เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 16:32:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4903 views

การค้นหาและเปรียบเทียบสมรรถนะหลักองค์กร

จากตอนที่แล้ว ที่ได้อธิบายถึงแนวคิดและความสำคัญเกี่ยวกับความสามารถพิเศษขององค์กร หรือสมรรถนะหลักขององค์กร (Core Competency)

การค้นหาและเปรียบเทียบสมรรถนะหลักองค์กร

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com
    
     จากตอนที่แล้ว ที่ได้อธิบายถึงแนวคิดและความสำคัญเกี่ยวกับความสามารถพิเศษขององค์กร หรือสมรรถนะหลักขององค์กร (Core Competency) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย C.K.Prahalad และ Gary Hamel ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์ ซึ่งในเวลาต่อมา ได้มีการขยายแนวคิดนี้ ออกมาให้ชัดเจนขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญอีกหลาย ๆ คน เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ สามารถนำแนวคิดนี้มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล และเป็นประโยชน์อย่างมากกับองค์กรนั้น ๆ โดยในบทความนี้ จะขอใช้คำว่าสมรรถนะหลักแทน เพราะให้ความหมายที่ชัดเจนกว่า


     ในหนังสือเรื่อง Strategy: Creating and Implementing ซึ่งเขียนโดย Richard Luecke และ David J.Collis ได้ระบุว่าสมรรถนะหลักเป็นรากฐานที่สำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ใหม่ หรือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยสมรรถนะหลัก จะหมายถึงทักษะ หรือความชำนาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการสร้างผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศให้กับองค์กร เช่น สมรรถนะหลักของ SONY จะเป็นการผสมผสานความสามารถทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์เข้ากับการออกแบบเชิงนวัตกรรม เพื่อให้ได้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย หรือในกรณีของ Corning ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตเครื่องแก้วและเซรามิก ซึ่งสมรรถนะหลักนี้ ได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ภาชนะสำหรับเตาอบไปจนถึงหลอดภาพโทรทัศน์ฉนวนไฟเบอร์ออฟติกหรือบริษัท Bechtel ที่มีสมรรถนะหลักคือ การบริหารโครงการขนาดใหญ่ ก็สามารถสร้างผลงานได้เป็นอย่างดีจากการสร้างสนามบินนานาชาติของเปรูหรือโรงงานและอาคารสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศจีน


     นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นสมรรถนะหลักขององค์กร ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญขององค์กร ที่แตกต่างไปจากคู่แข่ง จะต้องทำได้ดีทั้งในมุมมองขององค์กรเอง และในมุมมองของลูกค้าด้วย ในบางบริษัท อาจจะมีความเชี่ยวชาญที่มาจากกระบวนการหลัก (Core Process) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำหน้าที่ในการแปลงปัจจัยนำเข้าไปเป็นผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งกระบวนการหลักนี้ สามารถเป็นสมรรถนะหลักที่ช่วยสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ เช่น ในกรณีของ 3M ที่มีกระบวนการหลัก คือการคิดค้นประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นก็ตาม ความเชี่ยวชาญในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็อาจไม่ได้สร้างให้เป็นความได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์กับองค์กรได้ ซึ่งความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมนั้น ต้องเกิดขึ้นจากการประเมินคุณค่าของลูกค้าเท่านั้น


     แนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมรรถนะหลัก และกระบวนการหลัก คือการเทียบเคียง หรือ Benchmarking กับคู่แข่งที่มีมาตรฐานและเป็นผู้นำในตลาด โดยทำการเปรียบเทียบกับการดำเนินงานในกิจกรรมที่เหมือนกันกับองค์กรอื่น เพื่อแสวงหาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) และหาโอกาสในการปรับปรุงกระบวนการต่อไป ซึ่งองค์กรที่จะนำมาใช้ในการเปรียบเทียบ อาจเป็นองค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคู่แข่งเสมอ เช่น ในกรณีของบริษัท Xerox เมื่อพบปัญหาเกิดขึ้นในฝ่ายปฏิบัติการจัดส่งอะไหล่และส่วนประกอบของเครื่อง จึงได้ติดต่อที่จะขอส่งทีมงานเข้าไปศึกษาการทำงานของบริษัท L.L. Beam ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เป็นการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ เพื่อศึกษาถึงการบริหารจัดการคำสั่งซื้อ การบรรจุ และการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งทีมงานของ Xerox ก็ได้ทำการศึกษา และนำมาปรับปรุงกระบวนการของตนเองได้เป็นอย่างดี


     ทั้งนี้ การทำให้กลยุทธ์ขององค์กรมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง สมรรถนะหลักขององค์กรควรจะได้รับการประเมินจากมุมมองของลูกค้า โดยสมรรถนะที่โดดเด่นควรจะมีคุณลักษณะที่สำคัญที่จะต้องได้รับการทดสอบ ดังนี้

- มีเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ (Unimitability) โดยสมรรถนะหลักจะต้องยากต่อการลอกเลียนแบบ องค์กรจะต้องไม่กำหนดกลยุทธ์ระยะยาว โดยพึ่งพิงสมรรถนะที่คู่แข่งสามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย และรวดเร็ว

- ความทนทาน (Durability) โดยคุณค่าของสมรรถนะที่มีอย่างต่อเนื่อง ตราสินค้าบางราย เช่น Disney Coca-Cola ต่างก็มีคุณค่าที่ยั่งยืน เทคโนโลยีบางอย่างอาจจะมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ได้ไม่นานก็ล้าสมัยแล้ว และก็จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทดแทน 

- ความเป็นเจ้าของ (Appropriability) โดยจะต้องชัดเจนถึงผู้ที่ได้รับคุณค่าจากสมรรถนะหลัก ในบางกรณี ผู้ที่ได้รับผลกำไรส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่พ่อค้าคนกลาง ไม่ได้เกิดกับบริษัทที่เป็นเจ้าของความคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นๆ 

- ความยั่งยืน (Sustainability) โดยพิจารณาว่าทรัพยากรพิเศษของบริษัท สามารถถูกทดแทนด้วยสิ่งอื่นได้หรือไม่ 

- ความเหนือกว่าด้านการแข่งขัน โดยสมรรถนะหลักหรือทรัพยากรที่พิเศษขององค์กร จะต้องมีความเหนือกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน


     จากตัวอย่างในหนังสือนี้ ได้กล่าวถึงการประเมินจุดแข็งในสมรรถนะหลักขององค์กรอย่างเป็นระบบของบริษัท Gizmo Products, Inc. ซึ่งเป็นบริษัททางด้านการออกแบบและผลิตอุปกรณ์เครื่องครัว โดยมีการเปรียบเทียบสมรรถนะหลักของตนเองในประเด็นต่าง ๆ กับบริษัท A และบริษัท B ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของ Gizmo

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบสมรรถนะหลักและทรัพยากรที่มีอยู่ (5 มากที่สุด และ1 น้อยที่สุด) 

ตารางที่ 2 การประเมินสมรรถนะจากการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต
ลูกศรแสดงแนวโน้มที่สัมพันธ์กับจุดแข็งหรือจุดอ่อน

     โดยการประเมินจะทำการเปรียบเทียบสมรรถนะหลักขององค์กรในมุมมองต่าง ๆ ที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม วิธีการประเมินแบบนี้ ยังมีจุดด้อยอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นการพิจารณาเฉพาะช่วงเวลานั้น ๆ และเมื่อสมรรถนะขององค์กรเปลี่ยนไป ตำแหน่งในอนาคตขององค์กรก็อาจจะเปลี่ยนไปด้วย จากตารางที่ 2 แสดงให้เห็นว่า Gizmo มีสมรรถนะหลักอยู่ที่ความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการผลิตที่ดีกว่าบริษัท B จากการประเมินและจัดลำดับ แต่ในอนาคต Gizmo อาจจะเสียความได้เปรียบจากสมรรถนะหลักนี้ได้ จากทิศทางของลูกศร ถ้าบริษัท B มีการปรับปรุงอย่างรวดเร็วในสมรรถนะนี้ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากลูกศรจะสรุปได้ว่า Gizmo มีความถดถอยลงในสมรรถนะนี้ ในขณะที่บริษัท A ยังคงมีสมรรถนะเท่าเดิม และบริษัท B มีแนวโน้มที่จะปรับปรุงสมรรถนะด้านนี้ จนมีความได้เปรียบในการแข่งขันในอนาคตอันใกล้ 

 
     ทั้งนี้ การจัดอันดับตามที่ปรากฏในตาราง จะช่วยให้ผู้บริหารในการค้นหาจุดแข็งและจุดอ่อนที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็อาจจะใช้วิธีการระดมความคิดจากบุคลากรขององค์กรก็เป็นได้ แต่ก็ต้องระวังการใช้วิธีนี้ เพราะพนักงานอาจจะขาดมุมมองด้านเนื้อหาและขาดความรู้ความเข้าใจในวิธีการจัดอันดับ ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการจัดเตรียมข้อมูล หรือความคิดเห็นจากฝ่ายขาย หรือจากลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง และจากที่ปรึกษาที่เข้าใจในอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี รวมถึงจากการวิจัยตลาดเพื่อสำรวจข้อมูลของลูกค้าและผู้จัดจำหน่าย จากการตรวจสอบและกลั่นกรองคุณภาพของข้อมูล ที่ได้จากการสำรวจและประมวลผลโดยบริษัทจากภายนอก ซึ่งสิ่งที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ นำมาทำการประเมินสมรรถนะที่แท้จริงทั้งที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่สำคัญต่อไป 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด