เนื้อหาวันที่ : 2012-01-23 10:00:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5309 views

บริหารระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างไร... ให้เกิดผล ? (ตอนจบ)

ตัวอย่างการจัดการความปลอดภัย ฯ ในธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจทุกขนาด

บริหารระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างไร... ให้เกิดผล ? (ตอนจบ)
(Effective Occupational Heath and Safety Management Systems)

ศิริพร วันฟั่น

          จากตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ได้กล่าวถึง องค์ประกอบสำคัญ 4 ประการซึ่งเป็นพื้นฐานนำไปสู่การบริหารระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผล ส่วนในตอนจบของบทความนี้ จะเป็นตัวอย่างการจัดการความปลอดภัย ฯ ในธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจทุกขนาด

ตัวอย่างการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผลสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก
        
  องค์ประกอบที่ 1 ภาวะผู้นำของผู้บริหารและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Management Leadership and Employee Involvement)
          ฝ่ายบริหารให้พันธะสัญญาในการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ ทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ และเวลา เพื่อให้มั่นใจว่าทุก ๆ คนในพื้นที่งานจะได้รับการป้องกันจากอันตรายที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย นอกจากนี้ ผู้บริหารได้แสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การดำเนินการ และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในพื้นที่งาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้บริหารในระดับสูงสุดควรจัดตั้งและทบทวนนโยบายด้านความปลอดภัยฯ ทุก ๆ ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดได้รับทราบ เข้าใจ และให้การสนับสนุนนโยบายนั้น โดยผู้บริหารในทุกระดับและผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจกัน ทุ่มเทความพยายามเพื่อพัฒนาเป้าหมายรายปีด้านความปลอดภัยฯ พร้อมด้วยวัตถุประสงค์และแผนปฏิบัติการในการที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นๆ

และเมื่อถึงทุก ๆ สิ้นปีผู้บริหารในทุกระดับชั้นและผู้ปฏิบัติงานก็จะประเมินความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการ รวมถึงการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายรายปี ซึ่งการประเมินเหล่านี้ จะรวมถึงการประเมินระบบการจัดการความปลอดภัยฯ ของพื้นที่งานโดยรวมด้วย พร้อมรายงานถึงเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และแผนปฏิบัติการของปีถัดไป ตลอดจนปฏิบัติการที่ยังไม่บรรลุผลในปีนี้ เพื่อจะได้ตามงานต่อไปในปีหน้าด้วย

          ผู้บริหารต้องมั่นใจว่า ผู้ปฏิบัติงานทุกคนรวมถึงตนเองได้เข้าใจอย่างชัดแจ้งถึงบทบาท ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยฯ ในส่วนงานที่รับผิดชอบ รวมถึงขอบเขตอำนาจการตัดสินใจในส่วนที่จำเป็นสำหรับดำเนินการตามบทบาทหน้าที่นั้น ๆ รวมถึงการที่ผู้บริหารต้องมั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคนและผู้บริหารในทุกระดับชั้น ได้รับการประเมินผลการดำเนินงานรวมถึงการบรรลุเป้าหมายด้านความปลอดภัยฯ ตามที่ถูกมอบหมาย

          ผู้บริหารต้องมั่นใจว่า แขกผู้เข้ามาเยี่ยมเยียนพื้นที่งาน รวมถึงลูกจ้างชั่วคราว ตลอดจนบุคคลอื่น ๆ ที่ก้าวเข้าสู่พื้นที่งาน ได้รับทราบและเข้าใจถึงอันตรายที่มีในพื้นที่งาน ที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บกับพวกเขาเหล่านี้ได้ และรับรู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรในการป้องกันตนเองจากอันตรายที่ว่านี้ ตลอดจนเข้าใจถึงความหมายของสัญญาณเตือนฉุกเฉินและขั้นตอนในการปฏิบัติยามเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ ผู้บริหารยังต้องมั่นใจด้วยว่า แขกผู้เข้ามาเยี่ยมเยียนพื้นที่งานจะไม่เป็นผู้ก่อให้เกิดอันตรายขึ้นเสียเอง

          ผู้บริหารต้องมั่นใจว่า มีหลายช่องทางในการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน ในกระบวนการตัดสินใจและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งช่องทางเหล่านี้อาจรวมอยู่ในรูปของคณะกรรมการและกลุ่มทำงานในการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่อง ๆ ไป หรือกระทำการเสมือนเป็นผู้สังเกตการณ์ ผู้ช่วยในการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ หรือทำการวิเคราะห์อันตรายที่ยังคงมีอยู่ในงานที่รับผิดชอบ

และรับรู้ว่าจะป้องกันอันตรายเหล่านั้นได้อย่างไร (เช่น การวิเคราะห์อันตรายในงาน–JHA) และจัดเตรียมกิจกรรมที่จะเพิ่มความตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยฯ โดยที่ผู้บริหารต้องกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน และชื่นชม ยกย่องผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีส่วนร่วมอย่างโดดเด่นอีกด้วย

          เอกสารที่ควรใช้ดำเนินการสำหรับองค์ประกอบนี้ ได้แก่
          * นโยบายของพื้นที่งาน (สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ ควรทำอย่างไรเพื่อให้นโยบายถูกสื่อสารไปยังผู้ปฏิบัติงานและแขกผู้มาเยี่ยมเยียนอย่างทั่วถึง) 

          * เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และแผนปฏิบัติการของปีปัจจุบัน รวมถึงการประเมินระบบการจัดการความปลอดภัยฯ

          * คำอธิบายลักษณะงาน (Job Descriptions) รวมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยฯ

          * การประเมินผลการดำเนินงานที่รวมถึงการประเมินหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยฯ

          * งบประมาณที่แสดงยอดเงินที่จะจัดสรรไปเพื่อระบบการจัดการความปลอดภัยฯ

          * เอกสารการประมูลงานของผู้รับเหมาที่เสนอมา อันแสดงถึงประวัติการทำงานที่ผ่านมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยฯ ของผู้รับเหมาทุกราย

          * เค้าโครงการปฐมนิเทศสำหรับผู้มาเยี่ยมเยียนพื้นที่งานทั้งหมด รวมถึงผู้รับเหมาด้วย และ

          * หลักฐานการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน เช่น การประชุมของคณะกรรมการ หรือบันทึกข้อมูลอื่น ๆ ของการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในส่วนของความปลอดภัยฯ

          องค์ประกอบที่ 2 การวิเคราะห์พื้นที่งาน (Worksite Analysis)
          กรณีที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยฯ ในองค์กร ก็อาจมีความจำเป็นที่ต้องจ้างที่ปรึกษาจากภายนอกองค์กร เพื่อดำเนินการสำรวจแนวพื้นฐานปัจจุบัน (Baseline Surveys) ที่จะบ่งชี้ได้ถึงอันตรายด้านความปลอดภัยฯ ทั้งหมดที่มีอยู่ในพื้นที่งาน ณ ช่วงเวลาที่ทำการสำรวจนั้น ๆ

โดยอันตรายทั้งหมดที่พบจะถูกขจัดในทุก ๆ ครั้งที่สามารถดำเนินการได้ หรือไม่ก็ถูกควบคุมเอาไว้ ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดที่อาจเผชิญกับอันตรายที่ถูกควบคุมเหล่านี้ ต้องได้รับการฝึกอบรมสำหรับขั้นตอนการทำงานที่ถูกต้องในการปฏิบัติตามเพื่อป้องกันตนเองจากอันตรายเหล่านี้

          ผู้บริหารจัดตั้งกระบวนการติดตามการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่งาน ไม่ว่าจะเกิดจากอุปกรณ์ วัสดุ หรือกระบวนการ และเพื่อความมั่นใจในการป้องกันอันตรายให้กับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะรวมถึงการพิจารณาในแง่ของความปลอดภัยฯ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนงานต่าง ๆ เช่น ขั้นตอนการเริ่มกระบวนการ การปิดเครื่องสำหรับอุปกรณ์และกระบวนการ และการวิเคราะห์อันตรายในแต่ละช่วง ฯลฯ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายจะได้รับการฝึกอบรมเพื่อดำเนินการในสิ่งเหล่านี้

          ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทำงานร่วมกันในการวิเคราะห์อันตรายด้านความปลอดภัยฯ ที่ยังคงมีอยู่ในแต่ละงาน  เพื่อค้นหาเครื่องมือในการขจัดอันตรายเหล่านี้ในทุก ๆ ครั้งที่สามารถกระทำได้ เพื่อป้องกันบุคคลอื่น ๆ จากการเผชิญกับอันตรายเหล่านี้ด้วย โดยที่การวิเคราะห์อันตรายในงาน (Job Hazard Analysis: JHA) จะได้รับการทบทวนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ติดตามการเปลี่ยนแปลงในงาน มีการปรากฏซ้ำของอันตราย หรืออุบัติเหตุในงาน เป็นต้น

          ผู้ปฏิบัติงานทุกคนในพื้นที่งานจะได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้รับรู้และเข้าใจถึงอันตราย และสามารถรายงานอันตรายให้บุคคลที่รับผิดชอบได้รับทราบ เพื่อที่อันตรายเหล่านั้นจะได้รับการแก้ไขให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ในบางกรณีถ้ามีความเร่งด่วนอาจมีความจำเป็นที่ต้องรายงานปากเปล่าและดำเนินการป้องกันไปพลาง ๆ ก่อน ซึ่งอาจรวมถึงการหยุดงานที่ก่อให้เกิดอันตรายนั้นทันที

ผู้ปฏิบัติงานอาจจะได้รับคำสั่งให้ทำงานด้วยความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยงานที่มีความเสี่ยงสูงดังเช่นแผนกบำรุงรักษา หรืออาจจะได้รับแบบฟอร์มแนะนำวิธีการทำงานอย่างปลอดภัย ซึ่งคำสั่งการทำงานที่ปลอดภัยนี้จะถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรกก่อนหน้าคำสั่งใดๆ ส่วนคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยจะถูกพิจารณาในแต่ละสัปดาห์ระหว่างช่วงของการตรวจพื้นที่งาน (Site Inspection) โดยทีมงานของพื้นที่งานนั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดต้องจัดทำรายงานอย่างเป็นทางการในท้ายที่สุด พร้อมจดบันทึกวันที่ทำการแก้ไขอันตรายเหล่านั้นด้วย โดยรายงานเหล่านี้จะถูกติดไว้ในโรงอาหารของโรงงานจนกว่าอันตรายจะได้รับการแก้ไขและหลังจากนั้นจะถูกบันทึกลงไฟล์เก็บรักษาไว้เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งระหว่างเวลานั้นก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ปฏิบัติงานให้ได้ทบทวนถึงข้อบกพร่องที่ผ่านมา

          เมื่อผู้บริหารของพื้นที่งานได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอจากผู้ปฏิบัติงาน ก็จะสามารถจัดทีมงานตรวจพื้นที่งานแบบรายเดือนได้ สมาชิกของทีมงานนี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในแต่ละเดือนโดยประกอบไปด้วยบุคลากรจำนวน 4 คน คือ ผู้จัดการหรือหัวหน้างานจำนวน 2 คนและผู้ปฏิบัติงาน 2 คน โดยช่วงเช้าก่อนเริ่มงานของวันพุธในแต่ละสัปดาห์ ทีมงานจะทำการตรวจสอบตลอดทั่วทั้งพื้นที่งาน เพื่อจดบรรยายลักษณะอันตรายทั้งหมดที่พบเจอ

รวมถึงจุดที่ตั้งที่มีอันตรายด้วย ทีมงานจะมอบหมายบุคคลที่เหมาะสมเพื่อรับผิดชอบในการติดตามว่าอันตรายนั้นได้รับการแก้ไขหรือไม่ เมื่อไร และอย่างไรโดยจดวัน เวลาที่ดำเนินการไว้ด้วย ซึ่งรายงานการตรวจนี้จะถูกติดไว้ในโรงอาหารของโรงงาน ในห้องปฏิบัติการของฝ่ายซ่อมบำรุง และในห้องทำงานของนายจ้าง และอันตรายเหล่านี้จะยังปรากฏอยู่ในรายงานประจำเดือนจนกว่าจะได้รับการแก้ไข

          ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใกล้เคียงที่จะเกิดอุบัติเหตุ อุบัติการณ์ที่ต้องใช้การปฐมพยาบาล หรืออุบัติเหตุ ต้องถูกดำเนินการสอบสวนโดยทีมงานที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับการคัดเลือกในแต่ละปีโดยผู้ประกอบการและผู้ร่วมงาน ซึ่งแต่ละคนจะได้รับการฝึกอบรมในการสอบสวนอุบัติการณ์

โดยการสอบสวนอุบัติการณ์ในทุก ๆ กรณีจะมีเป้าหมายในการชี้บ่งต้นตอของอุบัติเหตุมากกว่าการตำหนิที่ตัวบุคคล และเช่นเดียวกันที่รายงานอุบัติเหตุทุก ๆ กรณีจะถูกติดไว้ที่โรงอาหารของโรงงาน และเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ ได้แสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ทีมงานสอบสวนอุบัติการณ์จะมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ผู้ปฏิบัติงานที่เหมาะสมในการแก้ไขอันตรายที่ค้นพบ พร้อมกับระบุวันที่ที่ปฏิบัติการแก้ไขต้องเสร็จสิ้น

          ในส่วนหนึ่งของการประเมินระบบการจัดการความปลอดภัยฯ ในสถานที่ปฏิบัติงาน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้จัดการ และผู้ปฏิบัติงาน จะทำการทบทวนเหตุการณ์ใกล้เคียงที่จะเกิดอุบัติเหตุ อุบัติการณ์ที่ต้องใช้การปฐมพยาบาล หรืออุบัติเหตุ เช่นเดียวกับรายงานอันตรายของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อพิจารณาว่าถ้าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ว่านี้ยังปรากฏอยู่ต้องสามารถชี้บ่งและระบุรายละเอียดได้ โดยผลของการวิเคราะห์นี้จะถูกพิจารณาประกอบการตั้งเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และแผนปฏิบัติการของปีถัดไป

          เอกสารที่ควรใช้ดำเนินการสำหรับองค์ประกอบนี้ ได้แก่
          * ผลการสำรวจแนวพื้นฐานปัจจุบัน (Baseline Surveys) ที่เกี่ยวกับด้านความปลอดภัยฯ พร้อมกับข้อมูลบันทึกการแก้ไขอันตราย
          * แบบฟอร์มที่ใช้ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง รวมถึงข้อพิจารณาเกี่ยวกับความปลอดภัยฯ ในช่วงที่มีการใช้อุปกรณ์ สารเคมี หรือวัสดุใหม่
          * เอกสารการวิเคราะห์อันตรายในงาน (JHA)
          * รายงานอันตรายของผู้ปฏิบัติงาน
          * ผลการตรวจความปลอดภัยฯ ของพื้นที่งาน พร้อมกับวิธีการแก้ไขอันตราย
          * รายงานการสอบสวนอุบัติการณ์ พร้อมกับวิธีการแก้ไขอันตราย และ
          * ผลการวิเคราะห์แนวโน้มอันตราย อุบัติเหตุ อุบัติการณ์ หรือการบาดเจ็บและเจ็บป่วย
     
          องค์ประกอบที่ 3 การป้องกันและควบคุมอันตราย (Hazard Prevention and Control)
          ผู้บริหารต้องมั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามหลักการจัดลำดับความสำคัญเพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่งาน ดังนี้ คือ (1) อันตรายได้ถูกขจัดเมื่อสามารถกระทำได้โดยอาจใช้งบประมาณเพียงเล็กน้อย เช่น การแทนที่สารเคมีอันตรายสูงด้วยสารที่มีอันตรายน้อยกว่า (2) ใช้เครื่องกั้นเพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากอันตราย เช่น เครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) (3) การสัมผัสอันตรายได้รับการควบคุมผ่านทางขั้นตอนการบริหารจัดการ เช่น มีช่วงพักที่บ่อยครั้งขึ้นและมีการหมุนเวียนเปลี่ยนงาน

          ผู้บริหารต้องมั่นใจว่าพื้นที่งานและเครื่องจักรทั้งหมดได้ถูกดูแลเอาใจใส่อย่างถูกต้อง เพื่อที่สภาพแวดล้อมในการทำงานจะยังคงมีความปลอดภัย ถ้าการบำรุงรักษาในส่วนที่จำเป็นนั้นเกินกว่าขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่งาน อาจมีความจำเป็นต้องจ้างผู้ชำนาญการเข้ามาทำงานแทน แต่ก่อนที่จะทำสัญญาก็ต้องมีการคัดกรองและต้องมีการควบคุมดูแลเพื่อให้มั่นใจว่าได้ทำงานสอดคล้องกับขั้นตอนดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยฯ

          ผู้ปฏิบัติงานทุกคน รวมถึงผู้บริหารในทุกระดับชั้นได้ถูกผูกมัดให้รับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยฯ โดยนโยบายที่ว่าด้วยระเบียบวินัย (Disciplinary Policy) จะมี 4 ขั้นตอนที่จะประยุกต์ใช้กับทุก ๆ คนโดยการกำกับดูแลของหัวหน้างานตามระดับชั้นที่เหมาะสม เริ่มจาก การเตือนด้วยวาจา การภาคทัณฑ์หรือการเตือนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร การพักงาน 3 วัน และการไล่ออก

          แขกผู้มาเยี่ยมเยียน รวมถึงผู้รับเหมา หรือผู้ใดก็ตามที่ละเมิดกฏระเบียบด้านความปลอดภัยฯ และขั้นตอนในการทำงานอย่างรุนแรง จะถูกให้ออกจากพื้นที่งานนั้น ๆ ถ้าในกรณีที่ผู้ละเมิดกฎระเบียบฯ ร้องขอให้ทบทวนวิธีการลงโทษ ก็ต้องจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา อันประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 6 คน โดยเป็นผู้จัดการ 3 คนและที่เหลือเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ถูกรับเลือกมาจากเพื่อนร่วมงานและเป็นที่เชื่อถือของเหล่า ๆ พนักงาน

ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะทำการทบทวนเหตุการณ์และทำความเห็นเสนอต่อนายจ้างผู้สงวนสิทธิ์ในการตัดสินใจขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งหากการตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายแตกต่างจากคณะกรรมการ นายจ้างก็อาจจะใช้การตำหนิติเตียนในทางลับและอธิบายเหตุผลให้พนักงานที่เหลือได้เข้าใจ

          ควรมีการเขียนแผนงานรับเหตุฉุกเฉินสำหรับเหตุฉุกเฉินที่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่งาน เช่น เพลิงไหม้ อุบัติเหตุ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือสาธารณูปโภคชำรุด เสียหายหรือขาดแคลน (ไฟฟ้าหรือน้ำ ฯลฯ) เป็นต้น

ซึ่งแผนงานเหล่านี้สามารถเขียนขึ้นมาโดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรับเหตุฉุกเฉินภายนอกที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงสถานที่ปฏิบัติงาน เช่น หน่วยดับเพลิงท้องที่ สถานีตำรวจ และสถานพยาบาล ทั้งนี้ นอกจากจะมีการฝึกอบรมแบบรายเดือนแล้ว ก็ยังต้องฝึกภาคปฏิบัติการด้วยการจำลองสถานการณ์อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดได้มีประสบการณ์ในเหตุฉุกเฉินแต่ละชนิด

ส่วนการฝึกฝนอพยพออกจากพื้นที่งานนั้น จะมุ่งเน้นไปยังเหตุฉุกเฉินที่ทำให้งานทุกอย่างในพื้นที่งานต้องหยุดลงทั้งหมด และจำเป็นต้องพึ่งพาและประสานงานกับหน่วยงานรับเหตุฉุกเฉินที่เหมาะสม ซึ่งการฝึกฝนประเภทนี้จะดำเนินการปีละหนึ่งครั้ง อย่างไรก็ตาม การฝึกฝนปฏิบัติการในแต่ละแบบไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เนื้อหาในห้องสัมมนาหรือฝึกจากการจำลองสถานการณ์จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการวางแผนงานในการฝึกฝนปฏิบัติการ

ซึ่งคณะกรรมการฯ จะถูกจัดตั้งในแต่ละปี และประกอบไปด้วยผู้จัดการหรือหัวหน้างานจำนวน 2 คนและผู้ปฏิบัติงานอีก 2 คนที่สมัครใจทำ โดยรายงานของคณะกรรมการจะถูกติดไว้ในในโรงอาหารของโรงงาน และผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดก็ได้รับรู้ถึงผลที่เกิดขึ้น และเมื่อมีความจำเป็น ขั้นตอนดำเนินการรับเหตุฉุกเฉินก็จะได้รับการทบทวนโดยจัดทำเป็นรายงานผลการประเมินผล

          บุคคลใดในพื้นที่งานที่จำเป็นต้องได้รับการบริการจากการแพทย์ฉุกเฉิน ต้องถูกส่งตัวโดยรถของบริษัทหรือรถพยาบาลฉุกเฉินไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วระยะเวลาเดินทางไม่ควรจะเกิน 10 นาที ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานที่ถูกมอบหมายเป็นเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลในแต่ละช่วงกะทำงาน ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้น CPR และการป้องกันการติดเชื้อทางกระแสเลือด โดยจะเป็นบุคคลแรก ๆ ที่เข้าถึงผู้ประสบเหตุ และหนึ่งในผู้ถูกมอบหมายในการรับผิดชอบด้านความปลอดภัยฯ

ต้องมั่นใจว่าชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะถูกจัดเตรียมไว้อย่างเพียงพอและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงประจำอยู่ในตำแหน่งที่ระบุไว้ทั่วทั้งโรงงาน เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ก็ควรจะถูกจัดเตรียมไว้สำหรับอุบัติเหตุแต่ละประเภทที่มีโอกาสเกิดขึ้นในแต่ละส่วนของพื้นที่งาน อย่างไรก็ดี ทุก ๆ คนที่ถูกมอบหมายในการรับเหตุฉุกเฉินต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)

          ผู้บริหารต้องคงรักษาไว้ซึ่งแผนงานด้านอาชีวอนามัยในเชิงรุก (Proactive Occupational Health Program) โดยจัดสรรเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยจากโรงพยาบาลในท้องที่เพื่อร่วมวิเคราะห์พื้นที่งาน เพื่อค้นหาและป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากอันตรายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งหมด

ซึ่งแผนงานที่ว่านี้จะเริ่มต้นจากการตรวจคัดกรองสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน มีการใช้มาตรการป้องกันหรือควบคุมอันตรายที่เหมาะสม และติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานทั้งก่อนและหลังการสัมผัสของแต่ละรายผ่านทางการตรวจร่างกายอยู่เป็นระยะ นอกจากนี้ นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมของโรงงานยังต้องดำเนินการเฝ้าติดตามตรวจสอบอันตรายจากเสียงและอากาศในพื้นที่งานอีกด้วย

          แพทย์และพยาบาลอาชีวอนามัยที่ทำงานตามสัญญาในพื้นที่งาน จะทำการตรวจสอบข้อมูลตรวจติดตามเพื่อให้รู้อย่างแน่ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงจากผลการตรวจคัดกรองผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อให้สามารถคาดคะเนถึงแนวโน้มใด ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการระบุ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมและมีความรู้เกี่ยวกับอันตรายในพื้นที่งาน จะเข้าดูแลอย่างเร่งด่วนสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ประสบกับปัญหาด้านอาชีวอนามัย และติดตามแต่ละกรณีจนกว่าแต่ละคนจะสามารถกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ

โดยที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยต้องมั่นใจว่าข้อมูลบันทึกเกี่ยวกับด้านการแพทย์ของผู้ปฏิบัติงานจะถูกเก็บรักษาไว้เป็นความลับ เพื่อที่ว่าข้อมูลการวินิจฉัยและการรักษาจะไม่ถูกเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ผู้บริหารจำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ระหว่างการรักษาเพื่อเหตุผลที่ว่า จะสามารถพิจารณาถึงความเหมาะสมโดยดูจากขีดความสามารถที่ผู้ปฏิบัติงานคนนั้นจะสามารถดำเนินการตามภาระงานที่มอบหมาย รวมถึงข้อจำกัดในงานหรือสภาพห้องทำงานที่จำเป็น และช่วงระยะเวลาของขีดจำกัดในงาน

          ผู้บริหารควรมั่นใจว่าหัวหน้างานได้ปฏิบัติตามข้อห้ามอย่างเคร่งครัด และศูนย์สุขภาพที่จัดตั้งขึ้นในโรงงานจะให้บริการฟรีสำหรับผู้ปฏิบัติงานทุก ๆ คน รวมถึงการที่แผนงานทั้งหมดจะถูกทบทวนประจำปีเพื่อประเมินความมีประสิทธิผล

          ในการดำเนินการผ่านทางที่ปรึกษา ผู้บริหารจะได้ประเมินงานทั้งหมดในพื้นที่งาน และพิจารณาได้ว่าสามารถประยุกต์ใช้เกณฑ์มาตรฐานที่ทางการระบุไว้ให้มีความเหมาะสมกับประเภทงานในพื้นที่งาน โดยที่แต่ละแผนงานด้านความปลอดภัยฯ ที่ถูกระบุไว้ในแต่ละส่วนของมาตรฐานต้องถูกเขียนขึ้นมาและดำเนินการตามนั้น

ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรฐานที่ว่านี้จะได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้มีความเข้าใจในเนื้อหาและสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่ระบุไว้ของแผนงานนั้น ๆ เช่น การสื่อสารอันตราย (Hazard Communication) การอนุรักษ์การได้ยิน (Hearing Conservation) แผนงานการทำงานในที่อับอากาศ (Confined Space Program) การล็อกเอาต์/แท็กเอาต์ (Lockout /Tagout) แผนงานการอพยพฉุกเฉิน (Emergency Evaluation Program) หรือการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่จำเป็น (Required PPE)

          เอกสารที่ควรใช้ดำเนินการสำหรับองค์ประกอบนี้ ได้แก่
          * กำหนดการสำหรับการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน
          * แผนงานระเบียบวินัย
          * กฎระเบียบในพื้นที่งาน
          * ขั้นตอนการซ้อมแผนรับเหตุฉุกเฉิน
          * การเฝ้าระวังตรวจสอบและการเฝ้าติดตามด้านสุขภาพ
          * การรายงานและการสอบสวนเหตุการณ์ใกล้เคียงจะเกิดอุบัติเหตุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

          องค์ประกอบที่ 4 การฝึกอบรม (Training)
          การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในระบบการจัดการความปลอดภัยฯ นั้น สามารถประสบผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุก ๆ คนในพื้นที่งานได้รับการฝึกอบรมที่เพียงพอ ที่จะเข้าใจว่าตนเองมีภาระหน้าที่รับผิดชอบในสิ่งใดบ้างในส่วนที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยฯ รวมถึงโอกาสและวิธีการที่จะเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับหน้าที่ที่ถูกมอบหมาย

ดังนั้น การฝึกอบรมคือสิ่งสำคัญในลำดับต้น ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถานที่ปฏิบัติงานจะมีความปลอดภัยและสุขอนามัยดี และบุคลากรที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งในการดำเนินการฝึกอบรมได้อย่างมีประสิทธิภาพถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นกัน ซึ่งในแต่ละปีจะพบว่าผู้บริหารได้ให้ความสนใจเป็นกรณีพิเศษสำหรับการประเมินความพยายามที่จะค้นหาวิธีการปรับปรุงการฝึกอบรมในปีหนึ่ง ๆ

          โดยทั่วไปแล้ว ผู้ปฏิบัติงานใหม่ทั้งหมดจะได้รับการปฐมนิเทศเรื่องความปลอดภัยฯ จำนวน 2 ชั่วโมงก่อนที่จะเริ่มงาน เมื่อผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้จากสื่อการเรียนการสอนแล้ว พวกเขาก็จะเริ่มงานที่ได้รับมอบหมายโดยทำงานคู่กันกับพี่เลี้ยงที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว

โดยในวันแรกนั้นผู้ปฏิบัติงานใหม่จะทำเพียงแค่สังเกตพี่เลี้ยงที่ลงมือทำงานพร้อมกับทำการศึกษาเอกสารการวิเคราะห์อันตรายในงาน (JHA) ไปด้วย ส่วนวันที่สองนั้น จะกลับกันคือ ผู้ปฏิบัติงานใหม่จะลงมือทำงานด้วยตัวเองในขณะที่พี่เลี่ยงจะเป็นคนสังเกตแทน และเมื่อทำงานมาครบ 3 เดือนแล้วก็จะถูกประเมินผลและพิจารณาได้ว่าสมควรจะผ่านการทดลองงานหรือไม่

ทั้งนี้ หัวหน้างานจะรับผิดชอบโดยตรงในการที่จะมั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานใหม่ทั้งหมดได้ผ่านกระบวนการฝึกอบรมแล้ว ก่อนที่จะเริ่มทำงานในพื้นที่นั้น ๆ โดยผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดจะได้รับการฝึกอบรมหลาย ๆ หัวข้อที่จำเป็นต่อความปลอดภัยฯ และประเด็นการผ่านการฝึกอบรมในแต่ละคอร์สตลอดทั้งปีนั้น จะเป็นสัดส่วนสำคัญที่ใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานด้วย

ส่วนข้อมูลบันทึกของการฝึกอบรมนั้นจะถูกเก็บรักษาไว้โดยผู้จัดการฝ่ายบุคคลเพื่อประโยชน์ในการทบทวนของผู้ปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม วิทยากรที่เป็นผู้ฝึกอบรมควรเป็นผู้รอบรู้เป็นอย่างดีในเรื่องนั้น ๆ และสามารถสื่อสารให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์หรือปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          เอกสารที่ควรใช้ดำเนินการสำหรับองค์ประกอบนี้ ได้แก่
          * หัวข้อการฝึกอบรมรายปีและรายนามของวิทยากรพร้อมทั้งคุณวุฒิ
          * กำหนดการฝึกอบรมรายปีและรายชื่อผู้สมควรได้รับการฝึกอบรม
          * ข้อมูลบันทึกการฝึกอบรมของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน รวมถึงหลักฐานยืนยันได้ถึงการเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีในเนื้อหาของการฝึกอบรม และสามารถนำไปประยุกต์หรือปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่าง รายการตรวจสอบ (Checklist) ที่สำคัญ ๆ ในแต่ละองค์ประกอบของระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่มีประสิทธิผล

          (1) ภาวะผู้นำของผู้บริหารและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Management Leadership and Employee Involvement)
          * มีการเขียนนโยบายด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ชัดเจน และพัฒนาช่องทางในการสื่อสารนโยบายฯ ไปยังผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงเนื้อหาสาระ รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยฯ

          * มีการตั้งเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางด้านความปลอดภัยฯ ที่ชัดเจนและสามารถวัดผลได้

          * มีถ้อยแถลงของผู้บริหารระดับสูงที่ระบุถึงพันธะสัญญาที่ผูกมัดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในส่วนของความปลอดภัยฯ

          * ผู้บริหารได้เข้ามามีส่วนร่วมในแง่มุมที่สำคัญ ๆ ของกิจกรรมด้านความปลอดภัยฯ อาทิเช่น การตรวจพื้นที่งาน การทบทวนอุบัติการณ์และระบบการจัดการฯ เป็นต้น

          * ผู้บริหารได้แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยฯ อย่างเคร่งครัดโดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงผู้บริหารให้ความสำคัญและร่วมประชุมด้วยตัวเองกับผู้ที่รับผิดชอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยฯ

          * มีการผนวกประเด็นด้านความปลอดภัยฯ เข้ากับส่วนอื่น ๆ ที่สำคัญขององค์กร เช่น การสั่งซื้อ การผลิต ฯลฯ และให้คุณค่าความปลอดภัยฯ อยู่ในลำดับต้น ๆ

          * ผู้บริหารให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ ทั้งงบประมาณ ข้อมูล เครื่องมือ และบุคลากร ในการดำเนินการระบบการจัดการความปลอดภัยฯ

          * มีการกำหนดภาระหน้าที่รับผิดชอบและตัวบุคคลอย่างชัดเจนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านความปลอดภัยฯ รวมถึงขอบเขตอำนาจในการตัดสินใจด้วย

          * มีการจัดตั้งระบบตรวจสอบการทำงาน (Accountability System) รวมถึงมีการยกย่อง ชมเชยและมอบรางวัลให้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯดีเด่น

          * ผู้ปฏิบัติงานได้รับการกระตุ้นให้เข้ามามีส่วนร่วมผ่านทางกิจกรรมความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น การตรวจพื้นที่งาน การชี้บ่งอันตราย การรายงานอันตราย การให้ข้อแนะนำและเฝ้าติดตามการแก้ไขอันตราย การวิเคราะห์และสอบสวนอุบัติการณ์หรืออุบัติเหตุ การพัฒนามาตรการควบคุมอันตราย การเข้ารับการฝึกอบรม สมาชิกของคณะกรรมการความปลอดภัยฯ เป็นต้น

          * มีการทบทวนระบบการจัดการความปลอดภัยฯ แบบองค์รวมอย่างน้อยปีละครั้ง และใช้เป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลง

          (2) การวิเคราะห์พื้นที่งาน (Worksite Analysis)
          * มีการชี้บ่งอันตรายโดยการสำรวจแบบองค์รวม (Comprehensive Survey) อยู่เป็นระยะ ซึ่งจะครอบคลุมกิจกรรมและกระบวนการในพื้นที่งานทั้งหมด ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลแนวพื้นฐานปัจจุบัน (Baseline) ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งคลังข้อมูลอันตรายในพื้นที่งาน (Workplace Occupational Health & Safety Hazards Inventories)

          * มีการชี้บ่งอันตรายโดยการตรวจพื้นที่งาน (Worksite Inspection) ดำเนินการโดยบุคลากรในองค์กรซึ่งอาจจะเป็นผู้ปฏิบัติงานหรือหัวหน้างาน เพื่อค้นหาอันตรายและมีปฏิบัติการแก้ไขอย่างทันท่วงที และรับทราบความก้าวหน้าของปฏิบัติการแก้ไขครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้อาจเลือกตรวจแบบเป็นกิจวัตร (Routine Inspections - โดยมากแล้วเป็นรายสัปดาห์) หรือตรวจแบบรายวัน (Daily Inspections) หรือใช้ทั้งคู่ ก็ได้

          * มีการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง (Change Analysis) ในทุก ๆ ครั้งที่มีการปรับปรุง ดัดแปลงหรือเพิ่มเติมสิ่งใด ๆ อย่างมีนัยสำคัญต่องานหรือกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น สาธารณูปโภคใหม่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเครื่องจักร ฯลฯ

          * มีการจัดตั้งระบบรายงานอันตราย (Hazard Reporting System) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับรู้ขั้นตอนในการรายงานและบุคคลที่จะรับเรื่อง รวมถึงรูปแบบการเขียนรายงานอย่างเป็นทางการ โดยอันตรายที่ว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น สภาวะการทำงานที่ไม่ปลอดภัย อุบัติเหตุ อุบัติการณ์ หรือเหตุการณ์ใกล้เคียงจะเกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ

          * มีการวิเคราะห์อันตราย (Hazard Analysis) ทั้งในงาน กระบวนการ และวัสดุ โดยอาจใช้หลากหลายวิธี เช่น การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย (JSA) หรือการวิเคราะห์อันตรายในงาน (JHA) และในกรณีที่อันตรายมีความซับซ้อนมากขึ้นก็อาจจำเป็นต้องใช้วิธีวิเคราะห์ที่ซับซ้อนตามไปด้วย เช่น WHAT IF Checklist, Hazard and Operability Study, Failure Mode and Effect Analysis และ Fault Tree Analysis

          * มีการสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติการณ์ และเหตุการณ์ใกล้เคียงจะเกิดอุบัติเหตุ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงหรือที่ซ่อนเร้นอยู่และยังเป็นการสะท้อนถึงประสิทธิภาพของมาตรการป้องกันหรือควบคุมอันตรายที่ใช้อยู่

          * มีการวิเคราะห์แนวโน้มของการบาดเจ็บและเจ็บป่วย (Analysis of Injury and Illness Trends) โดยพิจารณาจากประวัติอุบัติเหตุที่ผ่านมาและข้อมูลบันทึกเกี่ยวกับการบาดเจ็บและเจ็บป่วย

          (3) การป้องกันและควบคุมอันตราย (Hazard Prevention and Control)
          * มีการใช้มาตรการป้องกันและควบคุมอันตรายที่เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ โดยพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความมีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง รวมถึงดำเนินการเรียงลำดับไปตามลำดับชั้นของการควบคุมอันตราย (Hierarchy of Controls) ดังนี้ คือ การขจัด (Elimination) การแทนที่ (Substitution) การควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering Controls) การควบคุมทางการบริหารจัดการ (Administrative Controls) และสุดท้ายคือ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE)

          * มีระบบบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance Program) ที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าการควบคุมอันตรายจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง รวมถึงควบคุมไม่ให้เกิดอันตรายใหม่ ๆ อันเนื่องมาจากอุปกรณ์ที่ขัดข้อง

          * มีการวางแผนและเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Planning and Preparation) โดยเขียนแผนรับเหตุฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ (Effective Emergency Response Plan) ขึ้นมารองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดความสูญเสีย ความรุนแรงและความสับสนเมื่อเกิดเหตุ ซึ่งต้องมีการให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถตอบสนองได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการฝึกอบรมและการซ้อมแผนฉุกเฉิน ตลอดจนศึกษาวิธีใช้งานและเตรียมความพร้อมอุปกรณ์รับเหตุฉุกเฉินด้วย

          * จัดตั้งแผนงานด้านการแพทย์ (Medical Program) เพื่อส่งมอบบริการ สร้างความตระหนักและให้การดูแลเยียวยาการบาดเจ็บและเจ็บป่วย รวมทั้งช่วยจำกัดความรุนแรงของการบาดเจ็บและเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน

          * มีการตรวจสอบอันตรายที่เกิดจากผู้รับเหมา โดยประเมินอย่างละเอียดถึงประวัติความปลอดภัยในการทำงานของผู้รับเหมาก่อนทำสัญญา และแจ้งให้ผู้รับเหมาได้ทราบถึงระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของพื้นที่งานก่อนที่จะเริ่มงาน และถ้าแผนงานความปลอดภัยฯ ของผู้รับเหมามีข้อบกพร่องก็ต้องมีการปรับปรุงแผนงานฯ ให้มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับที่ยอมรับได้

          (4) การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Safety and Health Training)
          * จัดฝึกอบรมด้านความปลอดภัยฯ ให้ครอบคลุมภาระหน้าที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยฯ ของทุก ๆ คนที่ทำงานในพื้นที่งานนั้น ๆ และรวมถึงบุคคลใดก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการ และควรผนวกรวมเข้ากับการฝึกอบรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดของผลการดำเนินงานและวิธีปฏิบัติงาน

          * จัดฝึกอบรมวิธีปฏิบัติงานที่ปลอดภัยสำหรับงานเฉพาะ ก่อนที่ผู้ปฏิบัติงานจะเริ่มงานจริง

          * จัดฝึกอบรมเพิ่มเติมสำหรับกระบวนการทำงานใหม่ และเมื่ออุบัติเหตุ อุบัติการณ์ หรือเหตุการณ์ใกล้เคียงจะเกิดอุบัติเหตุได้บังเกิดขึ้น

          * จัดฝึกอบรมซ้ำตามความเหมาะสมเพื่อย้ำเตือนความจำในบทเรียนเนื้อหาของหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่าน ๆ มา

          * มีการพิจารณาเนื้อหา กิจกรรมการเรียนรู้และอุปกรณ์การเรียนการสอน รวมถึงภาษาที่ใช้ ช่วงระยะเวลาและวิทยากร ให้มีความเหมาะสมและตรงกับระดับความรู้และทักษะของผู้เข้าร่วมฝึกอบรม

          * มีการประเมินถึงประสิทธิผลของการฝึกอบรมเพื่อปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นทั้งเนื้อหา กิจกรรมการเรียนรู้และอุปกรณ์การเรียนการสอน
     
          อย่างไรก็ดี ประเด็นสุดท้ายที่จะลืมไปเสียมิได้ ก็คือ การทบทวนปฏิบัติการของระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานที่ปฏิบัติงาน (Review of Systems Operations) ซึ่งเป็นการดำเนินการขั้นสุดท้าย เพื่อที่จะประเมินความสำเร็จของปฏิบัติการในรอบปีว่าได้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้มากน้อยแค่ไหน

และเพื่อความมั่นใจในคุณภาพและความมีประสิทธิผลของระบบการจัดการฯ เหมือน ๆ กับแง่มุมอื่น ๆ ของธุรกิจ จึงอาจมีความจำเป็นต้องใช้วิธีตรวจประเมินอย่างเต็มรูปแบบเพื่อประเมินเครื่องมือ วิธีการ และกระบวนการในการดำเนินการในแต่ละองค์ประกอบของระบบการจัดการฯ อันได้แก่ ภาวะผู้นำของผู้บริหารและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน

การวิเคราะห์พื้นที่งาน (เช่น การรายงานอุบัติเหตุ การสอบสวน การสำรวจ การวิเคราะห์ก่อนใช้งาน การวิเคราะห์อันตราย ฯลฯ) การควบคุมและป้องกันอันตราย และการฝึกอบรม ทั้งนี้ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดจะได้รับการป้องกันจากอันตรายที่ต้องเผชิญในพื้นที่งาน

          นอกจากนี้ ต้องตรวจประเมินเพื่อพิจารณาว่านโยบายและขั้นตอนดำเนินการได้ถูกนำไปปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้หรือไม่ และได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ของระบบการจัดการฯ หรือไม่ โดยการประเมินนั้นไม่ควรเพียงแค่การชี้บ่งความสำเร็จและจุดแข็งของระบบการจัดการฯ เท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการชี้บ่งจุดอ่อนและพื้นที่งานที่สมควรได้รับการปรับปรุง และที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองในการชี้บ่งจุดอ่อนที่แท้จริง สุดท้ายหลังจากเสร็จสิ้นการตรวจประเมินแล้วก็จะได้ข้อมูลที่เป็นพิมพ์เขียวสำหรับการปรับปรุงและเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในปีถัดไป

เอกสารอ้างอิง
          * Effective Workplace Safety and Health Management Systems; OSHA Fact Sheet 2008.

          * Safety & Health Management Systems eTool; U.S. Department of Labour 2010.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด