เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 10:45:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 13641 views

บริหารโซ่อุปทานของสินค้า ด้วยระบบการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากร

เมื่อสินค้าคงคลังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการผลิต การบริหารโซ่อุปทานของสินค้าคงคลังด้วยวิธีการบริหารสินค้าคงคลัง

บริหารโซ่อุปทานของสินค้า ด้วยระบบการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากร Manufacturing Resource Planning System (MRP)


บูรณะศักดิ์ มาดหมาย 
Buranasak_madmaiy@yahoo.com

 

        เมื่อสินค้าคงคลังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการผลิต การบริหารโซ่อุปทานของสินค้าคงคลังด้วยวิธีการบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management) จึงมีความจำเป็นและความสำคัญอย่างยิ่ง โดย ระบบการบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management System) ที่เป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายในวงการธุรกิจอุตสาหกรรม นอกเหนือจาก ระบบการขนาดสั่งซื้อที่ประหยัด (EOQ) ระบบสินค้าคงคลังของการผลิตแบบทันเวลาพอดี (JIT) ก็ยังมีระบบการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากร (MRP) ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการสินค้าคงคลังและวัสดุที่ใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม

         ปัจจุบันในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมมีเป็นจำนวนมากและกระบวนการในการทำงาน มีขั้นตอนการทำงานที่มากมาย ในบางโรงงานยังขาดกระบวนการทำงานที่เป็นไปอย่างมีแบบแผน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในการทำงาน เกิดข้อบกพร่องจนเป็นปัญหาในการบริหารโซ่อุปทานของสินค้า สาเหตุเกิดจากมีการวางแผนความต้องการวัสดุ ที่ไม่เหมาะสมมีประสิทธิภาพ ในเรื่องเกี่ยวข้องกับปริมาณและเวลา และไม่กำหนดปริมาณการผลิตของชิ้นส่วนประกอบทุก ๆ อย่างที่มีอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์ รวมถึงปริมาณการสั่งซื้อชิ้นส่วนจากภายนอก ปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบ

ทำให้ส่งมอบสินค้าไม่ทันตามเวลาที่ลูกค้าต้องการ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น การใช้ระบบการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากร (MRP) จึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สามารถบริหารโซ่อุปทานของสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

MRP เครื่องมือสำหรับระบบการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากร


     ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญในการนำการวางแผนการจัดสรรวัตถุดิบ Manufacturing Resource Planning System (MRP) มาใช้ในการจัดการวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาการระบบการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากร (MRP) ได้รับการยอมรับ และได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบชิ้นส่วนเป็นหลัก  

แต่ปัจจุบันการวางแผนการจัดสรรวัตถุดิบ ได้ถูกนำมาใช้ในวงกว้างขึ้น โดยไม่ได้เน้นที่อุตสาหกรรมการประกอบชิ้นส่วนอีกต่อไป โดยไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยา อาหาร เคมี หรือผ้า ก็ได้มีการนำการวางแผนการจัดสรรวัตถุดิบ มาใช้ในการจัดการควบคุมวัตถุดิบอย่างกว้างขวาง

 

 

         ทำให้การทำงานของระบบจัดการสั่งซื้อ ซึ่งประกอบด้วย ระบบจัดการใบสั่งซื้อ ระบบจัดการใบแจ้งการสั่งซื้อระบบจัดการใบขอให้เสนอราคา ระบบติดตามการรับสินค้า และระบบจัดการผู้ขายสินค้า และช่วยในการติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้า รู้สถานที่จัดเก็บ ปริมาณสินค้า ช่วยเติมเต็มสินค้าให้สอดคล้องกับการสั่งซื้อ เพิ่มรอบการหมุนเวียน และระบบ ERP ก็เป็นระบบสารสนเทศขององค์กรที่นำแนวคิดและวิธีการบริหารของ ERP มาทำให้เกิดเป็นระบบเชิงปฏิบัติในองค์กร ระบบ ERP สามารถบูรณาการ (Integrate) รวมงานหลัก (Core Business Process) ต่าง ๆ ในบริษัททั้งหมด

ได้แก่ การจัดจ้าง การผลิต การขาย การบัญชี และการบริหารบุคคล เข้าด้วยกันเป็นระบบที่สัมพันธ์กันและสามารถเชื่อมโยงกันอย่าง ฉะนั้น MRP และ ERP จึงเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในการบริหารธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร อีกทั้งยังช่วยให้สามารถวางแผนการลงทุนและบริหารทรัพยากรขององค์กรโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ลดการขาดแคลนวัสดุในกระบวนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพแผนการทำงานขององค์กร การรายงานสถานการณ์ทำงานที่แท้จริง และการบูรณาการข้อมูลขององค์กรเพื่อการจัดการได้อย่างถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว  

ระบบจะช่วยทำให้การเชื่อมโยงทางแนวนอนระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง การผลิต และการขายทำได้อย่างสะดวก และลดความขั้นตอนในการทำงานทำให้สามารถบริหารองค์รวมเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด

     MRP จึงเหมาะที่จะนำมาใช้กับกระบวนการผลิตในปัจจุบันซึ่งมีความซับซ้อน ในการวางแผนการผลิตและการควบคุมวัสดุสำหรับผลิตภัณฑ์ มีส่วนประกอบหลายส่วน เนื่องจากระบบสามารถคำนวณหาความต้องการของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์แต่ละส่วนในแต่ละช่วงเวลาได้

 

          ดังนั้น MRP จึงเป็นระบบสารสนเทศที่อาศัยคอมพิวเตอร์ เพื่อการวางแผนจัดลำดับการใช้และควบคุมวัสดุที่ใช้ในการผลิตโดยมีวิธีการในการแยกแยะองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ออกเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ แล้วทำการวางแผนจัดลำดับความต้องการของวัสดุหรือชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งวัสดุที่ใช้ในการผลิตในปริมาณที่ต้องการ ณ เวลาที่ต้องการ ประกอบด้วยการวางแผนและการควบคุมวัสดุหรือชิ้นส่วนที่ต้องใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็น เครื่องมือสำหรับระบบการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากร

MRP จึงเหมาะกับการผลิตที่อุปสงค์ของชิ้นส่วนและวัสดุขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของสินค้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยชิ้นส่วนและวัสดุ นำมาประกอบขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์โดยมีลำดับขั้นตอนการประกอบ จำนวนชิ้นส่วนและวัสดุที่แน่นอน และความต้องการของชิ้นส่วนและวัสดุต่าง ๆ มีความแปรเปลี่ยนและมีลักษณะไม่ต่อเนื่อง อาทิการผลิตแบบการประกอบ (Assembly Line) เช่น การประกอบรถยนต์ และการประกอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ

 

MRP ส่วนประกอบสำคัญของระบบการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากร

 

 ระบบ MRP เป็นระบบการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรที่ใช้ในการวางแผนความต้องการวัสดุ ทั้งในส่วนที่ผลิตเองและส่วนที่ซื้อมาจากภายนอกจาก Suppliers ผลที่ได้จากระบบคือตารางการผลิตงานที่เป็นสินค้าคงคลัง ตารางการรับวัสดุคงคลังที่ซื้อและตารางกำหนดการสั่งซื้อ เพื่อให้มีสินค้าคงคลังเพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากสินค้าสำเร็จรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบมากและมีซับซ้อนในการผลิตสูง

ระบบนี้จึงต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการจัดการ เนื่องจากจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลจำนวนมาก และมีซับซ้อนของโครงสร้างข้อมูลสูง ระบบนี้เหมาะกับสินค้าคงคลังเพื่อการผลิต (Production Inventory) ที่มีโครงสร้างผลิตภัณฑ์ที่แน่นอน ระบุใบแสดงรายการวัสดุ (Bill of Material: BOM) ได้ โดยส่วนประกอบสำคัญของระบบ ประกอบด้วยสองหลักใหญ่ ๆ ได้แก่


     1. ระบบจัดการสั่งซื้อ (Purchasing Management System) เป็นระบบการสั่งซื้อสินค้าทั้งภายในประเทศ และนอกประเทศ ประกอบด้วยกระบวนซึ่งประกอบด้วย ระบบจัดการใบสั่งซื้อ (Purchase Order)  ระบบจัดการใบแจ้งการสั่งซื้อ (Purchase Request) ระบบจัดการใบขอให้เสนอราคา (Request for Quotation) ระบบติดตามการรับสินค้า และระบบจัดการผู้ขายสินค้า (Supplier Manager)

 

 

 

2. ระบบควบคุมวัสดุคงคลัง (Inventory Control System) ประกอบไปด้วย ฐานข้อมูลโครงสร้างผลิตภัณฑ์ (Product Structure Database) ใบแสดงรายการพัสดุ (Bill of Materials) ระบบการรับจ่ายของคงคลัง (Inventory Transactions System) ระบบวางแผนวัสดุคงคลัง (Material Requirements Planning) และระบบวางแผนการผลิต (Master Production Schedule) สามารถแสดงเป็นแผนภาพโครงสร้างของระบบได้ดังนี้

     ระบบ MRP จะช่วยให้สามารถจัดการคลังสินค้าได้อย่างง่ายดาย ระบบควบคุมสินค้าคงคลัง มีความยืดหยุ่นสูง รองรับการกำหนดคลังสินค้าได้ไม่จำกัดในแต่ละบริษัทและแต่ละสาขา ระบบควบคุมสินค้าคงคลัง รองรับสินค้าสำเร็จรูป วัสดุสิ้นเปลือง และวัตถุดิบสำหรับการผลิต ระบบจะตัดสต็อกรายการอย่างถูกต้องการคำนวณต้นทุน โดยสรุปแล้ว MRP สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารคลังสินค้า (ตัวอย่างจากผู้ผลิตระบบ MRP) ได้ดังนี้


- สามารถกำหนดคลังสินค้าได้ไม่จำกัด 

- สามารถแก้ไขรหัสทุกอย่างได้ โดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที ไม่ว่าจะมีปริมาณข้อมูลมากมาย เพียงใด 

- สามารถบันทึกรายงานสินค้าวัตถุดิบคงเหลือ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบซึ่งมีข้อมูลครบถ้วน 

- สามารถบันทึการปรับปรุงยอดสต็อกเพิ่มเติมได้ 

- สามารถออกแบบฟอร์มของเอกสารต่าง ๆ ได้ เช่น ใบเบิกวัสดุสิ้นเปลือง ฯลฯ 

- สามารถพิมพ์รายงานตรวจสอบการใช้วัตถุดิบ, วัสดุสิ้นเปลืองของแต่ละแผนก แต่ละหน่วยงานได้ 

- สามารถพิมพ์รายการสั่งซื้อสินค้าเข้าคลังได้ และยังสามารถตรวจสอบราคาซื้อทั้งแบบเฉลี่ยหรือสูงสุด หรือต่ำสุดได้ 

- สามารถตรวจสอบรายการสั่งซื้อแยกตามผู้จำหน่ายได้ 

- รองรับระบบเบิกจ่ายวัตถุดิบ เพื่อนำไปใช้ในส่วนการผลิต 

- สามารถบันทึกยอดการผลิตสินค้าเพื่อนำเก็บในคลังสินค้า 

- ระบบการตรวจสอบคุณภาพ (QC & QA) สามารถบันทึกการสุ่มตรวจ จำนวนวัตถุดิบเสียหาย 

- ระบบสามารถพิมพ์รายการการเข้าออกของสินค้าและวัตถุดิบรายวัน 

- ระบบสามารถตรวจสอบการนำเข้าและการเบิก วัตถุดิบแยกเป็นรายตัวเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหวของวัตถุดิบ 

- รองรับการใช้งานร่วมกับบาร์โค้ดและเครื่องนับสินค้าแบบ Wireless 

- มีโปรแกรมเสริมใช้งานร่วมกับเครื่อง PDA เพื่อนับสินค้านอกสถานที่ 

- สามารถพิมพ์รายงานตรวจสอบต้นทุนสินค้าแยกตามโครงการ

 

 

          อีกแง่มุมหนึ่งเราสามารถมองให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ในการทำงานภายใต้ระบบ MRP จะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ส่วนคือ (1) ส่วนนำเข้าข้อมูล (Input) (2) ส่วนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ MRP (MRP Computer Program) และ (3) ส่วนผลได้ (Output) สามารถแบ่งกระบวนการของระบบ MRP ได้ออกเป็น 3 องค์ประกอบ ดังนี้

 

 

1. ส่วนนำเข้า (Input)
      1.1 แผนลำดับการผลิตแม่บท (Master Production Schedule) จะกำหนดถึงความต้องการของชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ว่าต้องการผลิตจำนวนเท่าใดและต้องการเมื่อใด

 


               1.2 รายการวัสดุ (Bill of Material: BOM) คือ บันทึกข้อมูลที่แสดงถึงรายการวัสดุและชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตหรือประกอบให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต ซึ่งผู้ผลิตจะต้องรู้ชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบของสินค้านั้นมีอะไรบ้าง และต้องเอาส่วนประกอบแต่ละชนิดไปใช้ในขั้นตอนใด แต่ละขั้นตอนใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อจะได้วางแผนการสั่งวัตถุดิบหรือส่วนประกอบต่าง ๆ ในจำนวนและเวลาที่ถูกต้อง ซึ่งเราจะสามารถรู้ความต้องการส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนต่าง ๆ จากตารางการผลิต (MPS)

               โดยทั่วไปแล้ว BOM หรือรายการโครงสร้างวัสดุ ไม่เรียกว่าสูตร เพราะการผลิตสินค้าไม่ได้มีเฉพาะตัวสินค้า แต่ยังต้องมีบรรจุภัณฑ์ หรือ Process  Aids หรือวัสดุที่ช่วยในการผลิต แต่ไม่ได้อยู่ใน Finished Good หรือสินค้าที่สำเร็จที่พร้อมส่งมอบให้ลูกค้า BOM ที่ไม่ตรงกับการใช้งานจริง ก็มีหลายสาเหตุ

เช่น ป้อนผิด แผนกวิจัยวิจัยไม่ดี จนได้สูตรไม่ดี ผลิตต้องปรับเปลี่ยนจำนวน และชนิดวัสดุที่ใช้ แล้วไม่แจ้งใคร %Scrap ตั้งน้อยไปมากไป ฯลฯ BOM ที่ไม่ตรงกับความจริง จะก่อปัญหาที่มีปริมาณความเสียหายสูงมาก ทำให้ยอดของคงคลังผิดเพี้ยนไปได้มาก และเร็ว ถ้าใช้ระบบตัดยอดของคงคลังโดยใช้ BOM ตัดแบบอัตโนมัติ เมื่อป้อนจำนวนสินค้าที่ผลิตได้ BOM จึงเป็นส่วนสำคัญของส่วนนำเข้าของระบบ MRP

              1.3 แฟ้มข้อมูลสินค้าคงคลัง (Inventory Record) เป็นข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าคงคลังแต่ละรายการทุกรายการ ในด้านปริมาณที่ยังคงเหลืออยู่ ปริมาณสั่งซื้อ ขนาดของล็อต ส่วนสินค้าคงคลังสำรอง เวลารอคอย และอัตราการใช้ ซึ่งจะเป็นการบันทึกสถานภาพของสินค้าคงคลัง ซึ่งจะระบุจำนวนชิ้นส่วน ส่วนประกอบย่อย และปริมาณสินค้าสำเร็จรูปในคลัง รวมถึงปริมาณชิ้นส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการสั่งซื้อ

 เวลาที่จะต้องใช้ตั้งแต่การสั่งซื้อจนถึงวันส่งของ และจำนวนสต๊อกกันชนที่เผื่อไว้กรณีที่ของมาช้ากว่ากำหนดการทำงานจะเริ่มขึ้น เมื่อเรากำหนดปริมาณสินค้าที่ต้องการเข้าไปในแผนการผลิต หลังจากนั้นข้อมูลจะถูกนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อดูว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชิ้นส่วน หรือวัตถุดิบชนิดใดบ้าง จากนั้นก็จะมาพิจารณาว่าเรามีความจำเป็นต้องสั่งของเพิ่มหรือไม่ จำนวน เท่าใด และเราต้องทำการสั่งอย่างช้าที่สุดวันไหน เพื่อจะได้มีของมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่องผลิตด้านเดียวเท่านั้น

 
ดังนั้นแฟ้มข้อมูลสินค้าคงคลัง จะต้องมีการ Update ข้อมูลให้มีความถูกต้องตามความเป็นจริง ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีด้านสแกนเนอร์และบาร์โค้ดเข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูล

     2. ส่วนประมวลผล (Processing)
     ประกอบด้วย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การนำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการซึ่งกำหนดจากแผนลำดับการผลิตแม่บท มาแจกแจงให้เห็นถึงรายละเอียดของจำนวนชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการ ณ เวลาต่าง ๆ

 


3. ส่วนผลได้ (Output)


     ประกอบด้วยรายงานต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการรายงานผลและการสั่งซื้อและสั่งผลิตวัสดุหรือชิ้นส่วน โดยระบบ MRP สามารถให้สารสนเทศเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารในรูปแบบของรายงานต่าง ๆ รายงานเหล่านี้สามารถจำแนกได้ 2 กลุ่ม

 1) รายงานเบื้องต้น (Primary Reports) เป็นรายงานหลักของระบบ MRP ที่จะต้องจัดทำอย่างสม่ำเสมอ รายงานในกลุ่มนี้ประกอบด้วย 


 1.1) แผนการสั่งซื้อหรือสั่งผลิต 


 1.2) ใบสั่งซื้อหรือสั่งผลิต

 1.3) รายการเปลี่ยนแปลง รายการที่เปลี่ยนแปลงไปจากแผน

 2) รายงานขั้นที่ 2 (Secondary Reports) เป็นรายงานเฉพาะซึ่งไม่ได้จัดทำเป็นประจำ อาจจัดทำเฉพาะเมื่อผู้บริหารต้องการใช้ช่วยในการตัดสินใจแก้ปัญหา รายงานในกลุ่มนี้ประกอบด้วย 


 2.1) รายงานผลการควบคุม ใช้ในการควบคุมและประเมินผลการดำเนินการของระบบ MRP เช่น ความคลาดเคลื่อนต่าง ๆ

 2.2) แผนงานสินค้าคงคลัง เป็นรายงานซึ่งผู้บริหารสามารถใช้ช่วยในการพยากรณ์ความต้องการสินค้าคงคลังในอนาคต


 2.3) รายงานพิเศษ แสดงถึงปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นแล้วอาจจะมีผลต่อการดำเนินการของระบบ เช่น การส่งชิ้นส่วนล่าช้า การเสียหายของชิ้นส่วนระหว่างการผลิต เป็นต้น


 อย่างไรก็ตามการนำระบบ MRP มาใช้ในการจัดการวัสดุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อปัจจัยในการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม นั้นจะทำงานได้ดีและมีข้อเด่น ภายใต้เงื่อนไขของความต้องการใช้วัสดุไม่ต่อเนื่อง หรือมีความไม่สม่ำเสมอ ในภาวะของการผลิตปกติ เช่น องค์กรที่มีการผลิตแบบ Job-Shop ความต้องการใช้วัสดุเป็นอุปสงค์ตาม (Dependent Demand) ผลิตภัณฑ์ที่ทำการผลิต ตลอดจนหน่วยงานจัดซื้อ ผู้ขาย มีความคล่องตัวในการจัดหาและส่งสินค้าให้ได้เป็นรายสัปดาห์ การทำงานของระบบ MRP ดังตัวอย่าง

จากตารางมีกำหนดการผลิตสินค้า A จำนวน 100, 150, 170 และ 130 หน่วย ในสัปดาห์ที่ 1-4 ตามลำดับ สินค้า A1 หน่วย ประกอบด้วยชิ้นส่วน B และ C อย่างละ 1 หน่วยและชิ้นส่วน B1 หน่วย ยังประกอบด้วยชิ้นส่วน D จำนวน 1 หน่วย


 ข้อมูลสินค้าคงคลังของชิ้นส่วน B คือมีจำนวนที่นำไปใช้ได้จำนวน 100 หน่วย หากต้องการสั่งซื้อจะมีเวลานำในการสั่งซื้อ (Lead Time) 1 สัปดาห์ ไม่มีรายการที่สั่งซื้อแล้วในขณะนี้


 ข้อมูลสินค้าคงคลังของชิ้นส่วน C คือ ไม่มีจำนวนที่นำไปใช้ได้ (จำนวน 0 หน่วย) หากต้องการสั่งซื้อจะมีเวลานำในการสั่งซื้อ (Lead Time) 1 สัปดาห์ มีรายการที่สั่งซื้อแล้วในขณะนี้จำนวน 100 หน่วย จะส่งสินค้าในสัปดาห์ที่หนึ่ง


 ข้อมูลสินค้าคงคลังของชิ้นส่วน D คือ มีจำนวนที่นำไปใช้ได้จำนวน 150 หน่วย หากต้องการสั่งซื้อจะมีเวลานำในการสั่งซื้อ (Lead Time) 2 สัปดาห์มีรายการที่สั่งซื้อแล้วในขณะนี้ จำนวน 170 หน่วยจะส่งสินค้าในสัปดาห์ที่สอง


วิธีการทำ การกระจายความต้องการสินค้าตามกำหนดการผลิตหลักด้วย BOM ดังนั้นเมื่อมีกำหนดการผลิตสินค้า A จำนวน 100, 150, 170 และ 130 หน่วย ในสัปดาห์ที่ 1-4 ตามลำดับ ทำให้มีความต้องการขั้นต้นของชิ้นส่วน B และ C เท่ากับจำนวนและเวลาที่จะทำการผลิตสินค้า A ด้วยเช่นกัน ส่วนความต้องการขั้นต้นของชิ้นส่วน D จะมีความต้องการก่อนความต้องการของชิ้นส่วน B 1 สัปดาห์ (Lead Time ของ D มากกว่า B อยู่ 1 สัปดาห์) ดังนั้นความต้องการขั้นต้นของชิ้นส่วน D คือ 150, 170 และ 130 ในสัปดาห์ที่ 1-3 ตามลำดับ

 

 

      ในด้านการสนองความต้องการขั้นต้น มีแหล่งที่มาของสินค้าจากสองแหล่ง แหล่งแรกคือ จากรายการที่สั่งซื้อแล้วและจะนำมาส่ง ได้แก่ชิ้นส่วน C จำนวน 100 หน่วย จะมีการส่งสินค้าให้ในสัปดาห์ที่หนึ่งและชิ้นส่วน D จำนวน 170 หน่วย จะมีการส่งสินค้าให้ในสัปดาห์ที่สอง แหล่งที่สองคือ สินค้าคงคลังที่นำไปใช้ได้ทันที ได้แก่ชิ้นส่วน B จำนวน 100 หน่วย และชิ้นส่วน D จำนวน 150 หน่วย


 จากความต้องการขั้นต้นจากแผนการผลิตและ BOM และการสนองความต้องการ จากรายการที่สั่งซื้อแล้วและจากสินค้าคงคลัง ผลต่างระหว่างความต้องการและการสนองความต้องการคือ ความต้องการสุทธิของชิ้นส่วนแต่ละรายการ ซึ่งจะสะสมเป็นค่าลบมากขึ้นได้ตามความต้องการขั้นต้นที่สะสม เช่น ชิ้นส่วน B มีความต้องการขั้นต้นจำนวน 100, 150, 170 และ 130 หน่วย

 ในสัปดาห์ที่ 1-4 ตามลำดับ โดยชิ้นส่วน B ไม่มีการสั่งซื้อ แต่มีจำนวนที่นำไปใช้ได้จากสินค้าคงคลัง จำนวน 100 หน่วย ดังนั้นความต้องการสุทธิของชิ้นส่วน B ในสัปดาห์ที่ 1 คือ 0 เนื่องจากความต้องการขั้นต้น 100 หน่วย ถูกสนองโดยชิ้นส่วนจากสินค้าคงคลัง แต่ในสัปดาห์ที่ 2-4 ความต้องการสุทธิจะติดลบสะสมมากขึ้นเป็น -150, -320 และ -450 หน่วย


 จากความต้องการสุทธิ เราสามารถกำหนดเป็นแผนการรับสินค้าที่ต้องการที่เรียกว่ากำหนดการรับสินค้าที่สั่ง เช่น ชิ้นส่วน B ความต้องการสุทธิเป็น -150, -320 และ -450 หน่วย เราสามารถกำหนดการรับสินค้า B ที่สั่งเป็น 150, 170 และ 130 หน่วยในสัปดาห์ที่ 2-4 ตามความต้องการที่จะใช้


 จากกำหนดการรับสินค้าที่สั่งเมื่อนำระยะเวลานำการสั่งซื้อสินค้า (Lead Time) มาหักออก เราสามารถกำหนดวันที่สั่งสินค้าที่เรียกว่า กำหนดการสั่งสินค้า เช่น กำหนดการรับสินค้า B ที่สั่งเป็น 150, 170 และ 130 หน่วยในสัปดาห์ที่ 2-4 ตามลำดับ แต่สินค้า B มีระยะเวลานำในการสั่งซื้อสินค้าเท่ากับ 1 สัปดาห์ ดังนั้นเมื่อต้องการรับสินค้า B จำนวน 150 หน่วยในสัปดาห์ที่สอง จะต้องทำการสั่งซื้อสินค้า B จำนวน 150 หน่วยในสัปดาห์ที่หนึ่ง


 ตามตัวอย่างข้างต้น เป็นแนวทางการทำงานของระบบ MRP โดยมีกำหนดการผลิตหลัก ใบแสดงรายการวัสดุ (BOM) เป็นการกำหนดความต้องการวัสดุ และมีการกำหนดการรับสินค้าที่สั่ง และกำหนดการส่งสินค้า เป็นวิธีการตอบสนองความต้องการวัสดุ เพื่อทำให้สามารถทำการผลิตได้ตามกำหนดการผลิตหลัก 

 

สรุป 

     การบริหารโซ่อุปทานของสินค้า ด้วยระบบการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากร Manufacturing Resource Planning System: MRP จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจาก สินค้าคงคลังเป็นส่วนที่ลงทุนมากในเกือบโรงงานและเกือบทุกแห่งจะมีปริมาณมากกว่าความต้องการอยู่เสมอเนื่องจากเป็นการง่ายที่มีสินค้าคงคลังพร้อมส่งให้หน่วยผลิตอยู่ตลอดเวลาและไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนสินค้าคงคลัง การมีสินค้าคงคลังที่เก็บมีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่แต่คนทั่วไปมักจะไม่คำนึงถึง เช่น ค่าเก็บรักษาสินค้าคงคลัง ความเสี่ยงของสินค้าล้าสมัย เสื่อมสภาพ ชำรุด และสูญหาย การบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ

ผู้รับผิดชอบต้องมีความรู้เกี่ยวกับสินค้า คงคลังแต่ละรายการและผลกระทบจากสินค้าคงคลังนั้นที่มีต่อสินค้าสำเร็จรูป การจัดระดับความสำคัญของสินค้าคงคลังแต่ละรายการ จะทำให้เลือกประเภทของการควบคุมสินค้าคงคลังที่เหมาะสมได้ ซึ่งจะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรของคลังพัสดุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 ระบบ MRP เป็นระบบที่ใช้ในการวางแผนความต้องการวัสดุ ที่ระบุตารางการผลิตงานที่เป็นสินค้าคงคลัง ตารางการรับวัสดุคงคลังที่ซื้อและตารางกำหนดการสั่งซื้อ เพื่อให้มีสินค้าคงคลังเพียงพอกับความ ระบบนี้ต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการจัดการเนื่องจากจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลจำนวนมากและมีซับซ้อนของโครงสร้างข้อมูลสูง ระบบนี้เหมาะกับสินค้าคงคลังเพื่อการผลิตที่มีโครงสร้างผลิตภัณฑ์ที่แน่นอน และระบุใบแสดงรายการวัสดุ (Bill of Material: BOM) นั้นคือ MRP มีจุดประสงค์คือจัดซื้อวัสดุให้พอใช้ในการผลิตอย่างพอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป ลดปริมาณสินค้าคงคลัง 

สามารถลดระยะเวลาในการผลิตและการส่งมอบสินค้าส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ตามกำหนด และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย  

 

ข้อมูลอ้างอิง
www.atzoomsolution.com
www.pimtraining.com
www.nysiissolutions.com
www.enter.co.th
www.mangoconsultant.com
- การบริหารการจัดซื้อ (Procurement Management) ในสายการผลิตสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม, บูรณะศักดิ์ มาดหมาย, วารสารไฟฟ้าและอุตสาหกรรม,บริษัท เทคโนโลยี มีเดีย จำกัด

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด