เนื้อหาวันที่ : 2012-02-10 17:47:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 16634 views

คุณภาพของลมอัดกับอุณหภูมิหยดน้ำค้าง

อุณหภูมิหยดน้ำค้างของลมอัด นั้นมีความสำคัญต่อการใช้งานลมอัด ด้วยคุณภาพของลมอัดที่ออกมาจากระบบจะมีผลกระทบจากอุณหภูมิหยดน้ำค้างของลมอัดโดยตรง

อาจหาญ ณ นรงค์
ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกวิศวกรรมและซ่อมบำรุง
บริษัท โยโกฮาม่า ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

        อุณหภูมิหยดน้ำค้างของลมอัด (Compressed Air) นั้นมีความสำคัญต่อการใช้งานลมอัด ด้วยคุณภาพของลมอัดที่ออกมาจากระบบจะมีผลกระทบจากอุณหภูมิหยดน้ำค้างของลมอัดโดยตรง บทความต่อไปนี้จะนำเสนอรายละเอียดและความสัมพันธ์ของอุณหภูมิหยดน้ำค้างที่มีผลโดยตรงกับคุณภาพของลมอัด

ทำไมลมอัดจึงต้องแห้ง
        ในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ลมอัด (Compressed Air) เป็นต้นกำลังของอุปกรณ์ต่าง ๆ ทุกกระบวนการต้องการลมอัดที่มีคุณภาพ ซึ่งในลมอัดเหล่านั้นจะต้องมีน้ำ น้ำมัน หรือสิ่งเจือปนต่าง ๆ เจือปนอยู่ในลมอัดน้อยที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและสภาพการใช้งานลมอัดของกระบวนการนั้น ๆ 

          การผลิตลมอัดนั้นเราจะใช้เครื่องอัดลม (Air Compressor) ทำการอัดอากาศให้มีแรงดันสูงขึ้นในระดับที่ต้องการเพื่อนำลมอัดเหล่านั้นไปใช้งานสำหรับกระบวนการ เช่น กระบวนการพ่นสีในอุตสาหกรรมยานยนต์ กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ตลอดจนใช้แรงดันของลมอัดไปขับดันทำให้กระบอกลมและมอเตอร์ลมต่าง ๆ เกิดการเคลื่อนที่ กระบวนการเหล่านี้ต้องการอากาศที่สะอาดและมีคุณภาพสูง แต่ก็ใช่ว่ากระบวนการอื่น ๆ จะไม่ต้องการลมอัดที่สะอาด ซึ่งในรายละเอียดของคุณภาพของลมอัดที่ใช้ในแต่ละกระบวนการนั้น จะต้องการลมอัดคุณภาพดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นของแต่ละกระบวนการ
     
สิ่งเจือปนในลมอัด (Compressed Air Contaminate)
          *  ความชื้น (Humidity) เนื่องจากการที่เครื่องอัดลมดูดอากาศจากภายนอกและทำการอัดอากาศนั้นให้มีแรงดันสูงขึ้น ความชื้นที่ติดมากับอากาศจะปะปนอยู่ในลมอัดเป็นจำนวนมาก ถ้าหากระบบกำจัดความชื้นไม่สามารถดักเอาน้ำและความชื้นเหล่านี้ออกไปจากระบบได้ก็จะส่งผลให้ความชื้นดังกล่าวตกค้างในลมอัดที่จ่ายออกมา

ผลเสียที่เกิดขึ้นจากความชื้นและน้ำที่เกิดกับกับเครื่องจักรคือ ทำให้ชิ้นส่วนที่สัมผัสกับลมอัดที่มีความชื้นดังกล่าวเกิดสนิมจนส่งผลให้เกิดการสึกหรอและสะเก็ดจากสนิมจะทำให้อุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ เคลื่อนที่ติดขัดและพังเสียหายในที่สุด ส่วนผลเสียที่เกิดขึ้นกับชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ก็คือทำให้ชิ้นงานไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ เช่น ถ้าเป็นงานพ่นสีก็อาจทำให้สีที่พ่นไม่มีคุณภาพ ไม่สวยงาม

          *  น้ำมัน (Oil) น้ำมันหล่อลื่นของเครื่องอัดลมโดยปกติจะถูกดักไว้โดยตัวดักน้ำมัน (Oil Separator) ซึ่งน้ำมันที่ปะปนเข้ามาในระบบได้ อาจติดเข้ามาในระบบเนื่องจากระบบมีปัญหาหรือผิดปกติ

          *  ฝุ่น (Dust) อาจเข้ามาในระบบได้เนื่องจากระบบกรองอากาศตรงทางดูดของเครื่องอัดลมมีปัญหา หรืออื่น ๆ

          *  อื่น ๆ เช่น สิ่งสกปรกที่เกิดจากการผุพังหรืออุดตันของท่อทางลม เศษที่เกิดจากการเชื่อมหรือติดตั้งท่อ แบคทีเรีย ไอ แก๊ส ต่าง ๆ

ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากน้ำและสิ่งเจือปนภายในลมอัด 
        
  *  เกิดการอุดตันของเครื่องมือบางประเภท เช่นหัวฉีดลม อุปกรณ์พ่นสี เกจวัดแรงดัน
          *  เกิดสนิมขึ้นในท่อทางเดินของลม และเครื่องมือที่เป็นโลหะหรือเหล็กเช่นอุปกรณ์เคลื่อนที่ ก้านของโซลีนอยด์วาล์ว
          *  รอยพุพองของสีที่พ่นเนื่องจากมีน้ำเข้าไปปะปน
          *  สิ่งเจือปนเข้าไปปะปนในบรรจุภัณฑ์เช่นซองอาหาร หรือซองขนม
          *  อุปกรณ์ทำงาน (Actuator) เกิดการติดขัด เช่น กระบอกลมและวาล์วต่าง ๆ
          *  อายุการใช้งานของอุปกรณ์บางอย่างสั้นลงเช่นกรอง (Filter) ในระบบตันเร็วขึ้น โซลีนอยด์วาล์วหรือกระบอกลมจะสึกหรอก่อนเวลาอันควร

          จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเราจะเห็นว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้ลมอัดมีคุณภาพไม่ดี แต่ปัญหาหลัก ๆ ที่เราจะพบกันโดยมากคือการที่มีน้ำและความชื้นเข้ามาปะปนในระบบ ซึ่งหลายครั้งได้ทำความเสียหายกับเครื่องมือและเครื่องจักรที่มีราคาแพง ๆ ที่มีความสำคัญต่อสายการผลิตได้

          ดังนั้นรายละเอียดที่นำเสนอต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของความชื้นและน้ำที่ปะปนอยู่ในลมอัด รายละเอียดของ Air Dryer ตลอดจนธรรมชาติของความชื้นและลมอัด ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจถึงเรื่องเครื่อง Air Dryer ให้เรามาทำความเข้าใจถึงเรื่องความชื้นและอุณหภูมิหยดน้ำค้างกันก่อน 

รูปที่ 1 ความเสียหายที่เกิดจากการใช้ลมอัดที่ไม่มีคุณภาพ

ความชื้นในอากาศ (Moisture)
          ถ้าจะพูดให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ ความชื้น (Moisture) คือ ไอน้ำที่ปะปนอยู่ในอากาศ อากาศที่มีไอน้ำปะปนอยู่เราเรียกว่า อากาศชื้นหรืออากาศเปียก (Moisture or Wet Air) เช่น ลมระบายความร้อนที่ผ่านออกมาจากคูลลิ่งทาวเวอร์ หรืออากาศก่อนที่ฝนจะตกจะมีไอน้ำหรือความชื้นที่ปะปนอยู่ในอากาศมาก จึงทำให้เรารู้สึกร้อนอบอ้าวและอึดอัดเพราะเมื่อปริมาณไอน้ำในอากาศมีมาก จะส่งผลให้เหงื่อหรือน้ำที่ผิวหนังของเรานั้นระเหยตัวยาก จึงทำให้เรารู้สึกร้อนอบอ้าวเนื่องจากความร้อนที่ผิวหนังระบายออกไปโดยยาก

          ดังที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ข้างต้นว่า ความชื้นคือจำนวนไอน้ำที่ปะปนอยู่ในอากาศ จากรูปที่ 2 ถ้าเราเอาอากาศจำนวนหนึ่งมากำจัดความชื้นออกให้หมดเราจะเรียกอากาศที่ไม่มีไอน้ำเจือปนอยู่ว่า อากาศแห้ง (Dry Air)

          ดังรูปที่ 2ก จากนั้นถ้าเราค่อย ๆ ปล่อยไอน้ำเข้าไปในถังลมดังกล่าวเรื่อย ๆ ดังรูปที่ 2ข เมื่ออากาศมีไอน้ำผสมอยู่เราเรียกอากาศนั้นว่า อากาศชื้นหรืออากาศเปียก ซึ่งหมายถึงอากาศที่มีไอน้ำปะปนอยู่ ซึ่งก็เหมือนกับอากาศในบรรยากาศบนโลกของเรานั่นเอง ในตอนแรกที่เราเริ่มปล่อยไอน้ำเข้าไปผสมปะปนกับอากาศนั้น ปริมาณไอน้ำในอากาศจะมีน้อย อากาศจะสามารถรองรับไอน้ำจำนวนดังกล่าวไว้ได้

แต่เมื่อปริมาณไอน้ำเพิ่มไปถึงจุดหนึ่งที่อากาศไม่สามารถรองรับปริมาณไอน้ำดังกล่าวไว้ได้ ไอน้ำส่วนที่เกินก็จะเริ่มกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำ ซึ่งเราจะเรียกสภาวะนั้นว่า จุดอิ่มตัวของไอน้ำในอากาศ หรือเรียกอากาศที่จุดนี้ว่า อากาศอิ่มตัว (Saturated Air) ซึ่งก็คือสภาวะที่อากาศไม่สามารถที่จะดูดซับไอน้ำไว้ในตัวมันได้อีกแล้ว ในแผนภูมิไซโครเมตริก เส้นอากาศอิ่มตัว (Saturated Air Line) คือเส้นโค้งที่อยู่ทางด้านซ้ายของแผนภูมิไซโครเมตริก ดังรูปที่ 3

รูปที่ 2 แสดงลักษณะอากาศที่สภาวะต่าง ๆ             

รูปที่ 3 แสดงเส้นอัตราส่วนความชื้น (Humidity Ratio Line)

          1.  อัตราส่วนความชื้น (Humidity Ratio, ) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความชื้นจำเพาะ (Specific Humidity) คืออัตราส่วนระหว่างมวลของไอน้ำในอากาศ (mv) กับมวลของอากาศแห้ง (ma) ของปริมาตรอากาศที่พิจารณา

          2.  ความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity or RH, ) คือ อัตราส่วนระหว่างจำนวนหรือน้ำหนักมวลของไอน้ำในอากาศต่อจำนวนมวลหรือน้ำหนักของไอน้ำอิ่มตัวในสภาวะของอากาศที่พิจารณา เพื่อความเข้าใจให้พิจารณารูปที่ 4 และรูปที่ 5 ในรูปที่ 4ก เป็นถังที่มีปริมาตร 1 m3 บรรจุอากาศแห้งอุณหภูมิอากาศภายในถัง 20 oC ที่แรงดันบรรยากาศในถังไม่มีไอน้ำปะปนอยู่ในอากาศ

ดังนั้นถังใบนี้จึงมีความชื้นสัมพัทธ์เท่ากับ 0 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาเราเปิดวาล์วและค่อย ๆ ปล่อยไอน้ำเข้าไปในถังเรื่อย ๆ ถึงตอนนี้ในถังก็จะมีไอน้ำผสมอยู่ อากาศในถังก็จะเป็นอากาศชื้น ดังรูปที่ 4ข และเมื่อเรายังคงปล่อยไอน้ำเข้าไปเรื่อย ๆ จนปริมาณไอน้ำที่ผสมอยู่ในอากาศมากจนอากาศไม่สามารถรองรับปริมาณไอน้ำไว้ได้ ไอน้ำส่วนเกินเหล่านั้นก็จะกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำอยู่ที่ก้นถังดังรูปที่ 4ค     

          ปริมาณไอน้ำสูงสุดที่อากาศจะรับไว้ได้นี้ก็จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศถ้าอากาศมีอุณหภูมิสูงจำนวนไอน้ำที่ อากาศสามารถอุ้มไว้ได้ก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

รูปที่ 4 แสดงสภาวะต่าง ๆ ของไอน้ำในอากาศ

รูปที่ 5 กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นสัมพัทธ์กับปริมาณไอน้ำในอากาศ

ตารางที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณไอน้ำที่อากาศสามารถรับไว้ได้กับอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์

          จากตารางที่ 1 แสดงปริมาณไอน้ำที่อากาศสามารถรองรับไว้ได้ที่อุณหภูมิต่าง ๆ เช่น ที่อุณหภูมิ 20 oC แรงดันบรรยากาศ (ดังรูปที่ 5) อากาศสามารถรองรับไอน้ำไว้ได้สูงสุดเป็นจำนวน 17.3 กรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 m3 ซึ่งจุดนี้เอง คือจุดที่มีความชื้นสัมพัทธ์เท่ากับ 100% (100% RH) จากข้างต้นทำให้เราเข้าใจแล้วว่า สภาวะที่ความชื้นสัมพัทธ์ 100% คือสภาวะที่มีปริมาณไอน้ำในอากาศจำนวนมากที่สุด ที่อากาศสามารถรองรับไว้ได้ที่อุณหภูมินั้น ๆ

ดังนั้นเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศที่สภาวะต่าง ๆ จะวัดจาก ปริมาณไอน้ำในอากาศในขณะนั้น เปรียบเทียบกับปริมาณไอน้ำที่อากาศสามารถอุ้มหรือรองรับไว้ได้สูงสุดที่สภาวะนั้น ๆ เช่นที่อุณหภูมิ 20 oC อากาศสามารถรองรับไอน้ำไว้ได้สูงสุด 17.3 กรัม Vapor/m3Dry Air ที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ 50% ก็จะมีปริมาณไอน้ำปะปนอยู่ในอากาศเป็นครึ่งหนึ่งคือ (17.3/2) = 8.65 กรัม Vapor/m3Dry Air และที่ความชื้นสัมพัทธ์ 25%ปริมาณไอน้ำในอากาศก็จะมีอยู่ (17.3/4) = 4.325 กรัม Vapor/m3Dry air 

          เส้นแสดงความชื้นสัมพัทธ์ในแผนภูมิไซโครเมตริก ดังแสดงในรูปที่ 6 โดยเส้นแรกทางขวามือสุดหรือเส้นที่อยู่ด้านนอกคือเส้นความชื้นสัมพัทธ์ 100% นั้นจะเป็นเส้นเดียวกับเส้นอากาศอิ่มตัว (Saturated Air Line) หรือสภาวะที่อากาศสามารถรองรับปริมาณไอน้ำได้สูงสุดที่อุณหภูมิต่าง ๆ ถัดมาจากเส้นความชื้นสัมพัทธ์ 100% ค่าความชื้นสัมพัทธ์ก็จะลดต่ำลงมาเรื่อย ๆ อากาศที่มีปริมาณความชื้นอยู่เท่า ๆ กัน แต่เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงค่าความชื้นสัมพัทธ์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังรูป

รูปที่ 6 แสดงเส้นความชื้นสัมพัทธ์ (Relative Humidity Line) ในแผนภูมิไซโครเมตริก

          3. อุณหภูมิหยดน้ำค้าง (Dew Point Temperature) 
          อุณหภูมิหยดน้ำค้างคือ อุณหภูมิที่ความชื้นในอากาศเริ่มกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเมื่ออากาศถูกลดอุณหภูมิที่แรงดันคงที่ หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือ อุณหภูมิอิ่มตัวของไอน้ำเมื่อเปรียบเทียบกับแรงดันของไอน้ำอิ่มตัว หรือ สภาวะที่อุณหภูมิที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีค่าเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์

รูปที่ 7 แสดงอุณหภูมิแบบต่าง ๆ ที่วัดได้

รูปที่ 8 หยดน้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวเนื่องจากอุณหภูมิของจุดนั้นต่ำกว่า อุณหภูมิหยดน้ำค้างที่สภาวะนั้น ๆ

          เพื่อให้เรานึกภาพของอุณหภูมิหยดน้ำค้างออกให้เรานึกถึงหยดน้ำที่เกาะอยู่ด้านข้างของแก้วน้ำเย็น กระจกหรือยอดหญ้ายามเช้า ดังรูปที่ 8 ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ก็เนื่องจากการที่อากาศที่มีความชื้นสูงถูกลดอุณหภูมิลงทำให้ความสามารถในการรองรับความชื้นในอากาศลดลงดังนั้นปริมาณความชื้นในอากาศที่เกินจากความสามารถในการรองรับของอากาศที่อุณหภูมิต่ำลง จึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ

ตารางที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณไอน้ำที่อากาศสามารถรับไว้ได้กับอุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิหยดน้ำค้าง

ตัวอย่างที่ 1 
          (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) ในฤดูร้อนวันหนึ่งอากาศมีอุณหภูมิ 35 oC ความชื้นสัมพัทธ์ 60% ซึ่งสภาวะดังกล่าวในอากาศมีไอน้ำปะปนอยู่ที่ 23.8 กรัม/อากาศ 1 m3 เมื่อเวลาผ่านกลางคืนไปจนถึงตอนเช้าอุณหภูมิลดลงเหลือ 20 oC ซึ่งที่อุณหภูมินี้เราจะเห็นว่าอากาศสามารถที่จะรองรับไอน้ำได้สูงสุด (RH100%) เพียง 17.3 กรัม/อากาศ 1 m3

          ดังนั้นไอน้ำจำนวน (23.8-17.3) = 6.5 กรัม/อากาศ 1 m3 จะกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำเกาะอยู่ตามยอดหญ้าหรือวัตถุที่มีอุณหภูมิเดียวกับอากาศบริเวณนั้นดังรูปที่ 8 จากหลักการนี้เราจึงประยุกต์นำมาใช้กับงานลดความชื้นในระบบการผลิตลมอัด (Compressed Air)
     
          ไอน้ำส่วนเกิน = ไอน้ำในอากาศที่ RH60% อุณหภูมิ 35 oC = 23.8g /m3Dry Air- ไอน้ำในอากาศที่ RH100% อุณหภูมิ 20 oC = 17.3g /m3Dry Air
                                   = 23.8g /m3 Dry Air @ T=35 oC RH60% - 17.3g /m3 Dry Air @T = 20 oC RH 100% 
                                   = 6.5 g /m3 Dry Air
    
ความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นของอากาศกับปริมาณน้ำในลมอัด
          1. ไอน้ำในอากาศ (Vapor in the air)
          ปริมาณไอน้ำหรือไอน้ำอิ่มตัวที่ปะปนอยู่ในอากาศนั้น จะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับสภาวะของอากาศ เช่น อุณหภูมิและแรงดันของอากาศหรือลมอัด ดังตารางแสดงปริมาณไอน้ำอิ่มตัวในอากาศและลมอัด ตามตารางที่ 3

          จากตารางเราจะเห็นว่าที่อุณหภูมิสูง ปริมาณไอน้ำอิ่มตัวในลมอัดจะมีมาก และที่อุณหภูมิต่ำปริมาณไอน้ำอิ่มตัวจะน้อย ในทางกลับกันที่แรงดันสูงปริมาณไอน้ำอิ่มตัวจะน้อยและที่แรงดันต่ำปริมาณไอน้ำอิ่มตัวจะมาก

ตารางที่ 3 แสดงปริมาณไอน้ำอิ่มตัวของลมอัดที่อุณหภูมิและแรงดันต่าง ๆ ในหน่วยปริมาณไอน้ำ (กรัมต่อ/อากาศ 1 m3)

          2. ปริมาณน้ำที่กลั่นตัวออกจากลมอัด (Condensate Water from Compressed Air)
          เมื่อลมอัดถูกอัดตัวให้มีแรงดันสูงขึ้น ความสามารถในการอุ้มเอาไอน้ำไว้ในตัวเองก็จะลดลง เนื่องจากผลกระทบจากแรงดันที่สูงจะทำให้ลมอัดมีความหนาแน่นสูง ส่งผลกระทบให้ไอน้ำกระจายปะปนอยู่ในลมอัดได้น้อย จะเห็นได้จากตารางที่ 3 ว่าที่แรงดันสูง ๆ นั้นจะมีปริมาณไอน้ำอิ่มตัวต่อลูกบาศก์เมตรต่ำกว่าที่แรงดันต่ำ เช่น

          - ที่อุณหภูมิอากาศ 30 oC แรงดันบรรยากาศจะมีไอน้ำอิ่มตัวในอากาศได้ไม่เกิน 30.5g/m3Dry Air
          - ที่อุณหภูมิลมอัดที่แรงดัน 4 บาร์ จะมีไอน้ำอิ่มตัวในลมอัดได้เพียง 6.16 g/m3Dry Air
          - ที่อุณหภูมิลมอัดที่แรงดัน 8 บาร์ จะมีไอน้ำอิ่มตัวในลมอัดได้เพียง 3.43 g/m3Dry Air

          ดังที่กล่าวไปแล้วว่าที่แรงดันสูงต่างกันปริมาณไอน้ำอิ่มตัวที่อุณหภูมิหยดน้ำค้าง (Dew Point Temperature) จะต่างกัน ดังนั้นในการหาปริมาณไอน้ำอิ่มตัวของลมอัดนั้นจะนิยมใช้ตาราง Dew Point Conversion Chart ดังรูปที่ 9

ตัวอย่างที่ 2
          เราต้องการหาจำนวนไอน้ำอิ่มตัวของลมอัดที่แรงดัน 7 บาร์ อุณหภูมิ 10 ?C ในการใช้ Dew Point Conversion Chart มีลำดับขั้นตอนดังนี้คือ

          - ลากเส้นจากแกน Y ของตารางซึ่งเป็นเส้น Pressure Dew Point คืออุณหภูมิและแรงดันของลมอัดที่เราต้องการที่จะหาไปตัดกับเส้นแรงดันของลมอัดที่ต้องการจะหา จากตารางเราจะเริ่มลากเส้นจากจุด A (สภาวะของลมอัดที่อุณหภูมิ 10 oC) ไปถึงจุด B (ที่แรงดันลมอัด 7 บาร์)

          - ลากเส้นจากจุด B ลงมายังจุด C ซึ่งเป็นเส้นอุณหภูมิน้ำค้างที่บรรยากาศของลมอัด (Atmospheric Pressure Dew Point) ซึ่งตรงกับอุณหภูมิที่ –17 oC

          - หมายความว่าลมอัดที่แรงดัน 7 บาร์ อุณหภูมิ 10 oC จำนวนไอน้ำอิ่มตัวจะเท่ากับที่ –17 oC ที่แรงดันบรรยากาศ

          โดยที่สภาวะดังกล่าวจะมีไอน้ำอิ่มตัวประมาณ 0.84 g/m3Dry Air ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก

รูปที่ 9 Dew Point Conversion Chart

          3. ขั้นตอนการหาปริมาณน้ำที่กลั่นตัวในลมอัด (Amount of Condensate Water)
          ในการหาปริมาณน้ำที่กลั่นตัวในลมอัดนั้น ปริมาณน้ำที่กลั่นตัวออกจากลมอัดอันเนื่องจากความชื้นของอากาศนั้นจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับ

          - อุณหภูมิและความชื้นของอากาศที่ไหลเข้าสู่เครื่องอัดลม เนื่องจากความชื้นและอุณหภูมิของอากาศสูงจะมีปริมาณไอน้ำอิ่มตัวมากหรือปริมาณไอน้ำที่ปะปนอยู่ในอากาศมากนั่นเอง

          - อุณหภูมิของอากาศที่ผ่านชุด After Cooler Unit เนื่องจากอุณหภูมิอากาศที่ผ่านชุด After Cooler ยิ่งต่ำปริมาณน้ำที่กลั่นตัวออกมาก็จะยิ่งมาก

          - อัตราการไหลของลมอัดที่ไหลเข้าสู่เครื่องอัดลม เนื่องจากปริมาณไอน้ำที่ปะปนอยู่ในอากาศจะมีปริมาณมากหรือน้อยนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของอากาศ ดังนั้นที่ปริมาณลมอัดที่ไหลเข้าสู่เครื่องอัดลมมาก ปริมาณน้ำที่กลั่นตัวออกจากลมอัดก็มากเช่นกัน

รูปที่ 10 แผนภูมิที่ใช้ในการหาปริมาณน้ำที่ปะปนในลมอัด

ตัวอย่างที่ 3 
          อากาศที่อุณหภูมิ 30 ?C ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 60% ไหลเข้าสู่เครื่องอัดลมและถูกอัดให้มีแรงดัน 7 บาร์ จากนั้นทำการ Cool Down ที่ After Cooler Unit ให้เหลืออุณหภูมิ 25 ?C ให้หาปริมาณน้ำที่กลั่นตัวออกจากลมอัดต่อ 1 m3 (FAD)

จากแผนภูมิที่ 10 
          - ลากเส้นจากจุด A ที่อุณหภูมิ 30 oC ขึ้นไปตัดกันเส้นความชื้นสัมพัทธ์ 60% แล้วลากเส้นต่อไปยังจุด C ที่เส้นไอน้ำในอากาศ (Water Vapor Line) เราก็จะได้ค่าปริมาณไอน้ำในอากาศ ซึ่งที่สภาวะดังกล่าวที่แรงดันบรรยากาศ มีไอน้ำอยู่ในอากาศเท่ากับ 18.2 g/m3Dry Air

          - ที่แรงดันลมอัด 7บาร์ อัตราส่วนการอัดตัวของอากาศ (CR) จะเท่ากับ 7.9:1 (จากสมการที่ 1) ดังนั้นที่ลมอัดแรงดัน 7 บาร์ ปริมาตร 1 m3 จะมีไอน้ำปะปนอยู่จำนวน 18.2 x 7.9 = 143.48 กรัม

         
       
          - เมื่อเราต้องการหาไอน้ำที่ปะปนอยู่ในลมอัดให้เราลาดเส้นต่อจากจุด C ซึ่งเป็นรายละเอียดของอากาศที่แรงดันบรรยากาศต่อไปยังจุด D ซึ่งเป็นเส้นไอน้ำอิ่มตัวของลมอัดที่แรงดัน 7 บาร์

          - ลากเส้นจากจุด D ลงด้านล่างมาตัดกับจุด E ซึ่งเป็นอุณหภูมิหยดน้ำค้างของลมอัดที่แรงดัน 7บาร์ แต่เนื่องจากลมอัดที่ออกจากเครื่องอัดลมถูก Cool Down โดย After Cooler Unit ไปจนเหลืออุณหภูมิ 25 oC ซึ่งต่ำกว่าอุณหภูมิหยดน้ำค้างของลมอัดที่แรงดันดังกล่าว 

          - จากจุด E ให้เราลากเส้นมายังอุณหภูมิ Cool Down ของลมอัดที่ 25 oC (Pressure Dew Point) ที่จุด F

          - ลากเส้นจากจุด F ไปตัดกับเส้นแรงดัน 7 บาร์ ที่จุด G (เนื่องจากสภาวะของลมอัดหลัง After Cooler จะอยู่ที่อุณหภูมิ 25 oC และแรงดัน 7 บาร์)

          - จากจุด G ลากเส้นตรงมาทางซ้ายมือมาตัดกับเส้นไอน้ำในอากาศ (Water Vapor Line) ที่จุด H ซึ่งปริมาณไอน้ำอิ่มตัวที่แรงดัน 7 บาร์ อุณหภูมิ 25 oC เท่ากับ 3 กรัมต่ออากาศ 1 m3(FAD) หรือ 3 x 7.9 = 23.7 กรัมต่อ 1 m3 ของลมอัดที่ 7 บาร์

          - แต่ในการคิดปริมาตรของเครื่องอัดลมเราจะคิดที่อากาศอิสระหรือลมอัดที่แรงดันบรรยากาศ(Free Air Delivery, FAD) ดังนั้นที่สภาวะตามตัวอย่างจะมีน้ำกลั่นตัวออกจากลมอัดที่ชุด After Cooler ในปริมาณ 18.2 – 3 = 15.2 g/m3Dry Air (FAD) นั่นหมายความว่าถ้าเครื่องอัดลมมีอัตราการไหล 1 m3/วินาที (60 m3/นาที) จะมีน้ำกลั่นตัวออกจากระบบเท่ากับ 15.2 g/วินาที หรือ 54.72 ลิตร/ชั่วโมง

กระบวนการการกำจัดน้ำออกจากลมอัด
          ในระบบทำลมอัดนั้นนอกจากเครื่องอัดลม (Air Compressor) ซึ่งเป็นหัวใจของระบบที่ใช้ในการอัดอากาศให้ได้แรงดันที่ต้องการแล้ว ยังมีอุปกรณ์อย่างอื่นอีกหลายตัวที่ใช้ในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

          - เครื่องระบายความร้อนลมอัด (After Cooler) ทำหน้าที่ลดความร้อนของลมอัดเนื่องจากการอัดตัวให้ได้ตามแรงดันที่ต้องการ โดยการแลกเปลี่ยนความร้อนจากลมอัดสู่น้ำหรืออากาศที่เป็นสื่อในการระบายความร้อน

          - ถังเก็บลม (Air Reservoir) ทำหน้าที่เก็บลมอัดที่ได้จากเครื่องอัดลมเพื่อให้สามารถที่จะนำไปใช้ในระบบอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกระเพื่อมของแรงดันลมในกรณีที่จังหวะการใช้ลมไม่สม่ำเสมอ สำหรับถังเก็บลมของระบบลมอัดที่ดีนั้นจะต้องไม่เล็กเกินไป เนื่องจากจะทำให้เกิดการแกว่งของแรงดันลมในจะหวะที่ใช้ลมมากและจะทำให้สิ้นเปลืองเนื่องจากมอเตอร์ขับเครื่องอัดลมต้องตัดและต่อถี่ขึ้น

          - เครื่องทำลมแห้ง (Air Dryer) ทำหน้าที่กำจัดน้ำและความชื้นที่ปะปนอยู่ออกจากลมอัดโดยการลดอุณหภูมิของลมอัดให้ต่ำลงเพื่อที่จะให้ไอน้ำที่อยู่ในอากาศกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำและเอาออกจากระบบ

          - เครื่องกรองลม (Air Filter) ทำหน้าที่กรองเอาอณุภาคฝุ่นผงขนาดต่าง ๆ ออกจากระบบลมอัด ซึ่งในการเลือกใช้กรองนั้นส่วนใหญ่จะเลือกใช้ตามระดับความสะอาดของลมอัดที่ต้องการ เช่นถ้าต้องการระดับความสะอาดของลมอัดสูงก็เลือกกรองที่ละเอียดสูงและระดับความสะอาดที่ไม่สูงก็จะเลือกใช้กรองที่มีความละเอียดลดลงมาตามลำดับ

          สำหรับส่วนประกอบของอุปกรณ์ต่าง ๆ ของระบบลมอัดรายละเอียดของการต่อวงจรต่าง ๆ ดังแสดงรายละเอียดในรูปที่ 11

รูปที่ 11 อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของระบบลมอัดและการประกอบอุปกรณ์เข้าด้วยกัน

รายละเอียดและการทำงานของอุปกรณ์ที่ช่วยในการลดไอน้ำและความชื้นในลมอัด
          1. เครื่องระบายความร้อนลมอัด (After Cooler) 
          หน้าที่หลัก ๆ ของมันคือลดอุณหภูมิของลมอัดให้ต่ำลง เนื่องจากอุณหภูมิของลมอัดที่ออกมาจากเครื่องอัดลม (Air Compressor) นั้นจะสูงถึงประมาณ 140 oC สำหรับ Screw Compressor และถ้าเป็นเครื่องอัดลมแบบลูกสูบอุณหภูมิลมอัดที่ออกจากเครื่องอัดลมจะประมาณ 300 oC

ดังนั้นเพื่อที่จะให้อุณหภูมิลมอัดเหล่านี้ต่ำลง After Cooler จึงถูกนำมาติดตั้งหลังจากเครื่องอัดลม สำหรับเครื่องอัดลมขนาดเล็กที่มีอัตราการไหลของลมอัดน้อย ๆ และใช้งานลมอัดทั่ว ๆ ไป ตัว After Cooler อาจเป็นแบบระบายความร้อนกับอากาศก็ได้ แต่ในกรณีที่เป็นเครื่องอัดลมเครื่องใหญ่ที่มีอัตราการไหลของลมอัดมากโดยทั่วไปแล้วจะใช้น้ำเป็นตัวระบายความร้อนโดยใช้เครื่องระบายความร้อนแบบท่อและเชลล์ (Shell and Tube Heat Exchanger)
 

รูปที่ 12 After Cooler ที่ถูกติดตั้งอยู่ในชุดเครื่องอัดลม

          ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งที่เกิดจากเครื่องระบายความร้อนลมอัดคือ ทำให้สามารถลดความชื้นและน้ำในลมอัดได้ สำหรับรายละเอียดและจำนวนไอน้ำที่สามารถลดลงได้เป็นไปตามตัวอย่างที่ 3 ดังนั้นลมอัดที่ออกจาก After Cooler นั้นนอกจากที่จะมีอุณหภูมิต่ำซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปจะอยู่ที่ประมาณ 37 oC แล้วลมอัดดังกล่าวยังมีความแห้งอยู่ในระดับหนึ่งด้วย

          สำหรับลักษณะของ After Cooler นั้นแสดงดังในรูปที่ 12 และรูปที่ 13 ซึ่งเป็นแบบที่ติดตั้งอยู่ด้านในของชุด Air Compressor ใช้น้ำเป็นตัวระบายความร้อน

รูปที่ 13 After Cooler ซึ่งถูกติดตั้งรวมกันไว้ใน Air Compressor Unit

          2. เครื่องลดความชื้น (Air Dryer)  
          หน้าที่โดยตรงของเครื่องลดความชื้นคือลดปริมาณไอน้ำหรือความชื้นในลมอัดให้เหลือน้อยที่สุด โดยการลดอุณหภูมิของลมอัดให้ต่ำมาก ๆ โดยที่

          - เมื่อลดอุณหภูมิของลมอัดลงจะทำให้ปริมาณไอน้ำอิ่มตัวในอากาศลดลง อากาศส่วนเกินจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ทำให้ปริมาณไอน้ำในลมอัดลดลงตามอุณหภูมิไอน้ำอิ่มตัว (Dew Point Temperature)

          - อุณหภูมิหยดน้ำค้างยิ่งต่ำก็จะสามารถดึงน้ำและความชื้นออกจากลมอัดได้มาก แต่ก็จะใช้พลังงานในการลดอุณหภูมิลมอัดมากมากว่าเช่นกัน

          3. หลักการทำงานของ Air Dryer
          Air Dryer ดังตัวอย่างในรูปที่ 14 ประกอบด้วยวงจรทำความเย็นซึ่งส่วนมากจะเป็นแบบอัดไอซึ่งใช้เป็นตัวระบายความร้อนลมอัด ท่อทางของลมอัดที่จะเข้ามาระบายความร้อน และชุดแลกเปลี่ยนความร้อน     

          การทำงานของ Air Dryer เริ่มต้นจากการที่ลมอัดที่แรงดันสูงที่ออกจากเครื่องอัดลม (Air Compressor) ซึ่งลมอัดดังกล่าวจะมีอุณหภูมิสูง เช่นลมอัดแรงดัน 7 บาร์(เกจ) ที่ออกมาจากเครื่องอัดอากาศแบบสกรู (Screw Compressor) จะมีอุณหภูมิสูงถึงประมาณ 140 oC และลมอัดที่อุณหภูมิดังกล่าวสามารถดูดซับความชื้นเอาไว้ในตัวได้มาก ดังนั้นจึงต้องทำให้อุณหภูมิของลมอัดลดลงมากที่สุดเพื่อที่จะลดปริมาณน้ำในลมอัดที่จะส่งออกไปใช้งานซึงในการลดอุณหภูมิของลมอัดมีขั้นตอนดังนี้คือ 

รูปที่ 14 วงจรการทำงานของ Air Dryer

          - ลมอัดดังกล่าวจะไหลตามท่อมาผ่านชุด After Cooler (B) โดยที่ลมอัดซึ่งมีอุณหภูมิสูงจะทำการแลกเปลี่ยนความร้อนที่ชุดแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger) กับลมอัดที่ผ่านการระบายความร้อนมาแล้ว ทำให้อุณหภูมิของลมอัดลดลงในระดับหนึ่ง โดยปกติลมอัดที่ออกจากชุด After Cooler จะมีอุณหภูมิที่ประมาณ 37~38 oC)

          - จากนั้นลมอัดจะไหลต่อไปยังชุดแลกเปลี่ยนความร้อนที่ชุด Air Dryer (Evaporator, C) ของวงจรทำความเย็นและลมอัดจะถ่ายเทความร้อนออกจากตัวเองจนอุณหภูมิต่ำลงตามที่ต้องการซึ่งก็คืออุณหภูมิอิ่มตัว (Dew Point Temperature) ของAir Dryer ที่ตั้งไว้ โดยปกติอุณหภูมิ Dew Point ที่ตั้งไว้จะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของลมอัดที่ต้องการ โดยปกติจะอยู่ระหว่าง 3 oC ถึง – 60 oC ขึ้นอยู่กับระดับคุณภาพของลมอัด ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป

          - เมื่อลมอัดมีอุณหภูมิลดลงจะทำให้ความสามารถในการอุ้มความชื้นไว้จะลดลง ทำให้ความชื้นที่ปะปนอยู่ในลมอัดกลั่นตัวกลายเป็นน้ำ (Condensation) และน้ำดังกล่าวจะถูกดักและถ่ายเทออกจากระบบ จากนั้นลมอัดจะไหลกลับไปยังชุด After Cooler อีกครั้งเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความร้อนกับลมอัดร้อนที่มาจากเครื่องอัดอากาศ เพื่อให้ตัวลมอัดที่ผ่านการระบายความร้อนมามีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณอุณหภูมิห้องหรือเท่ากับอุณหภูมิจาก After Cooler จากนั้นลมอัดจะถูกนำใช้งานต่อไป สำหรับอุณหภูมิและแรงดันที่เข้าและออกจากชุด After Cooler นั้นโดยทั่วไปจะให้มีค่าเท่ากับ กฎ 3–100 (3–100 Law) คือ

          1) แรงดันลมอัดที่ออกจากเครื่องอัดลมเข้าสู่ระบบ (โดยปกติ) จะเท่ากับ 100 psi (ประมาณ 6.8~6.9 บาร์)

          2) อุณหภูมิของลมอัดที่ออกจากชุดแลกเปลี่ยนความร้อนของชุด After Cooler (จุด B ในรูปที่ 14) จะหรืออุณหภูมิหลังจากออกจาก After Cooler มีค่าประมาณ 100 oF (ประมาณ 37 oC)

          3) อุณหภูมิของลมอัดที่ออกไปใช้งาน (หลังจากที่ผ่านชุด Air Dryer แล้ว) จะอยู่ที่ประมาณ100 oF (ประมาณ 37 oC)

รูปที่ 15 Dew Point Conversion Chart 

รูปที่ 16 Dew Point Conversion Chart ตามตัวอย่างที่ 4

          4. ตัวอย่างความชื้นที่ลดลงได้ในระบบลมอัดโดยผ่าน After Cooler และ Air Dryer
          เพื่อให้มองภาพออกจึงจะขอยกตัวอย่างเพื่อให้มองภาพออกถึงการลดปริมาณไอน้ำและความชื้นในลมอัดออกจึงขอยกตัวอย่างดังนี้คือ

ตัวอย่างที่ 4 
          จากตัวอย่างที่ 3 (ย้อนไปดูตัวอย่างที่ 3 ประกอบ) อากาศที่อุณหภูมิ 30 oC ที่ความชื้นสัมพัทธ์ 60% ไหลเข้าสู่เครื่องอัดลมที่และถูกอัดให้มีแรงดัน 7 บาร์ จากนั้นทำการ Cool Down ที่ After Cooler Unit ให้เหลืออุณหภูมิ 25 oC

          - อากาศที่เข้าเครื่องอัดอากาศ (30 oC, RH 60%) ที่แรงดันบรรยากาศมีไอน้ำอยู่ในอากาศ 18.2 g/m3Dry Air

          - อากาศที่ออกจาก After Cooler (P = 7 บาร์, T = 25 oC) ปริมาณไอน้ำอิ่มตัวเท่ากับ 3 g/m3dryair (FAD)

          - ไอน้ำในอากาศที่กลั่นตัวออกจากระบบหลังจากออกจาก After Cooler เท่ากับ 18.2–3 = 15.2 g/m3dryair (FAD)

ตารางที่ 4 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิหยดน้ำค้างกับปริมาณไอน้ำอิ่มตัว

          ถ้าอากาศดังกล่าวไหลต่อไปผ่านเครื่องลดความชื้นอากาศ (Air Dryer) ที่ถูกตั้งอุณหภูมิ Dew Point ไว้ที่ 3 oC ปริมาณไอน้ำในลมอัดที่ลดลงจะเท่ากับเท่าได ?

          โดยปกติแล้วในการหาปริมาณไอน้ำอิ่มตัวในลมอัดนั้นเราจะใช้ Dew Point Conversion Chart ดังรูปที่ 15 และรูปที่ 16 ซึ่งในการคำนวณนั้นเราจะพิจารณาตามลำดับดังต่อไปนี้คือ

          - พิจารณาตามแกนแนวตั้งซึ่งแสดงอุณหภูมิหยดน้ำค้างของลมอัด (Pressure Dew Point) ที่อุณหภูมิ 3 oC

          - ลากเส้นไปทางขวามือจนตัดกับเส้น 7 บาร์ (100 psi) และลากเส้นไปตัดกับเส้นอุณหภูมิหยดน้ำค้างของแรงดันบรรยากาศ (Atmospheric Dew Point) ที่แรงดันประมาณ -25 oC

          - จากตารางที่ 4 และรูปที่ 15 ที่อุณหภูมิ –25 oC ไอน้ำอิ่มตัวในอากาศเท่ากับ 0.705 g/m3Dry Air

          - ดังนั้นจากปริมาณไอน้ำจะที่เหลือ 3 g/m3Dry Air (FAD) ก่อนเข้า Air Dryer จะถูกกลั่นตัวออกที่ Air Dryer เท่ากับ 3–0.705 = 2.295 g/m3Dry Air (FAD)

          - ไอน้ำที่เหลือในลมอัดจะเท่ากับ0.705 g/ m3Dry Air (FAD) ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมาก

          * สรุปตามตัวอย่างที่ 5 ไอน้ำกลั่นตัวออกหลังจากผ่าน After Cooler 15.2 g/m3Dry Air (FAD) หลังจากนั้นไอน้ำที่เหลือจะกลั่นตัวออกหลังจากผ่าน Air Dryer อีก 2.295 g/m3Dry Air (FAD)
 
ค่ามาตรฐานความสะอาดของลมอัดของงานประเภทต่าง ๆ
          ดังที่กล่าวไว้ในตอนแรกของบทความแล้วว่า ความต้องการคุณภาพของลมอัดในแต่ละประเภทนั้นแตกต่างกัน ในกรณีที่เราจะเอาลมอัดมาใช้ในงานทั่ว ๆ ไปนั้น เราไม่จำเป็นต้องเอาลมอัดที่มีความสะอาดมาก แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้ลมอัดกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่เที่ยงตรงสูงและมีความละเอียดมาก เราก็ต้องใช้ลมอัดที่มีความสะอาดสูง เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรืองานทางด้านการแพทย์ เราก็ต้องใช้ลมอัดที่มีความสะอาดและคุณภาพสูง

          สำหรับค่ามาตรฐานที่แบ่งระดับคุณภาพของลมอัดที่เป็นที่นิยมใช้กันคือ ISO 8573.1 (Version 2000) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่แบ่งลมอัดออกเป็นระดับต่าง ๆ โดยจะแบ่งตามระดับคุณภาพของลมอัดที่ออกจากชุดปรับสภาพลมอัด สิ่งที่จะนำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก็คือจำนวนสิ่งเจือปน (Contamination) ชนิดต่าง ๆ ที่ปะปนอยู่ในลมอัดในหน่วย สิ่งเจือปนต่อปริมาณอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร (m3) ดังรายละเอียดในตารางที่ 5

ตารางที่ 5 ระดับความสะอาดของลมอัดตามมาตรฐาน ISO8573.1: 2000

          ในการแบ่งระดับสิ่งเจือปนนั้น จะแบ่งออกเป็นสิ่งเจือปนที่เป็นอณุภาคของของแข็งและอณุภาคของของเหลวคือน้ำและน้ำมัน ซึ่งถ้าเราจะพิจารณาถึงลำดับขั้นตอนของการกำจัดสิ่งเจือปนเหล่านี้แล้วเราจะเห็นว่า อณุภาคที่เป็นน้ำมันกับของแข็งนั้นสามารถกำจัดได้โดยการใช้กรองในระบบ 

          ส่วนอณุภาคที่เป็นน้ำนั้นเราสามารถกำจัดออกได้โดยการลดอุณหภูมิจุดน้ำค้างให้ต่ำลงให้มากที่สุด ซึ่งจากตารางที่ 5 เราจะเห็นว่าที่ระดับความสะอาดของอากาศสูง ๆ อุณหภูมิของจุดน้ำค้าง (Dew Point) จะต่ำมาก ๆ ซึ่งในการใช้งานนั้นเราก็ต้องเลือกให้มีความเหมาะสมกับกระบวนการที่จะใช้ลมอัด เพราะในการใช้อุณหภูมิจุดน้ำค้างต่ำมาก ๆ นั้นสิ่งที่ได้คืออากาศที่มีน้ำเจือปนอยู่น้อย แต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงตามมาด้วย

สรุป
          จากบทความข้างต้นคงจะทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจและมองภาพของในเรื่องของอุณหภูมิหยดน้ำค้างของลมอัด  ตลอดจนถึงความสำคัญและรายละเอียดของคุณภาพของลมอัดออก ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจแล้วก็สามารถที่จะมองถึงจุดที่ควรจะให้ความสำคัญของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบลมอัดออกและนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ในงานที่ท่านมีความเกี่ยวข้องและรับผิดชอบอยู่ได้อย่างถูกต้อง

เอกสารอ้างอิง
          1. Compressed air drying system, DELAIR PVT Ltd., India
          2. Compressed air fact, Druckluft Huber GmbH, Germany
          3. Compressed air manual 6th Edition, ATLAS COPCO

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด