภายในประเทศประมาณ 13% ของยางพารา ยางพาราไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับประเทศ แต่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางมากกว่า หนึ่งล้านครัวเรือนหรือประมาณ หกล้านคน และยังผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมยางอีกมากมาย


เมื่อกล่าวถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 13% ของทั้งหมด หนึ่งในผลิตภัณฑ์ยางพาราที่สำคัญ และเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง และในประเทศไทย 90% เป็นถุงมือแพทย์ ชนิดตรวจโรคทั่วไป ด้วยความได้เปรียบด้านเป็นผู้ผลิตยางดิบหรือวัตถุดิบที่เป็นรายใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ประไทยมีศักยภาพด้านผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นอย่างมากและยังส่งผลโดยตรงต่อ อุ

ตสาหกรรมถุงมือยางของประไทยด้วย ถุงมือยางที่ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้น้ำยางข้นชนิด 60% เป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำยางข้น โดยทั่วไปกระบวนการผลิตน้ำยางข้นในประเทศจะใช้หลักการปั่นแยก ด้วยเครื่องปั่นแยก หรือนิยมเรียกว่า การผลิตน้ำยางข้นด้วยวิธีปั่นแยกด้วยเครื่องเซนตริฟิวส์ เป็นการผลิตน้ำยางข้นที่มีการใช้กันมากในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน ซึ่งกระบวนการผลิตน้ำยางข้น สามารถแสดงดังรูปที่ 10 จากแผนภาพกระบวนการผลิตน้ำยางข้นในรูปที่ 9 สามารถแยกกระบวนการผลิตออกเป็น 3 กระบวนการใหญ่ คือ 1) กระบวนการรับน้ำยางและเตรียมน้ำยางสด 2)กระบวนการปั่นแยกน้ำยางข้นและรักษาสภาพ และ 3) กระบวนการผลิตยางสกิม


 
รูปที่ 9 แสดงส่วนประกอบของเครื่องปั่นแยกน้ำยางข้นในอุตสาหกรรมน้ำยางข้นของไทย

 

 

รูปที่ 10 กระบวนการผลิตน้ำยางของไทย ด้วยวิธีเครื่องปั่นแยก

 

คุณสมบัติของน้ำยางข้นที่ผลิตในประเทศไทย อ้างอิงตามมาตรฐาน มอก.980-2552 ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงมาตรฐานค่าต่าง ๆ ในน้ำยางข้นที่ผลิตในประเทศไทย


กระบวนการผลิตถุงมือยางของประเทศไทย
ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ จากยางพาราที่มีความสำคัญมากของประเทศไทย คือ ถุงมือยาง ซึ่งจากข้อมูลของฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารกรุงไทยพบว่า แนวโน้มการผลิตถุงมือยางของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ.2552 มีปริมาณผลิตถึง 11,000 ล้านชิ้น ประเทศไทยเป็นผลิตถุงมือยางจากยางธรรมชาติ ที่ใช้สำหรับวงการแพทย์เป็นอันดับสอง จากประเทศมาเลเซีย หรืออาจได้ว่า อุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศไทยมีความสำคัญ

ต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย กระบวนการผลิตถุงมือยาง เป็นกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการจุ่ม (Dipping) กระบวนการจุ่ม หรือเป็นกระบวนขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้วิธีการจุ่ม โดยจะนำแบบพิมพ์ (Former) ตามลักษณะผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ โดยทั่วไปแบบพิมพ์จะทำจาก โลหะ พลาสติก เซรามิก แก้ว อะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ จุ่มลงในน้ำยางคอมปาวด์ (Compound Latex) น้ำยางคอมปาวด์ในอุตสาหกรรมประเภทการจุ่ม จะประกอบด้วยน้ำยางข้น และสารเคมี ซึ่งสูตรเคมีจะมีความแตกต่างไปตามแต่ละผลิตภัณฑ์ เช่น ตัวอย่างสูตรเคมีสำหรับถุงมือยาง จะประกอบด้วยสารเคมีต่าง ๆ ดังตารางที่ 2


 ตารางที่ 2 ตัวอย่างสูตรเคมี สำหรับอุตสาหกรรมจุ่ม (ถุงมือแพทย์)
  


ในส่วนบทความนี้ จะขอกล่าวเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง ในส่วนของถุงมือที่ใช้ ในทางการแพทย์ (Medical Glove) เท่านั้น ซึ่งกระบวนการผลิตถุงมือแพทย์ สามารถสรุปกระบวนการผลิตได้ในรูปที่ 11 และรูปที่ 12 
    

รูปที่ 11 แผนภาพการผลิตถุงมือแพทย์อย่างง่าย


     
     
     รูปที่ 12
กระบวนการผลิตถุงมือแพทย์


จากแผนภาพในรูปที่ 11 และ 12 สามารถสรุปกระบวนการผลิตที่สำคัญได้ คือ กระบวนการล้างแบบพิมพ์ (Former Cleaning) อบแบบพิมพ์ให้แห้ง (Oven1) การจุ่มสารช่วยจับตัว (Coagulant) อบแห้งสารจับตัว (Oven2) การจุ่มน้ำยางคอมพาวด์ (Latex Dipping) การอบหมาดฟิล์มถุงมือ (Oven3) การม้วนขอบถุงมือ (Beading) การล้างฟิล์มถุงมือ (Leaching) การอบแห้ง (Oven4) การจุ่มแป้ง (Powder) การอบแห้ง (Oven 5) และการถอดถุงมือ (Striping)

นอกจากกระบวนการผลิตสายการผลิตแล้ว ถุงมือยางไม่สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย จำเป็นต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้ผู้ใช้งานปลอดภัย โดยการทดสอบการรั่วของถุงมือยางโดยใช้น้ำ (Water Test) และการทำให้ถุงมือโป่งออกแล้วตรวจสอบตำหนิบนถุงมือ และการรั่วลมอีกด้วย ซึ่งสามารถสรุปกระบวนการผลิตถุงยางทางการแพทย์ ดังนี้

1. กระบวนการล้างแบบพิมพ์ (Former Cleaning) ถือได้ว่าเป็นกระบวนสำคัญมากขั้นตอนหนึ่งของการผลิตถุงมือยาง ในกรณีที่แบบพิมพ์สกปรก จะทำให้ถุงมือที่ผลิตได้อาจรั่วได้ ปกติการทำความสะอาดแบบพิมพ์ (Former) จะใช้กรดและด่างในการทำความสะอาด โดยกรดจะใช้ H2SO4 หรือ HCL และด่างจะใช้ NaOH หรือ KOH หลังจากนั้นก็ล้างออกด้วยน้ำสะอาด

2. อบแบบพิมพ์ให้แห้ง (Oven1) เป็นการระเหยน้ำที่ติดเป็นฟิล์มบนแบบพิมพ์แห้งจนหมด ก่อนจุ่มในสารช่วยจับตัว (Coagulant Tank) ช่วงระยะการอบขึ้นอยู่กับความเร็วของสายพาน หรือกำลังผลิตของสายพานการผลิต

3. การจุ่มสาร Coagulant ซึ่ง Coagulant เป็นสารส่วนผสม (Solution) ที่เกิดจาก CaNO3 หรือ CaCl2 ผสมกับ CaCO3 ซึ่ง CaNO3 หรือ CaCl2 เป็นสารช่วยในการจับตัวของอนุภาคยาง ส่วน CaCO3 เป็นตัวป้องกันการติดแม่พิมพ์ โดยอุณหภูมิของแบบพิมพ์ที่ลงจุ่มในถัง Coagulant ต้องมีอุณหภูมิประมาณ 50-60 OC เพื่อป้องกันน้ำยางจับตัวเสียสภาพ โดยปกติในถัง Coagulant จะต้องมีการกวนเพื่อป้องกันการตกตะกอนของ Coagulant และไหลไปในทิศทางเดียวกับทิศทางของแบบพิมพ์ (Former)

4. การอบแห้งสาร Coagulant (Oven2) เป็นการทำให้สาร Coagulant แห้งก่อนลงจุ่มในถังน้ำยางคอมพาวด์ (Latex Compound)

5. การจุ่มน้ำยางคอมพาวด์ (Latex Dipping) เป็นกระบวนเคลือบแผ่นฟิล์มน้ำยางบนแบบพิมพ์มือ โดยมี CaCO3 เป็นสารป้องกันการจับตัวระหว่างฟิล์มน้ำยางกับแบบพิมพ์มือ กระบวนการนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญมากในกระบวนการผลิตถุงมือยาง เพราะคุณภาพของถุงมือยางขึ้นอยู่กับกระบวนการนี้เป็นส่วนมาก โดยปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพถุงมือยาง คือ อุณหภูมิของแบบมือ ความเร็วลงจุ่มระหว่างแบบมือ และความเร็วของน้ำยางในถัง อุณหภูมิของน้ำยาง และคุณภาพของน้ำยางคอมพาวด์ ถังน้ำยางจะต้องออกแบบให้มีการกวนแบบช้าเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำยางตกตะกอนและต้องมีการไหลตามทิศทางของการเคลื่อนที่ของแบบมือ ดังแสดงในรูปที่ 13
          

   
รูปที่ 13 การจุ่มแบบมือลงในถังน้ำยาง

 

6. การอบหมาดฟิล์มถุงมือ (Oven3) เป็นการให้ความร้อนทำให้ฟิล์มถุงมือยางให้แห้งพอหมาด เพื่อให้สามารถม้วนขอบถุงมือยางได้ อุณหภูมิในตู้อบประมาณ 100-120 OC รูปแบบแหล่งความร้อนในการให้ความร้อนอาจใช้แก๊ส LPG หรือจะใช้ไอน้ำจากหม้อไอน้ำ  

7. การม้วนขอบถุงมือ (Beading) ถุงมือยางหลังจากการจุ่มในถังน้ำยางจะมีลักษณะขอบไม่เท่ากันและไม่สวยงาม รวมถึงขอบถุงมือไม่แข็งแรง การม้วนขอบถุงมือจึงเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ลักษณะการม้วนขอบดังแสดงในรูปที่ 14

 

 

รูปที่ 14 การม้วนขอบถุงมือยางโดยใช้แปรง


8. การล้างฟิล์มถุงมือ (Leaching) การล้างฟิล์มถุงมือยางหลังจากการขึ้นรูปในถังน้ำยาง เป็นการชะล้างสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่บนเนื้อยาง และยังเป็นการลดปริมาณโปรตีนในถุงมืออีกด้วย โดยอุณหภูมิในล้างจะอยู่ระหว่าง 60-70 OC นานประมาณ 5-10 นาทีดังแสดงในรูปที่ 15

 

 

รูปที่ 15 แสดงการชะล้างฟิล์มถุงมือยางในถัง Leaching


9. การอบแห้ง (Oven4) การอบให้ยางแห้งและทำให้ยางคงรูปเป็นกระบวนการที่สำคัญอีกกระบวนการหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อความแข็งแรงของถุงมือยาง อีกทั้งกระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานมากที่สุดของการผลิต และยังมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำด้วยใช้อุณหภูมิไม่เกิน 100-120 OC ประมาณ 30 นาที ดังแสดงในรูปที่ 16

 

 
รูปที่ 16 แสดงตู้อบหลักของการอบถุงมือยางเพื่อให้ยางคงรูป


10. การจุ่มแป้ง (Powder) เป็นกระบวนเพื่อให้การถอดถุงมือทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ถุงมือยางไม่ติดกับแบบพิมพ์มือ

11. การอบแห้ง (Oven 5) เป็นการอบถุงมือยางที่ผ่านการจุ่มน้ำแป้งให้แห้ง เพื่อการถอดจะได้สะดวกไม่มีเปื้อนจากน้ำแป้ง

12. การถอดถุงมือ (Striping) การถอดถุงมือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในสายพานการผลิตถุงมือยาง ปัจจุบันการถอดถุงมือมีทั้งที่ใช้พนักงานถอด และการใช้เครื่องถอด ดังแสดงในรูปที่ 17
           

     

ก) การถอดถุงมือโดยแรงงานคน                      ข) การถอดถุงมือโดยใช้เครื่องถอด
รูปที่ 17 แสดงการถอดถุงมือยางในสายพานการผลิต


แต่สำหรับในความเป็นจริงถุงมือที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมยังต้องผ่านกระบวนการที่หลายกระบวนการเพื่อให้ให้ถุงมือยางทางการแพทย์สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย คือ

1. การอบถุงมือให้ยางคงรูป เนื่องจากถุงมือยางที่ออกจากสายพานการผลิตยังมีความชื้นอยู่สูงและอาจจะยังคงรูปไม่สมบูรณ์ จึงต้องผ่านกระบวนการอบให้มีความชื้นอยู่ในค่าที่เหมาะสมหรือไม่มีความชื้นเหลืออยู่เลย ซึ่งจะทำให้มีลักษณะการคงรูปมากขึ้น ปกติจะใช้ตู้อบแบบลูกกลิ้งขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถอบถุงมือได้คราวละมาก ๆ ดังรูปที่ 18

2. การทดสอบถุงมือยาง โดยการใช้สายตา การใช้ลมเป่าให้ถุงมือโป่ง และการใช้น้ำในการทดสอบการรั่วซึม ดังแสดงในรูปที่ 19

3. การบรรจุกล่องเพื่อรอส่งจำหน่าย

  

รูปที่ 18 ตู้อบถุงมือ   

รูปที่ 19 การทดสอบถุงมือด้วยน้ำ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด