เนื้อหาวันที่ : 2012-07-17 13:07:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4561 views

แนวทางการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย (ตอนที่ 2)

แนวทางการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย (ตอนที่ 2)

แนวทางการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย (ตอนที่ 2)
(A Guide To Measuring Health & Safety Performance)

ศิริพร วันฟั่น

 ในตอนแรกของบทความ ได้ไขข้อข้องใจใน 2 ประเด็นแรกของแนวทางการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย นั่นก็คือ (1.) ทำไมต้องวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Why Measurement Health & Safety Performance?) และ (2.) อะไรบ้างที่ควรวัดผล (What To Measurement) ส่วนในตอนที่ 2 นี้ เราจะมาติดตามหาคำตอบให้กับคำถามในประเด็นที่เหลืออยู่ ได้แก่ (3.) เมื่อใดที่ควรวัดผลการดำเนินงาน (When To Measure Performance) (4.) ใครควรที่จะเป็นผู้วัดผลการดำเนินงาน (Who Should Measure Performance) และ (5.) จะวัดผลการดำเนินงานได้อย่างไร (How To Measure Performance)

3. เมื่อใดที่ควรวัดผลการดำเนินงาน (When To Measure Performance)
 การวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับกิจกรรมวัดผลอื่น ๆ นั่นคือ ควรมีทั้งประสิทธิภาพ (Efficient) และประสิทธิผล (Effective) ดังนั้น ความถี่ในการวัดผลจึงขึ้นอยู่กับแผนงานในการวัดผลที่เหมาะสม ซึ่งควรนำปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มาร่วมประกอบการพิจารณาด้วย ได้แก่


• ช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่มั่นใจว่าเป้าหมายสำคัญที่ตั้งไว้เป็นการเฉพาะ (Milestones) ได้บรรลุผล โดยถ้าแผนงานและวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยเป็นไปตามหลักการ SMART (ดูหัวข้อ 2.5 ประกอบ) ก็จะสามารถระบุได้ว่า ช่วงเวลาใดที่เป้าหมายสำคัญจะบรรลุผลสำเร็จได้ ทั้งนี้ควรมีการเฝ้าติดตาม (Monitoring) ความก้าวหน้าของแผนงาน โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับตารางเวลาที่ระบุไว้สำหรับการบรรลุเป้าหมายของแผนงานนั้น ๆ ด้วย


• โอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะหนึ่งไปสู่สภาวะอื่น ๆ เช่น การออกแบบสำหรับการดำเนินการจัดการ (Management Arrangement) ที่มีลักษณะเฉพาะหรือระบบควบคุมความเสี่ยงนั้น จะพบว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบวันต่อวัน ดังนั้นการตรวจสอบสำหรับการออกแบบที่ว่านี้ อาจจะจำเป็นต้องทำในช่วงระยะแรกเริ่มของการออกแบบ หรือเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของระบบ หรือเมื่อข้อมูลที่ได้รับมีการบ่งชี้ว่าระบบที่ออกแบบไว้นั้นประสบความล้มเหลวในบางกรณี เช่น เมื่อมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น หรือเมื่อข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าติดตามการดำเนินการของระบบได้บ่งชี้ว่าการออกแบบนั้นมีข้อผิดพลาด เป็นต้น


ในทำนองเดียวกัน สภาวะของการระมัดระวังป้องกันในสถานที่ปฏิบัติงาน (Workplace Precaution) ที่มีลักษณะเฉพาะ ตัวอย่างเช่น ความเที่ยงตรง (Integrity) ของเครื่องป้องกันเครื่องจักรชนิดติดอยู่กับที่ ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแบบวันต่อวันทันทีที่ถูกติดตั้ง ดังนั้นการตรวจสอบในช่วงเวลาที่ทอดช่วงยาวอาจจะมีความเหมาะสมมากกว่า เช่นเดียวกันกับกรณีของผู้ส่งมอบเครื่องจักร (Suppliers) ซึ่งมักจะมีการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจสอบและการบำรุงรักษาเครื่องจักรต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเครื่องจักรเหล่านั้นจะยังคงมีสภาพดีและทำงานได้อย่างปกติ


• กิจกรรมหรือการระมัดระวังป้องกันที่มีลักษณะเฉพาะที่นับว่ามีความสำคัญ เมื่อเทียบกับการควบคุมความเสี่ยงโดยรวม การระมัดระวังป้องกันบางอย่างที่มีความจำเป็นในการควบคุมความเสี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะ อาจต้องได้รับการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่น การไหลของน้ำหล่อเย็น การปรากฏหรือไม่ปรากฏของออกซิเจน การไหลของอากาศ ระดับก๊าซไวไฟ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ระบบต่าง ๆ ที่ใช้ควบคุมความเสี่ยงในกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับอันตรายในระดับสูงเหล่านี้ จะต้องถูกเฝ้าติดตาม ณ ช่วงเวลาที่มีความถี่มากกว่ากิจกรรมที่มีอันตรายต่ำกว่า


• ช่วงเวลาที่กฎหมายได้กำหนดให้มีการเฝ้าติดตาม โดยกฏหมายในบางประเด็นต้องการให้มีการเฝ้าติดตามในช่วงเวลาที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น การตรวจสอบอุปกรณ์ยก (Lifting Equipment) การตรวจสอบหม้อไอน้ำ เป็นต้น
• บริเวณส่วนใด ๆ ที่มีหลักฐานอันแสดงว่าไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนด ในที่ใด ๆ ที่ได้ตรวจพบหลักฐานของการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ก็ต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขโดยทันที และต้องเพิ่มความถี่ของการเฝ้าติดตาม เพื่อที่จะตรวจสอบว่าการดำเนินการแก้ไขนั้นประสบผลสำเร็จหรือไม่


• บริเวณส่วนใด ๆ ที่มีหลักฐานอันแสดงได้ว่ามีการปฏิบัติตามข้อกำหนด ส่วนในพื้นที่ใด ๆ ที่มีหลักฐานอันแสดงว่า ได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้อย่างสม่ำเสมอ ก็อาจทำการพิจารณาลดความถี่ของการเฝ้าติดตามลงได้
 ความถี่และช่วงเวลาดำเนินการกิจกรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่นับว่ามีความสำคัญ กิจกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเฉพาะกลางวันหรือกลางคืน หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของปีเท่านั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่กระบวนการวัดผลควรที่จะครอบคลุมความถี่และช่วงเวลาดำเนินการของกิจกรรมพิเศษเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

4. ใครควรที่จะเป็นผู้วัดผลการดำเนินงาน (Who Should Measure Performance)
การดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยจำเป็นต้องวัดผลในทุกระดับของการจัดการภายในองค์กร โดยเริ่มต้นที่ผู้บริหารระดับอาวุโสสูงสุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มักพบว่าโดยวัฒนธรรมของการจัดการ (Culture of Management) ผู้จัดการอาวุโสมักจะป้องกันตัวเองจากการวัดผลด้านสุขภาพและความปลอดภัย โดยถือเป็นข้อยกเว้น ทั้งนี้หมายความว่า ปัญหาหรือข้อบกพร่องใดที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของตนเอง ก็จะอนุมานเอาว่าทุก ๆ สิ่งยังคงดำเนินการได้ตามที่ตั้งใจไว้ และไม่ต้องถามหาข้อมูลใด ๆ ต่อไปอีก ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งที่ควรจะเป็น ก็คือ ผู้จัดการอาวุโสควรจะพึงพอใจ ก็ต่อเมื่อการดำเนินการเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาระหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบนั้น มีความเหมาะสม โดยพิจารณาอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “ได้มีการนำมาใช้ (In Place) มีการปฏิบัติตาม (Complied With) และมีประสิทธิผล (Effective)”


 องค์กรมีความจำเป็นในการตัดสินใจว่า จะทำอย่างไรในการจัดสรรปันส่วนความรับผิดชอบในการเฝ้าติดตามผลการดำเนินงานทั้งแบบเชิงรุกและเชิงรับในระดับที่แตกต่างกันของห่วงโซ่การจัดการ (Management Chain) ซึ่งการตัดสินใจนี้จะสะท้อนภาพของโครงสร้างองค์กรด้วย โดยผู้จัดการทั่วไปควรรับภาระหน้าที่รับผิดชอบในการเฝ้าติดตามการบรรลุผลของแผนงานและวัตถุประสงค์ ตลอดจนการปฏิบัติตามมาตรฐานสำหรับสิ่งที่ตัวเองหรือผู้ใต้บังคับบัญชารับผิดชอบ ในขณะที่ผู้จัดการและหัวหน้างานที่รับผิดชอบในการนำมาตรฐานไปปฏิบัติโดยตรง ก็ควรจะมีการเฝ้าติดตามการปฏิบัติตามที่ลงลึกในรายละเอียดและควรมีความสามารถที่จะกระทำสิ่งนี้ด้วย

 อย่างไรก็ตาม การเฝ้าติดตามในแต่ละระดับของการควบคุม ควรที่จะสามารถสะท้อนภาพไม่เพียงแต่ในเชิงปริมาณเท่านั้นแต่ควรรวมถึงในเชิงคุณภาพด้วย ทั้งนี้ ควรที่จะมีมาตรฐานการดำเนินงาน (Performance Standards) ที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ที่ระบุไว้ว่า “ใครเป็นคนทำ ทำอะไร ทำเมื่อไหร่ ด้วยผลเช่นไร” เพื่อที่จะเป็นข้อมูลพื้นฐาน (Baseline) สำหรับผู้จัดการในการตัดสินใจว่าจะเฝ้าติดตามได้อย่างไร

5. จะวัดผลการดำเนินงานได้อย่างไร (How To Measure Performance)
ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “การวัดผลการดำเนินงาน (Performance Measurement)” จะเป็นการให้ข้อมูลเพื่อสะท้อนถึงประสิทธิผลของระบบการจัดการสุขภาพและความปลอดภัย (Health & Safety Management System) มาตรฐาน (Standards) ที่ต้องการบรรลุผล ความก้าวหน้าของการดำเนินงานเมื่อเทียบกับมาตรฐานที่ตั้งไว้ และขอบเขตหรือช่วงห่าง (Gap) ของผลการดำเนินงานเทียบกับมาตรฐานที่ตั้งไว้ รวมถึงเหตุผลหรือสาเหตุของสภาวะที่เป็นอยู่ของผลการดำเนินงานที่แสดงออกมาจากการวัดผล


การวัดผลการดำเนินงาน เป็นกระบวนการในการวัดผลการดำเนินงานที่แท้จริงเทียบกับมาตรฐานที่ตั้งไว้ การเฝ้าติดตาม (Monitoring) การบรรลุผลของการดำเนินงาน และเป็นการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับส่วนต่าง ๆ ขององค์กรและคู่แข่ง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การวัดผลการดำเนินงานนั้นมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมขององค์กรอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อย่างไรก็ดี การวัดผลด้านสุขภาพและความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยากที่จะคาดการณ์ถึงผลกระทบจากมาตรวัดสุขภาพและความปลอดภัยใหม่ ๆ ที่มีต่อพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ทัศนคติ และบรรยากาศของสุขภาพและความปลอดภัยโดยรวม แต่ไม่ว่าจะมีความลำบากยากเย็นเพียงใดในการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยขององค์กร ก็มีความจำเป็นต้องได้รับการวัดผลอยู่ดี และหากปราศจากการวัดผลแล้ว ระบบการตรวจสอบ (Accountability) ก็แทบจะไม่มีความหมายใด ๆ เลย


แต่ก่อนที่องค์กรจะกำหนดระบบการวัดผลต่าง ๆ ขึ้นมานั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจถึงจุดมุ่งหมาย (Purpose) และข้อจำกัด (Limitations) ของวิธีวัดผลต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนเสียก่อน เพราะการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยแต่ละแบบนั้นก็จะมีข้อดี ข้อด้อย หรือข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีวัดผลใด ๆ ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความน่าเชื่อถือ (Reliability) และความถูกต้อง (Validity) และพิจารณาว่า “อะไรคือสิ่งที่เราต้องการจะบรรลุ (What we want to achieve)” ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการลดอุบัติการณ์ ก็มักจะใช้การวัดการสัมผัสกับสถานการณ์ที่อันตรายของผู้ปฏิบัติงาน โดยอาศัยการตรวจความปลอดภัยและการสังเกตพฤติกรรมความปลอดภัย มากกว่าที่จะพิจารณาถึงจำนวนอุบัติการณ์ เป็นต้น ทั้งนี้ การผสมผสานของวิธีวัดผลอันหลากหลาย จะช่วยให้การประเมินผลการดำเนินงานแบบองค์รวมของระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงระบบควบคุมความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการพึ่งพาวิธีวัดผลวิธีใดวิธีหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว


โดยทั่วไปแล้ว การวัดผลการดำเนินงานสามารถจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 กลุ่ม ดังนี้ คือ
• การวัดผลในเชิงคุณภาพ (Qualitative Measures) เป็นการพรรณนาถึงสภาพ (Conditions) หรือสถานการณ์ (Situations) ที่ไม่สามารถถูกวัดผลออกมาในเชิงจำนวนได้ เช่น ทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน หรือความมีประสิทธิผลของคณะกรรมการความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การวัดผลเช่นนี้เปรียบเสมือนเป็นตัวชี้วัดความคืบหน้าของการดำเนินงาน (Indicators of Progress)
• การวัดผลในเชิงปริมาณ (Quantitative Measures) เป็นการพรรณนาให้เห็นในรูปแบบของจำนวน (Numbers) และขนาดหรือระดับ (Scale) อย่างไรก็ตาม การวัดผลเช่นนี้อาจทำให้เกิดความเชื่อหรือความประทับใจบนผลของตัวเลขอย่างใดอย่างหนึ่งที่ออกมา แต่อาจต่างจากข้อเท็จจริงหรือไม่มีเหตุผลประกอบก็เป็นไปได้

นอกจากนี้แล้ว การวัดผลก็ยังก็สามารถจำแนกได้ 2 มิติ ด้วยกัน คือ
• การพิจารณาอยู่บนช่วงเวลาของการวัดผล (Timing) เป็นการวัดผลที่พิจารณาผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย “ก่อนหรือหลัง” ที่จะเกิดอุบัติการณ์หรือความสูญเสีย ตัวอย่างเช่น การวัดผลในเชิงรุกหรือเชิงรับ (Proactive or Reactive Measures) การวัดผลที่ให้ความสำคัญที่กระบวนการหรือผลลัพธ์ (Process or Outcome-oriented Measures) การวัดกระบวนการที่ต้นน้ำหรือปลายน้ำ (Upstream or Downstream Process Measure) เป็นต้น
• การพิจารณาที่ระดับหรือขนาดของการวัดผล (Scale) แบ่งได้ 2 ชนิดใหญ่ ๆ ก็คือ “การวัดในระดับมหภาค (Macro Measures)” เป็นการประเมินความพยายามโดยรวมที่ถูกดำเนินการโดยตัวองค์กร ซึ่งการวัดผลวิธีนี้จะรวมถึงข้อมูลอุบัติการณ์ ผลที่ได้จากการสำรวจ การสำรวจความคิดเห็นพนักงาน และอีกแบบก็คือ “การวัดในระดับจุลภาค (Micro Measures)” เป็นการวัดผลการดำเนินงานหรือความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล (Individual Performance-Accountability)

ในขณะที่จะทำการวัดผล ก็ต้องใช้เครื่องมือสำหรับประเมินประสิทธิผลของระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย นั่นก็คือ “ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Health and Safety Performance Indicators)” ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลป้อนเข้า (Input) ที่มีคุณค่าของระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย เนื่องจากปัจจัยด้านสุขภาพและความปลอดภัยมีความซับซ้อน และมีแง่มุมหลาย ๆ ด้านที่ไม่สามารถแสดงผ่านทางวัตถุประสงค์ หรือตัวชี้วัดที่สามารถวัดผลได้โดยง่าย แต่อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานจะถูกเชื่อมโยงกับมูลค่าอ้างอิงหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามนโยบาย และแสดงให้เห็นว่าระบบการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยอยู่ห่างจากระดับที่ต้องการเพียงไร ทั้งนี้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยควรที่จะถูกใช้ในทุก ๆ ช่วงของวงรอบการจัดการ (Management Loop) เพื่อวัตถุประสงค์เหล่านี้ อันได้แก่
- การจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยเพื่อที่จะให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถสร้างคุณค่าได้อย่างจริงจัง
- การสนับสนุนในการพัฒนานโยบายและจัดลำดับความสำคัญ โดยการชี้บ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของความเสี่ยง
- พัฒนาแผนปฏิบัติ (Action Plan) และเครื่องมือสำหรับการนำไปปฏิบัติ
- เฝ้าติดตามผลกระทบของการสนองตอบนโยบาย

ตัวชี้วัดฯ ที่มีประสิทธิภาพที่สนับสนุนกระบวนการตัดสินใจในส่วนของการพัฒนาสุขภาพและความปลอดภัยนั้น คำว่า “ตัวชี้วัด (Indicators)” จะหมายความถึงการวัดผลที่สังเกตได้ (Observable Measures) ที่ควรเป็นไปตามเกณฑ์ดังนี้ คือ
- ง่ายต่อการทำความเข้าใจและเกี่ยวเนื่องกับนโยบาย
- สามารถที่จะเปรียบเทียบกับสถานการณ์พื้นฐาน (Baseline Situation) ได้
- เป็นเชิงวิทยาศาสตร์และมีความถูกต้องทางสถิติ
- ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทันกำหนดและถูกช่วงเวลา
- เป็นไปได้ในเชิงเทคนิค และคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไปในการเก็บข้อมูล
- สามารถใช้ได้กับสถานการณ์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้
- สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างองค์กร ชุมชน และเขตพื้นที่
- สามารถใช้เป็นผลักดันให้กับผู้ใช้งานได้ด้วย
 ในมุมมองทางอุตสาหกรรม ตัวชี้วัดฯ สามารถถูกนำมาใช้เพื่อประเมินองค์กรว่าได้นำโปรแกรมสุขภาพและความปลอดภัย ตลอดจนนโยบายไปปฏิบัติหรือไม่ และช่วยพิจารณาว่าโปรแกรมและนโยบายใดได้ก่อให้เกิดความแตกต่างขึ้นมาบ้าง นอกจากนี้ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานสามารถบ่งชี้ได้ว่ามีการเน้นย้ำที่เหมาะสมหรือไม่ สำหรับแง่มุมที่แตกต่างกันของการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัย และช่วยจัดลำดับความสำคัญเพื่อการลงทุนทรัพยากรในภายภาคหน้า ทั้งนี้ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยยังสามารถให้ “สัญญาณเตือนในเริ่มแรก (Early Warning)” ของปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย


 ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Health and Safety Performance Indicators) สามารถจำแนกได้เป็น 2 มิติ ที่สอดคล้องกับมิติของการวัดผลที่กล่าวไว้ในข้างต้น ได้แก่
• การพิจารณาอยู่บนช่วงเวลาของการวัดผล (Timing) ได้แก่ “ตัวชี้วัดที่เหตุ (Leading Indicators) กับตัวชี้วัดที่ผล (Lagging Indicators)” หรือ “ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานในเชิงบวก (Positive Performance Indicators) กับ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานในเชิงลบ (Negative Performance Indicators)”


• การพิจารณาที่ระดับหรือขนาดของการวัดผล (Scale) ได้แก่ “ตัวชี้วัดที่ตัวบุคคล (Personal Indicators) กับตัวชี้วัดที่กระบวนการ (Process Indicators)”
ในอุตสาหกรรมการผลิตหรือกระบวนการผลิตต่าง ๆ ความผิดพลาด เหตุการณ์เฉียดอุบัติเหตุ อุบัติเหตุ และอุบัติการณ์ ถือเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น ซึ่งในการวัดผลการดำเนินงานก็จะมีตัวชี้วัดความปลอดภัย (Safety Indicators) เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ “ตัวชี้วัดความปลอดภัยที่ตัวบุคคล (Personal Safety Indicators) กับตัวชี้วัดความปลอดภัยที่กระบวนการ (Process Safety Indicators)” และ “ตัวชี้วัดที่เหตุ (Leading Indicators) กับตัวชี้วัดที่ผล (Lagging Indicators)” โดยมากแล้วความแตกต่างระหว่างตัวชี้วัดความปลอดภัยที่ตัวบุคคลและที่กระบวนการค่อนข้างที่จะแยกได้อย่างชัดเจน แต่ความแตกต่างระหว่างตัวชี้วัดก่อนและหลังเกิดเหตุที่ถูกอ้างถึงบ่อย ๆ มักจะเกิดปัญหามากกว่า

ตัวชี้วัดความปลอดภัยที่ตัวบุคคลเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดความปลอดภัยที่กระบวนการ (Personal Versus Process Safety Indicators)
 ความแตกต่างอันดับแรกระหว่างความปลอดภัยที่ตัวบุคคลและที่กระบวนการ ก็คือ ชนิดของอันตราย โดยอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในกระบวนการ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในกระบวนการของโรงงาน ตัวอย่างของอุบัติการณ์ประเภทนี้ ได้แก่ การรั่วไหลของสารพิษ หรือวัตถุไวไฟ ที่อาจจะก่อหรือไม่ก่อให้เกิดเกิดเพลิงไหม้หรือการระเบิด ซึ่งอุบัติการณ์เหล่านี้จะมีทั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อโรงงาน หรือทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในโรงงาน และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้อีกด้วย


 ส่วนอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยที่ตัวบุคคล จะเป็นอีกด้านหนึ่ง ก็คือ จะส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลแต่จะมีผลกระทบไม่มากต่อกิจกรรมของกระบวนการ ตัวอย่างเช่น การตกจากที่สูง การสะดุด การชนกระแทก ไฟดูด และอุบัติเหตุจากยานพาหนะ เป็นต้น


 ซึ่งเป็นที่ปรากฏว่า การบาดเจ็บและการเสียชีวิตโดยส่วนมากจะเกิดจากอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยที่ตัวบุคคล มากกว่าอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในกระบวนการ ดังนั้นสถิติการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจึงเป็นสิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นว่า องค์กรได้จัดการในส่วนของอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยที่ตัวบุคคลได้ดีเพียงไร มากกว่าที่จะสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลของการจัดการในส่วนของอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในกระบวนการ ดังนั้นองค์กรใด ๆ ที่เสาะหาหนทางในการประเมินว่า ได้จัดการในส่วนของอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในกระบวนการได้ดีเพียงไรนั้น ก็ไม่สามารถที่จะพึ่งพาข้อมูลการบาดเจ็บและการเสียชีวิตได้ จึงต้องพัฒนาตัวชี้วัดที่สัมพันธ์เป็นการเฉพาะกับอันตรายในกระบวนการของตัวเองขึ้นมาแทน


 โดยทั่วไปแล้ว ตัวชี้วัดความปลอดภัยในกระบวนการ (Process Safety Indicators) มี 3 ประเภทด้วยกัน คือ
A. การวัดผลเป็นกิจวัตร (Routine Measures) โดยพิจารณาประเด็นความปลอดภัยที่เชื่อมโยงกับกิจกรรม เช่น สัดส่วนของการทดสอบอุปกรณ์ความปลอดภัยหรืออุปกรณ์เตือนภัยตามกำหนดการ
B. การวัดผลความล้มเหลวในประเด็นของความปลอดภัยที่พบในช่วงของการทำกิจกรรม เช่น สัดส่วนของอุปกรณ์ความปลอดภัยหรืออุปกรณ์เตือนภัย ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในระหว่างการทดสอบ
C. การวัดผลความล้มเหลวที่พบจากอุบัติการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น จำนวนอุปกรณ์ความปลอดภัยหรืออุปกรณ์เตือนภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพในระหว่างการใช้งาน

การจำแนกความแตกต่างระหว่างตัวชี้วัดที่เหตุและตัวชี้วัดที่ผล (Leading & Lagging Indicators)
ตัวชี้วัดที่เหตุ (Leading Indicators) เป็นการวัดกระบวนการหรือสิ่งป้อนเข้าที่จำเป็นต่อการส่งมอบผลลัพธ์ความปลอดภัยที่พึงปรารถนา ส่วนตัวชี้วัดที่ผล (Lagging Indicators) จะแสดงให้เห็นเมื่อผลลัพธ์ความปลอดภัยที่พึงปรารถนาได้ล้มเหลวหรือบรรลุผล ซึ่งถ้าพิจารณาจากประเภทของตัวชี้วัดความปลอดภัยในกระบวนการด้านบน ก็อาจเทียบได้ดังนี้คือ (A) การวัดผลเป็นกิจวัตร (Routine Measures) และ (B) การวัดผลความล้มเหลวในประเด็นของความปลอดภัยที่พบในช่วงของการทำกิจกรรม เป็นตัวชี้วัดที่เหตุ (Leading Indicators) ส่วน (C) การวัดผลความล้มเหลวที่พบจากอุบัติการณ์ที่ไม่คาดคิด เป็นตัวชี้วัดที่ผล (Lagging Indicators)


โดยที่ตัวชี้วัดที่เหตุ (Leading Indicators) จะเป็นการชี้บ่งจุดบกพร่องของระบบการควบคุมความเสี่ยง ที่ถูกค้นพบระหว่างการตรวจสอบแบบเป็นกิจวัตร ในการดำเนินกิจกรรมภายใต้ระบบควบคุมความเสี่ยง ส่วนตัวชี้วัดที่ผล (Lagging Indicators) จะเปิดเผยจุดบกพร่องที่ถูกค้นพบหลังเกิดอุบัติการณ์หรือเหตุการณ์ที่เลวร้าย โดยอุบัติการณ์เหล่านี้ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ หรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจจะเป็นเหตุการณ์เฉียดอุบัติเหตุ เหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ หรือผลลัพธ์อันไม่พึงปรารถนา ที่เชื่อว่ามีส่วนให้เกิดจุดบกพร่องในระบบการควบคุมความเสี่ยงนั้น ๆ


ตัวอย่างของตัวชี้วัดที่เหตุ (Leading Indicators) ที่พบในการตรวจและการบำรุงรักษาระบบควบคุมความเสี่ยง เช่น จำนวนเปอร์เซ็นต์ของการดำเนินการบำรุงรักษาที่ถูกบ่งชี้ว่าเสร็จสิ้นตามตารางเวลาที่ได้มีการระบุไว้ ส่วนตัวอย่างของตัวชี้วัดที่ผล (Lagging Indicators) เช่น จำนวนเปอร์เซ็นต์ของอุปกรณ์ความปลอดภัยที่แสดงให้เห็นว่าตรงตามคุณลักษณะเมื่อถูกตรวจสอบหรือทดสอบ เป็นต้น


ในทางปฏิบัติ ตัวชี้วัดที่เหตุ (Leading Indicators) จะเชื่อมโยงโดยตรงกับกิจกรรมการจัดการด้านความปลอดภัย และเป็นทั้งการวัดกิจกรรมเหล่านี้ด้วยตนเอง หรืออาจวัดจากผลที่เกิดขึ้นของกิจกรรมเหล่านี้ ส่วนตัวชี้วัดที่ผล (Lagging Indicators) เป็นการวัดความล้มเหลวที่ไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้นในช่วงของการดำเนินการตามปกติ ทั้งนี้ ชนิดและจำนวนของตัวชี้วัดจะแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละกรณี แต่จำนวนของตัวชี้วัดก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการประเมินผลการดำเนินงานของระบบความปลอดภัยแต่อย่างใด ดังนั้นแต่ละบริษัทอาจจำเป็นต้องพัฒนาระบบตัวชี้วัดของตนเองขึ้นมา เพื่อใช้กับโครงงานขององค์กร เช่น


ตัวอย่างตัวชี้วัดผลการดำเนินงานโดยรวมสำหรับระบบการจัดการความปลอดภัยของอุตสาหกรรมเคมี
ถ้าอุตสาหกรรมเคมีใช้วิธีประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่แนะนำโดยมาตรฐานสากล ISO 14031 ก็จะสามารถพัฒนาตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน ในการอธิบายผลการดำเนินงานโดยรวมของระบบการจัดการความปลอดภัย โดยมาตรฐานนี้จะอธิบายถึงตัวชี้วัด 2 หมวดหมู่คือ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Indicators - EPIs) และตัวชี้วัดสภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Condition Indicator - ECIs) โดยตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (EPIs) ก็ยังแยกย่อยได้อีก 2 หมวดย่อย คือ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านการจัดการ (Management Performance Indicators - MPIs) และตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านปฏิบัติการ (Operational Performance Indicators - OPIs)


 ถ้าเรานำแนวความคิดนี้ไปสู่การประเมินระบบการจัดการความปลอดภัย เราก็สามารถที่จะจำกัดความโดยการอุปมานตัวชี้วัดขึ้นมาได้ 3 ประเภทในทำนองนี้ คือ
- ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านการจัดการ (MPIs): จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความพยายามในการจัดการเพื่อพัฒนาผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยขององค์กร
- ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านปฏิบัติการ (OPIs): จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของปฏิบัติการในเชิงเทคนิคขององค์กร
- ตัวชี้วัดสภาพความปลอดภัย (Safety Status Indicators - SSIs): จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุ อุบัติการณ์ และเหตุการณ์เฉียดอุบัติเหตุ เช่นเดียวกันกับผลลัพธ์ของสิ่งเหล่านี้


 จะเห็นได้ว่า ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านการจัดการควรที่จะให้ข้อมูลบนพื้นฐานความสามารถขององค์กร และความพยายามในเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการจัดการ เช่น ข้อกำหนดทางกฏหมาย การจัดสรรสันปันส่วนทรัพยากร ต้นทุนของการจัดการความปลอดภัย การพัฒนาของขั้นตอนดำเนินการ เอกสาร และการฝึกอบรม ฯลฯ


 ตัวอย่างเช่น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านการจัดการของบริษัท (MPIs) และการติดตั้งสิ่งเหล่านี้ สามารถที่จะรวมไปถึง จำนวนอุบัติเหตุและเหตุการณ์เฉียดอุบัติเหตุที่แจ้งเตือนและรายงาน, จำนวนโปรแกรมและโครงการในปฏิบัติการป้องกัน, จำนวนการตรวจความปลอดภัยและการพิสูจน์ยืนยัน (ทั้งภายในหรือภายนอก), จำนวนการประชุมความปลอดภัย การฝึกอบรม และการตรวจประเมิน (ทั้งภายในหรือภายนอก), จำนวนโปรแกรมการเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน, แนวโน้มของข้อมูลสาธารณะ การตระหนักและความเชื่อถือ, ระบบการสื่อสาร การพัฒนาฮาร์ดแวร์ของโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และวิทยุ, การวัดสำหรับการป้องกันสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คน (การเตือน การหลบภัย การอพยพ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การขจัดสิ่งปนเปื้อน การรักษาทางการแพทย์) และการระบุข้อมูลที่จำเป็นของสื่อสาธารณะและข่าว เป็นต้น


 ส่วนตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านปฏิบัติการ (OPIs) สามารถที่จะรวมถึงจำนวนของชิ้นส่วนที่บกพร่องและเสียหาย จำนวนหรือปริมาณของสารอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุรั่วไหล ปริมาณของสารอันตรายที่หกเลอะหรือลุกไหม้ จำนวนชั่วโมงในการซ่อมบำรุงหรือจำนวนชั่วโมงของปฏิบัติการกู้ภัย จำนวนความล่าช้าในการซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนที่สำคัญ และจำนวนผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตถึงสาธารณูปโภคและจำนวนการก่อวินาศกรรม เป็นต้น


 ตัวชี้วัดสภาพความปลอดภัย (SSIs) (ได้รับแจ้งหรือถูกประเมิน) สามารถที่จะรวมถึงข้อมูลเหล่านี้ คือ จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้ได้รับสารพิษ หรือจำนวนผู้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จำนวนผู้ที่อพยพ จำนวนสัตว์ที่ตาย พื้นที่ที่มีการปนเปื้อน และเศรษฐกิจที่สูญเสีย เป็นต้น

การเฝ้าติดตามด้านสุขภาพและความปลอดภัย (Monitoring Health and Safety)
 การวัดผลเป็นพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของระบบการจัดการสุขภาพและความปลอดภัย องค์กรจำเป็นต้องมีการวัดผลและเฝ้าติดตามผลการดำเนินงาน โดยทำได้ทั้งแบบเชิงรุกและเชิงรับ ซึ่งการเฝ้าติดตามด้านสุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ปฏิบัติงานไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะดำเนินการแบบปีละครั้ง แต่ความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบกิจการไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่ได้เขียนและประกาศนโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัย
 การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งการจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และจำเป็นต้องมีการเฝ้าติดตามในเชิงรุกสำหรับความมีประสิทธิผลของนโยบาย ในความเป็นจริงแล้ว หมายความถึงความสามารถที่จะชี้บ่งปัญหาที่มีโอกาสเกิดขึ้น และดำเนินการป้องกันปัญหาเหล่านี้ ก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะหมายรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการในเชิงรุก กับการละเมิดข้อตกลงใด ๆ หรือใกล้เคียงกับการละเมิดข้อตกลงด้านสุขภาพและความปลอดภัย โดยอาศัยการสอบสวนว่าทำไมอุบัติเหตุจึงเกิดขึ้น


ทำไมต้องมีการเฝ้าติดตามด้านสุขภาพและความปลอดภัย
 ผู้ประกอบกิจการต้องสามารถที่จะวัดผลและประเมินความมีประสิทธิผลแบบองค์รวมของระบบการจัดการความปลอดภัยเนื่องจากหลาย ๆ เหตุผล และนี่คือบางส่วนของเหตุผลที่สำคัญที่สุด
- ต้นทุน (Cost): เวลาทำงานที่สูญเสียไปอันเนื่องจากการบาดเจ็บก็คือต้นทุนอย่างหนึ่ง และยังรวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่โรงงานและเครื่องจักรกลได้รับความเสียหาย
- ขวัญกำลังใจ (Morale): โดยขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานสามารถที่จะลดลงได้ถ้าผู้ปฏิบัติการรู้สึกว่าความปลอดภัยและสวัดดิภาพไม่ได้รับการปกป้องอย่างเพียงพอ ก็จะส่งผลให้ระดับความสามารถในการผลิต (Productivity Level) ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
- เหตุผลด้านกฏหมาย (Legal Reasons): ผู้ประกอบกิจการมีภาระหน้าที่ในการดูแลผู้ปฏิบัติงานและสาธารณชน โดยในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฟ้องร้องใด ๆ ขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องมีการพิสูจน์ภาระหน้าที่นี้โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจะต้องดูจากพยานและหลักฐานสนับสนุน


วิธีการเฝ้าติดตาม
 โดยการเปรียบเทียบ “จุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ของผลการดำเนินการด้านสุขภาพและความปลอดภัย กับ “จุดที่ควรจะเป็น” และค้นหาว่า “อะไรคือสิ่งที่แตกต่าง และทำไม”
 มี 2 แนวทางในการวัดผลว่า นโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างไรบ้าง อันได้แก่
• การเฝ้าติดตามในเชิงรุก (Proactive Monitoring) หมายถึง การดำเนินการก่อนอุบัติเหตุจะเกิดขึ้น มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ
- การตรวจความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ (Regular Safety Inspections) เพื่อตรวจสอบว่ามาตรฐานขององค์กรได้ถูกนำไปปฏิบัติ และระบบจัดการในการควบคุมยังคงทำงานได้ดีอยู่หรือไม่
- การตรวจประเมินความปลอดภัยที่มีรายละเอียดมากขึ้น (Detailed Safety Audits)


• การเฝ้าติดตามในเชิงรับ (Reactive Monitoring) หมายถึง การตรวจสอบเหตุการณ์ภายหลังจากเกิดเหตุขึ้น และจะเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้จากความผิดพลาดขององค์กรเอง ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ การเจ็บป่วย ความเสียหายที่มีต่อทรัพย์สิน หรือเป็นเพียงแค่เหตุเฉียดที่จะเกิดอุบัติเหตุ

และเมื่อเราพูดถึงตัวชี้วัดที่สัมพันธ์กับการเฝ้าติดตาม ก็อาจจะกล่าวอย่างง่าย ๆ ได้ว่า “ตัวชี้วัดที่ผล (Lagging Indicators)” ถูกกำหนดขึ้นจากกระบวนการของการเฝ้าติดตามในเชิงรับ ในขณะที่ “ตัวชี้วัดที่เหตุ (Leading Indicators)” คือผลลัพท์ของการเฝ้าติดตามในเชิงรุก โดยที่การเฝ้าติดตามในเชิงรับจะตามติดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น การเฝ้าดูว่ายังคงมีการรั่วไหลของก๊าซหรือสารพิษอยู่หรือไม่หลังจากที่ได้เกิดเหตุขึ้นและมีการแก้ไขไปแล้ว ส่วนการเฝ้าติดตามในเชิงรุกจะเกี่ยวข้องกับการทดสอบและการตรวจ (Testing & Inspection) ทั้งแบบตรวจเป็นกิจวัตรและตรวจตามตารางเวลา


 การเฝ้าติดตามในเชิงรับจะทำให้องค์กรสามารถชี้บ่งและแก้ไขข้อบกพร่องที่สอดรับกับอุบัติการณ์ที่เป็นการเฉพาะหรือแนวโน้มต่าง ๆ ฯลฯ ส่วนการเฝ้าติดตามในเชิงรุกจะประเมินสภาวะปัจจุบันของสาธารณูปโภคผ่านทางการตรวจแบบเป็นกิจวัตรและตรวจตามตารางเวลา รวมถึงการทดสอบการทำงานของระบบ สถานที่ทำการ โรงงานและอุปกรณ์ ฯลฯ


 ในการพิจารณาการเฝ้าติดตามในเชิงรุกจะมีกลุ่มของตัวชี้วัด 2 แบบด้วยกัน แบบแรกคือ ตัวชี้วัดว่าการเฝ้าติดตามได้ถูกดำเนินการอย่างทันเวลาหรือไม่ เช่น จำนวนเปอร์เซ็นต์ของการทดสอบที่ถูกดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด และแบบที่สอง คือ ตัวชี้วัดของผลที่เกิดขึ้นจากการเฝ้าติดตาม เช่น จำนวนเปอร์เซ็นต์ของอุปกรณ์ที่ไม่ผ่านการทดสอบ ซึ่งกล่าวได้ว่า แบบแรกเป็นการวัดผลในการเฝ้าติดตามกิจกรรม ในขณะที่แบบที่สอง เป็นการวัดความเพียงพอของอุปกรณ์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า แบบแรกเป็นการวัดสิ่งที่ป้อนเข้า (Input Measure) ส่วนแบบที่สองเป็นการวัดสิ่งที่ออกมา (Output Measure)

วิธีวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่สำคัญ ๆ
 ในที่นี้จะขอกล่างถึง “การวัดผลที่ให้ความสำคัญที่ผลลัพธ์ (Outcome-oriented Measure)” และ “การวัดผลที่ให้ความสำคัญที่กระบวนการ (Process-oriented Measure)”

การวัดผลที่ให้ความสำคัญที่ผลลัพธ์ (Outcome-oriented Measure)
• การวัดที่ผลลัพธ์ (Outcome Measures) คือ การวัดผลภายหลังรับทราบข้อเท็จจริง (After the Fact Measures) โดยเมื่อมีผลการดำเนินงานของกิจกรรมใด ๆ เกิดขึ้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น ๆ ก็จะได้รับการวัดผล ตัวอย่างตัวชี้วัดผลลัพธ์ที่สำคัญ ๆ เช่น อัตราความถี่ของเวลาที่สูญเสียจากการบาดเจ็บ อัตราความถี่ของการบาดเจ็บจนเสียชีวิต อัตราความถี่ของการบาดเจ็บจนพิการ อัตราการเกิดอุบัติการณ์ที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย อัตราความถี่การเกิดอุบัติการณ์ และอัตราความรุนแรงของอุบัติการณ์ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้สถิติของการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย เป็นเสมือนตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านความสุขภาพและความปลอดภัย ข้อได้เปรียบ ก็คือ ความสะดวกในการใช้งานเนื่องจากมีข้อมูลการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยที่พร้อมที่จะใช้งานได้อยู่แล้ว โดยแต่ละบริษัทอาจใช้การเปรียบเทียบอัตราการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยของตนเอง กับเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ยของอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน ที่อาจแสดงไว้โดยหน่วยงาน

รัฐบาลที่รับผิดชอบ หรือแม้แต่เปรียบเทียบกับเป้าหมายขององค์กรที่ตั้งไว้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มักพบว่ามีข้อจำกัดหลายประการในการใช้อัตราการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย เป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นของผลการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น
- ตัวชี้วัดเช่นที่ว่านี้ เป็นเพียงการวัดความล้มเหลวในการควบคุม ซึ่งไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในขจัดความเสี่ยง
- ตัวเลขที่ได้จากผลการดำเนินงานมักเป็นจำนวนน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในอุตสาหกรรม จึงเป็นการยากที่จะทราบถึงแนวโน้มได้
- อัตราการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยมักจะไม่สะท้อนถึงระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ เพียงแต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ ไม่ใช่สาเหตุ
- การวัดผลไม่ได้บ่งชี้ว่าจะจัดการกับความเสี่ยงสำคัญ ๆ ได้อย่างไรและไม่เหมาะสำหรับการวินิจฉัยปัญหาในพื้นที่
- ตัวชี้วัดผลลัพธ์อาจจะซ่อนความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การที่มีอุบัติการณ์ของการบาดเจ็บในระดับต่ำ ไม่ได้หมายความว่าระบบความปลอดภัยและการควบคุมได้ถูกนำมาใช้ได้อย่างเพียงพอ

โดยการวัดที่ผลลัพธ์ (Outcome Measures) เช่นนี้ เมื่อถูกนำไปใช้ในการตัดสินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย ก็จะรู้จักกันเป็นอย่างดีในนาม “ตัวชี้วัดที่ผล (Lagging Indicators)”

การวัดผลที่ให้ความสำคัญที่กระบวนการ (Process-oriented Measure)
• การตรวจความปลอดภัย (Safety Inspection):
เป็นเครื่องมือหลักสำหรับการคงไว้ซึ่งสภาพความปลอดภัยและการเฝ้าติดตามปฏิบัติการที่ไม่ปลอดภัย ผลที่ได้ในเชิงปริมาณสามารถที่จะถูกใช้เป็นตัวชี้วัดความปลอดภัยขององค์กร และเป็นทั้งการวัดผลการเฝ้าติดตามในระยะยาว และเป็นหนทางในการประเมินทัศนคติของผู้ปฏิบัติงานในเรื่องของความปลอดภัย อย่างไรก็ดี วิธีนี้จะให้เพียงภาพนิ่งที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำความเข้าใจในเชิงลึกสำหรับองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง


การตรวจความปลอดภัยนั้น ข้อได้เปรียบคือ การมีส่วนร่วมของพนักงานในทุกระดับ ซึ่งวิธีนี้จะให้ภาพตรง ๆ ของสถานการณ์และเปิดเผยให้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และจะให้ความรู้สึกว่าประเด็นต่าง ๆ ด้านความปลอดภัยยังอยู่ภายใต้การควบคุม ส่วนข้อเสียเปรียบ ก็คือ การขาดความรู้ หรือข้อด้อยอื่น ๆ ของผู้ตรวจ ซึ่งอาจทำให้ได้ผลการตรวจความปลอดภัยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ และความถี่ของการเกิดขึ้นซ้ำของประเด็นที่ไม่ได้รับการแก้ไข หรือแก้ไขไม่ถูกจุด ซึ่งจะเป็นการก่อให้เกิดสถานการณ์ที่เป็นปัญหาทีละน้อย และในท้ายที่สุดจะทำให้เกิดความล้มเหลวที่ไม่สามารถค้นพบสาเหตุของปัญหา ที่นำไปสู่ข้อมูลบันทึกเหล่านี้ ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับปัญหาขององค์กรและการบริหาร


• การตรวจประเมินความปลอดภัย (Safety Audits): ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการก่อนเกิดอุบัติการณ์ และเป็นวิธีที่จะทำให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะปัจจุบันของโปรแกรมความปลอดภัย โดยผลการดำเนินงานในเรื่องของความปลอดภัยได้ถูกจัดสรรในแต่ละระดับขององค์กร ดังนั้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบการประเมินการจัดการทั้งที่ตัวบุคคลและระบบโดยรวม การตรวจประเมินความปลอดภัยสามารถที่จะดำเนินการแบบภายในหรือจากภายนอกก็ได้ ซึ่งการตรวจประเมินความปลอดภัยแบบภายใน (Internal Audits) จะถูกดำเนินการโดยตัวองค์กรเอง ในขณะที่การตรวจประเมินความปลอดภัยจากภายนอก (External Audits) จะถูกดำเนินการโดยบุคลากรภายนอกองค์กร นอกจากนี้ประเภทของการตรวจประเมินยังแยกย่อยออกเป็น 3 ลักษณะด้วยกัน คือ แบบวางแผนงานล่วงหน้า (Planed Audits) แบบไม่มีการวางแผนงานล่วงหน้า (Unplanned Audits) และแบบต่อเนื่อง (Continuous Audits) ซึ่งการตรวจประเมินแบบวางแผนงานล่วงหน้าจะเกิดขึ้นเป็นระยะโดยมีกำหนดการอันเป็นที่รับทราบทั่วกันภายในองค์กร ส่วนการตรวจประเมินแบบไม่มีการวางแผนงานล่วงหน้าจะเกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยทั่วไปแล้วระเบียบวิธีตรวจประเมินจะมี

เทคนิคที่สำคัญ 3 ประการ คือ การสัมภาษณ์ การตรวจเอกสาร และการตรวจความปลอดภัย
การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ รวมถึงนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานของบริษัทสามารถจะได้รับการวัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้การตรวจประเมิน ซึ่งมักพบว่าหลาย ๆ บริษัทได้ใช้การตรวจประเมินที่มีระบบการให้คะแนน (Scoring System) เพื่อที่จะวัดและติดตามผลการตรวจประเมิน นอกจากนี้การตรวจประเมินตนเอง (Self-audits) ก็สามารถมีประสิทธิผลได้เช่นกัน ถ้าดำเนินการแบบตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง และถ้ากระบวนการตรวจ

ประเมินมีข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้การตรวจประเมินในการวัดผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยก็มีข้อจำกัดหลายประการด้วยกัน เช่น
- โดยทั่วไปแล้ว กระบวนการตรวจประเมินจะเป็นการสุ่มตรวจเฉพาะกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยของกลุ่มประชากรทั้งหมดในช่วงระยะเวลาที่สั้นมาก
- ความมีประสิทธิผลถูกจำกัดโดยความรู้ของผู้ตรวจประเมินและการออกแบบเครื่องมือที่จะใช้ในการตรวจประเมิน
- ประโยชน์ของรายการสิ่งที่ค้นพบจากการตรวจประเมินและข้อเสนอแนะ มักจะมีสัดส่วนโดยตรงกับความรู้และทักษะของผู้ตรวจประเมิน ดังนั้นการคัดสรรผู้ตรวจประเมินที่มีความรู้ความสามารถจึงเป็นหัวใจสำคัญ
- การเลือกสรรเครื่องมือที่จะใช้ในการตรวจประเมินถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งเครื่องมือบางอย่างจะมีความโดดเด่นมากกว่าเครื่องมืออื่น ๆ
- การตรวจประเมินความปลอดภัยสามารถที่จะถูกตีความว่าเป็นการจับผิด (Fault-finding) ซึ่งอาจรวมถึงเป็นการบันทึกรายการข้อบกพร่องแค่เพียงผิวเผิน ซึ่งอาจส่งผลให้ปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอ หรือไม่ถูกจุด

ถ้าข้อบกพร่องที่ถูกชี้บ่งจากการตรวจประเมินนั้นไม่ได้รับการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
• การสังเกตพฤติกรรมความปลอดภัย (Behavior-based Safety Observations):
เป็นกระบวนการวัดผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมในเชิงประยุกต์ เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัย ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้หลักการของการจัดการคุณภาพแบบองค์รวม (Total Quality Management: TQM)


กระบวนการวัดผลด้วยวิธีนี้ ผู้ปฏิบัติงานจะพัฒนารายการพฤติกรรมที่สำคัญในการทำงาน การสังเกตวิธีปฏิบัติงานของเพื่อนร่วมงาน การรายงานสิ่งที่สังเกตได้นั้นให้เพื่อนร่วมงานได้รับรู้ และให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเพื่อพัฒนาแก้ไขวิธีปฏิบัติงานให้ถูกต้องเหมาะสม บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Behaviors) ดังนั้นวิธีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การชี้บ่ง (Identifying) การวัด (Measuring) และการแก้ไขพฤติกรรมที่สำคัญ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า พฤติกรรม ทัศนคติ และวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ทัศนคติถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะสังเกตเห็นได้ แต่ในทางตรงกันข้าม พฤติกรรมถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอก จึงสามารถถูกสังเกตและวัดผลได้ ระเบียบวิธีวัดผลนี้มุ่งเน้นไปยังพฤติกรรมไม่ใช่ทัศนคติ ซึ่งเป็นจุดแรกเริ่มที่เน้นย้ำไปที่พฤติกรรมความปลอดภัย โดยการวัดผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยด้วยวิธีนี้ ต้องมี

หลักการและเหตุผลเป็นรากฐานที่สำคัญ อย่างไรก็ดี การวัดผลด้วยพฤติกรรมความปลอดภัยก็มีข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ควรพิจารณาดังนี้คือ
- ระยะเวลาในการฝึกอบรม และการลงทุนด้านทรัพยากรขององค์กรที่จำเป็นต้องใช้ ในการนำไปปฏิบัติและคงรักษาไว้ซึ่งกระบวนการวัดผลชนิดนี้
- การแสดงออกถึงภาวะผู้นำจากทั้งฝ่ายบริหารและพนักงานเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะรับประกันว่า จะมีการนำไปปฏิบัติและคงรักษาไว้ซึ่งกระบวนการวัดผลชนิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความทันเวลาของข้อมูลป้อนกลับที่ได้จากการสังเกตเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จ
- ผู้ปฏิบัติงานหลาย ๆ คนรู้สึกกระอักกระอ่วนใจในการให้ข้อมูลป้อนกลับไปยังเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลป้อนกลับในด้านลบ
- พฤติกรรมที่สำคัญต้องถูกระบุอย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง ทั้งนี้ผู้สังเกตการณ์คนละคนกันก็อาจจะได้ผลการสังเกตที่ต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์
- ความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลกระทบที่มีระหว่างพฤติกรรมที่สำคัญ และความเสี่ยงของการได้รับบาดเจ็บนั้น พบว่าน้อยครั้งมากที่จะถูกแจกแจงออกมา ดังนั้นพฤติกรรมที่สำคัญที่จะได้รับการวัดผลและติดตามก็มักจะเป็นการชี้บ่ง

บนความคิดเห็นและความรู้สึกส่วนบุคคล ที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลป้อนกลับและความรู้ในอุบัติการณ์หรือการบาดเจ็บที่ผ่านมาเท่านั้น
• การสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย (Safety Perception Surveys): ถูกใช้ในการประเมินบรรยากาศความปลอดภัย (Safety Climate) ภายในองค์กร ดังที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า บรรยากาศความปลอดภัยนั้นได้รับอิทธิพลทั้งจากพฤติกรรมและทัศนคติ โดยกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมความปลอดภัยจะมุ่งเน้นไปที่การวัดพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงาน ในขณะที่การสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยจะมุ่งเน้นไปที่ทัศนคติและความเชื่อ ทั้งนี้การสำรวจการรับรู้ที่ดีนั้น ควรที่จะสามารถ
- ประเมินการรับรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการของบริษัท ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานด้านความปลอดภัย
- สอบถามโดยใช้คำถามเดียวกันทั้งกับผู้จัดการและผู้ปฏิบัติงานในระดับต่าง ๆ ภายในองค์กร
- ไม่ยุ่งยาก และสามารถคุมงบประมาณที่ใช้ในการบริหาร วิเคราะห์ และประเมินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เอื้ออำนวยต่อการเปรียบเทียบในแต่ละแผนก ในขณะเดียวกันก็ยังคงได้รับการตอบรับโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อในการตอบคำถาม
- ให้ข้อมูลกับผู้จัดการในรูปแบบที่สามารถเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน เพื่อเอื้ออำนวยต่อกระบวนการตัดสินใจ


ข้อจำกัดแรกเริ่มของการสำรวจการรับรู้ ก็คือ ความซับซ้อนของการสร้างและการจัดการสำรวจ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลของผลการสำรวจที่ได้ นั่นคือ แม้ว่าการรับรู้ของผู้ปฏิบัติงานจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการสำรวจ แต่ก็อาจมีผู้บริหารบางส่วนที่คัดค้านการให้ข้อมูลที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น และโอกาสความเป็นไปได้ของการขาดการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งการคัดค้านนี้อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมการสำรวจการรับรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยจึงไม่ได้ถูกดำเนินการอย่างแพร่หลายในแวดวงอุตสาหกรรมมากเท่าที่ควรจะเป็น

เอกสารอ้างอิง
- The Measurement of Health & Safety Conditions at Work, International Research Journal of Finance & Economics; Nikolaos Giovanis, 2010.
- A Guide To Measuring Health & Safety Performance, Health & Safety Executive (HSE); Dec 2001.
- Health & Safety Benchmarking, Health & Safety Executive (HSE); Dec 2001.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด