เนื้อหาวันที่ : 2012-02-14 10:39:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5319 views

ต้นทุน: ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ

ข้อมูลการบัญชีต้นทุนหรือข้อมูลการบัญชีบริหารงานเป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอต่อบุคคลภายในองค์กรเท่านั้น ซึ่งก็คือผู้บริหารในแต่ละส่วนงาน

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา

          ผู้บริหารงานในองค์กรธุรกิจใด ๆ ก็ตามล้วนแต่มีความจำเป็นต้องการใช้ข้อมูลการดำเนินที่เกี่ยวข้องมาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมีทั้งข้อมูลที่เป็นตัวเงินและข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเงิน

ข้อมูลที่เป็นตัวเงินอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปของผู้บริหารงานทุก ๆ คนคือ ข้อมูลการบัญชีต้นทุน หรือข้อมูลการบัญชีบริหาร โดยมีนักบัญชีต้นทุนหรือนักบัญชีบริหารเป็นผู้ทำการเก็บรวบรวม และนำมาจัดทำรายงานเพื่อการนำเสนอต่อผู้บริหารงานในแต่ละส่วนงานต่อไป

โดยปกติแล้วข้อมูลการบัญชีต้นทุนหรือข้อมูลการบัญชีบริหารงานเป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอต่อบุคคลภายในองค์กรเท่านั้น ซึ่งก็คือผู้บริหารในแต่ละส่วนงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารงานระดับปฏิบัติการ ผู้บริหารระดับกลาง หรือผู้บริหารระดับสูงก็ตาม ผู้บริหารทุก ๆ ส่วนงานจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลทางการบัญชีต้นทุนเหล่านั้นจึงจะสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ตามบทบาทหน้าที่งานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

กระบวนการสร้างคุณค่าในองค์กร
(Value Creation in Organization)
          ผู้บริหารจะนำข้อมูลทางการบัญชีต้นทุนที่ได้ไปใช้ประโยชน์เพื่อการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร สำหรับกระบวนการที่สร้างคุณค่าในองค์กรสามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และห่วงโซ่ซัพพลาย (Supply Chain)

          * ห่วงโซ่คุณค่า
          ห่วงโซ่คุณค่า อธิบายให้ทราบถึงชุดของกิจกรรมที่ทำให้คุณค่าของสินค้าหรือการบริการของกิจการมีคุณค่าที่เพิ่มสูงขึ้น กิจกรรมที่เพิ่มคุณค่า (Value Added Activity) กิจการได้ทำการจัดหากิจกรรมเหล่านี้มาเพื่อทำให้สินค้าหรือการบริการที่ลูกค้าได้รับไปมีคุณค่าเพิ่มขึ้น

ห่วงโซ่คุณค่าประกอบด้วยกิจกรรมการวิจัย และพัฒนาโดยตลอดกระบวนการผลิตเพื่อการบริการลูกค้า ผู้บริหารจะทำการประเมินกิจกรรมเหล่านั้นเพื่อการวัดค่าผลประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจากผลผลิตเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการบริการ ต้นทุน หรือคุณภาพ โดยทั่วไป กิจกรรมเหล่านี้หมายความรวมถึงกระบวนการดังต่อไปนี้

          * การวิจัยและการพัฒนา (R&D) การสร้างสรรค์และการพัฒนาการแนวคิดที่มีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือกระบวนการใหม่ ๆ

          * การออกแบบ (Design) รายละเอียดการพัฒนาและงานวิศวกรรมของผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือกระบวนการ

          * การผลิต การปฏิบัติการโดยแรงงานคน และเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์หรือการบริการ

          * การตลาด กระบวนการในการให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์หรือการบริการแก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การขายผลผลิตเหล่านั้นต่อไป

          * การจัดจำหน่าย กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบผลิตภัณฑ์หรือการบริการให้แก่ลูกค้า

          * การบริการลูกค้า กิจกรรมสนับสนุนที่จัดหาให้แก่ลูกค้าซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือการบริการ

          จากที่กล่าวมาข้างต้นจะสังเกตเห็นได้ว่าหน้าที่งานบริหารไม่ได้แยกเป็นหนึ่งส่วนงานในห่วงโซ่คุณค่า ทั้งนี้เนื่องจากหน้าที่งานบริหารถูกรวมไว้ทุก ๆ หน้าที่งานของห่วงโซ่คุณค่า หรือกล่าวได้ว่าหน้าที่งานบริหารจะครอบคลุมอยู่ในทุกหน้าที่งานของห่วงโซ่คุณค่าของแต่ละธุรกิจ

          * ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
          ห่วงโซ่อุปทานเป็นความสัมพันธ์ที่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างบุคคล องค์กร และหน่วยธุรกิจต่าง ๆ เพื่อจะทำการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือการบริการที่เป็นปัจจัยการผลิต หรือทรัพยากรต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตมีความต้องการ และนำปัจจัยการผลิตหรือทรัพยากรที่ได้เหล่านั้นมารวมเข้าด้วยกันโดยผ่านกระบวนการผลิต เพื่อทำให้ได้มาซึ่งผลผลิตขั้นสุดท้ายที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือการบริการ เพื่อการนำเสนอต่อลูกค้าของกิจการต่อไป ห่วงโซ่คุณค่าที่กล่าวถึงข้างต้น จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานเท่านั้น

          ห่วงโซ่อุปทานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าที่ยินดีจะจ่ายซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์หรือการบริการใด ๆ จากกิจการ โดยปกติลูกค้าไม่ได้เป็นผู้ที่จะทำการระบุคุณลักษณะพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์ซึ่งเป็นผู้ที่จะเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์หรือการบริการใด ๆ ของกิจการ

ดังนั้นกิจการจะต้องทำการตัดสินใจที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การจัดหาซัพพลายเออร์ต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานเพื่อการสร้างคุณค่าที่เพิ่มขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์หรือการบริการโดยมีการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสำรองสินค้าคงเหลือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าได้ทันเวลาที่ลูกค้าต้องการ ผู้บริหารจึงต้องการข้อมูลทางบัญชีที่จะช่วยทำให้ประเมินได้ว่าควรจะสำรองสินค้าคงเหลือหรือไม่ หรือจะจัดหาจากซัพพลายเออร์อย่างไรจึงจะมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำที่สุด เป็นต้น

ข้อมูลต้นทุนเพื่อการตัดสินใจในการจัดการ
(Cost Data for Managerial Decisions)
          บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารในแต่ละส่วนงานขององค์กรนั้นมีหลายประการ เช่น การตัดสินใจ การควบคุมการดำเนินงาน และการประเมินค่าผลงาน เป็นต้น ไม่ว่าผู้บริหารจะทำหน้าที่ใดล้วนแต่ต้องการข้อมูลต้นทุนเพื่อประกอบการพิจารณาทั้งสิ้น

          * ต้นทุนเพื่อการตัดสินใจ (Costs for Decision Making)
          งานที่มีความยุ่งยากมากที่สุดอย่างหนึ่งในการคำนวณข้อมูลทางการเงินที่มีความเกี่ยวข้องกันของแต่ละทางเลือกคือ การประมาณการต้นทุน รายได้ หรือสินทรัพย์ในการดำเนินงานแต่ละทางเลือกว่าควรจะเป็นเท่าไร มีความแตกต่างกันอย่างไร ในการประมาณการต้นทุนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถระบุ ตัวผลักดันต้นทุน (Cost Driver) ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดต้นทุน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการประเมินค่าต้นทุนส่วนเพิ่มและรายได้ส่วนเพิ่มที่จะเกิดขึ้น

ตัวอย่างที่ 1
          สุดาเบเกอรี่ทำการผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่หลายชนิดโดยวางจำหน่ายตามร้านค้าเล็ก ๆ ในตัวเมือง เจ้าของร้านร่มรื่นคอฟฟี่ช็อปซึ่งเป็นลูกค้ารายหนึ่งของสายไหมเบเกอรี่ให้คำแนะนำว่า ร้านสุดาเบเกอรี่ควรจะขยายการดำเนินงานและจัดจำหน่ายเบเกอรี่บางชนิดโดยผ่านร้านค้าส่งเพื่อกระจายไปยังร้านค้าปลีกให้มากขึ้น สิ่งสำคัญของการตัดสินใจในครั้งนี้คือจะต้องทำการประเมินค่าถึงความสามารถในการทำกำไรที่จะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานในรูปแบบเดิมต่อไปกับการขยายกิจการตามคำแนะนำของลูกค้า

          งานที่ยุ่งยากคือการประมาณการว่ารายได้และต้นทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรถ้ามีการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ สุดาอาศัยประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาและความรู้เกี่ยวกับต้นทุนการดำเนินงานที่เกิดขึ้นมาใช้เพื่อการประมาณการต้นทุนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป

สุดาทำการกำหนดตัวผลักดันต้นทุนซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดต้นทุน เช่น ในการทำคุ้กกี้ต้องใช้แรงงาน ดังนั้นจำนวนคุ้กกี้ที่จะทำจึงเป็นตัวผลักดันต้นทุนอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดต้นทุนค่าแรงงาน เป็นต้น การประมาณการถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายโดยผ่านร้านค้าส่ง สุดาจะต้องประมาณการว่ารายได้และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขายคุกกี้มากขึ้นผ่านช่องทางจัดจำหน่ายใหม่นั้นเป็นอย่างไร

          การประมาณการนั้นจำเป็นต้องทำการกำหนดข้อสมมติฐานหลาย ๆ ประการและทำการคาดการณ์ ซึ่งแน่นอนว่าบางอย่างอาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง การวิเคราะห์ในสถานการณ์นี้เป็นงานที่มีความท้าทายผู้บริหารเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่มีใครที่จะทราบได้แน่นอนว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในอนาคตของกิจการ ข้อมูลการบัญชีต้นทุนเป็นข้อมูลที่ทำการจดบันทึกต้นทุนที่เกิดขึ้นในอดีต แต่สามารถนำข้อมูลในอดีตมาใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อการประมาณการต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ในการตัดสินใจนั้นข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาจะช่วยให้ทำการคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับกิจการ

          สมมติว่าสุดาได้ทำการประเมินว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 35% ต้นทุนในส่วนของค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน และค่าสาธารณูปโภคจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ค่าเช่าต่อเดือนยังคงเท่าเดิม ส่วนต้นทุนอื่น ๆ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ถ้าเริ่มทำการผลิตและจัดจำหน่ายผ่านช่องทางใหม่ แสดงข้อมูลการดำเนินงานระหว่างทางเลือกเปรียบเทียบกันได้ดังตารางที่ 1 ต่อไปนี้

ตารางที่ 1 ต้นทุน รายได้ และกำไรที่แตกต่างระหว่างทางเลือก

          จากข้อมูลผลการดำเนินงานโดยประมาณเปรียบเทียบกันข้างต้นจะเห็นได้ว่า กิจการมีรายได้ส่วนต่าง (Differential Revenues) และต้นทุนส่วนต่าง (Differential Costs) เกิดขึ้นในแต่ละทางเลือก ต้นทุนและรายได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปนี้เป็นผลมาจากการดำเนินงานบางอย่างที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในที่นี้คือ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย

ผลของการวิเคราะห์ต้นทุนข้างต้นแสดงให้เห็นว่ากิจการจะมีผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเท่ากับ 810 บาท ถ้าทำการจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ในกรณีนี้จึงควรตัดสินใจเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ให้สังเกตว่าต้นทุนและรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในประเด็นปัญหานี้คือรายได้และต้นทุนบางรายการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น สำหรับรายการค่าเช่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงเป็นต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ

          * ต้นทุนเพื่อการควบคุมและประเมินผลงาน (Costs for Control and Evaluation)
          องค์กรหนึ่ง ๆ มักจะมีการแบ่งออกเป็นหน่วยงานย่อยเพื่อความรับผิดชอบในการดูแลงานอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ หน้าที่งานต่าง ๆ จะถูกจัดรวมเป็นกลุ่มย่อย ๆ ภายในองค์กร ซึ่งหน่วยงานย่อยนี้อาจจะถูกเรียกชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น แผนกงาน ส่วนงาน ฝ่าย เป็นต้น ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันในแต่ละส่วนงานย่อยบ่อยครั้งจะถูกแสดงไว้ในผังองค์กร

หน่วยธุรกิจในองค์กรอาจจะแบ่งโดยใช้ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ เขตภูมิศาสตร์ หรือหน้าที่งาน เป็นต้น โดยทั่วไปจะใช้คำว่า “ศูนย์ความรับผิดชอบ” (Responsibility Center) ในการกล่าวอ้างถึงส่วนงานย่อยเหล่านั้น ผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในส่วนงานย่อยเหล่านั้นจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการดำเนินงาน และการบริหารทรัพยากรในส่วนงานนั้น ๆ โดยเฉพาะ

ตัวอย่างที่ 2
          เมื่อเริ่มต้นเปิดร้านสุดาเบเกอรี่นั้น สุดาทำหน้าที่บริหารงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง ต่อมาธุรกิจของสุดาประสบความสำเร็จมากขึ้นจึงได้เปิดสาขาใหม่ขึ้นเพื่อการแบ่งส่วนงานของกิจการออกเป็น 2 ส่วน สุดาได้จ้างปรีชาและมาริน โดยปรีชาทำหน้าที่ในการบริหารงานเพื่อการบริการลูกค้าร้านค้าส่ง (สาขาใหม่) ส่วนมารินทำหน้าที่ในการบริหารงานเพื่อการบริการลูกค้าร้านค้าปลีก (ร้านดั้งเดิม) ส่วนสุดาเป็นผู้บริหารสูงสุดที่ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมทั้งหมดขององค์กร แสดงผังองค์กรได้ดังรูปที่ 1 และข้อมูลการดำเนินงานในแต่ละส่วนงานดังตารางที่ 2 ต่อไปนี้

รูปที่ 1 ผังองค์กรสุดาเบเกอรี่
    
ตารางที่ 2 ผลการดำเนินงานในแต่ละส่วนงานของสุดาเบเกอรี่

          จากรายงานผลการดำเนินงานจะเห็นได้ว่ามีการแยกรายงานข้อมูลการดำเนินงานออกเป็น 2 ศูนย์ความรับผิดชอบคือ ศูนย์ความรับผิดชอบงานขายปลีก และศูนย์ความรับผิดชอบงานขายส่ง ซึ่งแต่ละศูนย์ความรับผิดชอบนั้นจะมีผู้บริหารประจำศูนย์ดูแล ควบคุม และบริหารงานแยกแต่ละส่วนงานอย่างชัดเจนเพื่อการประเมินผลการดำเนินงานแต่ละส่วนงาน

ให้สังเกตว่าต้นทุนการดำเนินงานในส่วนล่างซึ่งเป็นการบริหารและงานทั่วไปโดยภาพรวมของกิจการไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนงานย่อยใดโดยเฉพาะจึงไม่ได้โอนเข้าสู่ศูนย์ความรับผิดชอบใด ซึ่งมีความแตกต่างไปจากต้นทุนค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงานที่สามารถโอนเข้าสู่ความรับผิดชอบของศูนย์งานใดได้อย่างชัดเจน

          * งบประมาณ (Budgeting)
          ศูนย์ความรับผิดชอบแต่ละศูนย์ในองค์กรใด ๆ มักจะมีการจัดทำงบประมาณของศูนย์งานไว้อยู่เสมอ งบประมาณเป็นแผนงานทางการเงินซึ่งเกี่ยวข้องกับรายได้และทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินงานเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ งบประมาณจะช่วยทำให้ผู้บริหารสามารถตัดสินได้ว่าเป้าหมายสามารถบรรลุผลได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่สามารถบรรลุผลได้ควรจะต้องทำการปรับปรุงอะไรที่มีความจำเป็นต่อความสำเร็จขององค์กรเพิ่มเติมอีกบ้าง

          ในส่วนของกระบวนการวางแผนและควบคุมนั้น ผู้บริหารจะจัดทำงบประมาณที่ประกอบด้วยข้อมูลทางการเงินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาการดำเนินงานต่อไป ซึ่งผู้บริหารมีความรับผิดชอบที่จะต้องบริหารงานให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนงบประมาณด้วย เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาการดำเนินงานหนึ่ง ๆ จะต้องนำข้อมูลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงมาเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้

ผลลัพธ์ที่ได้จากการเปรียบเทียบทรัพยากรการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงกับจำนวนเงินงบประมาณจะช่วยในการประเมินค่าผลงานของศูนย์ความรับผิดชอบ และผลงานของผู้บริหารแต่ละส่วนงานได้ รวมทั้งยังให้แนวทางในการปรับปรุงแผนการดำเนินงานในอนาคตต่อไปด้วย

ตัวอย่างที่ 3
          ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบกันระหว่างงบประมาณกับต้นทุนการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงของศูนย์ความรับผิดชอบการขายปลีก

ตารางที่ 3 งบประมาณเปรียบเทียบกับต้นทุนจริง

          จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าจำนวนคุ้กกี้ที่เกิดขึ้นจริงนั้นมีปริมาณเท่ากับแผนงบประมาณที่ได้กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาต้นทุนการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงจะพบว่ามีมูลค่าที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแผนงบประมาณที่วางไว้เป็นเงินรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 1,200 บาท ผลต่างที่เกิดขึ้นนี้ประกอบด้วยแป้ง ไข่ไก่ ช็อกโกแลต และถั่ว ซึ่งจะต้องทำการตรวจสอบต่อไปเพื่อให้ทราบว่ามีการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองเกินไปหรือไม่อย่างไร หรือราคาวัตถุดิบมีการเปลี่ยนแปลงไปกว่าที่คาดการณ์หรือไม่เพราะเหตุใด ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงข้อมูลงบประมาณหรือการดำเนินงานจริงให้มีประสิทธิภาพต่อไป

          * ข้อมูลที่แตกต่างเพื่อการตัดสินใจที่แตกต่าง (Different Data for Different Decisions)
          หลักการอย่างหนึ่งของการบัญชีต้นทุนคือ เมื่อประเด็นการตัดสินใจมีความแตกต่างกันไป บ่อยครั้งที่ผู้ทำการตัดสินใจจะต้องการข้อมูลต้นทุนที่มีความแตกต่างกันไปตามความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเรื่องนั้น ๆ ข้อมูลรูปแบบเดียวกันไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการตัดสินใจได้ครบถ้วนทุกประเด็น

แต่ละครั้งที่ต้องเผชิญปัญหาจะต้องเรียนรู้ว่าข้อมูลใดที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการตัดสินใจได้อย่างแท้จริงกับสถานการณ์นั้น ๆ เช่น ผู้บริหารต้องการข้อมูลสินค้าคงเหลือที่รายงานให้กับผู้ถือหุ้นเพื่อการตัดสินใจรับคำสั่งซื้อพิเศษหรือไม่ หรือข้อมูลในงบการเงินที่รายงานต่อผู้ถือหุ้นเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อการประเมินค่าผลงานแต่ละส่วนงานหรือไม่ เป็นต้น คำตอบของคำถามข้างต้นนั้นจะทำให้ผู้บริหารต้องหาแนวทางในการเลือกใช้ข้อมูลต้นทุนที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ จึงจะสามารถทำการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

ระบบการบัญชี (Accounting Systems)
          ระบบการบัญชีถูกออกแบบขึ้นเพื่อทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลทางการเงินสำหรับผู้ใช้ข้อมูลได้นำไปใช้ในการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อความสะดวกในการจัดจำแนกระบบการบัญชีสามารถจะใช้กลุ่มผู้ใช้ข้อมูลเป็นหลักการเบื้องต้นในการจัดประเภทระบบการบัญชีได้

กล่าวคือ ถ้าเป็นนักลงทุน ผู้ให้เครดิต หน่วยงานภาครัฐที่ประเมินเรียกเก็บภาษี บุคคลดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นบุคคลภายนอกองค์กร ในขณะที่ผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ถือว่าเป็นบุคคลภายในองค์กร การจำแนกประเภทระบบการบัญชีโดยพิจารณาถึงมุมมองของความแตกต่างระหว่างผู้ใช้ข้อมูลทางการเงินจึงแบ่งระบบการบัญชีออกเป็น ระบบการบัญชีการเงิน และระบบการบัญชีต้นทุนหรือการบัญชีเพื่อการจัดการ

          * การบัญชีการเงิน (Financial Accounting)
          ข้อมูลการบัญชีการเงินถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลได้นำไปใช้ในการตัดสินใจ ซึ่งผู้ใช้ข้อมูลไม่ใช่ผู้ที่ทำหน้าที่โดยตรงในการบริหารการดำเนินงานในแต่ละวันของกิจการ ผู้ใช้ข้อมูลกลุ่มนี้บ่อยครั้งที่มักจะถูกเรียกว่า บุคคลภายนอกองค์กร ผู้บริหารอาจจะให้ความสนใจในข้อมูลที่รายงานในทางบัญชีการเงิน แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านั้นไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้เพื่อการตัดสินในการบริหารการดำเนินงานของกิจการได้อย่างแท้จริง

          โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้ข้อมูลการบัญชีการเงินจะให้ความสนใจกับความสามารถในการเปรียบเทียบกันได้ของข้อมูลทางการเงินเพื่อการนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น การตัดสินใจว่าควรจะลงทุนในกิจการใดระหว่างซัมซุงกับโซนี่ ลักษณะที่สำคัญของการบัญชีการเงินคือ ข้อมูลทางการเงินจะต้องสามารถทำการเปรียบเทียบกันได้ระหว่างกิจการ เมื่อนักลงทุนให้ความสนใจกับรายได้ของทั้งสองกิจการเปรียบเทียบกัน การปฏิบัติเกี่ยวกับการรับรู้รายได้เพื่อการรายงานในงบการเงินของทั้งสองกิจการจึงต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน จึงส่งผลทำให้ระบบการบัญชีการเงินนั้นจะต้องมีลักษณะของแนวปฏิบัติเกี่ยวกับรายการค้าต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นต้น

          * การบัญชีต้นทุน (Cost Accounting)
          ข้อมูลการบัญชีต้นทุนถูกออกแบบมาสำหรับผู้บริหาร เนื่องจากผู้บริหารเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจบริหารการดำเนินงานของกิจการเท่านั้น ไม่ได้ทำการบริหารงานของกิจการอื่น ๆ ที่มีลักษณะเหมือนกันไปด้วยพร้อมกัน หลักการที่สำคัญของการบัญชีต้นทุนคือ จะต้องสามารถจัดจำแนกข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่ผู้บริหารทำการตัดสินใจเฉพาะเรื่องภายใต้สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานในขณะนั้น

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนกลยุทธ์หรือหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมต่อไป ข้อมูลการบัญชีต้นทุนเป็นข้อมูลทั่วไปที่ใช้ในทางบัญชีการเงิน เพียงแต่พื้นฐานของข้อมูลการบัญชีต้นทุนมุ่งความสนใจไปที่ผู้บริหารสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์เพื่อการตัดสินใจได้ ผู้บริหารคือผู้ที่ทำหน้าที่เพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กรโดยทำการตัดสินใจใด ๆ ที่จะช่วยให้สามารถสร้างคุณค่าที่เพิ่มขึ้นได้ ด้วยทัศนคติในมุมมองของผู้บริหารดังกล่าวนั้นแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักบัญชีจะต้องจัดทำข้อมูลทางการบัญชีต้นทุนที่สามารถทำให้ผู้บริหารสามารทำการตัดสินใจได้ดีขึ้นเพื่อผลการดำเนินงานขององค์กรที่ดีขึ้น

          * การบัญชีต้นทุนและหลักการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป (Cost Accounting and GAAP)
          วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการบัญชีการเงินคือ เพื่อทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จะนำเสนอต่อบุคคลทั่วไปภายนอกองค์กร เช่น นักลงทุน หรือผู้ให้สินเชื่อ เป็นต้น ข้อมูลทางการเงินที่จัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในลักษณะนี้จะต้องปฏิบัติภายใต้กฎเกณฑ์ของมาตรฐานการบัญชี

หรือหลักการบัญชีที่เป็นยอมรับกันทั่วไป (Generally Accepted Accounting Principles: GAAP) จะทำให้ข้อมูลทางการเงินที่รายงานในงบการเงินต่าง ๆ เกิดความสม่ำเสมอในการเลือกวิธีการบัญชีใด ๆ เพื่อจัดการกับรายการค้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

คำกล่าวนี้หมายความว่าข้อมูลการบัญชีต้นทุนที่ใช้เพื่อการคำนวณต้นทุนสินค้าที่ขาย มูลค่าสินค้าคงเหลือ หรือข้อมูลการบัญชีการเงินอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับการจัดทำรายงานทางการเงินเพื่อนำเสนอต่อบุคคลภายนอกองค์กรนั้นจะต้องจัดทำภายใต้กรอบแนวคิดของ GAAP

          ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลต้นทุนสำหรับรายงานทางการเงินที่ใช้เพื่อการจัดการภายในองค์กรไม่จำเป็นต้องยึดตามหลักการ GAAP ผู้บริหารจะมีอิสระในการกำหนดคำอธิบายสำหรับข้อมูลต้นทุนที่จะใช้ในแต่ละเงื่อนไขของการตัดสินใจได้ ความจริงแล้วข้อมูลทางการเงินที่ใช้สำหรับการนำเสนอต่อบุคคลภายนอกนั้นบ่อยครั้งไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับการตัดสินใจภายในองค์กร เช่น ผู้บริหารกำลังจะทำการตัดสินใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นจึงต้องทำการประมาณการต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจแทนที่จะนำข้อมูลต้นทุนในอดีตหรือต้นทุนในปัจจุบันที่รายงานต่อบุคคลภายนอกมาใช้ เป็นต้น

          จากที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะให้ข้อสมมติเกี่ยวกับข้อมูลการบัญชีต้นทุนได้ว่า ข้อมูลต้นทุนอาจจะถูกพัฒนาการไปอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริหารที่เป็นบุคคลภายในองค์กร และอาจจะไม่ได้ตามแนวปฏิบัติของ GAAP ซึ่งประเด็นตรงนี้ไม่ได้มีความหมายว่าแนวทางการบัญชีต้นทุนใดจะถูกหรือจะผิด แต่หมายความว่าการบัญชีต้นทุนที่ดีหรือการบัญชีต้นทุนที่มีความถูกต้องจะเป็นวิธีการที่จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเพื่อให้ผู้ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจสามารถทำการตัดสินใจได้อย่างดีที่สุด

          * จริยธรรมกับการบัญชีต้นทุน (Ethical Issues and Cost Accounting)
          นักบัญชีต้นทุนจะต้องจัดทำข้อมูลต้นทุนเพื่อให้ผู้บริหารสามารถทำการตัดสินใจได้อย่างดีที่สุดภายใต้สภาพแวดล้อมในขณะนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องตระหนักถึงคือประเด็นของความมีจริยธรรม การออกแบบระบบต้นทุนนั้นในท้ายที่สุดแล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับการโอนต้นทุนไปสู่หน่วยธุรกิจย่อย โครงการ กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และลูกค้า

ข้อมูลต้นทุนที่คำนวณขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้รับโอนต้นทุน ผู้รับโอนต้นทุนจะได้รับผลกระทบจากราคา หรือเงินที่ต้องจ่ายไป การออกแบบระบบข้อมูลทางการบัญชีต้นทุนมีศักยภาพที่อาจจะสร้างความเสียหายทางการเงินต่อผู้รับโอนต้นทุนได้ ดังนั้นผู้จัดทำและผู้ใช้ข้อมูลต้นทุนจำเป็นจะต้องตระหนักถึงความเป็นไปได้ของผลกระทบหรือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลต้นทุนเหล่านั้นด้วย

แนวโน้มการบัญชีต้นทุน
(Trends in Cost Accounting)
          การบัญชีต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปมากตามสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น พัฒนาการด้านเทคโนโลยีข้อมูล จะเห็นได้ว่าทำให้กระบวนการลงบัญชีด้วยมือเกือบจะสูญหายไปด้วย เป็นต้น ปัจจุบันนี้องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ หน่วยงานไม่แสวงหากำไร กิจการขนาดเล็กหรือใหญ่ล้วนต่างมุ่งให้ความสำคัญไปที่การควบคุมต้นทุนด้วยกันทั้งสิ้น การบัญชีต้นทุนจึงกลายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งภายใต้สภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่เป็นจริงในปัจจุบันนี้

          * การบัญชีต้นทุนกับระบบการผลิตที่มีเทคโนโลยีการผลิตสูง 
          กิจการหลาย ๆ แห่งมีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์หรือเครื่องจักรในกระบวนการ หรือใช้เครื่องมือเครื่องจักรที่เป็นระบบอัตโนมัติกันมากขึ้นในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อขาย หรือในกระบวนการให้การบริการแก่ลูกค้า เทคโนโลยีเหล่านี้ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการบัญชีต้นทุน เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงานคนสำหรับงานบางอย่าง

ต้นทุนค่าแรงงานจะอยู่ที่ประมาณ 20%–40% ของต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม แต่ต้นทุนค่าแรงงานจะลดลงเหลือน้อยกว่า 5% เมื่อกิจการหันมาใช้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ การบัญชีต้นทุนแบบดั้งเดิมจะทำการติดตามค่าใช้จ่ายในการผลิตที่เกิดขึ้นเข้าสู่งานต่าง ๆ โดยใช้ฐานข้อมูลต้นทุนค่าแรงงานมากกว่า แต่ภายใต้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติการติดตามต้นทุนดังกล่าวดูจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป การบัญชีต้นทุนจะมีความยุ่งยากมากขึ้นในส่วนของค่าใช้จ่ายในการผลิต เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการผลิตที่เกิดขึ้นไม่ได้มีชั่วโมงแรงงานเป็นตัวผลักดันต้นทุนอีกต่อไปแล้ว

          * วิธีการแบบทันเวลาพอดี (Just–in Time Methods)
          พัฒนาการของวิธีการแบบทันเวลาพอดีที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตและการจัดซื้อ ส่งผลกระทบต่อระบบการบัญชีต้นทุนเป็นอย่างมาก ภายใต้วิธีการนี้กิจการจะทำการผลิตสินค้าและจัดซื้อในปริมาณที่พอดีและทันเวลากับความต้องการใช้ โดยจะพยายามมีการเก็บรักษาสินค้าคงคลังในปริมาณที่น้อยที่สุด เมื่อสินค้าคงคลังมีปริมาณน้อยมาก

ทำให้เกิดผลประโยชน์ทางด้านต้นทุนในลักษณะต่าง ๆ เช่น การลดลงของเงินลงทุนในสินค้าคงคลัง การลดลงของต้นทุนในการเก็บรักษา การลดลงของต้นทุนการเตรียมการผลิต เป็นต้น วิธีการแบบทันเวลาพอดีจึงช่วยทำให้กระบวนการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้นักบัญชียังใช้เวลาไม่มากนักกับการประเมินมูลค่าสินค้าคงเหลือเพื่อการรายงานในงบการเงินต่อบุคคลภายนอก ซึ่งจะทำให้ประหยัดเวลาและมีเวลากับกิจกรรมหรืองานอื่น ๆ มากขึ้น

          * การผลิตแบบลีน (Lean Production)
          การผลิตแบบทันเวลาพอดีเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตแบบลีน ระบบการผลิตแบบลีนทำให้กิจการหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศสหรัฐอเมริกานั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก การใช้ระบบการผลิตแบบลีนจะช่วยกำจัดสินค้าคงเหลือในระหว่างแผนกผลิตให้น้อยลง

กระบวนการผลิตดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่นเน้นคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตสินค้าอย่างหนึ่งไปเป็นสินค้าอย่างอื่น มุ่งเน้นการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะการทำงานอย่างต่อเนื่อง กิจการที่ไม่มีคุณลักษณะดังกล่าวครบถ้วน ประเด็นความยุ่งยากในส่วนใดที่ขาดไปจะถือว่ากิจการนั้นยังคงใช้เพียงวิธีการแบบทันเวลาพอดี

          * มุ่งเน้นที่คุณภาพ (Emphasis on Quality)
          กิจการหลาย ๆ แห่งได้ทำการปรับตัวตามแนวคิดการบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management: TQM) ซึ่งหมายความว่ากิจการจะต้องทำการบริหารงานอย่างมีระบบในทุก ๆ ส่วนงานเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือการบริการที่มีคุณภาพตามความคาดหวังของลูกค้า ลูกค้าจะประเมินมาตรฐานการทำงานขององค์กรโดยใช้คุณภาพตามความคาดหวังเป็นปัจจัยสำคัญ

ผู้วางระบบการประเมิน นักบัญชีต้นทุนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายแนวคิดของการบริหารคุณภาพโดยรวมไปยังทุก ๆ ส่วนงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินการทำงานเพื่อให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องตามความคาดหวังที่ลูกค้าต้องการ เช่น การประเมินการทำงานในด้านของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

          * การเปรียบเทียบวัดและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Benchmarking and Continuous Improvement)
          พัฒนาการของแนวคิดในการบริหารนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สิ้นสุด ปัจจุบันได้เกิดการนำแนวคิดการบริหารงาน 2 รูปแบบมารวมกันคือ แนวคิดการเปรียบเทียบวัดและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง การใช้วิธีการของแนวคิดการเปรียบเทียบวัดนั้นกิจการจะต้องทำการวัดค่าเพื่อการเปรียบเทียบผลผลิตหรือผลงานที่ได้โดยจะต้องพยายามที่จะให้ผลลัพธ์ของสิ่งที่ได้นั้นเทียบเท่ากับต้นแบบของผลผลิตหรือผลงานที่ดีที่สุดที่สามารถหาได้จากภายในองค์กรหรือภายนอกองค์กร ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงต้องพยายามค้นหาแนวทางต่าง ๆ เพื่อนำมาทำการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจึงจะสามารถสร้างผลงานตามแนวคิดต้นแบบที่ดีที่สุดให้ได้

          * ต้นทุนฐานกิจกรรมและการบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม (Activity–Based Costing and Management)
          ต้นทุนฐานกิจกรรม (ABC) เป็นวิธีการต้นทุนผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งซึ่งจะทำการโอนต้นทุน 2 ขั้นตอน โดยในขั้นแรกเป็นการโอนต้นทุนเข้าสู่กิจกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการผลิตและการตลาดของผลิตภัณฑ์หรือการบริการ หลังจากนั้นจึงจะทำการโอนต้นทุนกิจกรรมเข้าสู่ผลิตภัณฑ์หรือการบริการโดยพิจารณาว่าแต่ละผลิตภัณฑ์หรือการบริการได้มีการใช้ทรัพยากรของแต่ละกิจกรรมไปมากน้อยเท่าใดด้วยการใช้ฐานกิจกรรมที่หลากหลายในการปันส่วนต้นทุนของกิจกรรมต่าง ๆ

วิธีการต้นทุนแบบนี้จะมีรายละเอียดและมีความซับซ้อนมากกว่าวิธีการต้นทุนผลิตภัณฑ์ในลักษณะอื่น ๆ แต่เป็นวิธีการที่สามารถให้ข้อมูลต้นทุนที่มีความถูกต้องได้มากกว่า จะช่วยทำให้ผู้บริหารสามารถทำการตัดสินใจได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาพแวดล้อมแบบโลกไร้พรมแดน และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

          การบริหารต้นทุนฐานกิจกรรมเป็นการนำข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนของกิจกรรมมาใช้ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้ผู้บริหารระบุถึงกิจกรรมที่ไม่เพิ่มคุณค่าแต่มีการใช้ทรัพยากรได้ ข้อมูลต้นทุนฐานกิจกรรมจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถทำการวางแผน หรือวางระบบการผลิตเสียใหม่ในลักษณะที่จะช่วยให้สามารถประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น

          * การวางแผนการบริหารทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP)
          ในขณะที่ต้นทุนของข้อมูลทางเทคโนโลยีนั้นลดลงและคุณค่าของข้อมูลเหล่านั้นเพิ่มขึ้น ผู้บริหารของกิจการหลาย ๆ แห่งจึงได้มีการปรับตัวนำระบบการวางแผนการบริหารทรัพยากรขององค์กรมาใช้ การบริหารทรัพยากรขององค์กรเป็นระบบการรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะทำการเชื่อมโยงเข้ากับกิจกรรมการทำงานที่หลากหลายของแต่ละส่วนงานขององค์กร

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ระบบดังกล่าวน่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการผลิต การจัดซื้อ การบริหารทรัพยากรบุคคล การเงิน และการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนงานหลักที่สำคัญในการสร้างผลกำไรให้กับกิจการได้เป็นอย่างดี

          เนื่องจากระบบข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กรถูกเชื่อมโยงถึงกันโดยมีระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปควบคุมกระบวนการทำงานในทุก ๆ หน่วยงานขององค์กร และเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกแผนกที่เกี่ยวข้องเข้ามาสู่ฐานข้อมูลศูนย์กลาง ส่งผลให้ข้อมูลดำเนินงานสอดประสานอย่างคล้องจองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งระบบ จึงทำให้โดยผู้บริหารมีความคาดหวังว่าศักยภาพของระบบการวางแผนการบริหารทรัพยากรจะช่วยทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียคำสั่งซื้อจากลูกค้า การทำงานซ้ำโดยไม่จำเป็น ช่วยประหยัดต้นทุนในการบริหารคลังสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้การบริการได้อย่างหลากหลายและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

          * Six Sigma
          Six Sigma เป็นระบบหนึ่งที่ทำการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักสถิติเพื่อช่วยในด้านการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตขององค์การ โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้ข้อมูลเพื่อการปรับปรุงกระบวนการ และการป้องกันให้มีความผิดพลาดน้อยที่สุด ถ้าการทำงานของ Six Sigma ประสบความสำเร็จ กิจการจะมีหน่วยของเสียไม่เกินไปกว่า 3.4 หน่วยต่อผลผลิตหรือการบริการหนึ่งล้านหน่วย (ไม่เกิน 3.4 หน่วยในล้านหน่วย)

การนำ Six Sigma ไปใช้ในองค์กร จะก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกันของพนักงานแต่ละส่วนซึ่งมีผลการปฏิบัติงานโดดเด่น และสามารถวัดผลได้ ช่วยทำให้เพิ่มผลกำไรจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายการดำเนินงานเพื่อเพิ่มผลกำไร พร้อมทั้งมุ่งเน้นการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า และปรับองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

          * การประเมินค่าผลงาน (Performance Measurement)
          เมื่อกิจการมีขนาดใหญ่ขึ้นและขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทางภูมิศาสตร์มากขึ้น โดยทั่วไปมักจะทำการแบ่งแยกส่วนงานและอำนาจหน้าที่ในการบริหาร การวางแผน การควบคุมไปยังผู้บริหารในแต่ละส่วนงานด้วย ทำให้ผู้บริหารระดับกลางและผู้บริหารระดับล่างมีบทบาทในเรื่องของการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น ระบบข้อมูลทางด้านการบัญชีต้นทุนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบเพื่อทำให้สามารถทำการประเมินค่าผลงานของผู้บริหารในแต่ละส่วนงานได้ว่าโดยสรุปแล้วการทำงานในส่วนงานย่อยเหล่านั้นดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

          การประเมินค่าผลงานที่เป็นตัวเงินอย่างง่ายเช่น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการประเมินค่าผลงานในหลาย ๆ กิจการ ทั้งนี้เพราะการประเมินค่าด้วยวิธีการดังกล่าวนั้นใช้ฐานข้อมูลในทางบัญชีแต่เพียงอย่างเดียว และให้ผลลัพธ์ในลักษณะที่เป็นภาพรวมมากเกินไปและไม่มีการรายงานบ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้การประเมินค่าผลงานในปัจจุบันจึงมุ่งให้ความสำคัญไปยังการประเมินค่าผลงานที่ไม่เป็นตัวเงินมากยิ่งขึ้น เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า การประเมินคุณภาพตามวัตถุประสงค์ของผู้บริหารของธุรกิจ เป็นต้น

          Balanced Scorecard เป็นวิธีการประเมินค่าผลงานอย่างหนึ่งที่มุ่งให้ความสำคัญในหลากหลายด้าน ทั้งข้อมูลที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน วิธีการในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นที่ยอมรับและได้รับความสนใจจากบุคคลหลายกลุ่มทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เนื่องจาก Balanced Scorecard ไม่ใช่เฉพาะเป็นระบบการวัดผลเพียงอย่างเดียว

แต่จะเป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และแผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) แล้วแปลผลลงไปสู่ทุกจุดขององค์กรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายงานและแต่ละคน การทำงานของระบบจะเป็นการจัดหาแนวทางแก้ไขและปรับปรุงการดำเนินงาน โดยพิจารณาจากผลที่เกิดขึ้นของกระบวนการทำงานภายในองค์กร และผลกระทบจากลูกค้าภายนอกองค์กร มานำปรับปรุงกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่ดี

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด