เนื้อหาวันที่ : 2012-03-22 10:20:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5700 views

ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินที่เหมาะสมนั้น.....เป็นฉันใด? (ตอนที่ 1)

โดยทั่วไป ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉิน มักจะเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามและไม่ได้บรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานความปลอดภัยในอุตสาหกรรม

ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินที่เหมาะสมนั้น.....เป็นฉันใด? (ตอนที่ 1)
(A Guide to the Proper Emergency Showers and Eye wash)

ศิริพร วันฟั่น

          ดวงตาของคนเราเป็นหน้าต่างบานแรกที่จะเปิดเผยให้เห็นสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้ จอตา (Retina) แต่ละข้างจะมีตัวรับแสง (Receptors) มากถึง 126 ล้านตัว และการมองเห็นก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการประกอบอาชีพต่าง ๆ แต่ในระหว่างการทำงานที่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงงานที่ใช้สารเคมีหรืออุตสาหกรรมผลิตสารเคมี ก็มีความเสี่ยงสูงที่ผู้ปฏิบัติงานอาจจะสัมผัสกับสารเคมีเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ผิวหนัง ใบหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่งดวงตา

ซึ่งอาจจะเกิดจากความประมาท พลั้งเผลอ หรือโดยอุบัติเหตุก็ตามแต่ ย่อมนำมาซึ่งการบาดเจ็บ ตั้งแต่ระคายเคืองเล็กน้อย แสบคัน เป็นแผลไหม้บริเวณเนื้อเยื่อส่วนที่สัมผัส ดวงตาพร่ามัวชั่วคราว ไปจนถึงร้ายแรงขนาดที่ต้องสูญเสียการมองเห็นไปบางส่วนหรือทั้งหมดแบบถาวร สาเหตุส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้ ก็อาจเป็นเพราะไม่มีแผนงานป้องกันอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีอันตราย หรือกรณีที่เกิดเหตุขึ้นแล้วทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นไม่ทันการณ์หรือไม่ถูกวิธี หรือมีอุปกรณ์ชะล้างสารปนเปื้อนที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่เพียงพอ

ซึ่งโดยทั่วไป เราจะพบว่า ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉิน (Emergency Shower and Eye Wash) มักจะเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามและไม่ได้บรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานความปลอดภัยในอุตสาหกรรม (Industrial Safety Program) เหตุผลก็เพราะว่ามีอุปกรณ์ป้องกันฯ อื่น ๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่ดวงตา เช่น แว่นครอบตา (Goggle) หรือ กระบังหน้า (Face Shields) หรือชุดป้องกันสารเคมี ดังนั้นก็เลยคิดว่าเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับการป้องกันอันตรายให้กับผู้ปฏิบัติงาน และดูเหมือนไม่มีความจำเป็นสำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉิน

          แต่ถ้านายจ้างพิจารณาเลือกใช้ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสม และจัดให้เป็นส่วนเสริมเพิ่มเติมเข้าไปจากการอุปกรณ์ป้องกันฯ ที่มีอยู่เดิม ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดความรุนแรงและความเสี่ยงของการบาดเจ็บที่ผิวหนัง ใบหน้า หรือดวงตาได้ ทั้งยังช่วยลดการสะดุดของงานและเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงเหล่านั้นได้อีกทางหนึ่งด้วย

ถ้าเป็นไปได้ก็ควรที่จะบรรจุฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินให้เฉพาะเจาะจงลงไปในแผนงานรับเหตุฉุกเฉิน และสามารถอยู่ในส่วนของอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid Devices) ซึ่งควรถูกติดตั้งไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นที่งานใด ๆ ก็ตามที่มีความเสี่ยงสูงที่ผู้ปฏิบัติงานอาจจะสัมผัสกับสารเคมีอันตรายได้

ในการที่จะลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดได้นั้น สิ่งสำคัญต้องรู้ว่าวิธีใดที่ดีที่สุดในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุการณ์สัมผัสสารเคมีอันตรายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ผิวหนัง ใบหน้าหรือดวงตา ดังนั้นจึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการพิจารณาว่าสถานประกอบกิจการของตนมีความจำเป็นสำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินหรือไม่ และจะชี้บ่งอย่างไรว่าฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินประเภทใดที่เหมาะสมสำหรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตน

          หนทางที่ดีที่สุดที่จะมั่นใจได้ว่า ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินจะมีผลในทางปฏิบัติในพื้นที่งาน ก็โดยการบรรจุเข้าไปในแผนงานความปลอดภัยของสถานที่ปฏิบัติงาน โดยมีการมอบหมายภาระหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนให้กับบุคลากรที่มีศักยภาพเพียงพอในการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยง ให้เข้าใจถึงวิธีใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้อย่างถูกวิธี รวมถึงสามารถบำรุงรักษาได้อย่างถูกต้องเช่นกัน ซึ่งจะว่าไปแล้วผู้ปฏิบัติงานทุกคนจำเป็นต้องรับรู้ว่าจะเข้าถึงและใช้งานอุปกรณ์นี้ได้อย่างไร รวมถึงจะชะล้างสารปนเปื้อนออกจากผิวหนัง ใบหน้า หรือดวงตาอย่างถูกวิธีได้อย่างไรด้วยเช่นกัน

          ในการพิจารณาว่า พื้นที่งานจำเป็นต้องมีฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินหรือไม่นั้น ก็ต้องทำการประเมินลักษณะงานที่ทำและอันตรายจากการสัมผัสในรูปแบบต่าง ๆ ที่มี ซึ่งโดยมากแล้ว ถ้าผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น ถุงมือต้านทานสารเคมี (Chemical-resistant Gloves) หรือแว่นครอบตา (Goggle) อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ (Respirators) หรือกระบังหน้า (Face Shields) ก็มักจะมีแนวโน้มว่าสถานที่ปฏิบัติงานนั้น ๆ มีเหตุผลอันสมควรที่จะใช้ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉิน เสริมเข้าไปจากอุปกรณ์ความปลอดภัย

และในบางครั้งก็จะพบว่าคู่มือหรือฉลากของบรรจุภัณฑ์สารเคมีหรือเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) จากผู้ผลิต ก็อาจจะระบุถึงความจำเป็นที่ต้องจัดเตรียมฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินไว้ใช้เพื่อผ่อนหนักเป็นเบาของสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนการพิจารณาว่าฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินจะถูกใช้ในบริเวณใดและอย่างไร ก็จะช่วยบ่งชี้ได้ว่า ควรที่จะใช้น้ำหรือของไหลชนิดใดในการชะล้างสิ่งปนเปื้อนและมีระบบส่งน้ำเป็นแบบใด เพื่อให้มีความเหมาะสมกับชนิดของฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินตลอดจนสารเคมีอันตรายที่เกี่ยวข้อง

          กระบวนการพิจารณาถึงความจำเป็นของฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินสำหรับพื้นที่งาน มีขั้นตอนในการดำเนินการพื้นฐานสำคัญ 2 ประการ ดังนี้ คือ

          (1) การชี้บ่งอันตราย (Identification of Hazards) เป็นขั้นตอนแรกที่ควรดำเนินการเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่า มีความจำเป็นสำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินหรือไม่ สิ่งแรกในการชี้บ่งอันตราย ก็คือ ตรวจสอบดูว่าสารที่ใช้งานหรือทำการผลิตเป็นอันตรายต่อผิวหนังหรือดวงตาหรือไม่

ซึ่งโดยมากแล้วปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยบ่งบอกได้ก็คือ ค่าความเป็นกรด–ด่าง หรือที่รู้จักคุ้นเคยกันดี ก็มักเรียกว่า ค่า pH นั่นเอง อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลอื่น ๆ เช่น เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) และเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ ที่อาจมีความจำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาว่าสารนั้นเป็นอันตรายหรือไม่

          สารที่เป็นของเหลวที่ใช้ในอุตสาหกรรมโดยมากแล้วมักจะเป็นอันตราย แต่ของแข็ง ก๊าซ ไอระเหย และหมอกควันก็อาจมีอันตรายได้เช่นกัน การที่จะพิจารณาว่าสารใดเป็นอันตรายนั้น ก็ต่อเมื่อระบุได้ว่าสามารถสร้างความเสียหายให้กับบริเวณที่สัมผัสไม่ว่าจะเป็นที่ผิวหนังหรือดวงตา หรือสามารถที่จะถูกดูดซึมผ่านทางผิวหนังได้

ทั้งนี้สารที่ถือว่าเป็นเป้าหมายหลักในการพิจารณาใช้ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉิน ก็คือ “สารกัดกร่อน (Corrosive Substances)” ซึ่งเป็นสารที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อเนื้อเยื่อที่สัมผัส สารกัดกร่อนอาจจะอยู่ในรูปของกรด ด่าง แอนไฮไดรด์เปอร์ออกไซด์และเกลือของโลหะบางชนิด และสารออกซิไดซ์อย่างแรง โดยที่ระดับอันตรายหรือความรุนแรงของสารกัดกร่อน จะขึ้นอยู่กับตัวแปรเหล่านี้ คือ

          - ค่าความเป็นกรด–ด่าง (pH) ของสารละลายที่มีอยู่ในสารนั้น ค่าความแก่ (Strength) ของกรดหรือสารอัลคาไลน์นั้น โดยทั่วไปแล้วก็จะถูกระบุเป็นค่า pH ซึ่งสามารถตรวจวัดด้วยกระดาษ pH หรือใช้เครื่องวัดค่า pH (pH Meter) ซึ่งค่า pH นี้จะไล่ตั้งแต่ศูนย์ (มีค่าความเป็นกรดมาก–Very Acidic) จนถึง 14 (มีค่าความเป็นสารอัลคาไลน์มาก–Very Alkaline) โดยสารที่มีค่า pH อยู่ระหว่าง 0 จนถึง  2 หรือ  11 จนถึง 14 แม้ดวงตามีการสัมผัสสารนี้ในปริมาณเพียงน้อยนิด ก็สามารถที่จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรงและอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรหรือตาบอดสนิทได้ ส่วนกรณีผิวหนังนั้น สารที่ถือว่าเป็นอันตรายจะมีค่า pH 1 หรือ  12

          อย่างไรก็ดี สารที่มีค่า pH อยู่ระหว่าง 2 และ 11 (หรือระหว่าง 1 และ 12 สำหรับผิวหนัง) ก็ไม่ได้หมายความว่าสารนี้จะไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งในบางครั้งสารบางตัวที่มีค่า pH อยู่ระหว่าง 2 และ 11 อาจจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อดวงตาและผิวหนังได้ ส่วนสารละลายอัลคาไลน์ (Alkaline Solutions) มีแนวโน้มว่าจะสร้างความเสียหายต่อดวงตาและผิวหนังได้มากกว่าสารละลายที่เป็นกรด (Acidic Solutions)

ตาราง แสดงตัวอย่างสารเคมีอันตรายทั่วไปที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตาและผิวหนังได้ (Common Eye/Skin Hazardous Chemicals)

          - ธรรมชาติของสารนั้น ๆ โดยปกติแล้ว สารจำพวกด่าง เช่น Caustic Soda มีอันตรายมากกว่าสารจำพวกกรด เนื่องจากสามารถละลายเนื้อเยื่อและซึมผ่านผิวหนังได้ลึกกว่า ส่วนกรดแร่ เช่น กรดไนตริก กรดเกลือ จะมีอันตรายมากกว่ากรดอินทรีย์ เช่น กรดซิตริก กรดน้ำส้ม ในขณะที่สารบางชนิดก็ถือว่าเป็นสารกัดกร่อนรุนแรง เช่น Hydrochloric Acid, Chromic Acid, Phenol และ Chlorinated Acids

          - ความเข้มข้นของสาร (Concentration) โดยทั่วไปแล้ว อันตรายจากการกัดกร่อนอย่างเฉียบพลันจะเกิดขึ้นเมื่อสารมีความเข้มข้น 20 % ขึ้นไป ยกเว้นสารกัดกร่อนรุนแรง เช่น Hydrochloric Acid แม้ว่าจะมีความเข้มข้นต่ำกว่า 10% ก็ตาม ก็ยังมีฤทธิ์กัดกร่อนที่รุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม สารกัดกร่อนใด ๆ ไม่ว่าจะมีระดับความเข้มข้นต่ำหรือสูง แต่ถ้าเมื่อไหร่มีการสัมผัสกับดวงตาก็จะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงได้เมื่อนั้น

          ส่วนสารอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายจากการสัมผัส ได้แก่
          - สารที่ทำให้เกิดการแพ้อย่างรุนแรง ประเภท Plastic Monomer เช่น TDI สามารถก่อให้เกิดการแพ้หรือเกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงได้ แม้ว่าจะสัมผัสในระยะเวลาอันสั้น ก็ตาม

          - สารที่มีค่า Dermal LD50 ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถก่อให้เกิดอันตราย หรือเป็นพิษเมื่อสัมผัสผิวหนังในช่วงเวลาสั้น ๆ ตัวอย่างเช่น สารรักษาเนื้อไม้ สารกำจัดศัตรูพืช (Pesticide) และสารประกอบอินทรีย์โลหะที่เป็นสารพิษ

          - ฝุ่นสามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือบาดเจ็บที่ดวงตาได้ รวมทั้งฝุ่นบางชนิดยังสามารถก่อให้เกิดความเป็นพิษหรือการติดเชื้อกับบริเวณเนื้อเยื่อที่สัมผัสได้ ส่วนฝุ่นโลหะหรือผลึกก็มีอันตรายได้เช่นเดียวกัน

          - สารที่ระบุไว้ใน MSDS หรือป้ายฉลากผลิตภัณฑ์ว่าก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตาอย่างรุนแรง (เช่น ก่อให้เกิดแผลไหม้ สร้างความเสียหายกับกระจกตา หรือดวงตาอาจเสียหายหรือบอดได้) แต่ถ้าระบุไว้เพียงแค่ว่าสามารถก่อให้เกิดอาการระคายเคืองก็อาจไม่จำเป็นสำหรับอุปกรณ์ฉุกเฉินประเภทนี้ ในขณะที่สารอื่น ๆ ที่ระบุใน MSDS ว่าต้องมีฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและ/หรือที่ล้างตาฉุกเฉินไว้เป็นอุปกรณ์ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก็ควรพิจารณาติดตั้ง

          (2) การชี้ชัดว่าส่วนใดของร่างกายที่อาจมีการสัมผัส (Determination of Exposure) เป็นขั้นตอนต่อมา ในการตัดสินใจว่าฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินจำเป็นสำหรับพื้นที่งานของตนเองหรือไม่ ก็คือ การพิจารณาว่าดวงตา ใบหน้า หรือผิวหนังของผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสที่จะสัมผัสกับสารอันตรายที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการกระเซ็น กระฉอก ระเหย หรือหยดใส่ โดยถ้าคาดว่ามีโอกาสสัมผัสที่ผิวหนัง ก็ต้องพิจารณาต่อว่าสารที่สัมผัสนี้น่าจะมีปริมาณมากน้อยเท่าใด

แต่ถ้าเป็นสารอันตรายและมีโอกาสสัมผัสกับดวงตาก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาต่อถึงปริมาณที่สัมผัส อย่างไรก็ดี ทุก ๆ การชี้ชัดลงไปถึงการสัมผัสนั้นควรพิจารณาอยู่บนพื้นฐานที่ปราศจากการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) เช่น ถุงมือ (Gloves) แว่นครอบตา (Goggle) กระบังหน้า (Face Shields) หรือ ชุดคลุมป้องกัน (Aprons)

          โดยทั่วไปแล้ว การป้องกันดวงตาและใบหน้าที่อย่างเพียงพอและชุดคลุมป้องกันควรที่จะถูกจัดสรรไว้ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นสำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉิน โดยควรสวมใส่แว่นครอบตาที่กระชับทุกครั้งถ้ามีความจำเป็นต้องปกป้องดวงตา เพราะกระบังหน้าหรือแว่นตานิรภัยไม่ได้ให้การป้องกันที่เพียงพอ ทั้งนี้ การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลไม่ได้เป็นการตัดประเด็นความจำเป็นที่จะใช้ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินทิ้งแต่อย่างใด แต่อุปกรณ์ฉุกเฉินประเภทนี้จะเป็นส่วนเสริมและเตรียมพร้อมรองรับยามเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา 

          ลักษณะพื้นที่งานที่ควรพิจารณาถึงความจำเป็นสำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉิน โดยทั่วไป อุปกรณ์ฉุกเฉินประเภทนี้มักจะมีความจำเป็นสำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับสารกัดกร่อนหรือสารอันตราย ยกตัวอย่าง เช่น

          - การทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการถูกสารอันตรายสัมผัสดวงตาหรือเปรอะเปื้อนร่างกายในปริมาณมาก
          - มีการใช้หรือดำเนินการใด ๆ กับสารอันตรายจำนวนมาก (ตั้งแต่ 1 ลิตรขึ้นไป) 
          - การเคลื่อนย้ายสารในปริมาณมาก หรือการทำงานใกล้ถังหรือภาชนะบรรจุที่มีโอกาสถูกสารอันตรายเปรอะเปื้อน
          - ในที่ที่มีฝุ่น ไอ ละอองของสารอันตรายที่มีปริมาณสูง หรือความเข้มข้นสูง หรืออาจมีการกระเซ็น กระฉอก ระเหย หรือหกรดใส่ ของสารอันตรายในขณะปฏิบัติงาน
          - การเก็บ การเคลื่อนย้าย การถ่ายเทสารอันตรายที่อยู่สูงเกินระดับไหล่ และ
          - สารกัดกร่อนหรือสารอันตราย ที่สามารถสร้างความเสียหายต่อการสัมผัสได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง
          เป็นต้น

          พื้นที่และการปฏิบัติงานที่ควรติดตั้งฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉิน เช่น การพ่นสีหรือการลอกสี การรับหรือการจ่ายน้ำมันเครื่องบิน การเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ การทำความสะอาดหรือการล้างไขมัน การทำความสะอาดโลหะ การแยกทอง การผสมสารกำจัดศัตรูพืช โรงงานบำบัดน้ำเสีย บริเวณบรรจุไฟแบตเตอรี่หรือโรงซ่อมบำรุงแบตเตอรี่ การเก็บ ขนย้าย ถ่ายเทสารอันตราย ห้องทดลอง การใช้ด่างในการทำความสะอาด การทำงานเกี่ยวกับแอมโมเนียและสารอันตรายอื่น การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า รวมถึงการผลิต ผสม การแบ่งบรรจุสารเคมี เป็นต้น

          ถ้าสถานประกอบกิจการใด ๆ ที่มีพื้นที่และการปฏิบัติงานตามที่ยกตัวอย่างมานี้ ได้ดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาถึงความจำเป็นของฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินสำหรับพื้นที่งานแล้ว พบว่ามีความเสี่ยงสูงที่ผู้ปฏิบัติงานจะมีโอกาสสัมผัสกับสารอันตรายไม่ว่าจะเป็นที่ดวงตา ใบหน้าหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ก็มีเหตุผลอันสมควรในการติดตั้งอุปกรณ์ฉุกเฉินประเภทนี้

ตามประกาศกฏกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ.2537 ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หมวด 4 เรื่องหน้าที่ของผู้ได้รับใบอนุญาต ข้อ 18 ระบุว่า “ผู้ได้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายต้องจัดให้มีที่อาบน้ำฉุกเฉิน ที่ล้างตาฉุกเฉินตามความจำเป็นและเหมาะสมกับคุณสมบัติของวัตถุอันตรายและขนาดของการประกอบกิจการ เพื่อทำความสะอาดร่างกายขั้นต้นเมื่อสัมผัสกับวัตถุอันตราย”

          หรือตามประกาศกฏกระทรวง พ.ศ.2545 หมวด 2 เรื่องสถานที่ตั้ง ลักษณะอาคาร และสุขาภิบาล ข้อ 7 ระบุว่า “สถานประกอบกิจการที่คนงานอาจเปรอะเปื้อนจากสารเคมี วัตถุอันตรายหรือสิ่งอื่นใดอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพต้องจัดให้มีที่อาบน้ำฉุกเฉิน ที่ล้างตาฉุกเฉินตามความจำเป็นและเหมาะสมกับคุณสมบัติของวัตถุอันตรายและขนาดของการประกอบกิจการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายและขนาดของการประกอบกิจการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง”

          แต่จากข้อมูลการตรวจโรงงานของเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าโรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าว หรือปฏิบัติแต่ก็ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ทั้งนี้เหตุผลอาจเป็นเพราะว่าประกาศกระทรวงฯ ไม่มีรายละเอียดเพียงพอเกี่ยวกับลักษณะและความเหมาะสมของอุปกรณ์ฉุกเฉินประเภทนี้ก็เป็นได้

ดังนั้น บทความนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลส่วนหนึ่งตามมาตรฐานของ ANSI (สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา-The American National Standards Institute: ANSI) ที่ว่าด้วยที่ล้างตาฉุกเฉินและฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน (ANSI Z358.1–2009 “Standard for Emergency Eyewash and Shower Equipment”) ซึ่งเป็นมาตรฐานฉบับปรับปรุงล่าสุดสำหรับที่ล้างตาฉุกเฉินและฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน

โดยวัตถุประสงค์หลักจะเป็นการให้แนวทางที่ถูกต้องสำหรับการพิจารณาถึง การออกแบบ ประสิทธิภาพ การติดตั้ง การใช้งาน วิธีการทดสอบ การบำรุงรักษา และการฝึกอบรม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดทั่วไปของ OSHA [29 CFR 1910.151 (c)] ที่ระบุไว้ว่า “ในที่ที่ดวงตาหรือร่างกายของผู้ปฏิบัติงานคนใดก็ตาม อาจจะสัมผัสสารกัดกร่อนที่สามารถก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ ก็ควรที่จะจัดสรรอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการชะล้างสารนี้ออกจากดวงตาและร่างกายได้อย่างรวดเร็ว

โดยติดตั้งไว้ในพื้นที่งานเพื่อให้สามารถใช้ในยามฉุกเฉินได้ทันที” ซึ่งข้อกำหนดที่ว่านี้สามารถประยุกต์ใช้กับสถานประกอบกิจการทุกประเภทที่จำเป็นต้องติดตั้งที่ล้างตาฉุกเฉินและฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน โดยให้ถือว่าเป็นหนึ่งของอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

สรุปสาระสำคัญของ ANSI Z358.1–2009 “Standard for Emergency Eyewash and Shower Equipment”
          ขอบข่ายและการใช้งาน (Scope and Application) มาตรฐานนี้จะระบุถึงข้อกำหนดขั้นต่ำสำหรับการใช้งานและประสิทธิภาพของที่ล้างตาฉุกเฉินและฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน เพื่อให้การรักษาฉุกเฉินกับดวงตา ใบหน้า ผิวหนัง หรือร่างกายของบุคคลที่ได้รับการสัมผัสกับสารอันตราย

โดยมาตรฐานจะครอบคลุมประเภทของอุปกรณ์เหล่านี้ คือ ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน (Emergency Shower) ที่ล้างตาฉุกเฉิน (Emergency Eyewash Equipment) ที่ล้างตา / ใบหน้า (Emergency Eyewash/Face Equipment) และชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบผสม (Combination Units)

นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อกำหนดสำหรับการใช้งานและประสิทธิภาพของอุปกรณ์เสริม (Supplemental Equipment) เช่น อุปกรณ์ล้างตาส่วนบุคคล (Personal Wash Units) และสายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Drench Hoses) เพื่อใช้เป็นส่วนเสริมขั้นต้นให้กับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉิน

          วัตถุประสงค์ (Purpose) มาตรฐานนี้มีเจตนาที่จะให้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเข้าใจโดยทั่วไประหว่างนายจ้าง ผู้ใช้งาน ช่างซ่อมบำรุง และสาธารณชนทั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดขั้นต่ำสำหรับประสิทธิภาพ การใช้งาน การติดตั้ง วิธีการทดสอบ และบำรุงรักษาของที่ล้างตาฉุกเฉินและฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน

          คำจำกัดความ (Definitions) 
          (1) ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน (Emergency Shower)
คือ อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ของไหลในการชะล้างสารปนเปื้อนทั่วทั้งร่างกายและเสื้อผ้า

          (2) ที่ล้างตาฉุกเฉิน (Emergency Eyewash Equipment) คือ อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ของไหลในการชะล้างสารปนเปื้อนที่ดวงตา

          (3) ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉิน (Emergency Eyewash/Face Equipment) คือ อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ของไหลในการชะล้างสารปนเปื้อนได้ทั้งดวงตาและใบหน้าในคราวเดียวกัน

          (4) ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบผสม (Combination Units) คือ สถานีความปลอดภัย (Safety station) ที่ใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินหลายชนิดผสมกัน อาจจะเป็นได้ทั้ง ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน (Emergency shower) ที่ล้างตา (Emergency Eyewash Equipment) ที่ล้างตา/ใบหน้า (Emergency Eyewash/Face Equipment) และสายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Drench Hoses)

          (5) อุปกรณ์เสริม (Supplemental Equipment) คือ อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเสริมการใช้งานของอุปกรณ์ฉุกเฉินหลักข้างต้น (1–4) โดยอุปกรณ์เสริมนี้ ประกอบด้วย

                5.1 อุปกรณ์ล้างตาส่วนบุคคล (Personal Wash Units) คือ อุปกรณ์ฉุกเฉินขั้นต้นที่ใช้อย่างรีบด่วนเฉพาะตัวบุคคลที่ดวงตาสัมผัสสารอันตราย ใช้ระหว่างทางก่อนเข้าถึงอุปกรณ์ฉุกเฉินหลักที่ติดตั้งไว้ ตัวอย่างเช่น ขวดล้างตาฉุกเฉิน (Eyewash Bottles)

                5.2 สายฉีดชะล้างฉุกเฉิน (Emergency Drench Hoses) คือ อุปกรณ์ฉุกเฉินเสริมอันประกอบไปด้วยสายยางที่ยืดหยุ่นที่เชื่อมต่อเข้ากับแหล่งจ่ายของไหลที่ใช้ในการชะล้าง เพื่อใช้ฉีดชะล้างสารปนเปื้อนที่ดวงตา ใบหน้าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

          (6) ของไหลที่ใช้ในการชะล้าง (Flushing Fluid) คือน้ำจำพวกที่ดื่มกินได้ทั่วไป (Potable Water) หรือเป็นน้ำที่เติมสารคงคุณภาพไว้ (Preserved Water) หรือ Preserved Buffered Saline Solution หรือ 100% Sterile Saline Eyewash Solution และ สารละลายอื่น ๆ ที่ทางการแพทย์ยอมรับ

          (7) ของไหลที่ใช้ในการชะล้างที่มีอุณหภูมิอุ่นเล็กน้อย (Tepid Flushing Fluid) คือ ของไหลที่ใช้ในการชะล้างที่มีอุณหภูมิอุ่นพอประมาณ (Moderately Warm) หรืออุ่นน้อย ๆ (Lukewarm) โดยมีช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมตามที่มาตรฐานกำหนดไว้ กล่าวคือ 15.5–37.7 oC (60-100 oF) คงที่ตลอดช่วงระยะเวลาที่ชะล้างหรือรินล้างต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาที

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อุณหภูมิที่สูงเกินกว่า 37.7 oC (100 oF) อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีกับผิวหนังและยังผลให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติมตามมาได้อีก ส่วนอุณหภูมิที่ 15.5 oC (60 oF ) และต่ำกว่าสภาวะความร้อนในร่างกายต่ำผิดปกติ (Hypothermia) นั้น อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในที่ที่มีความเป็นไปได้ที่ปฏิกิริยาเคมีอาจจะถูกเร่งโดยของไหลฯ ที่อุ่น ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เพื่อพิจารณาว่าอุณหภูมิสูงสุดของของไหลฯ ที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่เท่าใด

          (8) อุปกรณ์ฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำ (Plumbed Units) คือ ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินชนิดที่ท่อส่งต่อตรงเข้ากับท่อน้ำของสถานที่ปฏิบัติงานแบบเป็นการถาวร ซึ่งท่อส่งจะจ่ายน้ำจำพวกที่ดื่มกินได้ทั่วไป (Potable Water) ในการชะล้างสารปนเปื้อน

          (9) อุปกรณ์ฉุกเฉินแบบบรรจุน้ำในตัว (Self–Contained Units) คือ ฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉินและที่ล้างตาฉุกเฉินชนิดที่มีภาชนะบรรจุของไหลที่ใช้ในการชะล้าง (Flushing Fluid) ของตัวเอง และต้องเติมหรือเปลี่ยนของไหลฯ ภายหลังจากใช้งาน

          ข้อกำหนดทั่วไป (General Requirements) สำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน ที่ล้างตาฉุกเฉิน และที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉิน

          - ชะล้างดวงตาทั้งคู่พร้อมกันด้วยกระแสน้ำที่มีแนววิถีโค้ง 8 นิ้ว (เฉพาะที่ล้างตา)

          - ของไหลที่ใช้ในการชะล้างต้องถูกส่งออกมาในอัตราการไหลที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน

          - หัวฉีด (Nozzles) ต้องได้รับการป้องกันจากสิ่งปนเปื้อนในอากาศ เช่น มีฝาครอบหัวฉีด (Nozzle Caps) ซึ่งพร้อมที่จะดีดตัวออกได้เองด้วยแรงดันของของไหลฯ ที่พุ่งออกมาจากหัวฉีด แต่ก็ยังคงความสามารถในการป้องกันสิ่งปนเปื้อนไว้ได้เมื่อยามฝาครอบปิดอยู่

          - ควรทำจากวัสดุที่ไม่เป็นสนิมเนื่องจากสัมผัสกับของไหลที่ใช้ในการชะล้าง

          - ของไหลที่ใช้ในการชะล้างต้องถูกส่งออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที ในปริมาณไม่น้อยกว่า 0.4 แกลลอนต่อนาที (GPM) หรือ 1.5 ลิตรต่อนาที (LPM) ที่แรงดัน 40 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (PSI) สำหรับที่ล้างตา และ  20 แกลลอนต่อนาที (GPM) หรือ 75.7 ลิตรต่อนาที (LPM) ที่แรงดัน 30 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (PSI) สำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน และ 3 แกลลอนต่อนาที (GPM) หรือ 11.4 ลิตรต่อนาที (LPM) ที่แรงดัน 30 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (PSI) สำหรับที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉิน

          - ต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายเพิ่มเติมต่อผู้ใช้งาน

          - หลังจากเปิดวาล์วควบคุมของไหลฯ (Control Valve) แล้ว ต้องสามารถส่งของไหลฯ ออกมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องใช้มือของผู้ใช้งานบังคับตลอดเวลา (Hands–free Operation)

          - เมื่อดันคันชักเปิดวาล์ว (Valve Activator) แล้ว ต้องสามารถส่งของไหลฯ ออกมาภายใน 1 วินาทีหรือน้อยกว่านั้น

          ข้อกำหนดพื้นฐานในการติดตั้ง (Installation Requirements) สำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน ที่ล้างตาฉุกเฉิน ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉิน และชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบผสม

          - ระยะ และตำแหน่งที่ติดตั้ง ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดสำหรับอุปกรณ์ฉุกเฉินแต่ละประเภท

          - อุปกรณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ ควรจะสามารถส่งของไหลฯ ที่มีอุณหภูมิอุ่นเล็กน้อย อยู่ในช่วง15.5–37.7 oC (60-100 oF) และควรจะสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและรวดเร็ว โดยผู้ปฏิบัติงานต้องสามารถไปถึงได้ภายใน 10 วินาที คิดเป็นระยะห่างประมาณ 16.5 เมตร (55 ฟุต) จากจุดเสี่ยง

          - เส้นทางระหว่างที่เกิดเหตุและอุปกรณ์ฉุกเฉินต้องโล่ง ปราศจากสิ่งกีดขวาง เป็นเส้นตรงที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

          - จุดติดตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันกับอันตรายโดยไม่มีพื้นผิวต่างระดับ ทางลาดชันหรือมีบันไดอยู่ท่ามกลางระหว่างที่เกิดเหตุและอุปกรณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ ประตูก็อาจถูกพิจารณาเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง

          - จุดติดตั้งอยู่ใกล้เคียงกับอันตรายโดยสามารถเข้าถึงได้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่มีกรดกัดไหม้ กรดแก่ ด่างแก่ และสารอื่นที่มีผลกระทบรุนแรง

          - จุดติดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงสว่างที่เพียงพอ และระบุอย่างชัดเจนด้วยป้ายสัญญาณที่สามารถมองเห็นและรับรู้ได้โดยง่ายสำหรับทุก ๆ คนที่ต้องใช้งานอย่างเร่งด่วน เพราะว่ายามเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมานั้น ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา ส่วนมากแล้วจะมีทัศนวิสัยในการมองเห็นที่จำกัดในระหว่างทางไปสู่อุปกรณ์ฉุกเฉิน

          ข้อกำหนดพื้นฐานในการบำรุงรักษา (Maintenance Requirements) สำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน ที่ล้างตาฉุกเฉิน ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉิน และชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบผสม

          - อุปกรณ์ฉุกเฉินแบบใช้ท่อส่งน้ำ (Plumbed Units) ต้องได้รับการทดลองใช้งาน (Activation) แบบรายสัปดาห์ เพื่อมั่นใจได้ว่ายังใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อชะล้างและระบายสิ่งเจือปนในท่อน้ำที่หมักหมมและอาจเป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็นตะกอน (Sediments) หรือเชื้อจุลินทรีย์ (Microbial) ที่เป็นเหตุจากน้ำอยู่นิ่ง ๆ รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่าแรงดันน้ำที่มาตามท่อและพุ่งออกมาจากหัวฉีดนั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสม

          - อุปกรณ์ฉุกเฉินแบบบรรจุน้ำในตัว (Self–Contained Units) ต้องมีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อและเปลี่ยนของไหลฯ ทุก ๆ 3–6 เดือนตามที่ผู้ผลิตระบุไว้ ส่วนภาชนะบรรจุที่ปิดผนึก (Sealed Cartridge Devices) ที่ใช้บรรจุ Sterile Saline Solution หรือ Purified Saline Solution และ Buffered Saline Solution ควรที่จะยังคงคุณสมบัติของการปราศจากเชื้อแบคทีเรียและการปนเปื้อนไว้ได้จนถึง 24 เดือน

          - ควรมีการตรวจและทดสอบอย่างละเอียดและสมบูรณ์เมื่อครบปี (Annual Inspections) ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบอัตราการไหล รูปแบบการทำงาน และโครงสร้างทางกายภาพ เพื่อให้คุณลักษณะและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ฉุกเฉินเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ข้อแนะนำจากผู้ผลิตควรนำมาพิจารณาประกอบการตรวจทุกครั้ง

          - ผู้ตรวจสอบควรจดบันทึกข้อมูลที่ได้จากการตรวจ ลงลายมือชื่อ และวัน–เวลา ลงบนป้ายแบบฟอร์มตรวจสอบ (Inspection Tag) ที่ติดไว้ที่ตัวเครื่องหรือบริเวณใกล้เคียง และเก็บสำเนาไว้ที่ส่วนกลาง

          - จัดเตรียมเอกสารคู่มือวิธีใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินให้อยู่ใกล้เคียงกับตัวเครื่อง เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงเมื่อเกิดปัญหาในการใช้งาน หรือกรณีจำเป็นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนอุปกรณ์

          - การตรวจบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance Inspections) ควรจะถูกดำเนินการทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสอบปัญหาต่าง ๆ เช่น การรั่วไหลของวาล์ว การอุดตันของหัวฉีดและท่อส่งของไหลฯ ชิ้นส่วนอุปกรณ์เสียหาย ปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอ ฯลฯ และอาจต้องมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนถ้าจำเป็น หรือติดต่อผู้จำหน่ายถ้าไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเองได้ รวมถึงถ้าระบบการทำงานของอุปกรณ์ฉุกเฉินไม่ทำงานหรือทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ต้องมีการแจ้งเตือนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่นั้น ๆ โดยการติดป้ายให้เห็นอย่างชัดเจนที่ตัวเครื่อง

ตัวอย่างป้ายแบบฟอร์มตรวจสอบ (Inspection Tag)

          ข้อกำหนดพื้นฐานในการฝึกอบรม (Training Requirements) สำหรับฝักบัวอาบน้ำฉุกเฉิน ที่ล้างตาฉุกเฉิน ที่ล้างตา/ใบหน้าฉุกเฉิน และชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแบบผสม

          - ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับข้อแนะนำให้รับทราบถึงตำแหน่งที่ตั้งและเข้าใจวิธีใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ 

          - มีการฝึกปฏิบัติการแบบลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง (Hands–on Drill) ในการเข้าถึงและใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง

          - มีการฝึกอบรมในการนำคอนแทคเลนส์ (Contact Lens) ออกจากดวงตาที่สัมผัสสารอันตรายอย่างถูกวิธี 

          - มีการฝึกอบรมกรรมวิธีในการล้างตาอย่างถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง
          - How to Select the Proper Emergency Eyewash for Your Workplace, Kelly Piotti., Mar 2011.

          - Choosing and Maintaining Emergency Eye washes / Showers, Michael Bolden., Jan 2010.

          - A Guide to the ANSI Z358.1–2009 Standard for Emergency Eye washes and Shower Equipment.

......โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป.....

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด