เนื้อหาวันที่ : 2012-01-23 16:36:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2489 views

ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 8)

การคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค เป็นการดำเนินการในการจัดหาผลิตภัณฑ์ และส่งมอบการบริการที่มีความปลอดภัย และไม่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายเมื่อมีการนำไปใช้งาน หรือนำไปบริโภค

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์

          6.2 การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค 
          การคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค จะเป็นการดำเนินการในการจัดหาผลิตภัณฑ์ และส่งมอบการบริการที่มีความปลอดภัย และไม่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายเมื่อมีการนำไปใช้งาน หรือนำไปบริโภค ซึ่งการคุ้มครองนี้ จะรวมไปถึงการนำไปใช้งานตามที่ตั้งใจ หรือการใช้งานที่ไม่ถูกต้องที่ได้คาดการณ์ไว้ด้วย ดังนั้น ข้อแนะนำที่ชัดเจนสำหรับการใช้งาน รวมถึงการประกอบ และการบำรุงรักษาอย่างปลอดภัย จะเป็นส่วนที่สำคัญสำหรับการคุ้มครองสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้บริโภค  

          ผลิตภัณฑ์และการบริการ ควรจะมีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีข้อกำหนดทางกฎหมายด้านความปลอดภัยอยู่หรือไม่ก็ตาม นอกจากนั้น ความปลอดภัยยังรวมไปถึงการคาดการณ์ถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บหรือการเกิดอันตราย แต่เนื่องจากความเสี่ยงต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า หรือสามารถขจัดออกไปได้ทั้งหมด ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ ในการคุ้มครองความปลอดภัย จึงควรรวมไปถึงการถอนหรือเรียกคืนผลิตภัณฑ์ด้วย 

          องค์กรควรจะมีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มที่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ หรือกลุ่มด้อยโอกาส โดยเฉพาะกับเด็ก ที่ไม่มีความสามารถจะทราบถึง หรือประเมินถึงอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยองค์กรควรจะ 

          * จัดให้มีผลิตภัณฑ์และการบริการ ที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน และบุคคลอื่น ๆ รวมถึงต่อทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม ทั้งในสภาพการใช้งานปกติ และที่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า

          * ทำการประเมินถึงความเพียงพอของกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ทางด้านสุขภาพ และความปลอดภัย โดยองค์กรควรจะมีการดำเนินการให้เหนือกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำดังกล่าว เพื่อให้สามารถคุ้มครองได้ดีกว่า โดยพิจารณาจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ หรือการบริการที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดขั้นต่ำ หรือการมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดจำนวน หรือความรุนแรงของอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้

          * หยุดการให้บริการ หรือมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในห่วงโซ่การกระจายสินค้าทั้งหมด ในกรณีที่ได้มีการวางตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ไปแล้ว และพบในภายหลังว่าผลิตภัณฑ์ยังคงมีอันตรายที่ไม่ได้มีการคาดคิดไว้ล่วงหน้า มีข้อบกพร่องที่รุนแรง หรือมีสารสนเทศที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือมีข้อความที่ไม่ถูกต้องอยู่

ทั้งนี้การเรียกคืนผลิตภัณฑ์ ควรจะใช้มาตรการและสื่อต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนที่ซื้อผลิตภัณฑ์ หรือใช้บริการได้รับทราบอย่างทั่วถึง และให้การชดเชยแก่ผู้บริโภคต่าง ๆ สำหรับการที่ได้รับผลเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมด้วย

          * ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยการ 
                    o ระบุถึงกลุ่มผู้ใช้งาน จุดประสงค์ของการใช้งาน และการใช้กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ หรือการบริการอย่างไม่ถูกต้องที่จะสามารถคาดการณ์ได้ รวมถึงการชี้บ่งถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ในทุกขั้นตอนและทุกสภาพของการใช้ผลิตภัณฑ์ หรือการบริการ รวมถึงในบางกรณี อาจจะมีการจัดทำผลิตภัณฑ์ หรือการบริการที่ทำขึ้นเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส 

                    o คาดการณ์ และประเมินค่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นสำหรับผู้ใช้งานแต่ละราย 

                    o ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ตามลำดับของความสำคัญ โดยใช้การออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัย การใช้อุปกรณ์ป้องกัน และข้อมูลสารสนเทศสำหรับผู้ใช้งาน 

          * ดูแลให้มีสารสนเทศที่เหมาะสม สำหรับการนำมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการบริการ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกันไป รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ในความสามารถของผู้บริโภค โดยเฉพาะในการจัดสรรเวลาเพื่อใช้ในการประมวลผลสารสนเทศที่ได้รับ

          * หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย รวมถึงสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง สารที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม สารที่เป็นพิษกับระบบสืบพันธุ์ หรือสารที่ตกค้างยาวนาน และสามารถสะสมอยู่ในร่างกายได้ ซึ่งหากมีการนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีดังกล่าวไปจำหน่าย ทั้งนี้องค์กรควรมีการชี้บ่งรายละเอียดไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน

          * ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของมนุษย์ ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และการบริการก่อนที่จะมีการนำวัสดุ เทคโนโลยี หรือวิธีการผลิตใหม่ ๆ มาใช้ และมีเอกสารที่ทำไว้สำหรับผู้บริโภคตามความเหมาะสม

          * ให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยที่สำคัญแก่ผู้บริโภค โดยใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

          * แนะนำผู้บริโภคถึงการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม และเตือนให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ในสภาพการใช้งานปกติ

          * จัดทำมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันผลิตภัณฑ์ที่อาจจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นจากการเคลื่อนย้าย หรือการจัดเก็บที่ไม่ถูกต้องในขณะที่อยู่ในความดูแลของผู้บริโภคเอง

          6.3 การบริโภคอย่างยั่งยืน
          การบริโภคอย่างยั่งยืน จะเป็นการบริโภคผลิตภัณฑ์ และทรัพยากรต่าง ๆ ด้วยอัตราที่สอดรับกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักการข้อที่ 8 ในประกาศปฏิญญาริโอ ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม และการพัฒนา ซึ่งระบุว่า เพื่อให้สามารถบรรลุถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนทุกคน

รัฐควรลดและกำจัดรูปแบบของการผลิตและการบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนั้น แนวคิดของการบริโภคอย่างยั่งยืน ยังรวมไปถึงข้อกังวลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสัตว์ การให้ความสำคัญต่อความสมบูรณ์ทางด้านกายภาพของสัตว์ และการหลีกเลี่ยงการกระทำที่โหดร้าย ทารุณต่อสัตว์ด้วย

          บทบาทขององค์กรต่อการบริโภคอย่างยั่งยืน จะเกิดขึ้นจากการที่องค์กรได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ และการบริการ โดยคำนึงถึงวัฏจักรชีวิต และห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์และการบริการนั้น ๆ รวมถึงลักษณะของสารสนเทศที่องค์กรจัดให้กับผู้บริโภค ซึ่งจากอัตราการบริโภคในปัจจุบัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีความยั่งยืน รวมถึงมีส่วนทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย และทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไป

ทั้งนี้ ผู้บริโภคจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางด้านจริยธรรม สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่มาจากข้อมูลสารสนเทศที่มีความถูกต้อง มาประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือก และซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ

          ในการสนับสนุนต่อการบริโภคอย่างยั่งยืน องค์กรควรจะ 
          * สนับสนุนการให้ความรู้เกี่ยวกับอำนาจของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบต่างๆ ในการเลือกผลิตภัณฑ์ และการบริการสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภคเอง และต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ข้อแนะนำจะรวมไปถึงการให้ข้อเสนอแนะว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการบริโภค และจะทำการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จำเป็นอย่างไร

          * นำเสนอผลิตภัณฑ์ และการบริการที่เป็นมิตรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมแก่ผู้บริโภค โดยคำนึงถึงวัฏจักรชีวิตทั้งหมด และการลดผลกระทบต่าง ๆ ที่ไม่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการ 

                    o ขจัดหรือเกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากผลิตภัณฑ์และบริการให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้

                    o ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ที่ง่ายต่อการใช้งาน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือซ่อมได้ และหากเป็นไปได้ ให้มีข้อแนะนำการบริการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำกลับไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่ หรือการกำจัดต่อไป

                    o เลือกใช้ผู้ส่งมอบ ที่สามารถส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นอันดับแรก

                    o นำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง โดยมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ในราคาที่สามารถซื้อได้

                    o ให้ข้อมูลสารสนเทศแก่ผู้บริโภคที่มีความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ มีความสอดคล้อง เป็นความจริง ถูกต้อง เปรียบเทียบได้ และสามารถทวนสอบได้ ในประเด็นที่เกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และการส่งมอบผลิตภัณฑ์และการบริการต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร

          o ให้ข้อมูลสารสนเทศแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการบริการ รวมไปถึงการสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด ประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน ส่วนประกอบหรือส่วนผสมต่าง ๆ ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของสัตว์ (รวมถึงการใช้สัตว์ทดลอง) และการใช้ การบำรุงรักษา การจัดเก็บ และการกำจัดผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อย่างปลอดภัย

          o ใช้การแสดงฉลากที่เชื่อถือได้ และมีประสิทธิผลที่ได้รับการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระตามรูปแบบของฉลากต่าง ๆ เช่น ฉลากสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมการตรวจประเมินต่าง ๆ เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับมุมมองเชิงบวกทางด้านสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และคุณลักษณะต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

          6.4 การบริการ การสนับสนุน และการแก้ไขข้อร้องเรียนและข้อพิพาทแก่ผู้บริโภค
          การบริการ การสนับสนุน และการแก้ไขข้อร้องเรียนรวมถึงข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค จะเป็นกลไกที่องค์กรสามารถนำมาใช้ในการกำหนดความต้องการของผู้บริโภค ภายหลังจากผลิตภัณฑ์และบริการได้ถูกซื้อหรือส่งมอบไปแล้ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะรวมไปถึงการติดตั้งอย่างเหมาะสม การรับประกันผลิตภัณฑ์ การให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการใช้งาน รวมทั้งการรับคืน การซ่อม และการบำรุงรักษาด้วย

          ผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีสมรรถนะที่ไม่เป็นที่พึงพอใจ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการมีข้อบกพร่องหรือตำหนิ หรือใช้งานไม่ได้ หรือเกิดจากการใช้งานที่ผิดพลาด อาจส่งผลให้เกิดการฝ่าฝืนสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียเงิน ทรัพยากร และเวลาได้ ดังนั้น ในการบริการ การสนับสนุน และการยุติข้อร้องเรียนและข้อพิพาทแก่ผู้บริโภค องค์กรควรจะ

          * กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการร้องเรียนของผู้บริโภค โดยการนำเสนอทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นการสั่งซื้อทางไกล ในการได้รับคืนผลิตภัณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่เหมาะสม

          * ทบทวนข้อร้องเรียนและปรับปรุงแนวปฏิบัติในการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิผล

          * นำเสนอการรับประกันผลิตภัณฑ์ที่มากกว่าระยะเวลาการรับประกันตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และเหมาะสมกับอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์

          * สื่อสารกับผู้บริโภคอย่างชัดเจน เกี่ยวกับการเข้าถึงการบริการ และการสนับสนุนต่าง ๆ ภายหลังการส่งมอบ รวมถึงการยุติข้อพิพาทและกลไกต่าง ๆ ในการชดเชย

          * เสนอระบบสนับสนุน และระบบการให้คำแนะนำที่มีประสิทธิภาพ และเพียงพอ

          * เสนอการบำรุงรักษา และการซ่อมแซมในราคาที่สมเหตุสมผล และสถานที่ตั้งที่สามารถเข้าถึงได้ และช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับความพร้อมของอะไหล่ต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ได้

          * เลือกใช้แนวทางการยุติข้อพิพาท และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งกระบวนการชดเชยตามมาตรฐานของประเทศหรือสากล โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่ถูกที่สุดจากผู้บริโภค และไม่เรียกร้องให้ผู้บริโภคยกเลิกการทวงสิทธิในการขอความช่วยเหลือตามกฎหมาย

          6.5 การปกป้องข้อมูล และความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
          การปกป้องข้อมูล และความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค จะเป็นการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค โดยการจำกัดประเภทของข้อมูลที่ต้องการเก็บรวบรวม และวิธีการในการให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการดังกล่าว รวมถึงการนำไปใช้งาน และการเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ องค์กรต่าง ๆ สามารถช่วยรักษาความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อองค์กรตนเอง โดยการใช้ระบบสำหรับการรับข้อมูล การใช้ข้อมูล และการปกป้องข้อมูลของผู้บริโภคอย่างเข้มงวด

          ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และการป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล องค์กรควรจะ
          * จำกัดการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็น สำหรับใช้ในการจัดเตรียมผลิตภัณฑ์และการบริการ หรือได้มีการแจ้งให้ทราบและได้รับความยินยอมจากผู้บริโภคก่อน 

          * ละเว้นการใช้บริการ หรือการกล่าวอ้างอิงถึงข้อเสนอพิเศษที่อาจจะเกิดขึ้นในข้อตกลงกับผู้บริโภคต่อการใช้ข้อมูล ที่ระบุว่าไม่ต้องการให้นำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการตลาด 

          * ได้รับข้อมูลมาด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นธรรม 

          * ระบุวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดเจน ทั้งก่อน และในระหว่างการเก็บข้อมูล 

          * ดูแลไม่ให้มีการเปิดเผย จัดหาให้ หรือมีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ที่นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ รวมถึงเพื่อการตลาด เว้นแต่ได้มีการแจ้ง หรือได้รับการยินยอมจากผู้บริโภค หรือเมื่อมีการระบุไว้ตามข้อกฎหมาย

          * จัดให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิในการทวนสอบว่าองค์กรมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคนั้นหรือไม่ และแสดงข้อคิดเห็นโต้แย้งข้อมูลเหล่านั้นได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากข้อโต้แย้งนั้นเป็นผล องค์กรควรลบข้อมูลนั้นหรือทำให้ถูกต้อง ทำให้ครบถ้วน หรือได้รับการแก้ไขปรับปรุงตามความเหมาะสม

          * ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ

          * เปิดเผยเกี่ยวกับการพัฒนา แนวปฏิบัติ และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล และวิธีการต่าง ๆ ในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่มีอยู่แล้ว รวมถึงลักษณะและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล

          * เปิดเผยตัวตน และสถานที่ปฏิบัติงานปกติของบุคคลที่ทำหน้าที่ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลในองค์กร (หรือเรียกว่า ผู้ควบคุมข้อมูล) และกำหนดให้บุคคลนี้ ได้รับผิดชอบในการปฏิบัติตามมาตรการข้างต้น รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

          6.6 การเข้าถึงการบริการที่จำเป็น 
          ถึงแม้ว่าหน่วยงานของรัฐ จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลในการสร้างความพึงพอใจต่อความต้องการพื้นฐานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่หน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถดำเนินการได้ ถึงแม้ว่าความต้องการพื้นฐานในบางเรื่อง จะได้รับการตอบสนองแล้วก็ตาม

ตัวอย่างเช่น ถึงแม้จะมีการดูแลสุขภาพอย่างเพียงพอแล้ว แต่สิทธิในการได้รับการบริการที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ไฟฟ้า ก๊าซ น้ำ การบำบัดน้ำเสีย การระบายน้ำ น้ำทิ้ง และการสื่อสาร อาจจะยังไม่ได้รับอย่างเต็มที่ ดังนั้น องค์กรสามารถมีส่วนสนับสนุน และส่งเสริมในการเติมเต็มสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ได้ โดยองค์กรที่มีการให้บริการที่จำเป็น ควรจะ

          * ดูแลไม่ให้มีการยกเลิกให้บริการที่จำเป็นสำหรับผู้บริโภค และกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้ชำระค่าบริการ โดยไม่มีการให้โอกาสแก่ผู้บริโภคเหล่านั้น เพื่อให้มาชำระค่าบริการภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้องค์กรไม่ควรใช้วิธีการตัดการให้บริการ เพื่อเป็นการลงโทษกับผู้บริโภคที่ไม่ชำระค่าบริการทั้งหมด 

          * กำหนดค่าบริการ และค่าธรรมเนียม เสนอการจัดเก็บภาษีที่จะนำไปชดเชยให้ผู้ที่ต้องการ 

          * ดำเนินการด้วยความโปร่งใส โดยการเตรียมข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าบริการ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

          * ขยายขอบเขตของการบริการ และให้บริการที่มีคุณภาพ รวมถึงระดับของการบริการที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติในกลุ่มต่าง ๆ ของผู้บริโภค 

          * บริหารจัดการในระหว่างที่มีการลดการบริการ หรือหยุดการส่งมอบการบริการต่อกลุ่มผู้บริโภคต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติทั้งหมด 

          * มีการบำรุงรักษา และยกระดับของระบบการให้บริการขององค์กร เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของการบริการ 

          6.7 การให้ความรู้ และการสร้างความตระหนัก 
          การให้ความรู้ และสร้างความตระหนัก จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับรู้ และมีความตระหนักถึงสิทธิ และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของตนเอง เพื่อให้สามารถแสดงบทบาท และตัดสินใจในการซื้อได้อย่างชาญฉลาด และมีการบริโภคอย่างรับผิดชอบ 

          ทั้งนี้ กลุ่มผู้บริโภคที่เสียเปรียบ ทั้งที่อยู่ในเมือง และในชนบท รวมถึงผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย และมีระดับของการอ่านออกเขียนได้ที่ต่ำ ย่อมต้องการที่จะได้รับความรู้และการสร้างความตระหนักเป็นพิเศษ ดังนั้น เมื่อมีการจัดทำข้อตกลงระหว่างองค์กรกับผู้บริโภค องค์กรควรมีการทวนสอบว่าผู้บริโภคได้รับทราบถึงสิทธิ และบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง 

          จุดประสงค์ของการให้ความรู้กับผู้บริโภค จะไม่เป็นเพียงแค่การถ่ายทอดความรู้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการให้อำนาจกับผู้บริโภคในการจัดการกับความรู้เหล่านั้น โดยการพัฒนาทักษะในการประเมินผลิตภัณฑ์และบริการ และสามารถทำการเปรียบเทียบได้ นอกจากนั้น ยังเป็นการยกระดับของความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบจากทางเลือกต่าง ๆ ในการบริโภค และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อองค์กรได้มีการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคแล้ว จะไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ หากเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค เมื่อมีการนำผลิตภัณฑ์นั้นไปใช้งาน หรือเมื่อได้รับการบริการ

          ในการให้ความรู้กับผู้บริโภค องค์กรควรจะระบุถึง 
          * ประเด็นทางด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงอันตรายของผลิตภัณฑ์ 
          * ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับข้อกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวิธีการในการได้รับการชดเชย และหน่วยงานของรัฐ และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค 
          * การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์ และการบริการ รวมถึงสารสนเทศที่เตรียมไว้ในคู่มือ และวิธีการใช้งาน 
          * ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับน้ำหนัก และหน่วยวัด ราคา คุณภาพ เงื่อนไขของสินเชื่อ และความพร้อมในการให้บริการที่จำเป็น 
          * ข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ ในการใช้งาน และข้อควรระวัง 
          * ข้อมูลสารสนเทศทางด้านการเงิน และการลงทุนของผลิตภัณฑ์และการบริการ
          * การปกป้องสิ่งแวดล้อม 
          * ประสิทธิภาพของการใช้วัสดุต่าง ๆ พลังงานและน้ำ 
          * การบริโภคอย่างยั่งยืน 
          * ความเหมาะสมของบรรจุภัณฑ์ ของเสีย และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

(อ่านต่อตอนต่อไป)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด