เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 11:41:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6287 views

นวัตกรรมผลิตภาพสีเขียวเพื่ออาคารยุคใหม่ (ตอนที่ 1)

ด้วยผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นและความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วส่งผลให้ประชากรทั้งหลายบนโลกที่ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบวิชาชีพแวดวงอุตสาหกรรมเท่านั้น แม้แต่วงการธุรกิจก่อสร้างเริ่มตระหนักถึงความสำคัญการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงาน

นวัตกรรมผลิตภาพสีเขียวเพื่ออาคารยุคใหม่ (ตอนที่ 1)
โกศล  ดีศีลธรรม
Koishi2001@yahoo.com
           
   ด้วยผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้นและความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วส่งผลให้ประชากรทั้งหลายบนโลกที่ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบวิชาชีพแวดวงอุตสาหกรรมเท่านั้น แม้แต่วงการธุรกิจก่อสร้างเริ่มตระหนักถึงความสำคัญการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงาน โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารสีเขียว (Green Building) มากขึ้น โดยคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การก่อสร้าง การเลือกใช้วัสดุรีไซเคิล ตลอดจนการดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการระบบให้มีการใช้พลังงานน้อยที่สุด โดยเฉพาะการบริโภคพลังงานไฟฟ้าภายในอาคารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันการออกแบบก่อสร้างตามแนวคิดความเป็นอาคารสีเขียวจะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

     
   แนวคิดอาคารสีเขียว คือ แนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของอาคารทั้งด้านพลังงาน น้ำประปา และวัสดุต่าง ๆ รวมทั้งลดผลกระทบของตัวอาคารต่อสุขภาพผู้ใช้อาคารและสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกแบบการก่อสร้าง การดำเนินการ การบำรุงรักษา ตลอดช่วงวงจรอายุตัวอาคาร แนวคิดดังกล่าวเกิดในช่วงวิกฤติพลังงานระหว่างทศวรรษ 1970 ทำให้องค์กรในสหรัฐอเมริกาเห็นว่าควรมีหน่วยงานเพื่อประเมินความเป็นสีเขียวของอาคาร สถาปนิกแห่งสหรัฐอเมริกาจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมขึ้นในปี พ.ศ.2523 ให้เป็นแหล่งความรู้และศึกษาแนวทางออกแบบอาคารที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดองค์กรด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก


   โดยอาคารสีเขียวจะใช้พลังงานน้อยกว่าอาคารทั่วไปราว 40-50 % และใช้น้ำน้อยกว่า 20-30 % แม้จะส่งผลให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น5-8 % แต่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะคืนทุนภายใน 3-5 ปี ผลการวิจัยพิสูจน์ว่าหากมีโอกาสสัมผัสแสงแดดและทัศนียภาพในสถานที่ทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 12-15 % ด้านคุณภาพอากาศ อาคารสีเขียวต้องก่อสร้างให้มีอากาศบริสุทธิ์พัดผ่านต่อเนื่อง เพื่อให้ผ่านมาตรฐานสากลของสมาคมวิศวกรรมระบบปรับอากาศและการทำความเย็นแห่งสหรัฐอเมริกา(ASHRAE)โดยอาคารสีเขียวจะหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุภายในอาคารที่ก่อให้เกิดสารอันตรายต่อร่างกาย รวมถึงพัฒนาคุณภาพอากาศและน้ำ ลดการเกิดขยะ ลดการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศและเพิ่มคุณภาพชีวิตชุมชนโดยรวม


 ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนใจกับแนวคิดอาคารสีเขียว โดยแต่ละประเทศมีการพัฒนาเกณฑ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นระบบการวัดอาคารสีเขียว อาทิ

- Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) ประเทศสหรัฐอเมริกา

- Building Research Establishment Environmental Assessment (BREEAM) ประเทศอังกฤษ

- Comprehensive Assessment System for Building Environmental Efficiency (CASBEE) ประเทศญี่ปุ่น

- NABERS (The National Australian Built Environment Rating System) ประเทศออสเตรเลีย
- Building Environment Performance (BEPAC) ประเทศแคนาดา


  แม้จะมีเกณฑ์ระบบวัดอาคารเขียวเกิดขึ้นมากมายรอบโลก แต่ LEED ที่ออกใบประกาศรับรองอาคารเขียวระดับนานาชาติ เพื่อแสดงว่าอาคารนี้ได้ถูกออกแบบและก่อสร้างสามารถประหยัดพลังงาน การใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ถือว่าเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ถูกนำหลักการพื้นฐานไปใช้เป็นเกณฑ์อาคารสีเขียวให้เหมาะกับสภาพแต่ละประเทศมากที่สุด เนื่องจาก LEED มีการจำแนกประเภทอาคารให้เหมาะกับประเภทอาคารใหม่ อาทิ

- LEED-NC (New Construction) ใช้สำหรับสร้างอาคารใหม่ เช่น อาคารที่พักอาศัย อาคารสานักงาน อาคารหน่วยราชการ โรงแรม โรงงาน เป็นต้น

- LEED for Homes สำหรับบ้าน อาคารพักอาศัย 

- LEED for School สำหรับโรงเรียน

- LEED for Retail สำหรับอาคารประเภทร้านค้า

- LEED for Healthcare สำหรับหน่วยรักษาพยาบาล

- LEED for Neighborhood Development สำหรับการพัฒนาชุมชนในเขตเดียวกันให้มีความกลมกลืนกันเพื่อให้เกิดชุมชนที่พัฒนาแบบยั่งยืน

- LEED-CS (Core and Shell) เกณฑ์ที่ใช้รับรองเปลือกอาคารและโครงสร้างอาคาร

- LEED-EB &OM (Existing Building & Operation and Maintenance) สำหรับอาคารเดิมที่เปิดใช้งานแล้ว เป็นต้น


  โดยอาคารที่ได้รับการรับรองจาก LEED ประกอบด้วยระดับต่าง ๆ เริ่มจาก การขึ้นทะเบียน (Certified), เหรียญเงิน (Silver), เหรียญทอง (Gold) และแพลตทินัม (Platinum) การตั้งเกณฑ์ให้คะแนนอาคารสิ่งก่อสร้างของ LEED มุ่งประเด็นหลัก ดังนี้

1. การเลือกที่ตั้งแบบยั่งยืนและเหมาะสม (Sustainable Sites) คือ การนำอาคารที่มีอยู่เดิมกลับมาใช้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการออกแบบที่ต้องประสานกับแผนงานควบคุมการกัดกร่อน รวมถึงการจัดการระบายน้ำฝน ลดแหล่งความร้อนและแสงที่ไม่จำเป็น การหาสถานที่จอดรถร่วม (Car Pools) โดยพิจารณาตั้งแต่ช่วงการพัฒนาและออกแบบ

2. ประสิทธิภาพการใช้น้ำ (Water Efficiency) โดยมุ่งลดการใช้น้ำและกำจัดน้ำเสีย รวมถึงการใช้น้ำฝนและน้ำประปาที่มีประสิทธิภาพ

3. พลังงานและสภาพบรรยากาศ (Energy and Atmosphere) โดยมุ่งลดมลภาวะในอาคาร ปรับปรุงอากาศภายในอาคาร และคุณภาพแสงสว่าง การใช้พรมที่ไม่มีสารฟอร์มารีน และสารยึดเกาะที่ส่งกลิ่น เพิ่มอัตราการระบายอากาศ การนำแสงสว่างตอนกลางวันมาใช้งาน มีการแลกเปลี่ยนอากาศบริสุทธิ์จากภายนอก

4. วัสดุและทรัพยากรที่ใช้ในการก่อสร้าง (Materials and Resources) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระยะยาว โดยให้คะแนนการลดของเสีย การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และทุกอาคารจะต้องมีสถานที่สำหรับจัดเก็บวัสดุที่จะนำกลับมาใช้ใหม่

5. คุณภาพและสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environment Quality) โดยมุ่งลดมลภาวะในอาคาร ปรับปรุงความสะดวกสบาย อากาศภายในอาคารและ คุณภาพแสงสว่าง การติดตั้งระบบตรวจวัดคาร์บอนไดออกไซด์ ระบบควบคุมแยกเป็นแต่ละส่วนของผู้ใช้อาคาร การเพิ่มอัตราการระบายอากาศ การนำแสงสว่างในตอนกลางวันมาใช้งาน

6. กระบวนการออกแบบและนวัตกรรม (Innovation and Design Process) โดยให้คะแนนการออกแบบที่มุ่งนวัตกรรมและใช้ทีมออกแบบมืออาชีพที่ได้รับการรับรองจาก LEED AP (LEED Accredited Professional) 
      

   ปัจจุบันอาคารหลายแห่งในประเทศไทยนำมาตรฐาน LEED มาใช้พิจารณาออกแบบและก่อสร้างอาคารเขียว ดังตัวอย่าง โรงงานผลิตพรมแผ่น อินเตอร์เฟซ ฟลอร์ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท อินเตอร์เฟซ โมเดอร์นฟอร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อินเตอร์เฟซ เอเชีย-แปซิฟิคและบริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน LEED รายแรกของไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มุ่งความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ตลอดจนถึงขั้นตอนการก่อสร้าง โดยพิจารณาตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การก่อสร้าง ประสิทธิภาพการใช้น้ำ พลังงานและบรรยากาศ การเลือกใช้วัสดุและแหล่งที่มาตลอดจนคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร


   เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างหรือสถานประกอบการตามมาตรฐาน LEED จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมแล้ว ค่าใช้จ่ายการดำเนินการต่ำกว่าสิ่งปลูกสร้างทั่วไป เนื่องจากสามารถลดปริมาณขยะที่ต้องขนถ่ายไปทิ้ง ประหยัดการใช้พลังงานและน้ำ มีบรรยากาศการทำงานที่ถูกสุขอนามัยและปลอดภัย นอกจากนี้โรงงานผลิตพรมแห่งนี้ได้คิดค้นกระบวนการผลิตโดยใช้วัตถุดิบที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยในทุกขั้นตอน เช่น การผลิตพรมจากเส้นใยรีไซเคิล การมอบเส้นใยเหลือใช้เพื่อสร้างอาชีพแก่ชุมชน การนำเศษพรมตัดไปให้โรงงานผลิตซีเมนต์ใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อขยะ เป็นต้น


   นอกจากนี้ทางภาครัฐยังร่วมมือกับองค์กรขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาอาคารสีเขียว ดังกรณีธนาคารเอชเอสบีซีได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร พัฒนา “ห้องสมุดสีเขียวแห่งแรกในประเทศไทย” โดยมุ่งตั้งเป้าให้เป็น “ห้องสมุดประชาชนสีเขียวแห่งแรกของเอเชีย” ที่ได้รับประกาศนียบัตรระดับ LEED Platinum ในฐานะอาคารที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงสุด ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนา “ห้องสมุดสีเขียว” หรือ Green Library แห่งแรกของประเทศไทยเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ รวมทั้งมีเป้าหมายให้เป็นอาคารต้นแบบกับประชาชนได้ศึกษาวิธีประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


   ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้องค์กรทุกภาคส่วนได้นำหลักการอาคารสีเขียวเพื่อใช้ออกแบบและบริหารจัดการอาคารซึ่งเป็นการขยายผลสู่สาธารณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมวงกว้าง แนวคิดห้องสมุดสีเขียวเริ่มตั้งแต่การพัฒนาตัวอาคารบนทำเลที่ตั้งในสวนสาธารณะซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยีที่หลากหลายสนับสนุน อาทิ เทคโนโลยีสีสะท้อนความร้อนบนหลังคาและตัวอาคาร เน้นการใช้แสงสว่างจากธรรมชาติ ติดตั้งกระจกกันความร้อนแบบ 2 ชั้น และติดตั้งแผงกันแดดที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ทำให้ช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าภายในและนอกอาคารเปิด-ปิดแบบอัตโนมัติ รวมถึงการก่อสร้างที่กักเก็บน้ำฝนลงมายังถังที่ฝังไว้ใต้ดินเพื่อนำกลับมาใช้

   อาทิ การใช้รดน้ำต้นไม้ การใช้ระบบสปริงเกิล ระบบฉีดน้ำให้เหมาะกับต้นไม้แต่ละประเภทและการนำน้ำกลับมาใช้ภายในอาคารบางส่วน โดยมีการเลือกใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อาทิ เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุรีไซเคิล การใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ไม่เจือปนสารเคมี รวมทั้งการออกแบบภูมิสถาปัตย์ให้ร่มรื่น

 

 


ตัวอย่างโครงการที่ได้รับการรับรองจาก LEED (ที่มา: http://leedinthailand.com)


   ทางด้านสภาอาคารสีเขียวประเทศออสเตรเลีย (Green Building Council of Australia) หรือ GBCA เป็นหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศออสเตรเลียได้กำหนดเกณฑ์ประเมินความเป็นสีเขียวของอาคารเรียกว่า Green Star เพื่อวัดความเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมของสิ่งก่อสร้าง ดังกรณีศูนย์การประชุมแห่งใหม่ในเมืองเมลเบิร์น (Melbourne Exhibition and Convention Centre) ได้รับรางวัลมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของโลก โดยได้รับมาตรฐานระดับ 6 ดาวด้านสิ่งแวดล้อมจาก Green Building Council of Australia (GBCA) ศูนย์การประชุมแห่งนี้เปิดใช้ในปี พ.ศ.2552 เป็นต้นแบบศูนย์ประชุมที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต ส่วนสำนักงานแห่งใหม่ของ VicUrban ตั้งอยู่เมืองเมลเบิร์นซึ่งเป็นการรวมตัวจากส่วนรัฐบาล Docklands Authority และบริษัท Urban and Regional Land Corporation ใช้แนวคิดออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของ Green Building Council ในการออกแบบส่วนสำนักงาน โดยคำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมและธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้ตามมาตรฐานระดับ 5 ดาว 

 

                 
       
         
ข้อมูลเกี่ยวกับ VicUrban (แหล่งข้อมูล: http://www.resourcesmart.vic.gov.au/documents/VicUrban_Melbourne_Office_Cobeii_Case_Study.pdf)
        
โดยทั่วไปการเลือกใช้เกณฑ์และรูปแบบการประเมินที่เหมาะสมควรพัฒนาที่สอดคล้องกับพื้นที่ ภูมิอากาศแต่ละท้องถิ่น แม้ว่ามาตรฐานการวัดระดับความเป็นสีเขียวจะพัฒนาจากแนวคิดต่างประเทศ แต่ประเทศไทยได้นำแนวคิดมาปรับปรุง โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาและกำหนดแบบประเมินอาคารประหยัดพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการคณะกรรมการอาคารสีเขียวของสหรัฐอเมริกา (USGBC) มาใช้เป็นเกณฑ์ประเมินอาคารขั้นต้น เรียกว่า แบบประเมินอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานภายในอาคารและที่พักอาศัย แบบประเมินแบ่งเป็น 2 ชุด คือ อาคารที่พักอาศัยกับอาคารทั่วไป โดยมีหัวข้อการประเมิน คือสถานที่ตั้งอาคาร ผังบริเวณอาคารและงานภูมิสถาปัตยกรรม เปลือกอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง พลังงานทดแทน ระบบสุขาภิบาล วัสดุและการก่อสร้าง เทคนิคและกลยุทธ์ออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


ทางด้านวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินอาคารสีเขียวซึ่งเป็นแบบประเมินอาคารประหยัดพลังงานเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


 นอกจากการออกแบบก่อสร้างอาคารควรมีความสอดคล้องตามแนวคิดอาคารสีเขียวภายใต้ข้อกำหนดที่เป็นหลักเกณฑ์แต่ละประเทศแล้ว การพัฒนาให้เป็นเมืองสีเขียวก็เป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะนอกจากทำให้เกิดการพัฒนาเมืองหรือชุมชนที่มีการรักษาสภาพแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลให้เกิดมาตรฐานการวางผังเมืองที่ยั่งยืนด้วย โดยสร้างมาตรฐานการวางผังเมืองแบบยั่งยืน (Sustainable Urban Planning) และมุ่งเติบโตบนพื้นฐานปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความหนาแน่น ปริมาณการเดินทางผ่าน การรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการออกแบบทางเท้าที่เหมาะสม การพัฒนาพื้นที่บริเวณใกล้เคียง (LEED for Neighborhood Development) หรือ LEED-ND ต้องสอดคล้องกับการก่อสร้างที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น LEED-ND ครอบคลุมมากกว่าการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต


กรณีประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปอย่างประเทศสวีเดนได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 3 จากการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Countries) ของนิตยสารนิวส์วีค โดยกรุงสตอกโฮล์มได้รับเลือกให้เป็นนครสีเขียวแห่งยุโรป (European Green City) ประจำปี 2553 แสดงถึงความมุ่งมั่นจริงจังของรัฐบาลในการจัดการระบบสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มุ่งสู่ผลิตภาพสีเขียวโดยเฉพาะการออกแบบพาวิลเลียนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน โดยมุ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของมนุษย์ เมือง และธรรมชาติ รวมถึงวัสดุทุกชิ้นที่ใช้ก่อสร้างเป็นมิตรต่อธรรมชาติและสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้


อย่างโครงสร้างอาคารเลือกใช้ไม้ Glulaum ที่ได้จากการนำแผ่นไม้แปรรูปหลายชิ้นมาประกอบและยึดติดกันด้วยกาวให้เป็นไม้แผ่นใหญ่ที่มีขนาดตามต้องการ ทำให้เกิดโครงสร้างอาคารที่แข็งแรงปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อธรรมชาติมากกว่าการใช้คอนกรีตหรือเหล็ก นอกจากนี้อาคาร 13 ชั้น อย่าง Kungsbrohuset ตั้งอยู่ใจกลางกรุงสตอกโฮล์ม ถูกออกแบบขึ้น โดยใช้ผนังอาคารสองชั้นทำหน้าที่กักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องเข้ามาเพื่อช่วยให้ความอบอุ่นภายในอาคาร ทั้งยังมีระบบควบคุมอุณหภูมิภายในที่เชื่อมต่อกับระบบพยาการณ์อากาศ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนอุณหภูมิภายในอาคารให้เหมาะกับสภาพอากาศภายนอก แต่เนื่องจากอาคารสีเขียวแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟที่มีผู้คนสัญจรกว่า 250,000 คน โดยมีแนวคิดติดตั้งเครื่องดักจับความร้อนจากร่างกายคนที่สัญจรผ่านสถานีแต่ละวันเพื่อเปลี่ยนให้เป็นพลังงานใช้ภายในอาคาร ด้วยแนวคิดดังกล่าว ทำให้ Kungsbrohuset ใช้พลังงานเพียง 50 % ของอาคารที่มีขนาดเดียวกัน

 

           

 ตัวอย่างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศสวีเดน


สำหรับองค์กรธุรกิจชั้นนำในยุโรปที่ให้ความสนับสนุนทางเทคนิคด้านอาคารสีเขียว ซึ่งเป็นโปรแกรมประหยัดพลังงานในภูมิภาคยุโรป อย่าง บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ทางคณะกรรมาธิการยุโรปได้มอบรางวัลอาคารสีเขียว โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ใช้โปรแกรมประหยัดพลังงานดังกล่าวให้คำแนะนำเรื่องประสิทธิภาพด้านพลังงานแก่ผู้ประอบการอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของอาคาร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ส่งผลให้อาคารต่าง ๆ ที่มีการใช้พลังงานเกือบร้อยละ 40 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในทวีปยุโรป สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ20 แสดงถึงแนวคิด Green Building ไม่เพียงแค่ช่วยลดต้นทุนพลังงานเท่านั้น แต่ยังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมโดยพัฒนาแนวทางประหยัดพลังงานตามอาคารทั่วสหภาพยุโรปได้


คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้เปิดตัวโครงการอาคารสีเขียวในสหภาพยุโรปขั้นแรกผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดทำแผนการดำเนินงานที่ระบุถึงการก่อสร้างที่มีลักษณะทันสมัยประเภทและขอบเขตของมาตรการที่ระบุไว้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอาคาร หลังจากผู้เข้าร่วมโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ก็จะได้การรับรองความเป็นพันธมิตรอาคารสีเขียว (Green Building Partner) จากทางคณะกรรมาธิการยุโรป ภายใต้โครงการดังกล่าว กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีด้านอาคารของซีเมนส์ร่วมกับผู้ให้การสนับสนุนทางเทคโนโลยีรายอื่นกว่า 30 ราย ได้จัดทำแผนส่งเสริมและสนับสนุนโครงการ โดยบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ทำหน้าที่ให้ข้อมูลทางเทคนิคแก่เจ้าของอาคารและช่วยแนะนำผู้เข้าร่วมโครงการนำแผนดำเนินการไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสิทธิผล ทำให้มหาวิทยาลัยศิลปะกรุงเบอร์ลิน และ บริษัท ยูนิเครดิโต (Unicredito) ผู้ให้บริการทางการเงินของประเทศอิตาลี สามารถลดการใช้พลังงานลงได้


ส่วนบริษัททีเอ็นที ผู้ประกอบการให้บริการจัดส่งไปรษณียภัณฑ์ แห่งเนเธอร์แลนด์ ได้พัฒนาอาคารคลังสินค้าให้มีปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์อย่างสมดุลเพื่อเป็นศูนย์กระจายไปรษณียภัณฑ์เมืองวีเนนดัลและพื้นที่ใกล้เคียงนับว่าเป็นอาคารแห่งแรกในกลุ่มอาคารสีเขียวของทีเอ็นทีเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกชื่อว่าPlanet Me โดยทีเอ็นทีมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์จากอาคารทุกแห่งของบริษัทคิดเป็นพื้นที่ราว 3,000,000 ตารางเมตร ใน 65 ประเทศ


อาคารคลังสินค้าแห่งนี้จะตั้งแยกส่วนกับสำนักงานส่วนอื่นที่อยู่รายรอบ โดยตัวอาคารถูกออกแบบให้สามารถรับแสงสว่างจากภายนอกมากที่สุดเพื่อช่วยลดปริมาณการใช้หลอดไฟภายในตัวอาคาร  อาคารแห่งนี้ยังสามารถผลิตพลังงานได้เองด้วยการใช้แผงพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนกว่า 300 แผง เป็นจุดรวมแสงทำให้แสงเปลี่ยนรูเป็นพลังงานเพื่อใช้ภายในอาคารคลังสินค้า รวมทั้งมีระบบการสูบน้ำจากพื้นดินเพื่อทำความร้อนและความเย็นให้กับตัวอาคาร คลังสินค้าแห่งนี้ได้รับการออกแบบจากทีมงานบริษัท โวลเคอร์เวสเซลส์ (VolkerWessels) โดยนำเสนอทางเลือกหลากหลายที่มุ่งประสิทธิภาพการดำเนินงาน


อาทิ วิธีการเก็บกักน้ำฝนเพื่อนำกลับมาใช้ทำความสะอาดหรือการชักโครกในห้องน้ำการเลือกใช้เครื่องทำกาแฟที่ใช้พลังงานน้อยและเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถรีไซเคิลได้   ส่วนทางเดินบริเวณคลังสินค้าแห่งนี้มีการปูด้วยอิฐมือสอง และเลือกใช้ถังขยะขนาดใหญ่ สำหรับแยกใส่ขยะประเภทกระดาษ และขยะที่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้  ช่วยลดความจำเป็นกำจัดขยะได้มาก การเลือกใช้เทคโนโลยีและแนวทางเลือกต่าง ๆ ภายในอาคารคลังสินค้าแห่งนี้ ทำให้ทีเอ็นทีประหยัดพลังงานได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคลังสินค้าทั่วไป

 

 

 


อาคารคลังสินค้าแบบใหม่ของทีเอ็นที


ทางภูมิภาคเอเซียซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารไทเป 101 (Taipei 101) ที่เคยครองสถิติเป็นอาคารสูงที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา โดยทำลายสถิติเดิมของเปโตรนาสทาวเวอร์ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สูง 451.9 เมตร (88 ชั้น) ด้วยความสูง 509.2 เมตร (วัดถึงระดับยอดเสา) มีจำนวนชั้นเหนือพื้นดิน 101 ชั้นและชั้นใต้ดินอีก 5 ชั้น  อาคารไทเป 101  เป็นสัญลักษณ์ของไต้หวันสมัยใหม่นับแต่เปิดตัวและได้รับรางวัลตึกระฟ้าเอ็มพอริส พ.ศ. 2547


อาคารดังกล่าวสร้างขึ้นทางสถาปัตยกรรมเป็นสัญลักษณ์แห่งวิวัฒนาการเทคโนโลยีและประเพณีเอเชีย โดยได้รับการออกแบบให้ทนพายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหว ผู้บริหารระดับสูง บริษัท ไทเป ไฟแนนเชี่ยล เซ็นเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารไทเป 101 กล่าวว่าบริษัททุ่มงบประมาณราว 60 ล้านเหรียญไต้หวัน หรือกว่า 60 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนแผนปรับปรุงระบบต่าง ๆ ภายในอาคารไทเป 101 ให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environment Design) หรือมาตรฐานสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน โดยใช้เวลา 18 เดือน ในการขอการรับรองจาก LEED


กระทั่งเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 อาคารดังกล่าวได้รับเอกสารรับรอง LEED Platinum ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในการจัดอันดับผู้นำการออกแบบพลังงานและสิ่งแวดล้อมของ LEED และกลายเป็นอาคารสีเขียวสูงที่สุดในโลก ผู้มีบทบาทที่ร่วมรับผิดชอบในการทำให้ อาคารไทเป 101 ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED ระดับเหรียญทอง(Gold) สำหรับอาคารที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว (Existing Buildings: Operations & Maintenance) หรือ LEED-EBOM ประกอบด้วย บริษัท เอสแอล พลัส เอ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย อิงค์ บริษัท ซีเมนส์ และบริษัท อีโคเทค อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมปฏิบัติภารกิจนี้

 

           

 

บริเวณที่ตั้งอาคารไทเป 101


     
โดยบริษัท เอสแอล พลัส เอ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย อิงค์ เป็นบริษัทที่ปรึกษาและออกแบบภายในรับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการ โดยรับผิดชอบดูแลด้านการเพิ่มประสิทธิภาพประหยัดพลังงานของอาคาร ส่วนบริษัท อีโคเทค อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ เป็นที่ปรึกษาหลักในการช่วยให้อาคารผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED-EBOM


ขณะที่ ซีเมนส์ ดูแลเรื่องเทคนิคขั้นสูง ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบพลังงานภายในอาคาร ทางคณะผู้บริหารอาคารไทเป 101 ไม่ได้คำนึงเพียงแค่ผลกำไรและการคืนทุนเท่านั้น แต่มีความมุ่งมั่นให้อาคารไทเป 101 เป็นสัญลักษณ์หรือแบบอย่างของอาคารประหยัดพลังงานในวงการก่อสร้างอาคารสีเขียวทั้งในไต้หวันและระดับสากล นอกจากดำเนินการปรับปรุงระบบพลังงานที่นำมาใช้ทำความร้อน ความเย็น และระบบระบายอากาศภายในอาคารแล้ว


ทางด้านภูมิทัศน์ ระบบให้แสงสว่าง รวมถึงอาหารภายในภัตตาคารก็ยังปรับปรุงแก้ไขและบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และลดปริมาณของเสียเช่นกัน หลังดำเนินการปรับปรุงระบบต่าง ๆ ภายในอาคารเสร็จสิ้นจะสามารถประหยัดพลังงานได้ราว 20 ล้านเหรียญไต้หวันหรือกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ลดปริมาณการใช้พลังงานลงจากเดิม 10% ลดปริมาณขยะที่ถูกนำไปฝังกลบ 10% รวมทั้งมีระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศที่ช่วยให้ผู้ที่ทำงานภายในอาคารกว่า 1 หมื่นคนมีสุขภาพดี

 

 


สภาพภายในอาคารไทเป 101


        
ช่วงไม่กี่ปีนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนไทยตื่นตัวต่อกระแสการประหยัดพลังงาน ทำให้อาคารหลายแห่งในประเทศไทยสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดอาคารสีเขียวเพิ่มมากขึ้น ดังกรณีตัวอย่างองค์กรที่เป็นต้นแบบที่มุ่งมั่นพัฒนาสู่อาคารสีเขียวและผ่านการรับรองมาตรฐานตามแนวคิดอาคารสีเขียวเพื่อความป์นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ อาคารสำนักงานบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย (Green Elephant Building) ในเครือซีเมนต์ไทยหรือเอสซีจี เป็นอาคารสำนักงาน 5 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 2,620 ตารางเมตร ที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งระบบกรอบอาคาร ระบบแสงสว่างระบบพลังงานทดแทน ระบบสุขาภิบาล และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม


การปรับปรุงอาคารสำนักงานให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน โดยเครือซีเมนต์ไทย หรือเอสซีจี เป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดธุรกิจสีเขียว (Green Business) ด้วยกลยุทธ์หลัก คือกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process) และการวิจัยและพัฒนาสินค้า รวมทั้งบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Products) ทางเครือซีเมนต์ไทยได้สนับสนุนส่งเสริมให้พนักงานเกิดจิตสำนึกอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้วยนโยบายการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้แนวคิดสีเขียว (GREEN) ดังนี้ 

- Green Culture People ปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานภายในองค์กร อาทิ การรณรงค์ปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ระหว่างพักเที่ยง คัดแยกขยะในสำนักงาน การใช้น้ำอย่างประหยัดและพิมพ์กระดาษสองหน้า เป็นต้น

-  Renewable Energy Usage เลือกใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน T5, การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้าอาคาร และใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ

- Efficient Use of Resources ปรับปรุงโครงสร้างผนังอาคารและหลังคาอาคาร โดยเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม ลดความร้อนจากภายนอกเข้าสู่อาคาร

- Environmental Friendly ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกใช้วัสดุอาคารที่มีตราสัญลักษณ์ Eco Value เพื่อการประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า

- Naturally Sustainable ปรับปรุงภูมิทัศน์และพื้นที่รอบอาคารสำนักงาน ให้มีต้นไม้ใหญ่โดยรอบบริเวณอาคารกว่า 40 ต้น รณรงค์ให้มีการใช้รถจักรยานแทนรถยนต์เมื่อติดต่อสำนักงานภายใน SCG เป็นต้น


   ดังนั้นเครือซีเมนต์ไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาคารให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับปรุงอาคารสำนักงานใหญ่ บางซื่อ ให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมาย ดังนี้

1. พัฒนาที่ตั้งอย่างยั่งยืน (Sustainable Site) โดยคำนึงถึงผลกระทบอาคารต่อระบบนิเวศวิทยา อาทิ เลือกใช้วัสดุที่มีค่าสะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์สูงเพื่อลดความร้อนสู่ตัวอาคาร จัดสรรพื้นที่สีเขียวสำหรับปลูกต้นไม้ ออกแบบให้มีพื้นที่กักเก็บนํ้าฝนเพื่อใช้รดต้นไม้ ป้องกันผลกระทบจากการก่อสร้างและลดปรากฏการณ์เกาะร้อน (Heat Island Effect) หรือปรากฏการณ์ที่พื้นที่บริเวณกลางเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ

2. การใช้นํ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) มุ่งลดการใช้นํ้าประปาในอาคารโดยเลือกใช้สุขภัณฑ์ฟลัชวาล์วและก๊อกนํ้าประหยัดนํ้าประสิทธิภาพสูง นำนํ้าฝนหรือนํ้าเสียจากอาคารที่บำบัดแล้วไปใช้รดต้นไม้ รวมทั้งรณรงค์ให้พนักงานช่วยกันประหยัดนํ้า และแจ้งหน่วยงานซ่อมบำรุงทันทีโดยไม่เพิกเฉยเมื่อพบจุดรั่วไหล

3. การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Energy and Atmosphere) โดยส่งเสริมให้ใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการตรวจสอบประสิทธิภาพระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนระบบทำความเย็นของอาคารโดยเลือกใช้สารทำความเย็นประเภทที่ส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าตามมาตรฐาน Energy Star และอุปกรณ์ให้แสงสว่างที่ประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทนด้วยการติดตั้งกระเบื้องหลังคาเซรามิกที่มีแผงโซลาร์เซลล์

4. เลือกใช้วัสดุที่มีส่วนผสมรีไซเคิลหรือวัสดุท้องถิ่น (Materials and Resources) เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยเริ่มตั้งแต่การคัดแยก ชนิด ประเภทของเสียเพื่อนำกลับไปรีไซเคิล พัฒนาผลิตภัณฑ์กระเบื้องเซรามิกสำหรับปูพื้น ผนัง และฝ้าเพดานที่ใช้วัตถุดิบจากของเสียหรือผลิตภัณฑ์จากการรื้อถอนหลังใช้งานแล้ว นอกจากลดปริมาณของเสียแล้วยังช่วยลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตด้วย

5. พัฒนาคุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality) โดยควบคุมมลภาวะในอาคารสำนักงานและไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ใช้อาคารด้วยการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ ควบคุมสภาวะอากาศภายในอาคาร ให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานโดยปรับอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่พอเหมาะและควบคุมปริมาณ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 


   ทาง เครือซีเมนต์ไทย ยังได้พัฒนาระบบหลังคาเพื่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่า Roof Garden หรือ สวนหลังคา เป็นนวัตกรรมด้านระบบหลังคาที่ผสมผสานธรรมชาติและเทคโนโลยีก่อสร้างสมัยใหม่ ด้วยการออกแบบจำลองหลังคาสีเขียวเหมาะกับหลังคาบนอาคารประเภทคอนโดมิเนียม ทั้งนี้นวัตกรรมสวนหลังคายังมีส่วนช่วยลดโลกร้อนและภาวะเกาะร้อน (Heat Island Effect) หรือปรากฏการณ์พื้นที่บริเวณกลางเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ เนื่องจากคุณสมบัติต้นไม้ที่คายออกซิเจนเวลากลางวัน ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ กรองมลพิษจากอากาศและป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร ทำให้ช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายจากเครื่องปรับอากาศด้วย ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ตอบสนองให้กับคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด แต่สามารถอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและมีส่วนร่วมดูแลรักษ์โลก หลังจากดำเนินการปรับปรุงอาคารหลังนี้แล้ว สามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้ากว่า 40%


   ทั้งนี้ในส่วนระบบกรอบอาคารได้ใช้ฉนวนกันความร้อน (Polystyrene Foam) และฉนวนใยแก้วหุ้มภายนอกอาคารทั้งหมด รวมทั้งเปลี่ยนกระจกเป็นแบบสองชั้นที่ป้องกันรังสียูวีและอินฟาเรด ช่วยลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกกว่า 70% ส่งผลให้ประหยัดการใช้ไฟฟ้ากว่า 25% ระบบแสงสว่างใช้หลอดประหยัดไฟ T5 ทั้งสำนักงาน พร้อมติดตั้งระบบ Timer และเซนเซอร์ (Sensor) ควบคุมแสงสว่าง สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ 15% ด้านระบบสุขาภิบาล ทางบริษัทใช้สุขภัณฑ์รุ่นประหยัดน้ำทั้งหมด ที่สำคัญทางผู้บริหารมีแนวคิดนำระบบพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลมมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงใช้ระบบมอเตอร์ดูดอากาศออกจากอาคาร สามารถประหยัดพลังงานได้ 35%


   การดำเนินการพัฒนาปรับปรุงอาคาร Green Elephant Building สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานราว 800,000 บาท/ปี ถือเป็นอาคารนำร่องในการปรับปรุงอาคารสำนักงานอื่นของเครือเอสซีจี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 อาคาร “Green Elephant Building” ได้รับเลือกเพื่อรับรองว่าเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานระดับฉลากทองจากกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานระดับดีเด่น โดยผ่านเกฑ์พิจารณาให้คะแนนทั้ง 9 หัวข้อ คือ 1) สถานที่ตั้งอาคาร 2) ผังบริเวณและงานภูมิสถาปัตย์ 3) เปลือกอาคาร 4) ระบบปรับอากาศ 5) ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง 6) พลังงานทดแทนและการจัดการพลังงาน 7) ระบบสุขาภิบาล 8) วัสดุและการก่อสร้าง และ 9) เทคนิคการออกแบบและกลยุทธ์ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ “Green Elephant Building” ผ่านการรับรองเป็นรายแรกของประเทศ

 

 

 


อาคารสำนักงานบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย (Green Elephant Building)
          

   อาคารอนุรักษ์พลังงาน ท.102 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นอาคารต้นแบบการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย ที่มีการนำโซลาเซลล์มาติดตั้งแนวตั้งของอาคาร ความสูง 20 ชั้น รวมพื้นที่ประมาณ 642 ตารางเมตร จำนวน 428 แผง (ขนาด 1 x 1.5 เมตร) เพื่อเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าและจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของอาคาร โดยนำโซลาร์เซลล์ประเภท BIPV (Building Integrated Photovoltaic) มาใช้เป็นส่วนประกอบของผนัง Curtain Wall ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 พฤษจิกายน พ.ศ.2550 โดยเน้นออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน คำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อลดการใช้พลังงานในอาคาร รวมถึงให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน โดยนำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งที่ผนังกระจกด้านหน้าของอาคาร เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตามเพื่อให้การออกแบบเกิดประโยชน์สูงสุด จึงต้องใช้การออกแบบทั้งทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมด้วยกัน โดยงานสถาปัตยกรรมเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการประหยัดพลังงานและการจัดวางตามหลักภูมิสถาปัตยกรรม การใช้ลมธรรมชาติ ฝ่ายออกแบบเห็นว่าควรออกแบบให้อาคารนี้เป็นโครงการนำร่อง โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้อาคารดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย ดังนี้ 

1. เน้นการออกแบบผังบริเวณและอาคาร เพื่อให้ความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารน้อยที่สุด แต่ยังได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติมากที่สุด โดยกำหนดพื้นที่โถง ลิฟต์ ห้องน้ำบันได และห้องเครื่องระบบปรับอากาศไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทั้งนี้เพื่อป้องกันแสงแดดและความร้อนให้กับพื้นที่สำนักงาน

2. บริเวณรอบอาคาร เน้นการปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม รวมถึงไม้คลุมดินประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เกิดร่มเงาและความชุ่มชื้น ด้านหน้าอาคารมีน้ำพุและบ่อน้ำที่ช่วยให้สภาพแวดล้อมมีความเย็น สามารถลดความร้อนที่จะเข้าสู่อาคารได้

3. การเลือกใช้วัสดุที่ไม่ดูดกลืนความร้อน ทำให้ช่วยลดการสะท้อนความร้อนที่จะเข้าสู่อาคารได้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่โดยรอบตัวอาคารใช้วัสดุเป็นบล็อกทึบร่วมกับชนิดที่สามารถปลูกหญ้าได้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น

4. เลือกใช้กระจกที่มีคุณภาพสูง เพื่อป้องกันความร้อน การออกแบบถังเก็บน้ำและลานเฮลิคอปเตอร์ไว้ชั้นบนสุด เพื่อป้องกันความร้อนจากดาดฟ้า


   โดยมีการออกแบบระบบเปลือกหุ้มอาคารเป็นกระจก 2 ชั้น เพื่อให้ความร้อนเข้าอาคารน้อยที่สุด แต่ได้รับแสงสว่างมากที่สุด การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้านหน้าอาคาร ซึ่งเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรับแสงอาทิตย์ช่วงเช้า เนื่องจากอาคารทำมุม 45 องศากับแสงอาทิตย์ ในส่วนการติดตั้งกระจกจะเป็นแบบ 2 ชั้น มีคุณสมบัติกันความร้อนดีกว่ากระจกทั่วไป ภายในตัวอาคารออกแบบให้ใช้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับรูปทรงอาคาร โดยเน้นความเรียบง่ายและเลือกใช้วัสดุสีอ่อนเพื่อให้เกิดความสว่าง พร้อมจัดสรรพื้นที่สำนักงานให้มีลักษณะแบบเปิดโล่ง แบ่งพื้นที่ใช้สอยด้วยระบบพาร์ติชั่น (Partition) เพื่อเปิดมุมด้านผนังกระจก นำแสงสว่างธรรมชาติมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


อาคารอนุรักษ์พลังงาน ท.102 การไฟฟ้าฝ่ายผลิต


           
   ส่วนงานด้านวิศวกรรมเน้นการใช้หลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ประสิทธิภาพสูงชนิด 32 วัตต์ และบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ ได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถลดพลังงานไฟฟ้าลงได้ถึงร้อยละ 61.9 เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดชนิด 36 วัตต์ ที่ใช้กับบัลลาสต์แกนเหล็ก รวมทั้งการใช้ระบบหมุนเวียนน้ำเย็นแบบที่สามารถปรับปริมาณน้ำเย็นไปยังส่วนต่าง ๆ ของอาคาร การใช้หอระบายความร้อนแบบไม่มีพัดลม ระบบทำความสะอาดคอนเดนเซอร์อัตโนมัติและระบบส่งลมเย็นที่สามารถปรับเปลี่ยนการส่งลมเย็นไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ ซึ่งควบคุมด้วยระบบอาคารอัตโนมัติ BAS (Building Automation System) สำหรับโซลาร์เซลล์ทาง กฟผ. เลือกใช้แบบอะมอร์ฟัส เพราะสามารถรับการกระจายแสงดีกว่าแบบคริสตัล แม้ว่าจะไม่ได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง เพียงได้รับแสงสว่างก็สามารถผลิตไฟฟ้า


   อาคารประหยัดพลังงานแห่งนี้นับตั้งแต่มีการเปิดใช้อาคารจนถึงปัจจุบันได้รับรางวัลต่าง ๆ คือ รางวัลสถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่น (ASA Green Awards) จากสมาคมสถาปนิกสยาม รางวัล Thailand Energy Awards 2009 จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ประเภทอาคารสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน(อาคารใหม่ รางวัล ASEAN Energy Awards 2009 จาก ASEAN Centre For Energy ประเภท สาขาการออกแบบอาคารใหม่ที่ประหยัดพลังงานดีเด่น (ASEAN Best Practices for Energy Efficient Building Competition) ประเภท New and Existing Category  ได้รับรางวัลที่ประเทศพม่า และรางวัล EMERSON CUP 2009 จากการประกวดโครงการออกแบบระบบปรับอาคารภายในอาคาร สำหรับประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดโดย Emerson Climate Technologies โดยได้รับรางวัล Special Mention ประเภท Innovation of  Human Comfort 

 


     
  การออกแบบบริเวณรอบอาคาร

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด