เนื้อหาวันที่ : 2012-09-11 10:46:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4780 views

ประหยัดพลังงาน ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

ปัญหาการขาดแคลนทางพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันร่วมมือแก้ไข ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ได้หาวิธีการต่าง ๆ

ประหยัดพลังงาน ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
กองบรรณาธิการ

จากการขยายตัวของสังคม และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จำเป็นต้องขยายแหล่งผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งนอกจากจะต้องจัดหาแหล่งผลิต และใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว การนำเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ยังต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
และจากปัญหาการขาดแคลนทางพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันร่วมมือแก้ไข ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ได้หาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยกันแก้ไขดังกล่าว โดยส่วนประชาชนในภาคครัวเรือนเอง ก็ต้องหันมาให้ความร่วมมือกับนโยบายในการประหยัดพลังงานให้มากขึ้น เพราะแม้แต่ละครัวเรือนจะมีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่มาก เมื่อเทียบกับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่เมื่อผู้บริโภคมีการใช้ทรัพยากรและไฟฟ้ามากขึ้นเท่าไหร่ โรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าก็ต้องเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น ซึ่งนั้นก็หมายถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมก็จะมากขึ้น


เราทุกคนจึงต้องมีหน้าที่ในการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม สำหรับวิธีการในการร่วมกันอนุรักษ์พลังงานได้ง่าย ๆ ก็คือการเปลี่ยนมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ อย่างเครื่องใช้พลังงานที่มีฉลากรับรองการประหยัดไฟเบอร์ 5 ที่นอกจากจะเป็นการช่วยประหยัดค่าไฟในแต่ละบ้านแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานและลดการสร้างผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ถือเป็นโครงการที่มีแนวทางในลักษณะของการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management: DSM) หรือการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Promotion of Electricity Energy Efficiency) ซึ่งเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นและแพร่หลายในหลายประเทศ เมื่อทั่วโลกได้ตระหนักว่า การผลิตเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานเพียงทางเดียว ย่อมก่อให้เกิดปัญหาหลายประการติดตามมา เช่น ทรัพยากรพลังงานที่นับวันจะหมดไป ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมลภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงาน


แนวคิดการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับการเผยแพร่และคิดค้นวิจัยไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง อาจกล่าวได้ว่า DSM เป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งที่สำหรับการวางแผนพัฒนาการผลิตและส่งไฟฟ้าโดยประเทศไทย นับเป็นประเทศแรกเริ่มในภูมิภาคเอเชีย ที่ดำเนินการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับการยอมรับถึงประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแพร่หลายและยั่งยืน


ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้มีโครงการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงานในโครงการ “ประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า” ภายใต้สัญลักษณ์ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 โดยใช้แนวทางการรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของการประหยัดด้วยการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ ส่วนสำคัญที่จะทำให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จก็คือ เรื่องของการทำให้ประชาชนหันมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ โดยการรณรงค์โครงการและจูงใจให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง

และเพื่อให้การดำเนินโครงการ  ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 บรรลุผลในการลดการใช้พลังงานโดยรวมของชาติ และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจอย่างจริงจังจากทุก ๆ ฝ่าย ดังนั้น กฟผ. จึงใช้แนวทางในการดำเนินโครงการจึงมุ่งที่จะใช้วิธีจูงใจ โดยการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า แก่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกตามประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า คือ กลุ่มภาคที่อยู่อาศัย กลุ่มภาคธุรกิจ และกลุ่มภาอุตสาหกรรม ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า 3อ คือ อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า อาคารประหยัดไฟฟ้า และ อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า

กลยุทธ์ 3อ: แนวทางการประหยัดไฟฟ้า
อ. อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า: ภาคที่อยู่อาศัย
กลุ่มประชาชนในภาคที่อยู่อาศัย เป็นกลุ่มที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณร้อยละ 25 ของปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ การดำเนินการในภาคที่อยู่อาศัยนี้จึงมุ่งเป้าหมายไปที่การส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงโดย กฟผ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิต/ผู้นำเข้า และผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงประหยัดไฟ ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลักดันให้มีการพัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ ให้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงตามไปด้วยแล้ว ยังทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น หลอดอ้วน หมดไปจากตลาดเมืองไทยอีกด้วย


อ. อาคาร/โรงงานประหยัดไฟฟ้า: ภาคธุรกิจ/ภาคอุตสาหกรรม
สัดส่วนการใช้พลังงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 75 ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ ยิ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นเท่าใด การใช้พลังงานจะสูงตามไปด้วย และเพื่อให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เห็นความสำคัญและพร้อมใจกันใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นเดียวกับกลุ่มภาคที่อยู่อาศัยพร้อมไปกับการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิด อ ที่สอง คือ อาคาร/โรงงานประหยัดไฟฟ้า ซึ่งได้แก่ การบริหารการใช้ไฟฟ้า การปรับปรุงระบบป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร การใช้ระบบปรับอากาศประสิทธิภาพสูง และการปรับปรุงระบบแสงสว่างการจัดการอบรมให้ความรู้ด้านการใช้พลังงานอย่างถูกต้อง ลดต้นทุนการผลิตสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก


อ. อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า: สร้างการเรียนรู้สู่เยาวชน และประชาชนทั่วไป
ถึงแม้ว่าจะได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยและอาคารประหยัดไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จแล้วก็ตาม ทัศนคติหรือ การรับรู้เรื่องการประหยัดพลังงาน มีความจำเป็นต้องตอกย้ำ และสร้างองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง


 กฟผ. ได้ดำเนินโครงการปลูกฝังอุปนิสัยการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพแก่เยาวชนและประชาชน โดยประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการสำนักการศึกษากรุงเทพมหานครจัดตั้ง ห้องเรียนสีเขียว (Green Learning Room) เพื่อเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมในการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพแก่เยาวชนของชาติตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยม โดยผ่านระบบการศึกษาของประเทศเพื่อปลูกฝังอุปนิสัยการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพให้ยั่งยืน ปัจจุบันมีห้องเรียนสีเขียวอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ


นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการรณรงค์โฆษณาประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมสนับสนุนผ่านสื่อบุคคลและสื่อสาธารณะ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมแก่ประชาชนโดยการสร้างเครือข่ายของสมาชิกให้เจาะถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นและทัศนคติที่ดีต่อผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 เพื่อนำไปสู่สมาชิกครอบครัวเบอร์ 5 ต่อไป


สำหรับโครงการที่เป็นการสนับสนุนให้ครัวเรือนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 มีดังนี้คือ
1. โครงการใช้ตู้เย็นประหยัดไฟเบอร์ 5 ตู้เย็นเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง  และเป็นสินค้าจำเป็นที่ประชาชนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในแทบทุกหลังคาเรือน  ปัจจุบันการใช้ตู้เย็นในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงปีละ 1 ล้านตู้  ด้วยเหตุนี้  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ดำเนินโครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า  ได้พิจารณาเห็นว่า ควรให้มีการศึกษาและหาแนวทางในการประหยัดพลังงานไฟฟ้าหรือลดความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าลง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของตู้เย็น  และส่งเสริมให้ประชาชนตัดสินใจเลือกซื้อแต่ตู้เย็นที่มีประสิทธิภาพสูงโดยตู้เย็นเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าอุปกรณ์แรกที่มีการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพ

2. โครงการใช้หลอดผอม แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาด 40 และ 20 วัตต์ โครงการนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2536 โดย กฟผ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟฟ้าภายในประเทศจำนวน 5 ราย ในการยุติการผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 40 และ 20 วัตต์ หรือที่เรียกกันว่า หลอดอ้วน และหันมาผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 36 และ 18 วัตต์ หรือ หลอดผอม แทน ซึ่งให้แสงสว่างเท่ากันแต่ประหยัดเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 จนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2545 โครงการนี้สามารถช่วยลดความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ 2,054.4 ล้านหน่วย ลดปริมาณการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าลงถึง 1,518,308 ตัน 

 โครงการฯ นี้ นับเป็นโครงการแรกของโลกที่ทำให้หลอดไฟฟ้าประสิทธิภาพต่ำถูกกำจัดออกไปจากตลาดอย่างสิ้นเชิง โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคนไทยทั้งชาติ ที่ได้ช่วยกันสร้างค่านิยมใหม่ ด้วยการหันมาใช้หลอดผอม ทั้งยังเป็นจุดสำคัญที่ก่อให้เกิดโครงการประชาร่วมใจ ใช้หลอดตะเกียบประหยัดไฟฟ้าในเวลาต่อมาอีกด้วย

3. โครงการใช้หลอดตะเกียบประหยัดไฟเบอร์ 5 หลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์ หรือที่เรียกกันว่าหลอดตะเกียบ คือ หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่พัฒนาทั้งรูปทรง และการใช้พลังงานโดยอาศัยสารเคลือบภายในที่มีประสิทธิภาพสูงให้แสงสว่างมากขึ้น แต่กินไฟน้อยลง รูปทรงที่พัฒนานี้สามารถนำมาทดแทนหลอดไส้ ที่ใช้กันมาแต่เดิม ตัวหลอดมีความกะทัดรัด และมีกำลังส่องสว่างสูง มีอายุการใช้งานนานกว่าหลอดไส้ประมาณ 8 เท่า หรือ 8,000 ชั่วโมง และใช้ไฟน้อยกว่าหลอดไส้ประมาณ 4 เท่า


4. โครงการใช้บัลลาสต์เบอร์ 5 นิรภัย ทั้งนี้ บัลลาสต์เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้คู่กับหลอดฟลูออเรสเซนต์ มีหน้าที่ปรับแรงดันและควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการส่องสว่างของหลอด อย่างไรก็ตาม บัลลาสต์เบอร์ 5 นิรภัย จะมีประสิทธิภาพสูง ช่วยประหยัดไฟมากกว่าบัลลาสต์ทั่วไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังปลอดภัยกว่าบัลลาสต์แกนเหล็กแบบเดิม เนื่องจากมีอุณหภูมิขณะใช้งานไม่เกิน 75 องศาเซลเซียส ขณะที่บัลลาสต์แกนเหล็กแบบเดิมมีอุณหภูมิขณะใช้งานประมาณ 110-120 องศาเซลเซียส ความร้อนที่น้อยกว่า จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และยังช่วยให้ประหยัดไฟฟ้าจากการที่เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลงอีกด้วย

จากการประมาณการยอดขายจำนวนบัลลาสต์ ที่ใช้กับหลอดฟลูออเรสเซนต์ใน 1 ปีประมาณ 20-25 ล้านตัว คิดเป็นความต้องการใช้ไฟฟ้าของบัลลาสต์ประมาณ ปีละ 25 เมกะวัตต์ จากข้อมูลดังกล่าว หากมีการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งบัลลาสต์ประสิทธิภาพสูง ลดการสูญเสียพลังงานในตัวบัลลาสต์ลงและผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม ก็จะเป็นการลดความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลงได้อีกทางหนึ่ง

5. โครงการใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟเบอร์ 5 ปัจจุบันเครื่องปรับอากาศเป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ กฟผ. สามารถดำเนินการพัฒนาให้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2536 มีเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยประมาณ 4,000,000 เครื่อง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 10% ทั้งนี้นับตั้งแต่การเปิดตัวโครงการฯ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2538 เป็นต้นมา เครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 เป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างแพร่หลาย มีบริษัทผู้ผลิต/นำเข้าที่ร่วมโครงการฯ กว่า 80 ราย มีเครื่องปรับอากาศที่ผ่านการทดสอบและติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพกว่า 120 เครื่องหมายการค้า จำนวนกว่า 700 รุ่น และปัจจุบันมีเครื่องปรับอากาศติดฉลากฯ ขนาดตั้งแต่ 6,000 BTU/hr. จนถึง 32,000 BTU/hr. สามารถลดความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 495.0 ล้านหน่วย หรือลดความต้องการใช้พลังไฟฟ้าได้ 130.1 เมกะวัตต์ รวมทั้งสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 365,841 ตัน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรณรงค์ในการเลือกใช้เครื่องปรับอากาศอย่างถูกวิธีทั้งในสำนักงานและในครัวเรือน อาทิ การเปิดเครื่องปรับอากาศเฉพาะเวลาทำงาน การทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศเครื่องปรับอากาศเดือนละ 1 ครั้ง การทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทั้งภายในและภายนอกอาคารปีละ 2 ครั้ง และการปรับตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส

6. โครงการข้าวกล้อง 5 จากการศึกษาการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการสีข้าว พบว่า การขัดสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวขาวถึง 3 ครั้ง จะต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณมากถึงร้อยละ 60 ของกระบวนการขัดสีข้าวทั้งหมด ขณะเดียวกัน ข้าวที่ต้องผ่านการขัดสีถึง 3 ครั้ง ทำให้จมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว ซึ่งเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยคุณค่าของสารอาหารนานาชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลุดออกไปด้วย

กฟผ. จึงได้ดำเนินโครงการ “ข้าวกล้องเบอร์ 5” ขึ้น เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้กับประชาชนคนไทย นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรไฟพร้อม ๆ กับการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมจากการลดหรือชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากการประหยัดไฟฟ้าในกระบวนการสีข้าวได้อีกทางหนึ่ง

7. โครงการใช้พัดลมประหยัดไฟเบอร์ 5 เนื่องจากพัดลมเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยลดและระบายความร้อน มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายแทบทุกครัวเรือนและในวงการอุตสาหกรรม ปัจจุบันพัดลมที่ใช้งานในประเทศมีอยู่ประมาณ 30 ล้านเครื่อง ซึ่งมียอดการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีด้วยอัตราการเจริญเติบตัวที่สูง ทำให้เกิดความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึงปีละประมาณ 70 เมกะวัตต์ หรือใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 200 ล้านหน่วย ดังนั้นในปี 2544 กฟผ.จึงได้มีการติดฉลากแสดงระดับผลิตภาพในพัดลมไฟฟ้า 12 นิ้ว และ 16 นิ้ว ทั้งชนิดตั้งโต๊ะ ติดผนัง และตั้งพื้น เนื่องจากเป็นขนาดที่มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 90

8. โครงการใช้โคมไฟประสิทธิภาพสูงเบอร์ 5 โดย กฟผ. ได้มีการรณรงค์โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้าในส่วนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างนับเป็นการใช้พลังงานส่วนหนึ่งในอาคารนั้น ๆ นอกจากการเลือกใช้หลอดประหยัดพลังงานแล้ว การใช้โคมไฟที่มีประสิทธิภาพในการสะท้อนแสงยังสามารถประหยัดไฟได้อีกทางหนึ่ง เพราะจะสามารถลดจำนวนการใช้หลอดไฟลงได้

9. โครงการใช้หม้อหุงข้าวประหยัดไฟเบอร์ 5 สำหรับหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแทบทุกครัวเรือน และมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี จะเห็นได้จากยอดจำหน่ายที่สูง โครงการเหล่านี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในเรื่องของการประหยัดค่าไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและช่วยลดมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่คนไทยจะได้จากการอนุรักษ์พลังงานก็คือ การได้ดำเนินตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับการกล่าวขานไปทั่วว่า สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกเรื่อง การใช้พลังงานอย่างพอเพียงก็เป็นหนึ่งในนั้น จะเห็นได้ว่า การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ นอกจากยะทำให้ประหยัดในเรื่องของค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการช่วยกันอนุรักษ์พลังงานของประเทศให้คงอยู่อย่างยั่งยืนและเหลือพอให้คนรุ่นหลังได้มีไว้ใช้ตลอดไป

ข้อมูลอ้างอิง
* โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
* http://teenet.chiangmai.ac.th/emac/journal/2002/14/images/054.gif
* http://www.geocities.com/add_kriangchai/p001.jpg

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด