เนื้อหาวันที่ : 2007-05-23 10:50:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 11154 views

เชื้อเพลิงชีวภาพ

ปัจจุบันปัญหาทางด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน กำลังเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศเนื่องจากว่าประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทางด้านพลังงานน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนภายในประเทศนับวันจะมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าน้ำมันปิโตรเลียมจะหมดไปจากโลก

ปัจจุบันปัญหาทางด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน กำลังเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากว่าประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทางด้านพลังงานน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนภายในประเทศ ซึ่งนับวันจะมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากสถิติการใช้เชื้อเพลิงเหลวของประเทศไทยในปี พ.. 2544 เราใช้น้ำมันเบนซินประมาณปีละ 7,000 ล้านลิตร และใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วประมาณปีละ 16,000 ล้านลิตร (เฉพาะภาคการขนส่งประมาณปีละ 14,000 ล้านลิตร ) ซึ่งเป็นปริมาณที่มาก และอีกประมาณ 40 ปี ต่อไป (ปี พ.. 2585) คาดว่าน้ำมันปิโตรเลียมจะหมดไปจากโลกในขณะที่อัตราการใช้เชื้อเพลิงและพลังงานของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี การแสวงหาแหล่งเชื้อเพลิงและพลังงานจากทรัพยากรแหล่งใหม่ที่มีอยู่ เพื่อทดแทนน้ำมันปิโตรเลียมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน ปัจจุบันได้มีการศึกษาถึงการนำเอาพลังงานทดแทนมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ซึ่งพลังงานทดแทนหนึ่งที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้คือการผลิตเชื้อเพลิงจากผลิตผลทางการเกษตร โดยการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่แล้ว มาแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ การผลิตเอทานอล (Ethanol) จากมันสำปะหลัง อ้อย หรือธัญพืชอื่น ๆ เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน หรือดีเซล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนโดยตรงก็ได้ การผลิตน้ำมันดีเซลชีวภาพ (Bio Diesel) จากน้ำมันพืช อาทิ น้ำมันปาล์ม น้ำมันละหุ่ง น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งได้มีผลการวิจัยและการใช้งานมาแล้วในหลายประเทศ นอกจากนี้การใช้เชื้อเพลิงจากผลผลิตทางการเกษตร ทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม ยังช่วยลดมลภาวะที่เกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสภาวะเรือนกระจก (Green House Effect)    

.
การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ   
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาและประยุกต์ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในรูปแบบต่าง ๆ กัน พอสรุปได้ดังต่อไปนี้    
1. แอลกอฮอล์ชีวภาพ (Ethanol and Methanol)       
2. แก๊สโซฮอล์ (Gasohol : Gasolin + Alcohol)    
3. น้ำมันดีเซลชีวภาพ (Biological Diesel Oil)   
3.1 น้ำมันไบโอดีเซล (Biodiesel or Mono Alkyl Ester or Methyl Ester, Ethyl Ester)   
3.2 น้ำมันดีโซฮอล์ (Diesohol : Diesel Oil + Alcohol + Additive)     
.
3.3 น้ำมันดีเซลชีวภาพดิบในประเทศไทย (Crude Biological Diesel Oil)  
3.3.1 น้ำมันมะพร้าวดิบ (Crude Coconut Oil)     
3.3.2 น้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil, CPO)          
3.3.2.1 น้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ (Crude Palm Kernel Oil, CPKO)    
3.3.2.2 น้ำมันปาล์มดิบสกัดไข/น้ำมันปาล์มดิบโอลีน (Crude Palm Oil Olein)  
3.3.2.3 ไขน้ำมันปาล์มดิบ/น้ำมันปาล์มดิบสเตียริน (Crude Palm Oil Stearin)  
3.3.3 น้ำมันดีเซลชีวภาพบริสุทธิ์ (Refined Biological Diesel Oil or Refined Bleached Deodorized Biological Diesel Oil)  
3.3.31 น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Refined Coconut Oil or Refined Bleached Deodorized Coconut Oil)   
3.3.3.2 น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (Refined Palm Oil or Refined Bleached Deodorized Palm Oil)    
3.3.3.2.1 น้ำมันเมล็ดในปาล์มบริสุทธิ์ (Refined Palm Kernel Oil)   
3.3.3.2.2 น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์สกัดไขหรือน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์โอลีน (Refined Palm Oil Olein or Refined Bleached Deodorized Palm Oil Olein)   
3.3.3.2.3 ไขน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์/น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์สเตียริน (Refined Palm Oil Stearin or Refined Bleached Deodorized Palm Oil Stearin)  
.

เชื้อเพลิงจากพืชน้ำมัน

การผลิตเชื้อเพลิงทดแทนจากผลผลิตทางการเกษตรในปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับและใช้งานกันอย่างแพร่หลายนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ   
1. น้ำมันดีเซลชีวภาพจากพืชน้ำมัน     
2. เชื้อเพลิงเอทานอล       
.

1. น้ำมันดีเซลชีวภาพจากพืชน้ำมัน คือน้ำมันที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล ที่ได้จากน้ำมันหรือไขมันของพืชหรือสัตว์ อาทิ น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันละหุ่ง น้ำมันเมล็ดยางพารา น้ำมันสบู่ดำ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันเรบสีด (พืชวงศ์เดียวกับผักกาดขาว) น้ำมันหมู น้ำมันปลาวาฬ รวมทั้งน้ำมันที่เหลือใช้จากการทอดอาหาร เป็นต้น อาจใช้ในรูปน้ำมันดิบโดยตรงหรือแปรรูปเป็นเอสเตอร์ (Ester) ในการใช้น้ำมันดีเซลชีวภาพกับเครื่องยนต์ดีเซลก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง กล่าวคือเมื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลโดยตรง จะต้องมีการปรับแต่งห้องเผาไหม้ ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง หม้อกรองน้ำมันเชื้อเพลิงและระบบน้ำมันเชื้อเพลิง จึงจะทำให้การทำงานของเครื่องยนต์ดีเซลไม่เกิดการขัดข้องขึ้น    

.

2. เชื้อเพลิงเอทานอล หรือ Ethyl Alcohol คือแอลกอฮอล์ที่แปรรูปมาจากพืชจำพวกแป้งและน้ำตาล รวมทั้งเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลส โดยผ่านกระบวนหมัก (Fermentation) วัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้ผลิตเอทานอลมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาทิ อ้อย ข้าว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น เอทานอลจะมีส่วนผสมของน้ำอยู่ประมาณ 5 % สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงให้กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่มีอัตราส่วนการอัดสูงได้ส่วนเอทานอลบริสุทธิ์ 99.5 % ส่วนใหญ่จะนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน (Gasoline) ซึ่งเราเรียกว่าแก๊สโซฮอล์ (Gasohol) ด้วยอัตราส่วน 5-22 % ในลักษณะของสารเติมแต่งเพื่อปรับปรุงค่า Octane และ Oxygenate ของน้ำมันเบนซิน เราสามารถนำไปใช้ได้กับเครื่องยนต์เบนซินโดยทั่วไป โดยไม่ต้องทำการดัดแปลงแก้ไขเครื่องยนต์แต่อย่างใด  

.
ความเป็นไปได้ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ   

จากการศึกษาข้อมูลการวิจัยและการใช้งานเชื้อเพลิงชีวมวลในหลายประเทศ จะเห็นได้ว่า การนำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม หรือสารเติมแต่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ และในปัจจุบันประเทศไทยเองก็มีความสนใจในการนำเอาผลิตผลทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่า มีสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ได้ทำการศึกษาแนวทางการใช้เอทานอล เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทน อาทิ โครงการส่วนพระองค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย องค์การสุรา และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้เพราะได้มีการเล็งเห็นข้อได้เปรียบในด้านวัตถุดิบซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด รวมทั้งมีความพร้อมในการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อเป็นเครื่องดื่มอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนภายในประเทศอย่างจริงจัง ทั้งนี้ก็เพราะความเข้าใจผิดในด้านต้นทุนการผลิตซึ่งความเป็นจริงในปัจจุบันนั้น ราคาขายเชื้อเพลิงเอทานอลเมื่อรวมภาษีแล้วก็ยังมีราคาต่ำกว่าราคาขายน้ำมันปิโตรเลียม ถ้าหากว่ามีการสนับสนุนการสร้างโรงงานผลิตเอทานอลและโรงงานผลิตน้ำมันดีเซลชีวมวลอย่างจริงจัง ก็จะช่วยลดปัญหาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมจากต่างประเทศลงได้เป็นจำนวนเงินมหาศาล และยังช่วยส่งเสริมให้สภาพแวดล้อมทางอากาศที่นับวันจะเสื่อมโทรมลงไปนั้นให้ดีขึ้น รัฐบาลสมควรพิจารณาสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กร เพื่อสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลขึ้นทั้งในรูปของสถาบันการศึกษาวิจัยและพัฒนา มีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาให้ครบวงจรและเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน พัฒนาการด้านเชื้อเพลิงชีวมวลนี้ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังแล้ว จะเป็นโครงการหนึ่งที่ทำให้ประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานแนวทางไว้แล้ว ทั้งการทดลองโดยโครงการส่วนพระองค์และพระราชกระแสที่ได้รับสั่งในโอกาสต่าง ๆ มาโดยตลอด

.

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลชีวมวลจากน้ำมันปาล์ม (โดยสังเขป)ปี 2529 ทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด จ.กระบี่  

.

ปี 2531 ทรงมีพระราชกระแสให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก ขนาดกำลังผลิตวันละ 110 ลิตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ     

.

ปี 2534 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มระบบ ทอดภายใต้สุญญากาศ

.
3 .. 43 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้กองงานส่วนพระองค์เริ่มงานทดลองใช้น้ำมันปาล์มทดแทนน้ำมันดีเซล ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ   
.

10 .. 43 รับสั่งแก่นายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ว่าทรงมีพระราชประสงค์จะให้รัฐบาลริเริ่มโครงการแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันดีเซลชีวภาพในประเทศไทย   

.
12 .. 43 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (นายอาทิตย์ อุไรรัตน์) รับจะสนองพระราชดำริ     
.

.. 44 พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวนเงินประมาณ 8 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดกำลังผลิต 2 ตันทะลายต่อชั่วโมง ที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด จ.กระบี่ และงบประมาณ 3 ล้านบาท และเครื่องยนต์ขนาด 8 แรงม้า 3 เครื่อง รถไถเดินตามขนาด 11 แรงม้า 2 คัน และขนาด 8 แรงม้า 2 คัน เพื่อใช้ในโครงการทดสอบการใช้น้ำมันปาล์มทดแทนน้ำมันดีเซล ในเครื่องจักรกลการเกษตร       

.

11 เม.. 44 มีพระบรมราชโองการให้องคมนตรี (นายอำพล เสนาณรงค์) เป็นผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์     

.

18 เม.. 44 นายกรัฐมนตรี (... ทักษิณ ชินวัตร) แถลงแก่คณะรัฐมนตรีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลดำเนินการวิจัยนำน้ำมันปาล์มมาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง   

.

10 .. 44 ในวันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มี 4 หน่วยงาน นำผลงานเกี่ยวกับการวิจัยใช้น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล ไปจัดนิทรรศการในพระตำหนักสวนจิตรลดา ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บริษัท ยูนิวานิช จำกัด  

.

2 มิ.. 44 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน ที่ อ.เมือง จ.นครนายก เสด็จ ฯ ถึงสนามจอดเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเวลาประมาณ 16.30 . แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรบริเวณโดยรอบโครงการบนเขาลอย ซึ่งมีความสูงประมาณ 100 เมตร แล้วเสด็จ ฯ ลงมาบริเวณพลับพลาพิธี เมื่อเสร็จพิธีแล้วเสด็จ ฯ ไปยังอาคารรับรองจนถึงเวลาประมาณ 20.00 . จึงเสด็จ ฯ กลับพระนคร ตลอดเวลาเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งสองพระองค์ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งสีขาว ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ ขนาด 2,000 ซีซี เป็นรถยนต์ที่สร้างในประเทศสเปน ด้านหลังรถพระที่นั่งมีป้ายภาษาไทยเขียนว่า รถยนต์คันนี้ใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100 %”    

.

น้ำมันแก๊สโซฮอล์

น้ำมันแก๊สโซฮอล์หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมเอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลและน้ำมันเบนซิน นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานานในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา บราซิล สำหรับประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มทดลองจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ให้แก่ประชานทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.. 2528 โดยจำหน่ายผ่านทางสถานีบริการน้ำมันสวัสดิการของกรมศุลกากร กรมวิชาการเกษตรและที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่เนื่องจากว่า เอทานอลบริสุทธิ์ร้อยละ 99.5 มีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าราคาน้ำมันทั่วไป จึงไม่คุ้มค่าที่จะนำเอทานอลมาใช้ทดแทนน้ำมัน ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องหยุดการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ในปี พ.. 2530 ต่อมาในปี พ.. 2539 รัฐบาลให้ยกเลิกการเติมสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันต้องนำเข้าสารเพิ่มออกเทน (Octane) สารเพิ่มออกเทนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายชนิดหนึ่งคือ MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) โดยนำมาผสมในน้ำมันเบนซินในสัดส่วนระหว่างร้อยละ 5.5–11 ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันในประเทศทั้งหมดต้องนำเข้าสาร MTBE คิดเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 3,000 ล้านบาท    

.

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทน น้ำมันแก๊สโซฮอล์

ในปี พ.. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และมีพระราชดำรัสให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย (เอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล) เพราะในอนาคตอาจเกิดภาวะการขาดแคลนหรือราคาอ้อยตกต่ำ การนำอ้อยมาแปรรูปเป็นเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินทุนวิจัยในการดำเนินงาน 925,500 บาท เพื่อใช้ในการจัดสร้างอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในขั้นต้น  

.

ในปี พ.. 2533 ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาการกลั่นเอทานอล ให้สามารถกลั่นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 95 ได้ในอัตรา 5 ลิตรต่อชั่วโมง วัสดุที่ใช้หมักคือกากน้ำตาล ซึ่งบริษัทสุราทิพย์ จำกัด น้อมเกล้า ฯ ถวาย  

.

ในเดือนตุลาคม พ.. 2537 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ร่วมกับบริษัทสุราทิพย์ จำกัด ได้ขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอผสมกับน้ำมันเบนซิน ในอัตราส่วนเอทานอลต่อน้ำมันเบนซิน 1 : 4 เชื้อเพลิงที่ผสมเรียกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์   

.

การผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์

ในการนำเอทานอลมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น จะต้องใช้เอทานอลที่มีส่วนผสมของน้ำน้อยที่สุด เนื่องจากจะก่อให้เกิดปัญหาทำให้เครื่องยนต์น็อก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของเครื่องยนต์เกิดสนิม ซึ่งโดยมาตรฐานสากลแล้วควรเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ระดับร้อยละ 99.5 โดยปริมาตร เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินธรรมดาในอัตราส่วน 1 : 9 จะได้แก๊สโซฮอล์ที่มีค่าออกเทนเทียบเท่าน้ำมันเบนซิน 95 โดยมีขั้นตอนการผลิตตามสูตรการผสมของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ดังต่อไปนี้     

ก. นำเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 99.5 โดยปริมาตร จำนวน 200 ลิตร ใส่ลงในถัง  
ข. เติมสารป้องกันการกัดกร่อน (Corrosion Inhibitor) ลงไป จำนวน 30 กรัม  

ค. เติมน้ำมันเบนซิน 91 ลงไปจำนวน 1,800 ลิตร เดินเครื่องสูบหมุนเวียน เพื่อให้น้ำมันและส่วนผสมเข้ากันใช้เวลาประมาณ 30–60 นาที จะได้แก๊สโซฮอล์ จำนวน 2,000 ลิตร   

.

น้ำมันดีโซฮอล์

น้ำมันดีโซฮอล์หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมน้ำมันดีเซล เอทานอล และสารที่จำเป็น สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลได้    
.

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทน น้ำมันดีโซฮอล์

โครงการดีโซฮอล์ที่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้เริ่มขึ้นในปี พ.. 2541 โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา โดยได้ทดลองผสมเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 95 กับน้ำมันดีเซล และสารอิมัลซิไฟเออร์ (สารอิมัลซิไฟเออร์ คือสารที่มีคุณสมบัติทำให้แอลกอฮอล์กับน้ำมันดีเซลผสมกันโดยไม่แยกชั้น ซึ่งประกอบด้วยสาร PEOPS และ SB 407) ในอัตราส่วนผสม 14 : 85 : 1 และสามารถนำดีโซฮอล์นี้ไปใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล อาทิ รถยนต์กระบะ รถแทรกเตอร์ของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ผลการทดลองพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดีพอสมควร และสามารถลดควันดำได้ปริมาณร้อยละ 50  

.
การผลิตน้ำมันดีโซฮอล์
โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้ทำการศึกษาและผลิตดีโซฮอล์ ได้สูตรผสมดังต่อไปนี้     
ก. นำน้ำมันดีเซล จำนวน 419 ลิตร ใส่ลงในถังผสมแล้วเติมสารอิมัลซิไฟเออร์ชนิดที่ 1 (SB 407) จำนวน 4.2 ลิตร เดินเครื่องสูบหมุนเวียนเป็นเวลา 10 นาที      

ข. นำเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 95 โดยปริมาตร จำนวน 67 ลิตร ใส่ลงในถังผสมเติมอิมัลซิไฟเออร์ชนิดที่ 2 ( PEOPS ) จำนวน 4.3 กิโลกรัม เดินเครื่องสูบหมุนเวียน เป็นเวลา 2 ชั่วโมง     

.

ไบโอดีเซล

ไบโอดีเซล (Biodiesel) เป็นเชื้อเพลิงเหลวที่ได้จากน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ ที่ผ่านปฏิกิริยาทางเคมีที่เรียกว่า ทรานส์เอสเตอริฟิเคชัน (Transesterification) แล้ว โดยในกระบวนการผลิตจะผสมน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ให้ทำปฏิกิริยากับเมทานอลหรือเอทานอล จนเกิดเป็นสารเอสเตอร์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล จึงสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซลได้โดยไม่ต้องทำการปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใด เราอาจจำแนกไบโอดีเซลตามประเภทของน้ำมันที่นำมาใช้ ได้เป็น 3 ประเภทคือ      

.

. น้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์

ไบโอดีเซลประเภทนี้ก็คือน้ำมันพืชแท้ ๆ อาทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันจากสัตว์ อาทิ น้ำมันหมู ซึ่งเราสามารถนำมาใช้ได้เลยกับเครื่องยนต์ดีเซลโดยไม่ต้องผสมหรือเติมสารเคมีอื่นใด หรือไม่ต้องนำมาเปลี่ยนคุณสมบัติของน้ำมันให้สิ้นเปลืองเวลา หรือทรัพยากร 

.

. ไบโอดีเซลแบบลูกผสม

ไบโอดีเซลชนิดนี้เป็นลูกผสมระหว่างน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ กับน้ำมันก๊าด และน้ำมันดีเซลหรืออะไรก็ได้ เพื่อให้ได้ไบโอดีเซลที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลมากที่สุด อาทิ โคโคดีเซล (Cocodiesel) ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นการผสมกันระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันก๊าด หรือเป็นการผสมระหว่างน้ำมันปาล์มกับน้ำมันดีเซล   

.

. ไบโอดีเซลแบบเอสเตอร์

ไบโอดีเซลชนิดนี้ต้องผ่านกระบวนการแปรรูป ด้วยกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่า ทรานส์เอสเตอริฟิเคชัน (Transesterification) เสียก่อน นั่นคือการนำเอาน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ที่มีกรดไขมันไปทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ โดยใช้กรดหรือด่างเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้ได้เอสเตอร์ โดยจะเรียกชนิดของไบโอดีเซลแบบเอสเตอร์ตามชนิดของแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา กรณีเป็นเมทิลแอลกอฮอล์ก็จะเรียกว่า เมทิลเอสเตอร์ เป็นต้น    

.

วิธีการผลิตไบโอดีเซล

กระบวนการผลิตไบโอดีเซล หรือการสังเคราะห์สารเอสเตอร์จากน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ มี 3 วิธีคือ   
1 .การใช้ปฏิกิริยา Transesterification ของน้ำมันและแอลกอฮอล์ โดยใช้ด่างหรือกรดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา  
2. การใช้ปฏิกิริยา Transesterification ของน้ำมันและแอลกอฮอล์ ทำปฏิกิริยาที่ความดันสูง โดยไม่ต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา  
3. การเปลี่ยนน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ ให้เป็นกรดไขมันแล้วจึงนำกรดไขมันไปทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ให้เป็นเอสเตอร์  
.

การผลิตไบโอดีเซลเป็นอุตสาหกรรมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในปัจจุบันมีทั้งระบบการผลิตแบบไม่ต่อเนื่อง (Batchwise) และแบบต่อเนื่อง (Continuous) ข้อดีของการผลิตแบบไม่ต่อเนื่องคือมีราคาถูก แต่มีปัญหาด้านความปลอดภัยและปัญหาในการผลิตไบโอดีเซลให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ    

.

ประเทศไทยมีการผลิตไบโอดีเซลในระดับโรงงานที่ อ. ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี มีกำลังการผลิตประมาณ 30,000 ลิตรต่อวัน โดยใช้น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันใช้แล้วจากพืชและสัตว์เป็นวัตถุดิบ นอกจากการผลิตไบโอดีเซลแล้ว ยังมีการผลิตดีเซลปาล์มและดีเซลมะพร้าว ด้วยเทคนิคและภูมิปัญญาของชาวบ้านเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล ในการผลิตได้ใช้น้ำมันพืชผสมกับน้ำมันดีเซล และหรือน้ำมันก๊าดด้วยอัตราส่วนต่าง ๆ กัน ดังแสดงในตารางที่ 1 คุณสมบัติของน้ำมันพืช ทั้งในรูปของน้ำมันพืชผสมสารอื่น ๆ และน้ำมันพืชดิบ พบว่ามีความแตกต่างจากน้ำมันดีเซล โดยเฉพาะค่าความถ่วงจำเพาะ และค่าความหนืดที่สูงกว่ามาตรฐานน้ำมันดีเซลมาก และเมื่อใช้น้ำมันดีเซลมะพร้าวดิบเป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะ พบว่าปริมาณสารมลพิษบางชนิดลดลง และบางชนิดเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงนั้น เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลมะพร้าวดิบจะมีอัตราการสิ้นเปลืองสูงกว่าเมื่อใช้น้ำมันดีเซล จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งในรูปแบบของน้ำมันให้มีความเหมาะสมกับประเภทของเครื่องยนต์และมลพิษที่เกิดขึ้นด้วย  

.

ตารางที่ 1 แสดงคุณสมบัติการเป็นเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลปาล์มและดีเซลมะพร้าวเก็บตัวอย่างได้จากสถานีบริการน้ำมันแหล่งต่าง ๆ ในประเทศไทย

.

* หมายเหตุ : คำอธิบายหมายเลขที่เก็บตัวอย่าง

1. ดีเซลมะพร้าว จากสถานีบริการน้ำมันที่ อ. ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้ส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าวร้อยละ 95 และน้ำมันก๊าดร้อยละ  
2. ดีเซลมะพร้าว จากสถานีบริการน้ำมันที่ อ. ทับสะแก จ. ประจวบคีรีขันธ์ ใช้ส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าวร้อยละ 79 น้ำมันดีเซลร้อยละ 17 และน้ำมันก๊าดร้อยละ   
3. ดีเซลมะพร้าว จากสถานีบริการน้ำมันที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม  
4. ดีเซลมะพร้าว จากสถานีน้ำมันที่ จ. เชียงใหม่   
5. ดีเซลปาล์มเมล็ดใน จากสถานีบริการน้ำมันที่ จ. ชุมพร     
.

ประโยชน์ของการใช้ไบโอดีเซลกับเครื่องยนต์

การใช้น้ำมันพืชเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซลนั้นสามารถทำได้หลายแนวทาง แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ ต้องลดค่าความหนืดของน้ำมันพืชให้ต่ำลงมาอยู่ในระดับเดียวกับน้ำมันดีเซล (ความหนืดควรต่ำกว่า 4.2 cst ที่อุณหภูมิ 40C) นอกจากนี้ผู้ใช้ก็ควรคำนึงถึงคุณสมบัติด้านอื่น ๆ ของน้ำมันพืชด้วย อาทิ ค่าซีเทน ค่าจุดไหลเท เป็นต้น) การใช้ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงกับเครื่องยนต์มีประโยชน์หลายด้าน ดังต่อไปนี้  

.

. ด้านสิ่งแวดล้อม

การใช้ไบโอดีเซลสามารถลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นผลจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ กรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือ ได้รายงานผลการทดลองการใช้น้ำมันไบโอดีเซลกับเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 145 แรงม้า พบว่าสามารถลดควันดำได้มากกว่าร้อยละ 40   

.

การใช้ไบโอดีเซลสามารถลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพราะผลิตจากพืช   การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ช่วยลดการนำน้ำมันที่ใช้แล้วไปประกอบอาหารซ้ำ และยังช่วยป้องกันมิให้นำน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ซึ่งมีสารไดออกซิน ที่เป็นสารก่อมะเร็ง ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์  

.

. ด้านสมรรถนะเครื่องยนต์

การผสมไบโอดีเซลในระดับร้อยละ 1–2 สามารถช่วยเพิ่มดัชนีการหล่อลื่นให้กับน้ำมันดีเซล จากผลการทดลองของสถาบันวิจัยและเทคโนโลยีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พบว่าการเติมไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วและน้ำมันมะพร้าวในอัตราร้อยละ 0.5 สามารถเพิ่มดัชนีการหล่อลื่นได้ถึง 2 เท่า  

.
ประสิทธิภาพการเผาไหม้ดีขึ้น เนื่องจากในไบโอดีเซลมีออกซิเจนผสมอยู่ประมาณร้อยละ 10 ทำให้การผสมระหว่างอากาศกับน้ำมันมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ และเป็นการเพิ่มอัตราส่วนปริมาตรของอากาศต่อน้ำมันได้เป็นอย่างดี จึงทำให้การเผาไหม้ดีขึ้น   
 .

ถึงแม้ว่าค่าความร้อนของไบโอดีเซลจะต่ำกว่าน้ำมันดีเซลประมาณร้อยละ 10 แต่ข้อด้อยนี้ไม่มีผลกระทบต่อการใช้งาน เพราะการใช้ไบโอดีเซลทำให้การเผาไหม้ดีขึ้น จึงทำให้กำลังเครื่องยนต์ไม่ลดลง   

 .

. ด้านเศรษฐศาสตร์

การใช้ไบโอดีเซลช่วยสร้างงานในชนบท ด้วยการสร้างตลาดพลังงานไว้รองรับผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือจากการบริโภค การใช้ไบโอดีเซล ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้บางส่วน ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยสูญเสียเงินตราต่างประเทศเพื่อการนำเข้าน้ำมันดิบกว่า 300,000 ล้านบาท   

. 

. ด้านการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ

ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลสูงกว่าน้ำมันเบนซินมาก ตลาดน้ำมันดีเซลในประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่าน้ำมันเบนซิน 2 เท่า และในอนาคตมีแนวโน้มที่โรงกลั่นอาจจะผลิตน้ำมันดีเซลไม่เพียงพอต่อการใช้งานภายในประเทศ ดังนั้นการใช้ไบโอดีเซลจึงช่วยลดความไม่สมดุลของการผลิตของโรงกลั่นได้      

. 

การผสมน้ำมันไบโอดีเซลในอัตราส่วนร้อยละ 1–2 สามารถเพิ่มความสามารถในการหล่อลื่นในน้ำมันดีเซลได้ โดยเฉพาะกรณีที่จะมีการลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซล  

. 

. ด้านความมั่นคง

การใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ ถือเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางด้านพลังงานของประเทศ  
 .
ผลกระทบของไบโอดีเซลที่มีต่อเครื่องยนต์

เนื่องจากน้ำมันไบโอดีเซลตามมาตรฐานสากลนั้น มีคุณสมบัติเทียบเคียงได้กับน้ำมันดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม ดังนั้นผลกระทบต่อเครื่องยนต์ถือได้ว่าไม่มีผลทางด้านลบ หรือในกรณีของเครื่องยนต์เก่าอาจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนซีลยางบางส่วนเท่านั้นเอง โดยทั่วไปการใช้น้ำมันไบโอดีเซลในต่างประเทศนั้นนิยมนำไปผสมเป็นสูตรต่าง ๆ ดังนี้   

- B2 (ไบโอดีเซล 2 % : ดีเซล 98 %) มีจำหน่ายทั่วไปในมลรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา และจะบังคับใช้ทั้งมลรัฐในปี พ.. 2548   
- B5 (ไบโอดีเซล 5% : ดีเซล 95 %) มีจำหน่ายทั่วไปในประเทศฝรั่งเศส โดยกว่าครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายเป็นน้ำมันสูตร B5    

- B20 (ไบโอดีเซล 20% : ดีเซล 80%) เป็นน้ำมันผสมที่คณะกรรมการไบโอดีเซลแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ใช้ตามกฎหมายยานยนต์เชื้อเพลิงทดแทนของประเทศ ปัจจุบันนิยมใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา    

- B40 (ไบโอดีเซล 40 % : ดีเซล 60%) เป็นสูตรที่ใช้ในรถยนต์ขนส่งมวลชนในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อผลในการลดมลพิษ   

- B100 (ไบโอดีเซล 100 %) เป็นน้ำมันไบโอดีเซล 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ในประเทศเยอรมนีและออสเตรีย โดยได้รับการรับรองจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศ  

. 

สำหรับการใช้น้ำมันมะพร้าวสูตรภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีการผสมน้ำมันก๊าดร้อยละ 5 เพื่อลดความหนืดนั้นควรทำความสะอาดถังน้ำมันก่อนใช้ รวมทั้งระมัดระวังการอุดตันของกรองน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงอากาศเย็น ในอนาคตการใช้ไบโอดีเซลจะได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ ด้วยเหตุผลหลายประการดังกล่าว ประการสำคัญที่สุดคือการพัฒนาโครงการไบโอดีเซลในประเทศ ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเองตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง   

. 

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง    

การศึกษาวิจัยการใช้น้ำมันดีเซลผสมไขน้ำมันปาล์ม

อนุตร และคณะ (2545) ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาสมรรถนะของเครื่องยนต์เล็กดีเซลที่ใช้ไขน้ำมันปาล์มผสมกับน้ำมันดีเซลที่อัตราส่วนผสมต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการศึกษาหาอัตราส่วนผสมที่เหมาะสม ระหว่างน้ำมันดีเซลกับไขน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลเล็กสูบเดียวสำหรับการทดสอบหาแรงบิด, กำลัง, และอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง    

. 

จากการทดสอบด้านคุณสมบัติของน้ำมันเชื้อเพลิงพบว่า ค่าความร้อน ค่าความหนาแน่น และค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำมันดีเซลที่ผสมไขน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มีค่าสูงขึ้นตามอัตราส่วนผสมที่เพิ่มขึ้น และมีค่าสูงกว่าค่าที่วัดได้จากน้ำมันดีเซล ส่วนค่าความหนืดวัดที่อุณหภูมิ 37.7, 54.4 และ 90C พบว่าค่าความหนืดของน้ำมันดีเซลที่ผสมไขน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ มีค่ามากกว่าความหนืดของน้ำมันดีเซล โดยมีค่าสูงขึ้นตามอัตราส่วนที่ผสมเช่นกัน    

. 

อัตราส่วนผสมที่เหมาะสม ระหว่างน้ำมันดีเซลกับไขน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์คือ 80 : 20 โดยปริมาตร และที่อัตราส่วนผสมดังกล่าว ที่ความเร็วรอบของเครื่องยนต์ 2,500 รอบต่อนาที ได้แรงบิดของเครื่องยนต์เท่ากับ 14.5 N-m อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงจำเพาะเท่ากับ 2,839 g/kW-h และกำลังงานของเครื่องยนต์เท่ากับ 3.79 kW ในขณะที่ใช้น้ำมันดีเซลบริสุทธิ์ทดสอบได้ค่าแรงบิดเท่ากับ 14.3 N-m อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงจำเพาะเท่ากับ 3,163 g/kW-h และกำลังงานของเครื่องยนต์เท่ากับ 3.74 kW ตามลำดับ   

. 

การศึกษาวิจัยการใช้น้ำมันดีเซลผสมน้ำมันปาล์ม          

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา (2543) ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยถึงการนำเอาน้ำมันปาล์มมาผสมกับน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ในเครื่องยนต์เกษตร โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อหาสูตรในการผสมน้ำมันดีเซลกับน้ำมันปาล์มดิบที่สามารถนำไปใช้งานได้ และเกษตรกรที่มีผลผลิตปาล์มน้ำมัน สามารถสกัดเอาน้ำมันปาล์มไปผสมใช้งานในเครื่องยนต์เกษตรได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และเป็นเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรด้วย  

. 

การทดสอบการใช้งานกับเครื่องยนต์แบ่งออกเป็น 2 ระยะด้วยกันคือ ระยะที่ 1 ทดสอบน้ำมันสูตรที่ 1 และน้ำมันสูตรที่ 2 ระยะเวลา 320 ชั่วโมง (เปรียบเทียบกับน้ำมันดีเซล 1) ส่วนการทดสอบระยะที่ 2 ทำการปรับปรุงสูตรของน้ำมันจนได้น้ำมันสูตรที่ 3 และดำเนินการทดสอบระยะเวลา 1,000 ชั่วโมง (เปรียบเทียบกับน้ำมันดีเซล 2) ชื่อและส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการทดสอบได้แสดงในตารางที่ 

. 

ตารางที่ 2 แสดงการกำหนดชื่อของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการทดสอบ

. 

จากผลการวิจัยการใช้น้ำมันดีเซลผสมน้ำมันปาล์มดิบกับเครื่องยนต์เกษตร โดยโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้ผลสรุปและข้อแนะนำดังต่อไปนี้

1. การใช้น้ำมันสูตรที่ 3 สามารถใช้ได้ดีกับเครื่องยนต์คูโบต้า แบบไดเร็กต์อินเจ็กชัน ได้อย่างน้อย 1,000 ชั่วโมง โดยไม่มีผลกระทบที่แตกต่างจากน้ำมันดีเซลมากนัก ดังนั้นในการใช้งานสามารถผสมน้ำมันปาล์มดิบในน้ำมันดีเซล เพื่อใช้ในเครื่องยนต์เกษตรได้ถึงร้อยละ 15 โดยปริมาตร โดยที่เครื่องยนต์สามารถให้สมรรถนะใกล้เคียงกันเมื่อใช้น้ำมันดีเซล ทั้งนี้น้ำมันปาล์มดิบ จะต้องเป็นน้ำมันที่ไม่เก็บไว้นาน และต้องกรองเอาส่วนที่เป็นไขออกเสียก่อน

. 

2. น้ำมันที่ผสมเข้าด้วยกันควรจะนำไปใช้งานทันที โดยไม่เก็บไว้นาน เนื่องจากจะเกิดการรวมตัวกันของเส้นใยพืชเป็นก้อน ทำให้เกิดการอุดตันที่ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงได้ง่าย  

 .

3. ภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำมันปาล์มดิบ หรือน้ำมันดีเซลผสมน้ำมันปาล์มดิบ ควรจะปิดให้สนิททุกครั้ง เนื่องจากน้ำมันปาล์มดิบมีคุณสมบัติที่สามารถดูดความชื้นในอากาศได้เป็นอย่างดี ทำให้ค่าความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าค่าความเป็นกรดสูงมาก ๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการสึกหรอของแหวนลูกสูบ     

. 

4. เนื่องจากคุณสมบัติความเป็นกรดของน้ำมันปาล์มดิบ พบว่าในการใช้งานน้ำมันดีเซลผสมน้ำมันปาล์มดิบ จะทำให้วัสดุประเภทยางและยางโอริง ในส่วนที่สัมผัสกับน้ำมันเชื้อเพลิงบวมมากกว่าปกติ แต่จากการทดสอบพบว่า ถ้าผู้ใช้งานเปลี่ยนชิ้นส่วนเหล่านี้ตามข้อแนะนำของผู้ผลิตเครื่องยนต์แล้วจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการใช้งาน

5. ปริมาณเขม่าในห้องเผาไหม้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานที่แตกต่างจากน้ำมันดีเซล     
6. การอุดตันของไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงแก้ไขได้โดยการคัดเลือกน้ำมันปาล์มดิบที่มีความข้นไม่มากนัก และกรองก่อนที่จะผสมกับน้ำมันดีเซลทุกครั้ง  

7. ถ้าผสมน้ำมันปาล์มดิบในปริมาณมาก จะทำให้ค่าความเป็นกรดในน้ำมันดีเซลผสมกับน้ำมันปาล์มดิบสูงตามด้วย ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการสึกหรอของแหวนลูกสูบมากขึ้น   

8. สูตรผสมน้ำมันปาล์มดิบร้อยละ 15 โดยปริมาตรในน้ำมันดีเซล (น้ำมันปาล์มดิบต่อน้ำมันดีเซล = 15 : 85) สามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์เกษตร (เครื่องยนต์คูโบต้า แบบไดเร็กต์อินเจ็กชัน) ได้โดยไม่มีปัญหา    

. 

นโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันพืช

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียม เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี นับเป็นมูลค่าเงินตราที่ต้องสูญเสียให้ต่างประเทศปีละกว่าสามแสนล้านบาท แหล่งพลังงานที่เราค้นพบในประเทศไม่ว่าจะเป็นแก๊สธรรมชาติและลิกไนต์ ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ การแสวงหาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดการขาดดุลเงินตราต่างประเทศ การหาแหล่งพลังงานมาทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะน้ำมันดีเซลมีสัดส่วนการใช้ถึงประมาณร้อยละ 44 ของปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูป โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมและภาคการขนส่ง

. 

ไบโอดีเซลเป็นที่รู้จักและได้มีการใช้งานในต่างประเทศมากว่า 10 ปีแล้ว น้ำมันพืชที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตไบโอดีเซลในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันตามชนิดของผลผลิต สำหรับประเทศไทย ผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ละหุ่ง และน้ำมันงา เป็นต้น ปาล์มเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันดิบต่อไร่สูงสุดในบรรดาพืชน้ำมัน อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่มีการนำน้ำมันจากพืชมาผลิตเพื่อใช้เป็นพลังงานในเชิงพาณิชย์ มีเพียงการนำน้ำมันพืชดิบมาผสมกับน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันก๊าด เพื่อใช้แทนน้ำมันดีเซล และจำหน่ายในบางท้องถิ่น อาทิ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม และ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น  

. 

การส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันพืช

ในช่วงปี พ.. 2543–2544 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ได้มีกระแสเรื่องการนำน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาอย่างแพร่หลาย และขยายตัวอย่างรวดเร็วในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเพียงการใช้ในท้องถิ่นเท่านั้น ขณะที่พืชผลของปาล์มและมะพร้าวมีราคาตกต่ำ รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือแทรกแซงราคาเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนั้นการนำน้ำมันจากพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ด้วย  และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.. 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเสนอ เรื่องการสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล เป็นแนวทางของการสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งประกอบด้วยมาตรการระยะสั้นและระยะยาว    

.

มาตรการระยะสั้นเกี่ยวกับการสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืช  

มาตรการระยะสั้นเกี่ยวกับการสนับสนุนการใช้น้ำมันพืช เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล รัฐบาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

- กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน

- ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงนโยบายของรัฐต่อการใช้น้ำมันพืชในเชื้อเพลิงดีเซล ผลดี-ผลเสีย ต่อเครื่องยนต์ และการดูแลรักษาบำรุงรักษาเครื่องยนต์

- มาตรการด้านภาษี มาตรการด้านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน เพื่อนำสัดส่วนการผสมที่เป็นมาตรฐานมาใช้ในการคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษีและกองทุน ฯ ต่อไป

. 

มาตรการระยะยาวเกี่ยวกับการสนับสนุนการใช้น้ำมันพืช

มาตรการระยะยาวเกี่ยวกับการสนับสนุนการใช้น้ำมันพืช เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล รัฐบาลให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมโดยใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ดังต่อไปนี้ 

- พัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตร และเครื่องยนต์ดีเซลหมุนช้า เพื่อให้สามารถใช้ดีเซลมะพร้าวดิบและดีเซลปาล์มดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- วิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานคุณภาพของดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ และดีเซลมะพร้าวบริสุทธิ์ ที่ไม่มีผลเสียต่อเครื่องยนต์ และสร้างมลพิษไม่มากกว่าการใช้น้ำมันดีเซล        
- ศึกษาผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม จากเครื่องยนต์ที่ใช้ดีเซลปาล์ม และดีเซลมะพร้าว ทั้งชนิดบริสุทธิ์และดิบและไบโอดีเซล
- ศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานของประเทศไทยสำหรับไบโอดีเซล

- วิจัยเพื่อหาวิธีการบำรุงรักษา ต่อเติมหรือปรับแต่งเครื่องยนต์ ให้สามารถใช้ดีเซลปาล์มดิบและดีเซลมะพร้าวดิบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม  

- ศึกษาวิจัยเพื่อลดค่าใช้จ่ายตลอดขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การปลูกและผลิตน้ำมันจากพืช ไปจนถึงการผลิตดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ ดีเซลมะพร้าวบริสุทธิ์ และไบโอดีเซล   

- ศึกษาวิจัยเพื่อหาพืชน้ำมันชนิดอื่น ที่ประชาชนไม่ใช้บริโภค อาทิ สบู่ดำ หรือน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาใช้เป็นเชื้อเพลิง
- ศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดนโยบายการใช้น้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งต้องครอบคลุมถึงผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
. 

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มอบหมาย ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม ของหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบในเรื่องการนำน้ำมันจากพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล     

. 
แผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย    

ประเทศไทยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี พ.. 2545–2554 และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว พอสรุปได้ดังต่อไปนี้   

. แผนยุทธศาสตร์ช่วงปี พ.. 2545-2547

- ให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ รวมทั้งน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว

- ให้มีการศึกษาวิจัยทางด้านสายพันธุ์ เพื่อเพิ่มอัตราผลผลิตของพืชน้ำมันชนิดต่าง ๆ  

.

. แผนยุทธศาสตร์ช่วงปี พ.. 2548–2554

- ในส่วนของปาล์มน้ำมัน จะต้องมีการนำเอาน้ำมันปาล์มส่วนที่เหลือจากการบริโภค มาทำเป็นไบโอดีเซลทั้งหมด

- ในส่วนของน้ำมันมะพร้าว ตั้งแต่ปี พ.. 2548 เป็นต้นไป จะต้องนำเอามะพร้าวส่วนที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศ มาแปรรูปไบโอดีเซลทั้งหมด

- นอกเหนือจากนั้นยังมีน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว โดยในที่นี้คิดเฉพาะที่ได้จากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันทอด และภัตตาคารขนาดใหญ่ รวมทั้งร้านฟาสต์ฟูดต่าง ๆ เท่านั้น

- เมล็ดสบู่ดำ ซึ่งในช่วงปี พ.. 2548–2549 จะเป็นช่วงการศึกษาวิจัยในทุก ๆ ด้านในขั้นสุดท้ายทั้งคุณสมบัติ ผลกระทบต่อเครื่องยนต์ ด้านเศรษฐศาสตร์ และการพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มผลผลิต สำหรับในช่วงปี พ.. 2550–2551 จะเป็นช่วงทดลองผลิตไบโอดีเซลในระดับโรงงานต้นแบบ

. 

จากกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ที่ได้กล่าวข้างต้น รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องได้รับผลการศึกษาที่มีรายละเอียดครบถ้วน ในทุกขั้นตอนรวมทั้งผลกระทบต่าง ๆ ทั้งทางบวกและทางลบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรัฐบาลจะสามารถตัดสินใจที่จะดำเนินโครงการได้อย่างถูกต้องต่อไป

.
เอกสารอ้างอิง
1. คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร. 2545. พลังงานทดแทน เอทานอลและไบโอดีเซล. โรงพิมพ์แปลน พริ้นติ้ง  จำกัด. กรุงเทพมหานคร.
2. อนุตร จำลองกุล. 2545 พลังงานหมุนเวียน โรงพิมพ์ โอ เอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร.

3. อนุตร จำลองกุล. 2545 ผลงานวิจัยการทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ไขน้ำมันปาล์มไบโอดีเซล. สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล คลองหก ปทุมธานี

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด