เนื้อหาวันที่ : 2012-02-08 10:00:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3664 views

การพัฒนาเออร์โกโนมิกเพื่อประสิทธิภาพโดยรวมของบริษัท (ตอนที่ 1)

ในการเลือกใช้อุปกรณ์ เครื่องมือหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานนั้น มีปัจจัยสำคัญหลายประการที่ใช้ประกอบการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ความถูกต้องตามหลักเออร์โกโนมิก

ศิริพร วันฟั่น
 
          เมื่อได้เห็นหัวเรื่องของบทความแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะเป็นงง และสงสัยว่า ‘เออร์โกโนมิก’ หรือกายศาสตร์มาเกี่ยวข้องอะไรกับ ‘ประสิทธิภาพโดยรวมของบริษัท’ เพราะว่าโดยปกติแล้ว เมื่อพูดถึงเออร์โกโนมิก เราก็มักจะนึกถึงเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานเท่านั้น ถ้าอยากรู้ก็ต้องดูกันต่อไป

          เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่แล้วว่า ในการเลือกใช้อุปกรณ์ เครื่องมือหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานนั้น มีปัจจัยสำคัญหลายประการที่ใช้ประกอบการพิจารณาร่วมกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ความถูกต้องตามหลักเออร์โกโนมิก ซึ่งเรามีข้อพิจารณาพื้นฐานในการประเมินและคัดเลือกผลิตภัณฑ์เออร์โกโนมิก อยู่ 2 ประการด้วยกัน นั่นก็คือ รูปแบบ (Design) และ ฟังก์ชันการใช้งาน (Application) ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

ซึ่งแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์เออร์โกโนมิก จะต้องยึดสรีระร่างกายตามธรรมชาติของผู้ใช้งานเป็นหลัก นอกจากนี้แล้วยังต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับลักษณะงานที่ทำ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายและง่ายต่อการใช้งานอีกด้วย

          ซึ่งการที่จะทำอย่างนี้ได้ จะต้องมีการชี้บ่ง (Identification) ถึงปัจจัยเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk Factors) 4 ประการ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับข้อร้องเรียนของผู้ปฏิบัติงานในเรื่อง ‘ความไม่สะดวกในการใช้งาน’ (Discomfort) ดังต่อไปนี้

ปัจจัยเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk Factors) 
          1) การวางลักษณะท่าทางร่างกายที่ไม่ถูกต้องในการทำงาน (Awkward Postures) ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดเลยก็ว่าได้ แถมยังอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บจากการทำงาน เช่น การปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก อันมีสาเหตุมาจากการวางลักษณะท่าทางของร่างกายที่ผิดปกติ หรือไม่สามารถรักษาสมดุล

หรือการทรงตัวของร่างกายไว้ได้ตลอดช่วงระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน เช่น การก้มลงเพื่อยกของหนัก การเอื้อมมือในระยะไกล รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้เก้าอี้ หรือโต๊ะทำงานที่สูงหรือต่ำจนเกินไป ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงหรือผ่อนหนักให้เป็นเบา โดยการเปลี่ยนตำแหน่งการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เพื่อที่เลือดจะได้ไหลเวียนและส่งสารอาหารไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้จะต้องมีการพิจารณาเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ เครื่องมือหรือผลิตภัณฑ์ที่เอื้ออำนวยต่อการวางลักษณะท่าทางร่างกายของผู้ปฏิบัติงานในระหว่างการทำงาน หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘ผลิตภัณฑ์เออร์โกโนมิก’ แทน 

          2) แรงกดที่มีต่อร่างกาย (Mechanical Stresses) เป็นแรงกดอันมีสาเหตุมาจากการที่ตำแหน่งของอวัยวะร่างกายบางส่วนสัมผัสกับขอบ เหลี่ยม หรือมุมของวัตถุหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นเวลานาน เช่น การพิมพ์งานคอมพิวเตอร์ที่ต้องวางตำแหน่งข้อมือสัมผัสกับขอบโต๊ะ ซึ่งแรงกดที่เกิดขึ้นอาจนำมาสู่การอักเสบของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อบริเวณที่สัมผัสเป็นเวลานานได้

          3) กิจกรรมในงานที่มีลักษณะซ้ำ ๆ (Repetition) อาจนำไปสู่การเมื่อยล้าและบาดเจ็บได้ เพราะมีการใช้กล้ามเนื้อเดิมซ้ำ ๆ กันเป็นเวลานาน เช่น งานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ค้อนตอกตะปู หรือแม้แต่การถักนิตติ้ง หรือโคร์เชต์ ก็ถือเป็นงานประเภทนี้เช่นกัน

          4) กิจกรรมในงานที่ต้องใช้แรงมาก (Force) เช่น การยกหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมากโดยไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือช่วยผ่อนแรง อาจทำให้คอเคล็ด หลังยอก หรือที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้น จากการยกของผิดท่าทางนั่นเอง

องค์ประกอบหลักของแผนงานเออร์โกโนมิก 
          1. การฝึกอบรมเพื่อให้เข้าใจถึงหลักเออร์โกโนมิกพื้นฐานสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งอาจมีการปรับเนื้อหาให้เข้ากับลักษณะพื้นที่งาน มุ่งเน้นในเชิงปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ปกติแล้วการฝึกอบรมนี้มักใช้เวลาไม่นานนัก โดยมุ่งเน้นย้ำไปที่วิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง และประโยชน์ที่จะได้รับ ตลอดจนผลกระทบจากการปฏิบัติงานผิดท่าทาง

          2. กำหนดหรือระบุลักษณะหน้าที่งานในแต่ละขั้นตอน ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับหลักเออร์โกโนมิก โดยผู้ปฏิบัติงานควรได้รับทราบเป้าหมายและมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ ส่วนผู้บริหารก็ต้องให้การสนับสนุนและมีการวัดผลอย่างเป็นระบบ

          3. กำหนดมาตรฐานภายในองค์กร สำหรับประเด็นปัญหาด้านเออร์โกโนมิกที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการใหม่ หรือกระบวนการเดิม โดยต้องมีการพิจารณาปรับปรุงกระบวนการและเครื่องมือ เพื่อป้องกันและลดความจำเป็นในการออกแบบใหม่ ซึ่งมาตรฐานเออร์โกโนมิกนี้ ควรพิจารณาถึงน้ำหนักตัว ขนาดร่างกาย รวมถึงอายุของผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมายด้วย

          การฝึกอบรม ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อความสำเร็จ ในการดำเนินแผนงานเออร์โกโนมิก เป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติงาน ที่จะได้มีส่วนร่วมในการก้าวย่างของกระบวนการพัฒนาเออร์โกโนมิก โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้  
          * การชี้บ่งความเสี่ยง (Identifying Risk) 
          * การลดความเสี่ยง (Reducing Risk) 
          * การพิสูจน์รับรองในการลดความเสี่ยง (Verifying Risk Reduction) 
          * การจัดการในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ (Managing Injuries) 
          * และการดูแลรักษาแผนงานให้มีความยั่งยืนต่อไป (Maintaining Program Sustainability)

          เมื่อมองว่าการฝึกอบรมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น จึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้า รวมถึงมีการพิจารณามุ่งเน้นไปยังประเด็นสำคัญ และมีการประสานงานที่ดี เพื่อจัดสัดส่วนในการฝึกอบรมสำหรับการพัฒนาเออร์โกโนมิก มีการอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นในการฝึกอบรม ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการฝึกอบรม ตลอดจนเนื้อหาของการฝึกอบรมในแต่ละระดับอีกด้วย

          เหตุผลในการฝึกอบรม เป็นการเตรียมการเพื่อจัดสรรเครื่องมือ ตลอดจนบุคลากรที่เต็มเปี่ยมไปด้วยทักษะ ความรู้ ความสามารถ ซึ่งประสบความสำเร็จในการทำงาน อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้วยความเข้าใจและตระหนักในประเด็นปัญหาด้านเออร์โกโนมิก ที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำเป็นอย่างดี ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนให้การพัฒนาเออร์โกโนมิกประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน
    
ลำดับขั้นตอนในการฝึกอบรม 
          1. เริ่มจากการให้ข้อมูลแก่ผู้จัดการอาวุโส เพื่อสนับสนุน ผลักดันให้มีบทบาทเป็นผู้นำ และสามารถที่จะระบุหรือกำหนดแนวทางและเป้าหมายในการดำเนินแผนงานเออร์โกโนมิกได้

          2. ฝึกอบรมบุคลากรที่จะรับผิดชอบในการบริหารจัดการกระบวนการพัฒนาเออร์โกโนมิก โดยบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของผู้จัดการกระบวนการพัฒนาเออร์โกโนมิกก็คือ การประสานและกระจายงานทั้งหมดของการพัฒนาเออร์โกโนมิก ซึ่งการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้น ต้องมีความเข้าใจถึงเป้าหมายขององค์กรและความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาเออร์โกโนมิก รวมถึงสามารถระบุหน้าที่ของบุคลากรแต่ละระดับในการสนับสนุน และพัฒนาแผนการดำเนินงานและการสื่อสารภายในองค์กรได้

          3. พัฒนาทักษะ ความสามารถ และความเชื่อมั่นของสมาชิกทีมพัฒนาเออร์โกโนมิก รวมถึงวิศวกร ช่างซ่อมบำรุง ตลอดจนฝ่ายทรัพยากรบุคคล 

          - ทีมงานเออร์โกโนมิก จะรับผิดชอบในการประเมินความเสี่ยงด้านเออร์โกโนมิก และเป็นผู้นำในการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานให้ดีขึ้น โดยควรที่จะเลือกใช้เครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการประเมินความเสี่ยง การจัดลำดับความเสี่ยง การวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง และกระบวนการดำเนินงานสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

          - วิศวกรและช่างซ่อมบำรุง จะมีบทบาทสำคัญในการออกแบบและติดตั้งสถานีงาน (Work Station) สิ่งแวดล้อมในการทำงาน เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะช่วยลดการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงด้านเออร์โกโนมิก ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับทีมงานเออร์โกโนมิก ในการวางแผนเพื่อปรับปรุงงานที่มีอยู่เดิมและป้องกันปัจจัยเสี่ยงด้านเออร์โกโนมิก

          - ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ควรมีการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อม ในการรับมือกับการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกอันเนื่องมาจากการทำงาน (Work–related Musculoskeletal Disorders: WMSDs)

          4. ผู้จัดการและหัวหน้างานควรได้รับการฝึกอบรมให้มีความตระหนัก และสามารถให้คำแนะนำกับพนักงานในเรื่องวิธีปฏิบัติและพฤติกรรมที่ถูกต้องในการทำงาน รวมถึงการพัฒนาสภาวะแวดล้อมในการทำงาน โดยเฉพาะหัวหน้างานควรมีการเตรียมความพร้อม เพื่อช่วยดำเนินการตามแผนพัฒนาที่ได้ถูกกำหนดไว้แล้วโดยทีมงานเออร์โกโนมิก วิศวกรและช่างซ่อมบำรุง ซึ่งหัวหน้างานนั้นถือได้ว่าเป็นผู้มีความใกล้ชิดและเป็นผู้ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานระดับปฏิบัติการโดยตรง

          5. พนักงานระดับปฏิบัติการควรได้รับการฝึกอบรมให้มีความตระหนัก และสามารถชี้บ่งปัจจัยเสี่ยงด้านเออร์โกโนมิกในงานที่ทำ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น และการรายงานประเด็นปัญหาเออร์โกโนมิกที่ซับซ้อนให้หัวหน้างานได้รับทราบ

เนื้อหาในการฝึกอบรม  
          โครงสร้างของระดับขั้นและเนื้อหาในการฝึกอบรม ควรที่จะมุ่งเน้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม สามารถที่จะช่วยสนับสนุนกระบวนการพัฒนาเออร์โกโนมิกในบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ โดยการฝึกอบรมควรที่จะรวมประเด็นเหล่านี้ไว้ด้วย

          - ภาพรวมเป้าหมายขององค์กรสำหรับกระบวนการพัฒนาเออร์โกโนมิก และโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุน

          - หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการพัฒนาเออร์โกโนมิก

          - วิธีและความคาดหวังในการชี้บ่งประเด็นปัญหาด้านเออร์โกโนมิกในสถานีงาน และกิจกรรมในงาน

          - วิธีปฏิบัติ เครื่องมือ รวมถึงอุปกรณ์ที่มีลักษณะเฉพาะ และเอื้ออำนวยในการลดความเสี่ยงด้านเออร์โกโนมิกในสถานีงานและกิจกรรมในงาน

          - ความคาดหวังในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสถานีงาน และกิจกรรมในงานสำหรับการลดความเสี่ยง

          - การรายงานประเด็นปัญหาด้านเออร์โกโนมิกที่ซับซ้อนให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ

          - ขั้นตอนและความคาดหวังในการรายงานสิ่งบอกเหตุ ลักษณะอาการของการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกอันเนื่องมาจากการทำงาน (WMSDs)

          ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลที่ถูกระบุไว้ในกระบวนการพัฒนาเออร์โกโนมิก จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้สำหรับแต่ละระดับขั้นของการฝึกอบรม ควรมีการยกตัวอย่างหรือกรณีศึกษาที่มีลักษณะใกล้เคียง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและเป็นการพัฒนาทักษะไปด้วยในตัว เพื่อที่จะใช้ในการประเมินปัจจัยเสี่ยงด้านเออร์โกโนมิก การใช้มาตรการควบคุมเชิงวิศวกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำงาน

รวมถึงการสอบสวนเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกอันเนื่องมาจากการทำงาน (WMSDs) โดยที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคน จะต้องมีส่วนร่วมทั้งทางด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อความมั่นใจว่าสามารถนำไปสู่กระบวนการพัฒนาเออร์โกโนมิกในหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ จึงกล่าวได้ว่าการฝึกอบรมนั้นเป็นกิจกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน และคงรักษาไว้ได้อย่างยั่งยืน ของกระบวนการพัฒนาเออร์โกโนมิกที่มีประสิทธิภาพ

          ปัจจัยที่สำคัญอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จ มีประสิทธิภาพ มีผลบังคับใช้ และมีความยั่งยืนของการฝึกอบรมเออร์โกโนมิก มีดังนี้
          - อยู่บนพื้นฐานสิ่งที่จำเป็น เนื้อหา การมีส่วนร่วม และการระบุบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ

          - เริ่มต้นจากการสนับสนุนที่ดีจากผู้บริหารระดับสูง และลงท้ายด้วยผู้ปฏิบัติงานมีความตระหนัก เห็นความสำคัญของการฝึกอบรม

          - สามารถที่จะวัดผลแห่งความสำเร็จได้ จากการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากที่เข้ารับการฝึกอบรมแล้ว

          ยุทธศาสตร์ (Strategy) ไม่ใช่เป็นแค่ภาระของผู้บริหารหรือผู้หนึ่งผู้ใดที่จะมาตัดสินใจเพื่อความอยู่รอดขององค์กรเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นกระบวนทรรศน์ที่สำคัญของผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานด้วยเช่นกัน ซึ่งยุทธศาสตร์นั้นจำต้องมีทั้ง วิสัยทัศน์ (Vision) และ การปฏิบัติ (Action) โดยต้องมีมุมมองในหลาย ๆ มิติ เช่น ผลลัพธ์ที่ปรารถนา คู่แข่งกำลังทำอะไรอยู่ ศักยภาพขององค์กร หลักเกณฑ์ที่นำมาปฏิบัติ สิ่งใดที่เป็นอุปสรรคหรือช่วยสนับสนุนต่อกระบวนการพัฒนาเออร์โกโนมิก เป็นต้น

          โดยต้องเปิดมุมมองให้กว้าง อย่าลืมคำว่า “Ergonomics” นั้นถ้าดูตามตัวอักษรแล้วจะหมายถึง วิทยาการ (Science-nomics) ของงาน (Work–from the Greek Word ‘ergon’) ดังนั้นยุทธศาสตร์ตามคำจำกัดความของเออร์โกโนมิกก็คือ การพัฒนาความเหมาะสมระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับงานที่ทำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาความปลอดภัย ประสิทธิภาพในการผลิตและขวัญกำลังใจ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมี 3 วิธี คือ

          - ทำให้งานเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน ผ่านทางการออกแบบ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบ การจัดวางตำแหน่ง เป็นต้น

          - ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเหมาะสมกับงาน ผ่านทางการพัฒนาทักษะให้มีใจจดจ่อในการควบคุม การประเมินความเสี่ยง การพัฒนาทักษะในการประสานงานทางกายภาพของผู้ปฏิบัติงาน ช่วงจังหวะหรือท่วงทำนอง ท่วงท่าในการทำงาน เป็นต้น

          - ทำให้งานเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน พร้อมกับทำให้ผู้ปฏิบัติงานเหมาะสมกับงานในคราวเดียวกัน

          โดยทั่วไปแล้วมักจะเลือกใช้วิธีสุดท้าย ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า เพราะเปรียบเสมือนการเปิดฝาขวดโดยใช้มือหนึ่งหมุนก้นขวดไปตามเข็มนาฬิกาในขณะที่อีกมือหนึ่งหมุนฝาขวดไปในทางทวนเข็มนาฬิกาไปพร้อม ๆ กัน

          นักยุทธศาสตร์ต้องมองหาจุดแข็ง จุดด้อย และข้อจำกัดในทุก ๆ วิธีที่เลือกใช้ ดังนั้นนักยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัย (Safety Strategists) จึงสามารถที่จะใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ของเออร์โกโนมิก ในการปรับกลวิธีที่เป็นสะพานเชื่อมต่อช่องว่างระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งจุดประสงค์ของการออกแบบตามหลักเออร์โกโนมิก หรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็คือ การสรรค์สร้างความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีมากขึ้น

ในขณะเดียวกันก็เป็นการยกระดับความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงานไปพร้อมกันด้วย จึงถือเป็นภาระหน้าที่ของนักยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยที่จะต้องมองเห็นและสามารถที่จะระบุปัจจัยร่วม (Contributing Factors) ที่แท้จริงทั้งหมดที่มีต่อปัญหาความปลอดภัยได้

          การพัฒนาที่ถูกหลักสำหรับการสัมผัส จับต้อง ใช้งานวัสดุและเครื่องมือ สามารถที่จะช่วยลดการบาดเจ็บจากปัญหาด้านเออร์โกโนมิก และยังได้รับประโยชน์ในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นอีกด้วย โดยในแต่ละวัน เราจะพบว่า การเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เป็นกระบวนการปกติในอุตสาหกรรม

ซึ่งผู้ปฏิบัติงานก็จะมีการยก ลาก ผลัก ดัน ดึงและหิ้ววัตถุเหล่านั้นเป็นประจำ จึงอาจนำมาซึ่งการได้รับบาดเจ็บจากการทำงานผิดวิธี หรือผิดหลักเออร์โกโนมิกได้ จากสถิติจะพบว่า “หลัง” เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่มักได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยออกมาในรูปของเคล็ดขัดยอก ปวดเมื่อย ข้อต่ออักเสบ เสื่อมหรือเคลื่อนจากตำแหน่ง

          การพิจารณาว่างานไหนควรได้รับการพัฒนา อันดับแรกเราควรที่จะทำการรวบรวมสถิติการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงด้านเออร์โกโนมิก โดยรวบรวมข้อมูลจาก 3 ทางด้วยกัน คือ
          - จำนวนการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและกระดูกอันมาจากการทำงาน (WMSDs) ก่อนหน้านี้
          - จำนวนข้อร้องเรียนจากความรู้สึกไม่สะดวกกายของผู้ปฏิบัติงาน
          - จำนวนความเสี่ยงด้านเออร์โกโนมิก ที่มีสาเหตุมาจากการออกแรง ความถี่ ท่วงท่า และระยะเวลา

          จากข้อมูลที่ได้ เราก็สามารถที่จะจัดลำดับงานได้ ว่างานไหนมีจำนวนประเด็นที่เชื่อมโยงกับปัญหาด้านเออร์โกโนมิกมากที่สุด และสมควรจะได้รับการพัฒนาแก้ไขก่อนงานอื่น ๆ ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น จำนวนผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัส จำนวนกะการทำงาน และความถี่ของงาน เป็นต้น

          การพัฒนาหนทางแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติ เมื่อเรารู้แล้วว่า งานไหนมีปัจจัยเสี่ยงด้านเออร์โกโนมิกมากที่สุด และควรได้รับการแก้ไขก่อนงานอื่น ก็ต้องมีการพัฒนาวิธีแก้ไขปัญหาที่มีผลในทางปฏิบัติ โดยการมองหาหนทางแก้ไขปัญหาที่ใช้งบประมาณไม่สูง และสามารถกระทำได้ง่าย เพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น ซึ่งมีปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาถึง ดังนี้
          - การลดความเสี่ยงด้านเออร์โกโนมิก
          - งบประมาณที่ใช้
          - ความสามารถในการผลิต
          - จำนวนผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบ
          - ระยะเวลาดำเนินการ
          - ความยาก–ง่าย ในการดำเนินการ

ลำดับชั้นของการควบคุม (A Hierarchy of Controls)
          1. การควบคุมเชิงวิศวกรรม (Engineering Controls) เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม โดยการเคลื่อนย้ายแหล่งกำเนิดความเสี่ยงออกไปจากงาน เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสถานีงาน อุปกรณ์หรือการไหลของงาน (Work Flow)

          2. การควบคุมเชิงบริหารจัดการ (Administrative Controls) เช่น การหมุนเวียนงาน การจัดช่วงระยะเวลาพัก

          3. การปรับปรุงดัดแปลงวิธีปฏิบัติงาน (Work Practices Modifications) มีการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้รับทราบถึงวิธีสัมผัส จับต้อง ใช้งานวัสดุ เครื่องมือรวมถึงเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกอย่างถูกวิธีตามหลักเออร์โกโนมิก

          4. อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคล (Personal Protective Equipment) เช่น สายรัดหลัง (Back Supports) สายรัดข้อมือ (Wrist Supports) ถุงมือ (Gloves) ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ใช้เฉพาะในกรณีที่ไม่สามารถใช้มาตรการอื่น ๆ ได้แล้ว

          การเลือกใช้เครื่องมือ (Tools) ที่ออกแบบมาอย่างไม่เหมาะสม หรือการใช้งานอย่างผิดวิธี จะนำมาซึ่งการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกอันเนื่องมาจากการทำงาน (WMSDs) ได้ เช่น การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ และเส้นประสาท โดยมักจะแสดงให้เห็นอาการอย่างเด่นชัดเมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการใช้เครื่องมือประเภทมือจับ (Hand Tools) จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงของ WMSDs อันมีสาเหตุมาจากการใช้ข้อมือและมือในท่วงท่าที่ไม่ถูกต้อง หรือกล้ามเนื้อเกร็งจากการจับถือเครื่องมือที่มีน้ำหนักมาก การสั่น แรงบิด อุณหภูมิ และการหนีบ เป็นต้น เมื่อเราสามารถที่จะขจัด หรืออย่างน้อยลดการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ก็จะช่วยส่งผลให้สามารถลดความเสี่ยงของการเกิด WMSDs ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานได้

          แนวทางเออร์โกโนมิก (Ergonomic Guidelines) องค์ประกอบหนึ่งก็คือ การออกแบบเครื่องมือโดยยึดหลักเออร์โกโนมิก (Ergonomic Design) ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด บนความมั่นใจว่าเครื่องมือประเภทมือจับ (Hand Tools) ที่ถูกออกแบบมานี้นั้น จะเป็นตัวช่วยเอื้ออำนวยและสนับสนุนสิ่งที่จำเป็นและมีคุณสมบัติที่ต้องการสำหรับงานนั้น ๆ ในขณะเดียวกันก็ไม่เกินขีดความสามารถที่มีอยู่ของผู้ใช้งาน โดยต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน เพื่อที่จะตอบคำถามให้กระจ่างชัดก่อนการออกแบบหรือเลือกใช้เครื่องมือ เช่น

          - ฟังก์ชันการทำงานของเครื่องมือที่ต้องการ: ความจำเป็นหรือความต้องการในงาน ฯลฯ
          - สภาพพื้นที่งานที่เครื่องมือถูกนำไปใช้: ลักษณะพื้นผิวงาน ฯลฯ
          - บุคคลใดเป็นผู้ใช้เครื่องมือ: เพศ ขนาด สรีระร่างกาย ฯลฯ

          ในการเลือกใช้รูปแบบดีไซน์ของเครื่องมือ ควรพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมตามหลักเออร์โกโนมิก ซึ่งนอกจากจะช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงานแล้ว ยังเป็นการพัฒนาความปลอดภัยและลดการบาดเจ็บได้อีกด้วย โดยมีแนวทางเออร์โกโนมิกในการเลือกใช้เครื่องมือ ดังนี้
          - เลือกใช้เครื่องมือที่ถูกต้องสำหรับงานและผู้ใช้งาน

          - ใช้เครื่องมือเป็นตัวหมุนแทนการหมุนข้อมือ ในบางครั้งก็อาจเลือกใช้เครื่องมือที่มีลักษณะโค้งงอตามสภาพความเหมาะสมในการใช้งาน

          - หลีกเลี่ยงการใช้แรงที่มากเกินในการจับหรือกดเครื่องมือ หรือลดการใช้นิ้วในการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ และมีความถี่สูง

          - หลีกเลี่ยงการใช้การมือหรือข้อมือหมุน โดยเลือกใช้เครื่องมือประเภทกำลัง (Power Tools) แทนเครื่องมือประเภทมือจับ (Hand Tools)

          - ใช้นิ้วมือ 2, 3 หรือ 4 นิ้ว ในการกดไกเหนี่ยวสำหรับเครื่องมือประเภทกำลัง และแรงในการกดไกเหนี่ยว (Triggers) ไม่ควรเกิน 4 ปอนด์ (1.8 kg) ในขณะที่ไกเหนี่ยวควรมีความยาวอย่างน้อย 1 นิ้ว (2.5 cm) เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้นิ้วมากกว่า 1 นิ้วในการเหนี่ยวไก

          - สำหรับด้ามจับของเครื่องมือประเภทมือจับ (Hand Tools) ควรทำด้วยวัสดุกันลื่น ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า หรือเพิ่มแรงเสียดทาน (Friction) เช่น ยางที่บิดได้ (Compressible Rubber) และจับได้อย่างกระชับ ไม่เลื่อนหลุดเวลาใช้งาน หลีกเลี่ยงด้ามจับที่มันหรือขัดเงา ส่วนด้ามจับของเครื่องมือประเภทกำลัง (Power Tools) ควรทำจากวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้าและความร้อน โดยอาจทำจากพลาสติกหรือยางผสม

          - ด้ามจับควรมีความยาวอยู่ในช่วง 4.5–5.5 นิ้ว (11.4–14.0 cm) และมีความยาวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.5 นิ้ว (1.3 cm) สำหรับกรณีที่มีการสวมถุงมือ

          - ด้ามจับควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง (Diameter) อยู่ในช่วง 1.25–1.75 นิ้ว (3.2–4.4 cm) โดยมาก จะแนะนำที่ขนาด 1.5 นิ้ว (3.8 cm) ส่วนงานที่ต้องใช้ความละเอียด แม่นยำ (Precision) ควรอยู่ในช่วง 0.3– 0.6 นิ้ว (0.8–1.5 cm)

          - แรงกดจากการใช้เครื่องมือประเภทมือจับ (Hand Tools) ที่ส่งผ่านมายังฝ่ามือและนิ้ว ไม่ควรเกิน 22 ปอนด์/ตารางนิ้ว (10 kg/cm2)

          - หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการสั่นของเครื่องมือเวลาจับในขณะที่ใช้งาน เช่น สวมถุงมือตลอดเวลาที่ใช้งาน

          - ปริมาณน้ำหนักและการกระจายน้ำหนักในตัวเครื่องมือ จะมีผลกระทบต่อผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้มือเดียวหรือสองมือในการจับเครื่องมือให้มั่นคง จำนวนเวลาที่สามารถทนจับไว้ได้ ความละเอียดและแม่นยำในเครื่องมือที่ใช้งาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว น้ำหนักของเครื่องมือไม่ควรเกิน 3 ปอนด์ (1.4 kg) หรือน้อยกว่านี้เมื่อจับด้วยมือเดียว ส่วนงานที่ต้องใช้ความละเอียด แม่นยำ ควรใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักไม่เกิน 1 ปอนด์ (0.5 kg)

โดยการกระจายน้ำหนักที่ดีในตัวเครื่องมือ จะช่วยให้จับเครื่องมือได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นการจัดแนวศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงของเครื่องมือ ให้เข้ากับตำแหน่งศูนย์กลางของการจับเครื่องมือได้อย่างเหมาะสม กรณีที่ไม่สามารถลดน้ำหนักของเครื่องมือหรือเครื่องมือไม่มีความสมดุล ก็สามารถใช้อุปกรณ์เสริมความสมดุล เช่น อุปกรณ์ช่วยจับ เข้ามาช่วยในการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้นได้
    
(โปรดติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า)

เอกสารอ้างอิง
          * Key elements in ergonomics training, Walt rostykus, Vice president and Ergonomics               engineer of Humantech inc. Sep, 2005.

          * Fueling ergonomics in the oil and gas industry, Cynthia L. President and Ceo of Ergonomic Technologies Corp. (ETC), July, 2006. 
     

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด