เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 15:52:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3852 views

เครื่องมือคุณภาพ 9 ชนิด (ตอนที่ 2)

ในตอนที่แล้ว [1] ผมได้กล่าวถึงเครื่องมือสำคัญ 2 ตัวที่มักใช้กันในการทำกิจกรรมกลุ่มคุณภาพ

เครื่องมือคุณภาพ 9 ชนิด (ตอนที่ 2)
เครื่องมือที่ 9 ตารางวางแผนและควบคุม

ดร.อัศม์เดช วานิชชินชัย (assadej_v@yahoo.com)
ผ.อ.หลักสูตร Ph.D. and MS. in
Logistics and Supply Chain Management ม.ศรีปทุม
ที่ปรึกษาตัวอย่างแห่งปี 2553 กระทรวงอุตสาหกรรม

ในตอนที่แล้ว [1] ผมได้กล่าวถึงเครื่องมือสำคัญ 2 ตัวที่มักใช้กันในการทำกิจกรรมกลุ่มคุณภาพ (Quality Control Circle: QCC) แต่กลับถูกโลกลืมไม่ได้ถูกรวมอยู่ในกลุ่มเครื่องมือคุณภาพ 7 ชนิด (7 QC Tools) หรือไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างเป็นทางการ ได้แก่

1. ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ (Decision Table)
2. ตารางวางแผนและควบคุม (Planning and Control Table)

ทำให้เครื่องมือที่สำคัญทั้ง 2 นี้ยังถูกใช้อยู่ในวงจำกัดและดูด้อยประสิทธิภาพกว่าที่ควรจะเป็น ผมได้อธิบายถึงจุดเด่นของตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจที่สามารถแก้ข้อจำกัดของผังพาเรโต้ในการคัดเลือกปัญหาสำคัญที่ควรนำมาปรับปรุงแก้ไขตามแนวทางของกิจกรรมกลุ่ม QCC พร้อมทั้งยกตัวอย่างวิธีการสร้างตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจและใช้งานไปแล้ว ในตอนนี้จึงจะชี้ให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจในบริบทอื่น ๆ พร้อมทั้งกล่าวถึงความสำคัญ วิธีการสร้างและใช้งานเครื่องมือคุณภาพชนิดที่ 9 ได้แก่ตารางวางแผนและควบคุม

ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจในบริบทอื่น
จากแนวคิดและหลักการของตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วจะเห็นได้ว่าเราสามารถประยุกต์ตารางดังกล่าวเพื่อช่วยในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อีกมาก เช่น เลือกงานใหม่ เลือกสถาบันการศึกษาที่จะเรียน เลือกยี่ห้อหรือรุ่นรถที่จะซื้อ เลือกซื้อบ้าน เลือกสถานที่ที่จะไปเที่ยว เลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง เลือกนางงามหรือผู้ชนะในการประกวดต่าง ๆ ฯลฯ โดยเพียงแค่เปลี่ยนเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เราสนใจในการนำมาใช้คัดเลือก และให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละเกณฑ์เท่านั้น ตัวอย่างเช่นในตารางที่ 1 และ 2 เราควรเลือกรถยี่ห้อ B และไปทำงานกับบริษัทใหม่

แม้กระทั่งใบประเมินผลการฝึกอบรมของวิทยากร หรือใบประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของพนักงานที่เราคุ้นเคยกันก็ใช้แนวคิดเดียวกับตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจเหมือนกันเพียงแต่ใบเหล่านั้นอาจไม่มีการให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา ซึ่งหากจะปรับปรุงแบบฟอร์มทั้ง 2 ให้มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจมากขึ้นก็อาจเพิ่มน้ำหนักของแต่ละเกณฑ์เข้าไปได้เพราะในความเป็นจริงแล้วเกณฑ์ที่เราใช้ในการตัดสินใจมักมีความสำคัญมากน้อยไม่เท่ากัน
      

ตารางที่ 1 ตัวอย่างตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์

ตารางที่ 2 ตัวอย่างตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจเลือกที่ทำงานใหม่กับปัจจุบัน

เครื่องมือคุณภาพชนิดที่ 9: ตารางวางแผนและควบคุม
 วงจรการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อวงจร PDCA หรือวงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) นั้นประกอบด้วยขั้นตอนพื้นฐาน 4 ขั้นซึ่งจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนหรือครบวงจร ได้แก่
     1) การวางแผน (Plan)
     2) การปฏิบัติ (Do)
     3) การตรวจสอบ (Check)  
     4) การแก้ไข (Act)


แม้แนวคิดการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนดังกล่าวจะดูเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับทำยาก คนจำนวนมากยังคงทำงานอย่างมวยวัด ทำงานไม่เป็นระบบ ทำขั้นตอนต่าง ๆ แบบขาด ๆ เกิน ๆ หลายครั้งเรามักพบว่าในการทำกิจกรรมกลุ่ม QCC ที่ล้มเหลวหลังจากคณะทำงานใช้ผังก้างปลาหาสาเหตุต่าง ๆ ของปัญหาคุณภาพนั้น ๆ แล้ว คณะทำงานมักไม่คิด (วางแผน) ก่อนลงมือทำการแก้ไขปรับปรุง หรือคิด (วางแผน) แล้วกลับไม่ลงมือทำการแก้ไข เพราะไม่ได้เขียนแผนการแก้ไขเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน

หรือเพราะไม่ได้มอบหมายใช้ชัดเจนว่าใครต้องเป็นผู้ทำจึงเกิดการเกี่ยงงานไม่มีคนลงมือทำ หรือแม้จะมีการมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนแล้วกลับไม่มีกำหนดเสร็จ และไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้รับผิดชอบได้ทำตามเสร็จตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ มาตรการแก้ไขต่าง ๆ จึงไม่ถูกปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ ฯลฯ ในการทำกิจกรรมกลุ่ม QCC ที่มีประสิทธิภาพจึงมักใช้ตารางวางแผนและควบคุมเข้ามาเป็นตัวช่วยในการวางแผนและควบคุมการทำกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามแสดงในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 ตัวอย่างตารางวางแผนและควบคุม

 

 

     องค์ประกอบหลัก ๆ ของตารางวางแผนและควบคุมประกอบไปด้วย 3 คอลัมน์ ได้แก่
1) กิจกรรมหรือมาตรการว่าจะทำอะไร (What)
2) ใครเป็นคนทำ (Who) โดยควรกำหนดชื่อผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน (เช่น ชื่อหัวหน้าคณะทำงาน) ไม่ควรเขียนระบุแบบหยาบ ๆ แบบเหมารวม เช่น คณะทำงาน เพราะมักจะทำให้คณะทำงานซึ่งมีหลายคนเกี่ยงกันทำ
3) กำหนดจะทำเมื่อไร (When) ควรใส่ทั้งวันเริ่มและวันเสร็จ โดยควรระบุวันที่แน่นอน เช่น ทุกวันจันทร์ ดีกว่าใช้คำว่าทุกสัปดาห์

บางครั้งจึงอาจเรียกตารางนี้ให้น่าสนว่า WWW ซึ่งไม่ใช่ World Wide Web หากแต่เป็น What-Who-When (อะไร-ใคร-เมื่อไร) ทั้งนี้อาจเพิ่มคอลัมน์อื่น ๆ ที่เราสนใจเข้าไปได้อีก เช่น งบประมาณ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ ฯลฯ หากมองจริง ๆ แล้วตาราง WWW นี้ก็คล้ายกับแกรนต์ชาร์ต (Gantt Chart) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการวางแผนและควบคุมการทำงานที่เราคุ้นเคยกัน เพียงแต่ WWW ไม่ได้แสดง Bar Chart ให้เห็นเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างชัดเจนเหมือนกับ Gantt Chart

ดังนั้นเราจึงอาจใช้และเรียก Gantt Chart (โดยเพิ่มคอลัมน์ผู้รับผิดชอบเข้าไปใน Gantt Chart) แทน WWW เหมือนกับที่เราให้เกียรติเรียกวงจร PDCA ว่าวงจรเดมมิ่ง และเรียกผังก้างปลา (Fishbone Diagram) หรือผังแสดงเหตุและผล (Cause and Effect Diagram) ว่าผังอิชิกาวา (Ishikawa Diagram) ได้เช่นกัน

 ตารางวางแผนและควบคุมไปประยุกต์ใช้ในบริบทอื่น ๆ ก็คล้ายกับการประยุกต์ใช้ Gantt Chart ในการวางแผนและควบคุมการทำงานทั่วไป เช่น สามารถนำมาใช้ในการวางแผนและควบคุมการผลิต การทำงานโครงการต่าง ๆ การเรียน ฯลฯ หัวใจแห่งความสำเร็จของการนำตารางวางแผนและควบคุมไปใช้งานก็คือจะต้องไม่ใช้ตารางนี้เพียงแค่วางแผนการทำงานเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ในการควบคุมการทำงานว่าผู้ที่รับผิดชอบได้ปฏิบัติตามแผนนั้น ๆ จนแล้วเสร็จตามแผนที่ได้วางไว้ด้วยหรือไม่

ข้อคิดท้ายเรื่อง
“คนดีถ้าไม่ประชาสัมพันธ์ก็ไม่เป็นที่รู้จัก คนดีน้อยหน่อยแต่ประชาสัมพันธ์บ่อย ๆ ก็โด่งดังกว่าคนดีได้” เหมือนสารพัดหมอดูที่มักอวดอ้างว่ามีตาเอ็กซ์เรย์ ตาทิพย์ จิตสัมพันธ์ สแกนกรรม แก้กรรม ยันต์ 500 แถว ฯลฯ ผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรทัศน์ด้วยตรรกะพื้น ๆ ว่ามีคนดูสัก 10 ล้านคนแล้วมีคนหลงมาเชื่อเพียงแค่ 0.1% หรือแค่ 10,000 คน มายกย่องให้ตนเป็นอาจารย์แล้วเอาเงินมาให้อาจารย์ใช้สักคนละสัก 2,000 บาทต่อปี อาจารย์ก็จะมีรายได้ถึง 20 ล้านบาทต่อปีแบบสบาย ๆ แล้ว

เครื่องมือเพิ่มผลิตภาพดี ๆ ก็ต้องการการรณรงค์ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้ เป็นที่รู้จักและสนใจของคนทั่วไปด้วยเช่นกัน ในบทความชุดนี้ผมจึงนำเสนอบทบาทของตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ และตารางวางแผนและควบคุมซึ่งเป็นเครื่องมือที่มักใช้การทำกิจกรรมกลุ่ม QCC เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงความสำคัญและช่วยนำเครื่องมือทั้ง 2 นี้ไปเผยแพร่และประยุกต์ใช้กันในวงที่กว้างขวางขึ้นไม่จำกัดอยู่แต่เพียงในการทำกิจกรรมกลุ่ม QCC เท่านั้น

ตามที่ผมได้กล่าวในบทความ “ความสูญเปล่าที่ไม่ได้มีแค่เจ็ด กับ เลขเด็ดเครื่องมือเพิ่มผลผลิต” [2] เครื่องมือปรับปรุงคุณภาพก็ไม่ได้มีแค่ 7 หรือ 9 ชนิด เช่นกัน อะไรก็ตามที่เรานำสามารถนำมาประยุกต์ใช้ช่วยในการปรับปรุงคุณภาพได้ถือเป็นเครื่องมือคุณภาพทั้งหมด ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่ว่าจะเป็นแมวสีขาว หรือแมวสีดำ ขอให้จับหนูได้เป็นอันว่าใช้ได้” (เติ้ง เสี่ยวผิง) ดังนั้นนักเพิ่มผลิตภาพที่ดีควรหมั่นเสาะแสวงหาเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาช่วยทุ่นแรงในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และปรับปรุงผลิตภาพพร้อมทั้งช่วยกันเผยแพร่รณรงค์ส่งเสริมให้เครื่องมือเหล่านั้นเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในวงการนักเพิ่มผลิตภาพและบุคคลทั่วไปด้วย

เอกสารอ้างอิง
     [1] อัศม์เดช วานิชชินชัย (2554). 9 QC Tools (ตอนที่ 1): เครื่องมือที่ 8 ตารางเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ. Industrial Technology Review. 17(227). 106-108 
     [2] อัศม์เดช วานิชชินชัย (2554). ความสูญเปล่าที่ไม่ได้มีแค่เจ็ด กับ เลขเด็ดเครื่องมือเพิ่มผลผลิต. QM For Quality Management. 18(165). 31-35

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด