เนื้อหาวันที่ : 2012-02-17 09:32:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6656 views

สร้างความสามารถของธุรกิจด้วยการจัดการห่วงโซอุปทาน (ตอนที่ 1)

ปัจจุบัน การใช้กลยุทธ์ WIN-WIN หรือเข้าสู่ชัยชนะร่วมกัน เป็นหนทางที่ธุรกิจจำนวนมากให้ความสนใจ ภารกิจของการบริหารจัดการในยุคนี้ตามทฤษฎีใหม่จึงกลายมาเป็นเรื่องของการบริหารแบบมีพันธมิตรมีแนวร่วม

บูรณะศักดิ์ มาดหมาย
     
            การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม กฎหมายและเทคโนโลยี ส่งผลให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ต้องหันหน้ากันมาให้ความสนใจกับการบริหารงานใหม่ ๆ เพื่อให้เท่าเทียมและสามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลาย ๆ ด้าน ถ้าอยู่เฉยอาจจะต้องเสียหายอย่างมากต่อธุรกิจ

            การดำเนินการต่าง ๆ ต้องพึ่งพาอาศัยร่วมกันมากขึ้น การประกอบกิจการงานใดต้องเกี่ยวข้องและเกี่ยวโยงถึงกัน การจะเอาตัวรอดในสังคมเพียงคนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในยุคปัจจุบัน การบริหารจัดการจึงต้องพึ่งทฤษฎีการอยู่ร่วมกัน

การใช้กลยุทธ์ WIN-WIN หรือเข้าสู่ชัยชนะร่วมกัน จึงเป็นหนทางที่ธุรกิจจำนวนมากให้ความสนใจ ภารกิจของการบริหารจัดการในยุคนี้ตามทฤษฎีใหม่จึงกลายมาเป็นเรื่องของการบริหารแบบมีพันธมิตรมีแนวร่วม (Alliance, Partner) ตลอดจนการร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมเพื่อเป้าหมายของการประสบความสำเร็จร่วมกัน

            ระบบสมัยใหม่จึงต้องปรับตัวและหันมายังทฤษฎีการบริหารแนวใหม่ที่ยึดการบริหารแบบแนวร่วมที่มิได้มองตนเองเป็นศูนย์กลาง มีการวางแนวทางร่วมกัน ก่อให้เกิดความคิดที่เรียกว่า ซัพพลายเชน Supply Chain Management และการสร้างประสานสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ Demand Chain Management ซึ่งเน้นความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือที่เรียกว่า CRM-Customer Relation Management โดยการพยายามปรับตัวพัฒนาระบบและรูปแบบในการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับภาคธุรกิจที่สำคัญได้ในระดับโลก

ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันกันในระดับที่สูง ทุกหน่วยงานจะต้องมีการตื่นตัวตลอดและคิดค้นหาแนวทางในการที่จะปรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เป็นระบบเพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดซื้อ การผลิต การตลาด การวิจัยและพัฒนา การนำเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในตลาดโลกและการแข่งขันในอนาคต  สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากกว่าคู่แข่งขัน  

             ระบบที่ดีจึงต้องเปลี่ยนจุดสนใจใหม่ เดิมใช้ทฤษฎีว่าด้วยตนเองและให้ความสำคัญกับตัวเอง เช่น ตัวเลข งบดุล กำไรขาดทุน แต่ในปัจจุบันต้องสนใจเรื่อง สายใย Chain และให้ความสำคัญกับเวลามากกว่าตัวเลข โดยเน้นให้การดำเนินการร่วมกันที่มีประสิทธิภาพเชิงเวลา

             เครือข่ายและเทคโนโลยีทำให้มุมมองของทฤษฎีบริหารและการจัดการเปลี่ยนแปลงไปมาก เครือข่ายคอมพิวเตอร์ทำให้การไหลของข้อมูลข่าวสารระหว่างกันเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตทำให้รูปแบบการบริหารและจัดการเปลี่ยนทฤษฎีจากเดิมไปมาก

องค์กรทุกองค์กรจำเป็นต้องบริหารแบบใหม่โดยใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ข่าวสารและคอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เครือข่ายนนทรีก็เช่นกัน เกี่ยวกับองค์การโทรศัพท์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ยูนิเน็ต ไทยสาร เนคเทค และอื่น ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นที่อื่น เช่น สายโทรศัพท์ ย่อมส่งผลต่อการใช้โมเด็มด้วย

โมเดลสายใยการบริหารจึงมีรูปแบบเป็นดังนี้ 

             การจัดการห่วงโซอุปทาน หรือการจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain Management) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ในปัจจุบันการจัดการห่วงโซอุปทานเป็นการจัดลำดับของกระบวนการทั้งหมดที่มีต่อการสร้างความพอใจให้กับลูกค้า โดยเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ (Procurement) การผลิต (Manufacturing) การจัดเก็บ (Storage) เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) การจัดจำหน่วย (Distribution) และการขนส่ง (Transportation) ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะจัดระบบให้ประสานกันอย่างคล่องตัว

             นอกจากนี้ การจัดการซัพพลายเชนไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะหน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กรเท่านั้น แต่ที่สำคัญจะสร้างความสัมพันธ์เชื่อมต่อกับองค์กรอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ผู้จัดหาวัตถุดิบ/สินค้า (Suppliers) บริษัทผู้ผลิต (Manufactures) บริษัทผู้จำหน่าย (Distribution) รวมถึงลูกค้าของบริษัท จึงเป็นการเชื่อมโยงกระบวนการดำเนินธุรกิจทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องด้วยกันเป็นห่วงโซ่หรือเครือข่ายให้เกิดการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า/บริการ สร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า แต่ละหน่วยงานจึงมีความเกี่ยวเนื่องกันเหมือนห่วงโซ่   ในห่วงโซ่อุปทานนั้นข้อมูลต่าง ๆ จะมีการแชร์หรือแจ้งและแบ่งสรรให้ทุกแผนก/ทุกหน่วยงานในระบบรับทราบและใช้งาน ทำให้หน่วยงานแต่ละหน่วยงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ในการประกอบรถยนต์หนึ่งคัน แผนกจัดซื้อจะจัดซื้อวัตถุดิบหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ น้ำมันเครื่อง แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ เป็นต้น  

             เมื่อสั่งซื้อเสร็จอุปกรณ์ดังกล่าวจะเก็บให้ในคลังสินค้า เพื่อรอฝ่ายการผลิตรถยนต์นำไปผลิตรถยนต์ตามที่ต้องการ และถ้าองค์กรนี้มีระบบการจัดการซัพพลายเชนที่ดี แผนกต่าง ๆ มีการแชร์หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันจะทำให้การสั่งซื้อวัตถุดิบเป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นระบบ ในกระบวนการทำงานของกระบวนการของ SCM ทั้งหมด

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดเรื่อง SCM เสียก่อน ผู้บริหารธุรกิจจำเป็นต้องจัดเตรียมกระบวนทัศน์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทันต่อเหตุการณ์และสอดคล้อง กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและทั้งหมดนี้จะสะท้อนภาพออกในมาแง่ของกระบวนการ SCM ที่ก่อประโยชน์ได้ผลที่สุด   

กระบวนการของ SCM การเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรม
             1. การผสานข้อมูล (Information Integration) 
             คือการนำข้อมูลที่ไหลผ่านระบบซัพพลายเชน (Supply Chain Management: SCM) มาเปิดเผยให้รับรู้ภายในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลการขาย ข้อมูลการผลิต ข้อมูลสินค้าคงคลัง การตลาด และการขนส่งสินค้า ได้แก่

             จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเมื่อนำข้อมูลการขาย ข้อมูลการผลิต ข้อมูลสินค้าคงคลัง การตลาด และการขนส่งสินค้าให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละข้อมูลก็จะทำให้การดำเนินการในแต่ละด้านเกิดความคล่องตัว สามารถลื่นไหลไปตามระบบ ซัพพลายเชน ( Supply Chain Management: SCM)

             2. การร่วมมือกัน (Collaboration) คือความร่วมมือของคนในองค์กรและนอกองค์กรเพื่อที่จะมอบหมายงานให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดภายในกระบวนการจัดการซัพพลายเชน เช่น
             -  ผู้ผลิตร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายของบริษัทในการวางแผนการผลิตในอนาคต     
             -  กิจการร้านค้าปลีกก็อาจจะให้ซัพพลายเออร์ได้เข้ามาบริหารสินค้าคงคลัง (Vendor Managed Inventory: VMI) หรือเติมเต็มสินค้าอย่างต่อเนื่อง (Continuous replenishment: CRP)
    

             จะเห็นได้ว่าความร่วมมือลักษณะนี้เป็นการปฏิวัติแนวคิดจากเดิมที่ต่างคนต่างใช้ทรัพยากรของตัวเอง แต่แนวคิดใหม่นี้จะนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อพัฒนาความสามารถ

             3. การเชื่อมโยงระหว่างองค์กร (Organizational Linkage)       การจัดการซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรวดเร็วเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้กระบวนการ SCM สมบูรณ์ขึ้น โดยนำ เทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น EDI (Electronic Data Interchange) และการติดต่อสื่อสารผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต คือตัวอย่างหนึ่งของทางด่วนสารสนเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเป็นทางด่วนที่ได้รับความนิยมสูงสุด

เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปถึงศักยภาพในการเติบโตเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของอินเทอร์เน็ต โดยปัจจุบันนี้อินเทอร์เน็ตมีการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์นับล้านระบบและมีผู้ใช้หลายสิบล้านคน ซึ่งเทียบประชากรอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันได้กับประชากรของประเทศไทยทั้งประเทศ

และที่สำคัญก็คือรายได้เฉลี่ยของประชากรอินเทอร์เน็ต จะสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรประเทศใด ๆ ในโลก อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายซึ่งเป็นที่รวมของเครือข่ายย่อย ๆ หรือกล่าวได้ว่าเป็น เครือข่ายของเครือข่าย (Network of Network) ซึ่งสื่อสารกันได้โดยใช้โปรโตคอลแบบทีซีพี/ไอพี (TCP/IP) ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์ต่างชนิดกันเมื่อนำมาใช้ในเครือข่ายแล้วสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ 

             ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) คือ ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลเอกสารทางธุรกิจ ระหว่างคอมพิวเตอร์ของผู้ค้าฝ่ายหนึ่งกับคอมพิวเตอร์ของผู้ค้าอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น จากผู้ค้าปลีกไปยังผู้เสนอขายสินค้าหรือจากผู้เสนอขายสินค้าไปยังผู้ค้าปลีก ในรูปแบบที่กำหนดเป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่าย มีความสอดคล้องกัน เอกสารทางธุรกิจ เช่น ใบสั่งซื้อ, ใบกำกับสินค้า, ใบส่งของ ฯลฯ

ทุกธุรกิจที่มีการใช้เอกสารจำนวนมาก และเป็นประจำโดยมีขั้นตอนซ้ำ ๆ แต่ต้องการความถูกต้องรวดเร็วและแม่นยำ ของข้อมูล เช่นธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ที่ต้องมีการสั่งซื้อสินค้าเป็นประจำ ธุรกิจขนส่งซึ่งต้องใช้ข้อมูลประกอบในการจัดการ ขนส่งสินค้า ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตสินค้า ที่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้นซึ่งจะพบประโยชน์ของ EDI ต่อธุรกิจ

             1. ช่วยลดข้อผิดพลาดของข้อมูล ปกติแล้วการป้อนข้อมูลเข้าระบบ มักจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อนำระบบ EDI มาใช้ สามารถทำให้ลดข้อผิดพลาดลงได้                

             2. ช่วยลดงบประมาณ ในเรื่องของเอกสารและค่าจัดส่ง เช่น ค่าแสตมป์ ค่าพัสดุไปรษณีย์ และพนักงาน รวมถึงค่าจัดส่งที่ส่งผิด และการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนขององค์กรเนื่องจากได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดซึ่งทำให้เกิดความเสียหายกับองค์กร ถ้านำระบบ EDI มาใช้จะช่วยลดความผิดพลาดและทำให้ลดต้นทุนในส่วนของความผิดพลาดนั้นลดลง

             3. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เนื่องจากบริษัทสามารถจัดการกับเอกสารธุรกิจได้ถูกต้องในเวลาอันรวดเร็วก็ทำให้องค์กรสามารถลดต้นทุนที่เกิดจากความผิดพลาด หรือต้นทุนที่เกิดจากสินค้าคงคลัง และเกิดความได้เปรียบจากการดำเนินงานที่รวดเร็วเพราะทำให้องค์กรจะไม่ต้องพบกับปัญหาในเรื่องสินค้าขาดสต็อกในร้านค้าปลีก

             4. ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการผสมผสานกันระหว่างข้อดีของการช่วยลดงบประมาณ และลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ดีที่มีอยู่ชนิดเดียวในเวลานี้  มันมีความเป็นไปได้ที่องค์กรระหว่างประเทศจะเน้นการนำเอาระบบ EDI มาใช้ในการติดต่อระหว่างบริษัทในเครือสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทซึ่งเป็นผู้แข่งขันสามารถที่จะมีกระบวนการเทคโนโลยีที่สอดรับกับผลิตภัณฑ์ และนอกจากนั้นยังเป็นการเสนอการบริการที่ดีให้กับลูกค้าด้วย

             5. เพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า ซึ่งเมื่อเกิดความผิดพลาดทั้ง 2 ฝ่าย มักจะโต้เถียงกันว่าใครเป็นฝ่ายผิด และทำให้เกิดความสูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย

             ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น การจะเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่นั้น ไม่ได้วัดกันที่ยอดขาย หรือจำนวนลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าอีกต่อไป หากแต่วัดกันที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเข้ามาช่วยการจัดการระบบการจัดการภายในของแต่ละองค์กรเพื่อลดเวลาและกระบวนการดำเนินงานให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบที่เรียกว่า Supply Chain ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยหลัก ๆ 4 อย่าง คือ ระบบ On Line, ระบบ POS (Point of Sale), ระบบ Barcode และระบบ EDI (Electronic Data Interchange) ก็เป็น 1 ในองค์ประกอบที่สำคัญ

             ทุกครั้งที่มีการซื้อขายที่ร้านค้าปลีกจากทุกสาขาทั่วประเทศ ระบบ POS ของแต่ละสาขาก็จะส่งข้อมูลการขายสินค้าส่งกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่สำนักงานใหญ่ เมื่อทางสำนักงานใหญ่รวบรวมข้อมูลการขายสินค้าต่าง ๆ ของแต่ละสาขาแล้ว ก็จะทำการเปิดใบสั่งซื้อ (Purchasing Order) สินค้าที่ได้มีการจำหน่ายออกไปแล้ว ไปยังซัพพลายเออร์ (Vender) ผ่านทางระบบ EDI ให้กับซัพพลายเออร์รายย่อยและส่งให้ทางซัพพลายเออร์ผู้ผลิตและจัดส่งสินค้ามายังศูนย์กระจายสินค้า ก่อนที่ทางศูนย์กระจายสินค้าจะทำหน้าที่คัดแยกสินค้า และจัดส่งไปยังร้านค้าปลีกทุกสาขาทั่วประเทศ

โดยสินค้านั้นจะใช้ Bar Code เพื่อเก็บข้อมูลรายละเอียดสินค้า ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อองค์กรมากเนื่องจากสามารถรู้ข้อมูลสินค้าต่าง ๆ อย่างละเอียดผ่านรหัสใน Bar Code ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนกับบริษัทคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบ EDI ซึ่งจะทำให้ การใช้ EDI เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ภาพแสดงการทำงานขององค์ประกอบการบริหาร Supply Chain

ตัวอย่างการบริหารจัดการ Supply Chain ของ Wal-Mart

             Wal-Mart ถือเป็นตัวอย่างในเรื่องการประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนสินค้าที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากเพื่อให้ได้มาซึ่งการบรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทคือ “Always Low Prices” Wal-Mart ทำทุกวิถีทางเพื่อลดต้นทุนที่เกินความจำเป็น

มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในจำนวนเงินค่อนข้างสูงเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในทุกกระบวนการทำงานขององค์กร เพื่อให้ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ประหยัดการใช้ทรัพยากรมากที่สุดอันจะทำให้สามารถลดต้นทุนสินค้าตลอดจนราคาสินค้าลงได้ จึงทำให้ Wal-Mart เป็นผู้นำด้านราคาในธุรกิจ Retailing Store ได้

             สำหรับการจัดหาสินค้าเพื่อจำหน่ายของ Wal-Mart นั้นปัจจุบันได้มีการใช้ระบบ VMI (Vendor-Managed Inventory) คือ ทาง Wal-Mart ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ตัดสินใจในการจัดหาสินค้าอีกต่อไป เป็นหน้าที่ของ Supplier หรือผู้ผลิตสินค้าให้กับ Wal-Mart ต่างหากต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่า เมื่อใดจึงควรจะจัดส่งสินค้าที่ศูนย์กระจายสินค้าและจัดส่งมาในปริมาณเท่าไร และสินค้าอะไรบ้างที่ต้องจัดส่งมา

และระบบ Retail Link ซึ่งจะเชื่อมข้อมูลยอดขายและสินค้าคงคลังไปยังคู่ค้าทั้งหมดของ Wal-Mart เพื่อให้คู่ค้าทั้ง Supplier และผู้ผลิตสามารถดูข้อมูลสินค้าของตนเองได้ เพื่อที่จะได้วางแผนการผลิตให้เหมาะสม สามารถผลิตหรือจัดหาสินค้าได้ทันเวลา และตรงความต้องการของลูกค้าและบริษัท

             ในด้านการจัดส่งสินค้านั้น Wal-Mart มีศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่เป็นของตนเองกระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้สินค้าจาก Supplier หรือผู้ผลิตสามารถขนส่งสินค้ามาได้สะดวกโดย Supplier หรือผู้ผลิตจะทำการขนส่งสินค้ามาที่ศูนย์กระจายสินค้าที่ใกล้ที่สุดซึ่งการขนส่งใน 1 เที่ยวนั้นจะประกอบไปด้วยสินค้าทั้งหมดที่ต้องส่งไปยังสาขาต่าง ๆ จากนั้นทางศูนย์ฯ จะทำการแยกสินค้าที่รับมาตามสาขาต่าง ๆ เพื่อจัดส่งต่อไป

             สำหรับการเชื่อมโยงระบบทั้งหมดทั้งในส่วนที่ติดต่อภายในบริษัทเองและที่ต้องติดต่อกับ Supplier หรือผู้ผลิตนั้น Wal-Mart ใช้การติดต่อผ่านระบบดาวเทียมส่วนตัว เพื่อลดเวลาในการเดินทาง และค่าใช่จ่ายการสื่อสาร นอกจากนี้ยังมีการนำระบบควบคุมสินค้าคงคลังผ่านทางเทคโนโลยีดาวเทียม ชื่อว่า “ระบบ VSAT” (Very Small Aperture Terminal)

             นโยบายการจัดหาสินค้าเข้ามาจำหน่ายนั้นจะเน้นการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น
             * ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อหาสินค้าเข้าร้าน
             * ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรับรองผู้ผลิตและ Supplier
             * การตกลงซื้อขายกับผู้ผลิตที่ต้นทาง

สรุป
             SCM เป็นระบบที่จัดการการบริหารและเชื่อมโยงเครือข่ายตั้งแต่ Suppliers, Manufacturers, Distributors เพื่อส่งมอบสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้า โดยมีการเชื่อมโยงระบบข้อมูล วัตถุดิบ สินค้าและบริการ เงินทุน รวมถึงการส่งมอบเข้าด้วยกันเพื่อให้การส่งมอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถส่งมอบได้ตรงตามเวลาและความต้องการ จึงมีความสำคัญและประโยชน์ของกระบวนการทางธุรกิจ

และยังมีประโยชน์อีกหลายประการที่ยังมิได้กล่าวถึง เช่น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบและบริการและการผลิต เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ยังได้รับการยืนยันจากผลวิจัยของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้าน SCM ที่พบว่าบริษัท 110 แห่งทั่วโลกที่นำระบบ SCM ไปใช้มีต้นทุนการผลิตและบริหารงานที่ลดลง ทำให้การบริหารกระแสเงินสดดีขึ้น มีกระบวนการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ความเร็ว และความยืดหยุ่น แต่ยังคงไว้ซึ่งความแม่นยำและเชื่อถือ

แนวคิดเรื่องการจัดการห่วงโซอุปทาน (Supply Chain Management) จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่จากกระแสการตื่นตัวและตอบรับจากองค์กรธุรกิจทั่วโลก ถึงเวลาแล้วที่องค์กรธุรกิจไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ค้าปลีกในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมควรจะต้องหันกลับมาปรับปรุงกระบวนการทำงานของตัวเองพร้อมกับนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจไทย

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด