เนื้อหาวันที่ : 2012-02-06 10:15:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 10611 views

แนวปฏิบัติโลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อม (ตอนที่ 1)

ปัจจุบัน โลจิสติกส์ ได้มีบทบาททั้งภาคธุรกิจการผลิตและการบริการ โดยทั่วไปกิจกรรมทางโลจิสติกส์ประกอบด้วยการขนส่งนำเข้า และการกระจายสินค้าสู่ภายนอก

โกศล ดีศีลธรรม
     
          ปัจจุบัน โลจิสติกส์ (Logistics) ได้มีบทบาททั้งภาคธุรกิจการผลิตและการบริการ ตามที่ Council of Logistics Management (CLM) นิยามไว้ว่า “การบริหารโลจิสติกส์ (Logistics Management) เป็นกระบวนการเกี่ยวกับ การวางแผน การดำเนินงานและการควบคุม เพื่อให้ทรัพยากรเกิดการไหลอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมถึงประสิทธิผลด้านต้นทุน การจัดเก็บสต็อกและเชื่อมโยงสารสนเทศ”

โดยทั่วไปกิจกรรมทางโลจิสติกส์ประกอบด้วยการขนส่งนำเข้า (Inbound Transportation) และการกระจายสินค้าสู่ภายนอก (Outbound  Distribution) นั่นคือ การบริหารโลจิสติกส์ คือ ส่วนหนึ่งของกระบวนการห่วงโซ่อุปทานที่สนับสนุนการวางแผน ควบคุมการไหลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเก็บรักษาสินค้าและเชื่อมโยงข้อมูลจากจุดเริ่มต้นไปสู่ผู้บริโภคเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยเหตุนี้การบริหารโลจิสติกส์จะมุ่งบูรณาการปัจจัยหลักเพื่อสร้างประสิทธิผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย

          1. การเคลื่อนย้ายทรัพยากร โดยเริ่มจากผู้ส่งมอบดำเนินการจัดส่งชิ้นส่วนและวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตหลัก ซึ่งแต่ละกระบวนการของระบบโลจิกติกส์ได้มุ่งการเพิ่มคุณค่า (Value-added) ด้วยการแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์และส่งมอบให้กับลูกค้า รวมทั้งกระบวนการส่งคืนสินค้า การรีไซเคิล และการกำจัด สำหรับกิจกรรมเคลื่อนย้ายทรัพยากรจำแนกได้เป็น

          * การกระจาย เป็นกิจกรรมเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าด้วยระบบกระจายสินค้าซึ่งเชื่อมโยงกับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้ค้าปลีก

          * การปฏิบัติการ คือ กิจกรรมช่วงการผลิตที่มุ่งจัดการสต็อกงานระหว่างผลิตด้วยแผนกำหนดการผลิตหลัก(MPS) เพื่อจัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมสนับสนุนกิจกรรมการผลิต ต่างจากการกระจายสินค้าสู่ตลาดที่มุ่งบริการลูกค้าและจัดการความผันผวนอุปสงค์ตลาด

          * การจัดหาจัดซื้อ (Procurement) ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การว่าจ้างผู้รับช่วงภายนอก(Outsourcing) และการประกอบ (Assembly) โดยเฉพาะองค์กรข้ามชาติที่มีเครือข่ายทั่วทุกภูมิภาคจะมุ่งสร้างความได้เปรียบทางต้นทุนและแหล่งจัดหาจากเครือข่ายผู้ส่งมอบ โดยต้องพิจารณาปัจจัยผู้ส่งมอบที่สามารถส่งมอบงานตามข้อกำหนดและตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในคำสั่งซื้อที่อาจผันแปรตามอุปสงค์ของตลาด รวมทั้งสนับสนุนการให้บริการ ซึ่งเชื่อมโยงและประสานการทำงานกับเครือข่ายคู่ค้าด้วยระบบสารสนเทศที่สนับสนุนกระบวนการจัดหาจัดซื้อ 

          2. การเชื่อมโยงสารสนเทศ โดยเฉพาะข้อมูลการพยากรณ์อุปสงค์การส่งคำสั่งซื้อ และรายงานสถานการณ์ส่งมอบซึ่งจัดเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการวางแผนและควบคุมการดำเนินงาน ตลอดจนการตัดสินใจทางกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบการแข่งขันให้กับองค์กร โดยเฉพาะการร่วมใช้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน

          3. ทรัพยากรทางการเงิน ประกอบด้วย กำหนดการจ่ายเงิน การให้สินเชื่อ และการลงทุน


องค์ประกอบระบบโลจิสติกส์

ส่วนกระบวนการโลจิสติกส์สามารถจำแนกได้เป็นโลจิสติกส์ภายในและโลจิสติกส์ภายนอก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. โลจิสติกส์ภายใน (Internal Logistics) จำแนกได้เป็น
     * การไหลของงาน ประกอบด้วยการไหลแบบต่อเนื่องและการไหลของงานแบบทีละชิ้น (Discrete Product) รวมทั้งกิจกรรมสนับสนุนการผลิต

     * การวางแผนทั้งระยะยาวและระยะสั้น โดยพิจารณาทบทวนแผนการผลิตและการบริหารอุปทานเพื่อให้สามารถส่งมอบได้ทันตามกำหนดการ  

2. โลจิสติกส์ภายนอก (External Logistics) เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับองค์กรภายนอกโดยมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารผู้ส่งมอบ (Supplier Management) และส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าหรือเรียกว่า การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) โดยเฉพาะการประสานความร่วมมือและการร่วมใช้สารสนเทศภายในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งกระบวนการจัดหาจัดซื้อ การขนส่ง การกระจายสินค้าและการบริหารสินค้าคงคลัง

แต่ละองค์ประกอบของระบบแสดงถึงกำลังการผลิต (Capacity) และข้อจำกัดทางทรัพยากรที่ส่งผลต่อประสิทธิผลห่วงโซ่อุปทาน โดยมุ่งเน้นความสามารถหลัก (Core Competencies) เพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุด เช่น ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง โตโยต้า และ General Motor มุ่งผลิตเฉพาะชิ้นส่วนหลักและการประกอบรถยนต์ ส่วนชิ้นส่วนย่อยได้ว่าจ้างผู้ที่มีความชำนาญดำเนินการผลิตแทน โดยมีกิจกรรมสนับสนุน ดังนี้

กระบวนการทางโลจิสติกส์

* วางแผน (Plan) โดยมุ่งจัดสรรทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าและการจัดทำมาตรวัด (Metric) สำหรับติดตามประเมินประสิทธิผล

* การจัดหา (Source) โดยคัดเลือกผู้ส่งมอบที่สามารถส่งมอบงานได้ทันตามกำหนดและคุณภาพงานสอดคล้องตามข้อกำหนด กระบวนการจัดหาประกอบด้วย การกำหนดราคา บริหารการจัดส่ง กำหนดรอบจ่ายเงินให้กับผู้ส่งมอบและสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้า

* การจัดทำ (Make) กิจกรรมนี้เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการผลิตซึ่งเป็นกิจกรรมภายใน อาทิ กำหนดการผลิตและกิจกรรมสนับสนุน เช่น การทดสอบ การบรรจุหีบห่อ (Packaging) และจัดเตรียมเพื่อส่งมอบ รวมทั้งส่วนของมาตรวัด นั่นคือ ระดับคุณภาพ ผลิตผลกระบวนการและแรงงาน

* การส่งมอบ (Deliver) โดยครอบคลุมกระบวนการตั้งแต่การรับใบสั่งซื้อลูกค้า การพัฒนาเครือข่ายคลังสินค้า การส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า และระบบเรียกเก็บเงินจากลูกค้า

* การส่งคืน (Return) เป็นกระบวนการโลจิสติกส์แบบย้อนกลับ (Reverse Logistics) เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลังการขาย นั่นคือ หากลูกค้ารับสินค้าที่มีความบกพร่องหรือเกิดความเสียหายขณะใช้งานช่วงรับประกันสินค้าก็จะมีการส่งคืนสินค้ากลับไปยังผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายเพื่อรอรับบริการและนำสินค้ามาเปลี่ยนทดแทนสินค้าที่ชำรุด 

ดังนั้นการจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับมีบทบาทมากต่อการจัดการสินค้าส่งกลับคืน (Product Return) ทั้งการจัดการให้นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) การแทนที่วัตถุดิบ (Material Substitution) หรือการนำชิ้นส่วน วัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) รวมทั้งกระบวนการกำจัดของเสีย (Waste Disposal) เป็นต้น

เป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าหรือวัตถุดิบในทิศทางย้อนกลับ โดยมุ่งสร้างมูลค่าหรือเพื่อทำลายทิ้งอย่างเหมาะสม อาจดำเนินการได้หลายวิธี เช่น เน้นการผลิตสินค้าที่ยืดอายุการใช้งานนานขึ้น เพื่อลดปริมาณสินค้าที่ต้องถูกส่งมากำจัดเร็วเกินความจำเป็น เน้นการใช้วัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในการผลิต หรือแม้แต่การดูแลรักษาเครื่องจักรเพื่อให้ใช้งานได้ยาวขึ้น

โลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics)

          ปัจจุบันความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่รัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันคู่ค้าจากหลายประเทศได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการไทยปฏิบัติตามมาตรฐานสากลว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนจำเป็นต้องมีกาบริหารโลจิสติกส์เพื่อสอดคล้องกับกฎระเบียบการค้าโลกที่มิติสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศกลุ่มยุโรปและอเมริกาเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ได้มีข้อตกลงทางการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้อจำกัดทางการค้ามากขึ้น หากผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงก็จะเป็นการสร้างความสามารถการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ

โดยมาตรการกีดกันที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีหลายประการทั้งมาตรการบังคับและมาตรการสมัครใจ ได้แก่ การห้ามนำเข้า การจำกัดปริมาณ การออกใบอนุญาต การปิดสลากสิ่งแวดล้อม (Eco-Labeling) เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมและการกำหนดมาตรฐานสินค้าด้วยบรรจุภัณฑ์ การห้ามใช้สารบางชนิดในองค์ประกอบผลิตภัณฑ์และกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์

การใช้เงื่อนไขกระบวนการผลิตตั้งแต่ วัตถุดิบ การแปรรูปวัตถุดิบ การผลิต การขนส่งสินค้าและการทำลายเศษหรือสารตกค้าง การกำหนดระเบียบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เพื่อให้ผู้ประกอบสามารถจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อเรียกร้องหรือออกมาตรการให้ผู้ส่งออกปรับเปลี่ยนการใช้วัตถุดิบที่เหมาะสม รวมถึงใช้บรรจุภัณฑ์ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้แนวคิดโลจิสติกส์สีเขียว (Green Logistics) หรือโลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อมได้มีบทบาทต่อกระบวนการค้า การขนส่ง และการส่งมอบสินค้า เป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานรูปแบบต่าง ๆ ในภาคขนส่ง รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง

โดยกระแส Green Logistics ให้ความสำคัญต่อมิติการจัดการโลจิสติกส์ในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อน รวมถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ กิจกรรมการเคลื่อนย้ายและจัดเก็บสินค้าภาคโลจิสติกส์ยังเกี่ยวข้องกับการใช้บรรจุภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ กว่าร้อยละ 80 อยู่ในรูปกล่องกระดาษ วัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระดาษ คือ เยื่อไม้ เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ แนวคิด Green Logistics มุ่งเน้นการนำวัสดุที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้หรือพยายามหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ไม้แพลเล็ต หรือแท่นรองสินค้าถือเป็นอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าทั้งในคลังสินค้าและการขนส่ง โดยแพลเล็ตที่ทำจากพลาสติกหรือกระดาษกำลังได้รับความนิยม เพราะสามารถนำกลับมาใช้ไหมหรือรีไซเคิลได้ ตามพิธีลงนามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เป็นข้อผูกพันทางกฎหมายที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรับมือกับสภาวะโลกร้อน

ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินการโลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีนโยบายให้ภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และภาคขนส่ง มีส่วนร่วมลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะการดำเนินการภาคขนส่งมีภาครัฐ องค์กรด้านโลจิสติกส์ และบริษัทภาคเอกชนจำนวนมากมีส่วนร่วมกิจกรรมโลจิสติกส์สีเขียว เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง การขนส่งสินค้าร่วมกันเพื่อลดจำนวนรถเที่ยวเปล่า การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้เพื่อลดการใช้พลังงาน


กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่

          Mr.Masaaki Toma ผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ (Director of Public Relations) แห่ง JETRO กล่าวว่า Green Logistics ประเทศญี่ปุ่น หมายถึง โลจิสติกส์ที่มองแบบองค์รวม เน้นการลดต้นทุนจากกิจกรรมโลจิสติกส์และการตอบสนองสภาพแวดล้อม โดยให้ความสำคัญทั้งในเรื่องนิเวศวิทยา (Ecology) และเศรษฐศาสตร์ เช่น การลดปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดต้นทุนโดยลดการใช้เชื้อเพลิง การดำเนินการด้าน Green Logistics ของประเทศญี่ปุ่นมุ่งประเด็นหลัก ดังนี้

          1. การรวบรวมสินค้าไว้ที่จุดพักสินค้า (Corporative Transport) คือ การรวมสินค้าจากผู้ประกอบการหลายรายไว้ที่จุดพักสินค้าแล้วจัดเส้นทางเพื่อขนส่งสินค้าร่วมกัน อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มีการรวบรวมชิ้นส่วนจากผู้ส่งมอบเพื่อจัดส่งไปที่โรงงานผู้ผลิตหลัก (Maker) โดยมุ่งให้เกิดต้นทุนต่ำสุดซึ่งปัจจัยต้นทุนประกอบด้วยปริมาณสินค้าคงคลัง ประสิทธิภาพการรับของและระยะทางขนส่งทั้งขาไปและกลับ รูปแบบการจัดส่งอาจจำแนกเป็นการส่งตรงไปที่โรงประกอบเลยหรือส่งไปที่จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Cross Dock) เพื่อรวบรวมแล้วค่อยกระจายส่งอีกที

การรวบรวมเพื่อขนส่งอาจเป็นสัปดาห์ละครั้งหรือมากกว่าวันละครั้งขึ้นอยู่กับปริมาณการจัดส่ง โดยราว 50% จะมีการส่งเป็นรายวันและส่วนที่เหลือจะมีการจัดส่งเป็นบางครั้งคราวหรือตามคำสั่ง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการและตารางการผลิต ผลการทดสอบผู้ประกอบการ 8 ราย ขนส่งสินค้าระยะทาง 600 กิโลเมตร พบว่าสามารถลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้มากและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 40%

ระบบเปลี่ยนถ่ายสินค้า

          2. อบรมจิตสำนึกการขับขี่ให้กับพนักงานขับรถ (Eco-Dive) เพื่อลดการขับรถเร็วเกินมาตรฐาน ลดการเดินเครื่องยนต์เปล่าขณะที่พักผ่อนหรือขนถ่ายสินค้า ผลการดำเนินการดังกล่าวพบว่า บริษัทรถบรรทุกรายใหญ่สามารถลดต้นทุนค่าพลังงานเชื้อเพลิงได้ปีละ 200 ล้านบาท 

          3. การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) โดยมุ่งใช้ระบบทางรางมากขึ้น ในญี่ปุ่นมีการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางรถไฟค่อนข้างมาก การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ 1 เที่ยวเท่ากับการขนส่งด้วยรถบรรทุก 28 คัน ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟ 1 ตันต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.02 กิโลกรัม ขณะที่ทางเรือ 0.04 กิโลกรัม รถบรรทุก 0.35 กิโลกรัม และเครื่องบิน 1.51 กิโลกรัม 

          4. การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Wrapping) โดยใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิลและเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากกระดาษมาเป็นพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ 

การเชื่อมต่อระบบขนส่งแบบต่อเนื่อง

          ดังกรณีผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตราห้าห่วงและตราเฌอร่า ออกนวัตกรรมบูรณาการเพื่อสิ่งแวดล้อม ตามแผนธุรกิจ Green InnoTegration (Innovation + Integration) เพื่อมุ่งลดการใช้ไม้ในกระบวนการขนส่งและจัดเก็บสินค้า  โดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่เข้ามาใช้ในกระบวนการจัดเก็บและขนส่งสินค้าเรียกว่า SKID สร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ในโรงงานมาใช้งานแทนระบบแพลเล็ตไม้แบบเดิม สามารถลดการใช้ไม้ลงกว่า 80% คิดเป็นปริมาณกว่า 30,000 ตัน/ปี

ทั้งนี้บริษัทได้พัฒนาระบบ Green Logistic มาใช้กับระบบจัดเก็บและบริหารสินค้าคงคลัง รวมถึงระบบโลจิสติกส์ของบริษัทเพื่อลดการใช้ไม้ในกระบวนการจัดเก็บและขนส่งสินค้า โดยผสานการใช้งานร่วมกับแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์และรัดด้วยแผ่นพลาสติกใส 3-5 ชั้น โดยวางแผ่นกระเบื้องแนวตั้งฉากเรียงซ้อนกัน

ผลลัพธ์นอกจากจะลดการใช้ไม้ปีละกว่า 30,000 ตันแล้ว ยังสามารถลดปัญหาที่เกิดจากวิธีการจัดเก็บหรือขนย้ายแบบเดิม อาทิ ลดคราบน้ำอันเกิดจากการกองเก็บแผ่นหลังคา, ลดการติดกันของแผ่นหลังคาสีอันเกิดจากการซ้อนทับ, ลดการเกิดรอยขูด รอยถลอกระหว่างแผ่นหลังคา เป็นต้น

          ด้วยกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR ได้รับความสนใจในภาคธุรกิจ ทำให้แทนที่ภาคธุรกิจจะมุ่งเน้นการลดต้นทุนโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันหรือมุ่งทำกำไรเป็นหลัก แต่กระแส CSR ทำให้ธุรกิจคำนึงถึงการบริหารกิจกรรมโลจิสติกส์สีเขียวที่มุ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยปัจจัยภายนอกองค์กรที่ส่งผลต่อการปรับตัวสู่การดำเนินการโลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อม คือ ปัจจัยด้านลูกค้าและตลาด รองลงมา คือ ปัจจัยด้านกฎหมาย ข้อบังคับในประเทศผู้ผลิตและผู้ซื้อ การแข่งขันและสังคม ตามลำดับ ส่วนปัจจัยด้านการจัดหาวัตถุดิบและต้นทุนรวมไม่มีนัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง กล่าวว่าเหตุที่องค์กรธุรกิจให้ความสนใจประเด็นเรื่องโลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประกอบด้วย 

          1. รัฐบาลได้เซ็นข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ผลการลงนามได้ก่อให้เกิดประเด็นการแข่งขัน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกติกาการค้าใหม่ โดยเฉพาะ ISO 26000 เป็นมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2553

          2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ในเรื่องข้อจำกัดน้ำหนักสินค้าที่สามารถบรรทุกหรือบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ (Container) แต่ละประเทศจะมีความต่างกัน รวมทั้งต้องให้ความสำคัญต่อปัญหาอุบัติภัยที่จะมีต่อสังคมและการทำงานที่ปลอดภัย (Safety First) ของบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะต้องประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรมหรือบรรษัทภิบาล (Good Corporate)

          3. ผลการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้ธุรกิจทั่วโลกแสดงความเป็นพลเมืองที่ดี (Good Citizens) ต่อการดำเนินธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ปฏิกิริยาเรือนกระจก (Green-house Effect) รวมทั้งมลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

          4. องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนาของกลุ่มประเทศ OECD ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ออกแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guild lines for Multinational Enterprise) ที่เสนอให้บรรษัทข้ามชาติในกลุ่มประเทศสมาชิกต้องมีการทำ CSRและทำการค้าขายเฉพาะคู่ค้าที่มี CSR เท่านั้น

          สำหรับประเทศไทยทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวที่สามารถแบ่งระดับการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 5 ระดับ ได้แก่

          * ระดับที่ 1 การแสดงความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
          * ระดับที่ 2 การลดระดับผลกระทบตามแผนที่จัดทำไว้
          * ระดับที่ 3 การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบหรือได้รับการรับรองมาตรฐาน
          * ระดับที่ 4 ทุกคนในองค์กรให้ความร่วมมือจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร
          * ระดับที่ 5 การขยายเครือข่ายผ่านโซ่อุปทานสีเขียว โดยการสนับสนุนคู่ค้าหรือพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองเครื่องหมายสีเขียวด้วย

          ส่วนการดำเนินการสนับสนุนกิจกรรมโลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อมของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยสำนักโลจิสติกส์ที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ สนับสนุนการนำแนวทางการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้ประกอบการ อาทิ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุน

อาทิ โปรแกรม  ERP เชื่อมโยงระบบงาน และข้อมูลภายในองค์กร เพื่อการใช้งานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานด้วยระบบ EDI เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล การดำเนินธุรกรรมระหว่างบริษัทคู่ค้าด้วยรูปแบบการสื่อสารที่เป็นมาตรฐานสากล รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้อำนวยความสะดวกในการทำงาน

อาทิ ระบบบาร์โค้ด, RFID มาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ด้วยเหตุนี้แนวคิด Green Logistics ได้มีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่อุตสาหกรรมระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม อาทิ

          กระบวนการจัดหาจัดซื้อ โดยมุ่งประเด็นการพิจารณาแหล่งวัตถุดิบ การเลือกผู้ส่งมอบ การวางระบบการขนส่ง และการวางแนวทางจัดการเครือข่ายจัดซื้อสีเขียว (Green Procurement) เพื่อสนับสนุนให้การจัดซื้อจัดหามีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้การร่วมมือกับคู่ค้ายังช่วยให้สถานประกอบการสามารถวางแผนกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงระหว่างองค์กรในรูปแบบการสั่งซื้อระหว่างองค์กร (B2B) เพื่อลดขั้นตอนงานเอกสาร (Paperless) และลดความผิดพลาดการสั่งซื้อ

          กระบวนการผลิต ตามแนวคิดโลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อมมุ่งเน้นให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตให้เกิดของเสียน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงวงจรอายุวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตจนกระทั่งผลิตภัณฑ์นั้นหมดอายุ และพิจารณาประเด็นการรีไซเคิล (Recycle)

          การจัดการคลังสินค้ โดยมีการวางแผนรับ-ส่งสินค้า เพื่อไม่ให้เกิดการวิ่งรถเปล่าหรือลดจำนวนเที่ยววิ่ง ทำให้เกิดการประหยัดน้ำมันและพลังงาน ดำเนินการโดยการตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) เพื่อทดแทนคลังสินค้าย่อยที่กระจายตัว ทำให้จำนวนรอบการขนส่งลดลง

ดังนั้นการขนส่งสินค้าแบบศูนย์กลางรับ-ส่งผ่านสินค้าในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีการขนส่งที่ใช้ศูนย์กระจายสินค้าหรือคลังสินค้าเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากพาหนะขนส่ง โดยสินค้าที่ได้รับการส่งมอบจากผู้ผลิตสินค้ามาถึงยัง Cross Dock จะถูกขนถ่ายจากรถขนส่ง พนักงานจะคัดแยกและรวบรวมสินค้าตามคำสั่งซื้อลูกค้าแต่ละรายแล้วทำการส่งสินค้าที่คัดแยกแล้วไปยังลูกค้าโดยไม่มีการจัดเก็บที่ศูนย์กระจายสินค้า โดยใช้คลังสินค้าเป็นเพียงจุดผ่านเท่านั้น

เนื่องจากการนำสินค้าเข้ามาเก็บและจัดส่งมักดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้ Cross Dock ทำหน้าที่เสมือนศูนย์กระจายสินค้าโดยการรวบรวมสินค้าจากผู้ผลิตหลายราย โดยมีระบบอำนวยความสะดวกและกระบวนการคัดแยกตามคำสั่งซื้อ

ซึ่ง Cross Dock เป็นกิจกรรมที่อยู่ระหว่างผู้ผลิตสินค้ากับลูกค้า เมื่อสินค้าออกจาก Cross Dock จะส่งมอบให้กับลูกค้าที่ทำหน้าที่จำหน่ายสินค้าซึ่งไม่ใช่ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภค เป็นการจัดส่งโดยตรงไม่มีการผ่านคลังสินค้า หน้าที่หลักของ Cross Dock เป็นตัวกลางรวบรวมสินค้าให้สามารถจัดส่งได้เต็มคันรถหรือใช้พื้นที่คอนเทนเนอร์เต็มประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่แล้วจะกระจายอยู่ตามภูมิภาคซึ่งเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า

ระบบสนับสนุนการขนถ่ายสินค้า

          การจัดการขนส่ง เนื่องจากต้นทุนขนส่ง คือ ตัวแปรหลักของภาคธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะการขนส่งขาเข้า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การกำหนดให้ผู้ส่งมอบเพิ่มความถี่การส่งมอบ ลดจำนวนการวิ่งเที่ยวเปล่า หลีกเลี่ยงเส้นทางหรือช่องทางกระจายสินค้าซ้ำซ้อนและไร้ประสิทธิภาพ

การป้องกันความเสียหายจากการขนส่งและใช้ทรัพยากรสนับสนุนอย่างคุ้มค่า หากมีการร่วมวางแผนระหว่างผู้ส่งมอบกับผู้สั่งซื้อเพื่อกำหนดนโยบายการสั่งซื้ออย่างเหมาะสมและวางแผนเส้นทางจัดส่ง ตลอดจนเลือกทำเลที่ตั้งใกล้แหล่งจัดหาจะส่งผลให้ผู้ประกอบการลดเวลารอคอยและปริมาณการจัดเก็บสต็อกเผื่อ

โดยทั่วไปการออกแบบเส้นทางจะเริ่มด้วยการนำข้อมูลเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ นั่นคือ จำนวนหน่วยแต่ละรุ่น จำนวนหีบห่อต่อแพลเล็ตและประเภทวัสดุหีบห่อที่ใช้ป้องกันสินค้า ข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้กำหนดขนาดหีบห่อแต่ละรุ่น เส้นทางการจัดส่ง อุปกรณ์ขนถ่าย และรูปแบบการจัดเก็บที่มีความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง Carbon Footprint ที่ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายและการขนส่งย้อนกลับ

การกระจายสินค้า

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด