เนื้อหาวันที่ : 2012-03-29 10:30:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5428 views

การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย

ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและต่อมนุษยชาติ

นายสุรัส ตั้งไพฑูรย์
สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

          โลกยุคโลกาภิวัตน์ เป็นโลกไร้พรมแดนที่มีการพัฒนาในทุก ๆ ด้านมีการขยายตัวที่รวดเร็ว รุนแรง กว้างขวางกระจายไปทั่วโลก เทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ มีการพัฒนาอย่างมากและมีความล้ำสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงระดับของเทคโนโลยีที่สูงมากขึ้นแบบก้าวกระโดด เพื่อตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์

อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลกระทบส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงบวก แต่ในด้านตรงกันข้ามผลกระทบเชิงลบก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นตามพัฒนาการดังกล่าว ซึ่งสาเหตุหลักเนื่องมาจากองค์ประกอบส่วนใหญ่ในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประกอบไปด้วยสารโลหะหนักชนิดต่าง ๆ มากมายเช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม สารหน่วงการติดไฟ และสารเคมีอันตรายอื่น ๆ ซึ่งสารต่าง ๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นสารอันตราย หากไม่มีระบบการจัดการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการก็จะมีการปนเปื้อนลงสู่ดิน แหล่งน้ำ น้ำใต้ดินและในบางกรณีได้แพร่กระจายขึ้นสู่อากาศ

สิ่งปนเปื้อนเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยของมวลมนุษยชาติและสิ่งมีชีวิตในโลก สารเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ และเกิดการสะสมในระดับที่มากเกินควรก็จะก่อให้เกิดภาวะโรคภัยที่เป็นอันตรายรุนแรงโดยการไปทำลายระบบต่าง ๆ ในร่างกายของมนุษย์เช่นการทำลายระบบสมอง ประสาท ตับไต ถุงน้ำดี ต่อมไทรอยด์ และอาจพัฒนาไปสู่การเป็นโรคมะเร็งในที่สุด เมื่อประชาชนประสบปัญหาโรคภัยเข้าคุกคามในระดับวิกฤติรุนแรงก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพการทำงาน ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมตามมาในที่สุด

          ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและต่อมนุษยชาติ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญและมีความตระหนักถึงผลกระทบในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของขยะอิเล็กทรอนิกส์ และได้มีการวางแผนถึงมาตรการในการรองรับ มีการกำหนดนโยบายและประกาศบังคับใช้ข้อบังคับและกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเชิงบังคับให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ (Command and Control)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและยับยั่งความรุนแรงในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ต้นทาง เช่นการออกกฎหมายว่าด้วยการจัด การเศษเหลือทิ้งอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electrical and Electronic Equipment: WEEE) และกฎหมายว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ (Restriction of the Use of Certain Hazardous Substances: RoHS)

ซึ่งภายหลังที่กฏหมาย ทั้งสองเริ่มบังคับใช้ได้ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายซากขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ตาม เกณฑ์มาตรฐานจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เข้ามาทิ้งหรือส่งเข้ามากำจัดในประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย เป็นต้น

          ศรีศักดิ์ จามรมาน กล่าวไว้ในบทความ “ผู้นำไฮเทคกับนโยบาย รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์” ถึงกลุ่มองค์การนานาชาติที่ดำเนินการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์โลก (Greenpeace) ที่ได้ระบุว่าในปี พ.ศ.2552 มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลกหรือประมาณ 2,000 ล้านคนและจะมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 400 หรือประมาณ 4 เท่าต่อปี

โดยแต่ละปีจะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นประมาณ 20-50 ล้านตัน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีชและเครือข่ายบาเซลแอ็กชันเน็ตเวิร์ก (Basal Action Network) ได้ทำการติดตามการส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกส่งไปยังประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ เช่น ประเทศจีน กาน่า และไนจีเรีย พบว่าอยู่ในรูปสินค้าใช้แล้วหรือสินค้ามือสอง เช่น คอมพิวเตอร์มือสอง เครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง และในรูปแบบเป็นเศษซากหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายชนิดผสมกันเข้าไป

ประเทศเหล่านั้นเมื่อรับขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแล้วก็ทำการกำจัดทิ้งโดยใช้วิธีการและเทคโนโลยีแบบง่าย ๆ ที่ขาดหลักวิชาการรองรับเช่นมีการทุบทำลายเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แตกละเอียด หรือการใช้ไฟที่อุณภูมิสูงเผาเพื่อ ให้ได้มาเฉพาะส่วนของสารมีค่าในตัวผลิตภัณฑ์เช่น ทองแดง หรือทองคำซึ่งเป็นแร่ที่มีมูลค่าสูง โดยผู้ดำเนินการไม่สนใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นใดที่อาจจะเกิดขึ้น

ดังนั้นสารโลหะหนักต่าง ๆ ทั้งตะกั่ว ปรอท แคทเมี่ยม และสารพิษอื่น ๆ ได้มีการแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งสารเหล่านี้จะก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในโลกนี้อย่างรุนแรงตามมา กล่าวได้ว่าในแต่ละปีขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นพหุคูณ มีการเคลื่อนย้ายขยะจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปสู่ประเทศต่าง ๆ กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่ของโลกในปัจจุบัน

          แม้ว่าประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้ถูกมองว่าเป็นแหล่งรองรับการเคลื่อนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของโลก แต่เมื่อพิจารณาอีกด้านในส่วนปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นเองภายในประเทศ ก็พบว่ามีปริมาณการเกิดของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอัตราที่สูงและมีความน่าวิตกมากกว่า

แหล่งกำเนิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ เป็นขยะหรือเศษซากที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสินค้าภายในโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Waste) ที่มีการปลดปล่อยสารเคมีหรือเศษเหลือทิ้งออกมาในระหว่างทำการผลิตในกระบวนการผลิต และรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ผ่านสายการผลิตออกมาแล้วไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดทำให้ต้องทำการแก้ไขใหม่ (Rework) บางส่วนนำไปรีไซเคิลหรือนำไปทำลายทิ้ง

และอีกกลุ่มหนึ่งคือขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานในครัวเรือนหรือวิสาหกิจ ห้างร้านต่าง ๆ เป็นขยะที่เกิดจากการใช้งานผลิตภัณฑ์จนหมดอายุและเกิดภายในชุมชน (Household Waste) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการอุปโภคเครื่องใช้ไฟฟ้า จนเครื่องเสีย หมดอายุการใช้งานหรือจากสาเหตุอุปกรณ์ไฟฟ้าลัดวงจรจนไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิม เป็นต้น               

          ผลการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษในปี พ.ศ.2550 พบว่าของเสียอันตราย (Hazardous Waste) ในชุมชนเกิดขึ้นทั้งสิ้น 440,716 ตัน แบ่งเป็นของเสียอันตรายทั่วไปจากชุมชน 131,871 ตัน (ร้อยละ 30) และขยะอิเล็กทรอนิกส์ 308,845 ตัน (ร้อยละ 70) ในปีปัจจุบัน พ.ศ.2555 ประมาณว่าของเสียอันตราย (Hazardous Waste) ในชุมชนเกิดขึ้นทั้งสิ้น 513,631 ตัน แบ่งเป็นของเสียอันตรายทั่วไปจากชุมชน 153,917 ตัน และขยะอิเล็กทรอนิกส์ 359,714 ตัน

และในปี พ.ศ. 2559 จะมีของเสียอันตราย (Hazardous Waste) ในชุมชนเกิดขึ้นทั้งสิ้น 573,463 ตัน แบ่งเป็นของเสียอันตรายทั่วไปจากชุมชน 172,076 ตัน และขยะอิเล็กทรอนิกส์ 401,387 ตัน ดังตารางที่ 1 โดยปริมาณซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งถือว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก

ตารางที่ 1 สรุปปริมาณการเกิดของเสียอันตรายปี 2550 และการคาดการณ์ปริมาณของเสียอันตรายชุมชนและปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2551-2560

ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ, 2551

          อาจกล่าวได้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับทั้งในด้านปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นจนเกินกำจัด ด้านการจัดการตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วงจรการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ความตระหนักในกระบวนการการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมการทิ้งขยะของประชาชน การจัดเก็บรวบรวม การคัดแยก การขนส่ง การรีไซเคิล การบำบัด และการกำจัดซึ่งโดยปกติจะใช้การฝังกลบหรือการเผาในเตาเผาอุณหภูมิสูงเท่านั้น

องค์การภาครัฐที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะร่วมบูรณาการกันทั้งในส่วนของการกำหนดนโยบายและในการนำนโยบายไปปฏิบัติเพื่อให้มีความสอดคล้องและส่งผลให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยแบ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่วนที่เกิดจากชุมชนคือ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในกรอบของโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

          กฎหมายที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำคัญประเทศไทยมีมากมายโดยมีมาในรูปกฏหมายที่ครอบคลุมในส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยซึ่ง สามารถจำแนกตามพัฒนาการของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมประเทศไทยโดยอาศัยแนวคิดการบริหารปกครองเป็นเกณฑ์ดังนี้

          นโยบายสิ่งแวดล้อมก่อนแนวคิดการปกครองก่อนปี พ.ศ. 2540
          * พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ 2511
          * พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522
          * พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530
          * พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 
          * พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 
          * พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 และ* 
          * พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535  *

          นโยบายสิ่งแวดล้อมช่วงเปลี่ยนผ่านแนวคิดการปกครองปี พ.ศ.2540-2550
          * รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ.2540
          * แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-44)
          * แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-49)
          * นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2540-49
          * ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง เงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วที่เป็นวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 3)

          นโยบายสิ่งแวดล้อมช่วงการปรับใช้กระบวนการบริหารการปกครองแนวใหม่ปี พ.ศ.2550–ปัจจุบัน
          * รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ.2550
          * แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-54) และ
          * มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2550 ว่าด้วยยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณการของประเทศไทย

          ในส่วนนโยบายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2550 ได้ให้ความเห็นชอบ ยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณการ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เปรียบเสมือน แผนแม่บทของนโยบายการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ฉบับแรกของประเทศไทยที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ครอบคลุมและครบถ้วนที่สุด ได้กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การจัดการเพื่อความยั่งยืนโดยมีสาระสำคัญ คือการดำเนินการภายใต้หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle: PPP) ผู้นำเข้า ผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องมีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้น

มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อการบริหาร/จัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การปรับปรุงข้อบังคับและกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยมีความเหมาะสม การจัดระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจร (การคัดแยก การจัดเก็บ การรวบรวม การขนส่ง การรีไซเคิล การบำบัด และการกำจัด) และการดำเนินมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ เช่น การเผยแพร่ความรู้ การประชาสัมพันธ์ การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศ (Eco-products) เพื่อการลดการใช้สารอันตรายในตัวผลิตภัณฑ์ การถอดแยกให้ง่ายขึ้นและเหมาะแก่การรีไซเคิลเพื่อนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น

          ดังนั้นภาพรวมของยุทธศาสตร์ฯจึงประกอบด้วยองค์ประกอบทางการจัดการทั้ง  5 ด้านคือ
          1. การพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคใหม่วิธีการจัดการการผลิตและการจัดการซากที่เหมาะสม 

          2. การให้การสนับสนุน เสริมสร้างขีดความสามารถ กระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนในการจัดการซากฯ

          3. การออกกฎหมายและแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ให้มีความทันสมัยและครอบคลุมครบถ้วนรวมถึงการ เสริมสร้างประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมาย

          4. การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ทั้งมาตรการการเงิน การคลังในการจัดการ และการลงทุนเพื่อสนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

          5.  การพัฒนาระบบการบริหาร/จัดการซากอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร

          สำหรับแผนปฏิบัติการ (Action Plan) จะเน้นในการปรับปรุงข้อบังคับและตัวบทกฎหมายเพื่อรองรับการจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำโครงการนำร่องเพื่อเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์แล้วนำมาจัดการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ แผนงานการให้ความรู้ การสร้างความตระหนัก การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการบริโภคสีเขียวอย่างครบวงจร

การกำหนดประเภทของเสียที่ต้องได้รับการจัดการ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจัดการผลิตภัณฑ์ทั้งรูปแบบการเก็บค่าธรรมเนียมและหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดเก็บ การจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ การกำหนดแนวทางในการจัดการซาก การจัดตั้งระบบการเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์ และการร่างกฎระเบียบที่จะประกาศใช้บังคับโดยจะกำหนดความรับผิดชอบและบทลงโทษอย่างชัดเจน

บทสรุป
          ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นไม่เพียงเฉพาะการเคลื่อนย้ายเข้ามาของขยะอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ที่ด้อยมาตรฐานจากต่างประเทศ แต่อัตราการเกิดของประชากรและเจริญวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อความต้องการในการอุปโภคเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น

ผนวกกับนโยบายและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ที่ปรับเน้นให้ลูกค้ามีการซื้อสินค้าซ้ำและมีความถี่การซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยใช้วิธีการการออกแบบสินค้าให้มีวงจรชีวิตที่สั้นลง อายุการใช้งานน้อยลงหรือต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่บ่อยขึ้นเพื่อที่จะได้จำหน่ายสินค้ามากขึ้น องค์ประ-กอบเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นจนเกินกำจัด ระบบรอง รับไม่ทัน

ขณะที่ภาพรวมของระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมครบถ้วนและความไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจกล่าวได้ว่าสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นประการสำคัญคือ การเพิ่มขึ้นของประชากร (Population Growth) การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการพัฒนา (Economic Growth and Technological Growth in Development) ความเน่าเสียของภาวะจิตใจของมนุษย์ที่เกิดจากความ ก้าวหน้าทางวัตถุและเทคโนโลยีใหม่ ทั้งความเห็นแก่ตัว ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความอ่อนแอของตัวบทกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม

ดังนั้นในทางการจัดการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ในขั้น ตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติที่ส่งผลต่อระดับความสำเร็จของนโยบายโดย เฉพาะอย่างยิ่งในระดับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยที่มีรูปแบบในการจัดการขนาดและโครงสร้างขององค์การที่แตกต่างบริบทที่ต่างกันก็จะมีความสำเร็จในการจัดการต่างกัน 

          ในตอนต่อ ๆ ไปจะกล่าวถึง ระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์  การรวบรวม คัดแยก กำจัด บำบัด และการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นลำดับ

เอกสารอ้างอิง
กรมควบคุมมลพิษ (2551). โครงการสำรวจปริมาณและชนิดของซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์.กรุงเทพมหานคร: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (เอกสาร*  ประกอบการสัมมนา วันที่ 9 กรกฏาคม 2551)

กรมควบคุมมลพิษ (2551). ยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ* สิ่งแวดล้อม

ศรีศักดิ์ จามรมาน (2553) นิตยสาร eleader หน้า 78-81 ฉบับ กุมภาพันธ์ 2553 บริษัท เอ.อาร์. อินฟอร์เมชั่น*  แอนด์ พับลิเคชั่น จำกัด

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (2550).รวมระเบียบRoHS/China RoHS/WEEE/ ELV /EuP, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และโทคโนโลยี,*  ปทุมธานี

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (2548), โครงการการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย และเสนอแนวทางในการรับมือกับมาตรการภายใต้ระเบียบ WEEE และ RoHS* กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรุงเทพมหานคร

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด