เนื้อหาวันที่ : 2007-05-21 15:43:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 16288 views

Gilbreths กับ Taylor เสือสองตัวในถ้ำเดียวกัน

นับเวลาย้อนหลังไปหนึ่งร้อยปีเศษในช่วงเวลาที่โลกอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ ๆ นั้น การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งคนงานต้องทำงานร่วมกับเครื่องจักรกลยังมีปัญหาต่าง ๆ ต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่มากมาย Frank กับ Lillian Gilbreth และ Frederic Taylor รวมทั้งผู้ร่วมงานนับเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง

สวัสดีครับ คุณผู้อ่านที่เคารพ อ่านจั่วหัวเรื่องแบบนี้คงจะเดาออกนะครับว่าผมกำลังจะเล่าเรื่องความขัดแย้งระหว่างสองคนดังในอดีต จะอ่านเล่นก็ได้ อ่านเอาเรื่องก็ดี โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาการศึกษาการเคลื่อนที่และเวลา หรือวิชาการจัดการอุตสาหกรรม ไม่ควรพลาดเรื่องราวชีวิตอีกมุมหนึ่งของคนดังเหล่านี้ซึ่งไม่ค่อยได้เปิดเผยกันเท่าไรนัก ความขัดแย้งเกิดจากความเห็นที่แตกต่างกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอกกัน ให้บังเอิญที่คนทั้งสองต่างก็เป็นผู้คิดค้นเทคนิคในการปรับปรุงการทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเหมือนกันแต่แนวคิดไม่เหมือนกัน จึงเปรียบเสมือนเสือสองตัวที่อยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้                    

.

คู่กรณีฝ่ายหนึ่งนำทีมโดย Frederick Winslow Taylor อีกฝ่ายนำโดย Frank Bunker Gilbreth ครับ เรื่องนี้เกิดขึ้นมาร่วมร้อยปีแล้ว แต่เนื่องด้วยผลงานของทั้งสองท่านมีคุณประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อ ๆ มา จวบจนปัจจุบัน จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องตกยุคหลงสมัยแต่ประการใดนะครับ    

.

ในช่วงต้น ๆ ของทศวรรษ ของ ค.ศ.1900 Taylor กับผู้ร่วมงานของเขาได้พัฒนาและปรับปรุงเกี่ยวกับการศึกษาเวลาทำงาน (Time Study) ขึ้นมาซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกัน Gilbreth ก็ได้คิดค้นเกี่ยวกับการศึกษาการเคลื่อนที่ (Motion Study) และต่อมาเขากับภรรยาพร้อมกับผู้ร่วมงานก็ได้ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่แนวคิดของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกัน จึงนำมาสู่การเอาชนะคะคานและปะทะคารมกันในที่สุด ไม่แต่เพียงทั้งสองท่านที่ขัดแย้งกันเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงบรรดาผู้ร่วมงานของแต่ละฝ่ายรวมทั้งนักวิชาการในเวลาต่อ ๆ มาอีกด้วย

.

บทความนี้จะนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ Gilbreth กับ Taylor อีกแง่มุมหนึ่ง และเพื่อให้ท่านได้ทราบที่มาที่ไปของเรื่องนี้และอ่านอย่างมีอรรถรสยิ่งขึ้น จะขอเล่าถึงอัตชีวประวัติของทั้งสองท่านอย่างย่อ ๆ ก่อน

.

Frank Bunker Gilbreth กับ Lillian Moller Gilbreth

.

 

.

รูปที่ 1  คู่สามีภรรยา Gilbreth ผู้มีประวัติโดดเด่นไม่แพ้กัน(จาก Gilbrethnetwork.com)

.

ในแวดวงวิศวกรรมศาสตร์ต่างยกให้ Frank เป็นผู้บุกเบิกศาสตร์ว่าด้วยเรื่อง การศึกษาการเคลื่อนที่ (Motion Study)” จะบอกว่าเขาคนเดียวคงไม่ได้ ต้องรวมถึงภรรยาด้วยคือ Lillian Moller Gilbreth เขาเกิดเมื่อ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1868 ที่ Fairfield, Maine ส่วนภรรยาเกิดเมื่อ 24 พฤษภาคม ค.ศ.1878 ที่ Oakland, California สหรัฐอเมริกา Frank ได้รับการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในขณะที่ Lillian ศึกษามาทางด้านจิตวิทยาอุตสาหกรรม ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อปี ค.ศ. 1904 (หลังไททานิกจม 2 ปี) และช่วยกันคิดช่วยกันทำการศึกษาแล้วนำสิ่งที่ได้มาเผยแพร่ งานที่ศึกษาจะเกี่ยวข้องกับเทคนิคการปรับปรุงวิธีการทำงาน การศึกษาเรื่องความเมื่อยล้าจากการทำงาน พวกเขามีแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานว่า คนงานเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในระบบการผลิต จึงต้องเริ่มต้นศึกษาจากคนงานก่อนแล้วค่อยไปว่าถึงเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ วัสดุ สภาพแวดล้อมขณะทำงานโดยพยายามปรับให้เหมาะสมกับคนงานที่สุด ตอน Frank ยังหนุ่มแน่นเขาทำงานเป็นช่างก่ออิฐอยู่ในบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง จุดนี้เองนับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาการเคลื่อนที่ของเขาอย่างจริงจัง เขาสังเกตและปรับปรุงการทำงานจนสามารถเพิ่มความเร็วในการทำงานจากที่ช่างคนหนึ่งเคยก่ออิฐได้เฉลี่ย 120 ก้อน/ชั่วโมง มาเป็น 350 ก้อน/ชั่วโมง เคล็ดลับที่เพิ่มความเร็วได้เพราะเขาคิดวิธีทำงานใหม่รวมทั้งออกแบบเครื่องมือ อุปกรณ์ทำงานให้เหมาะสมจึงทำให้ช่างก่ออิฐลดการเคลื่อนที่ลงนั่นเอง นอกจากนี้เขากับภรรยาและทีมงานยังมีผลงานอีกมากมาย อาทิเช่น (1) เป็นผู้บุกเบิกการใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์เพื่อถ่ายทำการทำงานของคนงานแล้วนำมาวิเคราะห์การเคลื่อนไหวอย่างละเอียด (Micromotion Study) (2) เป็นผู้ริเริ่มใช้กล้องถ่ายรูปหน่วงเวลาเพื่อให้เห็นการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องโดยให้คนงานทำงานในที่มีแสงสลัว ใช้หลอดไฟเล็ก ๆ ติดไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เทคนิคนี้เรียกว่า Cyclegraph (ติดหลอดไฟไม่กระพริบไว้ตามร่างกายแล้วถ่ายรูปโดยกดชัตเตอร์ค้างไว้เพื่อให้เลนส์รับแสงเป็นเวลานานขึ้น เมื่อคนเคลื่อนไหวจะทำให้ได้รูปถ่ายที่เห็นแสงไฟเป็นเส้นต่อเนื่อง) กับ Chronocyclegraph (เหมือน Cyclegraph แต่หลอดไฟกระพริบ ทำให้เห็นอัตราเร็วของการเคลื่อนไหวของร่างกาย) เป็นต้น ทั้งสองมีบุตรจำนวน 1 โหลพอดี และเป็นที่มาของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Cheaper By The Dozen ซึ่งเขียนขึ้นโดยบุตรสองคน (ชาย 1 หญิง 1) Frank จากไปเมื่อเขาอายุได้ 60 ปี ในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1924 ในขณะที่ Lillian มีอายุยืนกว่ามาก ภายหลัง Lillian ยังคงสร้างผลงานต่ออีกมากมายและได้รับการยกย่องให้เป็นสตรีคนแรกของโลกในหลาย ๆ ด้าน เช่น เป็นศาสตราจารย์หญิงของสาขาการจัดการทางวิศวกรรมคนแรกของโลกจาก Purdue University แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นสมาชิกหญิงคนแรกของ American Society of Mechanical Engineers (ASME) แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นสตรีท่านเดียวที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง Gilbreth Medal และ Gantt Gold Medal เป็นต้น Lillian อำลาโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1972 ที่ Phoenix, Arizona

.

 

.

รูปที่ 2 กล้องถ่ายภาพยนตร์โบราณแบบหนึ่งสำหรับถ่ายภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์การเคลื่อนไหวอย่างละเอียด   ถ่ายภาพได้1,000 ภาพต่อนาที(จาก Barnes. Motion and time study.7th ed. John Wiley & Sons.)

.

 

รูปที่ 3 ภาพถ่ายเทคนิค Chronocyclegraphic ซึ่งเป็นเทคนิคสำหรับวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของร่างกาย คิดค้นโดย Gilbreths (จาก Gilbrethnetwork.com)

.

Frederick Winslow Taylor

.

 

รูปที่ 4 F.W. Taylor โฉมหน้าของวิศวกรเครื่องกลนามกระเดื่อง(จาก Gilbrethnetwork.com)        

.

มาดูทางฝ่าย Taylor บ้าง ฝ่ายนี้ก็มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้ฝ่ายแรก เขาลืมตาดูโลกเมื่อ ค.ศ. 1856 ในครอบครัวผู้มีอันจะกินครอบครัวหนึ่งที่ Germantown (Philadelphia) เมื่ออายุ 22 ปี ใน ค.ศ.1878 ได้เข้าทำงานที่บริษัท Midvale Steel ตอนนั้น Taylor ยังไม่ได้เรียนวิศวกรรมเครื่องกล มีการศึกษาเพียงลูกมือช่างเท่านั้น จึงเข้าทำงานในฐานะคนงานธรรมดา ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นมาเป็นเสมียนตรวจการมาทำงานของคนงาน แล้วมาเป็นหัวหน้าคนงาน (โฟร์แมน) ในแผนกตัดโลหะ (Machime Shop) ในระหว่างทำงานที่นี่เขาก็เรียนภาคค่ำที่ Stevens Institute ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลไปด้วยจนกระทั่งจบปริญญาตรี ในที่สุดก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าวิศวกรอย่างสมภาคภูมิที่โรงงานแห่งนี้เมื่ออายุ 28 ปี 

.

เป็นธรรมดาของหัวหน้าคนงานที่ต้องมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของคนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือนายจ้างและอีกฝ่ายคือลูกน้อง เพื่อให้ได้ปริมาณงานที่ไม่เอาเปรียบนายจ้างจึงต้องพยายามคิดหาวิธีการทำงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกน้อง ลูกน้องจะได้ทำงานอย่างมีความสุขและได้งานมาก แต่โดยธรรมชาติของหัวอกนายจ้างกับลูกจ้างมักจะมีความต้องการที่สวนทางกันเสมอ นั่นคือนายจ้างต้องการให้ลูกจ้างทำงานให้ได้งานเยอะ ๆ แต่จ่ายค่าจ้างน้อย ๆ ส่วนลูกจ้างต้องการทำงานน้อย ๆ สบาย ๆ แต่อยากได้ค่าจ้างสูง ๆ ภาระหนักจึงตกอยู่ที่เขาจะต้องคิดหาทางแก้ไขเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าลูกจ้างต้องทำงานมากน้อยแค่ไหนจึงจะยุติธรรมต่อค่าจ้างที่ได้รับ นั่นคือไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบกันจนน่าเกลียดเกินไป จึงตกลงกันว่าถ้าใครทำผลงานได้มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกันจะจ่ายค่าจ้างเพิ่มให้ แต่ในทางตรงข้ามถ้าทำผลงานต่ำกว่าเกณฑ์ก็ได้ค่าจ้างลดลงตามส่วน เท่านี้น่าจะจบนะครับ แต่ยังครับ ยังมีปัญหาตามมาอีกว่าจะกำหนดเกณฑ์ขึ้นอย่างไรจึงจะไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบล่ะ หนทางเดียวที่จะตั้งเกณฑ์ได้ก็คือต้องมีการวัดผลงาน นี่จึงเป็นที่มาที่นายเทเลอร์เริ่มงานศึกษาเวลาทำงานเพื่อนำมากำหนดเป็นเวลามาตรฐานสำหรับกำหนดอัตราการจ่ายค่าจ้างนั่นเอง

.

ผลงานที่ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดเห็นจะได้แก่ตอนที่เขาได้ลาออกจากบริษัทมิดเวลแล้วมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเหล็กเบธเลเฮม (Bethehem Iron และได้เปลี่ยนชื่อเป็น Bethehem Steel ในภายหลัง) ในปี ค.ศ. 1898 ที่นี่เขาได้ศึกษาและปรับปรุงการทำงานของกลุ่มคนงานขนย้ายเหล็กดิบ (Pig Iron) ที่มีน้ำหนัก 92 ปอนด์ ไปตามทางลาดเอียงเพื่อไปใส่ลงในกระบะรถไฟ จากเดิมเฉลี่ย 12.5 ตันต่อวันมาเป็น 47 ถึง 48 ตันต่อวัน โดยที่คนงานเองก็ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นด้วยจากวันละ 1.15 ดอลลาร์ มาเป็น 1.85 ดอลลาร์   

.

ที่ Bethelem Iron อีกเช่นกัน เขาได้สร้างผลงานยอดเยี่ยมอีกอย่างหนึ่งคือการศึกษาและปรับปรุงการทำงานของคนงานที่ต้องขนย้ายวัตถุดิบไปใส่ในเตาหลอมเหล็ก (Blast Furnace ศัพท์ทางวิชาการเรียกเตาพ่นลม เคยเห็นมีผู้เรียกแบบไม่เป็นทางการว่า เตาสูง) โดยคนงานแต่ละคนก็มีพลั่วของเป็นตนเองซึ่งใช้พลั่วอันเดียวกันนี้กับงานตักทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบา งานหนักก็คือใช้ตักสินแร่เหล็ก (Iron Ore) ส่วนงานเบาก็คือตักผงถ่านหิน (Light Rice Coal) เขาศึกษาพบว่าน้ำหนักที่ตักแต่ละครั้งจะมีค่าอยู่ในช่วง 3.8 ถึง 38.0 ปอนด์ และถ้าตักที่น้ำหนัก 21.5 ปอนด์ (ประมาณเกือบ ๆ 10 กิโลกรัม) จะได้ผลงานสูงที่สุดในการทำงาน 1 วัน เขาจึงให้คนงานเลิกใช้พลั่วอันเดิม แล้วให้ใช้พลั่วที่เขาออกแบบใหม่ที่ไม่ว่าจะตักวัตถุชนิดใดก็จะได้น้ำหนักประมาณ 21.5 ปอนด์ รูปทรงของพลั่วจึงแตกต่างกันออกไปตามชนิดของงาน กล่าวคือ ถ้าตักผงถ่านหินก็ใช้พลั่วหน้ากว้างหน่อย เพื่อจะตักได้ปริมาณมากแต่ได้น้ำหนัก 21.5 ปอนด์ ถ้าเป็นสินแร่เหล็กก็ใช้พลั่วหน้าแคบเพื่อตักปริมาณน้อยแต่ได้น้ำหนัก 21.5 ปอนด์เช่นกัน  

.

นอกจากจะมีผลงานด้าน Time Study แล้ว Taylor ยังมีผลงานด้านการการจัดการอุตสาหกรรมอีกด้วย ผู้คนจึงต่างยกตำแหน่งบิดาแห่งการจัดการด้วยหลักวิทยาศาสตร์ (Father of Scientific Management) สำหรับเขาคนเดียว

.
Taylor มีอายุใกล้เคียงกับ Gilbreth เขาจากไปเมื่อ ค.ศ.1915 ตอนอายุ 59 ปี    
.

ความเหมือนที่แตกต่างของ Motion Study กับ Time Study

หลักการสำคัญของ Motion Study คือ มุ่งเน้นศึกษาและปรับปรุงงานให้ดีขึ้นโดยไม่พิจารณาถึงเวลาไม่ว่าจะเป็นการศึกษาการเคลื่อนที่แบบมหภาคและจุลภาค เทคนิคการปรับปรุงการทำงานของ Gilbreth นั้นนอกจากจะปรับปรุงวิธีการทำงานของคนงานแล้ว ยังมีการปรับปรุงแก้ไขทรัพยากรอื่น ๆ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ เป็นต้น ตลอดจนปรับสภาพแวดล้อมการทำงานต่าง ๆ เช่น การจัดวางเครื่องมือ อุปกรณ์ การปรับแสงสว่าง เสียงและอุณหภูมิ เป็นต้น ให้เหมาะสม ผลที่ได้คือคนงานทำงานอย่างมีความสุข ความเมื่อยล้าน้อยลง งานเสร็จเร็วขึ้น     

.

Gilbreth มีแนวคิดว่าเมื่อการทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแล้วก็ย่อมทำให้การทำงานราบรื่น และเวลาที่ใช้ทำงานก็จะน้อยลงอย่างอัตโนมัติ 

.

หลักการสำคัญของ Time Study คือ เน้นการศึกษาเวลาทำงานสำหรับใช้เป็นเวลามาตรฐานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับนายจ้างและคนงาน และใช้สำหรับการจูงใจให้คนงานทำงาน วิธีการคือแตกงานที่จะศึกษาออกเป็นงานย่อย แล้วเอานาฬิกามาจับเวลาการทำงานหลาย ๆ รอบ ในระหว่างการจับเวลาก็มีการประเมินสมรรถนะของแต่ละงานย่อยไปด้วย (หรือกำหนดแบบอื่น ๆ ก็ได้ เช่น ประเมินสมรรถนะตามรอบเวลาทำงาน หรือประเมินแบบรวม เป็นต้น) เนื่องจากจับเวลาหลายรอบจึงต้องเอาเวลาเหล่านี้มาหาตัวแทนเพียง 1 ค่า หลังจากนั้นก็เอาเวลาเผื่อ (ซึ่งได้แก่ เวลาเผื่อสำหรับทำธุระส่วนตัว  เวลาเผื่อความเมื่อยล้า และเวลาเผื่อสำหรับความล่าช้าของกระบวนการ) มาใส่เพิ่มลงไปในตัวแทนเวลา เวลาที่ได้เรียกว่าเวลามาตรฐาน จะเห็นว่าวัตถุประสงค์หลักของ Time Study คือต้องการทราบเวลาทำงานมากกว่าการศึกษาและปรับปรุงงาน เมื่อทราบเวลาแล้วก็นำไปกำหนดเป็นเวลามาตรฐานเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าจ้างจูงใจ เป็นที่พึงพอใจของทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง   

.

แม้หลักการจะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือต้องการปรับปรุงการทำงานของคนงานให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ทำงานได้เร็วขึ้น เรียกว่ามีเป้าหมายเดียวกันแต่การไปสู่เป้าหมายต่างกันก็น่าจะได้นะครับ   

.
ความขัดแย้ง

ค.ศ. 1907 Frank Gilbreth ได้เจอหน้ากับ Taylor ในช่วงแรกที่รู้จักมักคุ้นกันนั้น Taylor รู้สึกเลื่อมใสศรัทธา Frank อย่างมาก จนแทบจะเรียกว่ายกให้เป็นวีรบุรุษในใจเลยทีเดียว แล้วไป ๆ มา ๆ ทั้งสองเกลียดชังกันได้อย่างไรล่ะครับ 

.

ในระยะหลัง ๆ Frank กลายมาเป็นผู้แสดงความคิดเห็นที่มีบทบาทสูงที่สุดต่อผลงานของ Taylor นอกจากจะวิจารณ์ผลงานของ Taylor แล้วทั้ง Frank กับ Lillian ก็ยังคิดจะช่วย Taylor ปรับแก้ระบบ Time Study ตามแนวคิดของพวกเขาให้ Taylor อีกด้วย แต่ Taylor กับพรรคพวกไม่ยอมรับและถือว่าเป็นการเสียหน้าอย่างแรง นี่กระมังที่เป็นจุดแตกร้าวของผู้คิดค้นเทคนิคที่แตกต่างกัน   

.

ต่อมาอีก 2 ปี คือ ค.ศ.1909 สามีภรรยาคู่นี้ก็เริ่มเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Motion Study และเว้นวรรคมา 2 ปี พวกเขาก็ปรับปรุงวิธีศึกษาการทำงานใหม่ คราวนี้ได้นำกล้องถ่ายภาพยนตร์มาประกอบการศึกษาการทำงานของคนงาน ด้วยคงอยากจะเอาชนะ Taylor หรืออย่างไรสุดจะคาดเดา เขาได้เอานาฬิการวมเข้าไปในแต่ละเฟรมของภาพยนตร์และภาพนิ่งด้วย ในตอนแรก ๆ เขาถึงกับเกทับ Taylor โดยเรียกวิธีของเขาว่า เครื่องมือกลสำหรับศึกษาเวลา (Time Study Machine)” ด้วยซ้ำ แต่เมื่อเขาพูดถึงเรื่องการศึกษาการเคลื่อนที่กับการศึกษาเวลาแล้วเขากลับให้นิยามของส่วนย่อยของเวลาที่แตกต่างกับแนวคิดของ Taylor อย่างสิ้นเชิง และแทนที่ Taylor จะนำมาแนวคิดของ Gilbreths มาเสริมงานของเขา เขากลับมองการคิดค้นของ Gilbreths ว่าเป็นเรื่องไม่น่าจะให้ความสนใจสักเท่าไร แถมยังตีศอกกลับอีกว่าเป็นการปรับปรุงงานที่เฮงซวยเหลือเกิน (Those Damned Improvements เขาว่าอย่างนี้ แต่ผมขอเรียกแบบไทย ๆ ของผมอย่างนี้) ต่อมาเมื่อ Motion Study เริ่มเป็นที่ยอมรับของคนในวงการแล้ว Taylor ก็ยังออกมาแขวะอีกว่า Motion Study เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของ Time Study ที่เขาปั้นมากับมือมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่สักหน่อย 

.

แม้ว่า Taylor จะอำลาโลกไปก่อน Frank ถึง 9 ปี แต่การจากไปก็หาได้ทำให้การปะทะคารมระหว่างทั้งสองฝ่ายยุติลงไม่ ฝ่ายของ Gilbreths บอกว่าเทคนิค Time Study จะได้คำตอบที่คลาดเคลื่อนมากเพราะมันขึ้นอยู่กับการจับเวลาคนงานด้วยนาฬิกาจับเวลาแต่ละครั้ง นอกจากนี้สูตรต่าง ๆ ที่ใช้ในการกำหนดเวลาเผื่อยังเชื่อถือไม่ได้ ข้างฝ่ายของ Taylor ก็ไม่ลดราวาศอก ตอกกลับไปว่าเทคนิค Motion Study ก็ไม่ใช่เทคนิคที่ดีเลิศอะไรหนักหนาแถมสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากอีกต่างหาก ใช้เทคนิค Time Study ก็ได้คำตอบเดียวกันนั่นแหละ ที่สำคัญคือมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าอีกด้วย 

.

สงครามน้ำลายยังไม่ยุติลงแม้ว่า Frank จะลาจากโลกอันแสนยุ่งเหยิงไปอีกคน ตำราทางด้าน Time and/or Motion Study ที่เขียนขึ้นในยุคต่อมาก็ยังเห็นความขัดแย้งนี้อยู่ ดูได้จากฝ่ายของ Taylor ที่มักเอาเนื้อหาของ Motion Study เป็นบทเสริมในตำราเท่านั้นเว้นเสียเมื่อต้องการศึกษางานอย่างละเอียดหรืองานที่ทําอย่างรวดเร็วซึ่งจําเป็นต้องใช้ฟิล์มภาพยนตร์ช่วยแบบเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เท่านั้นจึงค่อยนำเทคนิคของ Motion Study มาอธิบาย โดยให้เหตุผลที่ไม่เน้นเนื้อหา Motion Study ว่าเป็นเพราะใช้เครื่องมือและฟิล์มราคาแพงมากรวมทั้งมีขั้นตอนที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเหมือนที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละ สมัยก่อนเหตุผลนี้ก็ฟังขึ้นนะครับแต่สมัยนี้ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมากจนทำให้บรรดากล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ คอมพิวเตอร์สารพัดชนิดรวมทั้งอุปกรณ์เสริมทั้งหลายราคาถูกลงมาก ๆ     

.

นักวิชาการหรือนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ศึกษาเจาะลึกเกี่ยวกับ Motion Study อาทิเช่น Alan Mogensen, Ralph Barnes และ Anne Shaw เป็นต้น Mogensen กับ Barnes นั้นต่างคนต่างก็ศึกษาและวิจัยโดยไม่เกี่ยวข้องกัน ในวาระโอกาสที่แตกต่างกัน กลุ่มนี้ได้ศึกษาฟิล์มและเอกสารต่าง ๆ ของ Frank เพื่อค้นหาว่ายังมีอะไรน่าสนใจซุกซ่อนซึ่งยังหาไม่พบอยู่อีกหรือไม่ นักวิชาการเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น สำหรับ Ralph M. Barnes ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ Motion and Time Study และนับเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกคนแรกของสหรัฐอเมริกาในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการในปี ค.ศ.1933 ที่ Cornell University อีกด้วยและเอาวิทยานิพนธ์มาเขียนเป็นตำรา Motion and Time Study ที่เป็นตำรายอดนิยมในแวดวงวิชาการทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการทั่วโลก (และแน่นอนในประเทศไทยด้วย) มานานแล้ว แต่น่าเสียดายว่าตั้งแต่ ค.ศ.1980 เป็นต้นมาซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 ก็ไม่มีฉบับปรับปรุงใหม่ออกมาอีกเลย     

.

ในตำราของ Barnes1 มีข้อความตอนหนึ่งเขียนว่า

One Group saw time study only as a means of setting rates, using the stop watch as the timing device. Barnes บอกว่าประโยคนี้เขาคัดลอกมาจากเอกสารของ Lillian นั่นเอง ไม่น่าแปลกใจเลยนะครับ   

.

Barnes เขียนต่อว่า Another group saw motion study only as expensive and elaborate technique, requiring a motion picture camera and laboratory procedure for determining a good method of doing work.  ฝ่ายที่มีความเห็นแบบนี้ก็คือฝ่ายของ Taylor แบบไม่ต้องสงสัย  

.

ในระยะหลังต่อมา มีความพยายามที่จะจับเอา Motion Study มาแต่งงานกับ Time Study กลายมาเป็น Motion and Time Study เพื่อทำให้เป็นเรื่องเดียวกันโดยนำเอา Therbligs มากำหนดเวลาลงไป การกระทำเช่นนี้ผิดเจตนารมณ์ของ Gilbreths ที่ต้องการเน้นเรื่องการออกแบบเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับมนุษย์เพื่อเลี่ยงการเกิดความเมื่อยล้า ไม่ได้ต้องการเน้นเรื่องเวลาของ Therbligs แต่อย่างใด เวลาที่ได้มาเป็นผลพลอยได้เท่านั้นเอง   

.

ในบทความเกี่ยวกับการอธิบายสัญลักษณ์ Therbligs ที่ David S. Ferguson6 ซึ่งเป็น coordinator ของเว็บชื่อ Gilbrethnetwork นั้นมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า     

.

it should be made clear that Therbligs had no relationship to Time Study. No matter what Taylor or his merry band of followers may have intimated, nor the later attempts of tying motion study to time study, as Frank Gilbreth put it: "... Taylor never did any motion study of any kind whatever." The very name, "Therblig", was created to show Gilbreth ownership of the term (the word being, Gilbreth spelled backwards with the exception of the "th").      

.

คำแปลเป็นทำนองนี้ครับ...ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่า Therbligs ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Time Study เลย ไม่ว่า Taylor หรือผู้ร่วมงานของเขาจะคุ้นเคยหรือไม่ว่าในเวลาต่อมาจะมีผู้พยายามผูกรวมเอา Motion Study เข้ากับ Time Study ก็ตาม ดังที่ Frank Gilbreth ได้กล่าวไว้ว่า ... Taylor ไม่เคยศึกษาอะไรที่เกี่ยวกับ Motion Study แม้แต่น้อย คำว่า “Therblig” ถูกตั้งขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าเจ้าของคำนี้ก็คือ Gilbreth คนเดียว ไม่เกี่ยวกับใคร       

.
บทส่งท้าย      

นับเวลาย้อนหลังไปหนึ่งร้อยปีเศษในช่วงเวลาที่โลกอยู่ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ ๆ นั้น การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งคนงานต้องทำงานร่วมกับเครื่องจักรกลยังมีปัญหาต่าง ๆ ต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่มากมาย Frank กับ Lillian Gilbreth และ Frederic Taylor รวมทั้งผู้ร่วมงานนับเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการริเริ่มคิดค้นและพัฒนาเทคนิคการปรับปรุงงานให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยผลงานอันยอดเยี่ยม จึงส่งผลให้ Gilbreth ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการศึกษาการทำงาน ในขณะที่ Taylor ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกเรื่องการศึกษาเวลาทำงานและเป็นบิดาแห่งการจัดการด้วยหลักวิทยาศาสตร์อีกด้วย    

.

Motion Study กับ Time Study แม้จะเป็นคนละเรื่องกัน และเน้นผลลัพธ์คนละอย่าง แต่เทคนิคทั้งสองก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น กล่าวคือ Motion Study เน้นการปรับปรุงงานเพื่อให้คนงานสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยปรับปรุงแก้ไขวิธีการเคลื่อนไหวของคนงานและปรับปรุงแก้ไขทรัพยากรอื่นตลอดจนปรับสภาพแวดล้อมการทำงานต่าง ๆ ให้เหมาะสม ส่วน Time Study เน้นการศึกษาเวลาทำงานสำหรับใช้เป็นเวลามาตรฐานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับนายจ้างและคนงาน และใช้สำหรับการจูงใจให้คนงานทำงาน    

.

นับได้ว่าบุคคลทั้งสองรวมทั้งผู้ร่วมงานของพวกเขาเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงยิ่งต่อคนรุ่นต่อ ๆ มาในการสืบสานแนวคิดและนำไปประยุกต์ใช้งานอย่างกว้างขวาง สมควรแล้วที่นักวิชาการและนักอุตสาหกรรมให้เกียรติและยกย่องให้เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติ     

.

หวังว่าบทความนี้คงให้สาระและความเริงรมย์ต่อท่านผู้อ่านบ้างนะครับ ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุก ๆ ท่านครับ

.

เอกสารอ้างอิง

1. New York : John Wiley & Sons.

2. Babcock, D.L. 1996. Managing engineering and technology. 2nd ed. New Jersey : Prentice Hall.

3. Ferguson , D.S. 1997. Don’t call it “Time and Motion Study”. IIE Solutions. pp 22-23.

4. Niebel, B. and Freivalds, A. 1999. Methods, Standards and Work Design. 10th ed. : McGraw-Hill.

5. http://ollie.dcccd.edu/mgmt1374/book_contents/1overview/management_history/mgmt_history.htm

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด