เนื้อหาวันที่ : 2012-12-11 11:50:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2251 views

มาตรการ มาตรฐานคุณภาพที่นำไปสู่แนวทางพัฒนา

หากมีการแข่งขันกีฬาที่เป็นทีม เรามักจะมองที่เทคนิคการเล่น หรือสไตล์การเล่นของทีมนั้น ๆ ว่า เล่นได้สนุกเร้าใจมีเกมรุกที่รวดเร็วได้ผล เกมรับที่เหนียวแน่น

มาตรการ มาตรฐานคุณภาพที่นำไปสู่แนวทางพัฒนา
พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

“หากมีการแข่งขันกีฬาที่เป็นทีม เรามักจะมองที่เทคนิคการเล่น หรือสไตล์การเล่นของทีมนั้น ๆ ว่า เล่นได้สนุกเร้าใจมีเกมรุกที่รวดเร็วได้ผล เกมรับที่เหนียวแน่น และหากมีการเล่นของทีมที่ความสามารถต่างกันมาก เราจะมองเรื่องของมาตรฐานทีม ซึ่งมาตรฐานที่ว่านี้มันมาจากมาตรการหรือนโยบายของทีม ที่ก่อตัวขึ้นมาเป็นทีมตามนโยบาย ส่วนจะดีหรือเก่งกว่าทีมอื่น ๆ หรือไม่จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันในรายละเอียด... เช่นกันกับองค์กรธุรกิจที่ควรมีมาตรการเพื่อสร้างมาตรฐาน”

เมื่อองค์กรเริ่มต้นการทำงาน วินาทีแรกที่การทำงานเริ่มขึ้นย่อมหมายถึงประสิทธิภาพของพนักงานต้องนำออกมาใช้ได้ทันที เช่นกันกับการแข่งขันฟุตบอลที่เมื่อเสียงนกหวีดเริ่มการแข่งขัน คุณภาพของนักฟุตบอลทุกคนต้องแสดงออกมาอย่างชัดเจนและเต็มที่ ซึ่งมันจะหมายถึงการตระเตรียมทีมมาเป็นอย่างดี มีการฝึกซ้อมอย่างถูกต้อง และศึกษาการเล่นของคู่ต่อสู้มาพอสมควร ส่วนผลการแข่งขันจะออกมาเช่นไร ทีมที่พร้อมกว่ามักจะมีโอกาสชนะมากกว่า และความพร้อมก็มาจากการคัดสรรนักฟุตบอลที่มีคุณภาพดี เล่นได้ตามที่ทีมต้องการ ทว่า องค์ประกอบหลายอย่างไม่ว่าจะเรื่อง ความสามารถของผู้จัดการทีม งบประมาณทำทีม นโยบายการทำทีม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวกำหนดมาตรฐานของทีม

มาตรการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ
สภาพความพร้อมในการปฏิบัติงานของแต่ละองค์กรมักจะมาจากการเข้าใจถึงงานที่ทำ และมีการคัดสรรพนักงานที่มีคุณภาพตามเกณฑ์ความสามารถในการทำงาน บางองค์กรเลือกพนักงานที่มีความสามารถปานกลาง แต่พร้อมที่จะพัฒนา มีไฟในการทำงาน เช่น นักศึกษาจบใหม่ คนหนุ่มสาวที่มีความต้องการทำงานมากกว่ายอดเงินเดือนสูง ๆ เนื่องจากทราบว่ายังขาดประสบการณ์ จึงยอมรับเงินเดือนที่ต่ำเพื่อหวังโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง บางองค์กรเลือกสรรพนักงานที่มีคุณภาพสูง ผ่านประสบการณ์ทำงานมามาก เนื่องจากลักษณะองค์กรมีความจำเป็นต้องใช้พนักงานที่เก่งแล้ว ไม่มีเวลาสำหรับการเทรนงานให้พนักงาน และต้องการลดความผิดพลาดในการทำงาน ยินดีจ่ายค่าแรงสูงเพื่อให้ได้ตัวพนักงานเก่ง ๆ มาทำงานให้ ดังนั้นระหว่างการเลือกพนักงานแค่สองลักษณะที่กล่าวมาก็เป็นตัวบ่งบอกได้ถึงมาตรฐานที่ต่างกันขององค์กรทั้งสองลักษณะการเลือกพนักงาน แต่การเปรียบเทียบที่ชัดเจนกว่าก็คือการนำสององค์กรธุรกิจที่ทำงานสายงานเดียวกัน จึงจะบ่งบอกได้ชัดเจนถึงมาตรฐานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเรื่องของบริการ หรือคุณภาพผลิตภัณฑ์


จะสังเกตได้ว่าองค์กรธุรกิจที่ทำงานมานาน ๆ จะค่อย ๆ มีการปรับโฉมหน้าผลิตภัณฑ์ หรืองานบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิมเรื่อย ๆ แต่จะอนุรักษ์คอนเซ็ปต์ หรือแนวนโยบายของงานบริการหรือคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม ลูกอม ร้านขายยา ธนาคาร ปั๊มน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันเราได้เห็นภาพโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ชัดเจนมากว่ามีการพัฒนามาอย่างไร และคงคุณภาพไว้อย่างที่กล่าวมา เสริมด้วยบริการที่รวดเร็วและประทับใจ เราจึงมองมาตรฐานขององค์กรได้อย่างชัดเจนว่า มาตรการหรือนโยบายขององค์กรนั้น ๆ มีการวางไว้ชัดเจนและรักษามาตรฐานการผลิตหรือการบริการที่ดีเยี่ยมส่งผลให้ภาพลักษณ์ยังคงอยู่และเป็นที่ไว้วางใจของผู้บริโภคได้ตลอดมา ในทางกลับกันองค์กรธุรกิจที่ไร้การวางนโยบายที่ชัดเจนและขาดการมองอนาคตผลิตภัณฑ์ไว้อย่างเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงโอกาสที่จะเป็น จึงอาจกลายเป็นองค์กรที่มีมาตรฐานต่ำ โดนคู่แข่งขันในสายผลิตภัณฑ์ หรือบริการเดียวกันแซงหน้าไปในอนาคต

รักษามาตรฐาน หรือรักษามาตรการเพื่อช่วยพัฒนาองค์กร
 เมื่อไรที่สถานการณ์การแข่งขันสูงขึ้น องค์กรที่อยู่นิ่งมักจะโดนคู่แข่งขันหาทางช่วงชิงลูกค้าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดึงพนักงานที่มีความสามารถสูงมาร่วมทีม การเร่งวิจัยตลาดออกผลิตภัณฑ์หรือบริการที่โดนใจลูกค้ามากขึ้น ตรงนี้เองที่กลายเป็นคำถามของหลายองค์กรว่าจะรักษามาตรฐานเดิมไว้อย่างไรหากโดนคู่แข่งขันแซงหน้าไปแล้ว ซึ่งคงต้องมองย้อนไปที่มาตรการหรือนโยบายที่ชัดเจนขององค์กรว่ามันมีคุณค่าถาวรหรือช่วยให้องค์กรคงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ บางองค์กรมาตรการเดิมช่วยให้เกิดความศรัทธาต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างเหนียวแน่นจากลูกค้า บางองค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับสถานการณ์หรือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การลดความเย็นซ่าของแชมพูสระผมลงแต่เสริมเรื่องคุณภาพการลดรังแค การลดความเผ็ดของอาหารลงเพื่อให้เด็ก ๆ รับประทานง่ายขึ้น การปรับโฉมของผลิตภัณฑ์เพื่อดูทันสมัยเหมาะกับวัยรุ่นมากขึ้นเพื่อขยายตลาดเป้าหมาย


การรักษามาตรการและการรักษามาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้ก้าวสู่คำว่า “มาตรฐาน” ส่วนจะสูงขึ้นอย่างไรเป็นเรื่องที่แล้วแต่องค์กรจะเลือกพัฒนามาตรฐานตัวเองในส่วนใด ซึ่งปัจจุบันมีการออกหนังสือรับรองการพัฒนาสู่มาตรฐานต่าง ๆ เช่น มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.), มาตรฐานการจัดการ หรือมาตรฐานตามการรับรองของสากล (ISO-International Standard Organization) เป็นมาตรฐานสากลที่ระบุข้อกำหนดสำหรับระบบบริหารคุณภาพขององค์กร ที่ทำให้ลูกค้าขององค์กรมั่นใจได้ว่าองค์กรจะสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการและความคาดหวัง ตลอดทั้งผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สอดคล้องกับข้อกำหนดและกฎหมายต่าง ๆ อย่างถูกต้อง
 ถึงเวลานี้แล้วเราคงต้องช่วยกันมองมาตรฐานขององค์กรว่าเรายังอยู่ในระดับเดียวกับคู่แข่งขันหรือไม่ หรือเรายังเป็นรองอยู่ในส่วนใด วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีโลกปัจจุบันก้าวไปเร็วมาก ภาวะการตลาดก็แข่งขันสูง จำเป็นที่ต้องปรับตัวกันแล้ว ช้าเพียงนาทีเดียวก็อาจเสียท่าคู่แข่งขันแล้ว มาตรการเป็นส่วนดีขององค์กรที่เป็นแนวทางให้ก้าวต่อไป แต่มาตรฐานคือคุณภาพที่ต้องรักษาไว้และพัฒนาให้สูงขึ้นตามสถานการณ์...ตอนนี้มาตรฐานองค์กรของคุณอยู่ระดับไหน
 


สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด