เนื้อหาวันที่ : 2012-03-09 10:14:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 16780 views

แนวปฏิบัติโลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อม (ตอนจบ)

โดยทั่วไปการขนส่งประกอบด้วยผู้ต้องการจัดส่งสินค้าหรือผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้รับสินค้าปลายทาง แต่ความกังวลของผู้จัดส่งสินค้า คือ ความพร้อมของรถที่จะจัดส่ง

โกศล ดีศีลธรรม

การบริหารรถขนส่งเที่ยวเปล่า
          โดยทั่วไปการขนส่งประกอบด้วยผู้ต้องการจัดส่งสินค้าหรือผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้รับสินค้าปลายทาง แต่ความกังวลของผู้จัดส่งสินค้า คือ ความพร้อมของรถที่จะจัดส่ง การขนส่งแบบเร่งด่วนจึงเป็นเรื่องที่จะจัดการอย่างไรให้ขนส่งได้ตามแผนงานด้วยต้นทุนเหมาะสม คุณภาพให้บริการและส่งคืนเอกสารอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งจะคำนึงการใช้รถบรรทุกคุ้มค่าหรือเปล่าว่าต้องบรรทุกครึ่งคันหรือวิ่งเที่ยวเปล่ามากน้อยเพียงใดและจัดสรรเวลาออกรถอย่างไรในชั่วโมงเร่งด่วนโดยเฉพาะพื้นที่รถบรรทุกขากลับที่ส่วนใหญ่ยังวิ่งรถเที่ยวเปล่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ถือเป็นประเด็นใหญ่ของต้นทุนขนส่งที่ต้องบริหารจัดการ

แต่เดิมอาจไม่เป็นปัญหาต่อผู้ประกอบการขนส่งมากนัก เพราะราคาน้ำมันยังไม่สูงมาก แต่ผู้ประกอบการขนส่งหลายรายมุ่งให้ความสำคัญที่ความรวดเร็วการขนส่งสินค้าเป็นหลักจึงยอมเสียประโยชน์การวิ่งรถเที่ยวเปล่าเพื่อให้จำนวนเที่ยวขนส่งมากขึ้น ดังนั้นการร่วมมือเป็นพันธมิตรขนส่งถูกมองว่าเป็นการช่วยขยายฐานลูกค้าให้คู่แข่ง อย่างแนวคิดร่วมมือกันให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายและบริหารการใช้งานรถให้เกิดสมดุลระหว่างบริการที่รวดเร็วและการขนส่งเต็มประสิทธิภาพ

ดังกรณีผู้ประกอบการให้บริการขนส่งรายหนึ่งได้บริหารรถเที่ยวเปล่าของบริษัท โดยร่วมมือกับพันธมิตรขนส่งกว่า 100 คัน มาร่วมวิ่งขนส่งในเส้นทางกรุงเทพฯ-ภาคเหนือเพื่อลดจำนวนปริมาณรถวิ่งเที่ยวเปล่าขากลับของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีปริมาณการขนส่งสินค้าจากกรุงเทพไปยังภาคเหนือมากกว่าสินค้าขากลับ

ดังนั้นจึงร่วมมือกับผู้ประกอบการขนส่งที่วิ่งเส้นทางภาคเหนือมายังกรุงเทพ แต่ไม่มีสินค้าขาขึ้นหรือมีปริมาณน้อยให้มาร่วมขนส่งโดยว่าจ้างในราคาที่เหมาะสม ขณะที่พันธมิตรก็มีรายได้จากค่าขนส่งจากเดิมที่ต้องวิ่งเที่ยวเปล่าโดยไม่ได้อะไร ซึ่งเป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย การร่วมมือกับพันธมิตรขนส่ง ช่วยให้บริษัทลดต้นทุนได้จริง เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์จากการวิ่งรถเที่ยวเปล่า อย่างเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันประมาณ 250 ลิตรต่อเที่ยว หากบริษัทต้องวิ่งรถเที่ยวเปล่าเท่ากับว่าต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าจ้างพนักงานขับรถ

นอกจากนี้ใช้กลยุทธ์ประหยัดต้นทุนพลังงาน โดยลดการทำงานซ้ำซ้อนเพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในและใช้รถเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความสำคัญการขนส่งสินค้าเต็มคันทุกเที่ยวมากขึ้นจากเดิมที่เน้นความรวดเร็วแต่บางครั้งไม่ได้บรรทุกสินค้าเต็มคันและเน้นใช้รถขนาดใหญ่ เช่น รถหัวลาก รถบรรทุกสิบล้อวิ่งขนส่งระยะยาวไปยังจุดศูนย์รวมสินค้าแล้วจึงใช้รถขนาดเล็ก กระจายสินค้ารูปแบบ Door to Door ช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น

เพราะรถหัวลากสามารถบรรทุกสินค้าได้ประมาณ 2 เท่าของรถสิบล้อ แต่อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเพียง 1.5 เท่าเป็นการช่วยประหยัดน้ำมันได้ ส่วนเทคโนโลยี GPS สามารถช่วยประหยัดน้ำมันได้ เพราะสามารถป้องกันรถออกนอกเส้นทาง ควบคุมอัตราการวิ่งรถสม่ำเสมอ

การขนส่งภาคอุตสาหกรรมยานยนต์
          เนื่องจากต้นทุนจัดเก็บสต็อกที่ใช้ในการผลิตมีความผันผวนไม่แน่นอนส่งผลให้เกิดต้นทุนสูงขึ้น หากเกิดการขาดวัตถุดิบที่ต้องใช้ในสายการประกอบ ด้วยเหตุนี้ปัจจัยความสำเร็จการผลิตตามคำสั่งซื้อนอกจากวางแผนการผลิตที่ชัดเจนแล้วยังต้องระบุกำหนดการส่งมอบล่วงหน้าเพื่อการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทันและคำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสาเหตุเกิดต้นทุนทางสังคมทั้งในส่วนมลภาวะอากาศเนื่องจากการขนส่งและการประหยัดพลังงาน ผู้ให้บริการโลจิสติกส์จะมีบทบาทสนับสนุนการลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้ผู้ประกอบการที่มีธุรกรรมกับคู่ค้าหลายราย

องค์กรชั้นนำอย่าง Daimler-Chrysler และ Caterpillar จึงได้ว่าจ้างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Provider) หรือ 3PLs โดยพิจารณาคัดเลือกจากความเชี่ยวชาญและเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค รวมทั้งระบบสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ อย่าง คลังสินค้า ระบบสารสนเทศ ระบบขนส่ง และความเชี่ยวชาญของบุคลากร ด้วยเหตุนี้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนความสำเร็จกลยุทธ์โลจิสติกส์ องค์กรผู้ว่าจ้างจึงต้องให้ความสำคัญและพิจารณาคัดเลือกอย่างรอบครอบ

ผู้ให้บริการอย่าง Logicom (LC) มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองฮิโรชิมาได้จัดตั้งจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Cross Dock) บริเวณโรงงานประกอบรถยนต์ทั่วประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้บริการรวบรวมชิ้นส่วนจากผู้ผลิตรายย่อย และขนส่งชิ้นส่วนด้วยรถบรรทุกด้วยระบบ Milk Run ทำให้ Logicom สามารถให้บริการส่งมอบชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับโรงงานประกอบรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถรับส่งชิ้นส่วนจากผู้ผลิตรายย่อยในพื้นที่บริเวณ Cross Dock ตามกำหนดการ

ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตรถชั้นนำอย่าง Mazda, Mitsubishi และ Nissan ได้ว่าจ้าง Logicom ให้เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ โดยจะคิดค่าบริการจากโรงงานประกอบรถยนต์ (Car Assembler) เมื่อดำเนินการรับชิ้นส่วนจากผู้ส่งมอบและจัดส่งให้สายการประกอบรถตามกำหนดการผลิต

เครือข่ายผู้ให้บริการโลจิสติกส์จัดส่งชิ้นส่วน

          สำหรับการนำระบบ Milk Run มาใช้เป็นการกำหนดรูปแบบบริหารการจัดส่งโดยผู้ผลิตหลักเองเพื่อมุ่งจัดการเรื่องต้นทุนสินค้าคงคลังและกิจกรรมการผลิต รวมถึงความสามารถการจัดส่งของผู้ส่งมอบ โดยกำหนดให้รถบรรทุกวิ่งรับสินค้าจากผู้ส่งมอบแล้วนำมาส่งให้กับโรงงานผลิตให้ตรงตามเวลาภายในวันเดียวกัน รถบรรทุกจะถูกกำหนดให้ไปรับชิ้นส่วนจากผู้ส่งมอบทุกรายและจัดส่งมาที่โรงงานมากกว่าวันละ 1 เที่ยว

การจัดระบบ Milk Run ให้มีประสิทธิภาพจะต้องจัดตารางเวลาและเส้นทางให้รถบรรทุกวิ่งรับสินค้าแบบวงแหวนแล้วจัดลำดับว่ารถบรรทุกจะไปรับสินค้าจากผู้ส่งมอบรายใดก่อน แต่การจัดตารางเวลาและเส้นทางเดินรถแบบที่ว่านี้จะทำให้เกิดการทำงานได้อย่างยืดหยุ่นอย่างเช่น เมื่อรถบรรทุกที่วิ่งรับสินค้าตามเส้นทางวงในเกิดเหตุขัดข้องก็จะสามารถให้รถบรรทุกที่วิ่งอยู่วงนอกเข้ามารับสินค้าแทนได้

หลักการ Milk Run ใช้ได้ดีกับผู้ส่งมอบระดับท้องถิ่น (Local Supplier) เส้นทาง Milk Run ท้องถิ่นสามารถรวมผู้จัดส่งชิ้นส่วนซึ่งเป็นผู้ดูแลคลังสินค้าท้องถิ่นที่อยู่ไกลไว้ด้วยกัน กลุ่มผู้จัดส่งชิ้นส่วนที่อยู่ต่างถิ่นสามารถใช้บริการเส้นทาง Milk Run ได้เช่นกัน ซึ่งมีจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าและศูนย์รวบรวมสินค้า (Consolidation Center) เป็นจุดเชื่อมต่อกับการขนส่งระยะไกล (Long-Haul) โดยใช้รูปแบบขนส่งทางรถไฟหรือทางเรือ

ห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมยานยนต์

          กรณีโตโยต้าได้ใช้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อรวบรวมชิ้นส่วนจากผู้ส่งมอบที่ตั้งโรงงานบริเวณโตโยต้าซิตี้ (Toyota City) และส่งมอบชิ้นส่วนไปยังโรงงานประกอบรถยนต์ บริษัทโตโยต้า เริ่มใช้ระบบ Milk Run อย่างแพร่หลายในแถบอเมริกาและภาคพื้นยุโรปเพื่อสนับสนุนระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี

ตำแหน่งโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าในญี่ปุ่นหลายแห่งตั้งอยู่บริเวณใกล้กันเพื่อสะดวกในการรับส่งชิ้นส่วนจากผู้ผลิตย่อยรายเดียวในการส่งมอบให้กับโรงงานในเครือหรือเรียกว่า “Milk runs from a single supplier to many plants” ทางโตโยต้าใช้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อรวบรวมชิ้นส่วนจากผู้ส่งมอบที่ตั้งโรงงานบริเวณโตโยต้าซิตี้และส่งมอบชิ้นส่วนไปยังโรงงานประกอบรถยนต์

แต่โรงงานโตโยต้าในสหรัฐอเมริกาใช้หลักการรับของจากผู้ผลิตย่อยหลายรายและส่งมอบชิ้นงานให้กับโรงงานที่ตั้งใน Kentucky โตโยต้าได้จัดกลุ่มผู้ผลิตซึ่งมีที่ตั้งบริเวณเดียวกันและใช้รถตระเวนรับจากผู้ผลิตชิ้นส่วน ทำให้เกิดการเพิ่มความสามารถบรรทุก

ตำแหน่งที่ตั้งโรงงานโตโยต้าและเส้นทางจัดส่งชิ้นส่วน

          เนื่องจากระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) มุ่งให้งานเกิดการไหลต่อเนื่อง ทำให้การออกแบบเครือข่ายโลจิสติกส์ขาเข้าใช้ระบบดึงที่ตอบสนองตามความต้องการใช้งาน โดยเฉพาะการจัดส่งชิ้นงานตามรอบเวลากระบวนการหรือกำหนดการผลิต ทำให้ต้องจัดส่งของตรงตามกำหนดการผลิตที่สอดคล้องกับแนวคิดปรับเรียบการผลิต (Heijunka) เช่น เวลาการรับส่งของกำหนดสองกะ (16ชั่วโมง) โดยระบุให้ผู้ส่งมอบดำเนินการจัดส่งวัตถุดิบ 8 ครั้งในช่วงกะทำงาน นั่นคือ ผู้ส่งมอบต้องจัดส่งวัตถุดิบเพื่อป้อนให้กับโรงงานทุกสองชั่วโมง

ส่วนทางโรงงานจะต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกสนับสนุนอย่างพื้นที่จัดวาง อุปกรณ์ขนถ่ายและจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ด้วยเหตุนี้ระบบ Milk Run จึงมีบทบาทสนับสนุนการสั่งซื้อแบบรุ่นเล็กที่มีความถี่ส่งมอบบ่อยครั้งแทนรูปแบบเดิมที่ส่งมอบคราวเดียวในปริมาณมาก รวมทั้งมลพิษอากาศที่เกิดจากปฏิกิริยาเผาไหม้ซึ่งปล่อยสู่บรรยากาศลดลงและช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อน ทำให้จุดรับสินค้าสามารถจัดแบ่งภาระงานที่เหมาะสม

สำหรับบริษัทโตโยต้า ประเทศไทย มีสัดส่วนการใช้ Milk Run Supplier ที่ 65% โดยมุ่งให้ผู้ส่งมอบชิ้นส่วนทุกรายเป็นระบบ Milk Run ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถตอบสนองให้กับลูกค้าอย่างรวดเร็ว ปัจจัยความสำเร็จของโตโยต้าในการนำระบบ Milk Run มาใช้ ประกอบด้วย

          1) บุคลากร โดยเฉพาะการจัดเตรียมบุคลากรเพื่อจัดส่งแบบ Milk Run จำแนกได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนวางแผนและปฏิบัติการ ทั้งสองกลุ่มนี้มีรูปแบบการทำงานต่างกัน แต่จะมีการสื่อสารถึงกันอยู่เสมอ

          2) บรรจุภัณฑ์ โดยทั่วไปผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละรายจะใช้ประเภทและขนาดบรรจุภัณฑ์ต่างกัน ทำให้เกิดช่องว่างการขนส่งและส่งผลให้เกิดความสูญเสียระหว่างการขนส่ง ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว โตโยต้าจึงกำหนดมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ เรียกว่า TP-BOX (Toyota Poly Box) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่กำหนดความกว้าง-ยาวที่มีขนาดพอเหมาะกับชิ้นงาน  สามารถวางซ้อนทับกันได้หลากหลายรูปแบบและปรับความสูง ได้ง่าย ทางโตโยต้าจะจัดส่งบรรจุภัณฑ์นี้ไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วน แล้วผู้ผลิตชิ้นส่วนจะนำบรรจุภัณฑ์นี้กลับมาให้โตโยต้าอีกครั้งเมื่อมาส่งชิ้นส่วน

          3) เทคโนโลยีสนับสนุนการขนส่งแบบ Milk Run โดยนำเทคโนโลยีและระบบสนับสนุนอย่าง ระบบ EDI (Electronic Data Interchange) เพื่อส่งถ่ายข้อมูลระหว่างโรงงานกับผู้ส่งมอบชิ้นส่วน แต่ละรายเข้ามาใช้สั่งซื้อสินค้าไปยังผู้จัดส่ง ทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำและรวดรวดเร็ว ระบบเหล่านี้จะมีการเชื่อมโยงกัน

มาตรฐานบรรจุภัณฑ์

          นอกจากนี้โตโยต้าได้ส่งเสริมกิจกรรมลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนการผลิตและงานขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งมีการปรับเปลี่ยนหลายเส้นทางให้สั้นลง เช่น การดำเนินการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการขนส่งในพื้นที่ภาคอีสานเพื่อย่นระยะทางขนส่งได้ 35,222 กิโลเมตรต่อเดือน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ 27.8 ตันต่อเดือน

          ส่วนระบบขนส่งภายในประเทศ โตโยต้าได้พัฒนาระบบ Vehicles Logistics เป็นคลัสเตอร์ดีลิเวอรี่ กล่าวคือ เดิมใช้รถบรรทุก 1 คัน ขนรถยนต์ได้ 3 คันใหญ่ 6 คันเล็ก ปัจจุบันสามารถใช้รถบรรทุก 1 คัน ขนรถยนต์  4 คันใหญ่ 8 คันเล็ก แต่ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่สามารถขนได้ 12 คันเล็ก สามารถช่วยลดการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้า เท่ากับเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์และรักษาสิ่งแวดล้อมระยะยาว

โดยโตโยต้าได้พยายามถ่ายทอดเทคโนโลยีโลจิสติกส์ให้พันธมิตรกลุ่มผู้ส่งมอบและดีลเลอร์ เพื่อให้ทั้งระบบของโตโยต้าดำเนินแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้หลายบริษัทได้ทยอยนำรถบรรทุกที่มีอยู่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี การใช้เอ็นจีวีแทนน้ำมันจึงน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและหยัดต้นทุน

การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนระบบ Milk Run

ศูนย์กระจายสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
          ศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัส อ.สามโคก จ.ปทุมธานี มีพื้นที่ 25,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 935 ล้านบาท พนักงาน 750 คน มุ่งกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคแห้งและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารกว่า 25,000 รายการไปยังห้างเทสโก้ โลตัส ขนาดใหญ่และร้านคุ้มค่าจำนวน 118 สาขาทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว สามารถจัดส่งสินค้าได้กว่า 2 ล้านลังต่อสัปดาห์ไปยังจุดหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและจัดส่งสินค้าสูงสุด 2.6 ล้านลังต่อสัปดาห์ รองรับสาขาขนาดใหญ่ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาด 4,000 ตารางเมตรขึ้นไปได้ทั้งหมด 140 สาขา ถ้ามากกว่านี้ต้องขยายพื้นที่ศูนย์ไปยังที่ดินด้านหลัง สามารถเพิ่มพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ตารางเมตร

ความโดดเด่นของศูนย์นี้ คือ การใช้นวัตกรรมใหม่ในการก่อสร้างและออกแบบหลังคามีความสูง 14 เมตร เพื่อลดความร้อน อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา มีกระจกที่หลังคาให้แสงผ่าน แต่ไม่ให้ความร้อนผ่าน ต่างจากศูนย์กระจายแห่งอื่นที่ใช้กระจกธรรมดา ที่หลังคายังมีช่องพัดลมดูดอากาศร้อนออกไปด้วย มีการติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่ใต้เพดานหลายจุดเพื่อระบายความร้อน

เนื่องจากศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์กระจายสินค้าแบบ Cross Dock สินค้าที่คู่ค้าส่งมอบ พนักงานจะมีการคัดแยกสินค้าส่งไปแต่ละสาขาของเทสโก้ โลตัส ภายใน 12 ชั่วโมง สภาพของอากาศภายในศูนย์ที่ดีจะเอื้อต่อประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น เพราะแต่ละวันพนักงานจะเคลื่อนย้ายสินค้าถึง 3 แสนลัง จากการทำงาน 3 กะ/วัน

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งหลอดไฟ ประหยัดพลังงานในระดับความสูง 5 เมตร ความสูงระยะดังกล่าวพอเหมาะต่อการทำงานมาก รถยกสินค้าใช้แบตเตอรี่ทั้งหมด การติดตั้งแผงพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มาผลิตน้ำร้อนใช้ในศูนย์ และระบบหมุนเวียนนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับศูนย์กระจายสินค้าเดิมที่ทำหน้าที่เดียวกัน การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนดังกล่าว ไม่รวมถึงการที่คู่ค้าจำนวน 3,000 ราย นำสินค้ามาส่งที่ศูนย์แห่งนี้แล้วกระจายไปยังสาขาของเทสโก้ โลตัส ด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่เหลือเพียงวันละ 150 คัน หากใช้ระบบเก่าดั้งเดิมที่ให้คู่ค้าส่งตรงกับ 118 สาขา จะมีจำนวนถึง 63,720 เที่ยว/วัน

          สำหรับศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด ลำลูกกา ทางเทสโก้ โลตัส ลงทุนมูลค่า 1.6 พันล้านบาท เพื่อให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าทันสมัยในภูมิภาคเอเชีย โดยใช้เทคโนโลยีอันช่วยควบคุมคุณภาพอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 32% ต่อตารางเมตร ศูนย์กระจายสินค้าอาหารสดมาตรฐานระดับโลกแห่งนี้ สามารถจัดเก็บและกระจายอาหารสดจำนวน 230,000 ลังต่อวันจากคู่ค้า 450 ราย ตลอด 24 ชั่วโมงใน 365 วันต่อปี เพื่อมอบบริการที่ดีสำหรับลูกค้ากว่า 34 ล้านคนต่อเดือนของเทสโก้ โลตัสกว่า 700 สาขาทั่วประเทศ เพื่อคุณภาพอาหารสดใหม่สำหรับลูกค้า

โดยมีพื้นที่ใช้สอย 39,000 ตารางเมตร บนที่ดินกว่า 83 ไร่ ได้รับการพัฒนาการออกแบบและก่อสร้างภายใต้หลักปฏิบัติดีที่สุดของเทสโก้ คือ"ดีที่สุดสำหรับลูกค้า ดีที่สุดสำหรับสิ่งแวดล้อม" ศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด แบ่งโซนการจัดเก็บที่มีอุณหภูมิในการเก็บรักษาที่แตกต่างกันถึง 4 ระดับ คือ 20 องศา, 12 องศา, 1 องศาและ -21 องศา เพื่อให้สินค้าอาหารทุกประเภทถูกจัดเก็บในระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยใช้วัสดุและติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศลง 32% ต่อตารางเมตร

ระบบได้รับการออกแบบให้สามารถลดจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างยั่งยืนและลงทุน 65 ล้านบาทใน 20 รายการประหยัดพลังงาน อาทิ ช่องรับและส่งสินค้าเข้าศูนย์แบบใหม่ที่คงอุณหภูมิในห้องเย็นของรถบรรทุกทุกขนาด พื้นปูด้วยวัสดุที่เป็นฉนวน พิเศษ น้ำยาแอมโมเนียสำหรับทำความเย็น ระบบทำความเย็น ระบบ LED ไฟและแสงสว่างที่ช่วยประหยัดพลังงาน ทั้งหมดนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1,600 ตันต่อปี ศูนย์กระจายสินค้าอาหารสดลำลูกกา สามารถเก็บและกระจายอาหารสดให้กับสาขาของเทสโก้ โลตัสได้ในทุกรูปแบบ

สำหรับสินค้าอื่นที่ไม่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เช่น อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่อาหารสดจะมีการจัดเก็บและกระจายโดยศูนย์กระจายสินค้าที่วังน้อย จังหวัดอยุธยา ศูนย์กระจายสินค้าบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และศูนย์กระจายสินค้าสามโคก จังหวัดปทุมธานี ระบบกระจายสินค้าจากส่วนกลางจะช่วยให้สามารถลดจำนวนเที่ยวการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิผล

ศูนย์กระจายสินค้าอาหารสดที่ลำลูกกาจะช่วยเสริมเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้าในการให้บริการลูกค้าได้รับของที่มีคุณภาพสดใหม่ ราคาประหยัด ด้วยระบบการควบคุมอุณหภูมิอันล้ำหน้าและประสิทธิภาพสูงสุด การออกแบบศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้ยังคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดในการทำงานสำหรับพนักงานและทุกคนที่เข้ามาในศูนย์กระจายสินค้า

เทคโนโลยีสำหรับการขนส่งสีเขียว
          แนวคิดการขนส่งสีเขียว (Green Transport) คือ การบริหารจัดการเลือกใช้เทคโนโลยีขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงาน ลดการใช้พลังงาน ลดมลพิษที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ลดการปลดปล่อยความร้อนและก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน (Climate Change)

ดังนั้นการขนส่งสีเขียวก่อให้มีความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Technology) และพลังงานสะอาดเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการยานพาหนะและรูปแบบการเดินทางหรือขนส่งสินค้าทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ

การบริหารระบบขนส่งที่สนับสนุนแนวคิดการขนส่งสีเขียว คือ ระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System) เป็นการใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารระบบขนส่งและจราจรให้มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบรายงานสภาพจราจรแบบเวลาจริงแบบ (Real Time) ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Toll Collection System) ระบบออกตั๋วอัตโนมัติ (Ticketing Machines) และระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรแต่ละทางแยกที่สามารถปรับตั้งค่าได้ โดยหลังจากที่ติดตั้งระบบตรวจจับ (Sensor) ตามจุดต่าง ๆ แล้วจะมีการเชื่อมต่อกับระบบควบคุมทางแยกแต่ละแห่ง

โดยเซนเซอร์แต่ละตัวจะมีความสามารถตรวจจับยานพาหนะและเก็บรวบ รวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้ควบคุมและสั่งการการจราจรไม่ว่าจะเป็นจำนวนรถ ความยาวแถวรถที่คอยแต่ละทางแยก ความคับคั่ง อัตราการใช้พื้นที่และช่วงห่างระหว่างรถ เป็นต้น เทคโนโลยีระบบ ITS เหล่านี้หากได้รับการบูรณาการอย่างเหมาะสมแล้วจะสอดคล้องกับแนวคิดการขนส่งสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการจราจรติดขัด เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และความปลอดภัย

โดยทั่วไปการขนส่งสีเขียวจะปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันเบนซินและดีเซลเป็นพลังงานทดแทนที่มีปริมาณมลพิษน้อยกว่าหรือพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) ก๊าซไฮโดรเจน รถยนต์ที่ใช้ไบโอดีเซล รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และรถยนต์ที่ใช้พลังงานร่วม (Hybrid)

นอกจากการปรับเปลี่ยนตัวเครื่องยนต์แล้วยังปรับปรุงเปลี่ยนแปลงส่วนอื่นของระบบรถยนต์ เช่น ตัวถังรถยนต์ที่ลดแรงเสียดทาน ยางรถยนต์ที่มีความต้านทานการหมุนต่ำ (Low Rolling Resistance Tires) นำระบบช่วยนำทาง(Car Navigator)และอุปกรณ์ระบบ GPS (Global Positioning System) ที่เป็นระบบ ITS มาติดตั้ง เพื่อให้ระบบรถยนต์ประหยัดเชื้อเพลิงและปลดปล่อยของเสียหรือมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 

สำหรับประเทศอังกฤษได้พัฒนารถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าที่มีสมรรถนะเท่าเทียมกับรถดีเซล ขณะที่สามารถลดมลพิษการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษไอเสียรถยนต์ได้ 100% ณ จุดใช้รถยนต์ ด้วยต้นทุนเพียง 9 ยูโรเซนต์ต่อไมล์สำหรับค่าไฟฟ้า ช่วยประหยัดพลังงานได้มาก รถบรรทุกขนาด 7.5 ตันสามารถวิ่งความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งได้ 210 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้ง ช่วยให้คุณภาพอากาศในเมืองดีขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉลี่ยต้นทุนการใช้งานรถปลอดมลพิษอยู่ที่ 50 ยูโรต่อสัปดาห์

ขณะที่รถดีเซลต้องเสียค่าน้ำมัน 300 ยูโรต่อสัปดาห์ รถไฟฟ้าได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใช้รถยนต์ในที่จราจรคับคั่งในกรุงลอนดอนประมาณ 2,225 ยูโรต่อปี และได้รับยกเว้นภาษีการใช้ถนนในประเทศอังกฤษ ขับเคลื่อนโดยแบตเตอรี่โซเดียมนิกเกิลคลอไรด์ขนาด 278 โวลต์สี่ตัวที่ติดตั้งอยู่ใต้ท้องรถ รถไฟฟ้าแต่ละคันจะใช้เวลาชาร์จตั้งแต่แบตเตอรี่เปล่าจนเต็มเป็นเวลาแปดชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติเสริมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ที่มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษและสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด โดยเพิ่มความสามารถบรรทุกขึ้นเป็น 4,000 กิโลกรัม อย่างกรณี บริษัท ทีเอ็นที ได้ทดลองรถยนต์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเชื้อเพลิงชีวภาพไบโอแก๊สหรือไฮโดรเจนในหลายประเทศและพัฒนาขบวนรถบรรทุกเพื่อการขนส่งรุ่นใหม่จำนวนกว่า 100 คัน พร้อมเปิดให้บริการในประเทศอังกฤษ จีน และออสเตรเลีย ช่วยลดปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศโลก ทีเอ็นที เอ็กซเพรส และบริษัทรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสมิธ (Smith Electric Vehicles) ร่วมเปิดตัวขบวนรถบรรทุกเพื่อการขนส่งพลังงานไฟฟ้าปลอดมลพิษขบวนใหญ่ที่สุดในโลก ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่

ทั้งนี้รถบรรทุกขนส่งขนาด 7.5 ตันของจะช่วยลดปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศอังกฤษมากถึง 1,299,000 กิโลกรัมต่อปี รถบรรทุกจำนวน 50 คันแรก จะเปิดให้บริการขนส่งจากที่ตั้งของทีเอ็นทีในกรุงลอนดอน เบซิลดอน เบอร์มิงแฮม แบรดฟอร์ด บริสตอล เดอร์แฮม เอดินเบิร์ก เอ็นฟิลด์ กลาสโกว์ ลีดส์ เลสเตอร์ ลูตัน นอร์ธแฮมป์ตัน ออกฟอร์ด เพสลี เพรสตัน และวูลฟ์แฮมป์ตัน การร่วมมือกับบริษัท Smith Electric Vehicles ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยทำการศึกษาเพื่อที่จะใช้รถพลังงานไฟฟ้าในเมืองใหญ่ทั่วทวีปยุโรป

ส่วนประเทศจีน ทีเอ็นทีได้ร่วมกับบริษัทตงเฟิงมอเตอร์(Dong Feng Motor)ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในจีน รวมทั้งเป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เริ่มทดลองใช้รถตู้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สองคันสำหรับขนส่งสินค้าในเมืองวูฮาน เมืองหลวงมณฑลหูเป่ย โดยใช้รถตู้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนักเบาจำนวนสองคันที่ได้รับการออกแบบ ผลิต และประกอบในเมืองวูฮานโดยบริษัทตงเฟิงมอเตอร์

นับเป็นการทดลองรถปลอดมลพิษครั้งแรกนอกทวีปยุโรปของทีเอ็นที โดยรถตู้สามารถวิ่งได้ที่ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (50 ไมล์ต่อชั่วโมง) และวิ่งได้เป็นระยะทาง 160-200 กิโลเมตร (100-124ไมล์) สามารถบรรทุกน้ำหนักได้หนึ่งตัน ทีเอ็นที เอ็กซเพรส ประเทศออสเตรเลียได้เริ่มใช้งานรถบรรทุกไฮบริดฮีโน่จำนวน 10 คัน นับเป็นธุรกิจแรกในประเทศออสเตรเลียที่เริ่มใช้งานรถบรรทุกไฟฟ้า-ดีเซลไฮบริดแทนที่รถพลังงานน้ำมัน

ทั้งนี้รถบรรทุกรุ่นใหม่ของทีเอ็นทีจะช่วยลดสภาวะเรือนกระจกและลดปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ลงประมาณ 1,600 กิโลกรัมต่อปี โดยรถหนึ่งคันสามารถลดการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 14 และลดสารไนตรัสออกไซด์ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับรถบรรทุกดีเซลทั่วไปที่มีขนาดเท่ากัน ทัพขนส่งสีเขียวดังกล่าวสนับสนุนให้ทีเอ็นทีสามารถบรรลุสู่การเป็นบริษัทจัดส่งพัสดุและไปรษณีย์รายแรกที่ไม่ปล่อยมลพิษ รวมทั้งปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อลดการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อาทิ สำนักงานและศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงระบบการคัดแยกสินค้าและยานพาหนะสีเขียวที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ทีเอ็นทีเป็นผู้นำดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Index) ด้วยคะแนน 91 จากคะแนนเต็ม 100 เป็นคะแนนสูงสุดที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ดาวโจนส์เคยทำได้

โครงการโลจิสติกส์เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
          ทางบริษัท เครือ ซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ได้เตรียมความพร้อมตามนโยบายที่มุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ทำให้การดำเนินธุรกิจของ SCG มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบทุกขั้นตอนและควบคุมกระบวนการผลิตให้ดีกว่ามาตรฐานที่หน่วยงานรัฐกำหนด สำหรับการพัฒนาด้านกรีนโลจิสติกส์เริ่มต้นจากการจัดการโลจิสติกส์ การจัดการพลังงานทางเลือก และการปรับปรุงเทคโนโลยีให้เหมาะกับงาน

การดำเนินการลดการใช้ทรัพยากรของ SCG ที่ผ่านมาจะใช้พาหนะที่ใช้น้ำมันน้อย เช่น รถไฟหรือเรือในการขนส่งร่วมกับรถบรรทุก ส่วนใหญ่จะใช้รถบรรทุก 18 ล้อที่บรรทุกครั้งละ 30 ตัน การใช้รถไฟ 1 ขบวนจะบรรทุกได้ 900 ตัน ประหยัดน้ำมัน 1.49 ลิตร/ตัน โดยมีการบริหารให้รถบรรทุกขนสินค้าทั้งขาไปและกลับ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมัน

SCG มีวัตถุดิบและสินค้าที่ต้องขนส่งปีละ 30 ล้านตัน ต้องใช้รถวิ่งวันละ 5,000-6,000 เที่ยว ต้องวางแผนตั้งเป้าใช้รถไฟให้มากขึ้น ทำให้ต้องบริหารจัดส่งสินค้าโดยรวบรวมสินค้าของลูกค้าหลายราย (Consolidate Management) ไปรวม ณ ศูนย์กระจายสินค้าก่อนรวมเที่ยวส่งสินค้าไปยังปลายทาง โดยใช้แนวคิดการรวบรวมและกระจายสินค้า (Hub & Spoke) ที่ใช้การขนส่งทางถนนเป็น Feeder โดยใช้รถไฟเป็นหลักในการขนส่งสินค้าระยะไกล 

รวมทั้งแนวคิด Cross Docking ทำให้จำนวนรถที่ใช้ลดลง โดยรถบรรทุกสามารถทำรอบขนส่งได้มากขึ้น ลดการใช้พลังงานและค่าขนส่งลดลง โดยเฉพาะการรับขนส่งสินค้าให้บริษัทนอกเครือ SCG ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท หากรวมมูลค่าสินค้าบริษัทในเครือด้วยไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ประหยัดได้ 5%

แนวคิดการรวบรวมและกระจายสินค้า (Hub & Spoke)

          สำหรับการบริหารการใช้พลังงานทางเลือกทาง SCG กำลังศึกษาการใช้ NGV และเริ่มเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขยายตัวของสถานีบริการ NGV ส่วนการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงใช้ในงานให้เหมาะสม เช่น การใช้ GPS ตรวจสอบการวิ่งของรถบรรทุกหนัก ห้ามวิ่งเกิน 60 ก.ม./ช.ม.และห้ามออกนอกเส้นทางเดินรถ สามารถประหยัดน้ำมันได้มาก

เนื่องจากการใช้เทคโนโลยี RFID ยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากราคาต่อชิ้นสูง แต่ SCG นำมาติดกับรถบรรทุกวิ่งเข้าเหมืองถ่านหิน เหมืองหินปูน เพื่อป้อนเข้าโรงงาน เพื่อเก็บข้อมูลรับจ่าย ไม่ต้องเสียเวลาทำเอกสารและลดเวลารอคอยรับสินค้าจากโรงงาน ผลการดำเนินการที่ผ่านมาทาง SCG สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้กว่า 3,200  ตัน เท่ากับปลูกต้นไม้ได้ 1 แสนกว่าต้นต่อปี

แผนการปฏิบัติสู่ความยั่งยืน 
          สำหรับกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ประกาศ “แผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน” หวังกระตุ้นผู้บริโภคให้ร่วมกัน “เปลี่ยนพฤติกรรมคนละนิด เพื่อสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่” เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ยูนิลีเวอร์ได้เริ่มปรับกระบวนการตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต จนถึงการบริโภคและการจัดการของเสียหรือของเหลือใช้ โดยนำร่องแผนโลจิสติกส์ ลดขยะบรรจุภัณฑ์ ผู้บริหารกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า

 ได้ประกาศแผนการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวนโยบายของยูนิลีเวอร์ทั่วโลกและเริ่มแผนปฏิบัติการอย่างเป็นทางการในประเทศไทยภายใต้แผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน เริ่มจากกลุ่มโลจิสติกส์และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์ของบริษัทตามเป้าหมายในปี พ.ศ.2563 แผนการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของยูนิลีเวอร์ ประกาศใช้ทั่วโลกมีเป้าหมายสำคัญกว่า 50 เรื่อง ด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม 

เห็นได้จากการที่ตราสินค้าต่าง ๆ ของยูนิลีเวอร์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณน้ำและของเสีย ตลอดกระบวนการ คือ ไม่ได้ทำเฉพาะแต่ละกิจกรรมของบริษัทเท่านั้น แต่ยังได้จัดโครงการที่คู่ค้าหรือผู้ส่งมอบวัตถุดิบและผู้บริโภคช่วยกันลดปัญหา โดยเฉพาะการเปลี่ยนวิธีจัดหาวัตถุดิบของยูนิลีเวอร์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยความร่วมมือกับผู้ค้าปลีกในการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่ง ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม การขยายตลาด และการประหยัดต้นทุน เพื่อนำแผนระดับโลกมาปฏิบัติในประเทศไทยให้เกิดผล

อาทิ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ซักผ้าสูตรเข้มข้น เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคลดการใช้น้ำในการซักล้าง รวมถึงนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดปริมาณกระดาษเหลือใช้ และการนำตู้แช่ไอศกรีมแบบใหม่ซึ่งใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเหล่านี้ของทุกคนจะรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ยูนิลีเวอร์ได้มีการศึกษาและเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดกระบวนการห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท อาทิ บริษัท ใช้กล่องกระดาษปีละกว่า 2,000,000 ใบเพื่อขนส่งสินค้าไปยังร้านค้ากว่า 200,000 แห่งทั่วประเทศ เท่ากับการใช้เยื่อกระดาษและกระดาษจากต้นไม้มากถึง 100,000 ต้นต่อปี ตั้งแต่ปี 2554 ยูนิลีเวอร์จะใช้นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ล่าสุดที่สามารถปรับเปลี่ยนกล่องกระดาษห้าชั้นเป็นกล่องกระดาษสามชั้น ช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษได้ถึง 35-40% หรือเท่ากับใช้กระดาษน้อยลง 8,000 ตันต่อปี เทียบได้กับการรักษาต้นไม้ไว้ได้ปีละ 35,000 ต้น 

นอกจากนี้ ยูนิลีเวอร์เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ร่วมพัฒนาระบบการจัดการเพื่อลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนได้ร่วมมือกับโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาร่วมมือกันรีไซเคิลหรือนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งแยกประเภทขยะบรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน

นอกจากบรรจุภัณฑ์แล้ว ทางยูนิลีเวอร์ยังให้ความสำคัญกับพฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์โดยมุ่งเป้าหมายให้ผู้บริโภคเลือกซื้อและใช้สินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันอย่างเหมาะสม สนับสนุนให้ทุกคนดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนระยะยาว ผลการวิจัยของบริษัทพบว่า 40% ของปริมาณน้ำซักล้างจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยูนิลีเวอร์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการใช้น้ำจากการใช้ผลิตภัณฑ์ให้ได้ปีละ 4% โดยพัฒนานวัตกรรมเพื่อการซักผ้าที่จะช่วยลดการใช้น้ำในหนึ่งครัวเรือนเทียบเท่ากับน้ำดื่ม 3,120 ขวดต่อปี (ปริมาตร 1.5 ลิตร) ต่อปี และลดปริมาณน้ำเสียจากการซักผ้า

สำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารและไอศกรีมได้เริ่มเปลี่ยนตู้แช่ไอศกรีมที่ส่วนใหญ่ใช้สารทำความเย็นไฮโดรคาร์บอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ทำลายโอโซนและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งเปลี่ยนซองบรรจุภัณฑ์ไอศกรีมวอลล์ให้เป็นพลาสติกที่สามารถผ่านกระบวนการแปรรูปให้เป็นน้ำมันดิบเพื่อนำกลับมาใช้ในการผลิตพลังงาน

          ส่วนเบนแอนด์เจอร์รี่ (Ben & Jerry's) ผู้ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมพรีเมียมหลากหลาย ทั้งไอศกรีมเชอร์เบตและโยเกิร์ตแช่แข็งจากรัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการสร้างงานให้คนท้องถิ่น การเข้าร่วมงานกับองค์กรเพื่อสังคมและออกแคมเปญรณรงค์เพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ลงนามในหลัก 10 ประการเรียกว่า Ceres Principles กำหนดแนวปฏิบัติขององค์กรให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อปี 2535 และปี 2544 เป็นบริษัทแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรายงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Outstanding Sustainability Reporting) โดยให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและใช้วัสดุรีไซเคิลมาทำเป็นหลังคาร้านไอศกรีม ทำให้คนทั่วไปและสื่อมวลชนหันมาสนใจอย่างการออกไอศกรีมรส One Sweet Whirled รายได้จากไอศกรีมนี้ถูกนำไปสมทบกองทุนภาวะโลกร้อนหรือการทำไอศกรีม Baked Alaska ใหญ่ที่สุดในโลกในวันโลกเมื่อปี 2548 ข้างหน้ารัฐสภาสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเสียหายของสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โดยวัดค่าการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำเสีย ที่บริษัทปล่อยออกมาและตั้งเป้าลดลงต่อเนื่อง

กระทั่งปี 2543 บริษัท ยูนิลีเวอร์ เข้ามาซื้อกิจการเบนแอนด์เจอร์รี่ เริ่มใช้วิธีการใหม่ โดยมี The Center for Sustainable Innovation (CSI) เป็นที่ปรึกษา หลังจากนั้น เบนแอนด์เจอร์รี่นำเอาแนวทาง WRE350 มาใช้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงจาก 385 ppm ให้เหลือ 350 ppm หรือ 350 ส่วนต่อล้านส่วน เป็นระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมและทำให้มนุษย์ปลอดภัย แต่หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกสูงถึง 450 ppm จะเป็นอันตรายมาก 

โดย CSI วัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของเบนแอนด์เจอร์รี่ ตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2549 จำนวน 6,279 ตัน ทำให้เบนแอนด์เจอร์รี่ ชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Offset) ด้วยการให้เงินลงทุนแก่โครงการพัฒนาพลังงานลมในรัฐเซาท์ดาโกต้า ทดแทนกว่า 5,160 ตัน ซึ่งมีเป้าหมายทดแทนทั้ง 100% ทำให้ชาวอเมริกันจัดอันดับให้เบนแอนด์เจอร์รี่ได้รับรางวัลความรับผิดชอบต่อสังคมมากที่สุด

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนกับห่วงโซ่อุปทาน เช่น การซื้อขายราคายุติธรรม (Fair Trade) ทั้งระดับท้องถิ่นและต่างประเทศ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยการรับซื้อกาแฟจากเม็กซิโก โกโก้จากกาน่า สารสกัดวานิลลาจากอินโดนีเซีย และปี 2550 เริ่มรับซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง
1. Joel Makower, Strategies for the Green Economy: Opportunities and Challenges in the New World of Business, McGraw-Hill, 2009.

2. Thorne, Debbie M., O.C. Ferrell, and Linda Ferrell, Business and Society: A Strategic Approach to Social Responsibility, Houghton Mifflin Company, 2008.

3. โกศล  ดีศีลธรรม, เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้วยแนวคิดลีน, ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2548.

4. โกศล ดีศีลธรรม, การวางแผนปฏิบัติการโลจิสติกส์สำหรับโลกธุรกิจใหม่, สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, 2551.

5. โกศล ดีศีลธรรม, โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสำหรับการแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ฐานบุ๊คส์, 2551.

6. รายงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน 2551 บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด.

7. โกศล ดีศีลธรรม, องค์กรทำดีเพื่อสังคม, สำนักพิมพ์ MGR 360?, 2554.

8. ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 4163  วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

9. ประชาชาติธุรกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 4178  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

10. ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ประจำวันที่ 25-31 ตุลาคม 2553

11. สยามธุรกิจฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์- 1 มีนาคม 2554

12. http://www.aialogistics.com/news_detail.php?id=1

13. http://www.dpim.go.th

14. http://www.elsevier.com/locate/jtrangeo

15. http://www.green.in.th

16. http://group.tnt.com

17. http://www.logisticsdigest.com

18. http://logisticsupdate.blogspot.com/2011/02/54-115.html

19. http://www.positioningmag.com

20. http://www.prachachat.net

21. http://www.thailaemthong.com/readarticle.php?article_id=1056

22. http://www.thailogistics.in.th/V157/index.php/a/69-greenlogis.html.

23. http://www.strategosinc.com

24. http://www.toyota.co.jp

25. http://www.toyota.co.th/sustainable_plant/sustainable.html

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด