เนื้อหาวันที่ : 2012-03-14 10:01:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2714 views

Scouting รู้เขา รู้เรา รบ 100 ชนะ 55

คำว่าชนะร้อยเปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นจากตัวแปรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกำลังคน การวางแผน การเมือง ภัยธรรมชาติ ดังนั้น ดีที่สุดก็คือ ต้องรู้เขาอย่างละเอียด

พิทักษ์ ศุภบัณฑิตย์กุล

          คำโบราณท่านกล่าวไว้ว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ทว่าสถานการณ์ปัจจุบัน โลกเราสื่อสารฉับไว แข่งขันกันทุกเสี้ยววินาที ผมเลยขอลดเปอร์เซ็นต์ชนะลงเหลือ 55 ก็พอ ขณะที่เรารู้เขา เขาก็รู้เราเช่นกัน ดังนั้นคำว่าชนะร้อยเปอร์เซ็นต์จึงเกิดขึ้นจากตัวแปรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกำลังคน การวางแผน การเมือง ภัยธรรมชาติ ดังนั้น ดีที่สุดก็คือ ต้องรู้เขาอย่างละเอียด ด้วยการสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งภาษาทางฟุตบอลอาชีพเขาเรียกว่า “สเก๊าติ้ง”

          เช่นเคยครับกับการเอาหลักการบางเรื่องของฟุตบอลอาชีพมาเป็นแนวทางในการบริหารงาน จริง ๆ แล้วหลักการบริหารองค์กรให้เจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จตามเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลอาชีพ หรือองค์กรธุรกิจก็มีส่วนที่ใช้ร่วมกันค่อนข้างมาก และยิ่งมองในมุมของความเป็นกีฬานิด ๆ จะช่วยให้เราผ่อนคลายอาการเครียด แต่จะเสริมเรื่องของแรงใจที่ต้องสู้ ๆ สู้กันจนกว่าจะหมดเวลาแข่งขัน

และหากว่ามันหมดเวลาแล้วจบลงด้วยความพ่ายแพ้ หรือเสมอ เราก็ยังถือว่ามันเป็นความผิดพลาดให้กับคู่แข่งขันที่เขาพร้อมกว่า ซึ่งเราต้องกลับมาแก้ไขและกลับเข้าไปสู้ใหม่ ซึ่งเราจะกลายเป็นผู้ชนะได้ในวันหนึ่ง ตราบเท่าที่เรายังลุกขึ้นสู้ต่อ

เก็บละเอียดยิ่งกว่า ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ?
          เรื่องของการ “สเก๊าติ้ง” ในการเล่นฟุตบอลอาชีพปัจจุบันพวกเขาต้องนำข้อมูลต่าง ๆ ของทีมคู่แข่งขันมาวิเคราะห์อย่างละเอียด สถิติทุกอย่างเก็บมาหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และต้องเจาะรายละเอียดของนักเตะ ฟอร์มการเล่นของแต่ละคน กลยุทธ์ที่นำมาใช้ เตะมุมกี่ครั้ง ฟาล์วตรงไหนบ้าง นักเตะเด่นในแต่ละตำแหน่งคือใคร ได้ประตูจากการเล่นแบบไหน โปรแกรมการแข่งขัน ผลแพ้ชนะที่ผ่านมา เยอะครับ ละเอียดจริง ๆ กระทั่งมีการนำคอมพิวเตอร์มาบันทึกสถิติแล้ววิเคราะห์ออกมา เขาเน้นกันขนาดนี้เลยเพื่อให้ได้ผลวิเคราะห์ที่มาจากฐานข้อมูลจริง ๆ ไม่ใช่เพียงการวิเคราะห์ด้วยวิสัยทัศน์ ประสบการณ์และการสังเกตธรรมดา

          และจากความละเอียดของข้อมูลเราจึงต้องนำมาวัดกันในสนามแข่งขัน ซึ่งเปรียบได้กับสนามแข่งขันในเชิงธุรกิจที่ห้ำหั่นกันไม่แพ้ในสนามฟุตบอล ที่มีทั้งการปะทะ การวิ่งแข่ง วิ่งหนี ช่วยกันเป็นทีม และการยิงประตู ใครยิงได้มากกว่าก็ชนะไป กองเชียร์ก็มีความสุข นักเตะก็มีกำลังใจ และตัวแปรที่ว่าก็มาจากผลแพ้ชนะที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน คนชนะมาตลอดก็ย่อมต้องรักษาฟอร์มตัวเอง และสเก๊าต์ทีมคู่ต่อสู้อย่างละเอียด ทีมแพ้มาบ่อยๆ ก็ต้องยิ่งสเก๊าติ้งทีมที่ต้องแข่งขันด้วย เพราะหากแพ้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ ก็คงต้องตกชั้นหรือกระเด็นออกจากสารบบไปในที่สุด

          ในสนามแข่งขันธุรกิจเมื่อข้อมูลต่าง ๆ นำมาวิเคราะห์และวางแผนแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เล่นหรือพนักงานจะต้องเข้าใจและร่วมมือกันปฏิบัติตามแผนการจึงจะมีโอกาสคว้าชัยชนะได้ หากต้องเจอกับปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในอย่างเช่น พนักงานโดนซื้อตัวไป อุปกรณ์เครื่องมือชำรุด หรือขาดความทันสมัย ปัญหาสภาพการเงินขาดความคล่องตัว

ส่วนปัญหาภายนอกก็คือ การโดนคู่แข่งขันปรับกลยุทธ์ดึงลูกค้า ผลิตสินค่าใหม่ ๆ ที่โดนใจลูกค้ามากกว่า บริการที่จูงใจลูกค้ามากกว่า การประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงลูกค้า ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยแปรผันที่เข้ามามีส่วนสร้างเปอร์เซ็นต์ในการแพ้ชนะตามที่ผมเกริ่นไว้ข้างต้น

          ทางออกที่ดีก็คือการสังเกตการณ์ เจาะลึก หรือเก็บรายละเอียดความเคลื่อนไหวของคู่แข่งขันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยต้องทราบว่าเขาทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และขณะเดียวกันก็ต้องเร่งตัวเองด้วยการแก้ไขจุดอ่อน สร้างจุดแข็ง ให้พร้อมรบในสมรภูมิธุรกิจ

จรรยาบรรณทางธุรกิจ และการสเก๊าติ้ง
          สิ่งสำคัญมาก ๆ ที่ต้องไม่ลืมและยึดเป็นกฎเหล็กขององค์กรในการสเก๊าติ้งคู่แข่งขันก็คือ จรรยาบรรณของนักธุรกิจ การแข่งขันที่ชัดเจนย่อมนำสิ่งที่ภาคภูมิใจมาสู่องค์กร การเจาะข้อมูลคู่ต่อสู้ด้วยการจารกรรมข้อมูล หรือการให้ร้ายป้ายสี นำเรื่องในมุมลบไปใส่ให้คู่แข่งขันถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณทางธุรกิจอย่างรุนแรง และหากมีการฟ้องร้องพบว่าองค์กรใดกระทำผิดต่อคู่แข่งขันก็ย่อมโดนฟ้องร้อง เป็นภาพลบต่อองค์กร และความผิดอาจถึงขั้นโดนสั่งปิดบริษัทได้

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินข่าวการแข่งขันขององค์กรที่ผลิตหรือมีบริการอยู่ในสายเดียวกัน อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องดื่มชูกำลัง ชุดกีฬา การแข่งขันที่แสดงส่วนดีเด่น ความน่าใช้ของสินค้าในโอกาสที่เหมาะสม เป็นภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ดังนั้นหากแต่ละองค์กรมีการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีภายใต้จรรยาบรรณทางธุรกิจก็จะเป็นอีกแรงเสริมให้คู่ต่อสู้ต้องหวั่นเกรง และเป็นช่วงที่ได้เปรียบ

บางครั้งการร่วมมือกันเพื่อกิจกรรมที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ขององค์กรที่เป็นคู่แข่งขันกันก็เกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันตลอดเวลา อย่างเช่น การจัดคอนเสิร์ตรวมศิลปินของแต่ละบริษัทค่ายเพลง การนำผลิตภัณฑ์ของแต่ละผู้ผลิตมาห่อรวมกันเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ บางทีสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้และสะท้อนกลับเป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรที่หันหน้ามาร่วมมือกัน ไม่จำเป็นจะต้องแข่งขันกันทุกครั้ง

          บางครั้งการสเก๊าติ้งก็เกิดปัญหาเพราะมีการละเมิด หรือการปิดกั้นเกินขอบเขต ผมขอยกตัวอย่างการสเก๊าติ้งของเกมฟุตบอลนัดหนึ่ง ทีมงานสเก๊าติ้งของทีมคู่แข่งขันซึ่งจะต้องแข่งขันกับทั้งสองทีมที่กำลังแข่งขันอยู่ ในระหว่างที่มีการจดบันทึก และการบันทึกภาพวิดีโออยู่นั้น มีกองเชียร์ของทีมคู่แข่งขันเห็นและรวมตัวกันเข้ามาทำร้ายทีมงานสเก๊าติ้ง พร้อมกันกับยึดสิ่งที่นำมาบันทึก เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นเรื่องทะเลาะวิวาท และเป็นการทำร้ายร่างกาย

ถามว่าข้อสรุปเป็นอย่างไรก็สรุปว่านี่คือการละเมิดกฎของกองเชียร์ทีมที่แข่งขันอยู่ เพราะตามระเบียบไม่ได้ห้ามให้ทีมคู่แข่งขันมาสังเกตการณ์ และบันทึกภาพ และยังถือเป็นการพัฒนาการแข่งขันแบบชัดเจน หากทีมใดนำข้อมูลไปและปรับปรุงทีมได้ วางแผน และทำการแข่งขันในกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างดี ย่อมมีโอกาสชนะ ชนะด้วยการแข่งขันในเกม เป็นกีฬาที่ไม่ซ่อนเร้น จึงทำได้ แต่หากมีกองเชียร์ที่ไม่เข้าใจเรื่องการสเก๊าติ้ง (บางคนเรียกหน่วยสอดแนม ซึ่งมีความหมายในทางลบของคู่แข่งขัน) ก็จะก่อให้เกิดปัญหานี้ และจะไม่มีการพัฒนา

          ในการแข่งขันทางธุรกิจก็เช่นกันการเปิดเผยสิ่งที่ทำไม่ว่าจะเป็นการแถลงข่าว การโฆษณาต่าง ๆ เหล่านี้คือการเปิดเผยที่ชัดเจน ส่วนการวางแผนซึ่งเป็นเรื่องภายในองค์กรก็ย่อมต้องเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละองค์กร การจารกรรมข้อมูล จึงเป็นเรื่องขาดจรรยาบรรณ และการสเก๊าติ้งที่ดีก็ย่อมต้องรักษาจรรยาบรรณทางธุรกิจเช่นกัน สู้กันแบบแฟร์ ๆ ซัดกันต่อหน้าวางแผนด้วยข้อมูล ทีมงานสเก๊าติ้งใครเก่งก็เก็บข้อมูลได้ดี ส่วนจะสำเร็จแค่ไหนก็ยังต้องมีทีมเบื้องหลังที่รับข้อมูลไปสานต่อในการวางแผนและเตรียมพร้อมเพื่อเตรียมรับมือกับคู่แข่งขันต่อไป

          ... วันนี้องค์กรของคุณมีทีมงานสเก๊าติ้งที่พร้อมทำงานหนักแล้วหรือยัง ?

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด