เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 14:23:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5264 views

นโยบายพัฒนาสู่ผลิตภาพแบบยั่งยืน (ตอนจบ)

หรับประเทศจีนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อนแรงในศตวรรษใหม่นี้ โดยเฉพาะความสามารถด้านการผลิตจนได้ฉายาว่าโรงงานของโลกก็ตาม

นโยบายพัฒนาสู่ผลิตภาพแบบยั่งยืน (ตอนจบ)
โกศล ดีศีลธรรม
Koishi2001@yahoo.com


     
   สำหรับประเทศจีนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อนแรงในศตวรรษใหม่นี้ โดยเฉพาะความสามารถด้านการผลิตจนได้ฉายาว่าโรงงานของโลกก็ตาม แต่การเติบโตที่ร้อนแรงของจีนได้สร้างปัญหามลภาวะมาก สภาพแวดล้อมชุมชนที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมจีนยังเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

   ดังที่ได้มีการเผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ มากมาย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตในประเทศจีนมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อผู้บริโภค กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้รัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นมากขึ้น สำนักงานข้อมูลด้านพลังงานแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่าจีนแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 32.5 เปอร์เซ็นต์

   ระหว่างปี พ.ศ.2549-2552 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก (7,219 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) สูงกว่าสหรัฐอเมริกา (6,963 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ทำให้เกิดแรงกดดันจากประชาคมโลกและกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาให้จีนร่วมรับผิดชอบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาได้มีมติเอกฉันท์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ว่า มิให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศด้านโลกร้อนใด ๆ หากข้อตกลงนั้นไม่มีข้อบังคับการลดก๊าซสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่าง จีนและอินเดีย ดังนั้นจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแปรสำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการเจรจาแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อน

   ทางผู้นำจีนก็ยอมรับว่าจีนเป็นชาติที่แพร่ก๊าซความร้อนมากที่สุดและก๊าซความร้อนที่แพร่ออกสู่สิ่งแวดล้อมจีน ส่วนใหญ่เกิดจากถ่านหิน โดยร้อยละ 70 แหล่งพลังงานที่จีนใช้นำมาจากถ่านหินและความต้องการใช้น้ำมันของจีนมากขึ้น ทางรัฐบาลจีนพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการออกมาตรการตัดลดการบริโภคพลังงานต่อหน่วยจีดีพี 40-45 เปอร์เซ็นต์ ในปี พ.ศ.2563

เทียบกับเมื่อปี พ.ศ.2548 โดยปฏิเสธที่จะจำกัดเพดานการแพร่กระจายความร้อน แต่ปัญหาใหญ่อีกประการที่ก่อความล้มเหลวในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม นั่นคือ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในมณฑลเขตการปกครองต่าง ๆ มักละเมิดมาตรการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลกลางประกาศออกมาเป็นกฎหมายและนโยบาย การละเมิดของเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบที่ส่งเสริมการขยายตัวเศรษฐกิจมากกว่าความยั่งยืน อย่างไรก็ตามพรรคคอมมิวนิสต์จีนแสดงความเชื่อมั่นว่าสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

   นายกเหวินเจียเป่ากล่าวว่าจะใช้มาตรการเหล็กเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ หลังจากนั้นไม่นาน โรงงานหลอมเหล็ก โรงงานผลิตซีเมนต์ และโรงงานต่าง ๆ ที่เผาผลาญพลังงานกว่า 2,000 แห่งถูกปิดกิจการไป โดยมีการยกระดับความรับผิดชอบด้านโลกร้อนจากระดับกระทรวงสู่"คณะกรรมาธิการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) สะท้อนถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของปัญหาโลกร้อนและแสดงให้เห็นว่าจีนไม่ได้มองปัญหาดังกล่าวในประเด็นวิทยาศาสตร์อย่างเดียวอีกต่อไป แต่เกี่ยวโยงกับนัยทางเศรษฐกิจและการเมือง

   ในเดือนกันยายน พ.ศ.2549 ทางการจีนได้ออกรายงานบัญชีสีเขียวแห่งชาติจีน (China Green National Accounting Study Report 2004) และประกาศใช้จีดีพีสีเขียว (Green GDP) แต่เมื่อพบว่าการคิดรวมต้นทุนความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงในระดับที่ภาคการเมืองไม่ยอมรับ ในปี พ.ศ.2550 จึงได้ล้มเลิกไป แต่ในปีเดียวกันรัฐบาลจีนได้จัดทำรายงานการประเมินระดับชาติเรื่องโลกร้อนฉบับแรกของจีนออกมาเป็นรายงานที่สรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบปัญหาโลกร้อน ความเสี่ยงต่อประเทศจีน มาตรการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ

โดยมีข้อสรุปในรายงานว่าจีนจะต้องมีบทบาทเชิงรุกในการรับมือกับผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมโลก โดยมีข้อเสนอแนะให้ติดตามความเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ส่งเสริมพลังงานทางเลือกและถ่านหินที่สะอาด การเผยแพร่รายงานฉบับนี้ทำให้เกิดความห่วงใยและความตื่นตัวของประชาชนอย่างมาก

   ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 ก่อนที่ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาจะเข้าร่วมการประชุม G8 ที่เยอรมนี ซึ่งมีวาระสำคัญเรื่องโลกร้อน ทางการจีนได้เผยแพร่แผนด้านโลกร้อนฉบับใหม่และตั้งเป้าหมายภายในปี พ.ศ.2553 จะลดการใช้พลังงานต่อ 1 หน่วยจีดีพี ในอัตรา 20% จากระดับปี พ.ศ.2548 และเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ได้ 10% ของพลังงานทั้งหมดภายในปี พ.ศ.2553 (ปี พ.ศ.2548 มีสัดส่วนพลังงานทดแทน 7.2%) และเพิ่มให้เป็น 16% ภายในปี พ.ศ.2563 รวมทั้งตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 20% ของพื้นที่ประเทศภายในปี พ.ศ.2553 แต่ยืนยันปฏิเสธที่จะใช้มาตรการบังคับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก

   ในเดือนมกราคม พ.ศ.2553 หนังสือของรัฐบาลจีนที่ส่งไปยังเลขาธิการอนุสัญญา UNFCCC เพื่อสนับสนุน Copenhagen Accord ระบุว่าจะพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยจีดีพีลงในระดับ 40-50% ภายในปี พ.ศ.2563 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานที่มิใช่พลังงานฟอสซิลให้ได้ 15% ภายในปี พ.ศ.2563 รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 ล้านเฮกตอร์ มาตรการเหล่านี้มีพื้นฐานจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนโลกร้อนของจีนปี พ.ศ.2550 เป็นการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า

 แม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดแผนเรื่องโลกร้อนไว้ชัดเจน แต่ทางปฏิบัติยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแผน

   ผลการศึกษาของ Danny Marks ในปี พ.ศ.2553 พบว่ามีสาเหตุหลัก คือ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมกำหนดไว้ซับซ้อนเกินไป ทำให้ยากต่อการกำกับหรือบังคับใช้กฎหมายโครงสร้างและระบบประเมินผลงานเน้นผลการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งแวดล้อมและระบบการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่เข้มข้น แต่มีแนวโน้มที่ดีในเรื่องการเปิดโอกาสให้ทางเอ็นจีโอร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่นและสร้างความตื่นตัวภาคประชาชนต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

   ผลสำรวจความเห็นประชาชนได้จัดให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญลำดับที่สี่ของปัญหาระดับประเทศ โดย 62% ของประชาชนที่สำรวจเห็นว่าจีนควรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในแง่นโยบายและการเจรจาต่างประเทศเรื่องโลกร้อนนับได้ว่าจีนทำได้สำเร็จตามที่ต้องการ นับตั้งแต่ Copenhagen Accord ต่อเนื่องมาเป็น Cancun Agreement ผลการเจรจาเป็นไปตามแนวทางที่จีนต้องการหลายประการ

โดยเฉพาะเรื่องกำหนดเป้าหมายลดก๊าซของประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีเป้าหมายบังคับเหมือนกรณีพิธีสารเกียวโต ทำให้จีนสามารถระบุเป้าหมายลดก๊าซได้โดยอิสระไม่ให้กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสำเร็จการแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนจึงมิอาจคาดหวังที่การเจรจาระดับโลกแต่ขึ้นกับการดำเนินงานแต่ละประเทศ ทั้งระดับรัฐบาลกลางและท้องถิ่นมากกว่า

   หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2552 เผยว่าทางการจีนเริ่มลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี พ.ศ.2593 นับเป็นครั้งแรกที่จีนระบุกรอบเวลาลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนกล่าวว่าจีนจะลดการปล่อยกาซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ.2593 และไม่เพิ่มปริมาณโดยไม่มีการจำกัด ซึ่งเรียกร้องให้นานาประเทศต้องมีปริมาณการปล่อยก๊าซอย่างเท่าเทียมกัน

   อย่างไรก็ตามในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากรต่ำ ทำให้จีนไม่ต้องกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

   ในช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิก คณะรัฐมนตรีจีนมีประกาศว่าผู้ที่ซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาเก็ตหรือร้านค้าปลีกจะต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดการทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรีได้ประกาศห้ามการผลิต จำหน่ายและใช้ถุงพลาสติกที่บางกว่า 0.025 มิลลิเมตร เนื่องจากการใช้ถุงพลาสติกปริมาณมากเกินไปและไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงาน รวมถึงก่อให้เกิดปัญหามลภาวะกับธรรมชาติ โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่มีความบางกว่า 0.025 มิลลิเมตรจะฉีกขาดง่ายและถูกทิ้งเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาขยะพลาสติก

   กฎระเบียบใหม่นี้จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2551 ประกาศดังกล่าวยังได้กระตุ้นให้บริษัททั้งหลายผลิตถุงที่ทนทานและสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่พร้อมเรียกร้องให้ผู้บริโภคใช้ถุงพลาสติกอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ปัญหาการใช้ถุงพลาสติกมากเกินไปได้กลายมาเป็นปัญหาสำคัญในประเทศจีน ตามรายงานอ้างข้อมูลทางการท้องถิ่นว่ามีการใช้ถุงพลาสติกในเมืองเสิ่นเจิ้นอย่างน้อย 1,750 ล้านใบต่อปี

ทำให้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก โดยกำหนดให้ลูกค้าต้องจ่ายเพิ่มประมาณ 0.10-0.50 หยวนต่อถุง รัฐบาลจีนคาดหวังว่าการส่งเสริมให้ลดใช้ถุงพลาสติกจะแก้ปัญหามลภาวะและอนุรักษ์ทรัพยากร

   ข้อมูลสมาคมแฟรนไชส์และเชนสโตร์ของจีนระบุว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลให้อัตราการใช้ถุงพลาสติกตามซุปเปอร์มาร์เก็ตลดลง 66% นอกจากนี้กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจีน คณะกรรมการกำกับกฎระเบียบธนาคารจีนและสมาคมเหล็กกล้าจีนร่วมกันเผยประกาศนโยบายเครดิตสีเขียว (Green Credit Guidance) สำหรับอุตสาหกรรมเหล็ก นโยบายเงินกู้ดังกล่าวกำหนดให้ธนาคารต่าง ๆ ยุติการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการที่ใช้พลังงานและปล่อยมลพิษมาก

โดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการขยายตัวอย่างไร้ทิศทางของอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งมีการสร้างระบบตรวจสอบปริมาณและคุณภาพในประเด็นต่าง ๆ อาทิ

   ความเสี่ยงเชิงนโยบาย การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อม ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารองค์กรและเทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อช่วยให้ธนาคารสามารถประเมินและจัดกลุ่มบริษัทเหล็กที่มาขอกู้เงินได้ ดังนั้นบริษัทที่ไม่ผ่านการประเมินจะไม่สามารถกู้เงินทำโครงการใหม่ได้ แม้แต่บริษัทที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อไปแล้วแต่ภายหลังพบว่ามีการละเมิดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมก็จะถูกเรียกสินเชื่อดังกล่าวคืน

   กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจีนยังได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์ คณะกรรมการกำกับดูแลประกันภัยและอีกหลายหน่วยงานเพื่อผลักดันนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจชื่อว่า “หลักทรัพย์สีเขียว” กำหนดให้บริษัทที่จะทำการจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีการจดทะเบียนแล้วต้องการระดมทุนรอบสองจะต้องทำการยื่นเรื่องตรวจสอบมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

หากไม่ผ่านการตรวจประเมินก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนหรือระดมทุน โดยมีการชูนโยบายประกันสีเขียวที่ให้บริษัทประกันภัยรับดูแลเรื่องมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้บริษัททำประกันเป็นผู้ชดใช้หากเกิดเหตุการณ์ความเสียหายอันเกิดจากมลพิษ ด้านหนึ่งจะช่วยแบ่งเบาความกดดันของภาครัฐ ขณะที่อีกด้านหนึ่งจะเป็นการให้ระบบตลาดเข้ามาควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

   รวมทั้งรัฐบาลเตรียมเพิ่มค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ เนื่องจากค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียซึ่งจัดเก็บทั้งจากบริษัทหรือบุคคลทั่วไปมีจำนวนน้อยเกินกว่าจะระดมเงินมาแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำได้ ดังนั้นการเพิ่มค่าธรรมเนียมจะช่วยให้ทางการมีเงินมากพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสีย โดยมุ่งจัดเก็บจากบริษัทที่ปล่อยมลพิษและใช้พลังงานมาก การตัดสินใจประกาศนโยบายเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมระบุว่าปัญหามลพิษที่เลวร้ายลงเป็นสาเหตุให้เกิดการประท้วงในหมู่ประชาชนมากขึ้น

 

ปัญหามลภาวะของจีน

     
     
   นับตั้งแต่แผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 1 ถึง 10 รัฐบาลจีนมุ่งเน้นรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักและการผลิตเพื่อการส่งออก หากมองด้านเป้าหมายการขยายตัวเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวนับว่าจีนประสบความสำเร็จมาก เพราะช่วงเวลาดังกล่าว เศรษฐกิจจีนขยายตัวอัตราเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเลขสองหลัก แต่หากมองด้านคุณภาพก็นับว่ายังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะปัญหาการกระจายรายได้และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้จีนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าวในแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2549-2553)

   โดยเปลี่ยนจากที่มุ่งเน้นเพียงการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้และรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “Harmonious Society” เพื่อให้การขยายตัวเศรษฐกิจจีนเป็นไปอย่างสมดุลยั่งยืน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรในเมืองและชนบทอยู่ระดับสูง และปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้รับการแก้ไขเนื่องจากขาดการบังคับใช้กฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะรัฐบาลระดับท้องถิ่นที่ผ่านมาแรงจูงใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาลท้องถิ่นยังไม่ค่อยสอดคล้องกับแรงจูงใจของรัฐบาลกลาง

   ล่าสุดรัฐสภาจีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งจะนำมาใช้ในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2554-2558) โดยเนื้อหาหลักแผนพัฒนาฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้แนวคิด “Inclusive Growth” รวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องมาจากแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพด้วยการ “สร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน พัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน”

 

 
   แผนฉบับนี้ทางการจีนประกาศชัดเจนที่จะใช้เทคโนโลยีการผลิตมากขึ้น เป็นแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในจีนด้วยการให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมท้องถิ่นเพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนงบประมาณการวิจัยและพัฒนา (R&D) จากร้อยละ 1.75 ต่อจีดีพี ในปี พ.ศ.2553 เป็นร้อยละ 2.2 ในปี พ.ศ.2554

   การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงของจีนในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้การผลิตพลังงานในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค รวมทั้งการใช้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมันส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้จีนมุ่งเน้นความมั่นคงทางพลังงานและพลังงานทางเลือกทดแทน โดยให้ความสำคัญกับพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 การดำเนินนโยบายดังกล่าวถือเป็นความพยายามหนึ่งของรัฐบาลในการส่งเสริมการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษบนหลักการ Going Green โดยเฉพาะการส่งเสริม 7 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ (Seven Strategic Emerging Industries) หรือ SEIs ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใน 5 ปี ได้แก่

   อุตสาหกรรมประหยัดพลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Energy Saving and Environmental Protection) อุตสาหกรรมสารสนเทศรุ่นใหม่ (Next Generation Information Technology) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) อุตสาหกรรมการผลิตชั้นสูง (High-End Manufacturing) อาทิ การบิน รถไฟความเร็วสูง อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ (New Energy) เช่น นิวเคลียร์ แสงอาทิตย์ พลังลม ชีวมวล เป็นต้น อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ (New Materials) และอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด (Clean Energy Vehicles)

โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วน SEIs จากร้อยละ 3 ต่อจีดีพีเป็นร้อยละ 8 ภายในปี พ.ศ.2558 ส่วนอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกตามแนวคิด “World Factory” เป็นกลยุทธ์หลักในแผนพัฒนาฉบับก่อนจะมีบทบาทลดลงจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งในส่วนค่าจ้าง ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมดั้งเดิม (Traditional Industries) อาทิ เหล็ก ถ่านหิน และกระดาษ ได้ส่งเสริมการควบรวมกิจการ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

 ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใหม่


         
    ตามรายงานประเด็นสภาวะโลกของกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมเวิลด์วอทช์ยังระบุว่าจีนจะขึ้นมาเป็นผู้นำโลกด้านพลังงานหมุนเวียนภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจโลกที่มีความยั่งยืน เนื่องจากจีนถือเป็นชาติที่มีศักยภาพระดับแถวหน้าในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน ทำให้จีนเป็นทั้งผู้ผลิตสินค้าประหยัดพลังงานจำนวนมาก โดยทางการจีนทุ่มเงินลงทุนกลุ่มธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือเรียกว่าเศรษฐกิจสีเขียว

สะท้อนว่าทางการจีนพยายามกระตุ้นให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจพร้อมกับการปรับโครงสร้างพลังงานที่เน้นสร้างเศรษฐกิจสีเขียว สภาแห่งชาติจีนได้ผ่านร่างข้อกำหนดการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว ภายใต้ร่างข้อกำหนดนี้โครงการใหม่ที่ขออนุมัติต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก่อนจะพิจารณาอนุมัติ การดำเนินการดังกล่าวแสดงถึงผู้นำจีนต้องการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

 พลังงานกังหันลม

     
    สำหรับประเทศภูมิภาคยุโรปที่มีการบริโภคพลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงได้แสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม นโยบายสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2516 โดยการออก Community Framework for Environment Policy และดำเนินการจนถึงปัจจุบัน คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปยืนยันที่จะให้สหภาพยุโรปเป็นผู้นำในการต่อต้านปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก

รวมทั้งกำหนดนโยบายพลังงานควบคู่กับนโยบายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะคงไว้ซึ่งความมั่นคงอุปทานด้านพลังงาน ความยั่งยืนเชิงสิ่งแวดล้อมและความสามารถการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมการผลิตและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทางเลือก อาทิ พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจน และพลังงานชีวภาพ เป็นต้น

   แต่หลายฝ่ายกังวลว่าของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานยังเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ สหภาพยุโรปได้ให้คำมั่นสัญญาว่านับจากนี้ต่อไปจะลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยในปี พ.ศ.2533 ทำให้นโยบายด้านพลังงานจะถูกนำไปสู่แผนปฏิบัติลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ด้านการค้าก็ดำเนินการตามกลไกการซื้อขายปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะนำไปสู่ตลาดคาร์บอน ทั้งการจำกัดปริมาณการปลดปล่อย การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวข้อง อาทิ กรรมาธิการสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการที่เข้มงวด เมื่อ พ.ศ.2538 และคณะมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อ พ.ศ.2549 ที่อนุญาตให้รถยนต์ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 120 กรัมต่อกิโลเมตร

   ภายใน พ.ศ.2555  นโยบายเหล่านี้และความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นได้กระตุ้นให้ธุรกิจชั้นนำในสหภาพยุโรปมีความตื่นตัวและดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานที่มีการค้าขายกับสหภาพยุโรป สำหรับภาคธุรกิจชั้นนำในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป นโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กรถือเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ

ด้วยนโยบายที่ชัดเจนในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ทำให้ธุรกิจสีเขียวเป็นกลยุทธทางการตลาด โดยธุรกิจชั้นนำส่วนใหญ่ได้ผลักดันให้คู่ค้าและผู้ส่งมอบปัจจัยการผลิต นำแนวคิด “ธุรกิจสีเขียว” มาเป็นข้อปฏิบัติการทำธุรกิจระหว่างกัน สินค้าที่นำเข้าสหภาพยุโรปจะต้องมาจากแหล่งผลิตที่มีความยั่งยืนและถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนระเบียบเกี่ยวกับการจัดการของเสีย (Waste Management) ได้มุ่งยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ลดความเป็นพิษจากของเสีย ลดผลกระทบจากของเสียต่อสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณของเสีย

โดยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ
     (1) ทางเลือกการจัดการของเสีย อาทิ การนำกลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิล การทิ้งของเสียโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
     (2) ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการให้เงินทุนสนับสนุนการรีไซเคิลและกำจัดทิ้ง
     (3) การจัดหาแหล่งทิ้งของเสียที่เหมาะสม


     ปัจจุบันระเบียบสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจัดการของเสียมีหลายประเด็น อาทิ การจัดการของเสียอันตราย การขนส่งของเสีย การเผาไหม้ของเสีย ส่วนการรีไซเคิลยังไม่มีกรอบกฎระเบียบกำกับ แต่มีเพียงกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ คือ Thematic Strategy on Prevention and Recycling of Waste และกฎระเบียบ (Directive) เกี่ยวกับการนำกลับมาใช้ใหม่และการออกแบบเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ รถยนต์ และวัสดุบรรจุภัณฑ์

ที่สำคัญระเบียบว่าด้วยเศษเหลือทิ้งผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (WEEE) สำหรับ Thematic Strategy กำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการจัดการของเสียโดยคำนึงถึงวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์รวม (Life Cycle Analysis) สร้างตลาดรีไซเคิลให้มีมาตรฐานเดียวกันในกลุ่มประเทศอียู ส่งเสริมการรีไซเคิล แต่ประเด็นที่จะมีความสำคัญมากขึ้น คือ การทำลายเศษซากเรือ (Ship Dismantling) โดยพยายามรับประกันการทำลายเรืออย่างปลอดภัย

 

 การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

   เนื่องจากสหภาพยุโรปมีการใช้จ่ายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐประมาณร้อยละ 16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายนี้ คือ ค่าใช้จ่ายงานก่อสร้าง งานซ่อมบำรุง และค่าก่อสร้างอาคาร ในปี พ.ศ.2547 สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ ระเบียบ 2004/17/EC สำหรับการจัดจ้างบริการสาธารณูปโภคและระเบียบ 2004/18/EC ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กฎหมายทั้งสองฉบับมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสและความเป็นธรรมในงานประมูลภาครัฐ

โดยมีการกำหนดเกณฑ์ เงื่อนไขพิจารณาคัดเลือก และขั้นตอนการประมูล รวมทั้งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ผนวกข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในเงื่อนไขการประมูลได้ กฎหมายทั้งสองฉบับกำหนดเลือกผู้ที่เสนอสินค้าหรือบริการที่เหมาะสม ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสองฉบับ คือ จุดเริ่มต้นการจัดซื้อสีเขียวระดับสหภาพยุโรป ในปี พ.ศ.2551 คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กำหนดแผนปฏิบัติการ การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

   นโยบายอุตสาหกรรมยั่งยืนภายใต้แผนนี้ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป มีบทบาทเสริมระบบการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปเพื่อให้แนวทางแก่ประเทศสมาชิกในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคภาครัฐ และการใช้นโยบายจัดซื้อสีเขียวเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเป้าหมายให้การประมูลภาครัฐต้องเป็นสีเขียวและสอดคล้องกับเกณฑ์ประเมินของสหภาพยุโรป

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้ปฏิบัติตามเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากนี้การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2550 ได้มีการพิจารณากรอบแนวทางลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้เทคโนโลยีการดักเก็บคาร์บอนจากแหล่งที่มีการปลดปล่อยสูง

   อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งการจัดหาแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ทางด้านกรรมาธิการสหภาพยุโรปผู้รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมแสดงความคิดเห็นประเด็นกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปไว้ว่า กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กัน มาตรฐานสูงทางด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมสร้างนวัตกรรมใหม่และลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมไม่เป็นสิ่งที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กฎระเบียบที่เหมาะสมจะสนับสนุนความสามารถการแข่งขัน การจ้างงานและการสร้างนวัตกรรม

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต่างพยายามหาแนวทางชดเชยต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ตามผลการสำรวจขององค์กรความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization of Economic Cooperation and Development) หรือ OECD พบว่าผู้ประกอบการกว่า 4,000 ราย ต่างเห็นว่ากฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมจะนำไปสู่การลงทุนและสร้างสรรค์นวัตกรรม ขณะเดียวกันก็ควรพิจารณาด้วยว่าการลงทุนดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดความคุ้มทุนระยะยาวและต้นทุนดังกล่าวจะลดลง

   ทางคณะกรรมาธิการยุโรปมีแผนจะรวมกฎหมายคุณภาพอากาศ 5 ฉบับไว้เป็นกฎหมายเดียวและจัดทำกรอบการทำงานส่งเสริมเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแผนปฏิบัติการตั้งแต่การทำวิจัยจนถึงงานการตลาดและจัดตั้งกองทุนเพื่อปรับปรุงการวิจัยและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม แต่มุมมองประเทศนอกสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศไทยเห็นว่ามาตรการและกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปอาจกลายเป็นอุปสรรคและมาตรการกีดกันทางการค้าได้หากไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างครบถ้วน เนื่องจากสหภาพยุโรปมีศักยภาพทางเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่าภูมิภาคอื่น ด้วยเหตุนี้กลุ่มสหภาพยุโรปให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบที่เกิดจากการขนส่งและกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร

   ตั้งแต่ ช่วงก่อนการผลิต การผลิตและการขจัดเศษซากของเสียอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีบทบาทในฉันทามติเรื่องการดำเนินการหลังพิธีสารเกียวโตที่จะหมดอายุ โดยพยายามบูรณาการนโยบายสิ่งแวดล้อมเข้ากับนโยบายอื่นให้มีทิศทางเดียวกัน แต่สิ่งที่สหภาพยุโรป พยายามดำเนินการบางประการยังไม่สอดคล้องกับประชาคมโลก อาทิ การเสนอระเบียบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับการขนส่งทางอากาศหรือการตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20% หรือ 30% หากประเทศอื่นในกลุ่มพัฒนาแล้วปฏิบัติด้วยภายในปี พ.ศ.2563


     ตัวอย่างกรณีประเทศสวีเดนในฐานะผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบอย่างการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน นับตั้งแต่การออกแบบอาคาร การเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง การวางผังเมือง การจัดระบบคมนาคม การบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนการนำของเสียมารีไซเคิลให้เป็นพลังงานครบวงจร วิถีชีวิตชาวสวีเดนที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติสะท้อนสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มุ่งออกแบบเรียบง่าย แต่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลักที่มุ่งความเป็นมิตรทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

ดังตัวอย่างวอลโว่ที่ใช้ระบบเครื่องยนต์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และใช้ชิ้นส่วนที่สามารถนำมารีไซเคิลได้กว่าร้อยละ 85 ในปี พ.ศ. 2549 สวีเดนประกาศว่าจะเป็นประเทศแรกในโลกที่เลิกใช้น้ำมันให้ได้ภายในปี พ.ศ.2563 ทำให้รัฐบาลสวีเดนส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

   โดยมีข้อเสนอและผลประโยชน์ที่จูงใจให้ชาวสวีเดนลดการใช้น้ำมันและพลังงานถ่านหิน อาทิ ลดภาษีรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมให้ผู้ขับขี่รถยนต์ประเภทนี้ใช้ทางด่วนฟรี ขณะเดียวกันได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มรอบวิ่งรถไฟฟ้าและรถเมล์ในเขตเมืองถี่ขึ้น เพื่อให้คนจอดรถไว้ที่บ้าน ในปีพ.ศ.2549 กรุงสตอกโฮล์มเริ่มจัดเก็บภาษีรถติด (Stockholm Congestion Tax) จากรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้าเมือง มาตรการนี้นอกจากจะช่วยลดมลภาวะทางอากาศแล้ว

รัฐได้นำเงินภาษีที่เก็บได้ไปใช้พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ด้วยเหตุนี้ประเทศสวีเดนได้รับการจัดอันดับประเทศดีที่สุดในโลก (World’s Best Countries) ในลำดับที่ 3 ของนิตยสารนิวส์วีคและสตอกโฮล์มได้รับเลือกให้เป็นนครสีเขียว (European Green City) ประจำปี พ.ศ.2553 แสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการจัดระบบสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความร่วมมือทุกภาคส่วนที่พร้อมเดินหน้าสู่อนาคตสีเขียวอันยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง
1. Joel Makower, Strategies for the Green Economy: Opportunities and Challenges in the New World of Business, McGraw-Hill, 2009.
2. Pamela J. Gordon, Lean and Green Profit for Your Business and the Environment, Berrett-Koehler Publishers, 2001.
3. Thorne, Debbie M., O.C. Ferrell, and Linda Ferrell, Business and Society: A Strategic Approach to Social Responsibility, Houghton Mifflin Company, 2008.
4. Timothy O’Riodan, Environmental Science for Environmental Management, Prentice Hall, 2000.
5. โกศล ดีศีลธรรม, โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสำหรับการแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, 2551.
6. โกศล ดีศีลธรรม, องค์กรทำดีเพื่อสังคม, สำนักพิมพ์ MGR 360?, 2554.
7. คณะผู้แทนไทยประจำประชาคมยุโรป, “วิสัยทัศน์กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม: สิ่งแวดล้อม การค้าและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ”, 2548 http://news.thaieurope.net/content/view/672/170/
8. โครงการยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาเติบโตในศตวรรษที่ 21,สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว, มกราคม 2554.2 http://www.depthai.go.th/DEP/DOC/54/54000204.pdf
9. Tateo Arimoto, “Japan’s New Science and Innovation Policy”, Japan Information and Culture Center, Washington DC, January 2011.
http://www.ostc.thaiembdc.org/usa-seminar/Japan-New-Science-and-Innovation-Policy.pdf
10. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2551.
11. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ประจำวันที่ 26 สิงหาคม, 2552.
12. เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2552.
13. http://www.bot.or.th
14. http://www.creativethailand.org/th/creativecity/creativecity_detail.php?id=15
15. http://www.greenworld.or.th/
16. http://www.manager.co.th
17. http://www.matichon.co.th/prachachart/
18. http://www.mtec.or.th
19. http://www.nia.or.th/
20. http://www2.oie.go.th/GWoods/index.php?option=com_k2&view=item&id=153&Itemid=85
21. http://pr.trf.or.th/
22. http://www.thaieei.com
23. http://www.thaiscience.eu/2008d/index.php?option=com_content&view=article&catid=45%3Ageneral&id=69%3A2008-11-19-13-12-48&Itemid=56&lang=en
24. http://www.thaitextile.org/environment/article.php?id=83

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด