เนื้อหาวันที่ : 2012-03-23 09:51:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2661 views

ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 10)

ขั้นตอนแรกของการดำเนินการในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร จะเป็นการวิเคราะห์ถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ขององค์กรว่ามีความสัมพันธ์กับความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร

กิตติพงศ์  จิรวัสวงศ์

แนวทางการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคม
          ในหัวข้อนี้ จะอธิบายถึงแนวทางในการนำความรับผิดชอบต่อสังคมมาสู่การปฏิบัติในองค์กร ทั้งนี้ องค์กรต่าง ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งกับระบบการบริหารจัดการ กระบวนการ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วภายในองค์กร โดยในบางกิจกรรมอาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ หรือมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในขอบเขตที่กว้างขึ้น ในรูปที่ 1 จะแสดงถึงแนวทางในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมมาใช้ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร

รูปที่ 1 แสดงถึงการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร

ความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะต่าง ๆ ขององค์กรและความรับผิดชอบต่อสังคม 
          ในขั้นตอนแรกของการดำเนินการในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร จะเป็นการวิเคราะห์ถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ขององค์กรว่ามีความสัมพันธ์กับความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์นี้จะช่วยให้องค์กรสามารถระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในแต่ละหัวข้อหลัก และระบุถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ขององค์กรด้วย ทั้งนี้ การทบทวน ควรจะครอบคลุมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

          * ประเภท วัตถุประสงค์ ลักษณะของธุรกิจ และขนาดขององค์กร

          * สถานที่ตั้งขององค์กรที่มีการดำเนินการอยู่ รวมถึงกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ และการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม และคุณลักษณะต่าง ๆ ในพื้นที่ของการดำเนินการในประเด็นทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

          * ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในอดีต

          * คุณลักษณะต่าง ๆ ขององค์กรด้านแรงงาน หรือลูกจ้าง รวมถึงแรงงานรับเหมา

          * องค์กรในภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่องค์กรได้เข้าไปมีส่วนร่วม รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม ที่มีการดำเนินการโดยองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ และวิธีปฏิบัติงาน หรือข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ได้รับการส่งเสริมโดยองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

          * พันธกิจ วิสัยทัศน์ หลักการต่าง ๆ และแนวปฏิบัติขององค์กร

          * ข้อกังวลต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม

          * โครงสร้างต่าง ๆ และลักษณะของการตัดสินใจภายในองค์กร

          * ห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร

          สิ่งสำคัญที่องค์กรควรจะตระหนักถึงคือ ทัศนคติ ระดับของความมุ่งมั่น และความเข้าใจของผู้นำองค์กร ที่มีต่อความรับผิดชอบต่อสังคมในหลักการ และหัวข้อหลักต่าง ๆ รวมถึงประโยชน์ของการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะช่วยให้การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งองค์กรอย่างมีประสิทธิผล รวมถึงสามารถขยายการดำเนินการภายใต้ขอบเขตอิทธิพลขององค์กรด้วย

การทำความเข้าใจความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร 
          ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จะประกอบด้วย 
          * การพิจารณาบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคม  
          * การพิจารณาความสัมพันธ์ของหัวข้อหลัก 
          * การพิจารณาความสำคัญ 
          * ขอบเขตอิทธิพลขององค์กรและบทบาทขององค์กรตามขอบเขตอิทธิพล และ 
          * การกำหนดความสำคัญของหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ
 
การพิจารณาบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคม
          การพิจารณาบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างละเอียดครบถ้วน และเป็นการดำเนินการในเชิงรุก เพื่อชี้บ่งถึงผลกระทบที่ไม่ดีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว หรือที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ และการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยง และบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ เหล่านั้น

นอกจากนั้น การพิจารณา ยังเกี่ยวข้องกับการใช้อิทธิพลขององค์กรที่มีต่อพฤติกรรมขององค์กรอื่น ๆ หากพบว่าองค์กรต่าง ๆ เหล่านั้น จะเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือในด้านอื่น ๆ ที่องค์กรอาจมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

          ทั้งนี้ องค์กรควรจะพิจารณาไปถึงบริบทของประเทศที่องค์กรเข้าไปดำเนินการ หรือในที่ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรเกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบต่าง ๆ ทั้งที่อาจจะเกิดขึ้น หรือได้เกิดขึ้นแล้วจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรเองด้วย นอกจากนั้น ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาในด้านลบ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของหน่วยงานหรือบุคคลอื่น ๆ ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรด้วยเช่นเดียวกัน 

          กระบวนการพิจารณา ควรเหมาะสมกับขนาด และสถานการณ์ขององค์กร ในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 
          * นโยบายต่าง ๆ ขององค์กรที่เชื่อมโยงเข้ากับหัวข้อหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานภายในองค์กร และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับองค์กร 

          * วิธีการที่จะนำมาใช้ในการประเมินถึงผลกระทบที่มีต่อเป้าประสงค์ของนโยบายจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และที่วางแผนจะดำเนินการต่อไป 

          * วิธีการที่จะนำมาใช้ในการบูรณาการหัวข้อหลักต่าง ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร 

          * วิธีการที่จะนำมาใช้ในการติดตามผลการดำเนินการตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนลำดับของความสำคัญ และแนวทางการปฏิบัติอื่น ๆ 

          * การดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจัดการกับผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการตัดสินใจ และการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร

          นอกเหนือจากการประเมินตนเองตามประเด็นต่าง ๆ แล้ว ในบางกรณี องค์กรอาจจะต้องใช้อิทธิพลที่มีที่ส่งผลต่อพฤติกรรมขององค์กรอื่น ๆ เพื่อเป็นการยกระดับของการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรเหล่านั้นให้ดีขึ้นด้วย

การพิจารณาความสัมพันธ์ 
          ในทุก ๆ องค์กรจะมีความสัมพันธ์กับหัวข้อหลักต่าง ๆ ทุกหัวข้อ แต่อาจจะมีความสัมพันธ์กับประเด็นต่าง ๆ บางประเด็นเท่านั้น ดังนั้น องค์กรควรจะมีการทบทวนหัวข้อหลักต่าง ๆ ทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่ามีประเด็นใดบ้างที่มีความสัมพันธ์กับองค์กร โดยองค์กรควรจะ

          * แจกแจงรายการของกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรที่มีอยู่ทั้งหมด 

          * ระบุถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

          * ระบุถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการดำเนินการขององค์กรเอง และเป็นขององค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิพลขององค์กร รวมถึงการตัดสินใจและการดำเนินการต่าง ๆ ของผู้ส่งมอบและผู้รับเหมา ที่อาจส่งผลกระทบต่อความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรด้วย

          * พิจารณาว่ามีหัวข้อหลัก และมีประเด็นใดบ้างที่จะเกี่ยวข้อง เมื่อองค์กร หรือองค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิพลขององค์กร และภายในห่วงโซ่คุณค่าเหล่านี้ มีการดำเนินการ โดยพิจารณาจากข้อกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องด้วย

          * ตรวจสอบขอบเขตของผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กรที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          * ตรวจสอบเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประเด็นต่าง ๆ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ที่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ การดำเนินการ และแผนงานต่างๆ ขององค์กร

          * ระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมขององค์กรที่ทำเป็นประจำ และที่อาจกระทำเป็นครั้งคราวภายใต้สถานการณ์เฉพาะต่าง ๆ

          ในบางกรณีองค์กรบางแห่งอาจจะเห็นว่า การที่องค์กรมีการดำเนินการให้สอดคล้องกับที่กฎหมายต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมถึงหัวข้อหลักต่าง ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว ก็อาจจะเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การที่ได้มีการทบทวนเกี่ยวกับหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจจะพบว่า อาจจะยังมีบางประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม หรือกฎหมายมีการควบคุมแล้ว แต่การบังคับใช้อาจจะยังไม่เหมาะสมเพียงพอ หรือกฎหมายมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน หรือรายละเอียดไม่เพียงพอก็ได้

          แม้ว่าหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ จะมีการกำหนดไว้ในกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ในบางกรณี ก็อาจจะมีการดำเนินการที่เหนือกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนดค่าควบคุมการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ หรือทางน้ำไว้ที่ปริมาณ หรือระดับหนึ่ง แต่องค์กรควรจะนำวิธีการปฏิบัติที่ดีมาใช้เป็นแนวทางในการลดการปลดปล่อยมลพิษดังกล่าวให้ดีกว่าที่กำหนดไว้ หรือดำเนินการเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อขจัดการปลดปล่อยมลพิษดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น หรือให้หมดไปอย่างสมบูรณ์

การพิจารณาความสำคัญ 
          เมื่อองค์กรได้ทำการระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและการดำเนินการต่างๆ ขององค์กรแล้ว ขั้นตอนถัดไป จะเป็นการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้อย่างละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อการตัดสินใจว่ามีประเด็นใดบ้างที่มีความสำคัญสูงสุดต่อองค์กร โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะครอบคลุมถึง

          * ขอบเขตของผลกระทบในแต่ละประเด็นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
          * ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการ หรือจากการที่ไม่ได้ดำเนินการต่อประเด็นต่าง ๆ 
          * ระดับของข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง
          * การระบุถึงความคาดหวังทางด้านสังคมต่อการปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่าง ๆ เหล่านั้น

          โดยทั่วไป ประเด็นต่าง ๆ ที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ คือการที่ไม่เป็นไปตามข้อกฎหมาย มีการปฏิบัติตามแนวทางของสากลได้ไม่สม่ำเสมอ มีแนวโน้มที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือสุขภาพ และการปฏิบัติต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม

ขอบเขตอิทธิพลขององค์กรและบทบาทขององค์กรตามขอบเขตอิทธิพล 
          องค์กรสามารถใช้อิทธิพลจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ 
          * การเป็นเจ้าของและการกำกับดูแล รวมถึงลักษณะและขอบเขตของการเป็นเจ้าของ หรือการเป็นผู้แทนของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลองค์กรที่เกี่ยวข้อง

          * ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ รวมถึงขอบเขตของความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ และระดับความสำคัญของความสัมพันธ์สำหรับแต่ละองค์กร 

          * อำนาจตามกฎหมาย การเมือง เช่น การมีข้อตกลง หรือสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย หรือการที่องค์กรได้รับอนุญาตตามกฎหมายในการไปบังคับองค์กรอื่น ๆ ให้มีพฤติกรรมตามที่ต้องการ 

          * ความคิดเห็นสาธารณะ รวมถึงความสามารถขององค์กรในการมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นสาธารณะ และผลกระทบจากความคิดเห็นสาธารณะที่มีต่อผู้อื่น ซึ่งองค์กรพยายามเข้าไปมีอิทธิพล

          ทั้งนี้ การใช้อิทธิพลขององค์กรอาจขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย รวมถึงขอบเขตทางกายภาพ ขอบข่าย ระยะเวลา และความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ โดยองค์กรสามารถใช้อิทธิพลของตนเองกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือเพื่อลดผลกระทบที่ไม่ดี หรือทั้งสองอย่าง

          วิธีการต่าง ๆ ในการใช้อิทธิพล จะประกอบด้วย
          * การกำหนดเงื่อนไขในข้อสัญญา หรือสิ่งจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ 
          * การประกาศต่อสาธารณะโดยองค์กร 
          * การสานสัมพันธ์กับชุมชน ผู้นำทางการเมือง และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ 
          * การตัดสินใจในการลงทุน
          * การแบ่งปันความรู้และสารสนเทศ
          * การดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ร่วมกัน
          * การโน้มน้าวชักจูงที่ทำอย่างมีความรับผิดชอบ และการใช้ความสัมพันธ์กับสื่อมวลชน
          * การสนับสนุนแนวทางการปฏิบัติที่ดี 
          * การสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับสมาคมของกลุ่มธุรกิจเดียวกัน องค์กรต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ

          ในการใช้อิทธิพลขององค์กร ควรยึดแนวทางของการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม รวมถึงหลักการและแนวปฏิบัติอื่น ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่เสมอ เมื่อมีการใช้อิทธิพลขององค์กร ในขั้นแรกองค์กรควรพิจารณาถึงการสานสัมพันธ์ โดยมีการสานเสวนาที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อปรับปรุงจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หากการสานเสวนาไม่ประสบความสำเร็จ องค์กรอาจพิจารณาการดำเนินการด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งอาจรวมถึงการเปลี่ยนลักษณะของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นด้วย  

การกำหนดความสำคัญของหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ 
          องค์กรควรกำหนดลำดับความสำคัญของหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ ที่ได้มีการพิจารณาแล้วว่ามีนัยสำคัญ และมีความสัมพันธ์กับการดำเนินการขององค์กร นอกจากนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดลำดับความสำคัญด้วย ทั้งนี้ลำดับความสำคัญอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

          ในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการกับประเด็นใดในลำดับต้น ๆ องค์กรควรจะพิจารณาถึง
          * ผลการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย มาตรฐานระหว่างประเทศ การปฏิบัติตามแนวทางของสากล การปฏิบัติที่ทันสมัย และแนวทางการปฏิบัติที่ดี

          * ประเด็นที่สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถขององค์กรในการบรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ 

          * ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง โดยเปรียบเทียบกับทรัพยากรต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการดำเนินการ

          * ระยะเวลาที่จะบรรลุผลต่าง ๆ ตามที่ต้องการ

          * ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญ หากไม่ได้ดำเนินการอย่างทันท่วงที

          * ความยากง่าย และความรวดเร็วในทางปฏิบัติ ในการสร้างความตระหนัก และกระตุ้นให้มีการดำเนินการ เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมภายในองค์กร

(อ่านต่อตอนถัดไป)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด