เนื้อหาวันที่ : 2013-04-22 16:59:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 10124 views

ระบบตรวจสอบ RTU/CSCS สำหรับสถานีย่อยที่ไม่มีช่างไฟฟ้าประจำสถานี

ปัจจุบันระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า หรือผู้ให้บริการระบบจำหน่ายได้นำหลักการสถานีย่อยไฟฟ้าแบบไม่มีช่างไฟฟ้าประจำสถานี (Unmanned Substation) เข้ามาประยุกต์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้า

ระบบตรวจสอบ RTU/CSCS
สำหรับสถานีย่อยที่ไม่มีช่างไฟฟ้าประจำสถานี (Unmanned Substation)

พิชิต จินตโกศลวิทย์ 
pichitor@yahoo.com
   
     ปัจจุบันระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า หรือผู้ให้บริการระบบจำหน่ายได้นำหลักการสถานีย่อยไฟฟ้าแบบไม่มีช่างไฟฟ้าประจำสถานี (Unmanned Substation) เข้ามาประยุกต์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้า ดังนั้นระดับความพร้อมใช้ (Availability) ของระบบ SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) ต้องถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นอย่างยิ่งเพื่อสนับสนับสนุนลักษณะงานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การขัดข้องในการติดต่อสื่อสารของสถานีย่อยแบบนี้กับระบบ SCADA นั้นก็เป็นปัญหาหลักปัญหาหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อศูนย์สั่งการควบคุมระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าโดยตรง หนึ่งในต้นตอของสาเหตุที่มักทำให้ระบบ SCADA ติดต่อสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้านั้น ๆ ขัดข้อง คือ อุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์อันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศปกติของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรนั้นเอง ซึ่งอาจส่งผลทำให้อุปกรณ์ประเภท RTU หรือ CSCS (Remote Terminal Unit/Computerized Substation Control System) เกิดทำงานผิดปกติได้ สำหรับวิธีการบำรุงรักษาเบื้องต้น และมักประสบความสำเร็จนั้น คือ การเข้าไปทำการรีเซตอุปกรณ์ RTU/CSCS ณ ที่สถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้าที่มีปัญหาการติดต่อสื่อสารกับระบบ SCADA

 โดยการส่งพนักงานบำรุงรักษาระบบ RTU เข้าไปทำการรีเซต แต่กระนั้นวิธีการดังกล่าวไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งช่างไฟฟ้าสถานีย่อยที่ต้องเข้าไปสแตนด์บาย, พนักงานบำรุงรักษา RTU และอาจรวมไปถึงพนักงานบำรุงรักษาระบบสื่อสารข้อมูล ดังนั้นบทความนี้จึงได้นำเสนอขั้นตอนการบำรุงรักษาแบบใหม่ โดยใช้ระบบตรวจสอบ RTU/CSCS ที่ใช้งบประมาณไม่สูง และสามารถทำการวิเคราะห์หาต้นเหตุของการขัดข้อง

รวมทั้งสามารถทำให้อุปกรณ์ RTU/CSCS กลับมาใช้งานได้ปกติด้วยการรีเซตจากระยะไกลได้ ระบบตรวจสอบ RTU/CSCS นั้นสามารถวิเคราะห์สัญญาณสื่อสารจากปลายสายสัญญาณทั้งฝั่งส่ง และฝั่งรับของอุปกรณ์ RTU/CSCS และยังสามารถตรวจสอบสถานะของแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงเพื่อเป็นข้อมูลให้กับพนักงานบำรุงรักษา RTU ในการประเมินว่าส่วนใดของระบบ SCADA (อุปกรณ์ SCADA ที่ศูนย์สั่งการฯ, ระบบสื่อสารข้อมูล และอุปกรณ์ RTU/CSCS) เกิดขัดข้อง อีกทั้ง ระบบตรวจสอบ RTU/CSCS ยังสามารถทำการรีเซตอุปกรณ์ RTU/CSCS เมื่ออุปกรณ์ RTU/CSCS เกิดการทำงานไม่ปกติ ยิ่งกว่านั้นระบบตรวจสอบ RTU/CSCS สามารถโยกย้ายสายสัญญาณสื่อสารเพื่อทดสอบลูปแบ็ค (Loop-back Testing) จากศูนย์สื่อสารข้อมูล เมื่อระบบสื่อสารข้อมูลถูกประเมินว่าอาจเป็นสาเหตุของการขัดข้องของระบบ SCADA
    

      ระบบตรวจสอบ RTU/CSCS สามารถเพิ่มระดับความเชื่อถือได้ (Reliability) และความพร้อมใช้ของสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้า รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเชิงแก้ไข และช่างไฟฟ้าสถานีย่อย ระบบตรวจสอบ RTU/CSCS สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น โทรศัพท์พื้นฐาน หรือสายใยแก้วนำแสงสนับสนุนหลักการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ดี

สิ่งที่ต้องพิจารณาเบื้องต้น
     เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจำหน่าย และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ รวมทั้งการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ หลักการสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้าได้ถูกศึกษา และนำมาใช้ในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตามถ้าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้ามีสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้าจำนวนมาก ก็ควรมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการหลายศูนย์ตามบริเวณพื้นที่สถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้า เพื่อสำรองช่างไฟฟ้าสถานีย่อยเพื่อรองรับในกรณีผิดปกติ และกรณีฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามก็มีหลายอุปสรรคสำหรับสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้า รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการแบบไม่มีช่างไฟฟ้าดังรายละเอียดต่อไปนี้


- ระยะทางระหว่างศูนย์ปฏิบัติการและสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้า อาจต้องใช้เวลาเดินทางเมื่อระบบ SCADA ไม่สามารถติดต่อกับสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้านั้น ๆ ได้
- จำนวนช่างไฟฟ้าสถานีย่อยสำรองอาจไม่เพียงพอ เมื่อเกิดระบบ SCADA ทั้งระบบขัดข้อง หรือระบบสื่อสารหลักขัดข้อง ซึ่งอาจทำให้มีสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้าที่ไม่สามารถควบคุมได้จำนวนมากในเวลาเดียวกัน
- ระยะทางระหว่างฝ่ายบำรุงรักษา และสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้าอาจต้องใช้เวลาเดินทาง เพื่อลดผลกระทบจากอุปสรรคดังกล่าวระบบตรวจสอบ RTU/CSCS หรือเรียกอีกอย่างว่า RTUMON จึงได้ถูกออกแบบ และพัฒนาขึ้น ในบทความนี้จะนำเสนอการประยุกต์ใช้งานระบบตรวจสอบ RTU/CSCS ในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า

การติดตั้งระบบ RTUMON
   ระบบ RTUMON คือ ระบบ SCADA ขนาดเล็กมากที่ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ RTU/CSCS ในสถานีย่อยของการไฟฟ้า ระบบ RTUMON จะใช้สายสัญญาณทองแดงเพื่อดึงสถานะและอะลาร์ม รวมทั้งควบคุมการทำงานฟังก์ชั่นต่าง ๆ ผ่านอุปกรณ์ประเภทคอนโทรลเลอร์ (Controller) สำหรับการตรวจสอบการสื่อสารระหว่าง SCADA และ RTU/CSCS ระบบ RTUMON สามารถดักจับเมสเซจของโปรโตคอลจากสายสื่อสารระบบ SCADA และสามารถทำการวิเคราะห์สถานะได้ โดยรูปที่ 1 แสดงรูปแบบพื้นฐานของระบบ RTUMON
 

รูปที่ 1 รูปแบบพื้นฐานของระบบ RTUMON

  
     อันที่จริง ระบบ RTUMON จะประกอบด้วยสามส่วนหลัก คือ สื่อสัญญาณ, ชุดไมโครคอนโทรลเลอร์ และ โปรแกรมประยุกต์ที่ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์

1. สื่อสัญญาณ
     สื่อสัญญาณของระบบ RTUMON เป็นหนึ่งในส่วนที่สำคัญ ดังนั้นระบบ RTUMON จึงถูกออกแบบให้สามารถใช้สื่อสัญญาณได้สองประเภท

 
     สื่อสัญญาณหลักของระบบ RTUMON คือสายใยแก้วนำแสงระหว่างฝ่ายบำรุงรักษา RTU และสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้า ซึ่งโครงข่ายใยแก้วที่ใช้โดยทั่วไปเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสารข้อมูลของการไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ระบบ RTUMON สามารถใช้โครงข่ายใยแก้วนำแสงในรูปแบบแบ่งปันหรือใช้ร่วมกัน เพื่อลดจำนวนคอร์สายใยแก้วนำแสงที่ถูกนำมาใช้งาน โดยการใช้หลักการของโปรโตคอล TCP/IP และโปรโตคอลอีเทอร์เนต (Ethernet) เหตุผลที่เลือกใช้โปรโตคอล TCP/IP ก็เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์การใช้งาน ทั้งด้านราคาของอุปกรณ์ ความสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมทั้งเป็นโปรโตคอลชนิดเปิด อีกทั้งในแต่ละสถานีย่อยส่วนใหญ่มีสวิตช์อีเทอร์เนต (Ethernet Switch) ติดตั้งใช้งานอยู่แล้ว ดังนั้นระบบ RTUMON สามารถใช้เพียงสาย UTP (Unshielded Twisted Pairs) เชื่อมต่อเข้ากับสวิตช์อีเทอร์เน็ตในสถานีย่อยนั้นได้โดยตรง


     อีกประการหนึ่ง ระบบ RTUMON ยังมีสื่อสัญญาณสำรองเมื่อระบบใยแก้วนำแสงขัดข้อง นั่นคือ ระบบโทรศัพท์พื้นฐานแบบสาธารณะผ่านโมเด็มแบบอะนาลอก (Analog Modem) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทุกสถานีย่อยจะมีโทรศัพท์พื้นฐานเพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ดังนั้นระบบ RTUMON สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดโดยการใช้งานร่วมกับระบบงานปกติโดยไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายแบบคงที่ อย่างไรก็ตาม โทรศัพท์พื้นฐานค่อนข้างช้า และมีโอกาสหลุดการเชื่อมต่ออย่างไม่ตั้งใจค่อนข้างสูง ดังนั้นโทรศัพท์พื้นฐานจึงถูกเลือกเป็นสื่อสัญญาณสำรอง


2. ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontroller)
     ไมโครคอนโทรลเลอร์ คืออุปกรณ์ที่สามารถทำการโปรแกรมมิ่ง (Programming) ได้ ซึ่งใช้สำหรับตรวจสอบ และควบคุมอุปกรณ์ RTU/CSCS รวมทั้งอุปกรณ์ข้างเคียง ไมโครคอนโทรลเลอร์ยังต้องสื่อสารกับโปรแกรม RTUMON MMI  (RTUMON Man Machine Interface)  ที่ติดตั้งอยู่ที่ฝ่ายบำรุงรักษา สำหรับระบบ RTUMON ประกอบด้วยประเภทของไมโครคอนโทรลเลอร์ดังต่อไปนี้


     2.1 คอมมูนิเคชั่นคอนโทรลเลอร์ (CC: Communication Controller)
     บอร์ด CC ดังรูปที่ 2 คือบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์หลักของระบบ RTUMON ที่จัดการส่วนการสื่อสารข้อมูล บอร์ด CC ใช้หน่วยประมวลผลรุ่น NXP LPC2438 โดยพอร์ตสื่อสารที่บอร์ดรองรับมีดังต่อไปนี้

 
- พอร์ตอีเทอร์เน็ตความเร็ว 10/100 Mbs: พอร์ตนี้ถูกใช้สำหรับสื่อสารกับโปรแกรม RTUMON MMI ที่ตรวจสอบ และควบคุมอุปกรณ์ RTU/CSCS ในระดับผู้ใช้ ในส่วนของโปรโตคอลนั้นจะใช้โปรโตคอล MODBUS/TCP ประเภท Slave จุดประสงค์เพื่อรองรับทุกโปรแกรมประยุกต์ที่สนับสนุน MODBUS/TCP

- พอร์ต RS-232/RS-485: พอร์ตนี้ถูกใช้สำหรับสื่อสารกับ DIOC (Digital I/O Controller) ซึ่งเป็นคอนโทรลเลอร์แบบดิจิตอลที่ควบคุม และตรวจสอบระบบ RTU/CSCS ในระดับโปรเซส (Process) ในส่วนโปรโตคอลเป็นโปรโตคอลที่ออกแบบพัฒนาเพื่อมาใช้กับระบบ RMON โดยเฉพาะ มีชื่อว่า TM1BUS จุดประสงค์เพื่อเพิ่มความเร็ว และลดโหลดในการประมวลผลของหน่วยประมวลผลที่มีขนาดเล็ก

- พอร์ต RS-232 ที่ 1: พอร์ตนี้ถูกใช้เพื่อสื่อสารกับโปรแกรม RMON MMI โดยใช้วิธีการหมุนโทรศัพท์พื้นฐาน สืบเนื่องจากโทรศัพท์พื้นฐานนั้นมีความเร็วต่ำ และเป็นระบบสาธารณะ ดังนั้นโปรโตคอล TM1BUS ถูกเลือกใช้เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัย และรักษาความเร็วให้สอดคล้อง ข้อมูลทางเทคนิคอีกประการหนึ่ง เนื่องจากระบบ RMON ใช้โทรศัพท์ร่วมกับช่างไฟฟ้าสถานีรวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ดังนั้นบอร์ด CC จะทำการรอโดยการนับจำนวนสัญญาณริง (Ring Tone) ตามจำนวนที่เหมาะสม ก่อนที่จะรับสายโทรศัพท์แบบอัตโนมัติ

- พอร์ต RS-232 ที่ 2: พอร์ตนี้ใช้ในการตรวจสอบ และวิเคราะห์เนื้อหาในเมสเซจของโปรโตคอลว่าถูกต้องหรือไม่ โดยพอร์ตนี้จะเชื่อมต่อขาสัญญาณรับ (RXD) กับขาสัญญาณส่ง (TXD) ทั้งฝั่ง SCADA และ RTU/CSCS โดยการนำวงจรไดโอดบล็อกกิ้ง (Diode Blocking) มาประยุกต์ใช้งาน และเพื่อการลดการประมวลผลของบอร์ด CC จะทำการตรวจสอบเฉพาะส่วนหัวของเมสเซจเท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


  DNP3: 05, 64, Source Address, Destination Address
  Extended WISP+: SMC[84|85|86|87], RTU Address

 

รูปที่ 2 คอมมูนิเคชั่นคอนโทรลเลอร์

 

     2.2 ดิจิตอลอินพุตเอาต์พุตคอนโทรลเลอร์ (DIOC: Digital I/O Controller)
     บอร์ด DIOC ดังรูปที่ 3 คือบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ที่นำหน้าที่ตรวจสอบสัญญาณจากอุปกรณ์ RTU/CSCS และควบคุมแหล่งจ่ายไฟของ RTU/CSCS รวมทั้งควบคุมวงจรลูปแบ็ค บอร์ด DIOC ใช้ ATMEL AT89LP4051 เป็นหน่วยประมวลผลโดยสามารถรองรับการสื่อสารแบบอนุกรม จำนวนหนึ่งพอร์ต มีดิจิตอลอินพุต 6 จุด และ ดิจิตอลเอาต์พุต 6 จุด ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 
- พอร์ต RS232/RS485: พอร์ตนี้ใช้สำหรับการสื่อสารกับบอร์ด CC โดยใช้โปรโตคอล TM1BUS เพื่อรับการสั่งการจากบอร์ด CC

- ดิจิตอลอินพุต

- DI0: ตรวจสอบสัญญาณจาก SCADA สำหรับวิเคราะห์สื่อสัญญาณเบื้องต้น

- DI1: ตรวจสอบสัญญาณจากอุปกรณ์ RTU/CSCS สำหรับวิเคราะห์สื่อสัญญาณเบื้องต้น

- DI2: สัญญาณสถานะของ RTU/CSCS (Unhealthy/Healthy) โดยการตรวจสอบจากคอนแท็กต์วอตช์ดอก (Watchdog)

- DI3: ตรวจสอบไฟเลี้ยงกระแสตรงขัดข้อง

- DI4: ตรวจสอบไฟเลี้ยงกระแสสลับขัดข้อง

- DI5: จองสำหรับระบบงานในอนาคต

- ดิจิตอลเอาต์พุต

- DO0: จ่ายไฟเลี้ยงกระแสตรงอุปกรณ์ RTU/CSCS

- DO1: ยกเลิกจ่ายไฟเลี้ยงกระแสตรงอุปกรณ์ RTU/CSCS

- DO2: ทดสอบลูปแบ็คสายใยแก้วนำแสง

- DO3-DO5: จองสำหรับระบบงานในอนาคต


รูปที่ 3 ดิจิตอลอินพุตเอาต์พุตคอนโทรลเลอร์

 

3. ซอฟต์แวร์ RTUMON MMI (RTUMON Man Machine Interface)
     RTUMON MMI ดังรูปที่ 4 ถูกติดตั้งที่เครื่องคอมพิวเตอร์ ณ ฝ่ายบำรุงรักษา ซึ่งตัวซอฟต์แวร์ถูกออกแบบเพื่อควบคุมฟังก์ชั่นทดสอบลูปแบ็ค และแหล่งจ่ายไฟเลี้ยง รวมทั้งตรวจสอบสถานะอุปกรณ์ RTU/CSCS ในสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้า RTUMON MMI เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาด้วย Microsoft Visual Studio.NET

  
     RTUMON MMI สามารถเชื่อมต่อกับบอร์ด CC ของแต่ละสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้าในลักษณะทำงานขนานกัน พนักงานบำรุงรักษาสามารถปรับแต่งค่าพารามิเตอร์เกี่ยวกับโพลลิ่ง รวมทั้งพารามิเตอร์เกี่ยวกับโมเด็ม และ TCP/IP เพื่อให้ระบบ RTUMON ทำงานได้มีประสิทธิภาพดีที่สุด


     ทางด้านส่วนปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ถูกออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายโดยใช้ระบบสี รวมทั้งระบบเสียงเพื่อแจ้งสถานะของระบบแก่พนักงานบำรุงรักษา

 
     การแสดงผลหลักจะประกอบด้วยแถวของปุ่มที่มีชื่อบ่งบอกสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้สามารถคลิกเข้าไปอีกระดับเพื่อควบคุม หรือตรวจสอบอุปกรณ์ RTU/CSCS ในสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้านั้น อย่างไรก็ตามพนักงานบำรุงรักษา สามารถเจาะจงไปยังสถานีย่อยได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยใช้ระบบช่วยค้นหา สำหรับแต่ละสถานีย่อยมีการแจ้งสถานะ หรือเตือนด้วยระบบสีดังต่อไปนี้


- สีเขียว: การสื่อสารระหว่าง SCADA และอุปกรณ์ RTU/CSCS  เป็นปกติ

สีขาว: ไม่มีไฟเลี้ยง DC หรือ AC

สีแดง: การสื่อสารของ SCADA อยู่ในโหมดลูปแบ็ค

สีน้ำเงิน: บอร์ด DIOC ขัดข้อง

สีม่วง: บอร์ด DIOC กำลังเตรียมพร้อมทำงาน

สีแดงกะพริบ: อุปกรณ์ RTU/CSCS ขัดข้อง หรือระบบสื่อสารระหว่าง SCADA ขัดข้อง

- สีเหลือง: ต้องการการบำรุงรักษาตามตารางเวลา

สีน้ำตาล: RTU/CSCS กำลังบำรุงรักษาเชิงป้องกัน

สีส้ม: แขวน Tag ว่าระบบในสถานีย่อยนั้นอยู่ในช่วงบำรุงรักษาเชิงแก้ไข

สีเทา: บอร์ด CC ไม่สามารถติดต่อได้


     สิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่ง คือพนักงานบำรุงรักษา สามารถควบคุมแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงของอุปกรณ์ RTU/CSCS ได้นั้นหมายความว่าพนักงานบำรุงรักษาสามารถทำการรีเซต RTU/CSCS ได้จากระยะไกล อีกคุณสมบัติที่สำคัญนั้น คือสามารถทำการทดสอบลูปแบ็คเพื่อตรวจสอบสายใยแก้วนำแสงได้จากระยะไกลโดยไม่ต้องส่งพนักงานบำรุงรักษาเข้าไปในสถานีย่อยนั้น

รูปที่ 4 ซอฟต์แวร์ RTUMON MMI


   
     RTUMON MMI ยังมีระบบรักษาความปลอดภัยโดยใช้ระบบรหัสผ่าน และสิทธิตามระดับผู้ใช้ เพื่อจำกัด และป้องกันการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ดังรูปที่ 5
    

รูปที่ 5 ระบบรักษาความปลอดภัย

 

ขั้นตอนการบำรุงรักษา RTU/CSCS ที่ปรับปรุงด้วยระบบ RTUMON 
    โดยปกติเมื่ออุปกรณ์ RTU/CSCS ในสถานีย่อยอันแมนเกิดติดต่อไม่ได้, ศูนย์สั่งการระบบไฟฟ้าจะแจ้งให้ฝ่ายบำรุงรักษารับทราบ และส่งช่างไฟฟ้าสถานีย่อยเข้าไปดูแลสถานีย่อยแบบไม่มีช่างไฟฟ้านั้น ระหว่างช่วงเหตุการณ์ดังกล่าวความเชื่อถือได้ของระบบจำหน่ายไฟฟ้าจะลดลงเนื่องจากศูนย์สั่งการระบบไฟฟ้าไม่สามารถตรวจสอบสถานะของสถานีย่อยรวมทั้งไม่สามารถควบคุมอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าได้จนกว่าช่างไฟฟ้าสถานีย่อยจะเดินทางเข้าไปถึง ในเวลาเดียวกันฝ่ายบำรุงรักษา จะส่งพนักงานบำรุงรักษาเข้าไปตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา ดังนั้นการไฟฟ้าต้องเสียค่าใช้จ่ายในค่าแรงรวมทั้งค่าเดินทาง และอาจมีค่าเสียหายจากไฟฟ้าดับถ้าเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในระหว่างการเดินทางของช่างไฟฟ้าสถานีย่อยทำให้ไฟฟ้าดับเป็นระยะเวลานานกว่าที่ควรจะเป็น

 
   ดังนั้นขั้นตอนการบำรุงรักษาแบบใหม่จึงถูกนำเสนอเพื่อเพิ่มระดับความเชื่อถือได้ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา โดยเฉพาะถ้าอุปกรณ์ RTU/CSCS ขัดข้อง พนักงานบำรุงรักษาสามารถทำการตรวจสอบ และรีเซตอุปกรณ์ RTU/CSCS โดยระบบ RTUMON จากระยะไกลได้ หลังจากนั้น ถ้าอุปกรณ์ RTU/CSCS สามารถกลับคืนสภาพปกติ การไฟฟ้าก็จะสามารถประหยัดค่าเดินทางและค่าแรงได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าอุปกรณ์ RTU/CSCS ไม่สามารถกลับคืนสภาพปกติจากการรีเซต พนักงานบำรุงรักษายังสามารถ ตรวจหาส่วนที่ขัดข้อง แล้วแจ้งผู้ดูแลในส่วนนั้นเพื่อเข้าทำการแก้ไข ซึ่งจะสามารถลดจำนวนการส่งพนักงานที่ซับซ้อน และไม่จำเป็น รวมทั้งลดระยะเวลาบำรุงรักษา


 
รูปที่ 6 โฟลชาร์ตของขั้นตอนการบำรุงรักษา


สรุป
  ในแง่เพิ่มความสามารถในทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า วิธีการที่สำคัญหนึ่งคือการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ บนเงื่อนไขที่ความเชื่อถือได้ของระบบจำหน่ายต้องเป็นพึงพอใจต่อลูกค้า บทความนี้ได้นำเสนอระบบ RTUMON และขั้นตอนการบำรุงรักษาที่สามารถเพิ่มระดับความเชื่อถือได้ เนื่องจากสามารถลดระยะเวลาแก้ไข และป้องกันการเกิดไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน ลดช่องโหว่ของของการนำหลักการสถานีย่อยอันแมนเข้ามาใช้ในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด