เนื้อหาวันที่ : 2013-04-22 15:55:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 10125 views

ระบบตรวจจับก๊าซอันตราย

โรงงานอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น โรงผลิตน้ำมันหรือก๊าซ โรงงานอิเลกทรอนิกส์ โรงกลั่นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ แท่นขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ โรงงานเคมี

ระบบตรวจจับก๊าซอันตราย (Hazardous Gas Detection System)


ศิริพร วันฟั่น

      โรงงานอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น โรงผลิตน้ำมันหรือก๊าซ โรงงานอิเลกทรอนิกส์ โรงกลั่นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ แท่นขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ โรงงานเคมี โรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โรงบำบัดน้ำเสีย โรงงานถลุงและผลิตเหล็กกล้า โรงงานปิโตรเคมี โรงงานผลิตรถยนต์ ไปจนถึงโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ ล้วนแต่มีโอกาสที่จะสัมผัสก๊าซและไอระเหยที่เป็นอันตราย ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ก็คือ ผู้ปฏิบัติงานนั่นเอง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่นายจ้างจะต้องมีระบบหรืออุปกรณ์ในการตรวจจับก๊าซที่เป็นอันตรายเหล่านี้ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงาน เพื่อที่จะมั่นใจว่าพื้นที่ปฏิบัติงานมีความปลอดภัย

      ก๊าซอันตราย (Hazardous Gases) เป็นก๊าซที่คนเราสัมผัสแล้ว ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการระคายเคือง เจ็บป่วยหรือเสียชีวิต หรือเป็นก๊าซที่สามารถก่อให้เกิดการลุกไหม้หรือการระเบิด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

 

ประเภทของก๊าซอันตราย


      โดยทั่วไปแล้ว ก๊าซและไอระเหยสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้ ซึ่งลักษณะอันตรายจะขึ้นอยู่กับชนิดของก๊าซ ซึ่งก๊าซอันตรายเหล่านี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 หมวดหลัก คือ

      โดยทั่วไปแล้ว ก๊าซและไอระเหยสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้ ซึ่งลักษณะอันตรายจะขึ้นอยู่กับชนิดของก๊าซ ซึ่งก๊าซอันตรายเหล่านี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 หมวดหลัก คือ

 
     (1) ก๊าซติดไฟได้ (Combustible Gases) อันตรายของก๊าซชนิดนี้ก็คือ สามารถที่จะลุกไหม้หรือระเบิดได้ และมีโอกาสที่จะสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อโรงงานและตัวพนักงาน ตัวอย่างก๊าซติดไฟได้ที่เราอาจต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้ง เช่น อีเทน บิวเทน อะเซทิลีน มีเทน และไฮโดรเจน เป็นต้น

และการที่ก๊าซติดไฟได้จะลุกไหม้ได้นั้นจะมี 3 องค์ประกอบที่จำเป็นหรือที่เรียกว่า 3 เหลี่ยมการติดไฟ (Combustion Triangle) อันได้แก่ ก๊าซมีปริมาณที่มากเพียงพอ ปริมาณอากาศหรือออกซิเจนที่มากเพียงพอ และมีแหล่งจุดติดไฟ ทั้งนี้ ก๊าซต้องมีปริมาณความเข้มข้นที่สูงเพียงพอที่จะลุกไหม้ได้ หรือที่เรียกว่า ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ทำให้ก๊าซติดไฟหรือระเบิดได้ (the Lower Explosive Limit: LEL)  

แต่ถ้าความเข้มข้นของก๊าซสูงเกินจุดนี้ ก็จะเริ่มเข้าแทนที่ออกซิเจน จนในที่สุดก็จะไม่มีปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอต่อการติดไฟได้ ซึ่งความเข้มข้นของก๊าซที่จุดนี้ เรียกว่า ค่าความเข้มข้นสูงสุดที่ทำให้ก๊าซติดไฟหรือระเบิดได้ (the Upper Explosive Limit: UEL) อย่างไรก็ดี มีก๊าซบางชนิดที่ไม่จำเป็นต้องมีออกซิเจนจากภายนอกมาจุดติดไฟ แถมยังมีค่าความเข้มข้นสูงสุดที่ทำให้ก๊าซติดไฟหรือระเบิดได้ 100% อีกด้วย ตัวอย่างเช่น เอธิลีนออกไซด์ 


     (2) ก๊าซพิษ (Toxic Gases) ก่อให้เกิดชนิดของอันตรายที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับก๊าซติดไฟได้ โดยมากแล้วอันตรายที่ปรากฏจะมีความเข้มข้นที่น้อยกว่าค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ทำให้ก๊าซติดไฟหรือระเบิดได้ (LEL) อยู่มาก ด้วยเหตุนี้ ความเข้มข้นของก๊าซพิษจึงถูกวัดในหน่วยวัดที่ต่างออกไป ซึ่งโดยมากแล้วก็จะเป็น ส่วนต่อล้านส่วน (The part per million: ppm) หรือ มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (mg/m3) ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักโมเลกุลของก๊าซ และอุณหภูมิรวมถึงความดันด้วย


 ก๊าซพิษแต่ละชนิดจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่ปวดหัวเล็กน้อย เจ็บป่วย และรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของก๊าซพิษที่สัมผัส และมักจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและระยะเวลาของการสัมผัสด้วย ตัวอย่างเช่น การสัมผัสก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณ 2,500 ppm เป็นระยะเวลา 5 นาทีจะไม่มีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ แต่กับนกคีรีบูนถึงกับตายได้  

แต่ในทางกลับกัน ถ้าสัมผัสก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณ 500 ppm เป็นระยะเวลา 160 นาทีอาจฆ่าชีวิตคนเราได้ แต่กับนกคีรีบูนยังร่าเริงอยู่ได้ ดังนั้นขีดจำกัดที่ยอมรับได้ของก๊าซพิษ จึงมักจะอยู่ในรูปแบบของ Time Weighted Average (TWA), the Long Term Exposure Limit (LTEL) และ the Short Term Exposure Limit (STEL) ตัวอย่างก๊าซพิษที่รู้จักกันดี เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรเจนซัลไฟด์


     (3) ก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน (Asphyxiate Gases) จะขัดขวางไม่ให้ร่างกายมนุษย์ได้รับออกซิเจนในปริมาณที่จำเป็น โดยการเข้าแทนที่อากาศ และในบางครั้งก็ยังขัดขวางร่างกายมนุษย์ไม่ให้นำออกซิเจนไปใช้ เช่น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ดังนั้นจุดสำคัญจึงอยู่ที่การตรวจวัดปริมาณออกซิเจนว่าอยู่ในช่วงขีดจำกัดที่ยอมรับได้หรือไม่ มากกว่าการที่จะตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของก๊าซที่ไม่ต้องการ

อากาศโดยทั่วไปมีสัดส่วนออกซิเจนอยู่ราว ๆ 20.8% โดยปริมาณ ถ้าอยู่ที่ 18% ก็ยังยอมรับกันทั่วไปว่าไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายต่อร่างกาย ในขณะที่ 16% เริ่มมีปวดศีรษะและอาการอื่น ๆ เริ่มปรากฏ และเริ่มมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตถ้ามีออกซิเจนอยู่ราว ๆ 14 % และถ้าเหลืออยู่แค่ 6% ก็มีโอกาสน้อยเต็มทีที่จะมีชีวิตรอด โดยทั่วไปแล้ว ระดับการเตือนภัยสำหรับภาวะขาดออกซิเจนจะตั้งอยู่ที่ 19% ซึ่งจะต่ำกว่าระดับออกซิเจนในอากาศทั่วไปอยู่ 2% ดังนั้นจึงจำเป็นที่อุปกรณ์ตรวจวัดจะต้องมีความเสถียรสูงเพื่อหลีกเลี่ยงการเตือนที่ผิดพลาด โดยมากแล้วมักพบว่าก๊าซเกือบทั้งหมดสามารถทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนได้ ตัวอย่างก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน เช่น ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์

 

ข้อควรพิจารณาในการใช้ระบบตรวจจับก๊าซอันตราย


     ระบบตรวจจับก๊าซอันตรายเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแจ้งเตือนผู้ปฏิบัติงานให้รับทราบถึงก๊าซอันตรายในระยะแรก ๆ ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบและผังการจัดวางที่ถูกต้องและเหมาะกับลักษณะการใช้งานของอุปกรณ์ตรวจจับประเภทนั้น ๆ และเมื่อระบบตรวจจับก๊าซอันตรายได้ถูกออกแบบและติดตั้งแล้ว ผู้ใช้งานจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าระบบตรวจจับนี้ เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการความปลอดภัยโดยรวมของสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุด

     ระบบตรวจจับก๊าซอันตรายเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแจ้งเตือนผู้ปฏิบัติงานให้รับทราบถึงก๊าซอันตรายในระยะแรก ๆ ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบและผังการจัดวางที่ถูกต้องและเหมาะกับลักษณะการใช้งานของอุปกรณ์ตรวจจับประเภทนั้น ๆ และเมื่อระบบตรวจจับก๊าซอันตรายได้ถูกออกแบบและติดตั้งแล้ว ผู้ใช้งานจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าระบบตรวจจับนี้ เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการความปลอดภัยโดยรวมของสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุด

ถ้ามี “ระบบติดตาม (Monitoring System)” ที่ไม่เพียงแต่รู้ว่า มีจำนวนเซนเซอร์เท่าไหร่ แต่ต้องมีการติดตามข้อมูลแบบนาทีต่อนาที (Real-time Data) ที่ได้จากอุปกรณ์ตรวจจับ เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงความปลอดภัยแบบองค์รวมของสถานประกอบกิจการ รวมถึงความปลอดภัยของตัวผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย 

“การประเมินอันตราย (Hazard Assessment)” อย่างละเอียดควรที่จะดำเนินการก่อนที่จะเลือกสรร สั่งซื้อ และติดตั้งระบบตรวจจับก๊าซอันตราย จุดมุ่งหมายของการประเมิน ก็คือ การลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจากผลกระทบของการรั่วไหลของก๊าซอันตราย โดยมีหลายปัจจัยที่ควรพิจารณาเพื่อที่จะเป็นข้อมูลสำหรับการเลือกสรรอุปกรณ์ตรวจจับฯ ให้มีความเหมาะสมมากที่สุดกับประเภทของก๊าซอันตรายที่สถานประกอบกิจการอาจต้องเผชิญ รวมถึงการจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ตรวจจับก๊าซอันตรายให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีความเที่ยงตรงแม่นยำ ครอบคลุม และปลอดภัย    

         (1) การชี้บ่งบริเวณที่มีโอกาสเกิดอันตราย เราสามารถแบ่งจุดของพื้นที่งานที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้เป็น 2 หมวดกว้าง ๆ ได้แก่ “จุดรั่วไหลของก๊าซอันตราย (Release Points)” เป็นบริเวณที่ก๊าซอันตรายสามารถถูกปลดปล่อยออกมา และ “จุดรับการรั่วไหลของก๊าซอันตราย (Receptor Points)” เป็นบริเวณที่ก๊าซอันตรายสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ทรัพย์สิน หรืออุปกรณ์
    

ในกรณีของก๊าซไวไฟหรือติดไฟได้ จุดรับการรั่วไหลของก๊าซอันตราย (Receptor Points) ก็จะเป็นแหล่งจุดติดไฟ (Ignition Source) แบบพิเศษ กล่าวคือ ถ้าไม่มีการจุดติดไฟก็จะไม่มีอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ทรัพย์สิน หรืออุปกรณ์ เว้นเสียแต่ว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ออกซิเจนมีปริมาณลดลง ตามทฤษฎีแล้ว ท่อส่งก๊าซทั้งหมดและอุปกรณ์ทุกชิ้นที่บรรจุหรือสัมผัสกับสารอันตราย ตลอดจนพื้นที่โดยรอบทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นบริเวณที่มีโอกาสเกิดอันตราย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว

โดยทั่วไปมักจะมุ่งให้ความสนใจไปยังบริเวณที่มีโอกาสเกิดอันตรายในจำนวนที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อประหยัดงบประมาณในการเฝ้าติดตามและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สถานประกอบกิจการต่าง ๆ โดยมากแล้วจะมีจุดรั่วไหลของก๊าซอันตรายและจุดรับการรั่วไหลของก๊าซอันตรายในจำนวนที่มากกว่านี้ ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญในการตระหนักว่าจุดของพื้นที่งานที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายทั้ง 2 หมวดนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งอยู่ในพื้นที่งานเดียวกันเสมอไป


     - จุดรั่วไหลของก๊าซอันตราย (Release Points) ควรทำการชี้บ่งจุดที่มีการรั่วไหลของก๊าซอันตราย โดยการทบทวนแผนผังที่แสดงตำแหน่งบริเวณจุดเสี่ยงทั้งหมด ซึ่งจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทำให้ทราบถึงบริเวณที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากก๊าซ โดยจำแนกประเภทของก๊าซอันตรายไว้ด้วย ในขณะที่การบริหารจัดการความปลอดภัยในกระบวนการ (Process Safety Management) และแผนการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management Plans) ก็สามารถให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันนี้สำหรับพื้นที่งานที่มีการดำเนินงานกับก๊าซพิษ

นอกจากนี้ยังสามารถใช้แผนภาพแสดงกระบวนการและอุปกรณ์ (P&IDs) เพื่อชี้บ่งจุดเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลของก๊าซและพื้นที่ที่มีโอกาสก่อตัวของก๊าซอันตรายได้ ในการใช้เอกสารชี้บ่งประเภทนี้ ควรทำการประเมินอย่างรอบคอบสำหรับพื้นที่จัดเก็บและคลังสินค้าก๊าซอันตราย เช่นเดียวกับพื้นที่งานในส่วนของการแจกจ่าย การผลิต การระบายอากาศ และระบบบำบัดของเสียหรือก๊าซ ส่วนเส้นทางในการขนส่งก๊าซหรือของเหลวที่มีแรงดันสูง ควรถูกรวมอยู่ในการประเมินอันตรายนี้ด้วย

โดยทั่วไปแล้ว อุปกรณ์ตรวจจับก๊าซอันตรายที่ใช้ในการเฝ้าติดตามจุดเสี่ยงที่มีการรั่วไหลของก๊าซอันตราย ควรถูกจัดวางให้อยู่ใกล้กับจุดที่มีโอกาสจะเกิดการรั่วไหล ยกตัวอย่างเช่น ตัวกันรั่วและหน้าแปลนของปั๊มและคอมเพรสเซอร์ ยางรองตีนวาล์ว ชุดขยายข้อต่อ ปะเก็น ข้อต่อท่อแบบขันอัด จุดรอยเชื่อมต่อ พื้นที่ในส่วนขนถ่าย พื้นที่ในส่วนจัดเก็บก๊าซและของเหลว จุดเก็บตัวอย่าง ห้องเก็บแบตเตอรี จุดที่มีส่วนผ่านไหล (เช่น บ่อเก็บของเสีย พื้นที่บำบัดน้ำเสียและน้ำมัน) หรือท่อจ่ายก๊าซหลายทาง เป็นต้น   

      - จุดรับการรั่วไหลของก๊าซอันตราย (Receptor Points) ควรทำการทบทวนแผนผังของสถานประกอบกิจการ ระบุพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของจำนวนผู้ปฏิบัติงานในสภาวะการทำงานปกติ รวมถึงเส้นทางอพยพและทางหนีไฟด้วย อุปกรณ์ตรวจจับการรั่วไหลก๊าซอันตรายที่ถูกใช้ในการเฝ้าติดตามจุดรับการรั่วไหล ควรถูกติดตั้งระหว่างจุดรั่วไหลและจุดรับการรั่วไหลของก๊าซอันตราย

ยกตัวอย่างจุดรับการรั่วไหลของก๊าซอันตราย เช่น ที่อับอากาศ พื้นที่ปฏิบัติงานที่มีจำนวนพนักงานอยู่หนาแน่น ท่ออากาศเข้า พื้นที่งานที่มีการใช้เครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน ชุมชนและสาธารณูปโภคที่อยู่ใกล้เคียง เป็นต้น 

           (2) การระบุให้แน่ชัดถึงคุณลักษณะของก๊าซ (Gas Characteristics) “ความหนาแน่นของไอ (Vapor Density)” เป็นเกณฑ์สำคัญในการวางตำแหน่งเซนเซอร์ก๊าซ ก๊าซที่หนักกว่าอากาศรวมถึงไอระเหยจากของเหลวที่มีแรงดันไอสูง มีแนวโน้มที่จะลอยลงต่ำไปตามพื้นดิน และมักจะสะสมในพื้นที่ต่ำ (เช่น หลุม) ตลอดจนสามารถรวมตัวง่ายและแพร่กระจาย ดังนั้นจึงอาจต้องใช้เซนเซอร์หลายตัวในการใช้เฝ้าติดตามสารเหล่านี้โดยเฉพาะในพื้นที่เปิดเมื่อเปรียบเทียบกับก๊าซที่เบากว่าอากาศ 

เซนเซอร์สำหรับก๊าซที่หนักกว่าอากาศ เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์  ควรถูกติดตั้งใกล้ ๆ ระดับพื้นดิน โดยมีระยะห่างประมาณ 18 -24 นิ้ว เหนือพื้นดิน หรือต่ำลงไปกว่านี้สำหรับลักษณะพื้นที่ที่อาจมีการรวมตัวของก๊าซ ในทางตรงกันข้าม เซนเซอร์สำหรับก๊าซที่เบากว่าอากาศ โดยทั่วไปก็ควรถูกติดตั้งเหนือจุดที่เป็นอันตราย 

สำหรับพื้นที่งานในลักษณะปิด อาจจะใช้การติดตั้งตัวเซนเซอร์สำหรับก๊าซที่ที่มีความหนาแน่นไอต่ำไว้ที่เพดานห้อง ส่วนก๊าซที่มีความหนาแน่นใกล้เคียงกับอากาศก็ควรติดตั้งตัวเซนเซอร์ไว้ที่ตำแหน่งเดียวกับระดับหายใจหรือใกล้เคียง และเมื่อเฝ้าติดตามภาวะขาดออกซิเจน ก็ควรพิจารณาความหนาแน่นของก๊าซที่จะเข้าแทนที่ออกซิเจนได้ ตัวอย่างเช่น ห้องจัดเก็บถังก๊าซฮีเลียม

สิ่งบ่งชี้อันดับแรกของการรั่วไหลจะเห็นได้โดยตัวเซนเซอร์วัดปริมาณออกซิเจน ซึ่งจะติดตั้งไว้ใกล้กับเพดานห้อง (ก๊าซฮีเลียมจะเพิ่มปริมาณขึ้นและไล่ออกซิเจนไปอยู่บนเพดานห้อง)

เมื่อทำการประเมินความหนาแน่นของไอ ก็ควรจะหมายรวมไปถึงก๊าซที่ปลดปล่อยความร้อนด้วย ส่วนก๊าซที่อยู่ในสถานะของเหลวและความเบากว่าอากาศ เช่น LNG ก็จะแสดงพฤติกรรมเหมือนกับก๊าซที่หนักกว่าอากาศในทันทีที่หกรั่วไหล แต่ไม่นานจะเริ่มลอยสูงขึ้นเมื่อไอได้ถูกเจือจางและอุ่นขึ้นเท่ากับอุณหภูมิห้อง คล้ายคลึงกับก๊าซที่มีความร้อนบางชนิดที่หนักกว่าอากาศเช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ จะลอยสูงขึ้นเมื่อแรกที่ปลดปล่อยออกมา แต่จะเริ่มลอยต่ำลงเมื่อเย็นลงและความหนาแน่นเพิ่มขึ้นเหนือกว่าอากาศ    

อัตราการระเหยหรือการควบแน่น รวมไปถึงรูปแบบของการจัดเก็บและการปลดปล่อยออกมาของก๊าซ ก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการติดตั้งระบบตรวจจับก๊าซอันตราย เนื่องจากก๊าซที่อยู่ในสถานะของเหลวและของเหลวที่มีแรงดันไอสูงสามารถถูกปลดปล่อยออกมาเมื่อมีการหกรั่วไหลของของเหลว หรือพ่นเป็นละออง และเกิดการระเหยขึ้นได้ โดยอัตราการระเหยจะแปรเปลี่ยนไปตามพื้นที่ผิวของหยดน้ำ จุดเดือด หรือแรงดันไอของของเหลว และความร้อนที่ส่งผ่านมาจากพื้นดินและบรรยากาศ โดยทั่วไปแล้ว อัตราการระเหยหรือการควบแน่นที่ต่ำกว่า จะมีความสำคัญมากในการจัดวางเซนเซอร์ไว้ใกล้ตำแหน่งที่มีการสะสมของของเหลว ในขณะที่ กระแสอากาศตามธรรมชาติหรือจากระบบระบายอากาศก็ควรที่จะถูกนำมาพิจารณาเมื่ออัตราการระเหยเพิ่มขึ้นด้วย


 ก๊าซที่ถูกจัดเก็บหรือลำเลียงภายใต้แรงดันจะถูกปลดปล่อยออกมาเสมือนก๊าซพ่น สามารถที่จะคาดเดาตำแหน่งปลดปล่อยและทิศทางได้ เช่น มีวาล์วควบคุมที่สามารถบังคับทิศทางของก๊าซที่พ่นออกมา โดยทั่วไปก็จะวางตำแหน่งอุปกรณ์ตรวจจับการรั่วไหลไว้บริเวณเส้นทางผ่านของก๊าซ หรือไม่ก็จัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ตรวจจับการรั่วไหลไว้ที่หลาย ๆ จุดรอบ ๆ บริเวณที่มีโอกาสเกิดอันตราย หรือบริเวณพื้นที่ที่ก๊าซจะพัดผ่านหรือตกลงภายหลังที่ถูกปลดปล่อยออกมา    

         (3) การระบายอากาศและกระแสอากาศ การระบายอากาศของโรงงานเป็นสิ่งสำคัญหลักประการหนึ่งที่ควรมีการพิจารณาเมื่อทำการวางแผนและวางระบบตรวจจับก๊าซอันตราย โดยระบบระบายอากาศ (Ventilation System) ทั้งหมดควรได้รับการประเมินก่อนที่จะจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์เซนเซอร์ การประเมินควรจะพิจารณาถึงรูปแบบการระบายอากาศทั้งแบบลมธรรมชาติและจากระบบระบายอากาศภายในโรงงาน

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าก๊าซสามารถถูกพัดพาตามกระแสลมธรรมชาติได้อย่างไร เนื่องจากระบบระบายอากาศของโรงงานในแต่ละพื้นที่ก็อาจมีความแตกต่างกันออกไปและในบางครั้งอาจจะมีกระแสลมที่แรงพัดผ่านด้วย

ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในบริเวณจุดอับต่าง ๆ เช่น ส่วนเว้าของอาคาร ส่วนยอดของหลังคา และหน้าต่างที่ยื่นออกไปจากหลังคา ที่มักจะระบายอากาศได้ไม่ค่อยดีนัก รวมถึงบริเวณที่ก๊าซมีแนวโน้มจะสะสมกัน เนื่องจากรูปแบบและความจำเป็นในการระบายอากาศจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละฤดู ดังนั้นในการวางแผนและติดตั้งระบบตรวจจับก๊าซอันตราย จึงต้องพิจารณารูปแบบการระบายอากาศให้มีความเหมาะสมตลอดช่วงรอบปีให้ได้มากที่สุด 

ในกรณีที่ต้องมีการตรวจจับก๊าซอันตรายภายนอกอาคาร ผู้ออกแบบจะต้องคำนึงถึงผลกระทบเกี่ยวกับแรงลม และเรื่องของฤดูกาลด้วย นั่นคือ ในบางครั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบตรวจจับก๊าซรั่ว จะต้องถูกติดตั้งอยู่ในสภาวะแวดล้อมของอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาในรอบวัน โดยตอนกลางวันอาจจะมีอากาศร้อนมาก

ในขณะที่กลางคืนกลับมีอากาศเย็น เมื่อเกิดความแตกต่างในเรื่องของอุณหภูมิระหว่างช่วงเวลากลางวันกับช่วงเวลากลางคืนเช่นนี้แล้ว การออกแบบก็จะต้องแน่ใจว่าเซนเซอร์จะยังคงทำงานอยู่ได้ หรือหากอุปกรณ์ในระบบตรวจจับก๊าซอันตรายจำเป็นต้องติดตั้งอยู่กลางแจ้ง เผชิญกับฝนฟ้า ฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ก็มีความจำเป็นต้องเลือกใช้อุปกรณ์พิเศษซึ่งมีความทนทานต่อสภาวะดังกล่าวได้

และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ เครื่องมือภายในสถานประกอบกิจการควรถูกหยิบยกมาพิจารณาด้วย เพราะอาจมีผลกระทบต่อรูปแบบการเคลื่อนไหวของอากาศ และส่งผลต่อประสิทธิภาพและความเหมาะสมของการจัดวางระบบตรวจจับก๊าซอันตรายที่มีอยู่เดิม   

         (4) ประเภทของอุปกรณ์ตรวจจับก๊าซอันตรายและเซนเซอร์ โดยทั่วไปแล้ว อุปกรณ์ตรวจจับก๊าซอันตรายจะแบ่งออกป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ แบบพกพา (Portable Gas Detector) เป็นอุปกรณ์ตรวจจับฯ ที่ผู้ใช้งานสามารถพกพาติดตัวไปได้ และอีกแบบก็คือ แบบติดตั้งอยู่กับที่ (Fixed System) เป็นอุปกรณ์ตรวจจับฯ ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งอาจต้องใช้ตู้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์   

ในขณะที่ชนิดของเซนเซอร์ (Sensor) โดยทั่วไป ก็จะมีอยู่ 4 ประเภทหลัก ๆ ก็คือ

     - Catalytic Sensor มีหลักการทำงานคือ เมื่อมีก๊าซผ่านเข้ามายังตัวเซ็นเซอร์ ก็จะส่งผลให้ค่าความต้านทานลัพธ์ในวงจรบริดจ์เกิดการไม่สมดุล และส่งสัญญาณเอาท์พุตออกมา ซึ่งเป็นค่าที่แปรผันแบบเป็นสัดส่วนกับค่าความหนาแน่นของก๊าซ เซ็นเซอร์ชนิดนี้มีข้อดี คือ ราคาไม่แพง มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ง่ายต่อการออกแบบในการใช้งาน รวมถึงมีความทนทานสูงอีกด้วย ส่วนข้อเสีย คือ อาจมีผลกระทบที่เป็นพิษได้จากสารเร่งปฏิกิริยาที่ฉาบเคลือบที่ขดลวดไฟฟ้า เซนเซอร์ประเภทนี้เหมาะกับการตรวจจับก๊าซติดไฟได้ (Combustible Gases)


     - Electrochemical Sensor มีหลักการทำงานคือ โครงสร้างที่อยู่ภายในอันประกอบไปด้วยสารอิเล็กโตรไลต์ จะทำปฏิกิริยากับก๊าซที่ผ่านเข้ามายังตัวเซนเซอร์ แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ตรวจจับก๊าซได้เป็นบางชนิด เช่น คลอรีน คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และไฮโดรเจน เซนเซอร์ประเภทนี้เหมาะกับการตรวจจับก๊าซพิษที่ไม่ติดไฟ


     - Infrared Sensor มีหลักการทำงานคือ ใช้อุปกรณ์ประเภทแสงทำหน้าที่ตรวจจับก๊าซ เซ็นเซอร์ชนิดนี้มีข้อดี คือ ไม่เกิดผลกระทบที่เป็นพิษจากสารเร่งปฏิกิริยาภายในตัวเซนเซอร์ ส่วนข้อเสีย คือ ลำแสงที่ใช้ในการตรวจจับก๊าซอาจถูกเบี่ยงเบนโดยสิ่งกีดขวางอื่น ๆ ได้ เซนเซอร์ประเภทนี้เหมาะกับการตรวจจับก๊าซติดไฟได้ (Combustible Gases)


     - Solid State Sensor มีหลักการทำงานคือ เมื่อมีก๊าซผ่านเข้ามายังตัวเซนเซอร์ ก็จะมีโครงสร้างภายในที่ประกอบไปด้วยสารกึ่งตัวนำ คือ ดีบุกออกไซด์ (Tin Oxide) ซึ่งจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ก็จะทำการตอบสนองต่อก๊าซที่ผ่านเข้ามา โดยเกิดการเปลี่ยนค่าความต้านทาน ข้อดีคือ สามารถตรวจจับก๊าซได้หลายชนิดในย่าน ppm อีกทั้งราคาไม่แพง มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน รวมถึงมีความทนทานสูงอีกด้วย แต่ก็มีข้อเสีย คือ อาจมีความจำเป็นต้องปรับตั้งเครื่องบ่อย เนื่องจากอาจเกิดความผิดพลาดในการอ่านค่าได้เมื่อเซนเซอร์ตอบสนองกับก๊าซที่ปะปนอยู่ในธรรมชาติ เซนเซอร์ประเภทนี้เหมาะกับการตรวจจับก๊าซพิษที่ไม่ติดไฟ


     (5) ประสิทธิภาพของตัวเซนเซอร์ (Sensor) จะพิจารณาจาก 


     - ความไวต่อการตอบสนอง (Response Time) คือ ความสามารถในการตอบสนองได้อย่างรวดเร็วในทันทีที่ก๊าซที่ทำการวัดมาสัมผัสเข้ากับตัวเซนเซอร์ คุณสมบัติข้อนี้มีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก๊าซที่ทำการวัดเป็นก๊าซพิษ หรือ ก๊าซไวไฟ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะได้รับอันตรายหรือเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในบริเวณที่ทำการวัดก๊าซ หากเกิดกรณีก๊าซรั่วไหลออกมา


     - ความไวในการวัด (Sensitivity) คือ ความสามารถของตัวเซนเซอร์ที่จะบอกความแตกต่างของปริมาณก๊าซที่จะทำการวัด เช่น เซนเซอร์บางชนิดไม่สามารถบอกความแตกต่างของก๊าซในปริมาณน้อย ๆ ได้ ดังนั้นเมื่อนำไปวัด ก๊าซในสองบริเวณที่มีก๊าซแตกต่างกันน้อยมาก ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าบริเวณทั้งสองมีก๊าซในปริมาณเท่ากัน คุณสมบัติชนิดนี้จะมีความสำคัญในกรณีก๊าซที่วัดมีปริมาณน้อย ๆ หรือต้องการความถูกต้องในการวัดสูงเท่านั้น


     - ความมีเสถียรภาพ (Stability) คือ ผลในการวัดคงที่ไม่เสื่อมสภาพเร็วในการใช้งาน เพื่อให้เซนเซอร์สามารถใช้วัดได้อย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปเมมเบรนของเซนเซอร์ที่ทำจากสารโพลีเมอร์ มักประสบปัญหานี้ในระหว่างการใช้งาน


     - พิสัยการวัด (Dynamic Range) คือ ช่วงกว้างของการวัดของเซนเซอร์ โดยเซนเซอร์บางตัวสามารถวัดก๊าซปริมาณตั้งแต่100-10,000 ppm แต่บางตัวมีพิสัยการวัดในช่วง10-50 ppm เท่านั้น


     - ความจำเพาะ (Selectivity) คือ ความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างก๊าซที่ต้องการวัดกับก๊าซที่ไม่ต้องการวัดได้ กล่าวคือ เซนเซอร์ชนิดหนึ่ง ๆ ควรมีความสามารถในการตอบสนองเฉพาะก๊าซชนิดที่ต้องการวัด ไม่ควรที่จะตอบสนองต่อก๊าซชนิดอื่น เพราะจะรบกวนการวัดได้ ในทางปฏิบัติแล้ว ต้องพยายามหาวัสดุที่เหมาะสมที่ไวเฉพาะต่อก๊าซที่ต้องการวัดมาใช้ทำเมมเบรนของเซนเซอร์ หรืออาจจะเจือสารบางตัวลงไปในวัสดุที่ใช้ทำเมมเบรนเพื่อทำให้เมมเบรนมีความไวในการตอบสนองต่อก๊าซที่ต้องการวัดขึ้นมาได้ หรือเฉื่อยต่อก๊าซที่ไม่ต้องการวัด

 
     (6) การจัดวางตำแหน่งติดตั้งเซนเซอร์ (Sensor Placement) จะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ ในการพิจารณาตำแหน่งจัดวางเซนเซอร์ วิธีแรก คือ วางให้อยู่ใกล้กับบริเวณที่มีแนวโน้มมากที่สุดว่าจะเกิดการรั่วไหลขึ้น ส่วนวิธีที่สอง คือ การวางเซนเซอร์ใกล้บริเวณที่ก๊าซอันตรายและอาจมีการสะสมอันก่อให้เกิดการแพร่ของก๊าซหรือไอที่รั่วไหลได้ ในขณะที่ความเข้มข้นของก๊าซหรือไอจะเป็นการพิจารณาว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง และถือเป็นปัจจัยแรกเริ่มในการพิจารณาจำนวนและตำแหน่งของเซนเซอร์


 การเดินสายไฟติดตั้งเซนเซอร์เป็นแบบชุดรวม (Series) มักถูกพิจารณาว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จะส่งผลให้เอาต์พุตมีการสะสม ยากต่อการสอบเทียบ (Calibration) ของตัวเซนเซอร์และยังเป็นการลดระดับความปลอดภัยลงด้วย ยิ่งไปกว่านั้น วงจรเปิดในเซนเซอร์หนึ่งจะส่งผลต่อการสูญเสียเอาต์พุตของเซนเซอร์ที่เหลือในแบบชุดรวมได้

วิธีที่นิยมทำกันก็คือให้เซนเซอร์แต่ละตัวเป็นอิสระต่อกัน ทั้งในแง่ของการติดตามและพลังงานที่จ่ายให้ จึงจะทำให้เอาต์พุตที่ออกมามีความน่าเชื่อถือเพื่อใช้เตือนให้ทราบถึงการรั่วของก๊าซและระบุได้ถึงตำแหน่งที่เกิด


 ตำแหน่งจัดวางเซนเซอร์ควรคำนึงถึงขีดจำกัดของอุณหภูมิที่ผู้ผลิตระบุไว้ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณา ก็คือ ปริมาณการสั่นสะเทือนที่จะส่งผลต่อการทำงานของเซนเซอร์ได้ ตัวอย่างเช่น การติดตั้งใกล้กับเครื่องยนต์กังหัน (Turbine Engines) หรือเครื่องปั๊ม อาจจะทำให้มีระดับการสั่นสะเทือนสูงและสร้างความเสียหายต่อตัวเซนเซอร์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น การสั่นพ้องของความถี่ธรรมชาติ (Natural Resonant Frequency) ของเซนเซอร์ต้องถูกนำมาพิจารณาเมื่อจะประเมินคุณลักษณะการสั่นของตำแหน่งที่ตั้งนั้น ๆ ด้วย อายุการใช้งานของเซนเซอร์จะถูกทำให้สั้นลงอย่างมีนัยสำคัญถ้าการสั่นพ้องเกิดขึ้นระหว่างเซนเซอร์และตำแหน่งที่ติดตั้ง เซนเซอร์ควรจะถูกติดตั้งในตำแหน่งที่ง่ายต่อการเข้าไปตรวจสอบและสอบเทียบ

 

 
     ข้อควรพิจารณาในการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับก๊าซอันตราย มีดังนี้ คือ


     - ความหนาแน่นของก๊าซ (Gas Density) ในกรณีที่ก๊าซหนักกว่าอากาศ มีข้อแนะนำว่าควรติดตั้งเซนเซอร์ในระยะห่างจากระดับพื้นห้องประมาณ 18 นิ้ว ซึ่งประโยชน์ประการหนึ่งที่ได้รับก็คือ เป็นการป้องกันความเสียหายทางกายภาพที่จะเกิดขึ้นกับตัวเซนเซอร์ ส่วนก๊าซที่เบากว่าอากาศ เซนเซอร์ควรจะถูกติดตั้งที่ระดับสูงหรือใกล้กับแหล่งต้นกำเนิดที่มีโอกาสรั่วไหลของก๊าซอันตราย


     - แหล่งต้นกำเนิดที่มีโอกาสรั่วไหลของก๊าซอันตราย (Potential Gas Sources) ตำแหน่งและลักษณะของแหล่งปลดปล่อยก๊าซหรือไออันตรายจำเป็นต้องได้รับการประเมิน รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น แรงดัน จำนวน อุณหภูมิ และระยะห่าง เป็นต้น


     - อุณหภูมิโดยรอบ (Ambient Temperature) ควรที่จะมั่นใจได้ว่าระบบที่ถูกติดตั้งอยู่ในพื้นที่จะมีความสอดคล้องกับช่วงอุณหภูมิในการใช้งานที่ระบุไว้


     - การสั่นสะเทือน (Vibration) ควรติดตั้งเครื่องส่ง (Transmitter) และเซนเซอร์ในตำแหน่งที่สามารถลดแรงสั่นสะเทือนให้ได้มากที่สุด


     - การเข้าถึง (Accessibility) เมื่อทำการพิจารณาหาตำแหน่งที่จะติดตั้งเครื่องส่ง (Transmitter) และเซนเซอร์ ควรคำนึงถึงความสะดวกในการเข้าถึงเพื่อบำรุงรักษาและสอบเทียบไว้ล่วงหน้าด้วย


     - หลีกเลี่ยงน้ำและความชื้นจากการควบแน่น (Avoid Water and Condensing Humidity) หยดน้ำที่เกาะอยู่บนผิวภายนอกเมมเบรนของเซนเซอร์ จะลดประสิทธิภาพเซนเซอร์หรือทำให้เซนเซอร์ใช้งานไม่ได้ ดังนั้นติดตั้งภายนอกอาคารควรมีการป้องกันไม่ให้เปียกฝนด้วย


     - หลีกเลี่ยงสนามแม่เหล็กอย่างแรง (Avoid Strong Electromagnetic Fields) การติดตั้งเครื่องส่ง (Transmitter) อยู่ใกล้กับหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังหรือสนามแม่เหล็กอย่างแรง อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์อันไม่พึงปรารถนาขึ้นได้


     - หลีกเลี่ยงแรงดันอากาศและความเร็วอากาศที่มากเกิน (Avoid Pressure and Excessive Air Velocity) ถ้ามีแรงดันอากาศและความเร็วอากาศในระดับสูงอาจส่งผลให้การตรวจวัดไม่ถูกต้อง แม่นยำเท่าที่ควร และทำให้อายุการใช้งานของเซนเซอร์ต่ำลงด้วย


     - การซิลท่อสายไฟ (Conduit Seals) ควรป้องกันเครื่องส่งอิเลคทรอนิกส์จากความชื้นโดยการซีลสายไฟตลอดสายและขันฝาครอบกำบังเครื่องส่งให้แน่นด้วย


     - ระยะห่าง (Distance) ระบบทั้งหมดที่แยกตัวเซนเซอร์หรือเครื่องส่งให้ห่างจากตู้ควบคุมอิเลกทรอนิกส์ จะมีระยะห่างตามข้อจำกัดทางเทคนิค และควรมั่นใจได้ว่าระยะห่างสำหรับการใช้งานจะยังคงอยู่ภายใต้ข้อกำหนด

 
     (7) เรียนรู้วิธีใช้งานให้เข้าใจ (Understand the Application) ก่อนจัดซื้อระบบตรวจจับก๊าซอันตราย ต้องตัดสินใจว่าก๊าซใดที่ระบบควรเฝ้าติดตาม การศึกษาข้อกำหนดทางกฏหมายจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการตัดสินใจ แต่อาจจะไม่มีรายละเอียดที่ครอบคลุมได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ผลิต ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการพิจารณา ก็คือ การค้นหาชนิดอันตรายที่แท้จริงจากก๊าซนั้น และพิจารณาว่าอันตรายเหล่านั้นเป็นผลจากความเสี่ยงของการเป็นพิษหรือความเสี่ยงของการระเบิด ซึ่งก๊าซพิษบางตัวจะมีอันตรายมากกว่าตัวอื่น ๆ จึงควรประเมินความเป็นพิษที่แน่ชัดของก๊าซอันตรายนั้น ๆ โดยเทียบเคียงจากมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการเฝ้าติดตาม

เช่น LC50 (the Median Lethal Concentration), Short – Term Exposure Limit (STEL), Ceiling Limit (the concentration that should not be exceed) และ IDLH (the concentration Immediately Dangerous to Life and Health)

 
 อันตรายขั้นต้นที่เชื่อมโยงกับการดำเนินการกับก๊าซไวไฟหรือก๊าซติดไฟได้ ก็คือ ความเสี่ยงของการระเบิดที่เป็นผลจากการหกรั่วไหล และสิ่งที่ควรเฝ้าติดตาม ก็คือ อุณหภูมิต่ำสุดของจุดวาบไฟหรือค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ทำให้ก๊าซติดไฟหรือระเบิดได้ (the Lower Explosive Limit: LEL)

 
 ระบบตรวจจับก๊าซอันตรายนั้น ควรจะมีการติดตั้งอุปกรณ์เฝ้าติดตาม (Monitoring devices) เพื่อใช้ตรวจจับการรั่วไหลของสารไวไฟหรือสารติดไฟได้ ซึ่งมีจุดวาบไฟต่ำกว่าอุณหภูมิโดยรอบ และสารเหล่านี้สามารถระเหยกลายเป็นไอได้อย่างรวดเร็ว และอาจจะมีปริมาณความหนาแน่นเพียงพอที่จะรวมตัวกับองค์ประกอบอื่น ๆ แล้วเกิดการลุกไหม้หรือระเบิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ก๊าซติดไฟได้ยังเป็นพิษด้วย เนื่องจากมีปริมาณขีดจำกัดที่จะสัมผัสได้โดยไม่เป็นอันตราย (PEL) ต่ำกว่าค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ทำให้ก๊าซติดไฟหรือระเบิดได้ (LEL)

 
 เมธานอล (Methanol) เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่มีค่า STEL อยู่ที่ประมาณ 250 ppm และต่ำกว่า 6% ของ LEL (หรือ 60,000 ppm) ก๊าซชนิดนี้โดยทั่วไปควรจะถูกประเมินในขั้นต้นว่ามีอันตรายจากความเป็นพิษมากกว่าที่จะเป็นอันตรายจากการระเบิด ในบางกรณี แม้แต่ก๊าซไม่ไวไฟหรือก๊าซไม่เป็นพิษ (เช่น ไนโตรเจน) ควรจะได้รับการเฝ้าติดตาม เพราะถ้ายังมีความเสี่ยงที่ก๊าซเหล่านี้จะรั่วไหลไปยังพื้นที่ปิด ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะขาดออกซิเจนให้กับผู้ปฏิบัติงานได้ในท้ายที่สุด


 อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีการใช้งานอุปกรณ์ตรวจจับการรั่วไหลของก๊าซอันตราย ก็จะต้องมีการสอบเทียบเซนเซอร์เสียก่อน โดยการตั้งค่าไว้ที่ศูนย์ (Zero) และตั้ง Span ของช่วงการวัด ซึ่งโดยปกติจะใช้อากาศภายในห้องเป็นสภาวะปรับตั้ง Zero และใช้ Test Gas สำหรับปรับตั้ง Span

 
 ระบบตรวจจับก๊าซอันตราย (Hazardous Gas Detection System) นั้น จะมีสัญญาณเตือนขึ้นในกรณีต่างๆ เช่น เตือนให้รู้ว่าระบบกำลังขาดพลังงาน หรือเมื่อการทำงานของระบบผิดปกติไป และเตือนเมื่อการสื่อสารเกิดขัดข้อง เป็นต้น โดยระบบจะส่งสัญญาณเตือนเพื่อให้ผู้ควบคุมเข้ามาดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว

 ระบบตรวจจับก๊าซอันตราย สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ควบคุมการทำงาน (PLC) หรือระบบควบคุมในกระบวนการผลิต และระบบรวบรวมข้อมูล (Data Acquisition) ได้


 จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ระบบตรวจจับก๊าซอันตราย (Hazardous Gas Detection System) มีความสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญกับก๊าซอันตรายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะไม่รู้ว่าวันหนึ่งวันใดจะเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับธุรกิจของตน ดังนั้น สุภาษิตที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน” ก็ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ แต่ถึงจะมีระบบตรวจจับก๊าซอันตรายแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันความปลอดภัยได้ 100% เพราะระบบตรวจจับฯ ต้องพึ่งคนและคนก็พึ่งระบบตรวจจับฯ ถ้าวันหนึ่งวันใดระบบรวนหรือคนเผลอเรอก็ย่อมเกิดความเสี่ยงได้

ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบระบบให้พร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ และทำการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้รับรู้และตระหนักถึงอันตรายด้วยเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
- Key concepts in Gas Detection; SCOTT Health & Safety
- The selection and use of flammable gas detectors; Health & Safety Executive (HSE)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด