เนื้อหาวันที่ : 2013-04-23 10:43:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3744 views

การบริหารจัดการความเสี่ยงต่ออุทกภัย สำหรับสถานที่ปฏิบัติงาน

นี่เป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์แค่เพียงบางส่วน ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ได้อ่านหัวข้อข่าวในทำนองนี้แล้วก็คงรู้สึกเช่นเดียวกันกับผู้เขียนว่า อุบัติภัยน้ำท่วมปี 54 ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในครั้งนี้

การบริหารจัดการความเสี่ยงต่ออุทกภัย สำหรับสถานที่ปฏิบัติงาน
(Workplace Flood Risk Management)
ศิริพร วันฟั่น


- “โลกป่วน ไทยหยุดผลิตฮาร์ดดิสก์ ปิด 6 นิคมไม่มีกำหนด ลงทุน 3.4 แสนล้านเคว้ง” 

- “โลกป่วน ไทยหยุดผลิตฮาร์ดดิสก์ ปิด 6 นิคมไม่มีกำหนด ลงทุน 3.4 แสนล้านเคว้ง” 

- “โลกป่วน ไทยหยุดผลิตฮาร์ดดิสก์ ปิด 6 นิคมไม่มีกำหนด ลงทุน 3.4 แสนล้านเคว้ง” 

- “พังยับเดือนละแสนล้าน สอท.จี้รัฐเร่งฟื้นฟูธุรกิจหวั่นยืดเยื้อกดจีดีพีติดลบฉุดเชื่อมั่นดิ่ง” 

- “พิษน้ำท่วมขยับเพดานเงินเฟ้อ 3.8% พาณิชย์ยืดอกเอาไม่อยู่เร่งสำรวจสินค้าส่อขาด”

- “อิทธิฤทธิ์พายุถล่มไทย ซัดทุนญี่ปุ่นเดี้ยง”

     นี่เป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์แค่เพียงบางส่วน ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ได้อ่านหัวข้อข่าวในทำนองนี้แล้วก็คงรู้สึกเช่นเดียวกันกับผู้เขียนว่า อุบัติภัยน้ำท่วมปี 54 ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในครั้งนี้ หรือภัยพิบัติในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก อาจจะเป็นเพียงปฐมบทหรือสิ่งบอกเหตุ ที่เตือนให้เราได้รับรู้ว่า ในระยะเวลาข้างหน้า (ซึ่งไม่รู้ว่าจะยาวนานหรือรวดเร็วกว่าที่คิด) โลกต้องเผชิญกับอุบัติภัยต่าง ๆ ที่จะมีทั้งความรุนแรงและความถี่ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน และที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ เป็นผลพวงจาก ‘น้ำมือมนุษย์’ ที่ก่อให้เกิดขึ้นนั่นเอง (นี่ยังไม่รวมถึงการปรับภูมิสถาปัตย์ การเปลี่ยนเส้นทางการไหล หรือมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางระบายน้ำตามธรรมชาติ ฯลฯ)

โดยผลกระทบที่จะเห็นได้อย่างเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ นับต่อแต่นี้ ก็คือ จะเกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากหลายสำนัก ที่มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ในอดีตนั้นโลกต้องใช้เวลากว่า 100 ปี ถึงจะทำให้มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นได้เกือบ 1 องศาเซลเซียส แต่หากพิจารณาจากอุบัติภัยที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ก็ทำให้น่าเป็นห่วงว่า ในช่วงไม่เกิน 100 ปีข้างหน้า โลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 6 องศาเซลเซียส ซึ่งเร็วกว่าในอดีตถึง 10 เท่า


     นอกจากนี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPPC) ได้ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1–3.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้โลกเกิดพายุที่มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น เสริมกับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นปีละ 1-2 มิลลิเมตร และถ้าภายในศตวรรษนี้ น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายหมดในหน้าร้อน จะทำให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นเกือบ 60 เซ็นติเมตร ประเทศที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณขอบทวีปของเอเชีย อันได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา พม่า เวียดนาม ไทย จีน และญี่ป่น


      อุทกภัย คือ ภัยและอันตรายที่เกิดจากสภาวะน้ำท่วมหรือน้ำท่วมฉับพลัน โดยทั่วไปแล้ว เกิดจากฝนตกหนักหรือตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ หย่อมความกดอากาศต่ำ พายุหมุนเขตร้อน (ดีเปรสชั่น–โซนร้อน–ไต้ฝุ่น) ร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเขื่อนพัง

 
     ส่วนความรุนแรงและรูปแบบของอุทกภัยจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ อันได้แก่ 

     (1) น้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมฉับพลัน มักจะเกิดขึ้นในที่ราบต่ำหรือที่ราบลุ่มบริเวณใกล้ภูเขาต้นน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักเหนือภูเขาต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้จำนวนน้ำสะสมมีปริมาณมากขึ้น จนพื้นดินและต้นไม้ดูดซับไว้ไม่ไหว จึงไหลบ่าลงสู่ที่ราบต่ำเบื้องล่างอย่างรวดเร็ว ทำให้บ้านเรือนพังทลายเสียหาย และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

     (2) น้ำท่วม หรือน้ำท่วมขัง เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำสะสมจำนวนมาก ที่ไหลบ่าในแนวระนาบ จากที่สูงไปยังที่ต่ำเข้าท่วมอาคารบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาได้รับความเสียหาย หรือเป็นสภาพน้ำท่วมขังในเขตเมืองใหญ่ที่เกิดจากฝนตกหนัก ต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีสาเหตุมาจากระบบการระบายน้ำไม่ดีพอ มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางระบายน้ำ หรืออาจเกิดจากน้ำทะเลหนุนสูง ในกรณีพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล

     (3) น้ำล้นตลิ่ง เกิดขึ้นเพราะมีปริมาณน้ำจำนวนมากจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ไหลลงสู่ลำน้ำหรือแม่น้ำในปริมาณมาก จนระบายลงสู่ที่ลุ่มน้ำด้านล่าง หรือออกสู่ปากน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมเรือกสวน ไร่นา และบ้านเรือนตามสองฝั่งน้ำ จนได้รับความเสียหาย ถนนหรือสะพานอาจชำรุด และทางคมนาคมอาจถูกตัดขาดได้
 

     อุทกภัยในประเทศไทยโดยปกติแล้วจะมีสาเหตุจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนและดีเปรสชั่น น้อยครั้งมากที่จะรุนแรงถึงขนาดเกิดพายุไต้ฝุ่น ปัญหาอุทกภัยจากฝนตกหนักในไทย มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคมแทบทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุม (Monsoon Season) แต่ในปี พ.ศ.2554 นี้ปรากฏว่าฝนฟ้ามาเร็วและ ‘จัดหนัก’ กว่าที่คาดคิด อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของพายุหลายลูก นับตั้งแต่ “ไห่หม่า” เมื่อปลายเดือนมิถุนายน “นกเตน”

ปลายเดือนกรกฎาคม และตามติดด้วยปลาย ๆ หางของ “หมุ่ยฟ้า” ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง 25 จังหวัด ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพมหานคร  และมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน รวมถึงมีผู้อพยพหนีน้ำและผู้ตกงานจำนวนมากจากสภาวะน้ำท่วมคราวนี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ

 
     สำหรับกรุงเทพฯ ซึ่งมีสมญานามว่าเป็นเมืองเวนิสตะวันออกนั้น ก็นับเป็นการประสบภาวะน้ำท่วมใหญ่เป็นครั้งที่ 4 ต่อจากปี พ.ศ.2485, 2526 และ 2538 แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบควบคุมการระบายน้ำ รวมถึงเขื่อนหลายแห่ง คลองชลประทานและแก้มลิง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ โดยเฉพาะในกรุงเทพ ฯ แม้จะมีระบบอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งเริ่มใช้ในป้องกันอุทกภัย มาตั้งแต่ พ.ศ.2544 แล้วก็ตาม ซึ่งตามหลักสากลโดยทั่วไปแล้ว หัวใจของการป้องกันอุทกภัยจะอยู่ที่ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน
    

     อุทกภัยหรือภาวะน้ำท่วมเป็นฝันร้ายของทุก ๆ ธุรกิจเลยก็ว่าได้ เพราะสามารถสร้างความเสียหายแก่สถานประกอบกิจการ หรือเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ และอาจสูญเสียสต็อกสินค้าและซัพพลาย ทำให้การผลิตหรือการค้าขายหยุดชะงัก ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติ และอาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียลูกค้าไปบางส่วนด้วย และแม้ว่าสถานประกอบกิจการบางแห่งจะโชคดี ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็อาจประสบกับปัญหาที่ซัพพลายเออร์ไม่สามารถจัดหาหรือส่งของได้
    

     โดยเฉพาะอุทกภัยครั้งนี้ ภาคส่วนอุตสาหกรรมนับว่าเสียหายอย่างหนัก นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทยอยถูกน้ำท่วมกันเป็นทิวแถว ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร โรจนะ ไฮเทค บางปะอิน นวนคร ฯลฯ ซึ่งผลกระทบไม่ได้จำกัดวงแต่เพียงเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังส่งแรงสะเทือนไปยังภาคส่วนผลิตทั่วโลกด้วย ตัวอย่างเช่น การชะงักงันของการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก รวมทั้งอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ที่ใหญ่ราว 40% ของตลาด และส่งออกเป็นอันดับสองของโลก นั่นหมายถึงอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ชะลอตัวไปจนถึงปี 2012 นี่ยังไม่นับรวมซัพพลายเชนต่าง ๆ ที่ต้องโดนหางเลขเต็ม ๆ ไปด้วย
 

     จะว่าไปแล้ว ภาวะน้ำท่วมหรืออุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่ถ้ามีการเตรียมการวางแผน และดำเนินมาตรการรับมือที่เหมาะสม ทันต่อสภาวะการณ์ ทั้งก่อนเกิดเหตุ ช่วงเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ก็จะช่วยบรรเทาเบาบางหรือลดระดับความเสียหายลงได้บ้าง ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทาง หรือข้อแนะนำด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงต่ออุทกภัย สำหรับสถานที่ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ แต่ละสถานที่ปฏิบัติงานอาจจะมีข้อจำกัดหรือปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมแตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงควรพิจารณานำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะของสถานประกอบการของตนเองจะเป็นการดีที่สุด

 

แนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงต่ออุทกภัย สำหรับสถานที่ปฏิบัติงาน

1. การประเมินความเสี่ยงต่ออุทกภัยหรือภาวะน้ำท่วม (Assess the risks of flooding)
 การทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ความเสี่ยงต่ออุทกภัยหรือภาวะน้ำท่วม มีผลกระทบต่อธุรกิจหรือสถานประกอบกิจการอย่างไร ด้วยการประเมินมูลค่าความเสียหายว่ามีมากน้อยเพียงใด จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่า ควรจะดำเนินการอย่างไรกับความเสี่ยงที่ว่านั้น เช่น ถ้ามีสต็อกราคาสูงเก็บอยู่ในระดับพื้นล่างของสถานที่ปฏิบัติงานหรือคลังสินค้า ก็จะทำให้เกิดความสูญเสียในมูลค่ามากได้ แต่ถ้ามีการป้องกันล่วงหน้าก็จะสามารถช่วยลดการเสียหายของสต็อกและอุปกรณ์ที่เคลื่อนย้ายได้ถึง 20–90 % ซึ่งการเตรียมการที่ว่านี้ยังช่วยลดความเสียหายในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 


- สามารถช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินและสต็อก การสะดุดของธุรกิจและลดต้นทุนในการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

-ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสถานประกอบกิจการ

- แสดงออกถึงความรับผิดชอบในการปกป้องผู้ปฏิบัติงาน ชุมชน รวมถึงสิ่งแวดล้อม และ

- ช่วยให้ยังอยู่ในเงื่อนไขที่ครอบคลุมความคุ้มครองของการประกันภัยจากอุบัติภัยน้ำท่วม
     เป็นต้น


 โดยการประเมินความเสี่ยงต่ออุทกภัยหรือภาวะน้ำท่วม มีขั้นตอนดังนี้


     1.1 การสำรวจแหล่งที่ตั้ง (Site Survey) ด้วยการพิจารณาจากประวัติการถูกน้ำท่วมของแหล่งที่ตั้ง ระยะห่างจากแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งระบายน้ำ หรือดูว่าตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มหรือไม่ ความลึกสูงสุดที่เคยท่วม เป็นต้น ซึ่งถ้าสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อยที่จะถูกน้ำท่วม ก็จะเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่ดีที่สุด

แต่ถึงแม้ว่าตำแหน่งที่ตั้งของสถานประกอบกิจการจะอยู่นอกโซนน้ำท่วมและไม่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อน ก็มิได้เป็นการรับประกันความปลอดภัยได้ 100 % เนื่องจากภาวะฝนตกหนักมากประกอบกับการมีสิ่งปลูกสร้างและการตัดถนนเพิ่มขึ้น ก็ถือเป็นสิ่งกีดขวางเส้นทางระบายน้ำเดิม ซึ่งช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมได้มากขึ้น ฉะนั้นแล้ว ในส่วนนี้จึงมีความจำเป็นในการปรับปรุงและทบทวนแผนผังและแผนที่ของตัวอาคาร สถานที่ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคและการระบายน้ำโดยรอบ ให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ


     1.2 ตรวจสอบสิ่งปลูกสร้าง (Construction Inspection) ตรวจสอบดูความแข็งแรง มั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างอาคารของสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งอาจจะเป็นอาคารชั้นเดียวหรือหลายชั้น โดยสิ่งปลูกสร้างที่มีความมั่นคงแข็งแรงเวลาประสบภัยน้ำท่วมก็จะสามารถต้านความความแรงของกระแสน้ำได้ดีกว่า และการที่มีหลายชั้นก็สามารถยกของหนีน้ำขึ้นชั้นที่สูงกว่าระดับน้ำได้

     1.3 ตรวจสอบเส้นทางระบายน้ำ (Drainage Way) เพื่อให้มั่นใจว่ายังคงใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในช่วงฝนตกหนักมาก อาจประสบปัญหากับขีดความสามารถในการระบายน้ำที่ลดลงหรือไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุน้ำไหลทะลักเข้าสู่สิ่งปลูกสร้างและตัวอาคาร หรือไหลย้อนเข้าทางระบบท่อระบายน้ำทิ้งของสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะเกิดจากการที่มีเศษขยะเข้าไปอุดตันหรือขวางเส้นทางระบายน้ำ

2. เขียนแผนรับเหตุฉุกเฉินด้านอุทกภัย (Draw up a Flood Emergency Response Plan: FERP) เพื่อความมั่นใจว่าได้เตรียมพร้อมไว้สำหรับกรณีเผชิญกับภาวะน้ำท่วม โดยเอกสารที่เขียนขึ้นนี้ จะระบุว่าธุรกิจหรือสถานประกอบกิจการจะมีวิธีดำเนินการและจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินประเภทนี้ ทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ช่วงใกล้เกิดเหตุ ช่วงเกิดเหตุ ช่วงหลังเกิดเหตุ ทั้งนี้

ก็เพื่อจะให้มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดจะมีความปลอดภัย รวมทั้งมีการทบทวนและปรับแผนทุกปี เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งอย่างน้อย ๆ แผนงานนี้ควรประกอบไปด้วย รายชื่อพร้อมเบอร์ติดต่อที่สำคัญ (เช่น บริษัทประกันภัย ลูกค้าและซับพลายเออร์) เบอร์โทรฉุกเฉินของหน่วยบรรเทาสาธารณภัย แผนที่ที่แสดงให้เห็นตำแหน่งที่ตั้งของอุปกรณ์ที่สำคัญและตำแหน่งที่สามารถทำการตัดวงจรไฟฟ้า และหยุดการทำงานของเครื่องจักรกลต่าง ๆ ได้ทันที ขั้นตอนหรือมาตรการต่าง ๆ ที่จะใช้ดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน และลดการสะดุดของธุรกิจให้ได้มากที่สุด ตลอดจนวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมสำหรับผู้ปฏิบัติงาน (เช่น การอพยพ การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ที่สำคัญ การจัดวางแนวป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ) เหล่านี้เป็นต้น

     ควรจัดทำแผนอพยพ (Evacuation Plan) ที่พร้อมจะถูกนำมาใช้ก่อนที่น้ำจะเข้าท่วม ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงความสับสนอลหม่าน ป้องกันการบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย โดยแผนงานฯ จะประกอบไปด้วย เงื่อนไขหรือสภาวการณ์ที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนงาน ลำดับการบังคับบัญชา ทีมรับเหตุฉุกเฉิน ขั้นตอนการอพยพรวมถึงการระบุเส้นทางอพยพที่ปลอดภัย ขั้นตอนการนับจำนวนคน อุปกรณ์ฉุกเฉินสำหรับใช้งาน รวมถึงทบทวนและทำความเข้าใจแผนงานกับผู้ปฏิบัติงานทุกคนให้ได้รับทราบโดยทั่วกัน ทีมงานเฝ้าติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือน การติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก มีการฝึกซ้อมเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้เข้าใจว่าควรทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุขึ้น

  
3. ลดความเป็นไปได้ของความเสียหายจากอุทกภัย (Reduce Potential Flood Damage) โดยอาศัยการวางแผนล่วงหน้าเพื่อลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ที่จะมีต่อธุรกิจหรือสถานประกอบกิจการให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น จัดเก็บอุปกรณ์หรือสต็อกที่สำคัญหรือมีมูลค่าสูงไว้เหนือระดับน้ำที่คาดการณ์ไว้ (พิจารณาข้อมูลที่ได้จากการประเมินความเสี่ยง) โดยเฉพาะในสถานที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบเหตุอุทกภัย ก็อาจมีความจำเป็นในการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม (Flood –protection Products) เช่น กำแพงกั้น พนังกั้นน้ำ วาล์วกันน้ำไหลย้อนกลับในท่อระบายน้ำทิ้ง ซึ่งอาจจะช่วยลดเบี้ยประกันภัยได้ส่วนหนึ่ง

 โดยที่อุปกรณ์เหล่านี้จะมีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบชั่วคราวและถาวร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจบนพื้นฐานของระดับความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม และความเป็นไปได้ของมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจหรือสถานประกอบกิจการเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปก็จะมี 2 แนวทางที่จะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน ดังนี้ คือ
- พยายามป้องกันน้ำที่จะเข้าท่วมสถานที่ปฏิบัติงาน โดยติดตั้งสิ่งกีดขวาง (Barriers) ที่อาจจะเป็นแบบถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ เพื่ออุดร่องประตู หน้าต่าง ฯลฯ รวมถึงอาจมีการก่ออิฐเป็นกำแพงสูงหรือใช้วัสดุที่เหมาะสมมาทำเป็นพนังกั้นน้ำ ตลอดจนติดตั้งวาล์วที่ท่อระบายน้ำทิ้งเพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนกลับ 

- ลดความเสียหายจากน้ำที่เข้าท่วมสถานที่ปฏิบัติงาน โดยเลื่อนตำแหน่งติดตั้งเต้าเสียบปลั๊กไฟ สายไฟ และอุปกรณ์ควบคุมระบบระบายอากาศ รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ สต็อกที่สำคัญให้สูงจากระดับน้ำที่คาดการณ์ไว้


4. ฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในการรับมือกับน้ำท่วม (Train employee to deal with flooding) การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานที่ถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้พวกเขาสามารถดำเนินการรับมือได้อย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึงสามารถปกป้องได้ทั้งตัวผู้ปฏิบัติงานและธุรกิจ โดยที่ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องเข้าใจถึงการเตือนภัยน้ำท่วมและรู้ว่าควรจะทำอย่างไรเมื่อน้ำไหลบ่าเข้ามา ซึ่งความเข้าใจที่ว่านี้จะรวมถึงการรับรู้อันตรายของอุทกภัย และวิธีการอพยพออกนอกพื้นที่ปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ อาจต้องมีการคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งเพื่อจัดตั้งเป็นทีมฉุกเฉิน เพื่อดำเนินการรับมือกับเหตุน้ำท่วม ซึ่งสมาชิกทีมจะรู้ว่าควรจะปิดเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าหลักและอุปกรณ์ที่สำคัญได้อย่างไร และรับรู้ถึงวิธีการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องด้วย


     การมีแผนงานรับเหตุฉุกเฉินด้านอุทกภัย จะช่วยในการบ่งชี้และจัดสรรการดำเนินการที่จำเป็น เพื่อช่วยลดความเสียหายอันเนื่องมาจากเหตุน้ำท่วม การฝึกซ้อมปฏิบัติการรับเหตุน้ำท่วมในทำนองเดียวกันกับเหตุเพลิงไหม้ จะช่วยให้ตรวจสอบได้ว่าแผนงานฯ นี้ใช้งานได้จริงหรือไม่ และผู้ปฏิบัติงานได้รับการฝึกอย่างถูกต้องเหมาะสม เพียงพอหรือไม่ด้วยเช่นกัน

แผนรับมือเหตุฉุกเฉินอุทกภัย (Flood Emergency Response Plan: FERP)
     เหมาะสำหรับสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม โดยกำหนดตัวบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการแผนงาน รวมถึงการหยุดกิจกรรมทั้งหมดถ้ามีความจำเป็น ซึ่งสามารถสลับสับเปลี่ยนตัวบุคคลให้ครอบคลุมตลอดช่วงระยะเวลาทำงาน นอกจากนี้ในงานเฉพาะด้านที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญพิเศษ ต้องมอบหมายบุคลากรที่มีความเหมาะสม

 สำหรับในแต่ละส่วนของโครงสร้างแผนงานก็ต้องบ่งชี้พื้นที่ที่มีแนวโน้มจะถูกน้ำท่วม และมั่นใจว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้โดยไม่ต้องมีกลไกพิเศษเพิ่มเติม นอกจากนี้ก็ยังต้องระบุขั้นตอนดำเนินการในการปิดเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อที่จะลดแหล่งจุดติดไฟ ส่วนจำนวนความเสียหายก็ควรจดบันทึกไว้เป็นเอกสารหลักฐานด้วย


1. มาตรการลดความเสี่ยงก่อนจะเกิดน้ำท่วม (Actions to Reduce the Risk before flooding)
- ตำแหน่งที่ตั้งสถานที่ปฏิบัติงานหรือสถานประกอบกิจการอยู่ใกล้กับโซนน้ำท่วม ใช้การสำรวจเพื่อพิจารณายกระดับความสูงของพื้นที่ตั้ง หรือยกระดับความสูงของพื้นวางอุปกรณ์ สต็อก การจัดเก็บเอกสารข้อมูลที่สำคัญ หรือเคลื่อนย้ายไปยังส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่สูงกว่า ต้องมั่นใจได้ว่าระดับที่จัดวางใหม่นั้นอยู่สูงกว่าระดับสูงสุดที่เคยท่วมอย่างน้อย ๆ 20 เซนติเมตร

 โดยเฉพาะกับคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ ตู้ควบคุม เครื่องจักรกล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ถ้าไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ก็อาจจะพิจารณาเลือกป้องกันเป็นส่วน ๆ ไป เช่น แผงควบคุม และควรมีการฉาบน้ำยาป้องกันสนิมที่ตัวเครื่องจักรกล นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาเคลื่อนย้ายยานพาหนะไปยังจุดที่อยู่สูงและมีความมั่นคงแข็งแรงกว่าเดิมอีกด้วย

- สำรวจดูตำแหน่งวางวัสดุ อุปกรณ์ที่อยู่ในที่โล่งว่ามีความมั่นคง แข็งแรงหรือไม่ เช่น ถังน้ำมันเชื้อเพลิง ถังแก๊ส ถังบรรจุของเหลวไวไฟ รวมถึงถังบรรจุที่อยู่ใต้ดินด้วย ซึ่งควรยึดติดให้มีความมั่นคง แน่นหนาเพื่อที่ว่าเมื่อเผชิญกับภาวะน้ำท่วมก็จะไม่ได้รับความเสียหายหรือลอยออกไป

- เลื่อนจุดวางอุปกรณ์ไฟฟ้าและการสื่อสาร เช่น เต้าเสียบปลั๊กไฟ ปลั๊กเชื่อมต่อสายโทรศัพท์ ฯลฯ ให้อยู่สูงกว่าระดับน้ำที่คาดว่าจะท่วม

- ทำให้มั่นใจว่าผนังกำแพงของตัวอาคารมีความแข็งแรง และอุดรูรั่ว หรือเสริมผนังส่วนที่บอบบางแล้ว อาจใช้ถุงทรายวางเป็นแนวกั้นรอบ ๆ อาณาเขตสถานที่ปฏิบัติงาน เพื่อเบี่ยงเบนทิศทางการไหลของน้ำ แต่ต้องมั่นใจในระบบระบายน้ำภายในว่ามีการป้องกันน้ำไหลย้อนกลับด้วย สำหรับผนังหรือพื้นอาคารหรือเฟอร์นิเจอร์อาจพิจารณาเปลี่ยนไปใช้วัสดุชนิดที่ทนต่อน้ำท่วมได้มากกว่า

- จัดเตรียมชุดอุปกรณ์ผจญภาวะน้ำท่วม (Flood Kit) เช่น ไฟฉายพร้อมแบตเตอรี่ ถุงมือยาง รองเท้าบูท ชุดคลุมกันน้ำ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล อุปกรณ์สื่อสารฉุกเฉิน รวมทั้งเตรียมเบอร์โทรติดต่อบริษัทประกันภัย ลูกค้า ซัพพลายเออร์ หน่วยบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น

- จัดเตรียมเรือพาย เสื้อชูชีพ อาหารที่ไม่เน่าเสียง่าย น้ำดื่ม ไฟฉาย อุปกรณ์สื่อสาร วิทยุ และอุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ ไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ทีมฉุกเฉินที่จะยังคงอยู่ในสถานที่ปฏิบัติงานในขณะน้ำท่วม

- พิจารณาลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม เช่น กำแพงกั้น พนังกั้นน้ำ วาล์วกันน้ำไหลย้อนกลับในท่อระบายน้ำทิ้ง เป็นต้น

- ตรวจสอบโครงสร้างของตัวอาคารอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อหาจุดบกพร่อง รอยแตกร้าว และรูโหว่ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำสามารถรั่วซึมเข้ามาได้ ถ้าพบเจอก็ต้องอุดให้หมด

- หมั่นดูแล ตรวจสอบ และบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ ทั้งภายในและภายนอกรอบ ๆ สถานประกอบกิจการ โดยต้องทำความสะอาดไม่ให้มีสิ่งอุดตันทางระบายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนและหลังหน้าฝน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและหมั่นตรวจสอบประสิทธิภาพและความพร้อมในการใช้งาน รวมถึงพิจารณาเครื่องสูบน้ำหลักและสำรองไว้ด้วย กรณีที่เครื่องสูบน้ำหลักไม่มีแหล่งจ่ายไฟ
    

2. มาตรการปฏิบัติเมื่อน้ำมีทีท่าจะท่วม (Actions if the treat of flooding is imminent)
- ถ้าเป็นไปได้ ให้ปิดแก๊ส แหล่งจ่ายไฟหลักและน้ำ แต่ยังคงมีแหล่งพลังงานสำรองสำหรับเครื่องสูบน้ำ ระบบป้องกันไฟไหม้ และระบบเตือนภัยอยู่

- ถอดปลั๊กไฟของอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และถ้าเป็นไปได้ ยกอุปกรณ์เหล่านี้ให้อยู่ในจุดที่เหนือระดับน้ำท่วมที่คาดการณ์ไว้

- ปิดวาล์วถังแก๊ส ถังน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ที่เป็นระบบจ่ายตามท่อ

- ใช้มาตรการป้องกันน้ำท่วมเต็มรูปแบบ

- ตื่นตัวเพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำ รวมถึงรับฟังข่าวแจ้งเตือนถึงความเสี่ยงที่น้ำจะไหลบ่าเข้าท่วม


3. มาตรการปฏิบัติเมื่อน้ำเข้าท่วม (Actions during a flood)
- ประสานงานกับหน่วยงานฉุกเฉินภายนอกถ้ามีการแจ้งเตือนให้อพยพ

- เตรียมพร้อมดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดมีความปลอดภัย ซึ่งหมายรวมถึงการอพยพ  ตามแผนการอพยพที่ได้วางเอาไว้

- อย่าพยายามเดินฝ่ากระแสน้ำท่วมที่มีความลึกแม้เพียง 15 เซ็นติเมตร ถ้าน้ำไหลแรงอาจทำให้ล้มและถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำได้ รวมถึงอาจมองไม่เห็นหลุมบ่อใต้น้ำซึ่งจะเป็นอันตรายได้

- อย่าพยายามขับรถฝ่ากระแสน้ำที่ไหลบ่าแรงแม้มีระดับความลึกแค่เพียง 60 เซ็นติเมตรก็ตาม

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำที่ไหลท่วมเพราะอาจมีการปนเปื้อนสิ่งสกปรกต่าง ๆ ทั้งเชื้อโรค สารเคมี และอื่น ๆ


4. มาตรการปฏิบัติภายหลังน้ำท่วมแล้ว (Actions following a flood)
- ติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อขอรับคำแนะนำในการดำเนินการ

- ถ้ามีการเคลมประกัน หลีกเลี่ยงการขจัดทิ้งอุปกรณ์ใด ๆ จนกว่าได้บอกกล่าวบริษัทประกันภัยแล้ว

- อย่าใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าและแก๊สที่ถูกน้ำท่วมจนกว่าได้รับการตรวจสอบอย่างแน่ใจและยืนยันความปลอดภัยแล้วจากช่างผู้ชำนาญการ

- ถ่ายรูปความเสียหายทั้งหมดทั้งตัวอาคาร อุปกรณ์ และวัสดุ สิ่งของ ซึ่งจะช่วยในเรื่องของข้อตกลงในการเคลมประกัน

- รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมและสูบน้ำที่ท่วมขังออกให้หมด ขจัดโคลน ทราย และสิ่งปรักหักพังที่ติดไฟได้ออกไป แล้วเริ่มกระบวนการทำความสะอาดและขจัดความชื้น (Dehumidification) พึงระมัดระวังเป็นพิเศษกับวัตถุอันตรายที่หกรั่วไหล ถังสารอันตรายที่ลอยน้ำ ถังที่หลุดลอยออกไป และวัตถุที่เป็นอันตรายต่าง ๆ

- อุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมควรได้รับการทำความสะอาดโดยเร็วเพื่อขจัดการปนเปื้อน

- ให้ช่างผู้ชำนาญการตรวจสอบระบบไฟฟ้า ระบบกระบวนการ และอุปกรณ์ทำความร้อน ให้มั่นใจเสียก่อนที่จะเดินเครื่องอีกครั้ง เปลี่ยนวงจรไฟฟ้า มอเตอร์หรือชิ้นส่วนที่ได้รับความเสียหายหนัก ทำความสะอาดและเป่าให้แห้ง ใส่น้ำมันหล่อลื่นและเคลือบผิวด้วยน้ำยาป้องกันสนิม

- ใช้โปรแกรมขออนุมัติเข้าปฏิบัติงานที่มีความร้อน (Hot Work Permit Program) สำหรับงานซ่อมแซม ฟื้นฟูที่ต้องใช้การเชื่อมและการตัด

- ฟื้นฟูระบบป้องกันไฟไหม้ที่ได้รับความเสียหาย

 พึงระวัง อาจเกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้ช่วงน้ำท่วมและภายหลังน้ำท่วม
     เนื่องจากว่าอุทกภัยหรือภาวะน้ำท่วมอาจทำให้ระบบป้องกันเพลิงไหม้ของสถานที่ปฏิบัติงานเสียหาย จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะก่อให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาได้ อันตรายจากเพลิงไหม้โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับ ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำความร้อน ของเหลว ก๊าซ และสารเคมีที่ไวไฟและจุดติดไฟได้ โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ ดังนี้ คือ

ไฟฟ้า (Electricity) ในภาวะน้ำท่วมสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเพลิงไหม้ อันมีสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจรในสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ เพื่อที่จะลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลัดวงจรขึ้นระหว่างน้ำท่วม สวิตช์ไฟฟ้าหลักควรที่จะปิดให้ได้ก่อนที่น้ำจะมาถึง เช่นเดียวกับมอเตอร์ในพื้นที่ที่อาจจะถูกน้ำท่วมก็ควรจะถูกเคลื่อนย้ายให้ห่างไกลรัศมีน้ำท่วมถึง
 อุปกรณ์ที่ถูกน้ำท่วมไม่ควรถูกจ่ายพลังงานให้จนกว่าจะทำความสะอาดอย่างถูกต้องและเป่าให้แห้ง รวมถึงทดสอบประสิทธิภาพของฉนวนเสียก่อน ถ้าสงสัยว่าเกิดความเสียหายขึ้นกับระบบไฟฟ้า (เช่น อุปกรณ์หรือสายไฟแช่อยู่ใต้น้ำ มีกลิ่นเหม็นไหม้ที่ฉนวน สายไฟเปื่อย หรือเกิดการสปาร์กขึ้น) ก็ควรปิดกระแสไฟฟ้าก่อน แล้วให้ช่างไฟฟ้าเข้าทำการตรวจสอบระบบ สายไฟทุก ๆ เส้นที่อยู่บนพื้นควรสันนิษฐานไว้ก่อนว่ายังมีกระแสไฟฟ้าอยู่จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจเสียก่อน

- เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generators) ในภาวะน้ำท่วมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองหรือแบบเคลื่อนย้ายได้ อาจจะถูกใช้ในการจ่ายพลังงานให้กับภาระกิจที่สำคัญหรือการซ่อมแซม การใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าควรจะควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายจากเพลิงไหม้ที่อาจเกิดขึ้น โดยที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงควรที่จะถูกใช้ภายนอกอาคาร เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอาคารมากเกินไป จนอาจเกิดอันตรายจากการสูดดมเข้าไป พึงระวังเมื่อเชื่อมต่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเข้ากับแหล่งพลังงานอื่น เช่น หม้อไฟสาธารณะ เพราะอาจเกิดกระแสไฟฟ้าไหลย้อนกลับหรือ “Back Feed” ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายไฟฟ้าดูดต่อพนักงานของหน่วยงานสาธารณะที่ปฏิบัติงานบริเวณใกล้เคียงนั้นได้ 

- อุปกรณ์ที่ให้ความร้อน (Heating Equipment) เช่น เครื่องทำความร้อนไฟฟ้า (Electric Heaters) หม้อไอน้ำ (Boilers) และเตาหลอมไฟฟ้า (Furnace) ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม อาจทำให้เกิดการลัดวงจรไฟฟ้าขึ้นในอุปกรณ์ที่จะถูกใช้ในการควบคุมกระบวนการเผาไหม้ กำหนดอุณหภูมิ หรือหมุนเวียนความร้อนได้ นอกจากนี้ น้ำอาจเข้าไปในห้องเผาไหม้ของอุปกรณ์ทำความร้อน ซึ่งสภาวะที่ห้องเผาไหม้เปียกเช่นนี้ จะทำให้ไฟหลุดลอดออกมาและอาจจุดติดไฟกับวัสดุที่อยู่ใกล้เคียงได้

ของเหลวไวไฟและของเหลวจุดติดไฟได้ (Flammable and Combustible Liquids) ในช่วงน้ำท่วม เศษวัตถุที่ลอยน้ำมาอาจกระแทกกับถังของเหลวไวไฟและของเหลวจุดติดไฟ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับตัวถังและอาจทำให้ท่อหรือถังแตก ส่งผลให้ของเหลวรั่วไหลออกมาได้ และถ้าลอยไปเจอกับแหล่งจุดติดไฟก็เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นได้ ถ้าเป็นไปได้ ก่อนน้ำจะท่วมควรเคลื่อนย้ายของเหลวเหล่านี้ออกจากสถานที่จัดเก็บที่อาจถูกน้ำท่วมถึง หรือยกพื้นที่จัดเก็บให้สูงขึ้น ส่วนถังบรรจุขนาดใหญ่ก็ควรตรึงรัดให้อยู่แน่นกับที่ ส่วนถังบรรจุใต้ดินก็ต้องเติมให้เต็มเพื่อป้องการลอยขึ้นมา ก่อนที่น้ำจะมาถึง วาล์วที่ติดกับท่อเชื่อมต่อกับถังควรปิด ภายหลังจากน้ำท่วม ถังบรรจุและท่อส่งสำหรับของเหลวไวไฟและของเหลวจุดติดไฟได้ควรจะได้รับการตรวจสอบเพื่อค้นหาจุดเสียหายหรือรั่วไหล ก่อนนำมาใช้งาน

ก๊าซไวไฟ (Flammable Gases) ถังบรรจุอาจลอยไปในกระแสน้ำกระแทกกับส่วนต่าง ๆ แล้วทำให้เกิดการรั่วไหลขึ้นมาถ้าเจอกับแหล่งจุดติดไฟก็เกิดไฟลุกไหม้ขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้นถังบรรจุควรตรึงรัดกับที่ให้มั่นคงและมีจุกครอบวาล์ว โดยที่แหล่งจ่ายก๊าซไวไฟควรที่จะถูกปิดก่อนที่น้ำจะท่วม และก่อนทำการอพยพควรทำการตรวจสอบอีกครั้งว่าแหล่งจ่ายต่าง ๆ ถูกปิดสนิทแล้ว

- สารเคมีต่าง ๆ (Chemicals) เช่น สารออกซิไดซ์ (Oxidizers) เมื่อสัมผัสกับน้ำจะก่อให้เกิดความร้อนหรือผลิตก๊าซที่ไวไฟและเป็นพิษ จึงสมควรที่จะถูกเคลื่อนย้าย ส่วนสารเคมีประเภทอื่น ๆ เช่น กรดหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพควรถูกเคลื่อนย้ายออกไปหรือนำไปไว้ยังพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำที่คาดการณ์ไว้

การฟื้นฟูภายหลังเหตุน้ำท่วม
     เพื่อที่จะลดการขยายวงความเสียหาย ภายหลังจากน้ำท่วมควรเข้าตรวจสอบและทำความสะอาดพื้นที่ส่วนที่น้ำท่วมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ แต่สิ่งที่มาเป็นลำดับแรก ก็คือ ความปลอดภัย ไม่ควรกลับเข้าไปในสถานประกอบกิจการจนกว่าจะแน่ใจว่ามีความปลอดภัยจริง ๆ แม้ว่าตัวอาคารดูเหมือนมีความปลอดภัย แต่แท้ที่จริงแล้วโครงสร้างอาจได้รับความเสียหายหนักและมีโอกาสพังทลายลงมาได้ รวมถึงอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากไฟฟ้าช็อต ถ้าสะพานไฟหลักไม่ได้ถูกตัด นอกจากนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่าน้ำที่ท่วมขังนั้นอาจปนเปื้อนสิ่งสกปรก สารเคมีและของเสียต่าง ๆ ดังนั้นผู้ที่จะเข้าทำความสะอาดควรป้องกันตัวเอง โดยสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถ้ามีการใช้ปั๊มดูดน้ำออก ก็ควรวางเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ไว้ด้านนอกอาคาร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการสูดดมฟูมของคาร์บอนมอนอกไซด์ที่สะสมในตัวอาคาร
    

     ทันทีที่มีความปลอดภัยที่จะกลับเข้าไปในตัวอาคาร ควรถ่ายรูปความเสียหายทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคาร อุปกรณ์ เครื่องจักร สินค้า หรือสต็อก ตรวจสอบกับบริษัทประกันภัยก่อนที่จะเริ่มกอบกู้และซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย เพื่อที่จะแยกแยะว่าส่วนใดซ่อมได้หรือเกินกว่าจะเยียวยา ซึ่งในบางครั้งอาจจะมีความรวดเร็วและปลอดภัยกว่าในการที่จะเปลี่ยนส่วนที่เสียหายแทนการซ่อม ทั้งนี้ก็อยู่กับดุลยพินิจของผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาหนทางที่ดีที่สุดในการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายโดยเฉพาะกับโครงสร้างอาคาร เครื่องจักรกล และอุปกรณ์ควบคุม
    

     อุปกรณ์ เครื่องจักรกล หรือระบบไฟฟ้าที่สัมผัสกับน้ำท่วม มีความเสี่ยงที่จะเสียหายได้ แม้ว่าระดับน้ำจะลดลงแล้วก็ตาม อุปกรณ์และเครื่องจักรกลอาจจะมีน้ำ ทรายหรือสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ เข้าไปอยู่ภายในตัวเครื่อง ถ้าพยายามที่จะเดินเครื่อง หรือจ่ายพลังงานเข้าสู่เครื่อง หรือทดสอบเครื่องก็จะทำให้เสียหายหนักขึ้น ซึ่งวิธีที่ถูกต้องก็ควรที่จะทำความสะอาดและทำให้แห้งเสียก่อน รวมถึงการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ก่อนเริ่มทำงานอีกครั้ง เพราะแม้ว่าสภาพภายนอกตัวเครื่องจะไม่เสียหาย แต่ก็อาจจะมีความชื้นและการปนเปื้อนที่หลงเหลืออยู่ภายใน ที่สามารถนำไปสู่การเสียหายอย่างถาวรได้
 

     การเตรียมความพร้อมของเครื่องก่อนเริ่มทำงานอีกครั้ง ก็จะเกี่ยวข้องกับการระบายน้ำออกจากตัวเครื่องอย่างระมัดระวัง การทำให้แห้ง การทำความสะอาด ขจัดสิ่งปนเปื้อน และหล่อลื่นให้เสร็จสิ้น ก่อนที่เริ่มเดินเครื่องหรือจ่ายพลังงานเข้าสู่เครื่อง ถ้าไม่แน่ใจควรติดต่อผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายเพื่อขอคำแนะนำ
  

     การที่จะดำเนินภาระกิจทำความสะอาดให้ได้โดยไวนั้น ระบบไฟฟ้ากำลังและ HVAC ต้องได้รับการฟื้นฟูเป็นอันดับแรก ส่วนมอเตอร์ทำความร้อนก็ต้องตรวจสอบค่าความต้านทานของฉนวนก่อนที่จะนำไปซ่อม ในขณะที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องเป่าให้แห้ง ฯลฯ ทั้งนี้ อุปกรณ์ไฟฟ้า (Electrical Equipment) ไม่ควรจ่ายพลังงานเข้าสู่อุปกรณ์ที่สัมผัสกับน้ำท่วม จนกว่าจะทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ทำให้แห้ง และฉนวนได้รับการทดสอบประสิทธิภาพในการต้านทานแล้ว และควรตรวจสอบความเสียหายของแผงวงจรและหม้อแปลงเสียก่อนด้วย
    

     การจัดวางลำดับความสำคัญ (Priority) ของกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมหรือการเปลี่ยนอุปกรณ์จะเป็นตัวกำหนดลำดับความสำคัญให้กับอุปกรณ์ที่เสียหายว่า อุปกรณ์ตัวใดที่มีจำเป็นมากที่สุดในการเริ่มต้นปฏิบัติการใหม่อีกครั้ง ส่วนตัวอาคารนั้น ก็ต้องมีการตรวจสอบส่วนที่เสียหายของโครงสร้างอาคาร รวมถึงตรวจสอบเพดานเพื่อดูสัญญาณของการยุบตัว หรือทรุดลงมา อาจจำเป็นต้องเจาะรูตามขอบเพดานที่อุ้มนำไว้เพื่อระบายน้ำออก อุดรูรั่วต่าง ๆ ตามหลังคา ผนังหรือหน้าต่าง อาจมีความจำเป็นต้องใช้ผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการทำความสะอาดและซ่อมแซมภายหลังน้ำท่วม ตรวจสอบสถานที่จัดเก็บของเหลวไวไฟ และระบบท่อจ่ายก๊าซไวไฟทั้งหมด เพื่อค้นหารอยรั่วก่อนที่จะเริ่มต้นปฏิบัติการใหม่อีกครั้ง รวมถึงเศษปรักหักพังที่ติดไฟได้ทั้งหมดที่กองทับถมกันอยู่ก็ต้องถูกเคลื่อนย้ายออกไป
    

     จากที่กล่าวมาทั้งหมดของบทความนี้ หัวใจสำคัญของการเผชิญกับอุทกภัยหรือภาวะน้ำท่วม ก็คือ การมีสติ มีความตระหนัก การวางแผน การเตรียมความพร้อมและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงอุทกภัย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันและลดระดับความเสียหายต่อธุรกิจที่จะตามมาได้บ้าง อย่างน้อย ๆ เมื่อถึงที่สุดแล้วก็สามารถจะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “เราทำดีที่สุดแล้ว”


    
เอกสารอ้างอิง
* Guidance for Business–Managing your Flood Risk [Hardfacts]
* Flood Risk Management for Preventing Property Losses
* Flood Risk Management in Australia

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด