เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 14:51:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3558 views

ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง มุ่งมั่นสู่การรีไซเคิลแบบไม่มีการฝังกลบ (Zero Landfill)

ด้วยแนวคิดการดำเนินงานบนสมมติฐานที่ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วไม่ใช่ของเสีย แต่เป็นทรัพยากรอันล้ำค่า รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปี

ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง มุ่งมั่นสู่การรีไซเคิลแบบไม่มีการฝังกลบ (Zero Landfill)
กองบรรณาธิการ
     
     ด้วยแนวคิดการดำเนินงานบนสมมติฐานที่ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วไม่ใช่ของเสีย แต่เป็นทรัพยากรอันล้ำค่า รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทำให้ปัจจุบัน ฟูจิ ซีร็อกซ์ ได้กลายเป็นบริษัทแรกที่บรรลุเป้าหมายการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วโดยไม่มีการฝังกลบ (Zero Landfill) 


     ในส่วน บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (FXEM) นั้น เราได้รับการต้อนรับจาก มร.โนโบรุ อะคิยามะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายวางแผนธุรกิจและการเงิน ซึ่งได้ให้เกียรติแนะนำเบื้องต้นถึงโรงงานแห่งนี้ว่า เป็นโรงงานที่ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปี พ.ศ.2547  โดยหน้าหลักคือการรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วของฟูจิ ซีร็อกซ์ อย่างเช่น เครื่องถ่ายเอกสาร, เครื่องพิมพ์และตลับหมึกจากทั้งหมด 9 ประเทศ (ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เกาหลี, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ฮ่องกง และประเทศไทย) ในเขตพื้นที่เอเชียแปซิฟิกทั้งหมดแล้วนำมาแยกชิ้นส่วนออกเพื่อจัดแยกประเภทออกเป็นทั้งหมด 88 ประเภทมีทั้ง เหล็ก, อะลูมิเนียม, เลนส์, แก้ว และทองแดงเพื่อที่จะนำมาแปรรูปให้หมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่

โดยฟูจิ ซีร็อกซ์ จะใช้แนวนโยบายที่สำคัญในการดำเนินงานด้วยนโยบาย 3R คือ Reduce (การลดปริมาณ), Reuse (การนำกลับมาใช้ซ้ำ) และ Recycle (การแปรรูปเพื่อหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้ใหม่) โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด รวมทั้งการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ


    จากนโยบายการรีไซเคิลสินค้าของทุกบริษัทให้มีการฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Landfill) ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วไม่ใช่ของเสียแต่เป็นทรัพยากรอันล้ำค่า” นั้น ฟูจิ ซีร็อกซ์ ใช้ระบบหลัก 3 ประการ คือ ระบบหมุนเวียนแบบปิด(Closed-loop System) กล่าวคือมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเกิดขึ้นที่ใดหมายถึงที่นั่นย่อมมีทรัพยากร ซึ่งเป็นหลักการรองรับของ การผลิตแบบย้อนกลับ (Inverse Manufacturing) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดภายใต้พันธะสัญญาในการนำชิ้นส่วนกลับมาใช้ใหม่ และหลักการ การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emissions) กล่าวคือชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ซึ่งไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่จะต้องถูกแยกส่วนและรวบรวมนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของวัตถุดิบ

การผลิตแบบใหม่โดยใช้ระบบหมุนเวียนทรัพยากร

     สำหรับวงจรของผลิตภัณฑ์ของฟูจิ ซีร็อกซ์นั้น เมื่อมีการผลิตและจำหน่ายสู่ท้องตลาดแล้ว จะเข้าสู่ระบบปิด (Closed Loop System) โดยบริษัทผู้ผลิตซึ่งเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเทศจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วจากลูกค้าทั้งหมด หลังจากนั้นก็จะทำการจัดส่งไปยังศูนย์รีไซเคิล ก็คือ บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เพื่อเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ซ้ำในวัตถุประสงค์เดิม (Reuse) คือการนำกลับมาผลิตอีกครั้งโดยใช้ชิ้นส่วน Reuse และส่งกลับไปจำหน่ายในท้องตลาดอีกครั้ง หากชิ้นส่วนใดไม่สามารถนำกลับกลับมาใช้ซ้ำในวัตถุประสงค์เดิมได้ ก็จะถูกแยกออกจากกระบวนการ

เพื่อไปส่งกระบวนการ นำกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านกระบวนการปรับปรุงหรือแปรรูป (Material Reuse)  เพื่อทำการถอดแยกตามประเภทของวัสดุ รวมถึงแยกวัตถุอันตรายออก หลังจากนั้นวัสดุเหล่านี้จะถูกส่งไปเพื่อใช้เป็นวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่ (Material Recycling) และหากวัสดุประเภทใดที่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่ จะถูกส่งไปเพื่อเป็น วัสดุให้ความร้อน (Thermal Recycling) โดยขั้นตอนการขนย้ายทั้งในกระบวนการ นำวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่และนำวัสดุเพื่อให้ความร้อน จะถูกบันทึกและควบคุมด้วยใบกำกับการขนส่งทุกรายการ (Manifest) ซึ่งท้ายที่สุด วัสดุที่ได้จากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว จะไม่มีส่วนใดถูกนำไปฝังกลบ (Landfill) ไม่ก่อให้เกิดมลพิษสู่สภาพแวดล้อม (No Pollution) และไม่มีการกำจัดอย่างผิดกฎหมายหรือลักลอบทิ้ง (No Illegal Disposal) 

  รูปที่ 1 แสดงกระบวนการผลิตแบบหมุนเวียนทรัพยากร       
    

                             รูปที่ 2 แสดงระบบหมุนเวียนแบบปิดของผลิตภัณฑ์ฟูจิ ซีร็อกซ์


     
     ส่วนขั้นตอนในการดำเนินงานนั้น FXEM ดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาบาเซลในเรื่องของการลักลอบขนย้ายของเสียอันตรายไปทิ้งโดยใช้วิธีการควบคุมน้ำหนักเป็นหลักตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เข้ามาสู่บริษัท โดยมีการติดตามและรายงานผลของน้ำหนักทุกกระบวนการตั้งแต่กระบวนการนำเข้า กระบวนการถอดคัดแยก รวมถึงกระบวนการจัดส่งวัสดุที่ได้จากกระบวนการถอดคัดแยกไปให้กับพาร์ทเนอร์ โดยใช้ใบกับกำกับการขนส่งเพื่อควบคุมน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ในกระบวนการส่งมอบทุกครั้ง นอกจากนี้ FXEM ยังคำนึงถึงความปลอดภัยด้านข้อมูลของลูกค้าที่บรรจุอยู่ในหน่วยความจำถาวร (ฮาร์ดดิสก์) หรือหน่วยความจำชั่วคราว (แรม) ของเครื่องถ่ายเอกสาร

เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลของลูกค้าจะไม่รั่วไหลออกไป ซึ่งระบบมาตรฐานในการจัดการความเสี่ยงดังกล่าว จะทำโดยตรวจสอบว่ามีฮาร์ดดิสก์หรือแรมอยู่เครื่องถ่ายเอกสารหรือไม่ หากถ้ามีการตรวจพบฮาร์ดดิสก์พนักงานจะมีการบันทึกซีเรียลนัมเบอร์แล้วใช้ค้อนทุบให้เสียหาย จากนั้นก็ส่งไปยังกระบวนการเจาะด้วยสว่านจนทะลุ ในส่วนของแรม พนักงานก็จะทำลายจนเสียหายด้วยการหักเป็นชิ้นและบรรจุภายในภาชนะที่จัดเตรียมไว้เพื่อรอส่งให้กับ Recycling Partner ต่อไป


     ปัจจุบัน FXEM มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 13 ตันต่อวัน โดยเฉพาะเครื่องถ่ายเอกสารมีปริมาณการนำเข้าประมาณ 5 พันต่อปี และในส่วนนี้จะได้เป็นเครื่องถ่ายเอกสารในประเทศไทยเองประมาณ 10-20% ในส่วนของเครื่องถ่ายเอกสารนี้ FXEM จะมีเพียงธุรกิจเดียวคือ การ Re-material คือเมื่อรับมาแล้วก็มีการคัดแยก แบ่งเป็นประเภทของชิ้นส่วน เช่น พลาสติก เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม ยาง

 เพื่อรอจำหน่ายให้กับพาร์ทเนอร์ ส่วนธุรกิจของตลับหมึกนั้นจะแบ่งเป็นสองธุรกิจคือนอกจากธุรกิจการ Re-material แล้ว ยังเพิ่มการ Re-manufacturing เข้ามาด้วยคือเมื่อถอดคัดแยกแล้ว ชิ้นส่วนไหนที่สามารถใช้ได้ก็จะมีการนำมาตรวจสอบการันตีคุณภาพแล้วนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อประกอบเป็นสินค้าใหม่อีกครั้ง โดยในปีที่ผ่านมา FXEM สามารถรีไซเคิลทรัพยากรไปแล้วมากกว่า 20,000 ตัน โดยมีความพยายามในการถอดแยกเครื่องถ่ายเอกสาร ชิ้นส่วนอุปกรณ์และตลับหมึกที่ใช้แล้ว รวมถึงบรรจุภัณฑ์ โดยแบ่งตามประเภทวัสดุให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อให้มีอัตราการนำกลับไปใช้ใหม่ที่สูงขึ้นและเพิ่มความพึงพอใจให้กับคู่ค้าพาร์ทเนอร์อีกทาง

     
     จากการที่ FXEM ได้ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมถึงความตระหนักต่อกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งมีรัฐบาลเป็นแกนนำ จึงเป็นผลทำให้บริษัทได้รับใบรับรอง DIW-CSR จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Thai Department of Industrial Works = DIW) ในด้านองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงรางวัลเหรียญทอง ในด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้บริษัทยังดำเนินงานภายใต้มาตรฐานที่สำคัญ อาทิเช่น ISO14000, OHSAS18000, ISO9001 ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและเติบโตไปพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างชัดเจน


     ปัจจุบัน ฟูจิ ซีร็อกซ์ เป็นบริษัทแรกในวงการอุตสาหกรรมที่ได้นำผลิตภัณฑ์ซึ่งมีส่วนประกอบของวัสดุรีไซเคิลเข้าไปยังตลาดของประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2538 และได้ผสมผสานระบบรีไซเคิลนี้จนสามารถนำมาใช้ดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนกระทั่งในเดือนสิงหาคมปี พ.ศ.2543 ฟูจิ ซีร็อกซ์ได้กลายเป็นบริษัทแรกในประเทศญี่ปุ่นที่บรรลุเป้าหมายการกำจัดขยะจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วโดยไม่มีการฝังกลบ

ด้วยความตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรระดับโลกที่จะช่วยลดภาวะความตึงเครียดของสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่จำหน่ายและการให้บริการในเขตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศจีน ฟูจิ ซีร็อกซ์จึงได้นำระบบรีไซเคิลที่ทรงคุณภาพทัดเทียมกับประเทศญี่ปุ่นเข้ามาใช้ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคมปี พ.ศ.2547 ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นโรงงานแห่งเดียวในไทยที่สามารถรีไซเคิลชิ้นส่วนทั้งหมดได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
     
    

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด